บทที่ ๕

สมทรงนั่งอยู่ที่เตียงคนไข้ ใช้แส้ขนจามจุรีปัดแมลงวันให้พี่สาว เมื่อเห็นพี่น้องคู่นี้อยู่เคียงกันครั้งไร คุณหญิงเรืองฤทธิ์ฯ ก็กลั้นน้ำตามิใคร่ได้ สมทรงเมื่ออายุ ๑๘ นี้เป็นแบบอย่างของความมีร่างกายสมบูรณ์ เส้นผมและขนตาดำเป็นมัน ริมฝีปากแดงโดยไม่ต้องอาศัยลิปสติก แก้มแดงโดยไม่ต้องง้อรูซ ผิวนวลโดยไม่ต้องพึ่งแป้งเช่นนี้ จึงทำให้เธอได้รับความสรรเสริญจากมิตร ความริษยาจาก ปรปักษ์ และความนิยมรักใคร่จากหนุ่มๆ เช่นนี้จึงทำให้ผ่องตะลึงลานใจเมื่อได้เห็น และออกปากกับเพื่อนของเขาว่าเธอ “สวยจัง” และ “ตาคมชะมัดเลย” รูปโฉมของสมทรงจับใจผ่องในปี ๒๔๘๑ เหมือนกับรูปโฉมของสมส่วนจับใจรุ้งเมื่อปี ๒๔๗๕ คุณหญิงเรืองฤทธิ์ฯ ยังจำความงามของลูกสาวคนใหญ่ติดตาอยู่จนเดี๋ยวนี้ ท่านร้องไห้เสียดายว่าไม่มีโอกาสจะได้เห็นความงามของลูกสาวสองคนคู่เคียงกัน ครั้งโน้นเมื่อเป็นเวลา “แย้มบาน” ของสมส่วนนั้น สมทรงยังเป็นเด็กน้อย ครั้งนี้เมื่อสมทรง “แย้มบาน” ขึ้นบ้าง สมส่วนก็กลายเป็น “เหี่ยวและเน่า” ก่อนถึงเวลาอันควร

“แมลงวันมันชอบมากวนพี่เสียจริงๆ” สมส่วนบ่นแล้วยิ้มกับน้องสาว แทนคำขอบใจที่มารับใช้ปัดแมลงวัน แล้วก็หลับตาต่อไป สมทรงมองพี่สาวด้วยสีหน้าสลดด้วยเกิดความคำนึงว่าการที่แมลงวันชอบมาตอมสมส่วนนั้นอาจเป็นลางร้ายอันหนึ่งก็ได้ เมื่อเดือนก่อนนายแพทย์ได้กระซิบตอบคำถามของคุณหญิงเรืองฤทธิ์ฯ ว่าถ้าสมส่วนอยู่ได้ถึงสองเดือนก็นับว่าเคราะห์ดีเต็มที เดี๋ยวนี้สังขารของสมส่วนอีกเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ก็จะกลายเป็นก้อนเนื้อและกองกระดูกเน่าเหม็น

เมื่อเดือนก่อนนี้เอง สมส่วนยังพูดถึงการที่เธอจะฟื้นไข้ ความตายในวัยสาวเป็นสิ่งยากที่ใครๆ จะยอมเชื่อ คนไข้เองพยายามอธิบายกับคนอื่นว่าเธอมิได้เป็นวัณโรค สิ่งที่แพทย์พบจากการฉายเอ็กซเรย์ก็คือรอยช้ำ และผู้ฟังก็แสร้งทำเป็นเชื่อ จากคำบอกว่าวัณโรคทุกคนมองเห็นความตาย จากคำว่า “รอยช้ำในปอด” ทำให้เรานึกถึงแผลรอยช้ำของเด็กที่หกล้มแล้วสองสามวันรอยช้ำก็หาย “ลูกจะไปหัวหินถ้าหากค่อยยังชั่วขึ้นอีกสักหน่อย” สมส่วนบอกมารดา “หมอเขาบอกว่าอากาศทะเลเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับปอด อากาศทะเลมีโอโซน ถ้าได้ไปหัวหินสักหนึ่งเดือน ลูกคงหายได้แน่ทีเดียว” คุณหญิงเรืองฤทธิ์ฯ ทราบดีว่า สมส่วนไม่มีโอกาสหายโรค แต่ไม่เชื่อว่าบุตรีจะถูกมัจจุราชพาตัวไปเร็วนัก จึงร้องไห้เมื่อได้ฟังแพทย์ว่าจะต้องพรากกันภายในหนึ่งเดือน คืนนั้นท่านนอนร้องไห้ตลอดคืนและรุ่งเช้าก็เป็นลม อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงค่อยๆ แสดงตัวแก่มโนญาณของผู้เกี่ยวข้องทุกคนจนต้องยอมรับรู้สภาพจริงนั้น “ดิฉันคงตายแน่ คุณแม่ขา ดิฉันรู้ตัวแล้วว่าจะต้องตาย” สมส่วนบอกกับมารดา และอีกโอกาสหนึ่งเธอได้สารภาพกับสมทรงว่าเธอจะตายเป็นสุขได้ ก็เฉพาะเมื่อเธอได้พบรุ้งเพื่อกราบขอโทษเขาในความผิดต่อคำปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระแก้วมรกต เป็นที่ทราบกันทั่วไปจากหนังสือพิมพ์ และจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ว่า ณ วันที่ ๓ มีนาคม รุ้งจะได้มารับการอบรมที่กระทรวงกลาโหม คุณหญิงเรืองฤทธิ์ฯ จึงมอบธุระแก่สมศักดิ์และสมทรงให้ไปแจ้งความจำนงของคนใช้แก่รุ้ง แล้วทุกคนก็เร่งวันคืนจะให้ถึงวันอาทิตย์เวลาเที่ยงซึ่งรุ้งนัดว่าจะมาเยี่ยม

และวันนี้คือวันอาทิตย์ อีกเพียง ๑ ชั่วโมงก็จะถึงเวลานัด ในสมองของสมส่วนมีความคิดชนิดใดมิได้ปรากฏ เธออาจลืมเรื่อง “กราบขอโทษ” นั้นแล้ว ก็เป็นได้

“ผู้ชาย” สมทรงเอ่ย “นี่ใจร้ายนะคะ ถ้าหากเป็นเราๆ หรือจะทอดทิ้งได้ยังงี้”

มันเป็นเรื่องสนทนาที่ถูกใจ สมส่วนจึงลืมตาขึ้น “ใจร้ายอย่างไร?” เธอถาม

“เขาไม่มาเยี่ยมพี่เลยทีเดียว แม้แต่จะส่งของมาให้ หรือเขียนจดหมายสักคำสองคำก็ไม่มี

“เขาไม่รู้เรื่องนี่จ๊ะ”

“รู้ซีคะ เมื่อสองสามวันมานี้เอง น้องพบยืนปร๋ออยู่หน้าเฉลิมกรุง ควงผู้หญิงถึงสามคน น้องนึกหมั่นไส้ไม่อยากพูดด้วย หากแต่เขาทักก็เลยพูดกันสองสามคำ แล้วน้องบอกเขาว่าพี่กำลังป่วยหนัก แต่ดูเขาเฉยๆ ไม่เห็นแสดงความยินดียินร้ายอะไร”

“ทำไมเขามาดูหนังได้ล่ะน้อง ไหนว่าวันอาทิตย์จึงจะลาได้”

“ไม่ใช่ค่ะ น้องพูดถึงนายอำไพ”

“โธ่ ไม่บอกเสียแต่ทีแรก พี่นึกว่าพูดถึงคุณรุ้ง”

“พี่รุ้งน่ะ น้องยกให้คนหนึ่งละค่ะ เธอดีแสนดี น้องรักและนับถือมาตั้งแต่น้องยังเป็นเด็ก ถ้าหากว่าพี่รุ้งเป็นนายอำไพก็คงไม่...”

“อุ๊ย! อย่าพูดถึงเขาอีกเลย”

“พี่เจ็บหนักก็เพราะเขาทิ้งไป โรคอย่างนี้เขาว่าการรักษาใจสำคัญยิ่งกว่ากินยา แต่เราจะเชื่อถืออะไรกับผู้ชาย เขาเป็นพวกที่รักด้วยสมอง เราสิรักด้วยหัวใจ น้องได้ยินมาหลายราย ไม่ใช่พี่เป็นคนเคราะห์ร้ายอยู่คนเดียว เมื่อฝ่ายหญิงเป็นวัณโรค ผู้ชายก็หมดรัก แต่เมื่อผู้ชายเป็นวัณโรค ผู้หญิงก็ยิ่งรักมาก เพราะเกิดความสงสารเพิ่มขึ้น แต่พี่รุ้ง...”

“...ก็คงรักด้วยสมองเหมือนกัน”

“น้องว่าไม่เป็นอย่างนั้น พี่รุ้งร้องไห้เมื่อได้อ่านจดหมายพี่”

“เล่าให้พี่ฟังอีกทีเถอะ เธอทำท่าทางอย่างไรเมื่ออ่านจดหมายของพี่”

สมส่วนได้ขอร้องเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง การเล่าถึงรุ้งเป็นอาหารแห่งหัวใจของเธอซึ่งเสพมิรู้อิ่ม รุ้งผอมหรืออ้วนขึ้น ขาวหรือดำลง ชื่นบานหรือเศร้าโศก และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย สมทรงตอบคำถามเหล่านั้นโดยไม่แสดงว่าเบื่อหน่าย แต่ผลแห่งการพูดถึงรุ้งก็คือการร้องไห้ของคนไข้

“นั่นอะไรกัน” คุณหญิงเรืองฤทธิ์ฯ กล่าวเมื่อเปิดบังตาเข้ามา เห็นสมส่วนกำลังเช็ดน้ำตา “เป็นอะไรไปล่ะ ลูกใหญ่ของแม่”

“เขามาแล้วหรือคะ” สมส่วนถาม

“ใครจ๊ะ อ๋อ พ่อรุ้งน่ะหรือ แม่ก็คอยเขาอยู่เหมือนกัน เตรียมข้าวแช่ไว้ให้เขารับประทาน เขาเคยชอบ”

“เขาจะมาเวลาเที่ยง”

“นี่ก็เกือบเที่ยงแล้ว ลูกเล็กจ๊ะ ออกไปคอยอยู่ที่เฉลียงหน้าบ้านได้ไหม ถ้าเขามาถึงจะได้มาบอก”

“คุณแม่คะ” สมส่วนเอ่ยขึ้นอีกหลังจากสมทรงออกไปจากห้องตามคำสั่งของมารดา “ลูกผอมมากไหมคะ”

“แม่คุณ ลูกป่วยมานานแล้วก็ต้องผอมเป็นธรรมดา แต่วันนี้...” ท่านหยุด สังเกตผิวพรรณของบุตรี “วันนี้แหละดูหน้าตาค่อยมีน้ำมีนวลขึ้น ลูกอาจจะหาย...”

“ลูกจะหายแน่เชียวค่ะ ลูกคงยังไม่ตาย”

มารดาต้องการให้คำว่า “หาย” นั้นเป็นคำปลอบแก่คนไข้ ครั้นคนไข้กลับเอาคำนั้นมาใช้บ้าง มารดาก็รู้สึกว่าตนถูกปลอบ ความโทมนัสเปิดท่อน้ำตาของท่าน จึงต้องเบือนหน้าหนีไปทางอื่น แล้วเปลี่ยนเรื่องเป็นขอร้องให้สมส่วนหลับเพื่อพักผ่อนเสียที

แม้ว่าได้หลับตาลงและนอนนิ่งอยู่นานแล้ว สมส่วนก็หาหลับไม่ พอแน่ใจว่าตนเองอยู่คนเดียวเธอก็ลืมตาขึ้น เอื้อมมือไปหยิบผ้าเช็ดหน้าขนหนูชุบโอเดอโคโลญจ์ในขันเงินมาเช็ดเหงื่อไคลตามหน้าและคอ ปรารถนาจะให้รุ้งได้เห็นเธออยู่ในสภาพสดใสเท่าที่จะเป็นได้ แล้วเธอหยิบภาพถ่ายแผ่นหนึ่งจากใต้หมอน มองดูภาพนั้นนิ่งอยู่นาน ยิ้มกับภาพ แล้วเอาภาพมาแตะริมฝีปาก

จากภายนอกเธอได้ยินเสียงพูด เสียงฝีเท้าและเสียงหัวเราะของสมทรง เธอซ่อนภาพถ่ายไว้ในที่เดิม พลางเงี่ยโสตสดับ นึกแน่ใจว่ารุ้งคงมาถึงแล้ว

เสียงฝีเท้าเดินจากระเบียง ผ่านห้องรับแขกมาทางห้องซึ่งติดต่อกับห้องนอนนี้ สมส่วนตื่นเต้นจนปลายนิ้วทั้งสิบสั่นรัว บังคับมิอยู่จึงกำมือไว้ น้องสาวของเธอเปิดบังตาเยี่ยมหน้าอันยิ้มละไมเข้ามาให้เห็น คนไข้มองตะลึง อยากตะโกนถามแต่พูดไม่ออก น้องสาวก็ตื่นเต้นมิใช่น้อย รีบเข้ามายืนใกล้พี่สาวแล้ว กระซิบเสียงสั่นๆ “พี่คะ มาแล้วละค่ะ!”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ