บทที่ ๒

เจียงเฟส่งข้าพเจ้าเข้าไปในห้องทำงานของมิสปอปอฟเลขานุการของ ดร. เพทตัสแล้ว ก็หายตัวออกไปข้างนอกโดยไม่พูดอะไร

เลขานุการสาวเชื้อชาติสลาฟผู้ถูกไสหัวออกมาจากเปโตรกราด หลังการปฏิวัติใหญ่ของเลนิน เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๗ ต้อนรับข้าพเจ้าด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เธอบอกว่าถึงเวลาน้ำชาแล้ว ข้าพเจ้าควรจะดื่มน้ำชาเสียสัก ๑ ถ้วย เธอเดินไปที่โต๊ะเล็กข้างหน้าต่างแล้วก็ทำน้ำชามาให้ข้าพเจ้าโดยไม่รอฟังว่าข้าพเจ้าจะต้องการหรือไม่ เธอเป็นกันเอง ไม่มีพิธีรีตอง ต่างกับพวกอังกฤษที่ข้าพเจ้าคลุกคลีมาในฮ่องกง

ปอปอฟนั่งลงยังเก้าอี้ตัวเดิมแล้วถามข้าพเจ้าเรื่องที่เข้าพบ ดร. เพทตัส เมื่อสักครู่ ข้าพเจ้าตอบว่าอาจารย์ใหญ่ให้ข้าพเจ้ากลับมาหาเธออีก “ดร. เพทตัสให้ฉันไปอยู่เวสต์ บิลดิ้ง” ข้าพเจ้าชี้แจง

“ฉันเตรียมห้องเลขเก้าไว้ให้แล้วใน เวสต์ บิลดิ้ง” ปอปอฟพูดอย่างยิ้มแย้ม “เธอคงจะชอบ อยู่ชั้นล่าง ไม่ต้องขึ้นบันได เปิดหน้าต่างออกทางสนามเทนนิส ได้ลมสบายในฤดูร้อน แต่ฤดูหนาวเธอคงไม่ลืมเอากระจกลง”

“บัวล่ะ อยู่ห้องไหน ?” ข้าพเจ้านึกไปถึงเพื่อนนักเรียนไทยซึ่งเข้าใจว่าคงจะมีคนเดียวในปักกิ่ง

“อ๋อ บัวอยู่ห้องเลขที่สี่ ชั้นล่างเหมือนกัน ถึงก่อนห้องเธอ” เลขานุการเชื้อสายรัสเซียขาวตอบค่อนข้างเร็ว “บัวเขามาถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาจะต้องดีใจที่ได้พบเธอ”

ข้าพเจ้ายิ้มแล้วยกถ้วยชาขึ้นจิบ

“บัวคงจะเที่ยวทั่วปักกิ่งแล้ว แต่ฉันก็คงจะไปได้ทั่วเหมือนกัน ฉันได้เพื่อนใหม่คนหนึ่งเมื่อตะกี้”

“ใคร ?” ปอปอฟถามสวนขึ้นทันที

“เจียงเซียนเซง”

“เจียงเฟ น่ะหรือ ?”

“ใช่ ฉันควรจะเรียกเขาว่าเซียนเซิงไม่ใช่หรือ เขาว่าเขาเป็นครูอยู่ที่นี่”

ปอปอฟหัวเราะ

“เจียงเฟมาสมัครเป็นครู เข้าใจว่า ดร. เพทตัสคงจะตกลงรับเขาไว้แล้ว เขาพูดสำเนียงปักกิ่งชัดมาก ที่นี่เราต้องการครูที่พูดสำเนียงปักกิ่งแท้ ๆ เสียงเพี้ยนเราไม่เอา คนจีนที่มาจากทางใต้โดยมากพูดปักกิ่งไม่ค่อยชัดเลย ถ้าเธอได้เจียงเฟเป็นครูสอนภาษา เธอจะพูดปักกิ่งได้ดี เธอเตรียมตัวจะเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่หรือ ระพินทร์ ?”

ข้าพเจ้าพยักหน้า

“ตั้งใจไว้ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่ง”

“เธอจะเรียนอะไร ?” ปอปอฟมองหน้าข้าพเจ้าด้วยสายตาอันคมวาว

ข้าพเจ้าหยุดคิดนิดหนึ่ง

“คิดว่าจะเรียนประวัติศาสตร์ กับเศรษฐศาสตร์”

ปอปอฟทำท่าคล้ายกับไม่เข้าใจ

“เธอคงจะกลับไปเป็นครู ?”

“ไม่แน่นัก” ข้าพเจ้าหยุดเว้นระยะนิดหนึ่ง “ฉันรู้สึกว่าจีนเป็นแม่หนึ่งของความเจริญ เป็นอียิปต์ของตะวันออก พวกเราชาวตะวันออกควรจะสนใจโดยเฉพาะคนไทยซึ่งอยู่ติดกับเมืองจีน ฉันคิดว่าความวุ่นวายในโลกทุกวันนี้เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เราต้องค้นคว้าหาสมุฏฐานให้ได้ ถ้าเราไม่รู้สมุฏฐานเราก็รักษาโรคไม่ได้ การเรียนประวัติศาสตร์ก็คือการค้นหาสมุฏฐานของความวุ่นวายที่เราพบอยู่รอบตัวเราทุกวันนี้”

“เธอจะเป็นหมอรักษาโรควุ่น ๆ บ้า ๆ ของโลกมนุษย์ ยังงั้นหรือ ?” ปอปอฟพูดพลางหัวเราะ “เธอจะเป็นรีฟอรเม่อ หรือเรวอลูชั่นนิสต์ ?”

“นั่นต้องถามฟ้าดิน ถามฉันไม่ได้” ข้าพเจ้ายิ้มอย่างขบขัน “คนเราจะเป็นอะไรอย่างใจนึกไม่ได้หรอก ความสามารถกับความตั้งใจช่วยเราได้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งเป็นของพรหมลิขิต”

“พรหมลิขิต” ปอปอฟขมวดคิ้ว “ฉันเคยอ่าน The Law of Karma ของสวามี กฤษณานันท์ เธอเชื่อพรหมลิขิตหรือ ?”

“เธอล่ะ–เชื่อกฎแห่งกรรมไหม ?”

“สวามี กฤษณานันท์ เขียนไว้เข้าทีดี ฉันก็กำลังคิดว่าอยากจะเชื่อ ชีวิตของฉันเองดูเหมือนจะเป็นข้อพิสูจน์ของกฎนี้”

ข้าพเจ้ามองตาปอปอฟ รู้สึกว่าดวงตาทั้งคู่มีแววเศร้า ๆ แลเห็นได้ชัด

“ฉันอยู่ฮ่องกงสองปีกว่า” ข้าพเจ้าพูดเสียงเบาแต่หนักแน่น เคยไปกวางตุ้งไปดูอนุสาวรีย์ ชัดสับหยี่ คือนักปฏิวัติ พวก ดร. ซุนยัดเซ็น เจ็ดสิบสองคนแรกที่ถูกทหารราชวงศ์แมนจูตัดศีรษะเมื่อลุกขึ้นปฏิวัติในยุคต้น นั่นก็กฎแห่งกรรม เป็นพรหมลิขิต ที่ฮ่องกงฉันมีเพื่อนนักเรียนคนหนึ่ง ชื่อสุบันดี้ วิจายา เป็นชาวเกาะชวา เขาเป็นนักปฏิวัติเต็มตัว มีอุดมคติสูง ใจแข็ง ซื่อตรง เป็นคนของประชาชนจริง ๆ เขาเกลียดพวกดัชเข้ากระดูก เพราะฝรั่งพวกนี้เก็บภาษีแม้จนกระทั่งโต๊ะ ตู้ เตียงที่ใช้อยู่ในบ้าน เขาบอกฉันว่าในชีวิตของเขา เขาจะต้องปฏิวัติขับไล่พวกดัชออกไปจากเกาะชวาให้จงได้ เขาจะเอาชีวิตเข้าแลกกับเอกราช แต่มันก็เรื่องของพรหมลิขิตอีกนั่นแหละ สุบันดี้ตายไปต่อหน้าฉันในโรงพยาบาลด้วยโรคร้ายที่หมอช่วยอะไรไม่ได้ เขาทิ้งงานปฏิวัติไว้ให้พี่น้องร่วมชาติของเขาทำต่อไป

ปอปอฟถอนใจเบา ๆ สีหน้าเคร่งเครียดกว่าเมื่อสักครู่ นิ่งอั้นคล้ายกับกำลังคิดถึงอะไรที่กดดันความรู้สึกทางใจ แววตาโศกของเธอบัดนี้ดูเหมือนจะเจือปนด้วยความเจ็บช้ำ

“เธอคิดไหม.....ระพินทร์....ว่าการปฏิวัติเป็นของดี ? ฉันไม่คิด ฉันเข้าใจว่าการปฏิวัติสร้างความทุกข์มากกว่าความสุข”

ข้าพเจ้าเข้าใจทันทีว่าปอปอฟจะต้องกำลังคิดถึงรัสเซียบ้านเกิดเมืองนอนที่กำลังนองเลือดและอดอยาก เพราะการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๗

เมื่อเห็นข้าพเจ้านิ่ง ปอปอฟก็กล่าวต่อไป

“ดูเมืองจีนซี ราษฎรร้อย ๆ ล้านต้องฆ่ากันเอง ถูกพวกนายพลขูดรีดจนตัวเหลือง อดตาย หนาวตาย จะมองไปที่ไหนก็พบแต่ความทุกข์ยาก นี่ก็เพราะการปฏิวัติ”

ข้าพเจ้าโคลงศีรษะช้า ๆ สบตาสาวสวยแห่งนครเปโตรกราดเพื่อจะปลอบใจ

“การปฏิวัติเป็นมีดสองคม” ข้าพเจ้าพูดช้า ๆ อย่างระมัดระวัง “มีดเป็นของจำเป็นอย่างไร การปฏิวัติก็เป็นของจำเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อการปฏิวัติเป็นมีดสองคม เราก็ต้องใช้มันให้ถูกต้อง เราต้องคิดให้รอบคอบ เราจะเอามันมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยไม่ได้”

“อย่างเมืองจีนปฏิวัติ–เธอคิดว่าฟุ่มเฟือยไหม ?”

“ก็มีทางคิด” ข้าพเจ้าตอบอย่างใช้ความระวัง “ความเห็นของฉัน การปฏิวัติต้องมีประชาชนเป็นพื้นฐาน และจะกระทำได้เมื่อเกิดความกดดันที่ไม่อาจจะทนต่อไปได้อีกแล้ว การดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด–การใฝ่หาความเย็นเพื่อจะหนีความร้อน–ความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงคือทางออกของชีวิต ย่อมเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ มนุษย์ต้องปฏิวัติก็เพราะสัญชาตญาณอันนี้ แต่สัญชาตญาณอย่างเดียวมันไม่พอ เพราะมันอาจกลายเป็นนิทานเรื่องกบเลือกนายได้ มันต้องมีวิธีการอีกว่า จะปฏิวัติอย่างไร–เมื่อไร เราจึงจะไม่ต้องพบนกกะสา เมืองจีนที่เธอถาม ดร. ซุนยัดเซนอาจมีเหตุผลที่ทำการปฏิวัติ รัฐบาลฮองไทเฮาแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย บ้านเมืองจะล่มจมเพราะพวกสุนัขป่ามหาอำนาจแย่งกันฮุบที่นั่นที่นี่ จนเกือบไม่มีอะไรเป็นของคนจีน แต่การปฏิวัติของ ดร. ซุน ไม่ได้พบความสำเร็จ กลายเป็นการปฏิวัติอย่างฟุ่มเฟือย–เป็นการปฏิวัติที่ก่อให้เกิดความแตกแยก–เป็นการปฏิวัติที่ปล่อยสุนัขป่าฝูงใหม่ คือพวกนายพล Warlords ออกจากกรงเข้ากินเลือดกินเนื้อพลเมืองจนเหลือแต่กระดูก เรื่องมันจึงร้ายมากกว่าดี ฉันว่า ดร. ซุนมองข้ามความจริงไปข้อหนึ่ง”

“ความจริงอะไร ?” ปอปอฟถามทันที

ข้าพเจ้านิ่งคิด ปล่อยให้เวลาผ่านไปชั่วอึดใจหนึ่ง

“ความเห็นของฉันไม่จำเป็นจะต้องถูก อาจผิดก็ได้ แต่ฉันคิดว่าถ้านักปฏิวัติของจีนมุ่งระบบการปกครองรูป Constitutional monarchy แบบญี่ปุ่นเป็นเป้าหมาย โดยเลือกเอาเชื้อสายเจ้าราชวงศ์เหม็งเชื้อจีนซึ่งควรจะเหลืออยู่บ้างขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทนราชวงศ์เช็งซึ่งคนจีนไม่ชอบเพราะถือว่าเป็นคนแมนจู ไม่ใช่คนจีน จีนก็คงจะรักษาความเป็นปึกแผ่นของชาติไว้ได้ ไม่ต้องแย่งชิงอำนาจกัน รบราฆ่าฟันกันเองเหมือนอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะเป็นการเปิดทางให้คอมมิวนิสต์ลุกขึ้นมายึดอำนาจ เมืองจีนในระบอบ Constitutional monarchy จะเป็นเมืองที่ประชาชนมีความสุขสมบูรณ์–จะได้รับความสำเร็จจากการปฏิวัติ แต่เมืองจีนในระบอบคอมมิวนิสต์จะกลายเป็นเมืองทาส”

“ฉันเห็นด้วย” ปอปอฟสวนขึ้นทันที “เวลานี้บ้านเมืองของฉันก็กำลังกลายเป็นเมืองทาส แต่ฉันมีความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ต้องการเสรีภาพและอิสรภาพ มันเป็นธรรมชาติของจิต เวลานี้พวกเราเป็นทาสของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พอถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เราจะต้องมีเสรีภาพและอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง”

“ฉันก็เชื่อเช่นนั้น” ข้าพเจ้ายืนยัน “ความทารุณจะไม่ชนะธรรมชาติของใจคน รัสเซียจะพบทางออกที่ดีกว่านี้”

ปอปอฟมีสีหน้าสดชื่นขึ้นเมื่อได้ฟังข้าพเจ้าพูดเป็นเชิงปลอบใจ

“เมืองไทยของเธอเป็น Absolute Monarchy เธอคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไหม ?” นิ่งไปสักครู่แล้วปอปอฟก็ถามขึ้น

“เวลาจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้” ข้าพเจ้าตอบ “แต่เราจะไม่เปลี่ยนอย่างเมืองจีน เรายังรักกษัตริย์ของเรา เรารู้ว่าถ้าไม่มีกษัตริย์เราจะยุ่งมากกว่าจะสงบ คนไทยรักสงบ เราจึงยังต้องการกษัตริย์ เราจะไม่ยอมให้ใครมาล้มกษัตริย์ของเราอย่างเด็ดขาด ดร. ซุนปฏิวัติด้วยความเกลียดชังกษัตริย์แมนจู เพราะกษัตริย์ทำความเหลวแหลกไว้มาก ความเกลียดกษัตริย์ทำให้ ดร. ซุน ลืมไปว่าการมีกษัตริย์เป็นประเพณีเก่าแก่ของจีนมานานนับเป็นพัน ๆ ปี ราษฎรอยู่ได้ด้วยความสงบก็เพราะประเพณี ดร. ซุนล้มกษัตริย์ แล้วเอาประชาชนมาเป็นใหญ่ ด้วยการประกาศเป็นริปับลิค แต่แล้วประชาชนก็ไม่ได้เป็นใหญ่ ประชาชนกลายเป็นทาสของพวก Warlords ที่แย่งชิงอำนาจกัน ทำมาหากินอยู่บนหลังของประชาชน บ้านเมืองเต็มไปด้วยคอร์รัพชั่น เวลานี้เมาเซตุงก็สร้างเมืองขึ้นมาในลุ่มน้ำแยงซี ถ้ามัวแย่งอำนาจกันเองอยู่อย่างนี้ สักวันหนึ่งเมาเซตุงก็จะต้องเป็นตาอยู่ แล้วประชาชนร้อย ๆ ล้านก็จะกลายเป็นทาส”

ห้องหมายเลข ๙ ในเวสท์ บิลดิ้ง เป็นห้องแคบ ๆ มีเนื้อที่ไม่เกิน ๑๒ ตารางเมตร เหมาะสำหรับคนหนุ่มที่ต้องการอยู่ตามลำพังในความเงียบ ข้าพเจ้าพอใจกับเตียงเหล็กนอนคนเดียวฟูกหนาไม่เกินหกนิ้วขนาดเดียวกับที่ตึกเซนต์ สะตีเวนส์คอลเลช อ่าวสะแตนเลย์หลังเกาะฮ่องกงซึ่งข้าพเจ้าเคยใช้ชีวิตอยู่สองปีกว่า จนสุบันดี้ วิจายาได้ตายจากไปคนละฟากกับเตียง เขาตั้งโต๊ะเขียนหนังสือไว้ให้พร้อมด้วยเก้าอี้ ๑ บู๋ตั้ว ระหว่างเตียงกับโต๊ะก็เป็นหน้าต่างกระจกที่เลื่อนขึ้นลงได้สามารถเก็บความอุ่นได้ดีในฤดูหนาว ใต้หน้าต่างซึ่งมีอยู่บานเดียวนี้มีท่อเหล็กขดไปขดมาสำหรับให้ไอน้ำผ่านเข้ามาทำลายความเย็นยะเยือกของตงเทียน ที่ปลายเตียงมีตู้แบบบิลท์อินสำหรับใส่ของทุกอย่างตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงโอเว่อรโค้ตและต้าผาว

เท่านี้เอง–ที่ซุกหัวนอนของข้าพเจ้าในมหานครปักกิ่ง ชีวิตของข้าพเจ้าต้องการเพียงเท่านี้ โต๊ะตัวหนึ่งกับเก้าอี้ตัวหนึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการมากที่สุด เพราะที่โต๊ะตัวแรกบนผืนแผ่นดินที่เป็นมหานครในประวัติศาสตร์มานับด้วยพันปีนี้ ข้าพเจ้าได้ผลิตตัวอักษรไทยออกมาเป็นจำนวนพอสมควร และตัวอักษรเหล่านั้นก็ได้เข้าแถวอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ของเทวันเทพบุตร นักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์และนักต่อสู้เพื่อนเก่าเทพศิรินทร์ยุคสวมหมวกฟางกระดุมห้าเม็ด

จากเทวันในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อสยามเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ มาถึงสุบันดีที่สะแตนเลย์ พ้อยต์ บนสันเขาฮ่องกง เมื่อคอมมิวนิสต์เผาเมืองกวางตุ้งครั้งแรก ข้าพเจ้าได้เห็น ได้คิด ได้สำนึก มากขึ้นและมากขึ้น และเริ่มเข้าใจว่าชีวิตคือทาสของกาลเวลา ซึ่งเป็นพระเจ้าแห่งความเปลี่ยนแปลง กาลเวลากำลังพาข้าพเจ้าย่ำหิมะขึ้นมาจนถึงไคโรของตะวันออกเพื่อจะเรียนชีวิตต่อไปจากตัวละครของโลก ปอปอฟ, เจียงเฟ, เจียงเหมย, วารยา, บัว ตลอดจนจางหลิน และวลาดิมีร์ กำลังเดินเข้ามาในถนนของพรหมลิขิต บนถนนสายนี้เรามาพบกัน แลวกจากกันไป

ปอปอฟส่งตัวข้าพเจ้าไปที่ห้องเลข ๙ ตึกเวสท์ บิลดิ้ง เมื่อผ่านห้องเลข ๔ ก็ชี้ให้ดู แล้วบอกว่านี่ไงห้องของบัว ข้าพเจ้าเข้าไปเคาะประตู ไม่มีเสียงตอบ ลองขยับลูกบิดดูก็รู้ว่าประตูถูกล็อค บัวไม่อยู่ในห้อง เขายังไม่ทิ้งลายนัก ตระเวนผู้สวมหมวกทรงมะนาวตัดประจำกระทรวงธรรมการหน้าวัดเลียบ

ปอปอฟทิ้งให้ข้าพเจ้าจัดห้องอยู่ตามลำพังจนตะวันลับส่วนโค้งของทะเลทรายโกบี ก่อนเวลาอาหารค่ำประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มีเสียงเคาะประตู เมื่อข้าพเจ้าร้องบอกให้เข้ามาได้ บานประตูขัดมันก็เปิดออก

“โทรศัพท์” คนใช้ผู้ชายประจำตึกพูดเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงแปร่ง

ข้าพเจ้าขอบใจเขาแล้วเขาก็นำไปที่เครื่องโทรศัพท์ ในห้องเล็กใต้บันไดใหญ่ที่ขึ้นไปชั้นบน

ยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหู ข้าพเจ้าก็พูดเป็นภาษาไทย เพราะเชื่อว่าคงมาจากใครคนหนึ่งในชุดตามเสด็จ ซึ่งยังพักอยู่ที่โรงแรมเดอเปอแกง แต่เสียงที่แล่นกลับมาไม่ได้บอกว่าผู้อยู่ปลายทางเป็นคนไทย

“นั่นมิสเตอร์พรเลิศใช่ไหม ?” เป็นเสียงภาษาอังกฤษที่ชัดคำ

ข้าพเจ้าใจเต้นเล็กน้อย เพราะไม่เข้าใจว่าใครในปักกิ่งจะรู้จักข้าพเจ้า บางทีจะเป็นบัวก็ได้

“ใช่” ข้าพเจ้าตอบสั้น ๆ

“นี่ หลอชาง พูด” เสียงนั้นเบา ช้าแต่มีน้ำหนัก “เธอคงแปลกใจที่ฉันโทรศัพท์มา ฉันอ่านข่าวปริ๊นซ์กำแพงในหนังสือพิมพ์ลีดเดอร์มีชื่อเธออยู่ด้วย ก็อยากพบสักหน่อย มากินข้าวกันสักมื้อ เอาไหม ?”

ข้าพเจ้าใจเต้นมากขึ้น ในปักกิ่งนอกจากบัว เจียงเฟ และปอปอฟแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนอีกเลยที่ข้าพเจ้ารู้จัก นายหลอชางเป็นใคร ? อยู่ ๆ ก็โทรศัพท์มาเรียกให้ไปกินข้าวราวกับรู้จักกันมาตั้งโกฏิปี แปลกแท้ ๆ ไม่เข้าใจเลย

ข้าพเจ้านิ่งคิดอย่างงงงัน นึกไม่ออกว่าจะตอบว่าอย่างไร มีอะไรอย่างหนึ่งแว่บขึ้นในใจ ปักกิ่งเต็มไปด้วยเอเย่นต์ของคอมมิวนิสต์ ข้าพเจ้าจะต้องระวังตัวให้ดี

  1. ๑. ในเรื่อง “โลกแห่งความเศร้า” โดยผู้เขียน ในหนังสือพิมพ์เสนาศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๒

  2. ๒. ดร. ซูกาโน ได้ทำการปฏิวัติสำเร็จในเวลาต่อมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ