บทที่ ๓๔

วารยา ราเนฟสกายา ราชินีสลาฟแห่งทุ่งน้ำแข็ง แคว้นเปโตรกราด มองหน้าข้าพเจ้าด้วยสายตาอันคมวาวเต็มไปด้วยความรู้สึกอันลึกซึ้งในดวงใจ เมื่อได้ยินข้าพเจ้าพูดประโยคนี้ออกมา ข้าพเจ้าก็ตัวเย็น เพราะไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงต้องกล่าวประโยคที่ไม่น่าจะกล่าวออกมาอย่างไม่ใช้ความคิด จริงอยู่, มันอาจเป็นความในใจที่เกิดจากความจริงใจ แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรพูด เพราะมันเท่ากับเอาน้ำมันราดลงไปบนกองไฟที่กำลังดูอยู่อย่างเงียบ ๆ

“เธอหมายความว่ากระไรจ๊ะ, ระพินทร์ ?” วารยาถาม ตายังสบตาข้าพเจ้าอยู่

ข้าพเจ้าตกอยู่ในความประหม่ามากขึ้น จึงหลบตาลงต่ำ ซึ่งไม่เคยเป็นนิสัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เคยกลัวอะไร แต่ในครั้งนี้ ข้าพเจ้ากลัวสายตาของผู้หญิงคนนี้

“เธอคงจะตอบยาก” วารยาพูดต่อไป

“เธอหมายถึงอะไร ?” ข้าพเจ้าพยายามหาคำพูด

“เธอพูดประโยคสุดท้ายเมื่อกี้ เธอคงมีความหมาย”

“ประโยคสุดท้าย ?” ข้าพเจ้าทำท่านึก

“อะไรกัน, เป็นคนขี้ลืมง่ายถึงเพียงนี้เทียวหรือจ๊ะ, ระพินทร์” วารยาหัวเราะเบา ๆ แต่เยือกเย็นอย่างประหลาด “ฉันหมายถึงประโยคที่เธอพูดว่า เธอกำลังมีทุกข์เพราะเธออาจกำลังเป็นต้นเหตุให้ฉันมีทุกข์–พูดอย่างนี้ เธอต้องมีความหมาย ใช่ไหมจ๊ะ ??”

ข้าพเจ้าพยายามยิ้ม ทำหน้าตาให้เป็นปกติ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันค่อนข้างจะมีเลือดมาเลี้ยงน้อยมากไป วารยากำลังรุกใหญ่ ข้าพเจ้าเปิดช่องให้กว้างจนแทบจะอุดไม่มิด แต่อาการอยากรู้แกมตื่นเต้นของวารยา ได้ทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นชีวิตอิดโรยของวารยาชัดยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าหนาวสะท้าน แต่ในบางขณะเลือดอุ่น ๆ ก็วิ่งไปทั่วสรรพางค์กาย ด้วยความรู้สึกคล้ายกับเป็นผู้ชนะ

แต่ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่า มันเป็นชัยชนะของคนแพ้!

“เธอยังไม่ได้ตอบฉัน, ระพินทร์” วารยารุกต่อไป

ข้าพเจ้าสะดุ้ง

“ที่จริง, เธอก็ควรจะทราบ” ข้าพเจ้าพูดอย่างขอไปที

“ทราบอะไรจ๊ะ ?”

“ทราบความทุกข์ของฉันน่ะซี”

“เธอมีทุกข์อะไร ?”

“ฉันมีความรับผิดชอบที่ยังทำไม่สำเร็จ”

“อะไร ?”

“ดูเหมือนฉันได้เคยเล่าให้เธอฟังแล้ว”

“ฉันยังไม่เคยทราบอะไรเลย”

“เรื่องครอบครัวของฉันในกรุงเทพฯ”

“อ้อ” วารยานิ่งคิดไปประเดี๋ยวหนึ่ง “เธอทุกข์เรื่องนี้ ?”

“ฉันมาจากครอบครัวที่ไม่ใช่เศรษฐี ฉันออกมาปักกิ่งด้วยทุนของคนอื่น ฉันจะต้องกลับไปทำงานใช้หนี้เขา”

“แล้วยังไงจ๊ะ ?”

“ระหว่างนี้ ฉันต้องเขียนหนังสือขายเพื่อส่งเงินไปกราบเท้าคุณแม่”

“เรื่องนี้เธอเคยเล่าให้ฉันฟัง”

“มันเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ท่านชื่นใจ”

“เธอก็ได้ทำความดี เธอควรจะมีความสุขใจได้บ้างแล้ว เธอไม่ควรจะมีทุกข์ไม่ใช่หรือ?”

ข้าพเจ้าถูกต้อนเข้ามุม จึงนิ่งคิดหาทางออก ข้าพเจ้ามีเรื่องจะพูดกับวารยา แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าถ้าข้าพเจ้าพูด วารยาจะต้องถูกทำร้าย ข้าพเจ้าไม่มีความกล้าหาญพอที่จะทำร้ายผู้หญิง

เมื่อเห็นข้าพเจ้านิ่ง ราชินีสลาฟแห่งทุ่งหิมะ นครเปโตรกราด ก็พูดต่อไปว่า

“เธอมีอะไรในใจหรือจ๊ะ, ระพินทร์–ฉันสังเกตมาหลายครั้งแล้ว เธอไม่ค่อยจะร่าเริงเมื่อเราคุยกันถึงเรื่องปัญหาชีวิต–ฉันรู้ว่าเธอต้องมีอะไร–เธอไม่ควรปิดฉัน เธอจากเมืองไทยมาหลายปีแล้ว จากบ้าน, จากคุณพ่อคุณแม่ จากน้อง ๆ, จากเพื่อนฝูง, แล้วก็ คงจะต้องจากคนที่เธอสนใจ—”

ข้าพเจ้าหัวเราะ เพื่อกลบความพิรุธในสีหน้า วารยาฉลาดมากเหลือเกิน เธอจี้ไชข้าพเจ้าจนเข้ามาถึงหัวใจ

“เธอคงคิดว่า ฉันมีคนรักอยู่กรุงเทพฯ” ข้าพเจ้าแข็งใจถาม

“ฉันกำลังคิด” วารยาตอบอย่างซื่อตรง

“ฉันยังไม่มีคนรัก แต่ฉันมีเพื่อนรัก เพื่อนบ้าน—”

“เพื่อนบ้าน—”

“ฉันเคยเขียนเรื่องสั้น ชื่อเพื่อนบ้านลงพิมพ์ในหนังสือแมกะซีนฉบับหนึ่ง เมื่อราว ค.ศ. ๑๙๒๖ ฉันเขียนถึงเพื่อนบ้านคนนี้–ฉันอยากให้เธออ่านภาษาไทยออก”

“แหม, ฉันอยากอ่านจัง” วารยาพูดอย่างตื่นเต้น “เธอแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ฉันอ่านได้ไหม ?”

“ฉันไม่ได้ติดเอามาด้วย เก็บไว้ที่บ้านคุณแม่”

“ช่วยให้ท่านส่งไปรษณีย์มา”

ข้าพเจ้าหัวเราะ รู้สึกขบขันในกิริยาท่าทีของวารยาที่ตื่นเต้นจนรักษาความรู้สึกไว้ไม่ได้

“ฉันจะพยายาม แต่ยังไม่สัญญา–”

“ฉันอยากอ่าน ฉันอยากรู้จักเพื่อนบ้านของเธอคนนี้ เธอคนนี้เป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง ?”

“ผู้หญิง”

“ผู้หญิง !” วารยาทวนคำอย่างตกใจ “อ้อ, เป็นผู้หญิง ผู้หญิงคนนี้เป็นเพื่อนบ้านของเธอ–ชื่ออะไรจ๊ะ”

“ประนุท”

“ดูเหมือนฉันเคยได้ยินชื่อ”

“ฉันเคยพูดถึงประนุทให้เธอฟัง”

“ฉันจำได้–เธอเคยพูด แต่เธอยังไม่ได้เล่าอะไร อ้อ! ประนุทเป็นเพื่อนบ้านของเธอ เธอคงสนใจมาก ถึงได้เอาไปเขียนเป็นนวนิยาย ?”

“ก็เรียกว่าสนใจ”

“เพราะเหตุใดเธอถึงสนใจ ? ฉันถามมากไปหน่อยไหม ?”

“ถามเถอะ, เธอจะได้เข้าใจ ฉันสนใจประนุทก็เพราะเขาเป็นเพื่อนกับฉันมาตั้งแต่เป็นนักเรียน”

“อ้อ ! หลายปี”

“หลายปี เราเคยเดินไปโรงเรียนด้วยกัน ประนุทเรียนอยู่สายปัญญา ฉันเรียนอยู่เทพศิรินทร์”

“อ้อ!”

“เธอคงไม่เข้าใจ สองโรงเรียนนี้อยู่ใกล้กันมาก เรียกว่าเป็นโรงเรียนเพื่อนบ้านก็ได้”

“แล้วเธอก็เขียนเรื่องเพื่อนบ้านเพื่อประนุทของเธอ ?” วารยาพยายามหัวเราะ แต่เต็มไปด้วยความแหบแห้ง “จำได้ไหมจ๊ะ ระพินทร์ เธอเคยเล่าให้ฉันฟังว่าเธอเคยเขียนเรื่องเพื่อนบ้าน”

“ฉันเขียนเพื่ออารมณ์ของฉัน” ข้าพเจ้าแย้ง

“อารมณ์–อารมณ์แห่งความใฝ่ฝัน ฉันเข้าใจ” เสียงของวารยาสั่นเครือไปเล็กน้อย

“ไม่ใช่อารมณ์แห่งความใฝ่ฝัน ฉันไม่ได้ใฝ่ฝันอะไร ฉันเขียนด้วยอารมณ์ของศิลปิน”

“เธอเป็นศิลปิน”

“ฉันไม่เรียกตัวเองว่าศิลปิน แต่บางครั้งมันมีอารมณ์เช่นนั้น ต้องการจะวาดภาพที่สวยงามตามที่ฉันมองเห็น เมื่อวาดแล้วฉันก็มีความสุข”

“โดยเฉพาะภาพของประนุท” วารยาสอดขึ้นมา

“ไม่ใช่ จะเป็นภาพของใครก็ได้ ที่ฉันเห็นว่าสวยงาม นี่ฉันก็กำลังวาดภาพของเธอ ฉันอยากให้เธอรู้ตัวไว้ก่อน” ข้าพเจ้าพูดแล้วก็หัวเราะด้วยอารมณ์สนุก ไม่ให้มีเสียงพิรุธอะไรเลย

วารยามองหน้าข้าพเจ้าอย่างแปลกใจ

“เธอกำลังวาดภาพของฉัน ?” เสียงของราชินีแห่งเปโตรกราดสั่น แต่มีกังวานแจ่มใสขึ้น

ข้าพเจ้าพยักหน้า

“ฉันจะเขียนเรื่องของเธอ–ของทุก ๆ คนในปักกิ่ง”

“รวมทั้งของเจียงเหมยด้วย”

“ก็คงจะรวมด้วย เพราะเจียงเหมยจะต้องมีบทบาทต่อไปอีกมากมาย”

“บทบาทอะไรจ๊ะ, ระพินทร์?”

“บทบาทของลูกหลานเจียงไน่อาน”

“เธอคงสนใจกับเจียงเหมยมากขึ้นทุกวัน”

“ฉันต้องรับว่าเป็นความจริง ที่ต้องสนใจก็เพราะว่าเหตุการณ์ในจีนเหนือได้คับขันมากขึ้นทุก ๆ ชั่วโมง อาจเกิดจลาจล อาจเกิดสงคราม นักศึกษาอาจ นักศึกษาอาจตายกันเป็นแพ ฉันภาวนาว่าอย่าให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในเมืองไทยเลย”

“เธอคิดว่าในเมืองไทย มีผู้หญิงไทยแบบเจียงเหมยบ้างไหม–แบบที่เธอชอบน่ะ บางทีอาจเป็นประนุท”

“ควรจะมี แต่เมื่อยังไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรง ก็ยังไม่มีใครแสดงตัวออกมา แต่สำหรับประนุท ฉันบอกได้เลยว่า ประนุทไม่ใช่เจียงเหมย”

“สวยไม่เหมือน”

“ความสวยไม่ใช่คุณสมบัติสำคัญอะไรมากนักสำหรับชาติบ้านเมือง ความสวยความงามเป็นเพียงการพักผ่อนหย่อนใจชั่วคราวเท่านั้น ประนุทอาจเป็นคนสวย แต่เธออยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน, เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ เป็นกุลสตรีของชาติได้ แต่ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อชาติ เพื่อสังคม เรามีผู้หญิงไทยแบบนี้ไม่น้อย มันเป็นผลลัพธ์ของความสงบสุข และวัฒนธรรมประเพณีของเมืองไทย”

“ฉันอยากเป็นผู้หญิงไทยบ้าง” วารยาพูดพลางหัวเราะ

“ก็ดีซี ฉันจะได้มีประนุทคนที่สอง–เธอเรียบร้อย เยือกเย็นเหมือนประนุท แต่เธอเศร้า ประนุทไม่เศร้า–”

“เรามีเบื้องหลังของชีวิตไม่เหมือนกัน, ระพินทร์ แม่กับน้องของฉันตายอย่างทารุณ ฉันยังจำติดตา ฉันเป็นคนไม่มีบ้าน เกือบจะเรียกว่า ไม่มีชาติ เพราะชาติของฉันแดงโร่ไปหมดแล้ว ฉันไม่มีอะไรจะภาคภูมิใจ มีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ฉันสงสารพ่อ พ่อช้ำใจมาก”

ข้าพเจ้าพยักหน้า พอจะเดาเหตุการณ์ได้ว่า วารยาหมายความว่ากระไร ข้าพเจ้าคิดว่าสักวันหนึ่ง วารยาจะต้องสารภาพว่าตัวเองเป็นใคร และข้าพเจ้าคงเดาไม่ผิด

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ