- ปฐมบท
- คำอภิวันทนาการ (ในการพิมพ์ครั้งที่สาม)
- คำนำของผู้เขียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
บทที่ ๓๔
เมื่อเขาตื่นนั้นเป็นเวลาสี่นาฬิกาถึงแล้ว ท้องฟ้าเริ่มเป็นสีขาวด้วยแสงอรุณ
“แหม ความฝันอันแสนหวาน” เขาพึมพำ “อยากให้ความฝันเป็นความจริง แต่มันจะเป็นจริงไม่ได้เลย”
เพียงชั่ว ๒๔ ชั่วโมง เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว รุ้งขอทานซึ่งกลายเป็นคนมีอันจะกินขึ้นด้วยสัญญาที่ทำกับอำนวย ครั้นอำนวยถูกจับรุ้งก็กลับไปอยู่ในฐานะขอทานอีก ฉะนั้นการที่เขาปฏิเสธไม่ยอมแต่งงานกับอุไรวรรณ จึงเป็นการถูกต้องแล้ว ความรักของเขาเป็นความฝันในเวลาตื่นเท่ากับในเวลาหลับ ภายใต้ระเบียบใหม่ทางการศึกษา สังคม การเมือง และเศรษฐกิจแห่งโลกอนาคตเท่านั้นที่คนอย่างเขาจะเหมาะสมกับอุไรวรรณ ในโลกปัจจุบันอันชั่วร้ายจัญไรนี้ คนโดยมากคงตัดสินว่าเขากับอุไรวรรณจะเป็นคู่ครองที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ
เขาถอนใจใหญ่ เหวี่ยงผ้าห่มไปพ้นตัวแล้วลุกออกจากเตียงนอน
เขาแต่งตัวอย่างรีบร้อน เวลาล่วงถึงห้านาฬิกาพอดี ในขณะที่เขาเปิดประตูเรือนและเดินออกไปสู่ถนน อากาศในเวลาเช้าสดชื่น ท้องฟ้าสว่างแล้ว นกเริ่มออกจากรังส่งเสียงร้องแจ้วๆ ขณะบินผ่านรุ้งไป
รุ้งเดินตามตรอกซึ่งจะไปสู่ถนนท่าเกษม เขาจะขึ้นรถเช่าไปท่าเขียวไข่กา เพื่อลงเรือโดยสารลำแรกที่จะออกจากท่านั้น ก่อนถึงถนนท่าเกษม เขาเห็นรถยนต์สองแถว ทาสีมัวมืด วิ่งมาหยุดอยู่ตรงปากตรอก มีคนนั่งอยู่บนรถหลายคน ล้วนนิ่งสงบ รุ้งเดินเข้ามาใกล้รถและตกใจที่ได้เห็นบุคคลเหล่านั้นแต่งกายเครื่องแบบตำรวจ
เขานึกถึงคำเตือนของผ่อง “ระวังตัวหน่อย อันตรายใกล้ตัวเรามาก...” และผ่องแนะนำให้เขางดการเดินทาง ผ่องอาจรู้เหตุการณ์บางอย่างที่เขาไม่รู้ รุ้งยังคงเดินต่อไปก็จริง แต่เขาเริ่มสงสัยว่าควรกลับบ้าน และอย่างน้อยก็งดการเดินทางจนกว่าจะสว่าง
“นั่นใคร?” เสียงร้องถามมาจากบนรถ
รุ้งหยุด แล้วยืนนิ่งอยู่
ชายแต่งเครื่องแบบสีกากีทรงกว้างขาสั้นคนหนึ่งกระโดดลงจากที่นั่งข้างคนขับ แสงไฟฉายในมือของเขาสว่างขึ้น และตัวรุ้งอยู่ในแสงนั้น
“คุณชื่ออะไร?” ชายนั้นถาม “บอกผมตามตรงนะ ผมเป็นตำรวจ”
“ผมชื่อรุ้ง จิตเกษม”
“มานี่แน่ะครับ เชิญทางนี้หน่อยเถอะ ผมอยากจะพูดกับคุณ”
รุ้งทำตาม เขาเข้ามายืนชิดชายผู้นั้นซึ่งร่างกายอันกำยำสูงใหญ่ของเขาสะดุดตารุ้ง คล้ายกับได้เคยพบกันในที่หนึ่งมาก่อนแล้ว รุ้งทราบโดยเครื่องหมายบนอินทรธนูว่า เขาเป็นร้อยตำรวจเอก
ตำรวจผู้อื่นพากันกระโดดลงจากรถ เข้ามายืนล้อมเป็นวง ร้อยตำรวจโทผู้หนึ่งเข้ามายืนเคียงและส่งรูปถ่ายแผ่นหนึ่งให้ร้อยตำรวจเอกผู้ซึ่งรับไปแล้วเอาไฟฉายส่อง แล้วเงยหน้าขึ้นมองดูรุ้งทั่วร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า รุ้งยืนนิ่งให้เขาพิจารณาโดยถนัด
“เห็นจะไม่ผิดนะ คุณแสวง” ร้อยตำรวจโทพูด
“ไม่ผิดแน่” ร้อยตำรวจเอกตอบ แล้วหันมาทางรุ้ง กล่าวว่า “คุณรุ้ง คุณจะบอกผมได้ไหมครับว่าคุณกำลังจะไปไหน?”
“ผมจะไปอยุธยา”
“ไปทำอะไร? หาใครครับ? ขอโทษ”
“ผมมีธุระส่วนตัว และผมขอโทษที่จะต้องรีบไป เรือจะออกแต่เช้ามืด”
“ผมเสียใจ สายเสียแล้วสำหรับคุณที่จะหนี ทางการต้องการตัวคุณ”
“เรื่องอะไรครับ”
“คุณต้องหาว่าพยายามก่อการกบฏ โดยสมคบกับคนอื่นๆ อีกหลายคน เอ้า! เชิญขึ้นรถเถอะ ของในกระเป๋าเอาไว้ตรวจกันทีหลังก็ได้”
“คุณจะพาผมไปไหน?”
“ไปสถานีตำรวจ”
พลตำรวจที่ล้อมอยู่เริ่มแหวกทางออกให้รุ้ง คนหนึ่งเข้ามารับกระเป๋าหิ้วไปจากเขา อีกคนหนึ่งเอากุญแจสวม และผลักไสเขาไปขึ้นรถ
อีกสองสามนาทีระหว่างทางที่รถกำลังแล่นไปสู่สถานี รุ้งกระซิบถามสิบตำรวจเอกซึ่งนั่งชิดเขา
“ผู้บังคับหมู่ครับ นี่เกิดเรื่องอะไรขึ้นล่ะครับ? จึงมาจับผม”
“เขาไปค้นตามสำนักงานหนังสือพิมพ์ต่างๆ เมื่อวานนี้ พบเอกสารเกี่ยวกับคุณหลายฉบับ”
“เอกสารอะไรกันครับ?”
“จะไปรู้รึ? ตั้งหอบใหญ่ บางฉบับเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ได้ยินเขาว่ากันว่าเป็นเรื่องสำหรับส่งไปพิมพ์ต่างประเทศ”
“ทำไมจึงเห็นว่าเป็นเอกสารการกบฏล่ะครับ?”
“จะมาถามผมเอาประโยชน์อะไร? ต้องถามผู้ใหญ่ท่านชี”
“ณรงค์” ร้อยตำรวจเอกเรียกเพื่อนสนทนาของรุ้ง “แกอย่าให้ผู้ต้องหาพูดอีกนะ ผิดข้อบังคับ”
“อย่าพูด คุณรุ้ง” สิบเอกออกคำสั่ง
รุ้งกัดริมฝีปาก เขานึกริษยาเสรีภาพของเดรัจฉานซึ่งไม่มีใครสร้างคุกตะรางไว้สำหรับมัน ถ้าหากมันถูกมนุษย์จับไปกักขังเป็นบางครั้งบางคราว มันก็ไม่ถึงกับถูกบังคับไม่ให้ส่งเสียง
รุ้งตั้งใจว่าจะพูด แม้เพียงเพื่อจะฝ่าฝืนคำสั่งที่ผิดวิสัยธรรมชาตินี้เท่านั้น
“ผมไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย” รุ้งพูดเสียงดัง “ทำไมจึงมาจับผม?”
“ผมบอกแล้วว่าห้ามไม่ให้คุณพูด” ร้อยตำรวจเอกส่งเสียงให้ดังกลบเสียงของรุ้ง
“ผมขอโทษ ผมขอทราบจากใต้เท้าเพียงนิดเดียวว่า การที่ผมถูกจับนี้ โดยมีหลักฐานเพียงพอแล้วหรือ?”
“แน่ละซี ถ้าไม่มีหลักฐานเขาจะจับคุณทำไม? ผมนี่แหละเป็นคนรู้เรื่องของคุณตลอด แม้แต่อยู่ในคุก คุณก็พยายามหาพวกพ้องคิดโค่นล้มรัฐบาลอยู่เสมอ และส่งเรื่องมาลงหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ผมคอยสืบเรื่องของคุณอยู่เสมอทีเดียว ผมชื่อแสวง บางทีคุณจะเคยได้ยิน”
“ผมเข้าใจว่าได้เคยเห็นคุณครั้งหนึ่งที่บางขวาง?”
“ถูกแล้ว”
“คุณแสวงครับ ผมยินดีที่ได้พูดกับผู้ที่คอยสืบเรื่องราวของผม รัฐบาลคงขอบใจและเลื่อนยศให้คุณ ในการที่คุณมาจับผมด้วยข้อหากบฏ รัฐบาลเอาเงินของชาติไทยมาเป็นบำเหน็จแก่คนที่ทำลายเลือดเนื้อชาติเช่นนี้น่าเสียดายจริงๆ”
“ระวังจะถูกอีกกระทงหนึ่ง” ร้อยตำรวจเอกพูดด้วยความฉุนเฉียว แต่ร้อยตำรวจโทหัวเราะแล้วถามว่า “คุณจะปฏิเสธว่าคุณไม่ได้ทำความผิดนั้นหรือ?”
“ผมปฏิเสธ” รุ้งตอบเน้นเสียง
นายตำรวจดูเหมือนลืมไปว่า มิใช่เพียงเขายอมให้รุ้งพูดเท่านั้น ตัวเขาเองยังยอมเป็นคู่สนทนาของรุ้งอีกด้วย
“อย่าปฏิเสธเลย” เขากล่าว “ผมขอแนะนำฐานเพื่อน เมื่อเรื่องไปถึงศาลแล้ว สารภาพเสียดีกว่า โทษจะได้เบาลง ถ้าคุณปฏิเสธ คุณอาจต้องรับโทษสถานหนัก คุณก็รู้แล้วว่าโทษกบฏในสถานหนัก มีอยู่อย่างเดียวคือประหารชีวิต”
“ผมไม่มีความผิด ศาลคงจะปล่อยผม”
เสียงหัวเราะของตำรวจอื่นๆ ดังขึ้นพร้อมกัน
“คุณไม่มีหวังจะได้ปล่อยหรอก” ร้อยตำรวจเอกกล่าวขึ้นบ้าง “เชื่อเราดีกว่า มีทางที่คุณจะเลือกได้เพียงสองทางเท่านั้น สารภาพเสียดีๆ ซึ่งอาจได้รับความกรุณาลดโทษลงมาเป็นจำคุกสักสิบปี อย่างมากก็จำคุกตลอดชีวิต แต่ถ้าคุณปฏิเสธ ผมเองวิตกเหลือเกินว่าคุณจะต้องลงไปอยู่ในหลุมของสัปเหร่อ”
แล้วเขาผู้พูดก็แสดงความวิตกด้วยอาการหัวเราะ
รุ้งเบือนหน้าไปทางหน้าต่างรถ ฟันของเขาขบกันแน่น คำพูดของร้อยตำรวจเอกแสวงสะเทือนใจเขาอย่างรุนแรง ตัวอย่างได้เคยมีมาแล้ว ที่พวกผู้นำในประเทศนี้และประเทศอื่นได้ขยี้ขยำปรปักษ์ของตนเอง โดยไม่อาศัยหลักกฎหมาย และไม่คำนึงถึงความยุติธรรม
ชาติไทยได้สร้างบุตรวันละหลายร้อยหลายพันคน บุตรของชาติไทยบางคนต่อไปจะเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาด เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นนักปราชญ์ เขาได้ศึกษาได้เห็นได้คิดแล้วเกิดความคิดในทางก้าวหน้า แต่ถ้าการปกครองยังคงเป็นแบบสิทธิ์ขาด ใช้อำนาจกดขี่ปรปักษ์ของรัฐบาล ความคิดในทางก้าวหน้าจะไม่ได้รับโอกาสปฏิบัติตามควร
ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจถ้าบุคคลผู้เดียวต้องถูกจับถูกจำคุกหรือถูกยิงเป้า ความตายของบุคคลก็อุปมาดังความระเหยเป็นไอของน้ำหนึ่งหยดในทะเล ถ้ารุ้งถูกยิงเป้าและหนังสือของเขาเรื่อง The Sight of Future Siam ถูกทำลาย ความพยายามของเขาก็ไร้ผล แต่คนไทยผู้อื่นในรุ่นหลังอาจรับภาระเผยแพร่ความคิดนั้นต่อไป ชาติไทยจะขาดประโยชน์อันควรได้จากรุ้งไปนิดเดียว แต่หลายนิดรวมกันเข้าก็กลายเป็นมากได้ รัฐบาลของผู้นำแห่งประเทศไทยได้จับกุมปรปักษ์ของตนไปทำทารุณกรรมจำนวนมากขึ้นทุกที รัฐบาลอาจไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการตัดทอนโอกาสแห่งความเจริญของชาติ ด้วยมีอคติ รัก โลภ โกรธ หลง มากำบังปัญญา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของผู้นำไม่ได้ตั้งขึ้นโดยประชาชน หรือมิใช่รัฐบาลตั้งตนขึ้นเป็นรัฐบาลได้โดยปราศจากอุปการะของพลานุภาพสำคัญยิ่งที่เราเรียกว่าสิ่งแวดล้อม เมื่อคำนึงดังนี้แล้ว รุ้งก็เห็นว่าเป็นโชคชะตาของชาติไทย ที่จะต้องมีรัฐบาลอย่างนี้ โดยจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ อย่างน้อยก็ชั่วยุคหนึ่ง
ทุกสิ่งพร้อมอยู่แล้วสำหรับชาติไทยที่จะก้าวขึ้นสู่ความสมบูรณ์พูนสุข โดยมิตรภาพและความร่วมมือจากนานาประเทศ แม้แต่ในหมู่ชาวไทยเองเราก็มีมันสมอง มีแรงงาน และมีความพยายามอยู่พร้อมเพรียง
รุ้งอำลาผู้อ่านไปสู่ความตาย ภาวนาอยู่อย่างเดียวว่าขอให้ชาติไทยพ้นจากยุคทมิฬเสียโดยเร็ว
----------------------------