- ปฐมบท
- คำอภิวันทนาการ (ในการพิมพ์ครั้งที่สาม)
- คำนำของผู้เขียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
บทที่ ๑๙
เป็นการง่ายที่จะไปหานายจ้างเพื่อแจ้งความจำนงลาออก เป็นทางที่ควรทำเมื่อเรามีงานที่ดีกว่าคอยอยู่แล้ว แต่เป็นทางไม่ควรทำถ้างานใหม่จะไม่ดีกว่างานเก่า และเป็นการโง่เง่าน่าหัวเราะที่จะลาออกจากงานไปเพื่อเป็นคนไร้งาน
ดังนั้นรุ้งซึ่งบัดนี้เป็นคนไร้งาน จึงถูกหัวเราะเยาะรอบข้าง จนเขาต้องหลบหน้าอยู่แต่ในบ้าน เกรงว่าจะต้องตอบคำถามซึ่งทำให้ผู้ถามยิ้มอย่างสมน้ำหน้า หรือทำหน้าสลดอย่างสงสาร ซึ่งรุ้งฟังยิ่งกว่าการสมน้ำหน้าเสียอีก
ก่อนจะลาออก เขาได้เล่าความคับใจให้น้าทราบโดยตรง แล้วถามว่า น้าเห็นพ้องด้วยหรือไม่ในการที่เขาจะลาออก น้าเห็นพ้องด้วย
“เธอจะหางานที่อื่นทำอีกไหม” น้าถาม เขาตอบว่าจะไม่หางานที่อื่นอีก น้าถามต่อไปว่าเขายังคงคิดจะค้าขายเองอีกหรือเปล่า เขาตอบด้วยอาการสั่นศีรษะและถอนใจ
เมื่อผ่องมาหารุ้งในเย็นวันนั้น ก็แสดงความประหลาดใจในการที่รุ้งลาออก และกล่าวติเตียนรุ้งว่าเป็นคนใจคอรวนเร ซึ่งรุ้งไม่ได้ตอบโต้เลย
ไม่มีใครเห็นชอบในการลาออกนี้นอกจากน้า แต่เมื่อน้าทราบอยู่ว่ารุ้งยังไม่มีความมุ่งหมายว่าจะประกอบอาชีพอย่างใด แกก็เริ่มสงสัยว่ารุ้งจะเป็นคนไม่เอางาน สมทรงเมื่อพบรุ้งในวันต่อมานิ่งเฉยไม่ออกความเห็น โดยรู้ว่าถ้าติเตียนเขาๆ คงไม่พอใจ เจ้าพระยามหาเทวาฯ กล่าวว่าการลาออกนั้นไม่ใช่เป็นทางฉลาด แต่มันน่าจะเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ “เรื่องมันตรงกับที่คาดไว้แล้ว” เป็นคำพูดของวีรพันธุ์ “กันสงสารแกเต็มทีเมื่อเห็นแกกำลังทำงานอยู่กับพวกแขกเหม็นเนยเหล่านั้น ถ้าเป็นกัน กันก็ลาออกเสียนานแล้ว” นี่เป็นคำพูดของเพื่อนผู้เห็นใจรุ้งมากที่สุด แต่ก็ไม่ทำให้รุ้งได้รับประโยชน์จากความเห็นของเขา “ลาออกแล้วจะทำอะไรต่อไปคะ” อุไรวรรณถาม เขาตอบว่าจะพักผ่อน เธอก็ไม่ถามต่อไป การที่รุ้งจะทำงานหรือว่างงานนั้นไม่ใช่ธุระของเธอ และเธอไม่เข้าใจเลยว่างานอาชีพเป็นสิ่งสำคัญเพียงใด เธอเองเคยคิดจะหางานทำ และมีคนชวนและชี้ช่องให้หลายแห่ง เธอคิดว่าถ้าได้เงินเดือนสักเดือนละร้อยบาทก็ดีเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ปัญหาสำคัญสำหรับเธอ
มันเป็นปัญหาสำคัญถึงเป็นถึงตายสำหรับรุ้ง การที่เขาบอกว่าจะพักผ่อนนั้น ก็เพราะเขายังไม่เห็นทางที่จะทำงานอื่นใด เขานอนซบเซากลิ้งเกลือกราวกับกวางต้องปืน หายใจระรวยอ่อนแรงอ่อนใจ นี่ไม่ใช่การพักผ่อนตามความหมายที่ใช้กับพวกมีชีวิตปกติแน่ทีเดียว แต่ก็เป็นการแน่นอนด้วยว่ารุ้งไม่ใช่คนเคราะห์ร้ายที่สุด หรือเป็นบุคคลคนเดียวที่ไม่มีงานทำ ในสยามนี้มีคนจำนวนหนึ่งที่หางานทำไม่ได้ เพราะถูกรังเกียจบางอย่าง บางคนเป็นโรคติดต่อ บางคนถูกจองล้างจองผลาญจากผู้มีอำนาจ บางคนเพราะฉลาดเกินเพื่อน บางคนเพราะโง่เกินไป หรือถูกเครื่องจักรแย่งทำงาน ทุกประเทศมีคนไร้งานไม่มากก็น้อย ในประเทศอุตสาหกรรมอย่างอังกฤษและเยอรมนี คนไร้งานมีจำนวนน่าตกใจและเป็นปัญหาที่รัฐบาลขบไม่แตก
รุ้งได้รู้รสความทุกข์อย่างหนักยิ่งกว่าความทุกข์ในการเสียอิสรภาพ ในเรือนจำแม้ลำบากก็ยังมีข้าวแดงแกงกาบกล้วย แต่ในโลกอิสรภาพซึ่งทุกคนต้องเลี้ยงตัวเองนี้ รุ้งอาจต้องถึงอดตาย เพราะเมื่อน้าสะอาดเบื่อหน่ายเขามากขึ้น เขาก็คงต้องออกจากบ้าน แล้วฐานะของเขาก็จะกลายเป็นคนจรจัดไปทันที ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่คนอย่างเขาซึ่งมีความรู้ท่วมหัว เคยไปเรียนต่างประเทศได้ปริญญามาอย่างหรู จะต้องมานอนข้างถนนอย่างคนสิ้นคิด
นี่เป็นความผิดของใคร?
รุ้งเป็นคนสุภาพพอที่จะยอมรับว่าเป็นความผิดของตนเอง การปฏิเสธความหวังดีของรัฐมนตรีกลาโหม การสมัครงาน และการลาออกจากบริษัทสยามเครื่องเขียนเหล่านี้ไม่มีใครบังคับให้เขาทำ มันเป็นผลให้เขานอนสะอื้นด้วยความวิตกถึงชีวิตอนาคต แต่เขาไม่มีทางหลีกเลี่ยง หากว่าชีวิตจะย้อนหลังใหม่ได้ รุ้งก็คงเลือกปฏิบัติอย่างเดิมนั้นเอง เพราะมีสิ่งที่ทรงพลานุภาพใหญ่ยิ่งที่ได้ห้ามเขาไม่ให้รับราชการและไม่ให้ค้าขาย สิ่งทรงพลานุภาพนี้คือ “ความรู้สึกผิดชอบ” ซึ่งมนุษย์ผู้เจริญด้วยธรรมทุกคนต้องเทิดทูนเคารพ
รุ้งเป็นคนนอกศาสนาเงิน เขาเกลียดการงานทุกอย่างที่กระทำเพื่อกำไร แต่งานปัจจุบันนี้แทบทุกอย่างดำเนินตามรูปการค้า แม้แต่ตั้งร้านตัดผมหรือเช่ารถมาขับแท็กซี่ งานที่ยังเหลืออยู่สำหรับรุ้งก็คืองานรับจ้าง ได้แก่งานของกรรมกร หรือมิฉะนั้นงานของผู้ผลิตผลคือชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน แต่โดยเหตุที่มารดาของรุ้งได้ขายนาที่ลพบุรีเสียแล้ว ฉะนั้นถ้ารุ้งจะกลับเป็นชาวนาอีก เขาก็จะต้องลดระดับมาเป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น
มันเป็นความผิดของเขาหรือ ในการที่เขาจะต้องเผชิญหน้ากับความอดตายเพราะไม่ไปรับจ้างเป็นกรรมกร ความสุภาพของรุ้งทำให้เขายอมรับอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นความผิดของเขา แต่เขารู้ดีว่าถ้าไปเป็นกรรมกร เขาคงเป็นคนเลวในหมู่กรรมกร เพราะร่างกายและจิตใจของเขาไม่ได้สร้างมาสำหรับทำงานเช่นนี้ งานที่เหมาะสำหรับเขาก็คืองานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หรืองานทางสมองอย่างอื่น มนุษย์อย่างเขาไม่ใช่ผู้มีความสามารถทางใช้กำลัง