- ปฐมบท
- คำอภิวันทนาการ (ในการพิมพ์ครั้งที่สาม)
- คำนำของผู้เขียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
บทที่ ๑๓
รถรางคันที่รุ้งโดยสารจะไปศาลาแดงพอถึงสามแยกก็มีคนเต็มรถ จนรุ้งต้องลุกขึ้นจากที่นั่งของเขา เพื่อให้หญิงชราคนหนึ่งได้นั่งแทนที่
คนขายตั๋วกำลังทำงานยุ่ง คนขับไม่คิดหยุดรับคนโดยสารเพิ่มเติม ฉะนั้นจึงเพียงแต่ชะลอรถช้าลงเล็กน้อยเมื่อถึงรางหลีก และคนขับได้โบกมือแก่หญิงจีนคนหนึ่ง จูงบุตรหญิงอายุราว ๒ ขวบซึ่งทำท่าคอยจะขึ้นรถ เป็นสัญญาณว่ารถเต็มแล้ว แต่หญิงนั้นไม่ยอมเข้าใจสัญญาณ นางฉวยราวทองเหลืองที่ท้ายรถไว้ อีกมือหนึ่งช้อนตัวบุตรส่งขึ้นมาบนบันไดรถ พอนางจะก้าวตามขึ้นมา รถก็เพิ่มความเร็วจนไม่สามารถจะขึ้นมาบนรถได้
รุ้งได้เห็นเหตุการณ์นี้ เพราะเขายืนอยู่ท้ายรถตรงบันไดที่หญิงนั้นส่งตัวบุตรขึ้นมา ขณะนี้สภาพการณ์กำลังคับขัน เพราะเด็กน้อยนั้นไม่สามารถทรงตัวอยู่บนบันไดรถได้ และกำลังซวนเซจะตกลงไปจากรถ ในเมื่อฝ่ายมารดากำลังพยายามจะก้าวขึ้นมา รุ้งจึงเอื้อมมือไปจับแขนของเด็ก แล้วดึงตัวขึ้นมาบนรถได้ด้วยความว่องไว รถเพิ่มความเร็วขึ้นอีกและหญิงจีนก็ยังขึ้นมาบนรถไม่ได้
“หยุด! หยุด!” คนโดยสารที่เห็นเหตุการณ์ผู้หนึ่งตะโกนบอกคนขับ แต่เสียงของยวดยานที่ผ่านไปมาอย่างคับคั่ง ณ ย่านหน้าสถานีหัวลำโพงดังกลบเสียงของเขาเสียจนหมด เมื่อรถไม่หยุดเช่นนี้ ก็มีทางเดียวที่หญิงจีนนั้นจะต้องยอมแยกทางกับบุตรของตนชั่วคราว โดยปล่อยมือจากราวทองเหลือง มิฉะนั้นจะถูกรถลากตัว และอาจถูกเหวี่ยงตัวเข้าไปใต้รถ รุ้งและคนอื่นๆ ได้มองเห็นอันตรายนี้ “ปล่อยราว!” คนโดยสารผู้หนึ่งตะโกนบอกหญิงจีนนั้น และรุ้งเป็นผู้กระทำให้คำแนะนำนี้เป็นผลขึ้นทันที โดยปลดมือของนางออกจากราวทอง เหลือง พอมือหลุดนางก็ล้มกลิ้งไปตามถนน รถรางแล่นต่อไปโดยคนขับและคนขายตั๋วไม่ทราบเรื่องเหล่านี้เลย
บัดนี้ รุ้งจึงมีภาระต้องรับเป็นผู้ปกครองเด็กหญิงอายุสองขวบ ผู้ไม่แต่เพียงร้องไห้จนเต็มเสียงเท่านั้น ยังแสดงความตั้งใจจะกระทำอัตวินิบาตกรรม โดยการกระโดดจากรถรางลงไปหามารดา
หน้าที่ของรุ้งในขั้นแรก ก็คือจะต้องให้รถรางหยุด แล้วเขาจะมอบตัวเด็กแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อมอบคืนมารดาต่อไป รุ้งได้กระตุกสายกระดิ่งหลายครั้งโดยไม่มีผล และเมื่อเขาเดินไปหาคนขายตั๋ว ขอร้องให้สั่งหยุดรถ คนขายตั๋วก็ยักไหล่ตอบว่า “รอให้ถึงธงเสียก่อนซี”
มันเป็นภาพน่าหัวเราะในการอุ้มเด็กซึ่งร้องไห้และดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา เป็นความจำเป็นที่รุ้งจะต้องหาที่นั่ง แต่ที่นั่งแม้ในชั้นที่หนึ่งก็ไม่ว่าง รุ้งอุ้มเด็กยืนโซเซอยู่หน้ารถ จนกระทั่งได้ยินคำเชิญจากสตรีผู้หนึ่งซึ่งขยับตัวไปเบียดผู้โดยสารอื่น เพื่อจะให้ที่นั่งแก่รุ้ง เขาตอบขอบใจแล้วก็นั่งลง ต่อมาอีกครู่หนึ่ง รถรางก็หยุดตรงรางหลีก “สิ้นเคราะห์ไปที” รุ้งนึกในใจ พลางเตรียมตัวลงจากรถ เพื่อนำเด็กมอบแก่ตำรวจ แต่เหตุการณ์อย่างหนึ่งได้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เขาลืมความคิดที่จะลงจากรถ
มันเป็นเหตุการณ์ซึ่งไม่มีใครสังเกต เป็นเหตุการณ์อันเล็กน้อยซึ่งมีความสำคัญใหญ่หลวง เป็นเหตุการณ์ที่เคยทำให้มาร์ค แอนโตนี เอาความเป็นจักรพรรดิแห่งโรมไปบูชาแทบบาทคลีโอพัตรา นั่นคือเหตุการณ์เมื่อกระแสไฟฟ้าจากดวงตาคู่หนึ่งแล่นไปยังดวงตาอีกคู่หนึ่ง รุ้งเกิดความงงงันและลืมตนเหมือนคนถูกสะกดดวงจิต ในเมื่อสายตาของเขาเผอิญแลไปสบสายตาของสุภาพสตรีผู้ขยับที่นั่งให้แก่เขา เขาทรุดตัวลงนั่งอ่อนเปลี้ยสิ้นกำลัง เพิ่งรู้สึกว่าเข้ามาอยู่ภายในเขตอำนาจของกระแสแม่เหล็กที่แรงที่สุดในโลก
ดวงตาแทบทุกดวงบัดนี้จ้องอยู่ที่เขา บางคนบอกเพื่อนว่ารุ้งได้ช่วยชีวิตเด็กไว้ บางคนคิดว่าเขาอาจขโมยเด็กนั้นมา อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ได้เห็นสุภาพบุรุษหนุ่มอุ้มเด็กหญิงจีนซึ่งมอมโสมม เปียกเปื้อนด้วยน้ำตาและน้ำลาย สุภาพสตรีที่นั่งใกล้รุ้งก็เป็นผู้หนึ่งที่สนใจอยู่ เธอจึงถาม “คุณจะพาเด็กนี้ไปไหนคะ?”
นี่เป็นการเปิดโอกาสให้มีการสนทนาซึ่งรุ้งรีบฉวยเอา เขาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นท้ายรถ แต่เรื่องของเขายังไม่ทันจบ คนขายตั๋วก็เข้ามาขัดขวางการบรรยายของเขา โดยถามว่าเขาจะเสียค่าโดยสารต่อไปอีกหนึ่งระยะหรือไม่
“ฉันจะลงที่นี่” รุ้งตอบ
เมื่อรถหยุด รุ้งก็ลุกขึ้นจากที่นั่งอย่างอาลัย จูงเด็กน้อยเดินลงจากรถ “เราไม่ได้ลาเธอ” เขาตำหนิตนเอง แต่เขาไม่สามารถแก้ไขได้เมื่อรถรางเคลื่อนที่ต่อไป รุ้งซึ่งมายืนอยู่ริมถนนกำลังเสียใจว่าตนมิได้กล่าวคำอำลาสุภาพสตรีนั้น
ยิ่งกว่านั้น เธอลับสายตาของเขาไปโดยไม่มีหวังว่าเมื่อไรจะได้เห็นอีก “ถ้าไม่มีเด็กคนนี้” รุ้งนึก “เราคงตามเธอไปจนถึงบ้านทีเดียว”
ในบริเวณนั้นไม่มีตำรวจ รุ้งจึงตั้งใจจะนำเด็กไปคืนแม่ด้วยตนเอง และเพื่อไม่เสียเวลามาก เขาจึงเรียกรถยนต์เช่า
ในรถเช่าดวงหน้าแสนสวยมาปรากฏแก่สมองของเขา ซึ่งทำให้เขาคิดเสียดายที่ได้เห็นในเวลาน้อยนัก ความสวยของสมส่วนในวัยสาวซึ่งเคยจับใจเขามาแล้วนั้น เขาเทียบกับกุหลาบบางชนิด ที่มีสกุลงาม ทั้งสีดี ทั้งกลิ่น อีกทั้งทรงคุณเป็นโอสถ แต่สุภาพสตรีในรถรางทรงศักดิ์สูงกว่ากุหลาบ เธอคือดอกกล้วยไม้ และไม่ใช่กล้วยไม้ที่ใครๆ จะชี้เอาว่าชื่อคัทลียาหรือชื่ออื่นอันใด เพราะเธอเป็นกล้วยไม้พรรณแปลกแต่เป็นพันธุ์อันมีชื่อเสียงหรือประวัติการณ์ รุ้งอาจหาคนในสยาม ณ บัดนี้ที่สวยคล้ายสมส่วนได้ไม่น้อยกว่าสิบคน แต่เขาต้องจำนนที่จะหาใครมาเทียบเคียงกับสุภาพสตรีผู้นี้ นอกจากจะนึกถึงนางงามแห่งอดีตสมัยซึ่งยังสถิตอยู่ในมโนภพ เช่นเฮเลนแห่งกรุงทรอย คลีโอพัตราแห่งอียิปต์ หรือนางงามแห่งนิยาย เช่นทมยันตี หรือกฤษณา
รุ้งได้พบหญิงจีนมารดาของหนูน้อยที่บริเวณใกล้วัดแก้วฟ้า แกอุตส่าห์วิ่งตามรถรางมาโดยมิได้เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เมื่อได้รับบุตรคืนไป แกแสดงกิริยาว่าความเหนื่อยของแกได้รับการชดใช้คุ้มค่า แกพูดภาษาไทยไม่ได้ รุ้งจึงไม่ทราบว่าเสียงที่แกพูดเอ็ดอึงต่อรุ้งนั้น เป็นคำกล่าวขอบใจหรือสาปแช่ง
เสร็จธุระดังนั้นแล้ว หัวใจรุ้งก็บินไปยังสุภาพสตรีบนรถราง เกิดความรู้สึกว่าจำเป็นที่เขาจะต้องติดตามเธอ
“ขับกลับไปทางเก่า” เขาสั่งคนขับรถ “ฉันต้องไปให้ทันรถรางคันหนึ่งที่กำลังแล่นไปศาลาแดง ขอให้ขับเร็วที่สุด”
คนขับรถลอบชำเลืองดูเขา สีหน้าและน้ำเสียงของเขาแสดงว่ามีความจำเป็นอันเร่งร้อน คนขับมีหวังว่าจะได้รับค่าจ้างสูง รถคันนั้นก็ออกแล่นไปเร็วปานลูกธนู