- ปฐมบท
- คำอภิวันทนาการ (ในการพิมพ์ครั้งที่สาม)
- คำนำของผู้เขียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
บทที่ ๒๔
ต่อมาอีกสองสามวัน รุ้งได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากนายอำนวย สารภาษิต เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ผดุงวิทยา ความว่าเขาทราบจากวีรพันธุ์ว่ารุ้งใคร่จะเขียนบทประพันธ์ลงในหนังสือพิมพ์ของเขา และเขายินดีที่จะนำลงพิมพ์ให้ รุ้งตอบขอบใจและกำหนดไปว่าจะส่งบทประพันธ์ไปให้สัปดาห์ละหนึ่งบท
ทั้งสองฝ่ายมิได้เอ่ยถึงเรื่องเงินค่าเขียน ถึงแม้รุ้งใคร่จะให้เป็นที่แจ่มแจ้งเสียทีเดียวว่าเขาต้องการเงิน แต่ก็ไม่เห็นสมควรที่จะเป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อน เขาหวังว่าวีรพันธุ์จะจัดการพูดจาแทนเขา
บทประพันธ์ของรุ้งที่นำลงใน ผดุงวิทยา บทแรกให้ชื่อว่า “ชีวิตน้อยๆ ในเนื้อของเรา” ซึ่งเขาหมายถึงจุลินทรีย์ เขานำสัจจะข้อนี้มาแสดงก่อน เพราะเห็นเป็นเบื้องต้นที่จะให้คนไทยทราบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า ชีวิตของชนนั้น แท้จริงก็คือส่วนหนึ่งแห่งชีวิตของมนุษยชาติ มันเป็นเรื่องที่คนโดยมากทราบอยู่แล้ว แต่ไม่เข้าใจความสำคัญหรือเคยได้ยินแต่ไม่เอาใจใส่ รุ้งชี้ความจริงที่ว่า ชีวิตหนึ่งถูกซ้อนด้วยชีวิตอื่น เหมือนทหารยืนอยู่ในแถวซึ่งเหยียดยาว จนไม่รู้ว่าหัวแถวหรือปลายแถวอยู่ที่ไหน ทหารคนหนึ่งก็มีคนเตี้ยกว่าเขายืนอยู่ด้านหนึ่ง และมีคนสูงกว่าเขายืนอยู่อีกด้านหนึ่ง ชีวิตของมนุษย์มีชีวิตน้อยๆ ซ้อนอยู่ในกายตัวเรา คือจุลินทรีย์ และชีวิตใหญ่ซ้อนอยู่เหนือเรา นั่นคือชีวิตของชาติ ชีวิตดวงน้อยกว่าจุลินทรีย์ยังมีอีกกี่ชั้นที่เชิง ชีวิตดวงใหญ่กว่าชีวิตของชาติยังจะมีอีกกี่ชั้นที่เชิง ยังเป็นเรื่องน่ารู้ขั้นที่สอง ส่วนเรื่องน่ารู้ขั้นแรก ก็คือชีวิตซึ่งยังอยู่ติดต่อกับเราทั้งใหญ่และน้อย
เขาเริ่มต้นด้วยการแสดงผลแห่งการค้นคว้าของนักชีววิทยา ซึ่งได้ตัดเนื้อชิ้นหนึ่งจากร่างกายของมนุษย์และจากสัตว์มาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่ามันกอปรขึ้นด้วยสิ่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละอันมีลักษณะเหมือนเนื้อในของฟองไข่ที่เราต่อยออกมาใส่ในจาน กล่าวคือมีสิ่งมีสีขาวคล้ายวุ้นหุ้มอยู่รอบก้อนกลมนี้เรียกว่าเซลล์ ซึ่งหมายถึงห้องหรือคูหา โดยเซลล์เหล่านี้ติดต่อกันเป็นพืด แต่กั้นกลางระหว่างทุกๆ เซลล์ด้วยเยื่อบาง เมื่อมองด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเยื่อบางเหล่านี้เป็นเส้นหยิกๆ ล้อมรอบเซลล์ซึ่งเบียดตัวกันอยู่แน่นจนดูติดกันเป็นผืนแผ่น ฉะนั้นเส้นหยกจึงดูคล้ายเป็นกำแพงกั้นเขตไว้เป็นห้องๆ ละหนึ่งเซลล์ การทดลองต่อมาปรากฏผลว่าเซลล์เหล่านี้มีชีวิต เราจึงเรียกมันในภาษาไทยว่าจุลินทรีย์
นักวิทยาศาสตร์ได้แยกเอาเซลล์จากเนื้อของมนุษย์ไปเลี้ยงไว้ มันก็ประพฤติอย่างสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เช่น กินอาหาร ถ่ายของเสีย เคลื่อนที่ไปมาหาอาหาร และหลบหลีกอันตราย ข้อนี้เป็นคุณอนันต์แก่การแพทย์ เพราะนำสู่การค้นพบต่อไปว่า โรคบางชนิดมีเชื้อซึ่งเป็นเซลล์เหมือนเซลล์ในร่างกายของเรา ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นสัตว์ขนาดเล็ก โดยมากถ้าไม่ใช้กล้องจุลทรรศน์ก็มองไม่เห็น เนื้อของเราทุกแห่งกอปรขึ้นด้วยตัวสัตว์มีชีวิตเหล่านี้ มันเติบโตเราก็อ้วน มันผอมเราก็ผอม มันแข็งแรงทั่วกัน เราก็สบาย มันถูกเชื้อโรครังแกเราก็เจ็บป่วย
แล้วรุ้งบรรยายต่อไปว่าร่างกายก็คือสังคมของจุลินทรีย์ ชีวิตอุบัติขึ้นจากการที่จุลินทรีย์เหล่านี้ปลงใจทำการงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หากเมื่อใดจุลินทรีย์บางส่วนหยุดงาน ซึ่งทำให้ส่วนอื่นต้องหยุดงานด้วย เราก็ตาย คำบรรยายของรุ้งดูคล้ายเป็นการเผยสัจจะอย่างใหม่สู่มหาชน มันกลับความเข้าใจเดิมของสามัญชนที่ว่ามนุษย์ตายเพราะถูกเชื้อโรคฆ่า หรือว่าพวกจุลินทรีย์นี้ชราและตาย เราจึงตาย “จุลินทรีย์เป็นสัตว์ไม่รู้จักตาย” รุ้งเขียน “มันไม่มีเวลาแก่ชราเสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อมันเติบโตเต็มที่มันก็จัดแจงแบ่งตัวของมันเองออกเป็นสองภาค ตัวหนึ่งกลายเป็นสองตัว แล้วตั้งต้นชีวิตใหม่กลายเป็นเด็กเติบโตขึ้น แล้วก็แบ่งตัวเองเป็นเด็กอีกวนเวียนดังนี้เรื่อยๆ ไป นี้เป็นเหตุให้นักชีววิทยาเกิดความหวังที่จะยืดอายุขัยของมนุษย์ออกไปอีก เพราะถ้าเซลล์ไม่รู้จักตาย มนุษย์ก็น่าจะไม่รู้จักตายได้บ้างเหมือนกัน แต่เชื้อโรคและยาพิษอาจทำให้เซลล์อ่อนกำลังหรือตาย หรือทำให้มันต้องหยุดทำงาน และถ้าเซลล์ของอวัยวะอื่นๆ ก็พลอยผสมหยุดงานด้วยเป็นการพร้อมเพรียงกันทั้งสังคม เราก็ตาย” แล้วรุ้งก็หันไปกล่าวถึงความหมายแห่งคำว่า “ชีวิต” เขาเขียนว่า “ชีวิตก็คือการประกอบขึ้นเป็นสิ่งเดียวจากสิ่งหลายสิ่ง ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่การงานเพื่อส่วนรวม จุลินทรีย์เป็นชีวิตโดยมีลักษณะดังกล่าวนี้ ตัวเราและตัวท่านต่างก็เป็นชีวิตโดยกอปรขึ้นด้วยจุลินทรีย์ที่ทำงานประสานกัน ชาติไทยก็เป็นชีวิตโดยความปลงใจของคนไทยที่จะทำงานร่วมกันเป็นองคาพยพแห่งรัฐประเทศ ถ้าพลเมืองทำงานประสานกันดี เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ชีวิตของชาติในรัฐนั้นๆ ก็ราบรื่น แต่รัฐในโลกปัจจุบันนี้ไม่สมบูรณ์ด้วยตนเองแม้แต่รัฐเดียว จึงเป็นความจำเป็นต้องคิดรวมรัฐน้อยเข้าเป็นรัฐใหม่ จากรัฐประเทศอาจเป็นรัฐทวีป หรือรัฐโลกก็เป็นได้ การขยายตัวของรัฐได้กระทำมาแล้วในอดีต ดังปรากฏตามประวัติศาสตร์เมื่อประมาณพันปีมาแล้วนี้รัฐโดยมากยังเป็นเพียงเมือง ต่อมาได้เป็นรัฐนคร แล้วจึงเป็นรัฐประเทศ สงครามได้ช่วยขยายขนาดของรัฐออกไป แต่ในอนาคตการขยายรัฐน่าจะเกิดจากความประสงค์ของพลรัฐเอง ซึ่งได้ศึกษาสูงขึ้นพอที่จะมองเห็นอนาคตของตนเองได้
รุ้งใช้นามปากกาว่าแคนเตอร์ เรื่อง “ชีวิตน้อยๆ ในเนื้อของเรา” ได้รับความสนใจในหมู่นักศึกษาวัยรุ่นหนุ่มๆ ซึ่งโดยมากยังมิได้ลืมตาดูความสำคัญของชีววิทยา เขาพากันกระทำตนตามสมัยนิยม คือศึกษาธรรมศาสตร์เพื่อเป็นลูกศิษย์รัฐบุรุษคนหนึ่ง หรือหันหาทางเป็นนายทหารเพื่อจะได้มีโอกาสใกล้ชิดรัฐบุรุษอีกคนหนึ่ง หลังจากนำบทประพันธ์ของรุ้งลงพิมพ์ บรรณาธิการได้รับจดหมาย ๒๘ ฉบับ ถามว่าแคนเตอร์เป็นแพทย์หรือมิใช่ หากใช่ก็ขอหารือในเรื่องการปฏิบัติบำรุงร่างกาย รุ้งขอให้บรรณาธิการตอบในหนังสือพิมพ์ว่าแคนเตอร์เป็นเพียง “ผู้สนใจในชีววิทยา” คำตอบนี้ทำให้ไม่มีใครเขียนมาถามอีก แต่กลับเป็นเครื่องยัวใจผู้อ่าน ผดุงวิทยา ให้อยากรู้ว่าแคนเตอร์คือใคร
ความสนใจของผู้อ่านดังกล่าวนี้ ทำให้บรรณาธิการรู้สึกว่าเขาทำถูกต้องแล้วที่เชิญให้รุ้งเขียน เขาได้ติดต่อกับรุ้งทางจดหมาย แต่ไม่เคยพบปะกันเลย
บทประพันธ์ที่สองของรุ้งให้ชื่อว่า “กายเราที่เป็นอมร” ซึ่งเขาอธิบายถึงกลไกแห่งการสืบพันธุ์ เริ่มต้นว่าจุลินทรีย์ในกายเราแบ่งเป็นพวกใหญ่ๆ ๒ พวก คือพวกที่เป็นกล้ามเนื้อหรืออวัยวะตับปอดหัวใจ รวมเรียกว่าโซมา (Soma) ซึ่งจะต้องสลายลงเมื่อเราสิ้นชีวิต จุลินทรีย์พวกที่สองเรียกว่า กามีท (Gamete) ซึ่งเป็นพวกมิรู้ตาย กามีทเป็นจุลินทรีย์ที่มีหน้าที่ผสมพันธุ์ มีอยู่ในอวัยวะประจำเพศ แบ่งออกเป็นสองชนิด คือสำหรับเพศชายเป็นจุลินทรีย์ที่มีหางยาวสำหรับว่ายเคลื่อนที่ไปในน้ำอสุจินี้ เรียกว่าสเปอมาโตซูน (Spermatozoon) ส่วนที่มีอยู่ในอวัยวะของหญิงนั้นเป็นไข่ สะสมไว้ในรังเบื้องบนของมดลูกทั้งสองด้าน สเปอมาโตซูนมีหน้าที่หาให้พบไข่แล้วละลายตัวเองเข้าคลุกเคล้ากับเนื้อในของไข่ ผลแห่งการผสมกันของกามีทสองเพศนี้เรียกว่า ซีโกท์ (Zygote) นั้นคือกายของทารกซึ่งปฏิสนธิในครรภ์ของฝ่ายหญิง ครั้นแล้ว รุ้งก็กล่าวสรุปว่ากายของทารกก็คือชิ้นส่วนหนึ่งซึ่งแยกออกมาจากกายของบิดาและมารดา ชีวิตของมารดามาเกิดใหม่เป็นชีวิตบุตร ฉะนั้น การเกิดใหม่ของเรานั้น มิใช่เป็นไปในอันดับหลังจากความตาย ที่จริงเราเกิดใหม่แล้วจึงตาย ใครมีบุตรคนนั้นก็ได้เกิดใหม่ ส่วนคนไม่มีบุตรจะต้องตายโดยไม่มีวันเกิด
รุ้งอ้างคำพูดของ ดร.ไวซ์มัน นักเคมีผู้มีนามอุโฆษที่สุดในยุคนี้ และซึ่งเป็นผู้สนใจในวิชาผสมพันธุ์สัตว์ ท่านกล่าวไว้ว่า “มีส่วนหนึ่งในร่างกายมนุษย์ซึ่งเติบโตขึ้นในกายบุตร เป็นการต่อชีวิตของพ่อแม่ออกไปทอดหนึ่ง และส่วนน้อยกว่านั้นเติบโตขึ้นในกายหลาน เป็นการต่อช่วงชีวิตของตายายออกไปอีกทอดหนึ่ง หากผู้ใดไม่ไร้บุตร สังขารของผู้นั้นก็ไม่ตายหมดทั้งตัว เพราะมีส่วนน้อยในสังขารนั้นสืบช่วงชีวิตกันไปเป็นทอดๆ มิรู้จบ”
แล้วรุ้งก็หันไปกล่าวถึงความน้อมไปในทางเติบโตของวิญญาณวัตถุ อันมองเห็นได้จากประมวลความจริงในชีววิทยา เขาเขียนว่า “ข้อสำคัญซึ่งเรานึกว่าเป็นเพียงความอุปมาในเรื่องที่กล่าวกันมาแต่โบราณว่า บุตรเป็นเลือดเนื้อของบิดามารดานั้น วิทยาศาสตร์ทำให้เรารู้แจ้งยิ่งขึ้นว่า มิใช่เป็นเพียงเลือดและเนื้อเท่านั้น แต่เป็นชีวิตดวงใหม่ของบิดามารดาด้วยซ้ำไป มนุษย์ในสกุลเดียวกันก็คือเลือดเนื้อก้อนเดียวกัน และชีวิตเดียวกันด้วย เมื่อคนสกุลหนึ่งแต่งงานกับคนในอีกสกุลหนึ่ง บุตรซึ่งเกิดขึ้นก็เป็นผลรวมของเนื้อก้อนใหญ่สองก้อนและชีวิตใหญ่สองชีวิต โดยเหตุมนุษย์ได้แต่งงานกันโดยไม่เลือกชาติ เลือกภาษา ฉะนั้นมนุษย์ในปัจจุบันจึงเป็นโลหิตสายเดียวกันทั้งนั้น ชีวิตน้อยก็คือบุคคล ชีวิตใหญ่คือตระกูล ใหญ่ขึ้นไปอีกก็คือชาติ และใหญ่ที่สุดก็คือมนุษย์ทั้งโลก แต่เราอาจนับว่ามีชีวิตใหญ่กว่านี้ขึ้นไปอีกหลายสิบขั้น เพราะปรากฏตามหลักฐานว่า มนุษย์ได้ผ่านวิวัฒนาการมาหลายชั้นหลายตอน เช่นผ่านความเป็นมนุษย์ป่าเถื่อน มนุษย์ถ้ำ มนุษย์วานร และก่อนนั้นขึ้นไปอีกก็มีสังขารและจิตใจทำนองสัตว์มีกระดูกสันหลัง (Vertebrates) ทั้งหลายซึ่งวิวัฒนาการมาอีกขั้นหนึ่งจากสัตว์จำพวกไม่มีกระดูกสันหลัง จากแมลง จากสัตว์ที่เป็นเพียงจุลินทรีย์ และจากสัตว์ที่กึ่งมีชีวิตกึ่งไม่มีชีวิตเช่นพวกกัลปังหา”
“วิทยาศาสตร์แห่งชีวิต” รุ้งเขียน “ทำให้เรามองเห็นตัวเราเป็นน้ำหนึ่งหยดในทะเลแห่งชีวิต ใครจะแบ่งทะเลออกเป็นร้อยส่วนหรือพันส่วน และจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม ทะเลก็ยังคงเป็นชีวิตใหญ่ซึ่งเราได้ฝังฝากชีวิตน้อยของเราไว้ ชาติมนุษย์ทั้งโลกได้ถูกแบ่งออกไปทางภูมิศาสตร์ ตั้งชื่อให้เห็นแปลกกันว่า นั่นเป็นฝรั่งเศส นั่นเป็นจีน นั่นเป็นไทย แท้ที่จริงคือเลือดเนื้อก้อนเดียวกัน ชาวจีนคนหนึ่งก็เป็นหน่วยหนึ่งในชีวิตแห่งโลกเท่ากันกับคนไทยคนหนึ่ง ต่างคนต่างมีหน้าที่ทำการงานประสานกันเป็นประโยชน์ของมนุษย์ทั้งโลก โลกทุกวันนี้ยังไม่เป็นสุข ก็เพราะมนุษย์ไม่รู้จักหน้าที่ของตนที่ต้องกระทำเพื่อส่วนรวม เลือดเนื้อก้อนมหาศาลอันเรียกว่ามนุษยชาติ ได้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม โดยการรบราฆ่าฟันกันเองอยู่เนืองนิตย์ ดุจบุคคลถือมีดด้วยมือซ้ายเอามาแทงมือขวา ส่วนมือขวาก็ถือไม้เอามาทุบตีมือซ้าย แต่โดยเหตุธรรมชาติน้อมไปในทางเติบโต ฉะนั้นแม้จะมีสงคราม มนุษย์ก็ทวีจำนวนมากขึ้นทุกที และแม้จะมีผู้คิดร้ายกันเองก็มีผู้คิดหันเข้ารวมกันมากกว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไม่ช้าโลกทั้งโลกจะปกครองโดยรัฐบาลเดียวกันและดำเนินเศรษฐกิจในระเบียบเดียวกัน ซึ่งจะเป็นยุคใหม่ในประวัติโลก โดยเป็นการตั้งต้นที่มนุษย์จะได้ลิ้มรสความสมบูรณ์พูนสุข อันไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย”