บทที่ ๑๐

รุ้งไปพบผู้จัดการของบริษัทสยามเครื่องเขียนในเช้าวันรุ่งขึ้น ยื่นจดหมายที่ผ่องได้รับให้เขาดู

“คุณชื่อนายผ่องหรือ?” ผู้จัดการถาม “ฉันดีใจที่คุณรีบมา เรากำลังคอยคุณ”

“เปล่าครับ ผมชื่อรุ้ง เป็นเพื่อนกับนายผ่อง” แล้วรุ้งก็เล่าข้อความตกลงระหว่างผ่องกับเขาให้ผู้จัดการทราบ ผู้จัดการทำท่าผิดหวัง อ่านจดหมายแล้วนิ่งนึกในอาการลังเลครู่หนึ่ง แล้วเดินไปหานาย บี.แอล. ซัลวาล นายจ้างของเขา ผู้กำลังนั่งเขียนจดหมายฉบับหนึ่งอยู่ที่โต๊ะไม่ห่างไปมากนัก ชาวอินเดียนทั้งสองปรึกษาด้วยกันเสียงเบาๆ อยู่ ๕ นาที ครั้นแล้วนาย บี.แอล. ซัลวาล ก็หันมาพยักหน้าเรียกรุ้ง และจับมือกับเขา

“หวังว่านายผ่องคงไม่มาเอะอะที่นี่ ถ้าเรารับคุณไว้” นายห้างกล่าว

“ผมได้ตกลงกันมาเรียบร้อยแล้วครับ”

“ตามธรรมดา” นายห้างกล่าวต่อไป “เราไม่จ้างใครที่ยังไม่เคยทำงานหรือยังอ่อนงาน อีกประการหนึ่ง ความรู้ในวิชาอื่นๆ อย่างที่คุณได้เรียนมาจากประเทศอังกฤษหรือในเมืองไทยนี้ก็ตาม ไม่สู้มีประโยชน์แก่การค้าขายนัก แต่เราหวังว่าคุณจะเรียนรู้ได้เร็ว เอาละ เราตกลงจ้างคุณ คุณจะเอาเงินเดือนเท่าไร ? คุณทราบแล้วว่าในตำแหน่งเสมียน คุณจะเรียกเอาเงินเดือนมากๆ ไม่ได้”

“ผมไม่เรียกร้องหรอกครับ สุดแต่นายห้างจะเห็นสมควรก็แล้วกัน ลองใช้ผมดูก่อนก็ได้ เมื่อแน่ใจว่าผมสามารถทำประโยชน์แก่ห้างได้แล้วจึงค่อยตั้งเงินเดือน”

นายห้างมองดูเขา พยายามอ่านความคิดในใจ “เจ้าหนุ่มคนนี้คงหวังจะได้เงินเดือนสูงๆ” แกนึก “หน้าตาท่าทางดูเป็นคนฉลาด คล่องแคล่ว แต่จะทำงานได้ดีอย่างที่เขานึกเชื่อตัวเองละหรือ?” นายซัลวาลได้พบคนมาหลายจำพวก พวกฉลาดที่ดูคล้ายคนโง่ พวกโง่ที่คล้ายฉลาด พวกซื่อ พวกโกง พวกมีประโยชน์ พวกไม่มีประโยชน์ เขายังสงสัยว่ารุ้งจะอยู่ในจำพวกไหน?

“ดีแล้ว” เขากล่าวภายหลังที่นิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง “คุณจะลองทำงานดูก่อนก็ได้ เริ่มทำงานแต่วันนี้ไหมล่ะ?”

“ผมอยากเริ่มวันนี้”

“งั้นเชิญทางนี้”

นายห้างพารุ้งไปยังโต๊ะตัวหนึ่งทางปลายห้อง ชายชาวอินเดียนคนหนึ่งรีบลุกขึ้นจากเก้าอี้ โค้งคำนับนายซัลวาลอย่างนอบน้อม

“นี่คือนาย เอส.พี. อาลาบัด เป็นผู้จัดการแผนกขายเครื่องเขียน” นายห้างกล่าวแนะนำ “คุณจะต้องทำงานกับเขา”

นายอาลาบัดอายุราวห้าสิบปี ค่อนข้างอ้วน แต่งกายรุ่มร่ามและสกปรก เขาเป็นคนชนิดเดียวกับพ่อค้าผ้าแถวถนนพาหุรัด อ่อนการศึกษา แต่ฉลาดไหวพริบดียอดเยี่ยม เมื่อรุ้งมองดูเขาก็หนาวสะท้อนในใจ “นี่หรือนายของเรา” เขาถามตนเอง เป็นการยากที่จะนึกล่วงหน้าว่าเขาจะต้องมาทำงานอยู่ใต้บังคับของบุคคลเช่นนี้

แต่นายอาลาบัดยิ้มกับเขาอย่างฐานกันเองเมื่อนายห้างเดินพ้นไปแล้ว “เชิญนั่งซิท่าน” เขาขี้เก้าอี้ตรงข้ามของเขา รุ้งนั่งลงและจ้องดูหัวหน้างานของตน ยังไม่เชื่อว่าจะต้องทำงานตามคำสั่งของคนผู้นี้จริงๆ

“ท่านชื่อรุ้งหรือ?”

รุ้งพยักหน้า

“ท่านเคยไปเรียนเมืองอังกฤษ...นายห้างบอกฉัน”

เขาพยักหน้าอีกครั้งหนึ่ง

“ทำไมท่านไม่รับราชการ คนความรู้ดีๆ ราชการต้องการใช้มากๆ หลวงพิบูลฯ เป็นคนฉลาดมากๆ แต่ค้าขายก็ดีเหมือนกัน ท่านจะมีโอกาสดี นายห้างบอกว่าจะให้โอกาสท่านพิเศษ แต่ท่านต้องขยันหน่อย เอ้า...ตั้งต้นทำงานกันเถอะ”

แล้วผู้จัดการแผนกขายเครื่องเขียนก็หยิบจดหมายออกมาจากลิ้นชักโต๊ะปีกหนึ่ง “นี่ไงล่ะ” เขาพูดเสียงห้วน “เจ้าเสมียนคนก่อนมันไปเสียแล้ว ระยำจริง มันขโมยเงินหนีไป และพวกเราไม่มีใครเขียนภาษาไทยได้ การตอบจดหมายต้องหยุด การค้าขายหยุด เสียหายมากๆ ท่านต้องตอบจดหมายเหล่านี้เร็วๆ ความชักช้าในการค้าขายแปลว่าขาดทุน” แล้วเขาก็เริ่มต้นบอกรุ้งถึงข้อความที่จะต้องตอบทุกๆ ฉบับ

ห้านาทีต่อมา รุ้งก็ทำงานยุ่งอยู่หน้าเครื่องพิมพ์ดีด นี่คืองานที่เขาได้เลือกและปรารถนา “จะประหลาดอะไร” เขายืนยันตนเองระหว่างเวลาทำงานนั้น “ในอาชีพหนึ่งก็ย่อมมีคนจำพวกหนึ่งเป็นผู้ชำนาญและเป็นนาย อาชีพทั้งหลายควรได้รับความนับถือเท่ากัน เราไม่ได้ทำลายเกียรติยศของเรา นี่ไม่ใช่งานที่เลวทราม...ไม่ใช่เลวทราม...” แล้วรุ้งก็สบายใจในความคิดของตน และทำงานโดยขยันขันแข็งอยู่จนถึงเย็น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ