บทที่ ๔๓

คำของ ดร. เจียง แล้วก็บางทีเจียงเหมยก็เอามาพูดซ้ำ ๆ ให้ฟังเป็นคำที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องคิด ทางสายกลาง–ความพอดี แปลว่าอะไร ความจริง, ข้าพเจ้าก็เคยคิดอยู่เสมอ เมื่อออกจากเมืองไทยเข้าไปอยู่ในป๊อกฟูลัมเฮ้าส์ที่เกาะฮ่องกงว่ามนุษย์ควรจะอยู่ร่วมโลกกันอย่างไร จะยึดหลักอะไรความทุกข์จึงจะน้อยลง ป๊อกฟูลัมเป็นหอพักนักเรียนกินนอนโรงเรียน St. Stephen’s College มีเด็กผิวเหลืองหลายชาติเข้าไปพำนักอาศัยอยู่ เช่น เด็กจากแผ่นดินใหญ่ มีซัวเถา, กวางตุ้ง, เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ เด็กจากเกาะชวาซึ่งเป็นทาสของพวกดัทช์ เด็กจากฟิลิปปินส์, ตลอดจนเด็กจากเมืองไทย ขณะนั้นข้าพเจ้าอยู่ได้ ๑๙ ปี จบ ม. ๘ เทพศิรินทร์ได้ ๒ ปี ก็ถูกส่งไปเมืองจีน แต่ขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่ไม่ได้เพราะเจียงไคเช็คกำลังรบกับคอมมิวนิสต์และพวกนายพลที่ยึดครองอำนาจอยู่ในจีนเหนือ จึงต้องรออยู่ในฮ่องกง คือรอไป เรียนไปอยู่ที่ St. Stephen’s เมื่อทำ matriculation ได้แล้ว ก็พอดีเสด็จในกรมกำแพง ฯ เสด็จผ่านฮ่องกง ก็เลยตามเสด็จขึ้นไปปักกิ่งเพื่อจะไปดูหิมะละลาย ที่เกาะฮ่องกงแห่งนี้ ข้าพเจ้าได้รับความสะเทือนใจหลายประการ จากภาพที่ได้เห็น เช่น ภาพสงครามฝิ่น (Opium War) ซึ่งทิ้งฮ่องกงไว้ให้ดูเป็นอนุสรณ์ของลัทธิจักรวรรดินิยมอันเมืองไทยเองก็เคยน้ำตาเช็ดหัวเข่ามาแล้ว และจากภาพสงครามฝิ่น ข้าพเจ้าก็ได้เห็นภาพอนุสาวรีย์ “ชัดสับหยี่” ในนครกวางตุ้งซึ่งนักปฏิวัติรุ่นแรกของ ดร. ซุนยัดเซ็น เจ็ดสิบสองคนได้ถูกจับ และถูกตัดศีรษะประจานที่นครกวางตุ้ง นั่นคือการดิ้นรนครั้งแรกของคณะปฏิวัติ เพื่อกวาดล้างระบบฮ่องเต้และต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของฝรั่งผู้เจริญ และของพวกซามูไรผู้มุ่งมั่นจะเป็นเจ้าชีวิตของคนตะวันออก แล้วก็ถึงภาพที่ประทับอยู่ในความรู้สึกของข้าพเจ้าอย่างลึกซึ้ง คือภาพของเมืองกวางตุ้งถูกคอมมิวนิสต์เผา ภาพศพของประชาชนกองสุมเป็นภูเขาอยู่ตามข้างถนน นั่นก็คือการต่อสู้ดิ้นรนอีกฉากหนึ่งของชาวจีน โดยสรุปแล้วเมื่ออยู่ที่ St. Stephen’s ในฮ่องกงข้าพเจ้าได้พบการต่อสู้ดิ้นรนของชนชาติจีนหลายยุคและหลายด้าน เริ่มด้วยการต่อสู้กับระบบอันธพาลของพวกอิมพีเรียลิสต์, การต่อสู้กับระบอบฮ่องเต้ การต่อสู้กับพวกนกกระสาชั้นนายพลที่บินมากับนักปฏิวัติ การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์รัสเซียที่ต้องการจะกลืนตะวันออกโดยอาศัยจีนเป็นสะพาน ตลอดจนการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเชื่อตัวเองว่าเป็นมังกรแดงแรงฤทธิ์สามารถจะกลืนโลกได้ ประชาชนจึงผู้รักอิสรภาพและเสรีภาพ ได้ยืนขึ้นต่อสู้มาเป็นระยะ ๆ มิได้หยุดมือและในวันที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งเขียนบันทึกเรื่องเมื่อหิมะละลายนี้อยู่ที่ “ฟ้าเมืองไทย” ขบวนเสรีจีนขบวนนี้ก็ยังต่อสู้อยู่

ที่เกาะฮ่องกงเมื่อ ๔๓ ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าได้ตั้งต้นคิดถึงเรื่องโลกและชีวิตซึ่งเมื่อครั้งอยู่ในเมืองไทย ข้าพเจ้าเกือบไม่มีโอกาสจะคิดถึงเลย บนเกาะอันสวยงามแห่งนี้ ข้าพเจ้าได้พบความทุกข์ยากของประชาชน, การดิ้นรนต่อสู้ศัตรูของชีวิตคืออำนาจกับการกดขี่ ตลอดจนได้พบปัญหาที่ไม่มีใครแก้ได้ คือปัญหาที่ว่าทำอย่างไรโลกจึงจะสันติ....ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะหยุดฆ่ากันทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย...และ...ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะเลิกเบียดเบียนแรงงานของคนอื่น ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกไม่สงบ

ถูกแล้ว–ที่เกาะฮ่องกงนี่แหละข้าพเจ้าได้เริ่มเดินเข้าไปในทางสายกลางของ ดร. เจียงโดยไม่รู้ตัว ข้าพเจ้าได้เริ่มหันมามองดูเพื่อนมนุษย์ที่กำลังหิวตาย หนาวตาย และฆ่าฟันกันตายไปต่อหน้า แล้วก็ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า เรื่องร้ายเหล่านี้อะไรเป็นต้นเหตุ เราจะกำจัดต้นเหตุเหล่านี้ได้อย่างไร

มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนเดียวที่จะคิด และข้าพเจ้าก็ไม่เคยคิดว่าอีกสามปีต่อมา ข้าพเจ้าจะได้พบคนคิดในปักกิ่งคือ ดร. เจียง กับ เจียงเหมย ข้าพเจ้าสนใจกับ ดร. เจียงและเจียงเหมยมากก็เพราะเธอทั้งสองเป็นคนพูดเรื่องทางสายกลางเรื่องความพอดีและเรื่องสันติภาพถาวร ระหว่างนั้นเรายังมีสันนิบาตประชาชน (The League of Nations) แต่รัศมีของสันนิบาตประชาชาติได้กำลังเสื่อม, หมดความรุ่งเรืองไปทีละน้อย เพราะกำเนิดของลัทธินาซิสม์และฟาสซิสม์ เรากำลังได้กลิ่นไอขอ สงครามอีกทั้ง ๆ ที่เราได้ฝันไปว่ามันได้จบลงไปแล้วที่พระราชวังแวร์ไซลส์ ดร. เจียงได้บอกข้าพเจ้าว่าความสงบของโลกหลังสัญญาสันติภาพที่แวร์ไซลส์จะต้องสุดสิ้นลงแน่นอน ถ้าการกดขี่กันยังคงมีอยู่ “สัญญาสันติภาพที่แวร์ไซลส์เป็นเพียงสัญญาพักรบเท่านั้น” ดร. เจียงว่า “ความอาฆาตของเคลมังโซทำให้เยอรมนีได้ไกเซ่อร์คนที่สอง ฮิตเล่อร์จะทำให้โลกต้องรบกันอีก”

ข้าพเจ้ายังไม่ลืมเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยชิงหวาในวันนั้น เมื่อ ดร. เจียงแสดงปาฐกถาเรื่อง “ทางรอดของชาติจีน” จบลงแล้วเธอก็ได้รับการต้อนรับจากผู้ฟังด้วยการตบมืออย่างเกรียวกราว ข้าพเจ้าเข้าไปแสดงความยินดีกับเธอ ข้าพเจ้าบอกเธอว่าโลกจะสงบกว่านี้ ถ้าทุกชาติทำอย่างที่เธอพูด

“แต่โลกจะไม่มีวันสงบ” หลูกวงพูดกับข้าพเจ้าด้วยเสียงกระซิบเมื่อ ดร. เจียงหันไปพูดกับโปรเฟสเซอร์หวูมี่ “คนยิ่งมี, ก็ยิ่งโลภ เราหยุดความโลภของมนุษย์ไม่ได้, เมื่อมนุษย์ไม่รู้จักพอ เราก็ต้องบังคับให้เขารู้จักพอ การบังคับก็คือการใช้กำลัง เมื่อมีการใช้กำลัง, โลกจะสงบได้อย่างไร”

ข้าพเจ้าหันไปสบตาสนาน เขายิ้มอยู่ในที แววตาของเขา ข้าพเจ้าได้เห็นวิญญาณของนักต่อสู้ที่แข็งแกร่ง นักต่อสู้ที่ดื้อรั้น ไม่มีการยอมแพ้ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้ารู้สึกว่าในแววตาของสนาน ข้าพเจ้าได้เห็นความสุจริตใจของเขา

ในปักกิ่ง มีคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะต้องเขียนชีวิตของเขาให้จบ คนผู้นี้คือจางหลิน จางหลินเป็นใคร สำคัญอย่างไร ข้าพเจ้าได้เขียนไว้บ้างแล้วในเรื่อง “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” และเรื่อง “ผู้เสียสละ” ชีวิตของเขายังไม่จบด้วยตัวหนังสือ แต่ได้จบไปแล้วด้วยลิขิตของกรรมซึ่งเป็นความจริงที่เขาหนีไม่พ้น จางหลินถูกยิ่งเป้า จวนฟางเพื่อนคู่ชีวิตของเขาต้องเสียน้ำตา ความตายของจางหลินยังประทับอยู่ในใจของข้าพเจ้า เขาเป็นคนดี แต่โลกไม่ต้องการคนดี มันเป็นยุคของคนชั่วช้าลามก–คนอัปรีย์จัญไรที่กล้าขายชาติ และกินเลือดของประชาชนเหมือนผีเปรตอสุรกาย คนที่ยิงเป้าจางหลินเป็นนักการเมืองที่ร่ำรวยที่สุดในเมืองจีน เขากินเลือดประชาชนจนถึงนาทีสุดท้าย ซึ่งเขาจะอยู่ในเมืองจีนเพื่อกินเลือดต่อไปอีกไม่ได้ เวลานี้เขานอนกินอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ มีเงินฝากธนาคารนับเป็นพันล้านเหรียญ ลูกหลานของเขาสามารถจะซุกหัวอยู่ในเมืองสวิสได้อีกหลายชั่วโคตร นั่นคือผู้ชนะแห่งสังคมอันศิวิลัยซ์ของชาติมนุษย์ปัจจุบัน

สวิสเซอร์แลนด์...ดินแดนแห่งหิมะสีขาวบริสุทธิ์...แผ่นดินของคนดี เพราะในคุกมักว่างเปล่าเป็นแรมเดือน นาน ๆ จึงจะมีนักโทษหลงเข้ามาสักคนหนึ่ง...ข้าพเจ้าอยากเห็นสวิสเซอร์แลนด์เป็นสวรรค์ของคนที่ทำความดีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง, สวิสเซอร์แลนด์กลับกลายเป็นสวรรค์ของมนุษย์นักการเมืองที่ขนเอาเงินไปฝาก เพื่อจะทิ้งประชาชนที่เขารีดไถโกงกินจนเหลือแต่กระดูก, ไปนอนกินกับลูกเมียของเขาอีกหลายสิบชาติ ถ้าความยุติธรรมในเมืองนรกจะอนุญาตให้เขากลับมาเกิดอีก

คนอย่างจางหลินควรจะไปเกิดเป็นพลเมืองของสวิสเซอร์แลนด์ เขาเป็นคนดีจนเกินที่จะมีชีวิตอยู่ในกะทะทองแดงของเมืองนรกแห่งลุ่มแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซีเกียงได้ เขาเป็นคนจีนผู้กล้าหาญที่ยืนขึ้นต่อต้านพวกนายพลที่หากินอยู่กับเลือด, อำนาจ, และเงินตรา เขาถือปากกา เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ยอมตายอยู่กับประชาชน และเขาก็ได้ตายไปแล้วจริง ๆ ต่อหน้าหน่วยเพชฌฆาต ผู้สวมยูนิฟอร์มในวันที่หิมะตกหนัก–หิมะของเมืองจีนที่ยังไม่ละลาย !

จางหลิน, ดร. เจียง, และเจียงเหมยตลอดจนเจียงเฟ ยืนอยู่ในแถวเดียวกัน คือแถวของผู้นำจีนใหม่ ที่ไม่อยู่ในกลุ่มนายทุนและไม่อยู่ในกลุ่มคอมมิวนิสต์ เขามีอุดมคติว่า อิสรภาพและเสรีภาพของมนุษย์ต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด มนุษย์เมื่อได้เกิดมาแล้วในทางของธรรมชาติ ก็ควรมีชีวิตอยู่อย่างธรรมชาติ มนุษย์ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยสิทธิอันชอบธรรม, และด้วยหน้าที่อันพึงปฏิบัติ, ไม่เบียดเบียนกินแรงกัน, และไม่เป็นทาสในโซ่ตรวนของเงิน, และในโซ่ตรวนของอำนาจแห่งความกดขี่

นั่นคือเป้าหมายของจางหลินและชาวจีนยุคใหม่ผู้ยืนหยัดอยู่ในแถวเดียวกันกับเขา

ข้าพเจ้าได้พบ, รู้จัก, และรักจางหลิน เขาทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจเมืองจีนดีขึ้น และเขาเป็นผู้หนึ่งที่บอกข้าพเจ้าว่าโลกจะหลีกสงครามได้อย่างไร และมนุษย์จะอยู่ร่วมโลกกันอย่างไร สันติภาพถาวรจึงจะยืนยงคงอยู่

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ