บทที่ ๑๕

การพบและได้สนทนากับท่านเจ้าคุณมหาเทวาฯ ณ บ้านที่ศาลาแดง เป็นเหตุการณ์อีกตอนหนึ่งที่รุ้งเห็นว่าสำคัญ

ท่านเจ้าคุณอายุหกสิบห้า ยังแข็งแรงว่องไว สกุลของท่านมีความสัมพันธ์กับราชตระกูล ตัวท่านเองเคยเป็นองคมนตรีในรัชกาลของพระพุทธเจ้าหลวง และเคยดำรงตำแหน่งราชการสำคัญมาหลายตำแหน่ง ก่อนมหาสงครามโลกท่านเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศเยอรมนี ได้อยู่ในประเทศนั้นตลอดเวลาสงคราม และได้เห็นเยอรมนีในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำ ท่านผู้หญิงมหาเทวาฯ ถึงแก่อสัญกรรมเนื่องจากการให้กำเนิดอุไรวรรณที่ประเทศเยอรมนี้นั้นเอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และถูกปลดออกรับเบี้ยบำนาญกลางปี พ.ศ. ๒๔๗๕

ท่านเงยหน้าขึ้นจากต้นกุหลาบซึ่งท่านกำลังปฏิบัติพรวนดินและรดน้ำ เมื่อเห็นบุตรชายของท่านกับรุ้งเดินเข้ามาในบริเวณสวนกุหลาบ

“ยินดีที่ได้พบเธออีก” ท่านกล่าวปฏิสันถารหลังจากรุ้งทรุดตัวลงกราบ “เธอเคยไปบ้านฉัน เมื่อฉันอยู่ฝั่งธนบุรีไม่ใช่หรือ”

ท่านมองดูรุ้งนาทีหนึ่งเต็มๆ ซึ่งทำให้รุ้งรู้สึกไม่ใคร่สบายใจ “เสียใจ” ท่านพูดต่อไป “ที่เคราะห์ของเธอที่แล้วมาไม่ค่อยดีนัก แต่หวังว่าเธอคงเป็นสุขพอสมควรเมื่ออยู่ในคุก”

วีรพันธุ์ซึ่งนั่งอยู่ข้างรุ้งแอบขยิบตากับเขา วีรพันธุ์เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นสุขเมื่ออยู่ในคุก และท่านเจ้าคุณคงพูดออกไปโดยไม่ทันคิดหรือโดยพลั้งเผลอ

“ถูกละ” ท่านเจ้าคุณกล่าวยืนยันคำพูดประโยคก่อนของท่าน “บางคนไม่เป็นสุขแม้แต่อยู่บนราชบัลลังก์ บางคนก็สุขสบายแม้แต่อยู่ในอเวจี ฉันได้ฟังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เทศน์รู้สึกจับใจนัก ท่านว่ามนุษย์เราสร้างคุกขึ้นขังตัวเอง อธิบายว่ามนุษย์ติดอยู่ในห้วงกิเลส มาคิดดูก็ยิ่งเห็นจริง ที่ตั้งของความสุขและทุกข์ไม่ได้อยู่ที่อื่นใด มันอยู่ในตัวของเราเอง และเราพามันไปกับเราด้วยทุกหนทุกแห่ง เรื่องติดคุกไม่ใช่เรื่องของทุกข์หรือสุข บุญหรือบาป แต่มันเป็นเรื่องของการเสียเวลา มันทำให้เธอเสียเวลาในระหว่างเป็นชายฉกรรจ์ไปหลายปีไม่ใช่หรือ”

“สี่ปีครึ่งขอรับกระผม”

“นั่นเป็นแง่ร้ายในเรื่องนี้ ความเสียหายหมดเปลืองโดยใช่เหตุมีอยู่ทั่วไป ในการใช้เวลา ใช้เงิน และใช้กำลัง แต่เธอก็ได้รับความคุ้นเคยมาชดเชยจริงไหม ต่อไปข้างหน้าเธอจึงจะนึกขอบใจที่ได้รับความคุ้นเคยมา มันคงจะทำให้เธออดทนต่อความลำบากและความทุกข์ได้มากขึ้น เมื่อพบความผิดหวัง เธอก็อาจพูดว่านี้ไม่ถึงเคราะห์ร้ายที่ติดคุก ความคุ้นเคยเป็นของมีค่าซึ่งต้องซื้อด้วยเหงื่อ ด้วยอายุ และด้วยแผลในหัวใจ ไม่ใช่ซื้อด้วยเงิน ไม่เป็นไรหลานชาย เธอยังหนุ่มอยู่”

“แต่เขาเสียอาชีพนี่ครับ” วีรพันธุ์เสนอ “คนอย่างนี้ควรที่ราชการจะต้องเอาตัวไปใช้ นี่เขาต้องไปเป็นเสมียน”

“ผมเลือกอาชีพนี้ด้วยความสมัครใจ” รุ้งกล่าวทักท้วง แล้วเขากราบเรียนท่านเจ้าคุณถึงความหวังของเขาในทางค้าขาย

การสนทนาดำเนินไปในเรื่องอาชีพซึ่งท่านเจ้าคุณให้คติไว้ว่า อาชีพที่ชอบธรรมย่อมดีเท่ากันหมด และบำเหน็จอันแท้จริงของการประกอบอาชีพก็คือ ความสุขจากการบำเพ็ญประโยชน์ มันเป็นคติที่วีรพันธุ์ได้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเบื่อ วีรพันธุ์เป็นผู้หนึ่งที่การปฏิวัติทำให้ยั่วใจให้ปรารถนาอำนาจ งานใดหรือตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ที่ไม่ทำให้เขารู้สึกเชิดหน้าชูตา เขาก็ดูหมิ่นว่าเป็นงานต่ำ

“พ่อกับลูกช่างผิดกันไกลจริงๆ” รุ้งคิดในขณะเดินกลับบ้านของเขาในวันนั้น “ท่านบิดามีลักษณะและคำพูดอย่างนักปราชญ์ ลูกชายเป็นคนอาจหาญ ตามสมัย แต่อุไรวรรณจะมีนิสัยอย่างไรหนอ”

ข้อเท็จจริงในชีววิทยาว่าด้วยการสืบพันธุ์เป็นเครื่องเตือนรุ้งมิให้ทึกทักเอาว่าอุไรวรรณเหมือนบิดาหรือเหมือนพี่ชาย ภาษิตที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” หรือ “จะดูช้างให้ดูหาง จะดูนางให้ดูแม่” เหล่านี้เกิดจากความเชื่อกันมาแต่โบราณ นิสัยของบิดาและมารดาถ่ายทอดถึงบุตร เช่นบิดาขี้เมา บุตรจะขี้เมาตาม หรือมารดาเจ้าชู้ บุตรจะเจ้าชู้ด้วย นี้ไม่เป็นความจริงเหมือนการที่บิดาได้รับแผลเป็นเนื่องจากฝีพิษ บุตรหาได้มีแผลเป็นด้วยไม่ นิสัยและเครื่องหมายต่างๆ ในร่างกายเป็นของที่เราได้มาภายหลัง สิ่งที่สืบมาจากบุพชนก็คือลักษณะและคุณภาพของอวัยวะร่างกาย ปลากัดที่มีท่อนหางใหญ่ ไก่ชนที่มีเดือยแหลม ม้าแข่งที่มีรูปร่างเพรียวลมเหล่านี้จึงถูกผสมพันธุ์ไว้ แต่ลูกของมันซึ่งร่างกายคล้ายพ่ออาจมีนิสัยตรงกันข้ามกับพ่อ ถ้าหากอยู่ในความแวดล้อมตรงกันข้าม มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ส่งบุตรฝาแฝดคนพี่ไปเมืองจีน ส่งคนน้องไปอินเดีย พอครบยี่สิบปีแล้วกลับมาพบกัน เขาจะรู้สึกว่าอีกคนหนึ่งเป็นคนต่างชาติกับเขา

ท่านเจ้าคุณเป็นบุคคลที่ได้รับการอบรมอย่างเคร่งครัดมาแต่เล็กแต่น้อย ตามระเบียบแบบแผนของผู้ดีอย่างที่นิยมปฏิบัติกันในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รสนิยมของท่านจึงเป็นไปในทางนุ่มนวล ถึงแม้เร็วในความเคลื่อนไหว เบาและไพเราะเมื่อเกี่ยวกับเสียง กลมกลืนไม่ฉูดฉาดสะดุดตาเมื่อเกี่ยวกับสี ความมีทรวดทรงเฉพาะตัว โดยกอปรด้วยประโยชน์เมื่อเกี่ยวกับรูป ฉะนั้นท่านชอบนั่งรถม้ามากกว่ารถยนต์ เรือแจวหรือเรือพายมากกว่าเรือยนต์ ชอบดนตรีหรือเสียงลมพัดหวิวๆ ตามทุ่งนา แต่ไม่ชอบเสียงเอะอะของคนงานและเสียงกึกก้องของเครื่องจักร ชอบชมสีของท้องฟ้าและสีดอกไม้ยิ่งกว่าชมสีเสื้อผ้าและสีริมฝีปากของสาวๆ ชาวพระนคร ท่านชอบรูปปั้นและภาพเขียนและภาชนะฝีมือชาติต่างๆ ทั้งโบราณและปัจจุบันเพื่ออ่านวัฒนธรรมของเขา ชอบความงามของร่างกายที่แสดงว่าแข็งแรงว่องไวและต้านทานเชื้อโรคได้ดี แต่ท่านยิ้มเยาะทรวดทรงนักกีฬาซึ่งทำอะไรไม่ได้ดีนอกจากเล่นกีฬา และยิ้มเยาะทรวดทรงอ้อนแอ้นเอวบางของสาวสมัยใหม่

รุ้งไม่เสียเวลานานในการอ่านนิสัยวีรพันธุ์ได้ว่าตรงข้ามกับท่านบิดาในสาระสำคัญแทบทุกอย่าง แม้แต่รูปร่างของเขาก็สูงใหญ่ ผิดกับท่านเจ้าคุณซึ่งค่อนข้างอ้วนเตี้ย วีรพันธุ์เป็นหนุ่มในรุ่นที่ชาติต่างๆ กำลังมีการปฏิวัติทางการปกครอง ระเบียบต่างๆ ถูกรื้อถอน ถูกแก้ไข เขาเกิดและเติบโตขึ้นในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเขาเป็นหนุ่มแล้ว เขาได้เห็นปาฏิหาริย์อันน่าพิศวงของฮิตเล่อร์ จึงรับเอาฮิตเล่อร์มาเป็นวีรบุรุษ จิตใจของวีรพันธุ์เต็มไปด้วยความแข่งขันความเร็ว ความเด่น ความดัง และความกดขี่คนอื่น รุ้งภาวนาว่าขออย่าให้เขาได้เห็นนิสัยเหล่านี้ในอุไรวรรณ

เขาได้สมาคมกับอุไรวรรณมาเพียงเวลาเดือนเศษ ก็รู้สึกด้วยความโล่งใจว่าอุไรวรรณไม่ใช่บุตรีแห่งการปฏิวัติ เหมือนกับสตรีในวัยเดียวกับพี่ชายของเธอ อาจเป็นได้ว่าในเยอรมนีสมัยที่อุไรวรรณถือกำเนิดนั้น ค่อนข้างสงบเรียบร้อย ภายใต้การปกครองของฮินเดนเบอร์ก พอฮิตเล่อร์ขึ้นครองอำนาจ อุไรวรรณก็เป็นนักเรียนกินนอนอยู่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยที่ตำบลบางกะปิ และโลกของเธอก็คือโรงเรียนนั่นเอง เธอเผอิญได้ครูดี ซึ่งได้ช่วยตระเตรียมนิสัยของเธอให้เหมาะแก่สังคมสมัยใหม่ ส่วนระหว่างเวลาเธอมาพักบ้านท่านเจ้าคุณ บิดาก็พาเธอเข้าสู่โลกแห่งศิลปะ อุไรวรรณเป็นผู้มีนิสัยในทางดนตรีอยู่แล้ว เหมือนพันธุ์ไม้ดีเมื่อได้รับการปรนนิบัติโดยถูกต้องก็งอกงามเร็ว ความรู้สึกในศิลปะของอุไรวรรณก็งอกงามพร้อมกับความรู้ในทางวิทยาการ

แม้บุคคลทั้งสามจะมีอัธยาศัยต่างกันมาก ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน ทุกฝ่ายไม่เอาอัธยาศัยและความนิยมของตนเป็นเหตุขัดขวางผู้อื่น และรุ้งก็ผันผ่อนตามอัธยาศัยของทั้งสามคนได้โดยไม่ลำบาก สำหรับวีรพันธุ์เขามีความหลังเป็นข้อเตือนสัมพันธภาพ และท่านเจ้าคุณชอบรุ้งเพราะว่าเขาเข้าใจอรรถรสของท่าน และสามารถสนทนาให้ท่านเพลิดเพลินในหัวข้อธรรม ส่วนอุไรวรรณเห็นรุ้งมีอัธยาศัยผิดแผกกับคนทั้งหลาย เธอสนใจใคร่รู้ว่าอะไรทำให้เขาเป็นบุคคลพิเศษเช่นนั้น และยิ่งรู้ก็ยิ่งเกิดสนใจในกันและกันมากขึ้น

เขาเป็นนักเขียนที่สามารถอาจเขียนโคลงฉันท์ทุกชนิดได้อย่างคล่อง และสามารถอย่างยิ่งในการเขียนเชิงบรรยาย ดังปรากฏว่าในเวลาว่างเขาได้เขียนนิยายเริงรมย์และสารคดีไว้มากมาย อุไรวรรณชอบอ่านวรรณคดีและชอบเรื่องที่รุ้งเขียน จนทำให้เธอนึกอยากเรียนวิธีเขียนจากเขา ฝ่ายรุ้งก็ริษยาเธอในความรู้ทางภาษาศาสตร์ ถึงแม้เขาได้เคยศึกษากรีกและลาตินมาบ้าง ก็มิใช่รู้มากถึงกับจะใช้ประโยชน์ได้ดังเช่นที่อุไรวรรณรู้ภาษาบาลีและสันสกฤต และน่าประหลาดใจที่อุไรวรรณผู้มิเคยศึกษาในอังกฤษ สามารถชี้แจงแสดงไวยากรณ์อังกฤษได้แม่นยำยิ่งกว่ารุ้งเสียอีก อุไรวรรณมีความเข้าใจอย่างดีในโบราณคดี และมีรสนิยมชั้นสูงในศิลปะทุกชนิด แต่ยอมเป็นคนล้าสมัยในข้อเท็จจริงทางชีววิทยาและในศาสตร์อื่นๆ เธอมีฝีมือทางช่างเขียนและเล่นดนตรีได้ดี ส่วนรุ้งมีความเข้าใจอย่างดีในการผสมสี แต่เขียนภาพไม่เป็น และเป็นนักเขียนคำของเพลง แต่ฟังดนตรีไม่รู้รส เขาทั้งสองเป็นบุคคลแห่งคุณสมบัติต่างกันซึ่งเมื่อผสมกันแล้ว จะเป็นความบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ความรู้สึกดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นในใจรุ้งทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนดังหยาดน้ำซึ่งไหลรินซ้ำรอยเซาะหินจนสึกกร่อนกลายเป็นร่องทางน้ำไหล “อย่างนี้” รุ้งกล่าวประกาศแก่ใจ ยืนยันตนเอง “เป็นความรักแห่งอุดมคติ เพราะการสมรสระหว่างคู่ครองที่มีคุณภาพเด่นกันคนละอย่างก็คือหนทางแห่งความเจริญสูงสุดของมนุษยชาติ”

แต่ระหว่างเขากับอุไรวรรณ ถ้าหากจะเดินมาพบกันตรงจุดความรักและจุดสมรสก็ยังต้องผ่านอุปสรรคมากมาย สภาพของโลกปัจจุบันไม่อำนวยแก่การดำเนินความรักชนิดที่ไม่เหลียวแลความเป็นใหญ่ของพระเจ้าเงินตรา นอกจากนั้นอุปสรรคสำคัญก็คือน้ำใจอุไรวรรณเอง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ