บทที่ ๒๖

“แกเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นแล้ว” วีรพันธุ์บอกรุ้งเมื่อพบกันที่บ้านศาลาแดงในโอกาสต่อมา “อำนวยบอกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับที่ลงบทความของแกขายได้มากขึ้นราว ๒๐ เปอร์เซ็นต์

“กันได้รับเช็ค ๒๐๐ บาทเมื่อวันเกิด”

“อำนวยบอกว่าเขาควรจ่ายให้แกไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๐๐ บาท”

“เขาควรคืน The Sight of Future Siam ให้กันเสียที”

“เขาให้มาขอผัดเวลา ตามคำพูดของเขานั้นว่ามันเป็นหนังสือที่จะต้องอ่านด้วยความพินิจพิเคราะห์ กันออกจะเสียใจที่ไม่ได้อ่าน”

“แกไม่ค่อยอ่านหนังสือไม่ใช่หรือ?”

“จริง ถ้าเป็นหนังสือสารคดีละก็พอหยิบมาดูเท่านั้น ยังไม่ทันอ่านก็หาวนอนเสียแล้ว กันชอบคุยคดีสาร แต่ชอบอ่านคดีมโนสาเร่ กันตั้งใจว่าจะขอร้องแกให้เล่าข้อความย่อๆ ในเรื่อง The Sight of Future Siam”

“อะฮา! นั่นเป็นงานที่จะต้องจ้างทำ” รุ้งพูดพร้อมกับหัวเราะ “อีกประการหนึ่ง ถ้ากันเป็นนักเขียนกันก็ไม่ใช่นักคุย แกรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าเราอาจแบ่งมนุษย์ออกตามอัธยาศัยเป็นพวกใหญ่ๆ สองจำพวก คืออินโทรเวอร์ทกับเอ็กซ์โทรเวอร์ท และกันพอจะบอกได้ว่าตัวกันเองเป็นพวกอินโทรเวอร์ท”

“หมายถึงพวกเจ้าตำราและเจ้าความคิดใช่ไหม?”

“นั่นเป็นความหมายแคบๆ ถ้าจะกล่าวให้ชัดก็ต้องว่าอินโทรเวอร์ทเป็นพวกขรึม ขี้อาย ชอบระลึกเหตุการณ์ย้อนหลัง มีความสุขเมื่ออยู่สงบตามลำพัง เป็นนักสังเกตการณ์ แต่ไม่ใช่นักแสดง กล้ามเนื้อของเขาลีบเล็กเพราะไม่ชอบใช้กล้ามเนื้อ เส้นประสาทสำหรับบังคับกล้ามเนื้อ (Motor Nerves) ของเขาก็ทำงานเชื่องช้า การเคลื่อนไหวไม่ว่องไว ไม่มีฝีมือในการกีฬา และจิตใจก็ไม่เป็นนักกีฬา คือหงุดหงิดเสียใจมากเมื่อแพ้ ดีใจมากเมื่อชนะ ประสาทสำหรับความรู้สึก (Sense Organs) ของเขาว่องไว จึงทำให้เขาพิถีพิถันในการเลือกรูป รส กลิ่น เสียง เขาเป็นผู้มีลิ้นที่รู้ว่ารสสุราองุ่นปี ๑๙๑๐ นั้นผิดจากปี ๑๙๑๙ เขาเป็นผู้รู้คุณค่าของอาหารและเครื่องใช้ชั้นดีเยี่ยม พวกช่างประณีตศิลป์ เช่น ช่างเขียน ช่างปั้น นักประพันธ์ และพวกนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ เหล่านี้มักเป็นอินโทรเวอร์ท”

“กันเคยฟังคำบรรยายว่าอินโทรเวอร์ทหรือเอ็กซ์โทรเวอร์ทยังมีสาขา Derivatives ของมันอีกใช่ไหม?”

“ถูกแล้ว และตามความเป็นจริงไม่มีใครเป็นอินโทรเวอร์ท หรือเอ็กซ์โทรเวอร์ทร้อยเปอร์เซ็นต์ ลักษณะที่กันกล่าวข้างต้นจึงเป็นเพียงแนวพิจารณาเท่านั้น”

วีรพันธุ์ถามว่า “แนวพิจารณาสำหรับเอ็กซ์โทรเวอร์ทมีอย่างไรบ้าง?”

“เอ็กซ์โทรเวอร์ท” รุ้งตอบ “เป็นพวกเปิดเผยตัวเอง ชอบอยู่ในที่เด่น อยากได้รับความนิยม ชอบทำมากกว่าชอบคิด ร่าเริงเสมอ ชอบสมาคม จึงเป็นสาขาประจำของสโมสร ร่างกายของเขาแข็งแรง โดยมากล่ำสันและประเปรียว เพราะประสาทบังคับกล้ามเนื้อของเขาทำงานว่องไว ซึ่งทำให้เขาเป็นนักกีฬา เขาเป็นคนคลุกคลีอยู่กับชีวิต จึงเข้าใจความเป็นไปของชีวิตว่าย่อมมี ‘ทีได้และทีเสีย’ แต่เขาไม่ยอมเสียทีใครง่ายๆ ใครจะมาเอาชนะเขาในเรื่องที่เขาถนัดไม่ได้ คนพวกนี้เป็นเจ้าของโลก การงานส่วนมากดำเนินไปด้วยพวกเขาซึ่งเข้ารับหน้าที่การงานทุกแผนกในรัฐ นับแต่ชั้นต่ำสุดจนถึงสูงสุด เขาเตะเอาพวกอินโทรเวอร์ทกระเด็นออกไปอยู่วงนอกของการงาน”

“ถึงกระนั้น” วีรพันธุ์พูด “ตามที่แกพรรณนามานี้ กันก็เห็นว่าพวกอินโทรเวอร์ทเป็นพวกฉลาดกว่า”

“ความฉลาด” รุ้งตอบ “ก็เป็นสิ่งหนึ่งเหมือนกันที่ขึ้นอยู่กับแง่มองของบุคคล ถ้าท่านไวซ์มันหรือท่านไอน์สไตน์เป็นผู้จัดการร้านค้า แม้แต่เล็กๆ ก็คงขาดทุนด้วยความงุ่มง่ามโง่เขลาต่างๆ เมื่อพูดถึงความฉลาดเราต้องบ่งลงไปด้วยว่าฉลาดทางไหน คนทุกคนย่อมฉลาดเยี่ยมยอดในงานคนละอย่าง ในรัฐที่มีระเบียบเศรษฐกิจดี จะต้องมีจำนวนชนิดของงานมากเท่าจำนวนคน นี้เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนทุกคนได้รับความนับถือเท่าเทียมกันหมด”

“การปฏิวัติทางสังคม” วีรพันธุ์พูดโดยตริตรอง “ที่จะยกเลิกการแบ่งชั้นวรรณะ เพื่อให้คนทุกคนได้รับความนับถือเท่ากัน เท่าที่ทำมาแล้วนั้นไม่ได้ผลเลย ในที่สุดดูเหมือนต้องยอมรับรองกันโดยทั่วไปว่ามนุษย์เกิดมาไม่เท่ากัน จะให้เสมอภาคกันหมดไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงย่อมเป็นธรรมดาของสังคม”

“ตามที่ว่ามนุษย์เกิดมาไม่เท่ากัน” รุ้งพูดช้าๆ ด้วยอาการตริตรองไม่น้อยกว่าวีรพันธุ์ “ซึ่งเป็นคำค้านวาทะของรูซโซนั้น มันมิได้นำมาแก้ปัญหาทางสังคมของมนุษย์ เดี๋ยวนี้เรารู้กันแล้วว่ารูซโซผิด เพราะทารกแม้ที่เกิดใหม่ก็ย่อมมีรูปกายต่างกัน และอาจวัดความต่างกันนั้นได้ กายต่างกัน จิตใจก็ต่างกันด้วย เพราะกายกับใจเป็นสองด้านของชีวิต แต่ปัญหาที่เผชิญหน้าเราในปัจจุบันนี้ มีว่าเมื่อเรารู้ว่ามนุษย์เกิดมาไม่เท่ากัน ทำไมเราจึงไม่แบ่งชั้นวรรณะตามความสูงต่ำทางกายหรือทางใจ? ทำไมเราจึงยกย่องพวกผู้ดีที่มีกำเนิดจากเจ้าหรือจากขุนนางว่าเป็นคนชั้นสูง ในเมื่อคนพวกนี้ก็มีความต่ำสูงในหมู่เขาอย่างเดียว กับความต่ำสูงในหมู่กรรมกรซึ่งถือกันว่าเป็นคนชั้นต่ำ นี้เป็นการแบ่งชั้นทางเศรษฐกิจซึ่งเอาคนร่ำรวยมาเป็นนายงานของคนจน อันเป็นเหตุให้เกิดลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะคนจนมีปัญญาสูงก็มีถมไป”

“การแบ่งชั้นทางเศรษฐกิจนั้น ได้พูดกันมามากแล้ว” วีรพันธุ์กล่าว “กันเบื่อลัทธิเศรษฐกิจ แต่กันสนใจในการแบ่งชั้นตามกำเนิด โดยเข้าใจว่าคนชั้นสูงย่อมได้รับความยกย่องขึ้นไปในเบื้องต้น ก็ด้วยคุณงามความดีเหนือผู้อื่น และเราก็นับถือลูกหลานของท่านเหล่านี้ว่าเป็นคนสูง ก็โดยเห็นว่าเชื้อคงไม่ทิ้งแถว การที่ผู้ดีบางคนกลายเป็นคนต่ำช้าปัญญาทรามนั้น น่าจะเป็นกรณีพิเศษพอที่จะถือได้ว่าเป็นข้อยกเว้น”

“ความเห็นของแกแสดงว่าแกสนใจในสังคมวิทยาน้อยเต็มที” รุ้งพูด “แกอาจยังไม่รู้ว่า พวกเจ้าหรือพวกขุนนางก็คือกษัตริย์ซึ่งสืบเชื้อสายจากพวกพเนจรในยุคต้นประวัติศาสตร์ พวกพเนจรนี้ได้เข้าแย่งดินแดนของพวกกสิกร เลยทึกทักเอาว่าตนเป็นเจ้าของแผ่นดิน และพวกกสิกรเป็นข้าทาสบริวาร ตรงไหนละ เป็นความสูงของพวกกษัตริย์? ควรหรือที่เราจะนับถือฝีมือในการต่อสู้ว่าเป็นความสูง? เดี๋ยวนี้ขอให้เรานับเฉพาะกษัตริย์แห่งปัญญา และเลิกนับถือกษัตริย์แห่งสงครามเสียที เดี๋ยวนี้พวกกษัตริย์แห่งสงครามก็ยังกุมอำนาจบริหารอยู่ โดยเป็นข้าราชการตามกระทรวงต่างๆ รัฐจึงกลายเป็นองคาพยพแห่งสงคราม ถ้าแกเอาเรื่องนี้ไปตรึกตรอง ก็คงมองเห็นว่าเราจะให้พวกกษัตริย์เข้าครอบครองโลกทั้งหมดไม่ได้ ชั้นวรรณะจะให้คงมีอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่หน้าที่การงานควรแบ่งกันทำตามความสามารถของกายและมันสมอง การปฏิวัติทางสังคมต้องประกอบด้วยการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงพวกอินโทรเวอร์ทและเอ็กซ์โทรเวอร์ท ใครถนัดใช้กล้ามเนื้อก็ควรมอบงานออกกำลังกาย ส่วนคนที่ถนัดใช้สมอง ก็ต้องมอบงานใช้ความคิด รัฐมนตรีควรเป็นพวกอินโทรเวอร์ท ส่วนข้าราชการประจำเราต้องใช้พวกเอ็กซ์โทรเวอร์ท และหน้าที่การงานอื่นๆ ที่ต้องมอบแก่คนที่เหมาะสมแก่งานทุกรายไป โดยอาศัยคำแนะนำของนักจิตวิทยา เมื่อได้จัดการไปดังนี้ ก็จะไม่มีข้าราชการที่หย่อนความสามารถ กันได้อ้างหลักฐานและแสดงวิธีการปฏิบัติตามนี้โดยละเอียดในเรื่อง The Signt of Future Siam แม้แต่งานของเอกชน รัฐก็ต้องดูแลควบคุมให้ปฏิบัติไปโดยผู้สามารถที่สุดในงานนั้น นี่เป็นทางที่คนทุกคนจะได้มีงานทำ พลเมืองคนไหนว่างงาน รัฐจะต้องสอบสวนให้รู้เหตุผล ถ้าเขาถูกออกจากงานเพราะกระทำความผิด เขาจะต้องถูกลงโทษดัดสันดานแล้วส่งตัวกลับไปทำงานตามเดิม ถ้าเขาออกจากงานเพราะหย่อนความสามารถหรือเกียจคร้าน รัฐจะต้องหางานอื่นให้ทำ งานของรัฐใน กิจการตำรวจ การสาธารณสุข และการโยธา เหล่านี้คืออู่ข้าวอู่น้ำของคนที่ทำงานออกกำลัง เป็นข้อสำคัญควรระลึกว่ามนุษย์มีสันดานไม่ชอบอยู่เฉย แม้แต่พวกที่ถูกเรียกว่า Idle Class คือพวกนอนกินอยู่กับบ้านเพราะมีเงินเหลือเฟือ ก็หาใช่นอนเฉยไม่ เมื่ออยู่บ้านนานเข้าก็แสนเบื่อ ต้องออกเที่ยวตระเวนรอบบ้านรอบเมือง บางคราวก็เดินทางรอบโลกและเที่ยวซอกแซกในกิจการต่างๆ เป็นการหางานให้ตนเองทำ เช่น เป็นผู้จัดการสาธารณกุศลบางอย่างหรือจัดการกีฬา ประเพณีขี่ม้าล่าสัตว์ของชาวอังกฤษ เกิดจากความไม่ชอบอยู่เฉยของพวกที่ถูกหาว่าชอบอยู่เฉย เมื่อพิเคราะห์ทางชีววิทยาก็จะเห็นว่ามนุษย์ได้เป็นใหญ่กว่าสัตว์อื่น ก็ด้วยความซุกซนในการใช้มือ มือของมนุษย์จะต้องทำงานอยู่เสมอ มิฉะนั้นเจ้าของมือไม่มีความสุข ขอแต่ให้ส่งงานที่เขาชอบไปให้เขาทำ เราก็วางใจได้ว่าเขาจะทำงานนั้น พวกอินโทรเวอร์ททำงานเพื่ออุดมคติ เมื่อเห็นผลของงานที่ตนทำก็ชื่นใจ จึงพยายามทำงานให้ได้ผลดีที่สุด ส่วนพวกเอ็กซ์โทรเวอร์ททำงานเพื่อความสรรเสริญ เขาจึงพยายามแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ รวมความว่าคนทั้งสองประเภทชอบทำงาน และแสวงหางานที่ตนถนัดที่สุด แต่ไหนแต่ไรมา รัฐไม่ได้ช่วยเหลือเขาในเรื่องนี้ รัฐปล่อยให้เขาคลำหางานไปตามบุญตามกรรม ซึ่งเป็นไปต่อหน้าอุปสรรคซึ่งบางอย่างรัฐเป็นผู้สร้างขึ้น เช่นการเก็บภาษีอากร การสนับสนุนคนบางพวกและกดขี่คนบางพวก การเกณฑ์แรงงานรับใช้ชาติ และตลอดจนการศาล และการราชทัณฑ์ซึ่งเต็มไปด้วยความบกพร่อง”

วีรพันธุ์ฟังโดยสงบและตริตรอง เมื่อรุ้งกล่าวจบแล้วเขายังนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะตั้งปัญหาขึ้นว่า “สมมุติรัฐตั้งใจจะเข้าจัดการให้พวกอินโทรเวอร์ท และเอ็กซ์โทรเวอร์ทได้ทำงานอันเหมาะสมแก่ตนทุกรายไป แต่ทำอย่างไรเล่า? รัฐจึงจะรู้ได้ว่าคนไหนเป็นอินโทรเวอร์ท หรือเอ็กซ์โทรเวอร์ท”

“รัฐมีหวังจะรู้ได้โดยมอบให้เป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยา”

วีรพันธุ์เข้าใจว่ารุ้งพลาด พร้อมกับอาการยิ้มของผู้มีชัย เขาพูดว่า “อย่าลืมนะว่า จิตวิทยาไม่ใช่ศาสตร์ชนิดที่ได้ความรู้จริงจากการทดลอง ความจริงในจิตวิทยาไม่ใช่ความจริงชนิดที่ไว้วางใจได้ เพราะมันเป็นเพียงผลแห่งความสังเกตเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้น โดยมากเป็นเพียงการสังเกตตนเองของพวกอินโทรเวอร์ท แล้วรับรองต่อๆ กันมา”

“นั่นเป็นความรู้ที่ล้าสมัย” รุ้งพูดโดยอาการซึ่งแสดงความมั่นคง จนทำให้อาการยิ้มอย่างมีชัยของวีรพันธุ์หายไป “ถ้าแกได้อ่านตำราจิตวิทยาที่เขียนขึ้นหลังมหาสงคราม แกจะได้เห็นว่านับแต่โปรเฟสเซอร์ปาพลอพได้ค้นพบความลับแห่งการดำเนินงานของมันสมอง โดยทดลองจากสุนัข จิตวิทยาได้ก้าวขึ้นสู่ระดับของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คือเป็นศาสตร์ที่ค้นความจริงจากการทดลอง ทั้งนี้ โดยอาศัยเกาะเกี่ยวอยู่กับชีววิทยา ความบกพร่องในข้อสังเกตของศาสตราจารย์จิตวิทยาแต่ก่อนๆ ได้ถูกแก้ไขหมดแล้ว เช่น จากตำราเก่าเราจะได้พบว่าการเปลี่ยนแปลงอาการทางกาย เป็นเครื่องแสดงความปั่นป่วนของจิต เช่น หน้าซีด ขนลุก ใจเต้น เหล่านี้เกิดขึ้นจากความกลัว หมายความว่าเกิดความกลัวขึ้นก่อน แต่ชีววิทยาได้ค้นพบว่าอาการหน้าซีด ขนลุก ใจเต้น และกิริยาอาการอื่นๆ เหล่านี้ ที่แท้เป็นงานของร่างกายที่ทำไปตามคำสั่งของสมองซึ่งส่งคำสั่งโดยใช้น้ำในต่อมไม่มีท่อบางต่อม ฉะนั้นในตำราจิตวิทยาของวิลเลี่ยม เจมส์ จึงมีคำอธิบายว่า “มิใช่เราพบหมี...กลัว...แล้ววิ่งหนี แต่เราพบหมี...วิ่งหนี...แล้วกลัว” อย่างไรก็ตาม เดี๋ยวนี้ถ้าหากนักจิตวิทยาบอกเราผู้ใดเป็นอินโทรเวอร์ทเราก็พอจะเชื่อได้ว่าจริง”

“ถ้านักจิตวิทยาจะบอกความจริงได้ เขาก็คงต้องใช้เครื่องมือ เพราะศาสตร์สมัยใหม่นี้ไม่ยอมเชื่อถือรายงานของประสาทแห่งร่างกายมนุษย์”

รุ้งพยักหน้ารับรอง “แน่ละ เครื่องมือมากมายหลายอย่างคงจะต้องประดิษฐ์ขึ้น แม้เดี๋ยวนี้ทั้งๆ ที่รัฐมิต้องการก็ได้มีเครื่องมือเกิดขึ้นอย่างหนึ่งแล้ว ซึ่งพอจะใช้ตรวจการดำเนินงานของสมองให้รู้ได้ว่า ใครเป็นอินโทรเวอร์ทหรือเอ็กซ์โทรเวอร์ท มันเป็นเครื่องมือง่ายๆ ซึ่งกันจะทำขึ้นเดี๋ยวนี้ และจะเอามาตรวจสมองของแกเดี๋ยวนี้ก็ได้”

“เอามาซี” วีรพันธุ์พูดด้วยนึกสนุก

รุ้งเรียกกระดาษและปากกามาจากวีรพันธุ์ แล้วเขาเขียนรูปของแท่งสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ โดยใช้ริมสมุดพกแทนไม้บรรทัด วีรพันธุ์รับภาพมาดูด้วยความพิศวง

“ผู้ที่คิดเครื่องมือขึ้น” รุ้งอธิบาย “เป็นโปรเฟสเซอร์จิตวิทยาที่เรืองนามที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ ชื่อ แม็คดูกัล คนธรรมดาอาจเห็นว่าเป็นเครื่องมือเด็กเล่น แต่ด้วยเครื่องมือง่ายๆ นี้แหละ เราอาจวัดรู้กำลังงานคู่หนึ่ง ซึ่งออกแรงทำงานในมันสมองของเราชั่วนาตาปี” แล้วรุ้งก็อธิบายถึงลักษณะและการดำเนินงานของแรง Excitation กับแรง Inhibition โดยสังเขป

“เอ้า ลองวัดแรงงานในสมองของกันให้ดูทีเถอะน่า” วีรพันธุ์ว่า

“แกวัดของแกเองก็ได้ แต่ต้องกระทำในเวลาจิตใจสงบ ไม่มีอารมณ์ เช่น โกรธ ดีใจ หรือเสียใจ จะต้องไม่ดื่มของมึนเมา สูบบุหรี่ หรือดื่มกาแฟ เมื่อนั่งในท่าสบายแล้วถือแผ่นกระดาษมีภาพลูกบาศก์นี้ในระยะเหมือนจะอ่านหนังสือ มองเฉยอยู่ไม่ช้า ก็จะเห็นภาพลูกบาศก์นั้นพลิก ประเดี๋ยวมันพลิกเอาด้านนั้นขึ้น ประเดี๋ยวเอาด้านนี้ลง” แล้วรุ้งก็อธิบายถึงจังหวะและการถี่ในการเห็นภาพลูกบาศก์นั้นพลิก ซึ่งเป็นวิธีสังเกตว่าใครเป็นอินโทรเวอร์ทหรือเอ็กซ์โทรเวอร์ท พวกอินโทรเวอร์ทจังหวะถี่และสม่ำเสมอกัน เมื่อวีรพันธุ์ซักถามเหตุผลที่ทำให้มองเห็นลูกบาศก์พลิก รุ้งก็อธิบายจนเขาเข้าใจ แล้วเขาก็ช่วยวีรพันธุ์ในการตรวจการดำเนินงานของสมอง โดยใช้รูปแท่งลูกบาศก์ขึ้นนั้น ปรากฏว่าวีรพันธุ์มีส่วนเป็นเอ็กซ์โทรเวอร์ท ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นอินโทรเวอร์ท ๔๐ เปอร์เซ็นต์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ