บทที่ ๒๗

วีรพันธุ์ดำเนินการสนทนาต่อไปโดยกล่าวว่า “ถึงหากเรารู้ว่าใครเป็นอินโทรเวอร์ทหรือเอ็กซ์โทรเวอร์ท ก็เป็นการยากนักหนาที่รัฐจะจัดหางานให้เขาทำโดยเหมาะสม เพราะการทดลองด้วยเครื่องมือของโปรเฟสเซอร์แม็คดูกัลเพียงแต่แสดงให้เห็นว่า บุคคลย่อมเป็นอินโทรเวอร์ทหรือเอ็กซ์โทรเวอร์ทมีเปอร์เซ็นต์ต่างๆ กัน แต่แสดงไม่ได้ว่าผู้ใดเหมาะสมกับงานชนิดใดๆ เอ็กซ์โทรเวอร์ท ๙๙ เปอร์เซ็นต์ อาจคิดว่าตนควรเป็นอธิบดีกรมโยธาเทศบาล และไม่พอใจถ้าถูกมอบให้กวาดถนน ใครจะรู้ว่าเขาเหมาะที่จะเป็นอธิบดี หรือเหมาะจะเป็นคนกวาดถนน ใครเล่าจะตัดสินใจได้?”

“ผู้ที่จะตัดสินได้” รุ้งตอบ “ก็คือพวกบีเฮพวิเออริสต์ ซึ่งจะได้รับมอบจากรัฐให้เป็นผู้ฝึกฝนอบรมทารกของชาติ”

“บีเฮพวิเออริสต์คือพวกไหน?”

“คือนักจิตวิทยาสมัยใหม่พวกหนึ่งที่เป็นสานุศิษย์ของ ดร.วัตซัน พวกนี้วางหลักเกณฑ์การอบรมทารกไว้ละเอียด โดยอาศัยผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป ก็รับรองหลักการของวัตซัน หากแต่คัดค้านในข้อที่วัตซันไม่คำนึงถึงกรรมพันธุ์อันทำให้ปรากฏเป็นอินโทรเวอร์ทหรือเอ็กซ์โทรเวอร์ทโดยกำเนิด”

วีรพันธุ์ขอร้องให้รุ้งอธิบายหลักการของพวกบีเฮพวิเออริสต์ รุ้งจึงกล่าวต่อไปถึงสัญชาตญาณ ๓ อย่างที่ติดตัวทารกมาแต่กำเนิด คือ ๑. ดูด เช่น ดูดนมมารดา ๒. คว้าและยึดเหนียวสิ่งที่คว้าได้ ๓. แสดงกิริยาตกใจเมื่อรู้สึกว่าร่วงหล่น หรือเมื่อได้ยินเสียงดัง การทดลองของพวกบีเฮพวิเออริสต์ปรากฏผลว่าโดยกำเนิดนั้น ทารกมิได้กลัวความใหญ่กำยำของสัตว์หรือสิ่งของใดๆ ได้ทดลองให้ทารกอายุ ๕ ขวบเข้าใกล้แมวดำ นกพิราบ กระต่าย หนู สุนัขขนาดใหญ่ แล้วก็นำเข้าใกล้อูฐ หมี ม้าลาย นกกระจอกเทศ ทารกไม่แสดงความกลัวสัตว์เหล่านี้เลย แม้แต่ลิงทำท่าทางขู่จะกัดทารกก็ไม่กลัว แต่เขาทำให้ทารกกลัวสัตว์เหล่านี้ได้ โดยนำเข้าไปใกล้มันพร้อมกับให้มีเสียงดัง หรือพร้อมกับการทำให้ทารกรู้สึกว่าตนร่วงหล่น และด้วยวิธีดังกล่าวนี้ เขาจึงทำให้ทารกกลัวได้ แม้แต่สำลีหรือแม้แต่แมลงวัน

สิ่งใดทารกกลัว เมื่อเห็นอีกก็ไม่ยอมเข้าใกล้ แต่เราจะทำให้ทารกหายกลัวได้โดยหาทางให้มันเกิดความสัมพันธ์กับของที่ทารกชอบ เช่น ถ้าสำลีวางอยู่บนถันของมารดา ก็ทำให้ทารกหย่อนความกลัวสำลีลงได้ “รวมความว่าพวกบีเฮพวิเออริสต์สามารถทำให้ทารกกลัวสิ่งใดและรักสิ่งใดโดยขนาดมากหรือน้อยเพียงใดก็ได้ทั้งสิ้น”

“โดยเหตุฉะนี้” รุ้งกล่าวต่อไป “เราจึงสามารถสร้างนิสัยให้แก่ทารกได้ โดยดำเนินตามวิธีของพวกบีเฮพวิเออริสต์ ถ้าหากนักจิตวิทยาแผนกมันสมองได้สร้างเครื่องมืออันประณีตพอที่จะวัดได้ว่า ทารกคนใดเป็นอินโทรเวอร์ทหรือเอ็กซ์โทรเวอร์ทกี่เปอร์เซ็นต์ และประกอบกับมีเครื่องมือเพิ่มขึ้นที่จะสอบเชาวน์ของทารกได้ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของบีเฮพวิเออริสต์ที่จะจัดการอบรมสร้างนิสัยของทารก โดยคำนึงความสามารถประจำตัวทารกเองฝ่ายหนึ่ง กับความต้องการของรัฐในทางเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง ถ้าสยามต้องการข้าวมาก ทารกไทยจะต้องถูกอบรมสร้างนิสัยให้เป็นชาวนาเป็นส่วนมาก ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ รัฐจึงสามารถจัดหางานที่เหมาะสมแก่คนทุกคนได้ นี่ไม่ใช่ความฝัน นี่เป็นความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังซึ่งเดี๋ยวนี้พากันสนใจในเรื่องรัฐ เพราะในเวลาที่เกิดความยุ่งยากขึ้นแล้ว แม้แต่ทารกในเบาะก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย มือของนักวิทยาศาสตร์กำลังเอื้อมมาอุ้มพลโลกให้พ้นจากความยุ่งยาก ภายในอายุของกันนี้ กันเชื่อว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ รัฐเล็กๆ จะรวมกันเป็นรัฐใหญ่ และเปลี่ยนโฉมหน้าจากรัฐการเมืองเป็นรัฐเศรษฐกิจ นักวิทยาศาสตร์ได้เตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะช่วยเหลือเรา ขอแต่ให้เราผู้เป็นพลเมืองสามัญจงหันหน้าไปหาท่าน โดยหันหลังให้แก่พวกนักการเมืองเสียที”

“แกกำลังตั้งต้นบรรยายข้อความใน The Sight of Future Siam ใช่หรือไม่?”

“หามิได้ กันได้บรรยายข้อความตอนต้นในหนังสือนั้นแล้ว เดี๋ยวนี้กำลังจะขอเปลี่ยนเรื่องไปพูดเรื่องอาหาร คุณอุไรวรรณสัญญาว่าวันนี้จะเลี้ยงแพนเค้ก”

“เธอกำลังทำแพนเค้กอยู่ในครัว ประเดี๋ยวก็คงออกมาที่นี่ เราคุยกันอีกสักครู่เถิด กันอยากรู้ความเห็นของแกมีอยู่อย่างไรในการบริหารสยามรัฐในอนาคต”

วีรพันธุ์ผสมวิสกี้ให้รุ้งอีกถ้วยหนึ่ง และด้วยความชุ่มชื่นจากเครื่องดื่ม หรือด้วยความชุ่มชื่นจากมิตรภาพที่ได้รับจากวีรพันธุ์ หรือทั้งสองอย่างผสมกัน รุ้งก็สนทนาต่อไปโดยไม่เหน็ดเหนื่อย เขาบรรยายถึงรัฐสยามในอนาคตตามอุดมทรรศนีย์ของเขา ทั้งในการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา

เขาแบ่งระยะเวลาแห่งการศึกษาออกเป็น ๓ ระยะตามวัย คือ วัยอนุบาล ๕ ปี วัยสามัญศึกษา ๘ ปี วัยอาชีวศึกษา ๔ ปี รวม ๑๗ ปี

รุ้งดำเนินความในเรื่องจัดการศึกษา โดยอ้างผลแห่งการทดลองของ ดร. วัตซัน ว่า สำหรับสัญชาตญาณที่มีประจำตัวสัตว์ชั้นต่ำ ซึ่งทำให้มันรู้จักปฏิบัติตนตามเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่ต้องมีใครสอน เช่น แมวรู้จักจับหนู นกรู้จักทำรัง เหล่านี้ มนุษย์เกือบไม่ได้รับมาจากธรรมชาติเลย จิตของทารกเมื่อแรกเกิดเป็นประดุจผืนผ้าขาว แต่เนื่องด้วยเป็นพันธุกรรม ผ้าขาวของทารกแต่ละคนจึงต่างกันด้วยขนาดและเนื้อผ้า พวกบีเฮพวิเออริสต์จะจัดการสร้างนิสัยชอบทำนา หรือทำสวน หรือชอบขับขี่เครื่องยนต์ หรือชอบเดินเครื่องจักร หรือชอบยกของหนัก ให้แก่ทารกที่มีประสาทกล้ามเนื้อว่องไว แต่จะสร้างนิสัยช่างเขียน ช่างปั้น ช่าง ก่อสร้าง นักประพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ ให้แก่ทารกที่มีเส้นประสาทความรู้สึกว่องไว แล้วต่อจากนั้นโรงเรียนสามัญศึกษา ใครถนัดจะเป็นอะไรก็เรียนหนักไปในวิทยาที่จะต้องนำไปใช้ในกิจการนั้น แล้วจึงเรียนต่อในโรงเรียนอาชีพซึ่งสอนในทางปฏิบัติมากกว่าทางตำรา ฉะนั้นทุกๆ คน แม้แต่ผู้ที่มีอาชีพเป็นกรรมกร ก็ต้องได้ผ่านการศึกษามาแล้วเป็นเวลา ๑๗ ปี กรรมกรจึงเป็นผู้มีการศึกษาดี กรรมกรไทยนอกจากเรียนรู้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศอีกบางภาษาแล้ว เขาจะต้องเรียนรู้ภาษาของโลกซึ่งขณะนี้ก็ได้มีผู้คิดขึ้นแล้ว เช่น ภาษาเบสิค อิงลิช คิดโดยโปรเฟสเซอร์ ซี.เค. ออกเด็น กรรมกรที่พร้อมด้วยการศึกษาเช่นนี้แหละจึงควรได้รับความนับถือให้ปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย

ในเรื่องเศรษฐกิจ รุ้งกล่าวเป็นใจความว่าแม้แต่ได้อบรมสร้างนิสัยทารก และดำเนินการศึกษามาเช่นนี้แล้ว ก็เป็นการยากที่สยามจะแก้ไขความยุ่งยากทางเศรษฐกิจได้ โดยปราศจากความร่วมมือภายใต้องค์การเดียวกับนานาชาติ แต่องค์การนี้จะดำเนินการเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่โดยทุกๆ ชาติต่างก็ละทิ้งความลำเอียงเข้าข้างชาติตน ซึ่งทำให้ความสำคัญในการแบ่งมนุษย์ออกเป็นชาติต่างๆ หมดไป ฝรั่งเศสเลิกเป็นฝรั่งเศส จีนเลิกเป็นจีน ไทยเลิกเป็นไทย และมหาประเทศก็จะเลิกอาณานิคมของตน บัดนี้มีพลเมืองอังกฤษส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์กำลังพยายามเผยแพร่ความคิดในทางยุบเลิกมหาอาณาบริเตนใหญ่

ถ้าหากองค์การเศรษฐกิจเช่นนั้นได้ตั้งขึ้น โดยเลิกล้มความสำคัญทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เสียแล้ว สยามควรได้รับมอบหน้าที่ทางเศรษฐกิจเพียงบางอย่างคือกสิกรรม เช่น ปลูกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ถั่ว พริกไทย และพืชผล ในเขตร้อนบางชนิดที่จะปลูกในแห่งอื่นไม่ได้ดีกว่าในแหลมทอง นอกนั้นก็คือ หน้าที่ทำป่าไม้และขุดแร่ ซึ่งประเทศที่ได้รับมอบให้สร้างเครื่องจักรจะต้องส่ง เครื่องจักรมาให้เราอย่างอุดมสมบูรณ์ พืชผลของเราจะส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศตามที่องค์การกำหนด และองค์การจะได้กำหนดราคาสินค้าทุกชนิดและราคาการขนส่งทุกระยะทั่วโลก ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความยุติธรรมที่จะให้ชาติต่างๆ บนพื้นผิวโลกมีการครองชีพในระดับเดียวกัน ชาวบริเตนซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าผ้ามาให้เรา จะต้องไม่ฟุ่มเฟือยไปกว่าเราผู้ปลูกข้าวขายให้เขา แต่การจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศที่จะให้เงินที่ขายสินค้าได้มานั้น ไปอยู่ในกระเป๋าใครมากที่สุด และใครน้อยที่สุด ควรเป็นภารกิจของรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเลือกตั้งขึ้นตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เอกชนของชาติหนึ่งย่อมค้าขายกับเอกชนของชาติอื่นได้สะดวกขึ้น ด้วยการใช้เงินตราชนิดเดียวกันทั่วโลก

รุ้งกล่าวเมื่อเริ่มบรรยายถึงกลไกแห่งการปกครองของสยามอนาคตว่า เวลานี้เมื่อพูดถึงรัฐบาลแห่งเศรษฐกิจว่าไม่มีอำนาจในทางปกครองคนไทยโดยมาก คงไม่เข้าใจว่าถ้าปราศจากอำนาจเสียแล้วจะเป็นรัฐบาลได้อย่างไร ทั้งนี้ถึงแม้อวดอ้างกันมาว่าการปกครองในบางประเทศเป็นการปกครองตนเอง ที่แท้ไม่เคยมีชาติใดปกครองตนเองเลย ลัทธิของกษัตริย์โบราณและลัทธิของกษัตริย์ไม่สวมมงกุฎอย่างฮิตเล่อร์ ก็คือการกดขี่คนส่วนมากโดยคนส่วนน้อย ลัทธิประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็นในยุโรปบางประเทศ ก็คือการกดขี่คนส่วนน้อยโดยคนส่วนมาก และการปกครองตามลัทธิคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย ก็คือการกดขี่คนทุกชั้น ที่มิใช่กรรมกรโดยหัวหน้ากรรมกร ตามความเห็นของรุ้งนั้น ยังไม่มีการปกครองในประเทศใดน่าพอใจ ถ้าหากรัฐบาลใดได้ตั้งขึ้นโดยประชาชนและเพื่อประชาชนจริงแล้ว รัฐบาลเช่นนั้นย่อมจะไม่กดขี่ข่มเหงราษฎรแม้แต่คนเดียว และทั้งไม่ทอดทิ้งราษฎรที่ประสบภัยโดยไม่ให้การช่วยเหลือแม้แต่คนเดียว อย่างนี้จึงจะนับว่าเป็นการปกครองตนเองแท้ รัฐบาลขององคาพยพแห่งจุลินทรีย์เป็นรัฐบาล ที่น่าจะถือเป็นตัวอย่างอันน่าปรารถนาสำหรับใช้ในองคาพยพของมนุษย์ รัฐบาลของมนุษย์เคยยิงเป้าพลเมืองของตน แต่มันสมองของมนุษย์ไม่เคยสังหาร จุลินทรีย์ในร่างกายของตนเลย ถ้าหากจุลินทรีย์แม้แต่ตัวเดียวต้องประสบภัย มันสมองก็จะจัดการสั่งอวัยวะอื่นให้ช่วยเหลือ เช่น ถ้าจุลินทรีย์ที่เท้าถูกแทงด้วยหนาม มันสมองก็จะสั่งกล้ามเนื้อที่ขาให้ยกเท้าหนีหนามแล้วสั่งมือให้ถอนหนามทิ้งเสีย มนุษย์จะมีความสุขได้ก็มีรัฐบาลที่ดีอย่างเดียวกับรัฐบาลขององคาพยพแห่งจุลินทรีย์ รัฐมนตรีของมันมิใช่เลือกตั้งขึ้นแล้วก็เปลี่ยนกัน ๔ ปี หรือ ๘ ปีต่อหนึ่งครั้ง มันเลือกตั้งรัฐมนตรีของมันโดยกำหนดตัวไว้ตั้งแต่ยังเป็นทารก และให้เป็นรัฐมนตรีทันทีที่สามารถทำงานได้ การพ้นจากหน้าที่ของรัฐบาลมีโอกาสเดียวคือแก่ชราหรือตาย

แล้วรุ้งก็อธิบายต่อไปถึงชีวิตสังคมในรัฐสยามแห่งอนาคต โดยกล่าวในเชิงเหตุผลทางตรรกวิทยาว่า เมื่อรัฐเศรษฐกิจเช่นนั้นก่อความสมบูรณ์พูนผลขึ้นแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องเตรียมคุกตะรางไว้สำหรับลงโทษแก่พวกโจรผู้ร้าย และเมื่อประเทศต่างๆ เลิกคิดที่จะทำสงครามกัน ชีวิตและทรัพย์สมบัติก็จะมีความปลอดภัยมากกว่าในปัจจุบันนี้ ประชาชนจะมีหน้าตาแจ่มใส หัวใจชื่นบาน และไม่มีใครลบหลู่ดูถูกผู้อื่น เพราะว่าทุกๆ คนล้วนเป็นผู้มีการศึกษาดี และมีงานทำที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ส่วนในการเลือกคู่สมรสนั้น แทนที่ทรัพย์จะเป็นน้ำหนักสำคัญอย่างในสมัยนี้ มนุษย์ในโลกอนาคตซึ่งมีความรู้อย่างขึ้นใจในชีววิทยาก็คงถือว่าคุณสมบัติของกายและมันสมองเป็นสิ่งสำคัญกว่า

รุ้งหยุดพูด เพราะขณะนั้นอุไรวรรณเดินเข้ามา

“คุยกันสนุกมากหรือคะ ดิฉันเสียใจที่ไม่ได้มาร่วมวงด้วย เพราะมัวทำแพนเค้กสำหรับมื้อกลางวันนี้”

“ผมพูดมากเกินไป” รุ้งสารภาพ “จนหิวและนึกถึงแพนเค้กเกือบตลอดเวลา” แล้วเขาลุกขึ้นพร้อมกับวีรพันธุ์ กุมมือกันเดินเข้าห้องอาหาร

“วันนี้รุ้งคุยสนุกจริงๆ” วีรพันธุ์บอกน้องสาว “เขาบรรยายอย่างยืดยาวถึงสภาพของบ้านเมืองตามที่เขียนในหนังสือ The Sight of Future Siam”

“เป็นหนังสือการเมืองเรื่องแรกที่น้องอ่านจบโดยไม่ง่วงนอน” อุไรวรรณบอกพี่ชาย “น้องเห็นว่าคุณรุ้งเป็นนักเขียนที่สามารถเท่ากับเป็นนักศึกษาที่หูตาไกล”

“เขาเป็นนักฝันอย่างที่เรียกว่า Utopian”

“แต่คุณรุ้งเป็นนักคิดด้วยเหมือนกันนะคะ ดิฉันขอค้านว่าเธอไม่ใช่ Utopian เธอเป็น Idealist ดูเหมือนเขาแปลคำนี้ว่านักอุดมคติ”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ