บทที่ ๒๑

รุ้งพิจารณาว่าไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลแห่งประเทศใดโดยเฉพาะ ที่ให้ความปลอดภัยแก่ชนชั้นทุกชั้นโดยเสมอกันมิได้ และไม่น่าตำหนิรัฐบาลที่เอื้อเฟื้อชนชั้นเดียวกับตนมากกว่าชนชั้นอื่น ความเห็นแก่ตัวเป็นวิสัยของมนุษย์และสัตว์ทั่วหน้า ในระบอบการปกครองอย่างนี้ ได้เทวดามาเป็นรัฐบาลเมื่อไรนั่นแหละ การเห็นแต่ประโยชน์ตนและเล่นพวกพ้องจึงจะหายไปจากวงการเมือง

แต่อะไรเล่าเป็นเหตุแห่งความวุ่นวายไม่มีสุขของชนชั้นต่างๆ ซึ่งทำให้คนที่มีกินมากเกินไปก็เดือดร้อนเท่ากับคนไม่มีอะไรจะกิน?

รุ้งไม่เสียเวลานานในการค้นหาต้นเหตุ หนังสือเศรษฐศาสตร์ที่เขาได้อ่านผ่านมาแล้วทั้งหมดนั้น ได้ช่วยสร้างภาพแสดงการดำเนินของเศรษฐกิจซึ่งเป็นความอลหม่านหาระเบียบเรียบร้อยมิได้ เศรษฐกิจทุกวันนี้เป็นเศรษฐกิจการเมือง นั่นคือเมืองใครใครก็จัดการเฉพาะของตน โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของเมือง (รัฐ) อื่น และพยายามจะไม่พึ่งพาอาศัยรัฐอื่น พวกนักการเมืองได้พยายามสนับสนุนให้พลเมืองทำของใช้เอง และออกเงินตราขึ้นใช้ในประเทศของตน คติพจน์ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยว่า “ไทยทำ ไทยใช้” และเพื่อสนับสนุนสินค้าพื้นเมืองที่มีคุณภาพต่ำ แต่ราคาสูงเกินสินค้าต่างประเทศ รัฐจึงได้ตั้งกำแพงภาษีขึ้น สยามได้มีกำแพงภาษีอย่างแข็งแรงเป็นพิเศษสำหรับสินค้าไทยบางชนิดที่เลวและแพง เช่น น้ำตาลทราย กระดาษพิมพ์ ผ้า และอาหารกระป๋อง กำแพงภาษีนี้ต่างชาติต่างเสริมของตนสูงขึ้นทันที จนกระทั่งเสื้อผ้า ยารักษาโรค และเครื่องจักรซึ่งไทยทำไม่ได้ ไทยก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันต้องปีนกำแพงสูงเกินไป ข้าวสาร ไม้สัก และดีบุกของไทยก็ต้องปีนกำแพงภาษีในต่างประเทศเหมือนกัน กว่าจะเข้าไปในตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ ราคาก็ทวีขึ้นมาก รัฐบาลชอบกั้นกำแพงภาษีก็เพราะรัฐบาลเป็นผู้เก็บเงินค่าภาษี ราคาข้าวที่ขายได้แพงมิใช่เป็นกำไรมาเข้ากระเป๋าชาวนา แต่ชาวนาต้องถูกเก็บภาษีทุกคราวที่ซื้อสินค้าต่างประเทศมาใช้

สงครามเศรษฐกิจได้เริ่มต้นขึ้นโดยเหตุที่มนุษย์ทั่วโลกรู้สึกตรงกันว่า ทองคำเป็นแร่วิเศษ ใครๆ ก็อยากได้ รัฐบาลทุกประเทศแข่งกันขนทองคำเข้ามาเก็บในคลังของตน สยามขายข้าวแก่ญี่ปุ่น เอาทองคำมา ญี่ปุ่นทำตุ๊กตามาล่อให้เด็กซื้อแล้วเอาทองคำกลับไป แย่งซื้อทองคำกันดังนี้ชั่วปีชั่วชาติ เมื่อประเทศไหนได้ทองคำไปเก็บไว้มาก ประเทศนั้นก็ลำพองใจสำคัญว่าตนมั่งมี พวกนักการเมืองอุดหูต่อความจริงซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตะโกนกรอกหูว่า “ความมั่งคั่งย่อมประมาณจากทรัพย์สมบัติทั้งหมด มีใช่ประมาณจากแร่ทองคำหรือแร่เงินเท่านั้น” นักการเมืองเหล่านี้ดูเหมือนไม่ใช่โง่มากกว่าดื้อ ถือมิจฉาทิฐิ ฉะนั้นจึงยุ่งยากมาก เพราะความดื้อเป็นภัยมากกว่าความโง่ เมื่อทองคำไปกองอยู่ในคลังของประเทศใดมาก ประเทศอื่นๆ ที่เหลืออยู่ทั่วโลกก็พากันเดือดร้อนเพราะไม่มีทองคำเพียงพอที่จะประกันค่าของธนบัตร จึงต้องลดจำนวนธนบัตรลง จนกระทั่งบางคราวไม่เพียงพอแก่การซื้อขายสินค้าก็ต้องลดราคาลงทุกที กลายเป็นเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งอาจถึงกับทำให้โรงงานต้องหยุด เพราะขืนทำไปก็ขาดทุน บางโรงงานก็ต้องแบ่งเอาสินค้าไปทำลายเสียส่วนหนึ่ง เพื่อให้ส่วนที่เหลือนั้นขายได้โดยมีกำไรบ้าง ครั้นบางคราวรัฐบาลพิมพ์ธนบัตรมากเกินไป สินค้าก็ขึ้นราคาตามไปด้วย กลายเป็นเงินเฟ้อ ในเยอรมนีหลังมหาสงครามเคยเฟ้อตั้งหนึ่งล้านเท่าของเวลาปรกติ เช่นนี้ก็หมายความว่าคนมีเงินหนึ่งล้านบาทในเวลาปรกติ อาจกลายเป็นคนจนไปทันทีที่เงินเฟ้อหนึ่งล้านเท่า รุ้งรำพึงด้วยความอนาถใจ ว่าถ้าโรงงานต่างๆ ได้ทำงานเรียบร้อยอยู่เนืองนิตย์โดยไม่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ จำนวนทรัพย์สมบัติของมนุษยชาติก็จะมากกว่านี้ จำนวนสินค้าที่ต้องถูกทำลายเพราะล้นตลาดรวมกับจำนวนสินค้าที่ควรผลิต แต่ผลิตขึ้นไม่ได้เหล่านี้ มากพอที่จะจ่ายแจกให้คนจนสิ้นความขาดแคลนได้โดยทั่วกัน

เป็นเรื่องที่ผู้มีปัญญาเห็นตรงกันหลายท่านแล้วว่า การแก้เศรษฐกิจจะต้องแก้ที่นิสัยของนักการเมือง ซึ่งส่วนมากดำเนินนโยบายอย่างใจแคบคิดสั้น หันหลังเข้าหากัน การที่เราบางคนมีทรัพย์สมบัติอุดมนั้นก็ดีแล้ว แต่มันเป็นความจัญไรที่บางคนยังขาดแคลนอยู่ นายซัลวาลมีรถยนต์ ๕ คันหรือจะซื้ออีกได้ก็ช่างเถิด แต่ขอให้คนอื่นๆ สามารถซื้อได้บ้าง อย่างน้อยคนละหนึ่งคัน “ทำไม” รุ้งคิด “จึงไม่ควรให้ทุกคนมีรถยนต์” นักวิทยาศาสตร์ได้ประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไกขึ้น กับได้ประดิษฐ์เครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับสร้างรถยนต์ขึ้น และมีโรงงาน มีคนงาน มีเครื่องมือ มีทุนทรัพย์พอที่จะสร้างรถยนต์ให้พลโลกใช้ทั่วกันทุกคน อย่างน้อยคนละหนึ่งคัน แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนี้ รถยนต์กลายเป็นสินค้าซึ่งคนจะมองดูแล้วน้ำลายไหล เมื่อ เจมส์ วัตต์ ได้ค้นพบเครื่องยนต์ไอน้ำเป็นปฐม และนักวิทยาศาสตร์ผู้อื่นค้นต่อมาจนเกิดเครื่องยนต์ใช้น้ำมัน ผลแห่งความพยายามของท่านเหล่านี้ เพื่อเป็นมรดกตกทอดแก่มนุษยชาติทั่วไป ไฉนเล่าจึงมาจำกัดให้อยู่ในระยะแขนของคนมั่งมีเพียงจำนวนไม่กี่คน

รุ้งแทบจะได้ยินเสียงของท่านโปรเฟสเซอร์ซอดดิตะโกนออกมาจากหนังสือของท่านว่า “เราประชาชนได้สร้างและสะสมสมบัติกันไว้มากมายพอที่จะจ่ายทั่วกันได้ แต่พวกนักการเมืองได้จัดการแจกจ่ายสมบัติของเราอย่างไรกันจึงเป็นเช่นนี้?” และก็ท่านเวลส์อีกนั่นแหละที่ได้กล่าวถ้อยอันจับใจรุ้งดังนี้ “ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเมื่อเลิกใช้ทองคำเป็นมาตรฐาน โดยทองคำทั้งหมดไปกองอยู่ในคลังของอเมริกาแล้ว โลกคงคิดหาวิธีใหม่ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและแรงงาน เพราะแม้ไม่มีทองคำ เราก็คงมีมือ มีสมอง มีพื้นแผ่นดินและมีวัตถุดิบอยู่ตามเดิม พวกเรายังคลำป้วนเปี้ยนกันแค่คืบในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะพวกที่ตั้งตัวขึ้นเป็นผู้นำในทางความคิดเห็นนั้น โดยมากเป็นเพียงพวกชอบพูด และชอบโอ้อวด มากกว่าพวกชอบใช้ความคิด”

รุ้งได้ทราบจากหนังสือบางเล่มว่านักคิด นักเขียน นักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ซึ่งตั้งหลักฐานอยู่ในประเทศต่างๆ กำลังชักจูงประชาชนให้หันหน้ามาร่วมมือในแนวเศรษฐกิจเดียวกัน สวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งชุมนุมของพวกถือลัทธิโลกนิยมมานานกว่า ๓๐ ปีแล้ว องค์การโลกทางปกครองและทางเศรษฐกิจได้เข้าประชุมที่นี่ รวมทั้งการคิดภาษาที่ชาวโลกจะใช้เป็นภาษากลาง และรุ้งได้พบข้อความในหนังสือของโปรเฟสเซอร์ เรย์มอนด์ ฟอสดิค ชื่อ The Old Savage in the New Civilization ตอนหนึ่งที่จับใจรุ้งมีว่า

“เราทราบแน่ชัดจากสถิติพลโลก ๑,๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คนจะต้องกินอาหารจำนวนเท่าใด เรารู้อีกด้วยว่าอาหารเหล่านี้ปลูกขึ้นหรือปรุงขึ้นที่ไหน เรารู้จำนวนสินค้าขาออกและสินค้าขาเข้าของชาติต่างๆ ทั้ง ๖๕ ชาติที่มีอยู่ในโลก เรารู้จำนวนข้าวสาลีที่เยอรมนีจะต้องซื้อจากรัสเซียอยู่ตามปกติ หรือถ้ารัสเซียส่งให้ไม่ได้ ก็ต้องสั่งซื้อจากอเมริกาหรืออาร์เยนตินา เรารู้ว่าอเมริกาต้องพึ่งชาติอื่นในเรื่องกาแฟ ชา โกโก้ น้ำตาล และผลิตผลอื่นๆ อีกมาก เรารู้ว่าชาติอื่นต้องพึ่งอเมริกาในเรื่องข้าวสาลีและเนื้อวัว รวมความว่าศาสตร์สถิติแห่งปัจจุบันสมัยทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้อย่างทั่วไปในเรื่องเกี่ยวกับจำนวนอาหารกับจำนวนความต้องการของโลก

แต่การปฏิบัติที่เราเห็นนั้นได้เป็นไปในระเบียบอันดีหรือ? มันเป็นระเบียบที่วางไว้เพื่อให้ได้ผลแก่มนุษยชาติมากที่สุด โดยมีความทุกข์ยากและความหมดเปลืองน้อยที่สุดฉะนั้นหรือ? ปัญญาความรู้ของมนุษย์ในการจัดการ ได้นำมาใช้ในทางนี้เพื่อหวังผลดีต่อพลโลกในการผลิตและการจำหน่ายสินค้า หรือหาไม่? ปัญหาเหล่านี้ไม่ต้องตอบก็ได้ ทั้งๆ ที่เรามีความรู้ กระนั้นงานสำคัญอันนี้ก็ยังอยู่ในสภาพอลหม่าน ทำกันไปตามบุญตามกรรมเสียเป็นส่วนมาก ดูประหนึ่งว่าโชคเคราะห์ตามธรรมชาติ เช่นการที่พืชพันธุ์เสียหายหรือสัตว์เป็นโรคระบาดเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ มนุษย์จึงสร้างความยุ่งยากขึ้นเองเพิ่มขึ้น ด้วยการตั้งกำแพงภาษี และตั้งกฏตั้งเกณฑ์กีดขวางชาตินั้นภาษานี้ แล้วก็มีการแข่งขันกันค้าขายอย่างเชือดคอตัวเอง และกระทำอันบ้าบัดสีอีกตั้งร้อยประการ

ด้วยเหตุนี้ พลโลกกึ่งหนึ่งจึงหิวแสบไส้ในเมื่ออีกกึ่งหนึ่งมีกินอย่างอุดม ยุโรปภาคตะวันออกอดหิว ในเมื่อชาวนาภาคตะวันตกตอนกลางเอาข้าวโพดมาเผาเป็นเชื้อเพลิง ชาวนาเอเชียไม่มีอาหารพอกินในเมื่ออเมริกากำลังหาตลาดจำหน่ายอาหาร

นี่คือปัญหาอันใหญ่ยิ่งที่จำเป็นต้องใช้สติปัญญาในทางจัดการของมนุษยชาติ เรื่องราวมีอย่างไรและอุปสรรคมีที่ไหนก็ได้ มีผู้สำรวจไว้เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เราต้องการอยู่เดี๋ยวนี้ ก็คือการใช้ความคิดในวิธีที่ถูก เราต้องการมันสมองที่ถนัดในการสร้างกับแผนการที่วางไว้สำหรับใช้แก่พลโลก ซึ่งจะแก้ความยุ่งยากและประสานรายละเอียดอันสับสนในปัจจุบันเข้าด้วยกันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ