บทที่ ๒๓

“ถ้าแกไม่สมัครใจจะรับราชการ” วีรพันธุ์เอ่ยขึ้นวันหนึ่งเมื่อนั่งคุยกันสองต่อสอง “เพราะรังเกียจที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และจะไม่ค้าขาย ทั้งไม่ยอมเป็นลูกจ้าง กันก็เห็นมีทางเหลืออยู่ทางเดียวที่แกน่าจะทำได้ คือเป็นนักประพันธ์ไส้แห้ง แกก็เป็นคนรักหนังสือ ถ้าทำงานทางนี้ก็คงมีชื่อเสียงในเวลาไม่นาน”

“กันเคยนึกหลังจากออกจากงานแล้ว” รุ้งบอกเขา “ว่าจะเอาหนังสือพิมพ์เป็นงานอาชีพ กันรักงานนี้ เพราะด้วยหน้าที่แถลงข่าว จึงกลายเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ประชาชน นักหนังสือพิมพ์เมืองเราในส่วนรวมยังอ่อนการศึกษา สติปัญญาของเขายังไม่เพียงพอแก่หน้าที่อันสำคัญ บรรณาธิการโดยมากเป็นแต่ผู้เฉลียวฉลาดในการเขียนหนังสือขายได้ เขารู้จักใจของประชาชน แต่ไม่ใช่ผู้นำความคิดของประชาชน แม้กระนั้นก็ตื่นตัวเองว่าเป็นนักประพันธ์ เขานับถือตนเองและนับถือเพื่อนผู้มีความสามารถคล้ายคลึงกับเขาว่าเป็นผู้มีฝีมือทางวรรณกรรม กันคิดว่าเขาจะทำหน้าที่บรรณาธิการได้ดีขึ้น ถ้าหากได้ศึกษาวิทยาการทั่วไปมากขึ้นอีกสักหน่อย เขาควรเป็นผู้รู้จักโลก และเมื่อเขาเขียนก็อย่าให้เป็นการแสดงฝีมือทางเล่นลิ้น แต่ขอให้มี “สัจจะ” อยู่ในเรื่องที่เขานำมาแสดงนั้นด้วย กันเสียใจที่กันไม่ใช่ผู้มีฝีมือทางวรรณกรรม ถึงแม้ว่ากันมีสัจจะอันมีคุณค่าสูงอยู่ในเรื่องที่กันนำแสดง” แล้วรุ้งก็เล่าถึงการที่เขาส่งเรื่องไปลงหนังสือพิมพ์ต่างๆ ประมาณ ๕ แห่ง และได้เห็นบันทึกของบรรณาธิการผู้หนึ่งที่ส่งเรื่องคืนมาว่า “ฝีมืออ่อนเหลือประมาณ”

วีรพันธุ์ยิ้ม “บรรณาธิการคนนั้นมันทะลึงพอใช้” เขากล่าว “เรื่องมันเกิดจากเขาไม่รู้ว่าแกเป็นคนหนึ่งในพวกนักเขียนรุ่น “ไทยเขษม” อีกประการหนึ่ง คณะหนังสือพิมพ์เหล่านี้จะต้องดำเนินนโยบายอันใดอันหนึ่งที่กำหนดกันขึ้นทำนองเดียวกับพรรคการเมือง จึงมีความรู้สึกทั่วไปในทางรังเกียจคนนอกคณะ หนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ ไม่ถือเป็นหน้าที่ที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนด้วยการนำความเจริญมาแสดง มันกลายรูปเป็นผู้หนุนหลังพรรคการเมืองไปเสียเกือบหมด อย่างไรก็ตาม มีหนังสือพิมพ์อีกจำพวกหนึ่งที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ในวิทยาการต่างๆ เช่น ผดุงวิทยา เป็นต้น กันรู้จักบรรณาธิการ หมอนี่เป็นคนดีพอใช้ เชื่อว่ามันจะเต็มใจรับเรื่องของแก”

“หวังว่าจะไม่ใช่รับไว้เพราะเกรงใจแก”

“เปล่า เราเคยคุยกันถึงแก เพราะกันเอาเรื่องของแกให้มันอ่าน มันชอบมากทีเดียว”

“เรื่องอะไร”

“The Sight of Future Siam”

“แกอ่านจบแล้วหรือ”

วีรพันธุ์ยิ้มแห้งๆ “ยังไม่ได้อ่านเลย อุไรวรรณชมว่าดีนัก แต่กันยังไม่มีเวลาว่าง อำนวยมันอยากอ่านก็เลยให้มันยืมไปก่อน”

“เพราะแกยังไม่ได้อ่าน” รุ้งพูดเสียงขึงขัง สีหน้าของเขาแสดงว่าไม่สบายใจ “แกจึงไม่รู้ว่าแกพลาดไปเพียงใดที่เอาเรื่องของกันไปให้คนอื่นยืมอ่าน แกรู้แล้วว่าบ้านเมืองเรายังปกครองด้วยอำนาจสิทธิ์ขาด ใครพูดไม่ตรงกับผู้นำ คนนั้นจะถูกชี้หน้าว่าไม่รักชาติ กันเคยติดคุกมาแล้วและไม่อยากกลับเข้าไปอีก”

วีรพันธุ์พูดเรียบๆ ว่า “กันคิดว่านักเขียนเขียนเรื่องขึ้นก็เพื่อให้คนอ่าน มิฉะนั้นจะเขียนขึ้นทำไม?”

“ขอเรื่องคืนมาให้กันเถิด กันจะเผาไฟ”

“กันจะเรียกคืนมาให้ แต่ขอถามหน่อยเถอะว่าเมื่อกลัวแล้วทำไมจึงเขียน?”

“กันเขียนสำหรับพิมพ์เมื่อรัฐบาลที่นิยมใช้อำนาจเด็ดขาดต้องพ้นจากอำนาจไปแล้ว ซึ่งจะเป็นอีกกี่สิบปีก็ช่าง รัฐบาลของประเทศใดๆ ก็ตามย่อมขึ้นไปครองอำนาจและดำเนินนโยบายให้เหมาะกับกาลสมัย แต่หลักวิชาที่นำมาแสดงในหนังสือของกันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาลสมัย มันเป็นความจริงที่อาจคงอยู่คู่โลก เพราะมันเป็นความจริงตามวิทยาแห่งชีวิต รัฐบาลไม่ช้าก็เปลี่ยนไป และตัวกันเองไม่ช้าก็ตาย แต่หนังสือของกันจะยังคงอยู่เป็นเข็มทิศชี้ทางเดินแห่งชีวิตของอนุชน นั่นเป็นหน้าที่ของนักชีววิทยา นั่นเป็นหน้าที่ของกัน นั่นเป็นเหตุผลที่กันได้เขียนหนังสือเล่มนี้ทั้งๆ ที่กลัวว่าจะมีผู้เข้าใจผิดคิดว่ากันพยายามก่อการกบฏ กันไม่ไว้ใจตำรวจสันติบาล...”

แล้วรุ้งก็ชี้แจงต่อไปว่างานของตำรวจในการจับผู้ที่เป็นปรปักษ์ของรัฐบาล ในกรณีโดยมากได้กลายเป็นผลร้ายแก่ชาติบ้านเมือง ตำรวจมีความจำเป็นยิ่งกว่าทหารที่จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าหากกิจการตำรวจในสยามยังอยู่ในมือของรัฐบาล การปกครองก็ไม่พ้นที่จะกลายเป็นระบอบเผด็จการ และบ้านเมืองก็จะไม่มีวันได้พบความสงบ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ