บทที่ ๑๘

อย่างไรก็ตาม รุ้งได้ให้ความช่วยเหลือแก่พวกพ่อค้าอินเดียนเหล่านี้มาตลอดเวลาหกเดือนในการรีดเงินจากพลเมืองไทย

“คนไหนไม่รู้จักค้าขาย คนนั้นเป็นคนโง่” นายอาลาบัดกล่าวกับรุ้งในวันหนึ่ง การค้าตามวิธีของนายอาลาบัดนั้นกอปรด้วยเล่ห์อุบายซึ่งไม่ถือกันในหมู่พ่อค้าว่าเป็นการคดโกง กำไรที่ห้างสยามเครื่องเขียนได้รับทุกวันนี้ อาศัยกลอุบายของนายอาลาบัด ผู้มีความชำนาญแม่นยำในการคำนวณน้ำหนักกระเป๋าของลูกค้า ถ้าลูกค้าคนใดฐานะดี เขาก็ชักชวนให้ซื้อเชื่อ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งที่คนโดยมากไม่ใคร่ตกลงใจซื้ออะไรง่ายๆ ถ้าต้องใช้เงินสด เมื่อลูกค้าของนายอาลาบัดคนใดเริ่มซื้อด้วยเงินเชื่อเสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ตั้งต้นเดินทางเข้าสู่ใต้อำนาจของนายอาลาบัด เขาจะถูกล่อใจให้ซื้อของมากขึ้นทุกทีโดยให้รู้สึกว่าของเหล่านั้นราคาถูกและเป็นการได้เปรียบที่จะซื้อไว้ คงมีสักครั้งหนึ่งที่เขาถลำตัวซื้อมากเกินกว่าที่จะสามารถชำระเงินได้ตามกำหนด ตั้งแต่นั้นเขาจะรับซื้อสินค้าทุกอย่างที่นายอาลาบัดส่งไปให้ไม่ว่าเป็นราคาถูกหรือแพง นายอาลาบัดมีวิธีร้อยสร้อยอย่างที่จะล่อผู้ซื้อให้ตกหลุม และเมื่อตกหลุมแล้วก็รวบไว้ในกำมือ

ถ้าหากสินค้าใหม่ตกเข้ามาถึง นายอาลาบัดจะรีบขายสินค้าเก่าให้หมดไป โดยส่งให้แก่พวกลูกหนี้ในเชิงบังคับให้รับซื้อ สินค้าที่ตกมาใหม่จะขายให้เฉพาะผู้ที่ยังสามารถซื้อได้ด้วยเงินสด ถ้าสินค้าอย่างไหนขาดคราวก็จะถูกโก่งราคาขึ้นไปทันทีจนสูงลิบ และนายอาลาบัดช่ำชองในการขึ้นราคาในโอกาสและเวลาอันเหมาะ

โดยที่รุ้งผู้เขียนจดหมายโต้ตอบและร่างหนังสือสัญญาต่างๆ เขาจึงรู้อุบายเหล่านี้ และรู้ว่าใครบ้างที่ตกอยู่ในกำมือของนายอาลาบัด ซึ่งถูกรีดเงินไปเลี้ยงบริษัทสยามเครื่องเขียน อันมีนายซัลวาลเป็นคนกินเติบที่สุด คฤหาสน์อันมโหฬารของนายซัลวาลที่ถนนเพชรบุรีซึ่งมีพื้นที่มากกว่า ๒๐ ไร่ และภายในเขตบ้านนั้นตกแต่งงามราวกับสวนอัมพร รถยนต์ของนายซัลวาล ๕ คัน รวมทั้งเครื่องเพชรในตู้นิรภัยของมาดามซัลวาลซึ่งเป็นราคาเรือนล้านเหล่านี้ได้เกิดขึ้น รักษาไว้ และจะเพิ่มพูนต่อไป ก็ด้วยหยาดเหงื่อบนหลังของลูกค้าที่นายอาลาบัดกำไว้ในมือ พวกเขาเหล่านี้ส่วนมากเป็นเจ้าของร้านขายเครื่องเขียนตามจังหวัดต่างๆ กระจัดกระจายทั่วราชอาณาจักร อีกบางพวกเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ และอีกพวกหนึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน รายคาบ หรือสำนักพิมพ์ คนเคราะห์ร้ายเหล่านี้ใช้ความคิดจนแทบเป็นบ้าที่จะปลดหนี้ของบริษัทออกจากไหล่ การค้าของเขาเจริญดี แต่ไม่มีกำไร เพราะต้องถวายกำไรนั้นแก่นายซัลวาล

เหล่านี้เป็นความรู้ซึ่งรุ้งได้รับในระหว่างเวลาหกเดือน เขายอมตนมาเป็นเสมียนในบริษัทสยามเครื่องเขียน โดยหวังจะได้รับความรู้ที่จะเป็นอุปกรณ์ให้เขาได้ตั้งร้านเครื่องเขียนของตนเอง เดี๋ยวนี้เขาได้รับความรู้เช่นนั้นพอแล้ว เขารู้วิธีหลีกเลี่ยงมิให้ตกอยู่ในกำมือของนายอาลาบัด อีกทั้งรู้วิธีที่จะตัดตอนแยกลูกค้า แต่ทั้งหมดนี้เกิดปัญหาขึ้นในใจรุ้งว่าวิญญาณของตนเป็นวิญญาณชนิดเดียวกับของนายอาลาบัด และของนายซัลวาลหรือเปล่า? อีกนัยหนึ่งเขาสามารถดื่มเลือดลูกค้าของเขาได้หรือไม่?

ความรู้สำคัญที่จะเป็นประโยชน์แก่รุ้งต่อไป ก็คือความรู้จักตนเองดีขึ้น คนชนิดรุ้งนี้แหละที่นายอาลาบัดเรียกว่าคนโง่ เขาไม่มีไหวพริบที่จะเอาเปรียบคนอื่นเสียเลย ในโลกแห่งการแข่งขัน ถ้าใครไม่ได้คนคนนั้นก็ต้องเสีย คนอย่างรุ้งจึงต้องเสียเปรียบอยู่วันยังค่ำ เมื่อคบเพื่อนก็เสียเปรียบเพื่อน ครั้นมาเจรจาสมัครงานก็ยอมเสียเปรียบนายซัลวาล เดี๋ยวนี้ได้ทำงานมาแล้วหกเดือนโดยยอมเป็นฝ่ายรับใช้ข้างเดียว คนอย่างนี้ถ้าไปค้าขายตามลำพังก็เอาปูนหมายหน้าได้ว่าต้องขาดทุน ถึงจะมีความรู้ท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด ถ้ารุ้งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกขายแทนนายอาลาบัด เขาคงไม่กล้าบีบขมับลูกค้าให้รับซื้อของก้นสต๊อก เขาคงไม่กล้าขึ้นราคาสินค้าที่ขาดคราว ไม่กล้าเอาของปลอมมาขายแทนของแท้ รวมความว่าเขาทำไม่ได้เหมือนนายอาลาบัด เขาเป็นคนล้าหลังโง่เง่าในโลกแห่งการค้า จิตใจของเขาไม่ได้สร้างมาสำหรับประกอบอาชีพชนิดนี้ ห้างสยามเครื่องเขียนให้เงินเดือนเขาในอัตราเสมียนก็เหมาะแล้ว เดี๋ยวนี้รุ้งรู้จักตัวเองแล้วว่า ถึงแม้เขาอาจเป็นโปรเฟสเซอร์ชีววิทยาได้ แต่ในเชิงการค้าเขาจะเป็นได้ก็เพียงเสมียนเท่านั้น

ก่อนมาสมัครทำงานในบริษัทนี้ เขานึกว่าตนเองจะเป็นพ่อค้าที่ดีได้ “พ่อค้าที่ดี” นั้น เขาหมายถึงผู้สามารถดำเนินงานก้าวหน้าโดยอาศัยความรู้ศาสตร์กับความสามารถในศิลปะและประกอบด้วยความสุจริต

เขาได้โต้เถียงกับพ่อค้ามาหลายคนแล้วว่า ทำไมการค้าจึงต้องพูดเท็จ? ถ้าถูกถามถึงต้นทุนและกำไร ก็ควรบอกได้โดยเปิดเผย และความเห็นอื่นๆ ซึ่งพวกพ่อค้าพากันบอกว่าเป็นผลของการอ่านตำรามากเกินไป โดยไม่เรียนวิธีปฏิบัติ ภาษิตที่ว่า “ความซื่อตรงเป็นนโยบายที่ดีเยี่ยม” นั้นเป็นความจริงในตำรา แต่ไม่มีใครเอามาใช้

แต่รุ้งยังไม่ยอมเชื่อ เขายังนึกอยู่นั่นเองว่าคนซื่อตรงยังมีหนทางชนะในเกมการค้า ดังนั้นระหว่างอยู่ในคุก เขาจึงอ่านหนังสือเกี่ยวกับการค้าเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า นับตั้งแต่ The Theory and Practice on Commerce ซึ่งผ่องขอยืมอ่านแล้วก็สั่นหัวว่าเป็นตำราหนักหัว ลงมาถึงคำแนะนำเล่มเล็กๆ ในเรื่องการแต่งหน้าร้าน การจัดสินค้าให้เป็นระเบียบ ศิลปะแห่งการโฆษณา ศิลปะในการขาย ฯลฯ ซึ่งโดยมากเขียนโดย Herbert N. Casson แล้วจากนั้น เขาก็ใช้เวลาว่างในคุกศึกษาต่อไปในทางเศรษฐศาสตร์การค้าและการคลัง โดยอ่านหนังสือพิมพ์ของบุรพาจารย์แห่งเศรษฐกิจการเมือง คือ The Wealth of Nation โดย Adam Smith แล้วเขาอ่านหนังสือซึ่งพวกคอมมิวนิสต์ถือเป็นคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่งในเวลานี้คือ The Capital โดย Karl Marx ความขัดแย้งของหนังสือเล่มที่กล่าวข้างต้น ทำให้เขาต้องค้นคว้าต่อไป เขาจึงอ่าน Money Versus Man ของ Prof. Soddy อ่าน Modern Currency and Regulation of its Value โดย Prof. Edwin Cannon ซึ่งทั้งสองเล่มนี้ก็เต็มไปด้วยข้อขัดแย้งกัน เขายิ่งศึกษาก็ยิ่งรู้สึกว่าเศรษฐกิจเป็นวิชาที่ไม่มีตำรา หากเต็มไปด้วยทฤษฎีของอาจารย์ต่างๆ น่าเสียดายที่วิชาสำคัญนี้ยังไม่ก้าวหน้าถึงขั้นวิทยาศาสตร์ทดลอง เหตุนี้จึงมีการโต้เถียงกันในรัฐสภามากมายเกินไป อย่างไรก็ตาม รุ้งก็ได้พากเพียรอ่านหนังสือของเจ้าแห่งทฤษฎีทางเศรษฐกิจมากคนพอที่จะทำให้เขาเข้าใจสภาพเศรษฐกิจของโลกได้ ทั้งนี้เขาขอบใจการติดคุกซึ่งทำให้เขามีเวลาศึกษาทางตำราอย่างเต็มที่

แต่ความรู้ภาคปฏิบัติที่เขาได้รับจากบริษัทสยามเครื่องเขียน ทำให้เห็นว่าการค้าขาย ก็คือความพยายามที่จะโกงและเอาเปรียบซึ่งกันและกันในเวลาสินค้าเปลี่ยนมือ และพ่อค้าก็คือผู้ชำนาญในการนี้ มันช่างผิดกันไกลกับหลักการที่เขาได้ศึกษามา กล่าวโดยทฤษฎี การค้าก็คือการตกลงแลกเปลี่ยนประโยชน์กันในระหว่างผู้มีสินค้าคนละอย่าง ตามหลักการนี้ ถ้าว่าแร่เงินและทองก็เป็นสินค้าด้วย และเงินตราเป็นสิ่งเทียบค่ากับเงินหรือทอง การค้าย่อมกระทำเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บุคคลย่อมเป็นผู้ขายในเวลาหนึ่ง และเป็นผู้ซื้อในเวลาอื่น หรืออาจเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในเวลาเดียวกัน ชาวนาปลูกข้าวแล้วขายข้าวแก่ช่างทอผ้า และซื้อผ้าจากช่างทอผ้า ข้าราชการก็เหมือนกัน ย่อมขายแรงงานแก่รัฐบาลแล้วไปซื้อสิ่งอื่น ครั้นต่อมาในแวดวงการค้าตามสภาพธรรมชาตินี้ได้เกิดบุคคลจำพวกใหม่ซึ่งทวีจำนวนมากขึ้น คือพวก “พ่อค้าคนกลาง” เป็นผู้เจรจาการขายโดยอาศัยสินค้าที่ผู้อื่นผลิต เป็นผู้รับภาระจัดการให้ผู้ซื้อกับผู้ขายได้ตกลงกันแล้วจึงรับรางวัลเล็กน้อยจากงานนั้น เมื่อความรู้ในเชิงการค้าเพิ่มพูนมากขึ้น เขาก็กลายเป็นชนชั้นที่เด่นอยู่ในวงเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย และภาระในความรับผิดชอบของเขาก็เพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่นการหาตลาดให้แก่สินค้าประดิษฐ์ใหม่ สอนผู้ซื้อให้รู้จักซื้ออย่างได้ประโยชน์และกำจัดสินค้าที่ทรามคุณภาพไปจากตลาด พวกพ่อค้าคนกลางนี้ได้ตั้งสำนักงานของตนขึ้น เขาจำแนกชนิดของเขาตามงานที่เขาทำ กล่าวคือพ่อค้าขายเหมา พ่อค้าขายปลีก นายหน้าและพ่อค้าเร่ ฯลฯ พวกเขาในส่วนรวม ถ้าดำเนินงานโดยสุจริต งานของเขาก็เป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจ ฉะนั้นแม้ผู้ผลิตสินค้าและผู้ใช้สินค้าจะพยายามผลักไสขับไล่เขาจากวงกิจการของตนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ

ความรู้ของพ่อค้าคนกลางนี้แหละที่รุ้งเคยแสวงหาจากตำรา แต่มันปรากฏขึ้นว่าพ่อค้าชนิดนี้ โดยเฉพาะในสยามได้พ่ายแพ้แก่พ่อค้าเจ้าเล่ห์ชนิดนายอาลาบัดและนายซัลวาล รุ้งยอมรับว่าอาจเป็นการเผอิญหรือเป็นด้วยหูตาสั้น หรือมีอุปาทานอยู่ในใจ ในการที่เขาเชื่อว่าเขาไม่เคยพบพ่อค้าคนใดที่ดำเนินการค้าโดยสุจริตอย่างแท้จริงสักรายเดียว

นับตั้งแต่รุ้งได้บอกแก่สมุหบัญชี ปฏิเสธที่จะรับเงินเดือนๆ ละ ๓๐ บาท ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่าเขาจะลาออก นายอาลาบัดมิได้ดุว่าเขาอย่างที่เคย เพราะต้องการจะจากกับเขาอย่างมิตร ผู้จัดการทั่วไปคอยอยู่เสมอว่าเมื่อไรเขาจะมาพบเพื่อแสดงความจำนงลาออกจากงาน เขาไม่ต้องคอยนานนัก พอสิ้นเดือนที่หกแห่งชีวิตเสมียนรุ้งก็ลาออก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ