บทที่ ๔๔

ข้าพเจ้าไปพบจางหลินเรื่องเจียงเฟ เรานั่งคุยกันในห้องหนังสืออันอบอุ่นเพราะกระไอร้อนแห่งเหมยฉิวในเตาเหล็กสูง ๑ เมตร มีปล่องหลังเตาเจาะทะลุฝาออกไปในย่วน จางหลินอยู่ในชุดต้าผาวยัดสำลี เขาลุกขึ้นไปตะกุยเหมยฉิวในเตาหลายครั้งด้วยคีมเหล็กที่นอนอยู่ในถาดสังกะสีซึ่งใช้รองเตาไม่ให้ผงถ่านหินซึ่งปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ หล่นออกมาจากประตูเตาลงไปยังเสื่อไม้ไผ่ที่ปูอยู่เต็มห้อง ซึ่งวางชั้นหนังสือทั้งภาษาจีนภาษาต่างประเทศอยู่ชิดกำแพงดินเหนียวผสมฟางทั้ง ๔ ด้าน

จางหลินรู้เรื่องเจียงเฟถูกจับตั้งแต่วันแรกที่ตำรวจยูนิฟอร์มดำผ้าพันหมวกขาว ลากเอาตัวเจียงเฟไปจากโรงเรียนหวาเหวินของ ดร. เพทตัส เขาเป็นห่วงชีวิตของเจียงเฟไม่น้อยกว่าข้าพเจ้า เขารู้ดีว่าความหวังที่เจียงเฟจะหลุดออกมาจากกรงเหล็กเกือบจะไม่มีเลย เจียงเฟกำลังรอความตาย เขาคงจะต้องถูกยิงเป้าในไม่กี่วันนี้

“ความหวังของเราเวลานี้อยู่ที่เจียงเหมย” ข้าพเจ้าพูดขึ้นในตอนหนึ่ง ถ้าเจียงเหมยเอาเงินมาจากลุงไม่ได้ ไอ้หลี่เค่อจ่างมันก็ไม่ช่วย” จางหลินนั่งนิ่งไม่พูดอะไร เรามองดูเหมยฉิวในเตาซึ่งลุกเป็นไฟสีเปลือกลูกพลับเฉยอยู่ ปัญหาของเจียงเฟ เขายังหาทางออกไม่ได้

“เราต้องติดสินบนมัน” ข้าพเจ้าพูดต่อไป

จางหลินก้มลงหยิบคีมเหล็กในถาดสังกะสี แหย่คีมเข้าไปในประตูเตาซึ่งเปิดอ้าอยู่ แล้วก็ตะกุยเหมยฉิวไปมาสักครู่

ในห้องหนังสือของนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายค้านเงียบกริบ พายุฝุ่นจากทะเลทรายโกบีหยุดพักแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกคล้ายกับได้ยินจางหลินถอนใจเบา ๆ

“สินบนเป็นความชั่วร้ายของเมืองจีนทุกยุค” ในที่สุดเขาก็เอ่ยขึ้นแล้วกลับมาทิ้งตัวลงยังเก้าอี้นวมสีน้ำเงินแก่ “ฉันไม่ชอบใจเลยที่เราจะต้องให้สินบนไอ้หลี่เค่อจ่าง”

“แต่มันชีวิตของเจียงเฟ—”ข้าพเจ้าพึมพำ

“ก็นั่นน่าซี” เขาถอนใจดังได้ยินถนัด “เราถูกบังคับให้ทำความชั่วที่เราแสนจะเกลียด”

“มันช่วยไม่ได้ แต่เจียงเหมยจะได้เงินจากลุงจริง ๆ หรือ ?”

“ฉันพบเจียงเหมยเมื่อวานที่ พี.ยู.เอ็ม.ซี. ออดิทอเรียม ได้ยินว่าลุงกำลังวิ่งหาเงินอยู่ จะต้องไปกู้เขา ต้องเสียดอกเบี้ยสูงมาก”

ข้าพเจ้าสะดุดใจทันที เพราะเจียงเหมยไม่เคยบอกว่าจะต้องไปวิ่งกู้ ลุงของเจียงเหมยเป็นคนมั่งคั่ง เท่าที่ข้าพเจ้ารู้

“แต่ลุงคนนี้เป็นเศรษฐีไม่ใช่หรือ ?” ข้าพเจ้าถาม

จางหลินพยักหน้า

“ท่านมีอดีตเป็นเศรษฐี พวกนายพลมันขูดรีดท่านไปเมื่อปีกลายจนเกือบหมดตัว มันว่าจะเอาไปเลี้ยงทหาร”

“เลี้ยงทหาร” ข้าพเจ้าทวนคำแล้วหัวเราะหึ ๆ

“ในเมืองจีนของฉัน นายพลมีกองทัพของตัวเอง ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่นั่นที่นี่ กองทัพส่วนตัวเหล่านี้ต้องมีอาหารต้องมีเงิน นายพลต้องหาเงินหาอาหารมาเลี้ยงกองทัพของเขา อาหารกับเงินก็เอามาจากประชาชน บังคับเอาดื้อ ๆ ชาวนาชาวไร่พ่อค้าพวกคนมีเงินต้องหาเงินหาอาหารมาตามคำสั่ง ใครไม่ให้ก็ต้องมีโทษฐานขัดขืนไม่ช่วยเหลือร่วมมือ บางคนก็ถูกยิงเป้าไปเลย มันเป็นยุคบ้านแตกสาแหรกขาด กฎหมายไม่มีความหมายอะไร ลุงของเจียงเหมยท่านโดนนายพลจางจุงชางลอกคราบมาทีหนึ่งแล้ว ปีกลายก็โดนลอกคราบอีก เลยทำท่าจะหมดตัวเอา แต่ท่านต้องเอาเงินมาจนได้เพื่อช่วยชีวิตเจียงเฟ ดอกเบี้ยจะแพงสักเท่าไหร่ก็ยอม”

“ระบบดอกเบี้ยเป็นกาฝากของสังคม กาฝากอย่างนี้เธอคิดว่าเมืองจีนมีทางจะกวาดล้างให้หมดไปได้ไหม ?” ข้าพเจ้าถามพลางมองตาบรรณาธิการที่ไม่เคยกลัวความตาย

จางหลินสั่นศีรษะ

“ระบบเศรษฐกิจของเมืองจีนเหลวแหลกมาก เพราะเป็นระบบทำนาบนหลังคน คนยากจนทั่วประเทศ ก็เพราะระบบเศรษฐกิจของเราเป็นระบบของนายทุนชั้นเลว เราต้องแก้ไขเสียใหม่ แต่ไม่ใช่กระโจนไปหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะทำให้คนจีนเป็นทาสของคนกลุ่มน้อยกลุ่มเดียวที่ตั้งตัวเป็นเจ้านายทำการทารุณต่อราษฎรทั่วทั้งประเทศ”

“เธอคิดว่าจะแก้อย่างไร ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความสนใจ

จางหลินถอนใจเบา ๆ

“มันเป็นเรื่องยืดยาว เราต้องมีอำนาจถึงจะแก้ได้”

“สมมุติว่าเธอมีอำนาจ” ข้าพเจ้ายังคงมองตาเขาอยู่

“ถ้าฉันมีอำนาจ” จางหลินเว้นระยะหยุดคิดประเดี๋ยวหนึ่ง “ฉันจะกำจัดกาฝากให้หมดไปจากเมืองจีนทันที ในเวลาเดียวกัน ก็จะสร้างระบอบเศรษฐกิจสายกลางขึ้น จะไม่ให้มีการกินแรงกัน เพราะการกินแรงเป็นบ่อเกิดของความยากจน จะไม่ให้เงินมีอำนาจอย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เงินจะทำหน้าที่เป็นสื่อของการแลกเปลี่ยนเท่านั้น, จะต้องไม่เป็นเครื่องมือให้คนเอามาใช้ขูดรีดกันอย่างเหี้ยมโหดทารุณ ไม่มีความเมตตากรุณา ระบบดอกเบี้ยจะมีอีกไม่ได้ นอกจากจะกำหนดไว้ในกฎหมาย ธนาคารที่กำลังมีสภาพเป็นโรงรับจำนำ, เป็นที่หากินของนักหมุนเงิน ที่เอาเงินต่อเงิน, จะต้องแก้ให้เป็นองค์การการเงินของประชาชนอย่างแท้จริง, ทำหน้าที่ให้ความสะดวกแก่การถ่ายเทหมุนเวียนของเงินอย่างสุจริต, ไม่ใช่เป็นแก๊งของนักรีดไถที่เอาเงินไปเที่ยวตีหัวคนอื่น พูดสั้น ๆ ธนาคารจะต้องเป็นของชาติ, ไม่ใช่เป็นของนายทุนที่ทำนาบนหลังคน, หากินกับดอกเบี้ยแพง ๆ แล้วยังเอาค่าปากถุงกับสินบนที่เปิดรับทางประตูหลังหรือในที่มืด ๆ”

“แล้วการผลิตของประชาชนล่ะ ?” ข้าพเจ้าถามอย่างมีเจตนาจะซัก

“ในระบบเศรษฐกิจสายกลาง ทุกคนมีเสรีภาพในการทำงาน ไม่มีการบังคับขืนใจ เศรษฐกิจจะรุ่งเรืองเพราะการผลิตที่เสรีโดยปล่อยให้มันควบคุมตัวของมันเอง แต่ขอให้เธอเข้าใจไว้อย่างหนึ่ง ว่าถ้าเราปล่อยให้เงินมีอำนาจจนมันไม่ทำหน้าที่สื่อของการแลกเปลี่ยนอย่างสุจริตแล้ว ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะไม่ได้รับประโยชน์อย่างมากที่สุดที่เขาควรจะได้ ความยากจนยังจะต้องมีอยู่ ไม่มีที่สิ้นสุด”

“หมายความว่า ถ้าเงินยังมีอำนาจอยู่ปัญหาเศรษฐกิจก็แก้ไม่ได้ยังงั้นหรือ ?” ข้าพเจ้าถามอีก

จางหลินพยักหน้า

“เราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ได้ ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องเงินยังไม่ได้ เงินจะต้องเป็นสื่อของการแลกเปลี่ยนเท่านั้น จะเอามาใช้ตีหัวคนไม่ได้”

“แล้วประเทศคอมมิวนิสต์เล่า ?”

“เหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคอมมิวนิสต์รุ่งเรืองไม่ได้ ก็เพราะคนไม่มีเสรีภาพในการเก็บเกี่ยว และการใช้แรงงาน ถึงเงินจะเลิกตีหัวคน แต่ถ้าไม่มีเสรีภาพของการเก็บเกี่ยวและการผลิตเสียแล้ว เศรษฐกิจก็งอกงามได้ยาก”

“ฉันอยากให้เธอมีอำนาจ” ข้าพเจ้าพูดอย่างจริงใจ

จางหลินหัวเราะ

“ฉันไม่ถือปืน, ถือแต่ปากกาด้ามเดียว ฉันจะมีอำนาจได้อย่างไร”

“เธอจะมีอำนาจได้ทางประชามติ” ข้าพเจ้าตอบ

จางหลินหัวเราะอีก เอื้อมมือไปหยิบคีมมาตะกุยเหมยฉิวในเตาเหล็ก

“ประชามติ ?” เขาส่ายหน้าไปมา “เรายังไม่มีประชามติ เรามีแต่ความมืดกับความกลัว ราษฎรของเรายังขาดการศึกษา เรายังไม่มีแถวของราษฎรที่มีพลังอำนาจ เวลานี้เรามีแต่แถวของนักศึกษา เป็นได้เพียงผู้นำประชามติ, ไม่ใช่ตัวประชามติ”

“แต่ปากกาควรจะสร้างประชามติได้” ข้าพเจ้าให้ความเห็น

“ถ้าคนเขาไม่อ่าน, ไม่คิด, เพราะขาดการศึกษา, ปากกาก็ไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก คนคิดของเรายังมีน้อย เพราะราษฎรยังมีการศึกษาไม่พอและไม่ทั่วถึง เมื่อคนไม่คิด ประชามติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่มีทางเลย”

“แปลว่าการต่อสู้ด้วยปากกาของเธอคงจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย” ข้าพเจ้ามองหน้าอันเต็มไปด้วยความอิดโรยของเขา

“แต่ฉันก็จะเขียนต่อไป ฉันจะไม่หนีออกไปเป็นพวกโอเวอร์ซี”

“ชีวิตของเธออยู่ในอันตราย, จางหลิน” ข้าพเจ้าพูดด้วยความห่วงใย

“ก็คงเหมือนเจียงเฟ เรามีชาตากรรมอันเดียวกัน” เขาพูดแล้วหัวเราะ

ลมพัดแรงจัดตลอดคืน ข้าพเจ้าตื่นแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาก่อนอาหารเช้าเขียนบทความเศรษฐกิจการเมือง ส่งไปให้หนังสือพิมพ์ไชน่าคริติคตามที่เคยปฏิบัติอยู่ทุก ๆ วันที่ ๑๕ ของเดือน เมื่อเขียนจบก็เป็นเวลาอาหารเช้าพอดี ข้าพเจ้าเข้าไปในฮอลล์ เห็นบัวนั่งอยู่ก่อนแล้วที่ข้างหน้าต่างด้านตะวันตก

“เมื่อคืน กว๊าเฟิ้งทั้งคืนเลยนอนไม่ค่อยหลับ” เขาเอ่ยขึ้น เมื่อข้าพเจ้านั่งลงตรงหน้า “ผมกลับจากคาราซาร์เกือบตีหนึ่ง ลมก็ยังไม่หยุด เออ, ผมพบวารยาของคุณ”

“งั้นหรือ ?” ข้าพเจ้ามองหน้าเขาอย่างสนใจ “คงมีนายเหลียงไปด้วยตามเคยซีนะ”

“เจลัส ?”

“ทำไมผมจะต้องเจลัส”

“อ้าว, เสียงคุณบอกว่าไม่ชอบหน้านายเหลียงไม่ใช่หรือ ?”

“ผมไม่ชอบ แต่ผมไม่เจลัส”

“ทำไมคุณถึงไม่ชอบล่ะ ?”

“คุณก็รู้นี่นะ, บัว, ว่ามันไม่ได้รักวารยา”

“แล้วทำไม ?”

“มันไม่รัก แต่มันก็พยายามเอาเปรียบวารยา”

บัวหัวเราะหึ ๆ หั่นเนื้อในจาน นิ่งเงียบอยู่สักครู่ก็พูดว่า

“วารยาบอกว่าคุณหายไป” เขาพูดโดยไม่เงยหน้า

“ผมกำลังวุ่นวายเรื่องเจียงเฟ”

“ไปถึงไหนแล้ว จรินทร์ว่ายังไง ?”

“จรินทร์ไม่มีทาง เจียงเหมยกำลังหาเงินมาซื้อชีวิตเจียงเฟ”

บัวถอนใจเบา ๆ

“ผมพบหลูกวงกับสนาน เมื่อเย็นวานที่ตลาดตุงอัน”

ข้าพเจ้ามองหน้าเขาอย่างสนใจ

“กลับมาจากหูหนานแล้วหรือ ? มาได้ยังไงกัน”

“สนานเขาบอกว่า เพิ่งมาถึงปักกิ่งเมื่อเช้าวานนี้ยังไม่ถึงเยียนจิง”

“นั่นซี ผมพูดโทรศัพท์กับเจียงเหมย ไม่ได้ยินพูดเรื่องสนานเลย สนานเขาพูดเรื่องอะไรบ้าง ?”

“เขาว่าไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้มา”

“แล้วหูหนานเล่า”

“ก็ไม่เห็นเขาพูด”

ข้าพเจ้าหยิบมีดมาตักเนย บ๋อยเอาซุปมาวางให้จานหนึ่ง

“เขาคงไม่กล้าพูดเรื่องเมาเซตุง”

“คงจะเกรงใจหลูกวง หมอนั้นขรึมเหมือนโกรธกับใครมาสักร้อยปี”

“หลูกวงไปโดนเมาเซตุงล้างสมองมา มันก็ต้องเพ้อคลั่งมากขึ้นอีก ปกติก็คลั่งพออยู่แล้ว” ข้าพเจ้าหัวเราะ “ผมว่าพวกนี้ก็ต้องคลั่งอย่างนี้แหละ มันพวกอุดมคติขึ้นสมอง”

“โลกมนุษย์มันเป็นบ้าไปหมดแล้ว”

บัวโคลงศีรษะไปมา “ไอ้พวกนายทุนเลือดสีน้ำเงินมันก็คลั่งแต่นับเงิน เห็นเงินเป็นพระเจ้า ไอ้พวกคอมมิวนิสต์ก็คลั่งปฏิวัติเห็นเลนินเป็นพระเจ้า ถ้ามันคลั่งต่อคลั่งเข้าหากันอย่างนี้ มันก็ต้องฆ่ากันจนหมดโลก”

บ๋อยเดินอย่างเร็ว เข้ามาบอกข้าพเจ้าว่า

“โทรศัพท์จากเยียนจิงครับ”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ