บทที่ ๑๒

“สวัสดี” นายอาลาบัดร้องทักเมื่อรุ้งเดินเข้าไปในแผนกเครื่องเขียน “ท่านมาทำงานสายไปนิดหน่อย เวลาเป็นเงินเป็นทองนะท่าน”

รุ้งชี้แจงเหตุที่มาช้าและสัญญาว่าจะไม่มาสายอีก “นี่แน่ะ” นายอาลาบัดกล่าวตัดบท “ทำงานดีกว่า สมุดบัญชีเล่มใหญ่อยู่ที่ไหน? หยิบมาเร็วๆ”

“สมุดบัญชี”

“สมุดที่ฉันมอบให้วานนี้ไงล่ะ หาในลิ้นชักซิ”

รุ้งนึกไม่ออกว่าเขาได้รับมอบสมุดบัญชี แต่ก็พยายามจะค้นหา เขากำลังเลือกสมุดปกแข็งในลิ้นชักที่หัวหน้าของเขาชี้ให้ หยิบเล่มนั้นขึ้นดูชื่อ เปิดอ่านแล้ววางเล่มนี้ ทันทีนั้นหัวหน้าแผนกขายซึ่งอดใจรอไม่ไหวก็ชะโงกตัวข้ามโต๊ะมากระชากสมุดเล่มหนึ่งไปจากมือของเขา

“นี่ไงล่ะ” นายอาลาบัดกล่าว “เล่มนี้แหละจำไว้”

แต่รุ้งมีสีหน้าบึ้ง เขาไม่คาดว่าจะได้รับกิริยาหยาบคายเช่นนี้ เหตุการณ์อันเล็กน้อยนี้ เป็นเครื่องแสดงแจ้งชัดว่าความตกต่ำแห่งฐานะของเขา มิใช่เป็นเพียงเรื่องนึกเอาเอง เขาต้องมาฟังคำบังคับบัญชาของชาวอินเดียนผู้มีมารยาทเลวทราม และแสดงกิริยาราวกับว่าเขาเป็นคนใช้ แต่รุ้งค่อยๆ หักห้ามความไม่พอใจไว้ได้ด้วยความลำบาก “นี่เป็นสิ่งที่เราควรจะเห็นเป็นธรรมดา เพราะว่าเราเป็นเสมียนของเขา” รุ้งน้อยใจว่าคุณสมบัติไม่ใช่เครื่องวัดชั้นของบุคคล การแบ่งชั้นวรรณะทุกวันนี้อาศัยความอุปโลกน์ มงกุฎเมื่อสวมศีรษะคนจรจัดก็ทำให้คนจรจัดนั้นกลายเป็นกษัตริย์ได้ หรือท่านโอมาคัยยาม บุรพาจารย์ของพวกดาราศาสตร์ เมื่อตอนปลายแห่งชีวิตได้ชื่อว่าเป็นยาจกก็เพราะสวมเสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง มีการกินอยู่ไม่ดีกว่าขอทาน ถ้าหากมนุษย์ไม่หลงว่าความอุปโลกน์เป็นความจริง ชายจรจัดจะมาเป็นกษัตริย์ไม่ได้ และโอมาคัยยามจะต้องเป็นนักปราชญ์ที่มีคนกราบไหว้ ไม่ปล่อยให้อดอยากยากจน มนุษย์ไม่เคยฉลาดพอที่จะสร้างเครื่องมือที่ประณีตสำหรับแสดงฐานะของบุคคล แม้ว่าจะได้สร้างเครื่องมือสำหรับวัดสิ่งอื่นขึ้นมากมายแล้ว โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์

รุ้งจึงตั้งต้นทำงานโดยไม่เอาเรื่องมารยาทของหัวหน้ามาคำนึงอีก เพียงไม่ถึงสองชั่วโมง เขาก็พิมพ์จดหมายเสร็จสิบฉบับ นายอาลาบัดแสดงกิริยาประหลาดใจเมื่อรุ้งนำจดหมายเหล่านั้นไปให้ลงนาม “เร็วจริง” เขาอุทาน และมิได้พูดต่อไปอีก นายอาลาบัดคาดว่าจดหมายเหล่านั้นคงเขียนอย่างสะเพร่า เขาพยายามตรวจหาคำผิดทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งเขามีความรู้อยู่เล็กน้อย แต่ไม่พบคำผิดเลย ยิ่งกว่านั้นเขายังยอมรับในภายหลังด้วยว่า ข้อความที่เขียนนั้นชัดเจน สั้นและไพเราะดี เขากล่าวภายหลังที่ได้อ่านฉบับสุดท้ายแล้ว และเขาลงนามในจดหมายทุกฉบับ

โดยที่บุคคลในหน้าที่ต่างๆ ของบริษัทล้วนเป็นชาวอินเดียน หน้าที่การเขียนหนังสือไทยจึงตกอยู่แก่รุ้งทั้งหมด นับแต่บัญชีและร่างสัญญาตลอดจนโต้ตอบจดหมาย ทั้งนี้ทำให้เขามีงานยุ่งแทบทั้งวัน คนอื่นๆ เริ่มกระซิบกันสรรเสริญความสามารถของเสมียนคนใหม่ เรื่องการที่เขาสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ แต่ต้องมาทำงานเป็นเสมียน และทั้งยังไม่มีอัตราเงินเดือนเช่นนี้ เป็นเรื่องได้รับความเห็นใจจากคนในห้างนั้นทั่วไป

รุ้งไม่ทราบเลยว่าคนอื่นพูดถึงเขาอย่างไรบ้าง เขามาทำงานได้หนึ่งสัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่รู้จักกับผู้ใดในห้างนี้ในฐานะเพื่อนสักคนเดียว ความเคร่งขรึมของเขาเป็นเครื่องป้องกัน ปัดการทาบทามของพวกคนชั้นเสมียนด้วยกัน เขาก้มหน้าก้มตาทำงาน พยายามจะให้งานของเขาเป็นผลดีที่สุด ก็โดยหวังความสันทัดในบัดนี้จะเป็นคุณในบัดหน้าเมื่อเขาเริ่มการค้าของตนเอง

เขากำลังร่างสัญญาซื้อเงินเชื่อฉบับหนึ่งเมื่อต้องเงยหน้าขึ้น ด้วยได้ยินเสียงห้าวอันแปลกหูร้องเอ่ยชื่อเขา ผู้พูดแต่งเครื่องแบบทหารอากาศร่างสูงใหญ่ กำลังจ้องดูรุ้งราวกับเห็นเป็นสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ แล้วเขาเดินมาถึงตัวรุ้ง

“วีรพันธุ์!”

“รุ้ง! นี่แกมาทำอะไรอยู่ในที่ผีเปรตยังงี้?”

“มาเป็นลูกจ้าง” รุ้งตอบอย่างง่ายๆ

“กันอยากร้องไห้ ที่ต้องเห็นแกมาเป็นลูกจ้างที่นี่ หางานทำที่อื่นดีกว่า กันเชื่อว่ากันช่วยแกได้”

รุ้งปฏิเสธด้วยการสั่นศีรษะ “นี่เป็นงานที่กันพอใจแล้ว”

หนุ่มทหารอากาศหยุดนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนเรื่องพูด “กันไปหาแกถึงสองครั้ง”

“กันได้เห็นนามบัตรของแก และตั้งใจจะไปหาแก แต่ดูเถอะว่า กันไม่มีเวลาว่างเลย นอกจากวันอาทิตย์”

“เราคอยแกอยู่ทุกวันอาทิตย์”

“กันฝากกราบล่วงหน้าไปยังท่านเจ้าคุณและแสดงความคิดถึงไปยังคุณอุไรวรรณ”

“วันอาทิตย์นี้แกจะไปได้ไหม”

“กันตั้งใจอยู่แล้วว่าจะไปในวันอาทิตย์นี้

“กันจะเตรียมเลี้ยงแกอย่างเต็มที่” วีรพันธุ์กล่าวสัญญา แล้วเขาก็เริ่มอธิบายเพื่อความสะดวกของรุ้งที่จะหาบ้านของเขา ซึ่งย้ายจากธนบุรีมาอยู่ ณ ศาลาแดง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ