บทที่ ๓๐

บ่ายวันรุ่งขึ้น รุ้งไปที่บ้านถนนหลานหลวง และรับประทานอาหารว่างกับคุณหญิงและบุตรี เขาสังเกตว่าผิวพรรณของสมทรงเผือดไป อาจเป็นได้ว่าถูกรบกวนด้วยปัญหาเรื่องรัก แต่เธอแช่มชื่นรื่นเริงต่อหน้ารุ้ง และปรนนิบัติเขาเกินกว่าหน้าที่เจ้าของบ้าน ซึ่งทำให้รุ้งค่อนข้างไม่สบายใจ โดยเกรงจะตกในฐานะเดียวกับพระนลเมื่อเป็นทูตของสี่เทพไปสู่สำนักของทมยันตี ซึ่งกลายเป็นผู้ถูกทมยันตีรักเสียเอง

ครั้นแล้วก็ถึงวาระที่เธออยู่กับเขาสองต่อสองในห้องรับแขก เธอถือนิตยสารภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง พลิกผ่านๆ ไปแล้วก็พลิกกลับ เธอเรียกรุ้งบ่อยๆ ให้มาดูภาพในหนังสือซึ่งเธอเห็นว่าเป็นภาพงาม และความบ่อยในการเรียกนั้นทำให้เขานั่งใกล้เธอเข้ามาทุกที

โดยฉับพลันเธอปิดหนังสือ มองช้อนสายตาขึ้นมาสบตาของเขาแล้ว มองเฉยอยู่อย่างนั้น รุ้งตะลึงคาดไม่ถูกว่าเธอเดินแต้มไหน

“พี่คะ ทำไมเงียบเสียล่ะคะ?”

รุ้งถอยห่างออกไปนิดหนึ่ง เพราะขณะนี้หน้าของเธอเกือบจะแนบกับหน้าของเขาอยู่แล้ว

“เงียบเรื่องอะไร?” เขาถาม

“ทำไมคะ? ตลอดเวลาเหล่านี้เป็นความชักช้าโดยไม่จำเป็นทั้งสิ้น”

เขาตอบเธอด้วยอาการสั่นศีรษะ เขานึกไม่ออกว่าควรจะทำอย่างไรให้ดีกว่าสั่นศีรษะ เธอแสดงความโกรธออกมาทันที

“พี่เคยทำลายชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งด้วยความชักช้าของพี่ เดี๋ยวนี้จะทำลายอีกคนหนึ่งหรือ?”

“ข้อกล่าวหานี้รุนแรงเกินไปเสียแล้ว” เขาพยายามกล่าวออกมา

“สมส่วนคงยังไม่ตายถ้าหากได้แต่งงานกับพี่ในระหว่างที่พี่ยังสามารถแต่งได้ เพราะว่าจะไม่มีนายอำไพเกิดขึ้น และสมส่วนก็ไม่ต้องอกหัก”

“พี่ว่าสมส่วนตายเพราะเป็นวัณโรค?”

“แต่ความอกหักเป็นเหตุให้เกิดวัณโรค ใครๆ เขาก็ว่ากันอย่างนี้” แล้วเธอยิ้ม สลัดความโกรธเง้างอนทิ้งเสียได้ทันทีเหมือนทิ้งของในมือ หน้าอันยิ้มแย้มของเธอลอยอยู่ใกล้จมูกของเขา เหมือนกับเธอส่งดอกไม้หอมมาให้เขาดม

“พี่รุ้งคะ” เธอพูดฉอเลาะ “เรื่องของสมส่วนน่ะช่างเขาเถอะ คราวนี้เป็นเรื่องของฉัน พี่รุ้งพูดกับฉันบ้างซี? พูดเรื่องอะไรๆ กับฉันบ้างซี!”

รุ้งขยับออกห่าง รักษาระยะที่พอควรแก่ความนับถือฉันพี่น้อง

“เรื่องอะไรล่ะที่เธอจะให้พูด” เขาถาม

เธอหัวเราะให้เขาฟังเบาๆ “พี่น่ะแกล้งทำเป็นคนเขลาหรือเขลาจริงๆ คะ เขาว่านักว่าผู้หญิงเป็นเจ้ามารยา ที่จริงผู้ชายมีมากกว่า”

“แต่พี่ไม่ได้ทำมารยา” เขาบอกเธอ “พี่เขลาจริงๆ”

“ถ้าพี่ไม่พูด ฉันจะพูดเอง”

“พี่คิดว่าเธอพูดอยู่ตลอดเวลาเหล่านี้”

“ฉันยังไม่ได้บอกพี่นะคะ ว่ามีคนมาแสดงความรักต่อฉัน จะว่าอย่างไรคะ?”

“พี่ก็ขอแสดงความยินดีน่ะสิ”

เธอนิ่วหน้า “งั้นก็ความหมายว่าอยากเห็นดิฉันแต่งงานโดยไม่มีความรัก”

“จิ๋วน้องรัก” รุ้งพูดช้าๆ เอื้อมมือไปแตะแขนของเธออย่างเอ็นดู “เธอน่าจะเห็นใจคนที่เขาแสดงความรักต่อเธอบ้าง เขาเป็นเพื่อนของพี่ใช่ไหม?”

“ดิฉันไม่รักเขา”

“เธอจะรักคนชนิดใหนเล่า?”

“คนที่ฉันรักจะต้องเป็นคนดี และเป็นคนเด่น เขาต้องมีคุณสมบัติชั้นเลิศในทางใดทางหนึ่ง”

“มนุษย์ทุกคน” รุ้งพูดช้าๆ “ย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง ถ้าหากเขามิใช่คนเด่นก็ด้วยเหตุคุณสมบัติของเขา ไม่ต้องกับความนิยมของชนแห่งสังคมตามกาลสมัย เฉพาะสมัยนี้ผู้ที่เขานิยมกันว่ามีคุณสมบัติสูงสุด กับมีคุณสมบัติต่ำสุดนั้นคล้ายกันมากที่สุด ผู้ร้ายใจฉกรรจ์กับตำรวจผู้สามารถ คนจรจัดกับนักปราชญ์ หรือคนมีบาปหนากับพระอรหันต์ เหล่านี้อาณาเขตของจิตใจอยู่ติดกัน คนอย่างพี่เธอคงเห็นแล้วว่าเป็นกบฏที่อาจเป็นรัฐมนตรี และเป็นขอทานที่อาจกลายเป็นเศรษฐี ฐานะของพี่ในปัจจุบันนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำทุกทาง และเกณฑ์สูงเป็นเพียงความฝัน ผ่องไม่ใช่คนชนิดนี้ คุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวเขา มิได้ทำให้เขาสะดุดตาในสังคม บนต้นไม้แห่งเกียรติยศเขาอยู่ตอนกลางๆ แต่เขาก็มีทั้งความดีและความบกพร่องดุจคนทั้งหลาย

ระหว่างเวลาพูด รุ้งคอยสังเกตจากกิริยาของสมทรงว่าคำพูดของเขามีผลเพียงใด สมทรงซบหน้าลงในแขน คล้ายจะซ่อนความรู้สึกของเธอ

“เชื่อพี่เถอะ” รุ้งกล่าวต่อไป “ถ้าหากคนที่มาพูดกับเธอนั้นคือผอง พี่ก็มีเหตุผลพอที่จะแสดงความยินดี แต่ทั้งนี้พี่มิได้นึกถึงคุณสมบัติของเขาทางกายและมันสมอง นั่นเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยา หรือมิได้นึกถึงคุณสมบัติภายนอก เช่นทรัพย์สมบัติและตระกูล ซึ่งเป็นหน้าที่ของเธอเองและผู้ใหญ่ฝ่ายเธอจะต้องพิจารณา ในฐานะที่พี่เป็นทั้งเพื่อนของเธอและเพื่อนของผ่อง พี่ให้คำรับรองได้ในเรื่องอัธยาศัยว่าเธอสมกันเหมือนเท้าของซินเดอริลลาสวมลงได้เหมาะในรองเท้าของนางวิทยาธร เขาเป็นคนซื่อ เธอเป็นคนคม เขาหนักแน่นเมื่อเธอปราดเปรียว เขาเป็นคนน่านับถือ ส่วนเธอเป็นคนน่ารัก อัธยาศัยของเธออำนวยแก่ชีวิตโสด แต่จะบกพร่องในชีวิตสมรส ถ้าหากอัธยาศัยของฝ่ายชายไม่ช่วยประกอบให้บริบูรณ์ขึ้น พี่เคยนึกเสียดายที่สตรีโดยมากเลือกคู่ครองโดยมองข้ามสิ่งสำคัญข้อนี้ สตรีโดยมากวิ่งเข้าตอมชื่อเสียงหรือตอมเงินเหมือนแมลงเม่าบินเข้าตอมไฟ ชื่อเสียงหรือความมั่งคั่งของฝ่ายชาย ได้ทำให้เขาเป็นคนละชั้นกับฝ่ายหญิง จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าการสมรสก็คือการมอบตัวของหญิงให้ไปอยู่ในความกรุณาและปกครองของชาย จะไม่มีความรักแท้อยู่ในการสมรสแบบนี้ ซึ่งที่แท้ก็คือการขายตัว ขอให้ระวังอย่าถลำผิดอย่างคนทั้งหลาย ที่พากันบ่นว่าปลูกเรือนผิดแล้ว คิดจนเรือนทลาย วาระแห่งการเลือกก่อนแต่งงานนี้คือหัวเลี้ยวของโชคชะตา ในฐานะของพี่ผู้หวังดี พี่จะทำประโยชน์แก่เธอได้มากที่สุดก็โดยคอยให้สติเตือนให้ระวัง อย่าทำสิ่งที่ต้องเสียใจภายหลัง”

สมทรงนั่งนิ่งอยู่ ดูกิริยาภายนอกเหมือนคนนอนหลับ รุ้งปรารถนาจะ ให้เธอมีโอกาสตรึกตรองตามคำพูดของเขา จึงถือโอกาสย่องออกมาจากห้อง

“เสร็จเรื่องไปเสียที คราวนี้เป็นเรื่องของเราบ้างละ” รุ้งนึกเมื่อเขาเดินกลับบ้าน “ผ่องคงสมหวังของเขา แต่เราล่ะ? โชคชะตาจะเป็นอย่างไรหนอ” การที่อำนวยสัญญาจะจ่ายเงินให้เขาเดือนละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาท ทำให้เขาเกิดความกล้าพอที่จะแสดงความรักต่ออุไรวรรณ แต่เขากลับสงสัยน้ำใจของเธอ และถามตนเองว่าจะเชื่อได้หรือว่าอุไรวรรณถ่อมตัวลงมารักเขาจริงๆ เหตุผลต่างๆ ซึ่งเมื่อเย็นวานนี้นำไปสู่ความเข้าใจว่าเธอเอ็นดูเขานั้นเอง ดูเหมือนกลับพิสูจน์ในทางตรงข้ามไปทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้นเขาจะต้องช่วยตัวเอง ไม่มีใครอธิบายแก่อุไรวรรณดุจที่เขาอธิบายแก่สมทรง

พอถึงบ้านเขาก็เขียนจดหมายถึงผ่อง และนำข้อความบางอย่างที่ผ่องควรนำขึ้นกล่าวกับสมทรงในค่ำวันนั้น เขามอบจดหมายให้สาวใช้ของน้านำไปให้ผ่อง แล้วเขาแต่งกายด้วยความประณีตที่สุด ขณะหวีผมเขานึกเห็นหน้าของอุไรวรรณในกระจกเงา นึกถึงท่าทางของตนเองที่จะเข้าไปหาเธอ “เป็นไรก็เป็นกัน” เขาพึมพำออกมา “เราจะต้องรู้โชคชะตาของเราในค่ำวันนี้ให้จงได้”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ