- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๑
๑
หิมะกำลังละลาย ชุนเทียนได้ย่างกรายเข้ามาแล้ว ความหรรษาของชีวิตกำลังจะเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งในมหานครโบราณซึ่งมีความหลังมากมายนับด้วยพัน ๆ ปี
ตลอดทางที่รถบัสสาย ไว.เอ็ม.ซี.เอ. ชิงหวา แล่นผ่านไป ข้าพเจ้าสังเกตเห็นกิ่งหลิวที่กวัดแกว่งไปมาในสายลมเย็นเริ่มมีสีเขียวนวลอ่อน ๆ เป็นสัญญลักษณ์ที่แสดงว่าฤดูดอกไม้บานกำลังยิ้มรับชีวิตของเราด้วยความปรานีอีกแล้ว ลำธารสองข้างถนนซึ่งเคยปกคลุมด้วยก้อนน้ำแข็งหนา ๆ บัดนี้มีน้ำใสอันเย็นเฉียบไหลรินอยู่ในร่องเล็ก ๆ ตรงกลาง น้ำแข็งกำลังฝ่อและเริ่มละลายแล้ว ที่ใต้ต้นหลิว ซากหิมะซึ่งคลุกเคล้าไปด้วยฝุ่นสีแดงปนดำอันถูกพายุหอบเอามาจากทะเลทรายโกบี กำลังหดตัวละลายเป็นน้ำซึมลงไปในพื้นดิน ทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ท้องฟ้าซึ่งเป็นทาสของกาลเวลากำลังเปลี่ยนชีวิตใหม่ คือเปลี่ยนจากตงเทียนของความหนาวเย็นและมืดสลัว มาเป็นชุนเทียนของความอบอุ่นและสว่างไสวด้วยแสงและสี
ดอกไม้ของเจ้าแม่ชุนเทียนจะต้องบานอย่างแน่นอนในไม่ช้านี้ และจิตใจของเราก็ควรจะเบิกบานตามไปด้วย แต่นี่ไม่ใช่ทฤษฎีที่ตายตัว เพราะคนบางคนชีวิตไม่เคยมีชุนเทียน เขาเกิดมาในความมืด แล้วก็ต้องอยู่ในความมืด และตายไปในความมืด ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า ในแผ่นดินจีนดอกไม้จะบานไปเสียทุกหนทุกแห่ง
ข้าพเจ้านั่งไปในรถบัสเช้าวันนั้นด้วยจิตใจที่พลุกพล่านวุ่นวายผิดกว่าทุกคราว เกือบทุกวันเสาร์ข้าพเจ้าจะต้องนั่งบัสสายนี้ไปมหาวิทยาลัยเยียนจิง ซึ่งอยู่ห่างกำแพงโบราณของมหานครปักกิ่ง ไปทางทิศตะวันตกประมาณสิบไมล์ และทุกครั้งข้าพเจ้าแจ่มใสร่าเริง ไม่ว่าดอกไม้จะบานหรือไม่ แต่ในครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่มีความหวังว่าดอกไม้จะต้องบาน ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถจะชื่นชมอะไรได้ การเดินทางในเช้าวันนั้นอ้างว้างว้าเหว่บอกไม่ถูก ข้าพเจ้ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะนำข่าวร้ายของเจียงเฟไปบอกให้เจียงเหมยรู้ได้อย่างไร มันเป็นการทำลายชุนเทียนให้แหลกลานไปอย่างย่อยยับ ตลอดทางข้าพเจ้าได้แต่นึกถึงพี่น้องสองคนนี้ ทั้งคู่เป็นมิตรที่ข้าพเจ้ารู้จักชอบพอตั้งแต่ปีแรกที่ข้าพเจ้าตามเสด็จในกรมกำแพง ฯ เข้าไปถึงปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓
๒
ข้าพเจ้ายังจำเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม ๒๔๗๓ มันเป็นเดือนที่อากาศร่มเย็น เพราะอยู่ระหว่างฤดูชิวเทียน ซึ่งต้นไม้กำลังทิ้งใบ เรือ President McKinley เข้าเทียบที่ถางกวู่ เมืองท่าของนครเทียนสินในตอนเช้ามืด เสด็จในกรมเสด็จขึ้นบกเมื่อดวงอาทิตย์กำลังโผล่พ้นขอบฟ้าเหนืออ่าวเป่จือลี่ ซึ่งกำลังตกเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ทางการส่งกองเกียรติยศมาตั้งรับบนลานสิเมนต์หน้ารถไฟ เมื่อทรงตรวจพลแล้ว ก็เสด็จขึ้นรถไฟเข้าเมืองเทียนสิน เพื่อมุ่งเข้ามาสู่มหานครปักกิ่ง ข้าพเจ้าตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะรู้ว่าได้กำลังย่างเหยียบเข้าไปในสมรภูมิของสงครามกลางเมือง ที่ควันดินปืนยังไม่ทันจาง เมื่อตอนผ่านเซี่ยงไฮ้ ข้าพเจ้าไม่รู้สึกอะไร เพราะเป็นเมืองท่าระหว่างชาติ มีเขตเช่าของชาติมหาอำนาจผิวขาวเต็มไปหมด กลิ่นไอของดินปืนสงครามเข้าไปไม่ถึง แต่ที่ถางกวู่และเทียนสิน การฆ่ากันระหว่างพี่น้องพวกฮั่น ลูกแม่น้ำแยงซีเกียงกับแม่น้ำหวงเหือหรือที่เรียกว่า Yellow River กำลังจะเสร็จสิ้นไปใหม่ ๆ โดยฝ่ายเจียงไคเช็คเป็นผู้ชนะ เพราะฉะนั้น บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยคาวเลือดของสงครามกลางเมือง ซึ่งเผาไหม้เมืองจีนมาตั้งแต่เกิดปฏิวัติเมื่อ ๑๙๑๑ รถไฟขบวนที่เราเข้าไปยังกรุงปักกิ่ง มีทหารราว ๒ กองร้อย เดินทางร่วมไปด้วย ให้ความอารักขาเสด็จในกรมอย่างเต็มที่ ทหารทุกคนแต่งเครื่องแบบสีเทาทำด้วยผ้าฝ้ายยัดนวมกันหนาว นอกจากจะถือปืนยาวแล้วยังห้อยลูกระเบิดมือไว้ที่เข็มขัดคนละหลายลูก ดูแล้วก็ไม่สบายใจ ที่เทียนสินเสด็จในกรมลงตรวจพลอีก เพราะทางการตั้งกองเกียรติยศรับตลอดชานชลาสถานี จีนกับไทยขณะนั้นแม้จะยังไม่มีการติดต่อกันทางการทูต แต่เขาก็ให้เกียรติเสด็จในกรมอย่างเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่เขามักจะเข้าใจว่าเมืองไทยเคยเป็นเมืองขึ้นของเมืองจีน เพราะบรรพบุรุษของเขาได้เขียนประวัติศาสตร์ไว้ว่า ไทยเคยส่งคนไปจิ้มก้องเมื่อหลายศตวรรษก่อน
เราเข้าถึงกรุงปักกิ่งในวันนั้น รัฐบาลจีนได้ส่งผู้แทนมารับเสด็จที่สถานีเฉียนเหมิน พร้อมด้วยกองเกียรติยศอีกตามเคย เขานำเสด็จในกรมไปพักยังโฮเต็ล เดอเปอแกง ซึ่งเป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในปักกิ่ง ข้าพเจ้าอยู่ ในคณะก็เลยตามเสด็จเข้าไปอยู่ในโรงแรมชั้นหนึ่ง ซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวนี้ด้วย
ที่โฮเต็ลเดอเปอแกงในวันแรก ข้าพเจ้าไม่ได้พบ บัว ลักษณโยธิน นักเรียนไทยกระทรวงธรรมการ ซึ่งผ่านจากโตเกียวมาถึงปักกิ่งก่อนหน้าข้าพเจ้าไม่กี่วัน บัวคงจะยังไม่ทราบว่าเสด็จในกรมเสด็จมาถึงกรุงปักกิ่งแล้ว ข้าพเจ้ารออยู่จนวันรุ่งขึ้นบัวก็ยังไม่มา เลขานุการในพระองค์จึงโทรศัพท์แจ้งไปยังโรงเรียนที่บัวอยู่ College of Chinese Studies ที่ตงซื่อผายโล่ว ทางตงเฉิงหรือ East City ทางโรงเรียนส่งเลขานุการคือ มิสปอปอฟ (Miss Popoff) มารับข้าพเจ้าทันที ข้าพเจ้าเข้าทูลลาเสด็จในกรม ท่านได้ทรงพระกรุณาประทานพรให้ข้าพเจ้าเรียนสำเร็จด้วยความปลอดภัยจากสงครามกลางเมือง
๓
มิสปอปอฟเป็นชาวรัสเซียขาว ถูกขับออกมาจากเปโตรกราดเมื่อเกิดปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๗ เป็นสตรีเชื้อสลาฟ, อ้วนล่ำ, สวยพอตัว แววตามีความเมตตาปรานี มีอายุไม่ถึง ๓๐ เธอถามข้าพเจ้าถึงเมืองไทย ระหว่างที่เรานั่งรถฟอร์ดสีดำคันเก่าคร่ำของโรงเรียนไปตามถนนฉางอันเจีย เมื่อข้าพเจ้าบอกว่า เรามีพระเจ้าแผ่นดินที่รักประชาชนและพวกเรามีความสุขสบายทั่วหน้ากัน มิสปอปอฟก็ทำท่าประหลาดใจ แล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันว่า
“ฉันอยากไปเกิดในเมืองไทยที่มีพระเจ้าแผ่นดินดี ๆ ฉันก็มีพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน พระเจ้าซาร์ของฉันคงจะรักประชาชนน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดินของเธอ บ้านเมืองจึงวุ่นวายกันใหญ่ เวลานี้พวกคอมมิวนิสต์กับชาวนาก็ฆ่าแกงกันอยู่ทุกวัน เหมือนเมืองจีนนี่แหละ”
“เธอมาอยู่ปักกิ่งกี่ปีแล้ว ?” ข้าพเจ้าถาม
“แปดปี เขาเฉดหัวออกมา” ปอปอฟตอบเศร้า ๆ “พ่อแม่ฉันถูกฆ่าตายหมดน้องคนเล็กก็หายตัวไป แต่ฉันเชื่อว่าพระเจ้าคงจะช่วยฉันสักวันหนึ่ง”
“เธอชอบคอมมิวนิสต์ไหม ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้พบชาวรัสเซีย
“คอมมิวนิสต์ ?” ปอปอฟถอนใจเบา ๆ “ถ้าฉันชอบคอมมิวนิสต์ก็คงไม่หนีเตลิดมาอยู่กับคนอเมริกันที่นี่ คอมมิวนิสต์ฆ่าพ่อแม่ฉัน ฉันจะชอบได้อย่างไร ฉันเป็นรัสเซียขาว–ไม่ใช่แดง”
“แต่ในเมืองจีนก็มีคอมมิวนิสต์” ข้าพเจ้าสบตาเลขานุการ ดร. เพทตัส (Dr. Pettus) อาจารย์ใหญ่คอลเลช ออฟ ไชนีส สะตั้ดดีส์ “เธอจะหนีคอมมิวนิสต์พ้นหรือ ?”
“พระเจ้าคงจะช่วยฉัน” ปอปอฟพูดอย่างมั่นใจ “ในเมืองจีน คอมมิวต์คงจะไม่ชนะ ถ้ารัฐบาลไม่คอรัพชั่น”
“จีนรบกันเอง ไม่มีความสามัคคี แต่ละคนอยากเป็นใหญ่ ฉันว่ามันเป็นลางที่ไม่สู้ดีนัก หรือเธอว่ายังไง ?”
“จริงของเธอ ถ้าแตกสามัคคีกันอย่างนี้ คอมมิวนิสต์ก็ชอบ เมืองไทยของเธอแตกกันบ้างหรือเปล่า ?”
ข้าพเจ้าสั่นศีรษะ
“เรามีพระเจ้าแผ่นดินเป็นหลักกลาง การแตกสามัคคีมีไม่ได้ แล้วเราก็ถือพุทธทุกคน ศาสนากับพระเจ้าแผ่นดินทำให้เรากลมเกลียวกัน ไม่มีอะไรมาแยกเราได้”
มีสปอปอฟจ้องหน้าข้าพเจ้าอย่างสนใจ ในแววตาของเธอมีความรู้สึกเศร้าแกมพอใจปนกันอยู่
“ถ้าฉันจะไปอยู่เมืองไทยบ้าง–ไปเป็นครู–เธอคิดว่าพอจะมีหวังไหม ?” เธอถามเป็นงานเป็นการ
“เมืองไทยต้อนรับคนทั้งโลก–นอกจากคอมมิวนิสต์” ข้าพเจ้าพูดแล้วหัวเราะ
๔
ฟอร์ดสีดำผ่านสี่แยกตุงซื่อผายโล่ว ซึ่งมีประตูซุ้มโบราณสมัยราชวงศ์เช็งตั้งตระหง่านอยู่ทั้งสี่ทิศ เลยประตูทิศเหนือไปหน่อยก็เลี้ยวเข้าตรอกแคบ ๆ สองข้างเป็นกำแพงตึกชั้นเดียว หลังคาลูกฟูกแบบสถาปัตยกรรมจีนตั้งแต่ยุคหลายพันปีมาแล้ว ตรอกสั้น ๆ แห่งนี้เต็มไปด้วยฝุ่นและโคลน ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของมหานครปักกิ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัดใจเพราะที่ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ไม่เคยเจอโคลนและฝุ่นเลย
ที่ประตูใหญ่หุงเหมิน บานประตูทาด้วยสีแดงเพลิง ข้าพเจ้าเห็นป้ายชื่อโรงเรียน “หวาเหวิน” หรือ College of Chinese Studies แขวนอยู่เหนือขอบประตูอันสูงใหญ่นั้น ฟอร์ดดำจอดที่หน้าบันไดสิเมนต์ คนขับลงไปเปิดประตู ปอปอฟกระซิบว่า “ถึงแล้ว, ระพินทร์, โรงเรียนของเรา”
เลขานุการสาวหาข้าพเจ้าเดินลอดประตูอันสูงใหญ่เข้าไปในบริเวณโรงเรียน ตึกกลางสามชั้นตั้งอยู่ลึกเข้าไปเพียงยี่สิบกว่าเมตร ต้นหลิวใบโรยแกว่งกิ่งอันเล็กเรียวอยู่สองข้างบันไดตึก ปอปอฟพาข้าพเจ้าไปในห้องพักแล้วก็ทิ้งให้นั่งระบายอารมณ์อยู่กับภาพวัฒนธรรมจีน และต้วยจึซึ่งเขียนด้วยพู่กันขนอูฐ ด้ามไม้ไผ่ สักครู่หนึ่งบานประตูไม้ขัดมันสีดำทางด้านเหนือก็เปิดออก แล้วหนุ่มวัยฉกรรจ์ผู้หนึ่งสวมเสื้อ ต้าผาว สีเทาแก่ก็ก้าวเข้ามา
“มิสเตอร์ซูใช่ไหมครับ ?” เขาถามเป็นภาษาอังกฤษ สีหน้าอิ่มเอิบ ดวงตาลุกวาว
“ใช่” ข้าพเจ้าตอบสั้น ๆ แล้วรอดูท่าทีเขาต่อไป
“ดร. เพทตัส ให้เชิญครับ”
“ขอบใจ”
ข้าพเจ้าเดินตามบุรุษรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้าออกไปทางประตูที่เขาเข้ามา เขานำข้าพเจ้าเดินไปตามทางเดินแคบ ๆ ภายในตัวตึกซึ่งค่อนข้างมืดทึบต้องใช้ไฟเปิดประจำเป็นระยะ ๆ เมื่อผ่านห้องสมุดไปแล้ว เขาก็หยุด และเคาะประตูห้องฟากขวามือเบา ๆ มีเสียงลอดออกมาทางรูกุญแจว่า “เข้ามา”
เขาเปิดประตูเชิญข้าพเจ้าเข้าไปในห้องนั้น ฝรั่งวัยชรา ร่างสูงใหญ่ ศีรษะมีผมเพียงข้าง ๆ นั่งก้มหน้าเซ็นหนังสืออยู่อย่างทองไม่รู้ร้อน ข้าพเจ้าก้าวเข้าไปจวนถึงหน้าโต๊ะ เขาจึงเงยหน้าขึ้น เขามีศีรษะใหญ่ คิ้วดก นัยน์ตาโปนมองลอดแว่นกรอบเงินออกมา จ้องหน้าข้าพเจ้าอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วก็ยิ้มนิดหนึ่ง–นิดเดียวเท่านั้น
“มิสเตอร์ซู ?” เขาลุกขึ้นแล้วยื่นมือมาให้ข้าพเจ้าจับ “นั่งซี, กำลังรอเธออยู่ทีเดียว เราเพิ่งได้รับหนังสือจากสถานทูตไทยในโตเกียว บอกว่าเธอจะมากับปริ๊นซ์กำแพง”
ข้าพเจ้านั่งลงพร้อมกับเขา คำพูดของเขาแต่ละคำแน่น และชัด เหมือนปั้นออกมาด้วยความประณีต จังหวะที่พูดช้า แต่มีน้ำหนักมาก
“ขอบคุณครับ” ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะพูดอะไร
“เราได้เตรียมห้องไว้ให้เธอแล้ว อยู่ที่เวสต์ บิลดิ้ง บัวก็อยู่ที่นั่น”
“บัว–อ้อ–”
“เธอคงรู้จักบัว รัฐบาลไทยส่งมาเรียนที่นี่ เขาเพิ่งมาถึงเหมือนกัน ผ่านมาทางโตเกียว”
“ดีครับ....คงไม่เหงา” ข้าพเจ้าพูดกุกกัก
“เธอจะได้เพื่อนที่เป็นมิชชันนารีเยอะแยะที่นี่” ดร. เพทตัสอธิบาย “พวกนี้มาจากยุโรปและอเมริกา เธอจะได้พบคนหลายชาติ เข้าใจว่าเธอจะชอบ”
“ครับ ต้องชอบแน่”
ดร. เพทตัสยิ้มช้า ๆ น่าคร้ามเกรงมากกว่าจะน่าชื่นใจ
“เธอไปพบมิสปอปอฟ เขาจะชี้แจงให้ฟังเรื่องการกินนอนและเรียน เปิดอกพูดกับเขาได้เลย ว่าเธอต้องการความสะดวกอะไรบ้าง อ้อ เย็นวันนี้เรามีปาฐกถาเรื่องการขุดกระโหลก พีกิงแมน เธอควรจะมาฟัง”
“ครับ ขอบคุณ”
ข้าพเจ้ากลับออกไปนอกห้อง บุรุษวัยเดียวกับข้าพเจ้ายังคงรออยู่หน้าประตู
“มิสปอปอฟขอเชิญไปที่ห้องทำงาน” เขาเอ่ยขึ้นช้า ๆ ท่าทางไว้ตัว
ข้าพเจ้าพยักหน้ารับทราบอย่างอ่อนโยน
“เธอคงทำงานอยู่ที่นี่ ?”
“ฉันมาสมัครงาน” เขาตอบ “ทิวเต้อร์ประจำตัวนักศึกษาขาดไปคนหนึ่ง มิสปอปอฟแนะนำให้มาสมัคร”
ข้าพเจ้าลอบชำเลืองดูเขาอย่างแปลกใจ เขาหนุ่มเกินไปที่จะเป็นครู
“บางทีเธออาจไม่เข้าใจ” เขาพูดอย่างรู้ตัว “ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนพวกหมอสอนศาสนา หนักไปทางพูด เราสอนให้ฝรั่งพวกนี้ออกไปสอนศาสนาชาวบ้าน เธอคงจะเป็นหมอสอนศาสนากระมัง ? มิสปอปอฟบอกว่าเธอมาจากเมืองไทย”
ข้าพเจ้าหัวเราะอย่างขัน
“ฉันมาเรียน, ไม่ใช่มาสอนศาสนา ฉันถือพุทธ, ไม่ใช่คริสเตียน”
“อ้อ !” เขาหันมามองหน้าข้าพเจ้า ยิ้มเห็นฟันขาว “แต่เธอชื่อ ซู ฟังดูเหมือนลูกหลาน ซูตงปอ กวีเอกของเรา”
ข้าพเจ้าหัวเราะอีก
“ฉันชื่อระพินทร์ พรเลิศ, ชื่อซู ครูตั้งให้เมื่ออยู่ฮ่องกง ไม่เคยเป็นลูกหลานนักปราชญ์หรอก พ่อของฉันเป็นนักปกครอง ฉันคิดว่าเธอคงจะสอนให้ฉันพูดได้ดีก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย บางทีฉันควรจะทราบชื่อของเธอบ้าง”
เขาหัวเราะ
“เราเริ่มเรียนเสียเดี๋ยวนี้เลย เธอถามซีก้วยชิ่ง?”
“ก้วยชิ่ง” ข้าพเจ้าเลียนคำเขา
“แปลว่าท่านแซ่อะไร” เขายิ้มอย่างสนุก
“ฉันตอบละนะ–บี้ชิงเจียง, แปลว่าฉันแซ่เจียง”
“เจียง ?”
“ถูกแล้ว–เจียง...เจียงเฟ !”
“เจียงเฟ” ข้าพเจ้าพึมพำ คล้ายกับจะท่องจำชื่อนี้
ขณะนั้นพอดีถึงหน้าห้องทำงานของมิสปอปอฟ
“พบกันใหม่ ระพินทร์” เจียงเฟยื่นมือ
“พบกันใหม่ เจียงเฟ” ข้าพเจ้าบีบมือเขา รู้สึกว่ามือนั้นมั่นคงแข็งแรง เหมือนความแข็งกร้าวในประกายตา
นั่นคือวินาทีแรกในฤดูชิวเทียน พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่ข้าพเจ้ารู้จักเจียงเฟ พี่ชายเจียงเหมยคนสวยซึ่งข้าพเจ้ากำลังเดินทางไปพบที่มหาวิทยาลัยเยียนจิงอีกสามปีต่อมา เพื่อเปิดเผยชาตากรรมของเจียงเฟ ประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยฝู่เหริน–ผู้นำขบวนต่อต้านกองทัพราชอาณาจักรอาทิตย์อุทัย