- ปฐมบท
- คำอภิวันทนาการ (ในการพิมพ์ครั้งที่สาม)
- คำนำของผู้เขียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
บทที่ ๙
ณ เวลาล่วงสิบนาฬิกาเล็กน้อยแห่งวันที่ ๑๕ เมษายน อันเป็นกำหนดกระทำพิธีพระราชทานอภัยโทษที่กระทรวงกลาโหม ฯพณฯ หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหมเดินเข้ามาในห้องโถง ซึ่งจัดไว้เป็นห้องพิธี ประดับด้วยพระพุทธรูป มีเครื่องบูชาและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ท่านหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเดินมาด้วยในระยะเกือบเคียงไหล่ บรรดาผู้ที่จะรับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งนั่งประจำตามโต๊ะดุจในเวลารับการอบรมพร้อมกันลุกขึ้นคำนับ และยังคงยืนนิ่งอยู่ในระหว่างที่ท่านรัฐมนตรีจุดเทียนพิธี
รุ้งรู้สึกสนุกในการสังเกตกิริยาท่าทางของบุคคลทั้งสอง ท่านรัฐมนตรีกลาโหมขณะนั้นอายุประมาณสี่สิบห้าปี รูปงาม ค่อนข้างอ้วนเตี้ยแต่สมส่วน หน้าตาไม่น่าเกรงขาม แต่น่านิยมรักใคร่ ดวงตาอันสุกใสมองตรงไปตรงมา พร้อมด้วยอาการยิ้มอยู่ในหน้า ดูเป็นเสน่ห์ชวนให้อยากสนทนาด้วย
รุ้งคิดว่าถ้าท่านรัฐมนตรีแต่งกายอย่างสามัญชนไปปรากฏตนแก่ชาวบ้านนอก คงไม่มีใครเชื่อว่าท่านกำโชคชะตาของประเทศและมีความสำคัญมิได้น้อยกว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ผู้ตรัสว่า “รัฐคือตัวฉัน”
วันนี้ท่านรัฐมนตรีแต่งเครื่องแบบสีกากีแกมเขียว กางเกงทรงกว้าง ขัดกระบี่ สวมรองเท้าสูงสีน้ำตาลขัดเป็นมันวาววับ ท่านผู้บังคับการจังหวัดทหารบกรูปร่างอ้วนใหญ่ แต่งกายอย่างเดียวกัน ดูมีสง่ายิ่งกว่าท่านรัฐมนตรีผู้ซึ่งบัดนี้ได้มายืนอยู่กลางห้อง แล้วเหลียวมองผู้บังคับการจังหวัด ถามเสียงแผ่วเบาว่า
“ทำอย่างไรต่อไป?”
“ต่อไป” ผู้บังคับการจังหวัดตอบด้วยเสียงเบาเท่ากัน “ตามโปรแกรมก็คือกระทำสัตย์ปฏิญาณ” ครั้นแล้วด้วยเสียงอันดังแจ่มใส ท่านก็กล่าวนำคำปฏิญาณตนให้นักโทษเหล่านั้นพูดตามทีละประโยค เป็นใจความว่าจะไม่กระทำผิดด้วยรัฐธรรมนูญอีก
การอ่านพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้กระทำในเวลาอันต่อเนื่องกัน ครั้นแล้วก็ถึงวาระที่ท่านรัฐมนตรีจะให้โอวาท
“การพูดกับท่านทั้งหลายคราวนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เตรียมตัวมาเลย” ท่านเริ่มต้น “มิใช่เพราะไม่รู้ตัวล่วงหน้า แต่เป็นความตั้งใจของข้าพเจ้าที่จะมาพูดกับท่านอย่างจริงใจ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ความจริงใจของข้าพเจ้าก็คือ ข้าพเจ้านึกถึงพวกท่านอยู่เสมอ เมื่อเห็นหน้าบุตรภรรยาคราวไร ก็อดนึกมิได้ว่า ท่านคงต้องคิดถึงบุตรภรรยาของท่าน และบิดามารดาของท่านก็คงคิดถึงท่าน ข้าพเจ้าจึงตั้งใจช่วยเหลือให้ท่านได้รับอิสรภาพ และเดี๋ยวนี้ก็เป็นผลสำเร็จแล้ว ในหมู่พวกท่านก็มีเพื่อนของข้าพเจ้าหลายคน” พลางท่านกวาดสายตาดูผู้รับอภัยโทษ “แม้แต่ที่นั่งอยู่ในที่นี้ อย่างน้อยก็มีสองหรือสามคน ที่คุ้นเคยกับข้าพเจ้ามาก่อน”
รุ้งเหลียวไปข้างหลัง เพราะเขานั่งอยู่ที่โต๊ะในแถวหน้า เขาเห็นเพื่อนร่วมทุกข์ของเขาหลายคน ซึ่งส่วนมากเป็นนายทหารกำลังยืดตัวขึ้นให้เห็นเด่น และยิ้มกับท่านรัฐมนตรี
“นอกจากความเห็นใจในทางส่วนตัว” ท่านรัฐมนตรีกล่าวต่อไป “ก็ยังมีเหตุอื่นอีกที่ทำให้พวกท่านจะต้องอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าไปช้านาน อาจเป็นตลอดชีวิต การรบที่บางเขนเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าลืมพวกท่านไปไม่ได้ ครั้งนั้นเราได้ใช้ความสามารถของเราในการรบกันอย่างทรหด มันเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะจารึกลงไว้ว่าที่สนามรบทุ่งบางเขนครั้งนั้น ได้มีการรบกันด้วยอาวุธสมัยใหม่และยุทธวิธีสมัยใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของชาติไทย”
รุ้งหงายหลังไปพิงพนักเก้าอี้ รู้สึกเสียดายว่าคำพูดของท่านรัฐมนตรีในตอนหลังนี้มีผลตรงข้ามกับข้อความในตอนต้น น่าประหลาดที่ท่านพูดถ้อยคำในทางผูกมิตรขึ้นแล้วก็พูดถ้อยคำเชิงทำลายเสียทันที “ใครบ้างหนอ” รุ้งสงสัย “ที่อยากถูกจำได้เพราะเหตุเป็นคู่ต่อสู้กับท่านที่บางเขน” เมื่อรุ้งชำเลืองไปข้างหลังก็เห็นสหายร่วมทุกข์ของเขาหดตัวลงไปในเก้าอี้ สีหน้ายิ้มแย้มเปลี่ยนไปแล้ว
ท่านปาฐกดูเหมือนจะสังเกตทราบผลจากคำพูดของท่าน “แต่นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งเราควรจะลืมเสียดีกว่า” ท่านรีบกล่าวต่อไป “ถึงแม้เราอยู่คนละฝ่าย ข้าพเจ้าก็ยังถือว่าท่านเป็นเพื่อน สิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนาก็คือให้ท่านลืมเรื่องที่แล้วมาทั้งหมด แล้วมาตั้งต้นชีวิตใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าจะช่วยเหลือท่านเท่าที่จะทำได้ในฐานเพื่อน เพื่อให้ท่านมีงานทำและมีรายได้ตามสมควรแก่อัตภาพ”
แล้วท่านปาฐกก็บรรยายถึงสถานะเศรษฐกิจของประเทศโดยย่อ เมื่อท่านได้ทำสัญญาว่าจะช่วยเหลือเรื่องงานอาชีพ สีหน้าของผู้ฟังทั่วไปดูเบิกบาน ครั้นท่านกล่าวถึงความตกต่ำของเศรษฐกิจ ผู้ฟังก็คลายความหวังลง ปาฐกถานั้นกลายเป็นจืดชืด วกเวียนและดูคล้ายไม่รู้ว่าจะจบลงตรงไหนดี รุ้งหมดความสนใจในปาฐกถา เขาประหลาดใจว่าคุณสมบัติใดหนอที่ส่งเสริมให้ท่านผู้นี้ได้เป็นใหญ่ เขากำลังพินิจใบหน้าของท่าน สังเกตหู ตา จมูก ปาก ทีละสิ่ง โดยมิรู้สำนึกว่าท่านรัฐมนตรีทราบความเอาใจใส่ของเขาต่อลักษณะร่างกายของท่านอยู่แล้ว สายตาของท่านแลมาสบสายตาของรุ้ง บางคนคงจะเห็นว่าเป็นสายตาของราชสีห์เมื่อจับจ้องดูหนู แต่รุ้งรู้สึกคล้ายเพื่อนคนหนึ่งมองดูเขา เขาลืมหลบสายตา ท่านรัฐมนตรีนิ่วหน้าแล้วก็เดินห่างจากเขาไป
ท่านจบปาฐกถาของท่านด้วยการให้ศีลให้พรและเป็นอันเสร็จพิธี นักโทษการเมืองเหล่านี้ได้เป็นอิสรภาพแล้ว ใครจะว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้พระราชทานอภัยโทษก็ตามใจ แต่ท่านรัฐมนตรีได้กล่าวเองว่าการช่วยเหลือให้เป็นอิสรภาพได้สำเร็จลงเพราะท่าน
รุ้งยืนอยู่หน้าประตูห้องพิธี คอยพบผองเพื่อนรัก หวังว่าจะไปเที่ยวด้วยกันให้สนุกเพื่อฉลองอิสรภาพ ห่างจากที่ที่เขายืนอยู่ประมาณ ๖ วา เขาเห็นท่านรัฐมนตรีกำลังพูดกับผู้บังคับการจังหวัดทหารบก และครั้งหนึ่งได้พยักหน้ามาทางเขา ผู้บังคับการจังหวัดกระทำวันทยาหัตถ์แล้วก็เดินมาหาเขา
“คุณรุ้ง” ท่านเรียก “ท่านรัฐมนตรีให้มาถามว่าคุณเรียนสำเร็จจากประเทศไหน และเรียนวิชาอะไรมาบ้าง”
“กระผมเรียนชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยลอนดอนขอรับ”
“ท่านรัฐมนตรีต้องการทราบอีกว่า คุณจะยินดีรับราชการในกระทรวงกลาโหมหรือไม่?”
รุ้งหันไปคำนับท่านรัฐมนตรีผู้ซึ่งบังเอิญไม่เห็น แล้วหันมาคำนับท่านผู้บังคับการจังหวัด “กระผมเสียใจอย่างยิ่งที่กระทำได้เพียงจารึกความหวังดีของท่านรัฐมนตรีไว้ในหัวใจด้วยความขอบคุณ กระผมตั้งใจว่าจะดำเนินอาชีพทางค้าขาย”
“คิดดูเสียให้ดีอีกที” ท่านผู้บังคับการกล่าว “คุณอาจเสียใจภายหลัง แต่ผมจะให้โอกาสคุณ ถ้าหากคุณกลับใจจากความคิดที่จะค้าขายก็โปรดติดต่อให้ผมทราบ ผมยินดีช่วยเหลือคุณทุกเวลา”
เมื่อท่านผู้บังคับการเดินกลับไปหาท่านรัฐมนตรีแล้ว รุ้งก็เดินออกจากที่นั้น เขาไม่ชอบเข้าใกล้ท่านผู้มีอำนาจ และเกรงว่าถ้ายังยืนอยู่ที่นั่นต่อไปเขาอาจถูกเรียกเข้าไปพบท่านรัฐมนตรีก็เป็นได้
เขาพบผ่องยืนคอยเขาอยู่ที่ประตูกระทรวงก็ตรงเข้าไปหา “เราจะไปไหนกันดีล่ะ” รุ้งถามขณะเขาทั้งสองเดินเคียงไหล่ไปตามถนนหน้ากระทรวง
“ไปเที่ยวกันให้สนุกสักวันเถอะ”
“ใจตรงกันทีเดียว แต่กันมีข่าวจะบอกแกนิดหน่อย” แล้วรุ้งก็หยิบจดหมายฉบับหนึ่งออกส่งให้ผ่อง
“อะไรกัน”
“จดหมายรับสมัครงาน เพิ่งได้รับเป็นฉบับแรกเมื่อเช้านี้เอง”
จดหมายนั้นดังนี้
บริษัทอู่บางกอก
ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
๑๒ เม.ย. ๘๑
เรื่อง รับสมัครงาน
จาก ผู้จัดการแผนกขาย
แจ้งความมายัง นายรุ้ง
จดหมายของท่านขอสมัครทำงานได้รับแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้ายินดีแจ้งให้ท่านทราบว่า บังเอิญเรากำลังต้องการคนเดินตลาด ซึ่งมีความรู้ภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษสำหรับทำการติดต่อกับพ่อค้า และข้าราชการกระทรวงต่างๆ เป็นโอกาสดีของท่านที่จะได้รับมอบงานนี้ ขอให้รีบมาพบข้าพเจ้า ณ ที่ทำการของบริษัทโดยเร็วเพื่อทราบข้อความต่อไป
โดยความนับถือ
เย. เค. แอตคินสัน
“แกโชคดีจริงๆ” ผ่องกล่าวพร้อมกับยื่นจดหมายคืนรุ้ง เงินเดือนของคนเดินตลาดน่าจะไม่น้อยกว่า ๘๐ บาท แถมโบนัส ค่ารถ และค่าทำงานเป็นเวลา ก็อาจจะถึงเดือนละ ๒๐๐ บาท ไม่เลวเลยสำหรับคนตั้งต้นใหม่ แต่โชคของกันยังไม่ดี” แล้วผ่องหยิบจดหมายอีกฉบับหนึ่งจากกระเป๋าเสื้อของเขา รุ้งอ่านได้ความดังนี้
บริษัทสยามเครื่องเขียน
ถนนทรงวาด กรุงเทพฯ
๑๓ เม.ย. ๘๑
คำนับมายัง นายผ่อง
เนื่องจากจดหมายของท่านลงวันที่ ๑๐ เดือนนี้ แสดงความประสงค์จะทำงานในบริษัทนี้ และประกอบด้วยเผอิญเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ขาดเสมียนไปคนหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงยินดีที่จะแจ้งให้แก่ท่านว่าตำแหน่งที่ว่างอยู่นั้น บัดนี้สงวนไว้สำหรับท่าน เมื่อนึกถึงฐานะเดิมและการศึกษาของท่าน งานที่ท่านจะได้รับมอบหมายนี้อาจจะยังไม่เหมาะ แต่เมื่อท่านมีความชำนิชำนาญงานมากขึ้น ก็จะมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไป อย่าลืมรีบมาที่บริษัทเพื่อรับมอบงานภายในสามวัน มิฉะนั้นอาจต้องมอบงานนี้ให้แก่ผู้อื่นก็ได้
โดยความนับถือ
บี. แอล. ซัลวาล
รุ้งพับจดหมายแล้วนิ่งอยู่ “บริษัทสยามเครื่องเขียนนี้เจ้าของเป็นอินเดียนใช่ไหม?” เขาถาม
“เจ้าของ ผู้จัดการเป็นชาวอินเดียน และคนงานก็เป็นชาวอินเดียนเกือบทั้งหมด” ผ่องตอบอย่างเศร้าๆ “กันรู้สึกว่าเสียเวลาในการส่งใบสมัครไปที่นี่ เพราะเมื่อเขารับสมัครแล้ว เราก็ไม่อยากไปทำ ใครบ้างจะยอมเป็นเสมียนของพวกแขกซึ่งกลิ่นตัวเป็นเนย และเงินเดือนอย่างมากก็คงไม่เกิน ๕๐ บาท”
“เราเปลี่ยนตัวกันเอาไหมล่ะ” รุ้งกล่าวดวงตาสุกใสอย่างดีใจ “กันอยากได้งานที่บริษัทนี้”
“ขอบใจ กันไม่อยากแลกกับแก”
“นี่คงนึกว่ากันล้อ ที่จริงกันได้ส่งจดหมายถึงบริษัทเครื่องเขียนหลายแห่ง แต่เผอิญไม่ได้ส่งไปที่บริษัทนี้ เครื่องเขียนเป็นสิ่งที่กันรักและเป็นสินค้าที่กันมีความเข้าใจมากที่สุด สักวันหนึ่งเมื่อตั้งร้านของตนเอง กันจะขายเครื่องเขียน ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนงานในบริษัทขายเครื่องเขียนสักแห่งหนึ่ง”
“แต่แกคงไม่อยากเป็นเสมียน”
“กันไม่รังเกียจ แม้จะเป็นคนเทกระโถน ถ้าหากงานนั้นทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการดำเนินการค้าของห้าง”
“ถึงกระนั้นเราก็เปลี่ยนที่กันไม่ได้ แกไม่ใช่นายผ่อง และกันไม่ใช่นายรุ้ง”
“จะเป็นอะไรไปถ้าชื่อของกันไม่ใช่ผ่อง นายห้างสยามเครื่องเขียนคงไม่เจาะจงจะจ้างแกเป็นเสมียน ด้วยเหตุว่าแกเป็นนายทหารผ่านเวสพอยท์อเมริกา และผู้จัดการอู่บางกอกก็คงไม่เจาะจงจะได้นักชีววิทยาไปขายรถยนต์ให้เขา เขาคำนึงถึงวิทยฐานะของเราโดยประมาณเท่านั้น และไม่คำนึงเลยในเรื่องชื่อ กันจะเป็นนายผ่องหรือนายรุ้งก็ไม่แปลก”
“แต่มันน่าหัวเราะ ความคิดของแกมันวิตถารพอใช้” แล้วผ่องก็ส่ายศีรษะ ประหนึ่งจะแทนการกล่าวด้วยวาจาว่า เขาเห็นเพื่อนของเขาเป็นคนอัศจรรย์สุดที่เขาจะเข้าใจได้ เขาทั้งสองสอดแขนกันเดินต่อไป