- คำนำ
- คำปรารภ
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- บทที่ ๔๑
- บทที่ ๔๒
- บทที่ ๔๓
- บทที่ ๔๔
- บทที่ ๔๕
- บทที่ ๔๖
- บทที่ ๔๗
- บทที่ ๔๘
- บทที่ ๔๙
- บทที่ ๕๐
- บทที่ ๕๑
- บทที่ ๕๒
- บทที่ ๕๓
- บทที่ ๕๔
- บทที่ ๕๕
- บทที่ ๕๖
บทที่ ๘
๑
ในที่สุด บานประตูสีแดงแก่ค่อนข้างเก่าด้วยเวลาก็เปิดออกอีกครั้งหนึ่ง แล้วสตรีสาววัยไม่เกินยี่สิบก็ปรากฏตัวออกมาด้วยดวงหน้าที่ยิ้มแย้มชื่นบาน ดวงหน้านั้นทำให้ข้าพเจ้าประหม่าต้องระวังตัว ต่างกับดวงหน้าของวารยา ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าตื่นเต้นโดยไม่คิดจะระวังตัวเลย
เจียงเหมยแต่งตัวเรียบๆ อยู่ในชุดฉีผาวสีมรกต ซึ่งขับผิวพรรณให้ขาวนวลยิ่งขึ้น เธอปล่อยผมยาวให้ปลิวอยู่ในสายลมฤดูออตัมน์ ไม่มีความสวยชั่วแล่นของวิทยาศาสตร์ปะปนอยู่ในความงามตามธรรมชาติ ทั่วเรือนร่างอันเล็กบางแต่แข็งแกร่งแบบนักกีฬา ท่วงทีกิริยาของเธอสุภาพนุ่มนวลตามแบบอย่างของผู้ดีชาวจีน เสียงที่พูดหวานเย็นและลึก, ไพเราะเหมือนดนตรี แต่มีน้ำหนัก มีอานุภาพเหมือนเสียงนางพญา ดวงตาของเธอมีประกายสุกใสเหมือนดวงดาว เป็นประกายของชีวิตที่อิ่มไปด้วยชีวิต
เจียงเหมยตัวจริง ทำให้ภาพถ่ายของบัวเกือบจะไม่มีความหมายเสียแล้ว ข้าพเจ้ายืนรอการแนะนำของสนานเกือบจะลืมหายใจ
ข้าพเจ้าเป็นคนสุดท้ายที่สนานเสนอชื่อให้เจ้าหญิงแห่ง Forbidden City รู้จัก เราทักกันเป็นภาษาอังกฤษ เพราะข้าพเจ้าเพิ่งจะพูดปักกิ่งได้ไม่เกินสามร้อยคำ
เราไม่มีโอกาสจะพูดอะไรกันได้มาก เจียงเหมยกับข้าพเจ้า สนานกับจรินทร์รวมทั้งบัว ดูจะชิงกันพูดเสียหมด แต่ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกว่า ในแววตาของดาวรุ่งแห่งเยียนจิงผู้นี้ เธอกำลังพูดกับข้าพเจ้าอยู่ตลอดเวลา
สนานแสดงความจำนงขอเป็นเจ้ามืออาหารกลางวัน ขณะนั้นยังไม่ถึงเวลา เราจึงพากันออกไปเดินเล่นในบริเวณมหาวิทยาลัยเยียนจิง ซึ่งมีเนื้อที่มากกว่าสามร้อยไร่ เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในจีนเหนือ สร้างด้วยเงินของสมาคมหมอสอนศาสนาสี่สมาคม และทุนสมทบจากอเมริกาอีกบางส่วน ดร. เลตัน สะจ๊วต เป็นคนวิ่งเต้นรวบรวมเงินมาสร้าง จึงนับว่าเป็นอนุสรณ์ของน้ำใจผู้ประกาศคัมภีร์ของยีซัสไครซ์ ซึ่งยึดเอาความรักและความไม่อาฆาตจองเวรเป็นสรณะของมนุษยชาติ มหาวิทยาลัยเยียนจิงเป็นหนึ่งของมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยอีกหลายแห่งในแผ่นดินจีนที่พวกมิชชันนารี่ ได้รวมแรงรวมใจรวมทุนทรัพย์ ช่วยกันก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่อนุชนชาวจีน และเพื่อเพาะพืชศาสนาของพระเยซูให้แก่จีนใหม่ซึ่งกำลังจะไร้ศาสนา อันจะเป็นดวงเทียนส่องทางให้แก่ชีวิตในศตวรรษของวัตถุธรรม พุทธกับขงจื๊อกำลังถอยออกไปที่ขอบฟ้า ต้องจำนนต่อแรงผลักดันของวัตถุแห่งยุคปฏิวัติอันวุ่นวาย แต่ว่าเยซูก็คงจะต้องถอยร่นออกไปอีก เพราะในบัดนั้นมาร์กซ์ก็กำลังก้าวเข้ามาในลุ่มน้ำแยงซีเกียงแล้ว เพื่อจะสร้างศาสนาใหม่ขึ้นอีกศาสนาหนึ่ง ที่ต้องการทำลายสังคมเก่า เพื่อจะสร้างสังคมใหม่ ซึ่งเป็นเพียงความฝันอันบ้าคลั่ง กาลเวลาจะบอกว่าศาสนาของมาร์กซ์–ถ้าแม้จะเรียกว่าศาสนา จะครองใจมนุษย์ได้สำเร็จหรือไม่ ชาติมนุษย์จะต้องตื่นขึ้นสักวันหนึ่ง เพื่อจะตัดสินใจว่า เราจะเลือกเอาคัมภีร์สีแดงแห่งความฝันของมาร์กซ์และเลนิน ตลอดจนเมาเซตุง หรือจะเลือกเอาลัทธิเศรษฐกิจอันเสรี ลัทธิใดลัทธิหนึ่งที่ไม่รีดไถมนุษย์ให้เป็นข้าทาสของน้ำเงิน หรือที่ไม่กดขี่มนุษย์ให้เป็นข้าทาสของชนกลุ่มน้อย ที่ยึดอำนาจครองแผ่นดินแบบเจ้าชีวิต ซึ่งปลอมตัวมาในชุดหมวกแค้ปและเสื้อทรงกรรมกร
เพื่อเป็นการรับรองแขกหน้าใหม่คือข้าพเจ้า สนานก็ขออนุญาตเจียงเหมยพาเราตระเวนไปตามจุดสำคัญๆ หรือจุดที่สวยงามด้วยธรรมชาติ และด้วยการสร้างสรรค์ตามแบบสถาปัตยกรรม ที่ไม่ทิ้งวัฒนธรรมจีน เช่นตึกป้านกง (ตึกบริหาร), ส่วยถา (หอเก็บน้ำ), ร่วยหู (ทะเลสาบแห่งปัญญา), ต่าวถิง (เก๋งกลางน้ำ), จุงถิง (หอระฆัง), ตลอดจนถูซูก่วน (หอสมุด) ที่ถูซูก่วนข้าพเจ้ามีโอกาสพูดกับ เจียงเหมยมากขึ้น เพราะเธอเห็นข้าพเจ้าสนใจกับหนังสือ ซึ่งบรรจุไว้บนชั้นเหล็กเป็นช่วง ๆ ยาวเหยียด จำนวนแสน ๆ เล่ม ทั้งภาษาต่างประเทศ และภาษาจีน เธอเข้ามาชี้แจงให้ฟังโดยเฉพาะหนังสือภาษาจีน ซึ่งมีทั้งหนังสือเก่าและใหม่ ประวัติศาสตร์จีน และวรรณคดียุคพัน ๆ ปีอยู่ในตู้เหล่านี้ รวมทั้งหนังสือโบราณคดีซึ่งบันทึกการค้นคว้าโบราณวัตถุ ตั้งแต่ยุคแรกคือยุคกระดูกจารึก และกระดองเต่าจารึกซึ่งเก่ากว่ายุคโลหะ เจียงเหมยช่ำชองกับหอสมุดมาก เธอรู้ว่าจะหาหนังสือประเภทอะไรได้ที่ไหน แสดงว่าเธอได้มาใช้หอสมุดอยู่เนืองนิจ สมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นดี นอกจากเป็นผู้ใช้หอสมุดบ่อยแล้ว สนานยังยื่นหน้าเข้ามาบอกว่า เจียงเหมยเป็นกัปตันทีมวอลเล่ย์บอลล์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
๒
“เธอไม่เล่นเทนนิสบ้างหรือ, มิสเจียง ?” ข้าพเจ้าถามเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่เราออกมายืนอยู่ที่เฉลียง ซึ่งเปิดให้แสงสว่างผ่านยอดหลิวเข้ามา
“ก็เล่นบ้าง แต่ไม่มากเท่าวอลเล่ย์บอลล์” เจียงเหมยตอบด้วยน้ำเสียงอันนุ่มนวล “เธอเล่นอะไรบ้างล่ะจ๊ะ มิสเตอร์ระพินทร์ ?”
“เทนนิสกับว่ายน้ำ” ข้าพเจ้าตอบ “แต่ก็เอาดีไม่ได้ ฉันไม่มีนิสัยทางกีฬาเลย”
“แต่ฉันได้ยินสนานพูดเมื่อกี้ว่าเธอเป็นนักเขียน”
ข้าพเจ้าพยักหน้า
“ก็เขียนบ้าง”
“นั่นซิ เธอถึงได้สนใจกับหนังสือมากกว่าสนาน สนานเขาเป็นกัปตันทีมวอลเล่ย์บอลล์เหมือนกัน–ทีมผู้ชาย ปีนี้เขาได้ถ้วยอินเตอร์คอลเลช เราเพิ่งฉลองกันเมื่อวานซืน เสียดายที่รู้จักเธอช้าไป”
ข้าพเจ้าสบตาเจียงเหมยคล้ายกับจะบอกว่าขอบใจ แล้วก็ถามว่า
“ฉันทราบมาว่าเจียงเฟ เป็นพี่ชายของเธอ, งั้นไม่ใช่หรือ ?”
“เขาเป็นพี่ที่รักของฉันคนเดียว เธอรู้จักพี่เฟหรือจ๊ะ ?”
“เขาเป็นครูสอนภาษาปักกิ่งให้ฉันที่โรงเรียนหวาเหวิน” ข้าพเจ้าหันไปทางบัว เขาพูดต่อทันที
“เป็นครูที่พวกเราแย่งกันเป็นลูกศิษย์ สำเนียงปักกิ่งของเขาชัดมาก พวกฝรั่งมิชชันนารี่กำลังยกให้เป็นทิวเต้อร์ชั้นหนึ่ง”
“เขาเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฝู่เหรินไม่ใช่หรือ ?” ข้าพเจ้าถาม
เจียงเหมยพยักหน้า
“เขาอยากจะย้ายมาอยู่มหาวิทยาลัยชิงหวา เธอเคยไปที่ชิงหวาหรือยัง ? อยู่ใกล้กับเยียนจิงแค่นี้เอง”
ข้าพเจ้าสั่นศีรษะ
“วันนี้เป็นวันแรก ที่ฉันได้ออกมานอกกำแพงปักกิ่ง”
เจ้าหญิงแห่งเยียนจิงหัวเราะด้วยความขบขัน
“อย่าให้กำแพงปักกิ่งเป็นกำแพงคุกบาสติลล์นะ เธอเป็นนักเขียน เธอต้องออกไปดูโลก เรามีอะไรจะให้เธอดูเยอะแยะ เธอคงยังไม่ได้ไปคุนหมิงหู ?”
“ก็คิดจะไป” ข้าพเจ้าเลี่ยงตอบ “ฉันเคยอ่านเรื่องทะเลสาบคุนหมิงหู ที่ห้องสมุดโรงเรียนหวาเหวิน บังเอิญได้อ่านบันทึกประจำวันของจิ่งซาน เขียนไว้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๐ ตอนกองทัพแปดชาติพังประตูเมืองเข้าไปปราบกบฏบ๊อกเซ่อร์ ได้เรื่องฮองไทเฮาหนีทหารฝรั่งมาที่คุนหมิงหูนี่”
“บันทึกประจำวันของจิ่งซาน เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญมาก เล่าเรื่องวันสุดท้ายของอำนาจฮองไทเฮา และราชวงศ์แมนจู ยังมีบันทึกของปรินเซส เดอลิง อีกฉบับหนึ่ง เล่าเรื่องฮองไทเฮาไว้อย่างละเอียด เพราะเป็นนางสนองพระโอษฐ์” เจียงเหมยอธิบาย “เราชาวจีนอยู่ใต้อำนาจของพวกแมนจูมาเป็นร้อย ๆ ปี คนพวกนี้แม้จะกลายเป็นคนจีนไปหมด เพราะวัฒนธรรมของเราแรงกว่า แต่โดยสายเลือด เราก็ไม่ถือว่าเขาเป็นคนจีน แล้วยิ่งปกครองบ้านเมืองเหลวแหลก จนประเทศจนเกือบจะกลายเป็นเมืองขึ้นของประเทศที่ออกมาล่าตลาดล่าวัตถุดิบ เราก็เกลียดพวกแมนจูมากขึ้น เรื่องฮองไทเฮาหนีฝรั่งเป็นเรื่องของกรรมเก่า เพราะฮ่องเต้ของเราก็เคยหนีพวกแมนจู จนต้องปลงพระชนม์ที่เหมซานกลางกรุงปักกิ่ง เมื่อหลายร้อยปีก่อน เธอคงไปดูเหมซานมาแล้ว ?”
“ฉันถ่ายรูปมาแล้ว ตรงที่ฮ่องเต้ปลงพระชนม์” ข้าพเจ้าตอบ
“ฮองไทเฮาองค์นี้เป็นคนทำลายราชวงศ์แมนจู” เจียงเหมยพูดต่อไป “เป็นคนหลงอำนาจ, ใจร้าย, ตามืด ไม่ยอมแก้ไขการปกครอง คิดแต่จะแก้แค้น ออกคำสั่งให้พวกราษฎรฆ่าฝรั่ง เพราะถือว่าฝรั่งรุกราน ไม่ยกเว้นแม้แต่เด็ก ผู้หญิงและคนแก่ นั่นมันไม่ใช่วิธีแก้ พวกบ๊อกเซ่อร์ที่เราเรียกว่าอี้เหือฉวนเห็นฮองไทเฮาให้ท้าย ก็เลยรวมกำลังกันตั้งเป็นอั้งยี่ก๊กใหญ่ ไล่ฆ่าฝรั่งไม่ว่าจะพบที่ไหน ผลที่สุดเลยเข้าล้อมสถานทูตทุกชาติคิดจะฆ่าให้เกลี้ยง ฮองไทเฮาก็เห็นด้วยอย่างโง่ๆ ประเทศแปดประเทศก็เลยส่งกองทัพเข้าทลายปักกิ่ง แล้วฮองไทเฮาทำยังไง ? หนี! ทั้งราษฎรให้เป็นเหยื่อของพวกทหารฝรั่ง มันปล้นพวกเรามันฆ่าพวกเรา ปักกิ่งเต็มไปด้วยซากศพ เหม็นคลุ้งเป็นเดือน ๆ”
“บูเช็กเทียนองค์สุดท้าย” ข้าพเจ้าพึมพำ
“ทารุณ.... โหดร้าย... ใจยักษ์” เจียงเหมยพูดเสียงเครียด “ฮองไทเฮาโทษเจ้าฟ้าตวนว่าเป็นต้นคิดให้ฆ่าฝรั่ง ให้ฆ่าพวกหมอสอนศาสนา, หาว่าพวกนี้ควักลูกตาเด็กไปทำยา ล้วนแต่เป็นเรื่องใส่ร้ายมิชชันนารี่ ฮองไทเฮาเองก็เชื่อตามเจ้าฟ้าตวน แล้วมากันแสงเอาเมื่อปักกิ่งแตกแล้ว, พวกขุนนางที่สายตาไกลไม่มีใครเห็นด้วยกับนโยบายไล่ฆ่าฝรั่งเลย ขุนนางที่ซื่อสัตย์สองคนชื่อหยวนชางกับฉู่จิ้งเฉิง ไปแอบแก้โองการของฮองไทเฮาเข้า คือโองการที่สั่งฆ่าพวกฝรั่งทั่วประเทศ ไม่ยกเว้นแม้แต่เด็ก หยวนกับฉู่แอบแก้คำว่า ให้ฆ่า เป็น ให้ป้องกันชีวิต เลยทำให้ฝรั่งรอดตายไปได้มาก ฮองไทเฮารู้เข้าก็โกรธใหญ่สั่งให้ลากตัวสองคนนั่นไปตัดศีรษะทันที แล้วตอนหนีออกจากพระราชวังใกล้จะรุ่ง, ได้เรียกสนมของฮ่องเต้มาประชุม สั่งให้เฝ้าพระราชวังไว้ นางสนมคนหนึ่งซึ่งฮ่องเต้โปรดปรานมาก ก็ทูลขออย่าให้ฮองไทเฮาเอาตัวฮ่องเต้หนีตามไปด้วยเลย เท่านั้นแหละฮองไทเฮาก็โกรธ ถึงขนาดสั่งขันทีให้เอาตัวไปโยนบ่อข้างพระที่นั่งหนิงโส้ว ฮ่องเต้จะขอชีวิตจนเสียงหลงก็ไม่ให้ ฮองไทเฮาเกลียดพวกคริสเตียนมาก ตอนกบฏบ๊อกเซ่อร์กำเริบได้จับตัวขันทีที่เป็นคริสเตียน ส่งไปให้พวกบ๊อกเซ่อร์ตัดศีรษะ ความโหดเหี้ยมทารุณของฮองไทเฮามีมากมายหลายเล่มไม่จบ แต่ก็รวมความได้ว่าราชวงศ์แมนจูล่มจม–เมืองจีนตาย–ก็เพราะความโหดร้ายเห็นแก่ตัวตาบอดตามืดของผู้หญิงคนนี้”
“เธอเล่าสนุกดี” ข้าพเจ้าสบตาเจียงเหมย “ฉันจะต้องมาฟังเล็คเชอร์จากเธอบ่อย ๆ เสียแล้ว”
“เธอมาอ่านหนังสือที่หอสมุดนี่ซี เธอจะได้อะไรไปเยอะแยะ ฉันจะช่วยหาหนังสือให้” เสียงของเจียงเหมยเต็มไปด้วยความจริงใจ
“ขอบใจ ฉันต้องมาแน่”
ข้าพเจ้ายังไม่ทันจะพูดอะไรอีก เจียงเหมยก็หันไปทักนักศึกษาชายผู้หนึ่งที่เดินผ่านมา เธอพูดเป็นภาษาปักกิ่ง ข้าพเจ้าจับคำได้บางคำ เพราะเจียงเฟเพิ่งจะสอนให้พูดได้เพียงสามร้อยกว่าคำเท่านั้น
นักศึกษาชายผู้นั้นมองหน้าข้าพเจ้าอย่างสนใจ เขาเป็นคนร่างสูง ไหล่กว้าง วงหน้ายาวผิดสังเกต คิ้วดกดำ ตาแข็งกร้าวน่ากลัว และที่สะดุดตากว่าอะไรก็คือ เขาไว้เคราดกดำเหมือนไม่ยอมโกน บนริมฝีปากก็ทิ้งหนวดไว้ดำมืด นอกจากนี้เขายังปล่อยผมยาวปกหูคล้ายกับไม่แยแสว่าหน้าของเขาจะรกรุงรังอย่างไร
เจียงเหมยสังเกตเห็นเขาสนใจกับข้าพเจ้า ก็ฉวยโอกาสแนะนำให้เรารู้จักกัน จากการแนะนำข้าพเจ้าก็รู้ว่า นักศึกษาชายอายุราว ๒๐ ปีผู้นี้ชื่อ หลูกวง เป็นชาวหูหนาน อาณาจักรคอมมิวนิสต์ของเมาเซตุง ที่กำลังท้าทายรัฐบาลกลางอยู่ เขาขึ้นมาเรียนเศรษฐศาสตร์อยู่ในเยียนจิงได้ปีกว่าแล้ว
เราคุยกันด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งหลูกวงพอจะพูดได้บ้าง ครู่เดียวเขาก็ลาไป แต่เขาแสดงความสนใจมากที่ได้รู้ว่าข้าพเจ้าเป็นคนไทย มาจากเมืองไทย
ระหว่างทางที่เราเดินไปยังโรงอาหารนอกกำแพงด้านหลัง ข้าพเจ้าถามเจียงเหมยถึงหลูกวง เพราะรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างในตัวของเขา ขณะที่เราสบตากัน เจียงเหมยก็เล่าประวัติของเขาให้ฟังอย่างย่อ ๆ ว่า เป็นลูกชาวนาในหูหนาน ยากจนแต่เรียนเก่ง หลูกวงได้ทุนจากพวกมิชชันนารี่ฝรั่ง ให้ขึ้นมาเรียนต่อที่เยียนจิง ประโยคสุดท้ายที่เจียงเหมยพูดถึงหลูกวง ก่อนที่จะถึงโรงอาหารทำให้ข้าพเจ้าตื่นเต้นเล็กน้อย เธอกล่าวว่า
“หลูกวงเป็นพวกซ้าย เธออย่าไปสนิทกับเขาให้มากนัก”