- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๔๒
กลับจากบ้านนาย ซี.ที. หวงแล้ว ข้าพเจ้าก็เข้าไปพักสมองเพื่อให้คลายความงุนงงในโรงภาพยนตร์ แคปิตอล ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปักกิ่ง จำได้ว่าตลกลอเรลและฮารดี้ ที่มาจี้เส้นให้ดูในวันนั้น ไม่ทำให้ข้าพเจ้าหัวเราะออกมาได้อย่างรื่นรมย์เหมือนที่เคยมา คำพูดของนักการเมืองคนสำคัญแห่งพรรคก๊กมินตัง ยังคงก้องอยู่ในหู “—คุณ–อาจเป็นคอมมิวนิสต์โดยคุณไม่รู้ตัว–คุณอาจเป็นพาหะของเขา—” คำพูดเหล่านี้วนเวียนมารบกวนประสาทข้าพเจ้าอยู่ตลอดเวลา มันทำให้สะเทือนใจ หมดสมาธิที่จะฟังและจะดู เมื่อภาพยนตร์เลิก ข้าพเจ้าก็เดินดุ่มออกไปตามถนนฉางอาน ผ่านโฮเต็ลเดอเปอแกง ซึ่งเสด็จในกรมกำแพง ฯ เคยประทับ แล้วก็เลี้ยวไปตามถนนหวางฝูจิ่ง ซึ่งเป็นถนนที่มีห้างร้าน เปิดขายสินค้าที่ทันสมัยที่สุดเพียงถนนเดียวในปักกิ่ง พ้นจากถนนนี้แล้วก็จะมีแต่โรงร้านเก่า ๆ ที่ทำให้ภาพชีวิตของชาวจีนสมัยฮ่องเต้ที่ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างเหนียวแน่นแทบไม่น่าเชื่อ
เดินเรื่อยเปื่อยไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็ถึงสี่แยกตลาดใหญ่ตุงอันซื่อฉ่างซึ่งมีของขายสารพัด ตั้งแต่เข็มเย็บผ้า, หนังสือ, ไปจนถึงอาหารทุกชนิด ข้าพเจ้าแวะเข้าชิงเหนียนห้วย หรือ Y.W.C.A. เพื่อจะพบ ดร. เจียง แห่งโรงพยาบาล พี.ยู.เอ็ม.ซี. ดร. เจียงพักอยู่ที่หอพักสตรีแห่งนี้ เพราะไม่อยากอยู่ในโรงพยาบาล ข้าพเจ้านั่งรออยู่ในห้องรับแขกที่จัดแบบจีนผสมตะวันตกกว้างขวางเกือบจะเป็นห้องประชุมได้ สักครู่ผู้ที่ข้าพเจ้าต้องการพบก็ก้าวเข้ามาในห้อง
ดร. เจียง ทักข้าพเจ้าอย่างร่าเริงเช่นเคย เธอเป็นคนที่มีความสุขที่สุด ซึ่งบังเอิญเกิดมาอยู่ในโลกที่มีความทุกข์ที่สุด ดร. เจียง มีงานเป็นเพื่อน ดึกดื่นค่ำคืน ถ้ามีงานให้เธอทำเธอก็ทำอย่างเต็มอกเต็มใจ และเมื่องานเสร็จเธอก็มีความสุขมีความชื่นใจตัวเอง แล้วก็นอนหลับสบาย เธอเป็นผู้มีความเสียสละอย่างสูง คราวหนึ่งเธอออกไปพักตากอากาศที่นอกเมือง เพื่อนสตรีของเธอถูกงูกัด ทางรอดมีอยู่ทางเดียว คือต้องเข้าเมืองเพื่อเอายามาฉีด ที่ซึ่งเธอพักอยู่ห่างจากตัวเมืองถึง ๑๐ ไมล์ และเธอก็ไม่มีรถยนต์ เพราะปักกิ่งมีรถยนต์นับกันได้ ดร. เจียงต้องถีบจักรยานฝ่าความมืด และความเปลี่ยวของเวลาสามนาฬิกาก่อนรุ่งเข้าไปในเมืองแต่ผู้เดียว คว้ายาฉีดได้ก็ถีบจักรยานกลับไปอีก เธอต้องถีบจักรยานโดยไม่ได้พักถึง ๒๐ ไมล์ แต่เธอก็มีความสุขมาก เพราะเธอสามารถช่วยชีวิตเพื่อนของเธอไว้ได้
ดร. เจียง พาร่างอันกำยำของเธอ เข้ามานั่งลงยังโซฟาตัวเดียวกับข้าพเจ้าอย่างเป็นกันเอง ความงุนงงที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในสีหน้าและแววตาของข้าพเจ้า ทำให้เธอทักขึ้นว่า
“เธออารมณ์ไม่สู้ดีวันนี้, เธอต้องมีเรื่อง, ใช่ไหมระพินทร์”
ข้าพเจ้ายิ้มแห้ง ๆ พยักหน้ายอมรับอย่างตรงไปตรงมา
“หมอทายโรคได้แม่นยำเสมอ” ข้าพเจ้าหยุดอยู่แค่นี้ เพราะไม่คิดว่าควรจะพูดอะไรต่อไปอีก
“มีอะไรที่ฉันจะช่วยได้ก็บอกมา” ดร. เจียงเอ่ยขึ้นเมื่อเห็นข้าพเจ้าไม่พูดต่อ
“หมอไม่เหนื่อยบ้างหรือ ที่ชอบช่วยไม่ว่าใคร” ข้าพเจ้ามองตาเธออย่างบูชา
“ถ้าเธอเป็นหมอ เธอก็คงจะรู้สึกอย่างที่ฉันรู้สึก มันเป็นหน้าที่–แล้วก็–มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง”
“แต่หมอไม่มียาจะรักษาฉันได้หรอก” ข้าพเจ้าหัวเราะ “โรคของฉันหมอรักษาไม่ได้”
“เรารักษาทางจิตใจได้” ดร. เจียงพูดอย่างมั่นใจ “เธอมีเรื่องอะไร, ระพินทร์”
“ฉันไม่มีเรื่องอะไร เพราะเรื่องที่ฉันมี มันไม่ใช่เรื่องของฉัน มันเรื่องของคนอื่น” ข้าพเจ้าตอบ
“แปลว่าเธอเก็บเอาเรื่องของคนอื่นมาเป็นเรื่องของเธอ” ดร. เจียงทำท่าถอนใจอย่างเหน็ดเหนื่อย “บัวเคยเล่าให้ฉันฟัง เธอชอบทุกข์แทนคนอื่น บัวเขาว่าเธอชอบหาเหามาใส่หัว เขาแปลมาจากภาษาไทย ฟังดูก็ขำดี แต่ฉันว่าฉันชอบคนอย่างเธอ คนที่หาเหาใส่หัวตัวเอง”
“อ้อ, บัวเอาฉันมานินทา” ข้าพเจ้าหัวเราะ “แต่ทุกวันนี้เหามันมีมากเหลือเกิน ถึงเราไม่เอามาใส่หัว มันก็ต้องกระโดดมาเกาะหัวเราอยู่ดี เราหนีเหาไม่พ้น โลกมันแคบเกินไปเสียแล้ว ไม่มีใครหนีสงครามพ้น”
“เธอกลัวสงครามงั้นหรือ ?” ดร. เจียงจ้องหน้าข้าพเจ้าอย่างสงสัย “วันนี้เธออารมณ์ไม่ดี เพราะเธอกลัวสงคราม ? ฉันไม่เข้าใจ”
“ไม่ใช่กลัวสงคราม สงครามมันเป็นผลที่ยังอยู่อีกไกลนัก ฉันกลัวเหตุที่มันอยู่ตรงหน้า”
“เหตุ ?” ดร. เจียงยังคงมีความฉงนสนเท่ห์อยู่ตามเดิม “เธอไปเจอเหตุอะไรมาหรือวันนี้ ?”
“มันก็ไม่เชิง จะพูดอย่างไรดี, เธอถึงจะเข้าใจ” ข้าพเจ้าหยุดคิดนิดหนึ่ง “ฉันไปเจอเรื่องปวดหัวเข้า มันไม่ใช่เหตุใหญ่ แต่มันอาจจะส่งผลไปไกลก็ได้ ถ้าเรายังทำลายตัวเองอยู่อย่างนี้”
“ทำลายตัวเอง–ใครทำลาย” ดร. เจียงแสดงความสนใจต่อไป
“ฉันพูดย่อ ๆ ดีกว่า ฉันว่ารัฐบาลนานกิงกำลังทำลายปัญญาชน”
“แล้วยังไง?”
“หมอรู้ดีว่า คอมมิวนิสต์ในเมืองจีนของหมอตั้งต้นจากปัญญาชน–จากครู–จากนักเรียน เมาเซตุงตั้งโซเวียตในหูหนานได้ก็อาศัยคนพวกนี้ พวกชาวนาเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับไปตาย เพื่อคอมมิวนิสต์จะได้อยู่เท่านั้นเอง พวกชาวนาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพราะไม่เคยรู้เรื่องคอมมิวนิสต์”
“เธอพูดถูกแล้ว แล้วยังไง ?” ดร. เจียงจ้องหน้าข้าพเจ้า, แววตาแสดงออกมาอย่างแจ่มชัดว่ามีความสนใจมากขึ้นกว่าเดิม
“เมื่อคอมมิวนิสต์มาจากปัญญาชน รัฐบาลก็ไม่ควรทำลายปัญญาชน เพราะยิ่งทำลาย, ปัญญาชนก็จะหันหน้าไปหาคอมมิวนิสต์มากขึ้น”
“ถูกของเธออีก” ดร. เจียงพยักหน้ารับรอง “แล้วยังไง ?”
“ทุกวันนี้รัฐบาลกำลังทำลายปัญญาชน ไม่สนใจไยดีกับปัญญาชน จงเกลียดจงชังปัญญาชน หาว่าปัญญาชนเป็นศัตรู”
“ใครบอกเธอ ?” สายตาอันคมกริบของ ดร. เจียงพุ่งมาที่ดวงตาข้าพเจ้า
“ฉันอ่านจากหนังสือพิมพ์, แลเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง แล้วก็...เมื่อกี้นี้เอง ฉันไปพบนาย ซี.ที. หวง เธอคงรู้จัก”
“เป็นคนใหญ่” ดร. เจียงตอบทันที “เขาว่าอย่างไร?”
“เขาเกลียดนักศึกษา”
“เขาเป็นกรรมการกลางพรรคก๊กมินตัง”
“ฉันว่าเขาอาจเป็นนักการเมืองที่ฉลาด, แต่ไม่เฉลียว”
“ก็เป็นธรรมดาของผู้มีอำนาจ อำนาจทำให้ขาดความเฉลียว บางทีอำนาจก็ทำให้คนฉลาดกลายเป็นคนโง่ อำนาจทำให้คนหลงตัวเอง คนที่หลงตัวเองมันก็คนโง่ดี ๆ นี่แหละ”
“หมอพูดความจริง คนเราโง่เพราะหลงตัวเอง พอเริ่มโง่ตาก็มืด นาย ซี.ที. หวงกำลังตามืด”
“เขาพูดกับเธอว่าอย่างไร ?” ดร. เจียงถาม
“เรื่องมันมาจากเจียงเฟ ฉันไปพูดกับเขาว่าเจียงเฟไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หมอคงทราบแล้วว่าเจียงเฟถูกจับ เพราะตำรวจหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์”
ดร. เจียงพยักหน้า
“นายซี.ที. หวงเข้าใจว่าอย่างไรล่ะ ?”
“เขาเชื่ออย่างหลับตาว่าเจียงเฟเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วเขายังเตือนฉันเสียด้วยว่า อีกหน่อยก็จะเป็นคอมมิวนิสต์โดยไม่รู้ตัว โรคกลัวคอมมิวนิสต์กำลังขึ้นสมองเขาเสียแล้ว อีกหลายคนในนานกิงก็คงจะกำลังเป็นโรคนี้”
แพทย์หญิงแห่ง พี.ยู.เอ็ม.ซี. ผู้คิดไกลและเห็นไกล และองอาจกล้าหาญ ถอนใจยาว ส่ายหน้าแล้วพูดว่า
“ฉันรู้จักเจียงเฟ คนอย่างเจียงเฟไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เขารักชาติยิ่งกว่าพวกนักการเมือง แล้วก็–เขาซื่อสัตย์สุจริต คนอย่างนี้ชาติจีนกำลังต้องการ”
“แต่คนอย่างนี้ รัฐบาลกำลังทำลาย” ข้าพเจ้าพูดอย่างอ่อนเพลีย “ความจริง, ฉันไม่มีสิทธิ์จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรที่นี่เพราะฉันเป็นคนไทย แต่ฉันรู้ว่าถ้าเมืองจีนเป็นคอมมิวนิสต์ เมืองไทยต้องเดือดร้อนแน่นอน”
“เธอคิดว่าเมืองจีนจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือ ?” ดร. เจียงย้อนถาม
ข้าพเจ้าไม่ตอบทันที ไตร่ตรองสักครู่จึงพูดว่า
“หมอควรจะรู้ดีว่าเมืองจีนจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่เป็น ฉันว่ามันก้ำกึ่งกันเหลือเกิน เวลานี้รัฐบาลยังแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ไม่ได้อีกมากมาย เช่นปัญหาการแตกแยกกันเอง, ปัญหาคอร์รัปชั่น, ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนซึ่งเกิดเพราะภัยธรรมชาติ, เพราะสงครามกลางเมือง, เพราะการรีดไถกดขี่, เพราะระบบเศรษฐกิจสังคมที่ขาดความเป็นธรรม เพราะไม่มีการสาธารณูปโภค และการคมนาคมที่ทันกับความต้องการของสังคม แล้วยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เป็นอันตรายมาก รัฐบาลกำลังทำสงครามกับปัญญาชน รัฐบาลมองเห็นปัญญาชนเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมด นี่แปลว่ารัฐบาลไปเพิ่มกำลังให้กับคอมมิวนิสต์ โดยที่คอมมิวนิสต์ไม่ต้องเสียเวลาชักชวน รัฐบาลขาดทุนอย่างย่อยยับที่ขับไล่ไสส่งปัญญาชนให้หันไปหาคอมมิวนิสต์ หรืออย่างน้อยก็กลายเป็นศัตรูที่น่ากลัวของรัฐบาล”
ดร. เจียงเปลี่ยนสีหน้าจากร่าเริงแจ่มใสเมื่อสักครู่เป็นเคร่งเครียดอย่างเอาการเอางาน แพทย์หญิงผู้มีชื่อเสียงแห่ง พี.ยู.เอม. ซี. ผู้นี้มีความสนใจกับเหตุการณ์บ้านเมืองมากเท่ากับวิชาการแพทย์ที่เป็นวิชาชีพ ดร. เจียงเป็นนักพูดคนสำคัญคนหนึ่งของปักกิ่ง ทุกวงการรู้จักเธอ และให้เกียรติเธออย่างสูงที่เป็นผู้ยึดมั่นอยู่กับประโยชน์ของประชาชนและของชาติบ้านเมืองอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว มีความกล้าที่จะพูดความจริง ทั้ง ๆ ที่ความจริงบางเรื่องไม่มีใครกล้าพูด ข้าพเจ้าบูชาจิตใจของสุภาพสตรีจีนผู้นี้ เธอเป็นผู้นำคนหนึ่งของจีนใหม่ที่ข้าพเจ้าอยากให้มีมาก ๆ และเมื่อนึกถึงเธอ ข้าพเจ้าก็ต้องนึกเลยไปถึงเจียงเหมย เพราะเจียงเหมยก็มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับ ดร. เจียง
“ฉันเห็นเหมือนเธอ เรื่องปัญญาชน รัฐบาลกำลังก้าวผิด” ในที่สุด ดร. เจียงก็เอ่ยขึ้นอย่างเคร่งขรึม “รัฐบาลที่เห็นการณ์ไกลเขาไม่ทำสงครามกับปัญญาชน เขาต้องทำความเข้าใจกับปัญญาชน แล้วเอาปัญญาชนไว้เป็นกำลัง รัฐบาลพูดไม่ได้หรอกว่าไม่อยากฟังเสียงปัญญาชน ปัญญาชนต้องมีเสียง มิฉะนั้นเขาก็เป็นปัญญาชนไม่ได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีความอดทนได้แค่ไหน และมีความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับปัญญาชนได้แค่ไหนต่างหาก”
“แต่รัฐบาลนานกิงไม่มีความอดทนต่อเสียงของนักศึกษาเลย” ข้าพเจ้าพูดเสียงเบาแต่หนักแน่น “รัฐบาลคอยแต่จับนักศึกษาเข้าคุก บางทีก็เอาไปยิงทิ้ง หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์”
“รัฐบาลกำลังขุดหลุมฝังศพตัวเอง” ดร. เจียงโคลงศีรษะไปมา
“อีกสักหน่อยปัญญาชนก็จะหนีไปเข้าค่ายคอมมิวนิสต์มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับลัทธิเผด็จการลัทธินี้”
ดร. เจียงถอนใจยาวแล้วพูดว่า
“ฉันเคยเตือนพวกนักศึกษาไว้ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยชิงหวาเมื่อเดือนก่อน เธอคงจำได้”
ข้าพเจ้านึกถึงภาพที่ ดร. เจียงไปแสดงปาฐกถาเรื่อง ทางรอดของชาติจีน ที่มหาวทยาลัยชิงหวาเมื่อเดือนที่แล้ว ข้าพเจ้าไปนั่งฟังอยู่กับเจียงเหมยและเจียงเฟ หลูกวงกับสนานก็ไปด้วย แต่เขาหนีไปนั่งซุ่มอยู่ทางปีกซ้ายของห้องประชุม วันนั้น ดร. เจียงเตือนนักศึกษาว่า ขอให้ยึดมั่นอยู่กับสัจธรรมความจริงที่ชีวิตต้องการ ชีวิตต้องการอะไร ? ดร. เจียงถามแล้วก็ตอบเสียเองว่า ชีวิตต้องการความสงบสุข แต่โลกหาความสงบสุขไม่ได้ มีแต่จะวุ่นวายมากขึ้นทุกวัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ดร. เจียง ชี้แจงว่า เหตุที่โลกวุ่นวายก็เพราะโลกยังไม่มีระบบเศรษฐกิจสายกลาง เราอยู่กันมาด้วยความทุกข์นับเป็นพัน ๆ ปี แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา พอเราคิดจะแก้ เราก็โจนพรวดเดียวไปหาความเป็นทาสของระบบคอมมิวนิสต์ เราเดินแต่ทางสายริมสุดทั้งสองสาย ไม่เดินสายกลาง เราก็แก้ปัญหาชีวิตของเราไม่ได้ ดร. เจียงทิ้งท้ายว่า ขอให้นักศึกษาอย่าตกหลุมพราง, อย่าหลงลัทธิทางสายริม ทางสายริมไม่มีความพอดี จักรวาล โลก ชีวิต อยู่ได้เพราะมีความพอดี มันเป็นกฎของธรรมชาติที่ปฏิเสธไม่ได้
ทางสายกลาง–ความพอดี ? ข้าพเจ้ายังไม่ลืมคำของ ดร. เจียง แม้วันเวลาจะได้ผ่านไปแล้วถึง ๔๐ ปี