- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๙
๑
ข้าพเจ้ากลับมายังห้องเล็ก ๆ ไม่กี่ตารางฟุตในตึกเวสท์บิลดิ้ง ที่อาศัยซุกหัวนอนด้วยความตื่นเต้นกับชีวิตใหม่ ๆ ที่ข้าพเจ้าได้พบนอกกำแพงกรุงปักกิ่งในวันนั้น เจียงเหมยกับหลูกวง ยังซึมซาบอยู่ในความรู้สึกไม่เสื่อมคลาย ซึ่งตรงข้ามกับบัวเพื่อนไทยซึ่งมาจากโตเกียวผู้นี้ พูดถึงเจียงเหมยคล้ายกับเป็นดอกไม้ที่สวยและหอมดอกหนึ่งที่เห็นอยู่ข้างทางขณะที่เดินผ่านไป และสำหรับหลูกวงบัวไม่พูดถึงเลย แต่ข้าพเจ้าไม่มองเจียงเหมยอย่างดอกไม้ ไม่ยอมตกเป็นทาสของความสวยหรือความงาม ข้าพเจ้ามองเจียงเหมยเหมือนมองหยกอันมีค่า ที่เป็นสมบัติของแผ่นดินในลุ่มแม่น้ำเหลือง แผ่นดินของท่านปราชญ์ขงจื๊อ ผู้สร้างวัฒนธรรมทางใจให้แก่ผู้ที่จะต้องอยู่ในโลกนี้ เพื่อให้โลกนี้มีคนที่เป็นคน ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าได้พบผู้หญิงจีนคนแรกที่เป็นตัวแทนของจีนสมัยปฏิวัติที่ไม่ปฏิวัติตัวเองจนล่อนจ้อนอย่างลอกคราบ เจียงเหมยยังมีทุกอย่างที่ผู้หญิงจีนควรจะมี เช่นเดียวกับที่หยกควรจะมี ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะกาลเวลา ข้าพเจ้ามีความสุขด้วยความพอใจอยู่ตามลำพัง ในห้องเล็กเนื้อที่ไม่กี่ตารางฟุต มีความสุขเพราะได้สำนึกว่า ข้าพเจ้าได้พบหยกอันล้ำค่าหาไม่ได้ในสมัยที่วัฒนธรรมเซี่ยงไฮ้กำลังระบาด “ค่าของเจียงเหมยไม่ได้อยู่ที่ความสวย” ข้าพเจ้าบอกบัวที่โต๊ะอาหารในเวสท์บิลดิ้ง “ดอกเหมยบานในฤดูชุนเทียนเท่านั้น แต่เจียงเหมยไม่ใช่ดอกไม้”
บัวหัวเราะอย่างสนุก เขาเตือนเรื่องสนาน ข้าพเจ้าบอกว่า ถ้าเจียงเหมยเป็นดอกเหมย ข้าพเจ้าก็อาจสนใจเด็ดมาดม แต่สำหรับข้าพเจ้า เจียงเหมยเป็นหยก จึงควรจะอยู่ในเมืองจีน ไม่ใช่เมืองไทย เพราะฉะนั้นสนานก็ควรจะนอนตาหลับได้
บัวไม่เอ่ยถึงหลูกวงเลย ตอนหนึ่งข้าพเจ้าจึงถามเขาที่โต๊ะอาหารว่า
“ไม่เห็นพูดถึงหลูกวง คุณไม่มีความรู้สึกอะไรบ้างหรือ?”
บัวทำหน้าเบ้ สั่นศีรษะอย่างไม่รอช้าแล้วตอบว่า
“ผมมองเห็นแต่คนบ้าคนหนึ่งไว้ผมไว้หนวดรุงรัง เสื้อผ้าก็ยับยู่ยี่ทั้งขาดทั้งเก่าเหมือนผ้าเช็ดชาม ท่าทางของมันก็ไอ้บ้าหอบฟางดี ๆ นี่เอง ผมรู้สึกอย่างนี้”
ข้าพเจ้าหักขนมปังมาทาเนย นั่งคิดอย่างงง ๆ เมื่อได้ยินคำว่า “ไอ้บ้าหอบฟาง”
“แต่หลูกวงมีอะไรมากมายอยู่ในตา คุณสังเกตตาเขาหรือเปล่า ?”
“เปล่า ผมสังเกตแต่หนวดกับผมทรงโยคี” บัวหัวเราะด้วยอารมณ์สนุก
“ผมว่า หลูกวงได้พูดออกมาทางตา” ข้าพเจ้าพูดเสียงเบาแล้วป้อนขนมปังเข้าปาก
“พูดทางตา ? ตาคนพูดได้หรือ ?” บัวยังคงหัวเราะอยู่
“ตาของหลูกวงทำให้ผมนึกถึงนักปฏิวัติมือซ้ายของจีนหลายคนในหูหนาน ผมนึกถึงเมาเซตุง”
“เมาเซตุง ? ทำไม ?”
“หลูกวงมีวิญญาณของเมาเซตุง”
“คุณเป็นนักคิด แต่ความคิดบางทีมันก็หลอกตัวเอง”
“คุณคงไม่เชื่อว่า เราจะพบพวกวิญญาณเมาเซตุงอีกเยอะแยะ คนที่พูดทางตาอย่างหลูกวง”
“ผมไม่สนใจ ผมว่าคนพวกนี้เป็นคนบ้าคลั่ง ถ้าผมสนใจ ผมจะคลั่งไปด้วย”
“แต่ผมคิดว่า ผมจะต้องสนใจ เพราะผมไม่สบายใจ”
“ทำไม ?”
“คอมมิวนิสต์เป็นโรคระบาด วันหนึ่งเราจะอยู่ไม่สุข ผมเห็นแคนตอนถูกเผาเมื่อผมอยู่ในฮ่องกง ผมก็ห่วงเมืองไทย”
“มันอีกไกล”
“ไม่ไกล มันอยู่ในอายุของเรา คนอย่างหลูกวง คุณว่าเป็นไอ้บ้าหอบฟาง แต่ผมว่าเป็นนักวางเพลิงที่น่ากลัว คนพวกนี้ต้องการทำลายล้างโลกเก่า เพื่อจะสร้างโลกใหม่ แคนตอนถูกเผาเพื่อจะให้มีแคนตอนใหม่ แต่เราก็พบแต่เลือดกับไฟจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เวลานี้เมาเซตุงเข้ามาตั้งจีนใหม่ซ้อนอยู่ในจีนเก่ายึดลุ่มน้ำแยงซีอยู่ทั้งลุ่ม มีรัฐบาลของตัวเอง พิมพ์ธนบัตรใช้เอง มีกองทัพ มีโรงงานทำอาวุธ มีโรงงานอุตสาหกรรม มีโรงเรียน ผมว่าเมืองจีนจะต้องยุ่งไปอีกนาน แล้วความยุ่งมันก็จะต้องล่องใต้ ลงเขมร ลงลาว ลงญวน แล้วเราจะมีสุขได้ยังไง อย่างน้อยก็ต้องมีคนไทยหัวแรง ๆ อยากจะเผาเมืองเก่า เพื่อจะสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาบ้าง เพราะคนเราชอบเอาอย่างกัน มันก็จะยุ่ง”
“คุณคิดมากเกินไป ระพินทร์ เมืองไทยไม่ยุ่ง ผมรับรอง” บัวยืนยันเสียงแข็ง “เรามีพุทธศาสนา, มีพระเจ้าแผ่นดิน, มีขนบธรรมเนียมประเพณี เราไม่ยุ่งแน่”
“แต่สิ่งเหล่านี้ พวกไอ้บ้าหอบฟางอย่างคุณว่า ต้องการทำลาย ถ้าเราปล่อยให้เขาทำลาย เราก็ไม่มีเมืองไทย”
“แต่เขาจะทำลายไม่ได้” เสียงของบัวเข้มแข็งอยู่ตามเดิม
ข้าพเจ้าโคลงศีรษะช้า ๆ อย่างไม่เห็นด้วย
“เราต้องแก้ไข ถ้าไม่แก้ไข ก็เหมือนเปิดประตูให้เขาทำลาย”
“แก้ไขอะไร ?” บัวถามอย่างรำคาญ
“แก้ไขความล้าหลังในชนบท แก้ไขความยากจน แก้ไขความทุกข์ร้อนเพราะโรคภัยไข้เจ็บ–เพราะความขาดแคลน ความไม่มี” ข้าพเจ้าเน้นหนักทุกคำพูด เพราะรู้สึกว่าหัวใจกำลังพูด “เมืองไทยต้องมีการปฏิรูป–ต้องรีฟอร์ม เราจะอยู่ไปเรื่อย ๆ ตามบุญตามกรรมอย่างนี้ไม่ได้”
“คุณคิดจะปฏิวัติละซี, ระพินทร์” บัวหัวเราะดัง “คอขาดนะ, ระวังหน่อย”
ข้าพเจ้าสั่นศีรษะทันที
“ผมไม่ปฏิวัติ การปฏิวัติเป็นการล้มสถาบัน, ถ้าทำอย่างไม่คิดจะมีผลแย่ ๆ ติดตามมามากมาย ผมต้องการรีฟอร์ม ต้องการปฏิรูป การปฏิรูปเหมาะสำหรับเมืองไทย”
“คุณจะเป็นคั้งเหย่าเหวย งั้นหรือ ?” บัวหัวเราะหึๆ แล้วก็ยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม
“ผมไม่รู้ว่าผมจะเป็นอะไร แต่ผมต้องการรีฟอร์มเมืองไทย”
“คุณฝัน, ระพินทร์ ผมไม่เห็นมีอะไรจะต้องรีฟอร์ม เราก็อยู่กันสบายแล้ว” บัวพูดแล้วจ้องหน้าข้าพเจ้าคล้ายกับจะค้นหาอะไรสักอย่างหนึ่ง “คุณอย่าไปคิดเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ระพินทร์ เมืองไทยสงบดีแล้ว”
ข้าพเจ้ารู้จักบัวตั้งแต่อยู่ในเมืองไทย เราเป็นคนซื่อตรง, รักของเก่า, ชอบสนุก เป็นคนไม่มีอันตรายต่อใคร บัวไม่ชอบเปลี่ยนแปลง เขาก็มีเหตุผลของเขา
“เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เจ้านายของเราพระองค์หนึ่ง ทรงเมตตาแก่ชาวไร่ชาวนา พยายามเอาสหกรณ์เข้ามาช่วยลดดอกเบี้ยแขกคุณคงจำได้” ข้าพเจ้าสบตาบัว เขาพยักหน้าแต่ไม่พูด “ผมบูชาท่าน ท่านเป็นบิดาของสหกรณ์ในเมืองไทย ผมว่าท่านเป็นนักปฏิรูปที่เราควรจะเดินตาม”
“แล้วยังไง ?” บัวมีแววตาที่บอกว่าไม่เข้าใจ
“ผมเข้าใจว่าเมืองไทยจะดีขึ้น คนจนจะน้อยลง ถ้าได้เปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เป็นแบบสหกรณ์”
บัวทำตาโต
“หมายความว่า คุณจะปฏิวัติ...ยึดอำนาจ เปลี่ยนเมืองไทย เป็นเมืองสหกรณ์อย่างรัสเซีย ? คุณจะเอาถึงขนาดนั้นเทียวหรือ ?”
ข้าพเจ้าหยุดหั่นเนื้อในจาน เงยหน้าขึ้นมองดูบัว เพื่อนไทยจากนครโตเกียวมีสีหน้าและแววตาเครียดผิดปกติ ในแววตาของเขามีความแปลกใจ และตกใจระคนกันอยู่
เมื่อเห็นท่าทางของบัวตื่นตระหนกเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็หัวเราะด้วยความขบขัน
“ผมไม่ปฏิวัติ ผมปฏิรูป” ข้าพเจ้าพูดอย่างชัดคำ “สหกรณ์ไม่ปฏิวัติ ไม่ยึดอำนาจ เพราะสหกรณ์ทำตามความสมัครใจ, ไม่มีการบังคับข่มขี่ แล้วก็สหกรณ์ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ สหกรณ์บูชาเสรีภาพ แต่คอมมิวนิสต์ทำลายเสรีภาพ เราอยู่กันคนละมุมโลก”
บัวคลายความเคร่งเครียดลง รู้สึกว่าเขาค่อยสบายใจขึ้นที่ข้าพเจ้าบอกว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมิวนิสต์
“สิ้นเคราะห์ไปที” เขายิ้มออกมาได้ “ผมกลัวเหลือเกินที่ตอนคุณกลับเมืองไทย คุณจะต้องมีตำรวจเป็นองค์รักษ์”
“ช่วยไม่ได้ ถ้าตำรวจคิดว่าสหกรณ์คือคอมมิวนิสต์ แต่ตำรวจคงไม่โง่ เพราะคนโง่ไม่ควรเป็นตำรวจ”
“นั่นซี, ถ้าคนโง่เป็นตำรวจ, ราษฎรก็แย่” บัวหัวเราะอย่างครึกครื้นตามนิสัยของเขา “แล้วคุณคิดหรือว่า รัฐบาลท่านจะรับนโยบายสหกรณ์ของคุณ ?”
“ก็ไม่รู้ซี รัฐบาลท่านมีนักปราชญ์เยอะแยะ ท่านอาจโยนสหกรณ์ลงตะกร้าเสียก็ได้” ข้าพเจ้าเคี้ยวเนื้อในปากต่อไป
“คุณทำให้ผมคิด เมืองไทยมีคนยากจนมากไปหน่อย” บัวพูดอย่างเอาการเอางาน
“ไม่หน่อย” ข้าพเจ้าสวนขึ้นทันที “มีอยู่มาก–มากจนนับไม่ถ้วน ทำไมคนจึงยากจน ? คุณเคยคิดบ้างหรือเปล่า ? เราจะแก้กันอย่างไร ? ผมว่าถ้าระบอบมือใครยาวสาวได้สาวเอายังอยู่ คนก็จะยิ่งจนมากขึ้น แต่เราไม่ไปล้มระบอบเขาหรอก เพราะเราไม่นิยมการใช้กำลังบังคับ–สหกรณ์เป็นลัทธิของความสมัครใจ ไม่มีการใช้กำลัง เราจะสร้างกลุ่มสหกรณ์ขึ้น จากกลุ่มเล็กจะขยายตัวเป็นกลุ่มใหญ่ จากหนึ่งกลุ่มจะขยายออกเป็นสองกลุ่มสามกลุ่ม เราจะช่วยสมาชิกของเราให้มีผลได้จากแรงงานของเขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องถูกคนกลางคนมีเงินเอารัดเอาเปรียบ กลุ่มของเราจะค่อย ๆ โตขึ้น มีจำนวนมากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด แล้วพวกมีเงินมีอำนาจมีอิทธิพล ก็จะถูกทิ้งให้ยืนตายไปเอง ไม่ต้องไปปฏิวัติยึดอำนาจ เพราะมันไม่ใช่วิธีของสหกรณ์”
๒
อะไรก็ไม่ทราบ ทำให้ข้าพเจ้าต้องนั่งรถบัสออกไปมหาวิทยาลัยเยียนจิงอีกในสัปดาห์ต่อมา ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าอยากเห็นต้าหยวน, อยากเห็นยู่ฉวนซานน้ำพุหยก, อยากเห็นทะเลสาบคุนหมิงหู แต่ใจจริงข้าพเจ้าหลอกตัวเองไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าอยากฟังเจียงเหมยพูด–พูดเท่านั้น–พูดถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าควรจะรู้ในหอสมุดเยียนจิง ข้าพเจ้าไม่อยากคิดว่า ได้ฉวยโอกาสที่ราชินีแห่ง Forbidden City ผู้นี้ ได้อนุญาตไว้ให้ข้าพเจ้าไปพบได้ เพื่อศึกษาเรื่องของเมืองจีนด้วยใจจริงแท้—สาบานได้ทีเดียว—ข้าพเจ้าต้องการจะรู้เรื่องของฮองไทเฮา ที่ทลายราชบัลลังก์มังกรราชวงศ์แมนจู เรื่องการปฏิรูปของหลี่หุงจาง, คั้งเหย่าเหวย, เจ้าฟ้ากุง, เหวินเซียง, เจิงกวอฟ่าน, ฯลฯ ข้าพเจ้าสนใจนักปฏิรูปเหล่านี้ เพราะข้าพเจ้าคิดว่าเมืองไทยก็ควรปฏิรูป
ข้าพเจ้าพบเจียงเหมยโดยไม่มีสนาน สนานเข้าเมืองตั้งแต่เช้า เราสวนทางกัน เจียงเหมยพาข้าพเจ้าเข้าหอสมุด ใช้เวลาสามชั่วโมงก่อนอาหารกลางวัน แนะนำหนังสือภาษาอังกฤษที่ข้าพเจ้าควรอ่าน แล้วก็เล่าเรื่องเมืองจีนยุคปฏิรูปให้ฟังอย่างยืดยาว
“เธอเป็นครูคนแรกของฉัน” ข้าพเจ้าเอ่ยขึ้นในตอนหนึ่ง “เธอทำให้ฉันรู้จักเมืองจีนดีขึ้นอีกมากมาย เมื่ออยู่ฮ่องกงฉันไม่เคยได้ยินเรื่องเหล่านี้ รู้แต่เรื่องฤทธิ์เดชของพวกคอมมิวนิสต์กับนายพล”
“นั่นมันผลพลอยได้ของความล้มเหลวของการปฏิรูป” เจียงเหมยสบตาข้าพเจ้าอย่างสนใจในเรื่องที่เราพูดกัน “ถ้านักปฏิรูปทำงานสำเร็จ เราจะไม่มีพวกนายพลที่ไถนาอยู่บนหลังประชาชน, ไม่มีสงครามกลางเมือง ไม่มีคอมมิวนิสต์ แต่นักปฏิรูปเป็นฝ่ายแพ้ นักปฏิวัติก็ต้องเข้าแทนที่ แล้วบ้านเมืองก็เป็นอย่างที่เธอเห็นอยู่นี่แหละ ราษฎรได้อะไร ? เราถูกถลกหนังทั้งเป็น”
“เมืองจีนใหญ่เกินไปที่จะทำการปฏิวัติให้สำเร็จได้ในวันเดียว” ข้าพเจ้าพูดด้วยความเห็นใจ “นี่ญี่ปุ่นก็จะรุกเข้าแมนจูเรีย ประธานาธิบดีเจียงก็ยังทลายกำแพงเมืองของเมาเซตุงในหูหนานไม่ได้ ทางเหนือจางโซเหลียงก็ยังคุมอำนาจอยู่ เมื่อรวมกันไม่ได้ จะไปสู่ญี่ปุ่นได้ยังไง”
“ฉันมองเห็นแต่ความมืด” เจียงเหมยถอนใจเบา ๆ “เมืองไทยของเธอคงจะสบายน่าอยู่มาก พวกนายพลคงไม่ไถนาอย่างนายพลของเรา”
“เวลานี้นายพลของเราไม่ไถนา แต่ฉันแว่ว ๆ ว่าเมืองไทยจะปฏิวัติ” ข้าพเจ้าเว้นระยะนิ่งคิดประเดี๋ยวหนึ่ง “ฉันไม่อยากให้ปฏิวัติ การปฏิวัติที่ไม่มีเจตนารมณ์ของราษฎรมันไปไม่รอด คนไม่กี่คนปฏิวัติมันก็เผด็จการ ถ้าจะปฏิวัติเพื่อให้ใครคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งเผด็จการแล้วมันจะได้อะไร ราษฎรก็จะต้องใส่เสื้อขาดอยู่ตามเดิม”
เจียงเหมยสบตาข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกว่าในแววตาของเธอมีความอบอุ่น และความเป็นกันเองมากขึ้น ในที่สุดเราก็รู้ว่าเรามีความคิดคล้าย ๆ กัน ลักษณะประหลาดที่ข้าพเจ้าได้พบในตัวของสตรีสาวร่างเพรียว แต่แข็งแกร่งผู้นี้ ก็คือลักษณะของผู้ที่พร้อมจะขันอาสาเพื่อคนอื่น ไม่มีอะไรที่เป็นความอ่อนแอ ความเห็นแก่ตัวเจือปนอยู่เลย เจียงเหมยเป็นเทพธิดาแห่งความงาม แต่ความงามของเธอไม่ใช่ความงามของนางอ้วงเจียวกุน, หากเป็นความงามของนางฮวนลิฮวยผู้แกร่งกล้า
เราคุยกันจนถึงเวลาอาหารกลางวัน ข้าพเจ้าถือโอกาสเชิญเจียงเหมยไปรับประทานอาหารที่ “เยียนจิงโหลว” คือร้านอาหารของนักศึกษา หลังกำแพงมหาวิทยาลัย ไม่มีอะไรหรูหรา, มีแต่ความเก่าคร่ำที่เป็นสมบัติ องสามัญชนคนเดินดิน เจียงเหมยเกลียดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย, ชอบความสะดวกง่าย ๆ เธอว่าการกินง่าย ทำให้คนไม่โลภ คนเราไม่ได้อยู่เพื่อกิน เรากินเพื่ออยู่
ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปยังตึกนอนของสนาน อยากจะชวนเขากินอาหารกับเรา แต่สนานยังไม่กลับจากในเมือง จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะต้องนั่งกินอาหารกลางวันกับเจียงเหมยตามลำพัง
เจียงเหมยขอให้สั่งอาหารง่ายไม่เกินสามจาน ผนวกด้วยเมี่ยนกับหมานโท่ว ซึ่งแทนข้าวได้เป็นอย่างดี ที่โต๊ะอาหารเราเปลี่ยนการสนทนาเป็นเรื่องชีวิตเบา ๆ เจียงเหมยถามถึงทางบ้านข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็เล่าให้ฟังว่า ข้าพเจ้าเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน คุณพ่อตั้งตัวด้วยลำแข้ง คุณแม่เปิดร้านตัดเสื้อชื่อ “เนยะประดิษฐ์” ที่ถนนนครสวรรค์ นางเลิ้ง คุณพ่อเป็นนักปกครองที่ไม่ฉลาดเพราะไม่ประจบนาย, เสียงแข็ง ไม่ยอมแพ้ถ้าทำถูก ถึงนายจะไม่โปรด แต่ท่านก็อยู่ได้ไม่ถูกไล่ออก ท่านเป็นเจ้าเมือง เมื่อตอนเกษียณอายุได้ ๕๕ ปี ท่านไม่เคยร่ำรวยเพราะเป็นเจ้าเมือง มรดกชิ้นเดียวที่ข้าพเจ้าได้รับจากมือท่านก็คือ มีดพับตราตายาวสามนิ้ว ท่านว่า “เก็บไว้ให้ดี มีดเล่มนี้มันคม โลกนี้มันอยู่ยากถ้าไม่คม”