ปฐมบท

ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้จัดพิมพ์หนังสือของพ่อ เพราะอายุข้าพเจ้าเข้าสู่เลขหกสิบแล้วในปีที่พ่อชาตกาลครบร้อย ข้าพเจ้าจัดพิมพ์หนังสือของพ่อครั้งแรกเมื่อสมัยเรียนสถาปัตย์จุฬาฯ ปีสุดท้าย ด้วย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช รุ่นพี่ที่เคารพรักของข้าพเจ้า เอาหนังสือเก่าคร่ำคร่ามาให้ยืม หน้าปกชื่อ “ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง” โดย นิมิตรมงคล ก็ตื่นเต้นอ่านรวดเดียวจบ แล้วจึงปรึกษาแม่ขอเงินมาพิมพ์รวมเล่ม “เมืองนิมิตรและชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง” ออกมาในครั้งนั้น

ท่ามกลางบรรยากาศก่อนการปฏิวัตินักศึกษาตุลาคม ๒๕๑๖ หนังสือของพ่อได้รับการขานรับอย่างล้นเหลือจากคนวัยหนุ่มสาวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่พ่อหวัง เพราะในการพิมพ์ก่อนหน้าที่ผ่านๆมา นิสิตนักศึกษาไม่ค่อยจะนิยมหนังสือประเภทนี้ มีแต่นักอ่านรุ่นใหญ่เท่านั้นที่แสดงความชื่นชม เมื่อยังเด็กข้าพเจ้าเคยอ่าน “เมืองนิมิตร” ครั้งที่แม่จัดพิมพ์หลังจากที่พ่อตาย โดยเปลี่ยนชื่อจาก “ความฝันของนักอุดมคติ” ให้เป็นอนุสรณ์ของผู้เขียนตามที่แม่รู้สึก หน้าปกเป็นรูปเมืองในฝัน มีภาพจริงของแม่ประกอบอยู่ด้วย ชวนให้น่าอ่าน ตอนนั้นอ่านไม่จบ เพราะเห็นว่าสนุกสู้นิยายที่ ป.อินทรปาลิตแต่งมิได้ แต่ห่อหนังสือของพ่อกองอยู่ที่บ้านนานพอจนถึงวัยที่ข้าพเจ้าจะหยิบมาอ่านจนจบ ผ่านๆหน้าที่ยากจะเข้าใจไปสนุกกับเนื้อหาในรูปแบบนวนิยายที่พ่อนำเสนอ ภายหลังเมื่ออ่านอีกก็ได้รับอรรถรสลึกขึ้นๆ เริ่มสัมผัสได้ถึงภาษาวรรณคดีของพ่อเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยม แต่มาเห็นปรัชญาที่ความสละสลวยของภาษาเคลือบไว้ ก็ต่อเมื่ออยู่มหาวิทยาลัยแล้ว

เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มที่เป็นเรื่องจริงไม่ใช่นวนิยาย จึงมีความคิดว่า หนังสือทั้งสองเล่มควรจะพิมพ์ผนวกเข้าไว้ด้วยกัน ถึงจะเขย่าธาตุความรู้สึกและอารมณ์ของผู้อ่านได้เต็มพิกัด ผลลัพธ์ก็เป็นไปดังคาดหวัง คนหนุ่มสาวร่วมยุคสมัยของข้าพเจ้า โดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์แทบทุกคนจะรู้จัก “เมืองนิมิตร” เห็นใจและเข้าใจม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน หนังสือของพ่อได้รับการบรรจุให้เป็นหนังสือประกอบการเรียนนอกเวลาของหลายมหาวิทยาลัย มีการพิมพ์ในรูปแบบโรเนียวจำหน่ายจ่ายแจกกันหลายครั้ง จนถึงพิมพ์เป็นรูปเล่มมาตรฐานโดยมิได้บอกกล่าวขออนุญาตก็เคย ซึ่งข้าพเจ้าก็ยินดีให้ท่านเหล่านั้นเห็นว่าเป็นของกลาง จะทำอะไรกับหนังสือของพ่อเพื่อเหตุผลในด้านการศึกษาแล้ว ขออนุโมทนา

ระหว่างนั้นปาน (ชัยสิริ สมุทวณิช) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทเรียนห้องเดียวกัน ขอยืมต้นฉบับ “The Emerald's Cleavage” ที่พ่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษไปอ่าน ขอสารภาพว่าข้าพเจ้าเองถึงวัยนั้นแล้วก็ยังอ่านไม่ออกทั้งๆที่พ่อเขียนประหนึ่งคัดลายมือ ทำให้ดูเหมือนมิได้สนใจเท่าที่ควร นานจนเกือบจะลืมไปแล้วจึงได้รับทราบว่า ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จะแปลเรื่องดังกล่าว ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๔ หนังสือ “รอยร้าวของมรกต” ก็ปรากฏโฉม

หนังสือเล่มนี้พ่อเขียนในลักษณะละครเวที ผู้ที่จดจ่อติดตามผลงานของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล คงมิได้ผิดหวังต่อสำนวนแปลและเนื้อหาที่สะท้อนธรรมชาติ อันเป็นธาตุแท้ในจิตใจของมนุษย์ และเมื่อสะท้อนกลับอีกทีหนึ่งก็จะเผยจิตใจของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเอง หนังสือเล่มนี้แม้ฝรั่งยังทึ่งและสรรเสริญพ่อให้ข้าพเจ้าฟังมากมาย มิใช่เฉพาะภาษาอังกฤษที่ใช้อย่างช่ำชองเหลือเชื่อว่าผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยไทยจะเขียนได้ขนาดนั้นเท่านั้น แต่ยังชื่นชมเนื้อหาที่เหยื่อทางการเมืองจะมีทัศนะต่อผู้ที่กระทำต่อตนแสนสาหัสอย่างสุภาพบุรุษ แฝงด้วยคุณธรรมของการให้อภัยด้วย รอยร้าวของมรกตนี้ข้าพเจ้าขอให้ท่านอ่านภาษาอังกฤษประกอบไปด้วย จะได้อรรถรสอีกแบบหนึ่งที่ความหมายของภาษาทั้งสองดิ้นได้ แม้ท่านอาจารย์ชาญวิทย์จะได้แปลออกมาวิเศษเพียงใดก็ตาม

เพราะ “รอยร้าวของมรกต” จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าร่วมกับสำนักพิมพ์เคล็ดไทย รวมผลงานของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล มาพิมพ์ในเล่มเดียวอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๓๔ พร้อมกับได้ถือโอกาสเปลี่ยนชื่อหนังสือ “เมืองนิมิตร” กลับมาเป็น “ความฝันของนักอุดมคติ” ตามเดิมที่พ่อให้ไว้ ขอความกรุณาท่านผู้อ่านโปรดอย่าสับสนที่หนังสือในมือของท่าน ยังปรากฏชื่อเมืองนิมิตรอยู่หลายตำแหน่ง และอย่าได้สลับกับ เมืองนิมิต ของ เรียมเอง ที่เผอิญชื่อมาพ้องกันเข้าโดยไม่ทราบว่าใครมาก่อนมาหลัง

การพิมพ์คราวนี้ก็ด้วยเหตุคล้ายกับที่แล้วๆมา กล่าวคือนึกว่าหนังสืออื่นที่พ่อเขียน จะถูกทำลายหรือสูญหายไปหมดแล้ว กลับมีผู้เก็บไว้และปรากฏให้ค้นพบขึ้นมา คือเรื่อง “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” ข้าพเจ้าอ่านแล้ว เห็นว่าแล้วแต่มุมที่มอง ถ้ามองตามเนื้อหาด้านรัฐศาสตร์ หนังสือฉบับนี้มิได้เป็นตำราโบราณเสียทั้งสิ้น เพราะปัญหาของสยามในสมัยของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ก็ยังเป็นปัญหาของประเทศไทยสมัยของเรา เพราะตัวปัญหาอยู่ที่นักการเมือง เพียงแต่เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนตัวละครเท่านั้นเอง แต่ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ ท่านจะได้เห็นทะลุไปถึงบรรยากาศในสมัยประชาธิปไตยที่ประชาชนไทยถูกห้ามแม้กระทั่งจะคิด การเขียนให้ความรู้พื้นฐานของระบอบการเมืองต่างๆที่มีในโลกรวมทั้งสยามในขณะนั้น ไม่ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงมิให้กระทบกระเทือน “ท่านผู้นำ” อย่างไร หนังสือก็ยังถูกทำลายเสียที่โรงพิมพ์ และตั้งข้อหากบฏ ลงโทษผู้เขียนถึงจำคุกตลอดชีวิต

ในยุคที่การวิพากษ์การเมืองมีเสรีภาพเช่นปัจจุบัน แต่ยังไม่เคยคิดว่าจะเพียงพอ อ่านแล้วคงจะรู้ซึ่งว่าก่อนที่พวกเราจะมีวันนี้ ผู้ที่ต่อสู้มาในอดีตจะต้องแลกกับมันด้วยชีวิต ไม่ใช่ด้วยเหงื่อหรือน้ำลายอย่างเดียว

และด้วยเหตุผลเดิม “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” จะต้องตีพิมพ์อยู่ในเล่มเดียวกันกับผลงานของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ทั้งชุด นั่นแหละผู้อ่านจึงจะได้เข้าถึงถ่องแท้ทุกมุมมอง ไม่ว่าจะโฟกัสไปที่ตัวตนของผู้เขียนในแง่พฤติกรรม อุดมการณ์ คติ ปรัชญา หรือทายะสมบัติในด้านภาษาศาสตร์ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง หรือข้อเท็จจริงทางด้านประวัติศาสตร์การเมือง และกระบวนการยุติธรรมของไทย ทว่าหนังสือเล่มหนาเช่นนี้จะไม่ทำกำไรในเชิงธุรกิจ ดังนั้น คราวนี้ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นผู้ทำให้พ่อเอง โดยถือเอาวาระสำคัญที่ พ.ศ. ๒๕๕๑ ครบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของพ่อในการนำเสนอต่อท่าน

ช่างบังเอิญเหลือเชื่อ เพราะโดยที่ไม่คาดคิดมาก่อน ศ.เดวิด สไมท์ จาก มหาวิทยาลัยลอนดอน มาพบข้าพเจ้าเพื่อขออนุญาตแปล “ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง” เป็นภาษาอังกฤษโดย London University Press จะเป็นผู้พิมพ์จำหน่าย หลังจากพบกันจึงตกลงใจแปล “ความฝันของนักอุดมคติ” ในชื่อ “A Dream of An Idealist” อีกเล่มหนึ่ง โดยสำนักพิมพ์ Silk Worm แห่งเชียงใหม่ จะเป็นผู้พิมพ์จำหน่าย พร้อมกับ “The Emerald's Cleavage” ตามภาษาและสำนวนอังกฤษ ของม.ร.ว.นิมิตรมงคลเอง นอกจากนั้น ศ.มินิโกะ โยชิโอดะ จากมหาวิทยาลัยนารา ก็ได้มาขออนุญาตแปล “ความฝันของนักอุดมคติ” เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งจะพิมพ์โดย Daido Life Foundation ออกจำหน่ายให้แก่คนญี่ปุ่นทั้งในและนอกประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นความอัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันนี้

ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านและขอฝากความหวังไว้ ในฐานะคนรุ่นหลังเช่นท่าน มีหน้าที่สืบต่อเจตนารมณ์ที่จะต้องสร้างชาติ สร้างคุณภาพของประชาชนคนไทย สร้างประชาธิปไตยที่มิได้มีความหมายแค่การเลือกตั้ง การเมืองมิใช่การลงทุนเพื่อหวังรวย ไม่ว่าจะประกอบการงานอาชีพใด ขอให้ยืนหยัดว่าอุดมคติมิใช่เรื่องเอาไว้ฝัน จรรยาบรรณมิใช่เรื่องเอาไว้ฝืน ข้าพเจ้าเชื่อว่า หนังสือของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านเท่าที่ควร

ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน

สำนักพิมพ์นิพันธ์

เลขที่ ๑๐ ถนนกรุงเทพกรีฑา ซอย ๘ แยก ๑๐

หัวหมาก กรุงเทพ ๑๐๒๔๐

พุทธศักราช ๒๕๕๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ