บทที่ ๒๒

คำกล่าวของท่านศาสตราจารย์ฟอสดิคดังกล่าวข้างต้น เหมือนแว่นแก้วส่องให้รุ้งเห็นถนัดขึ้นว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่ระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลกก็คือความเห็นแก่ตัว ซึ่งบางคราวกลายเป็น “วิญญาณสงคราม” น่าประหลาดที่มนุษย์ในประเทศเจริญยังมีน้ำใจป่าเถื่อน จนถึงกับนึกว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับคนชาติอื่นก็ได้ และมีความรู้สึกอยู่ในใจว่าคนต่างชาติก็คือศัตรู วิญญาณสงครามได้ทำให้รัฐบาลคณะชาตินิยมได้รับมอบอำนาจบริหารติดต่อกันมาหลายชุด และรัฐบาลเช่นนั้น ก็หว่านพืชรักชาติลงในจิตใจยุวชน ความรักชาตินั้นในบางแห่งบางเวลาก็ได้ถูกเร่งเร้าขึ้นจนเป็นไปในทางรุกราน โลกจึงไม่มีความสงบ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเป็นไปได้เพียงชั่วคราว แม้แต่ระหว่างชนชาติเดียวกัน วิญญาณสงครามก็ได้ทำให้เกิดความแก่งแย่งแข่งดี คิดข่มขี่ประหัตประหารกันเอง การสงครามในที่ที่ถูกควบคุมมิให้รุนแรง หรือถึงแก่เอาชีวิตกันก็ได้รับนามใหม่ว่า “การแข่งขัน” กิจการทุกวันนี้ ดำเนินไปในลักษณะแข่งขันทั้งสิ้น ซึ่งทุกฝ่ายถือเอา “เงิน” เป็นจุดหมาย

แล้วรุ้งก็นึกถึงเรื่องราวของตนเองเป็นนิทัศน์ เขาเคยอยากเป็นเศรษฐี นั่นเพราะเขาเห็นผลของความจนว่าเป็นความไม่สำเร็จ จึงกลัวและปรารถนาจะหนีความจน แต่ความรู้สึกเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอเลยที่จะกระตุ้นใจให้เขากระทำในทางที่จะได้เป็นเศรษฐี ถ้าหากเขาจะดำเนินตามแบบนายซัลวาล เขาก็เป็นบุคคลชนิดที่รู้สึกชื่นใจเมื่อตนเอาเปรียบคนอื่นได้สำเร็จ เขาจะต้องอิ่มใจที่สามารถกดขี่คนอื่นได้ และทรัพย์จะต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นผู้มีฐานะเหนือคนอื่น

รุ้งไม่เลื่อมใสลัทธิเศรษฐกิจของคาร์ลมาร์กซ์ที่จะเลิกล้มกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัว ถึงแม้เขาเห็นพ้องด้วยตามที่เลนินประกาศว่าเงินคือเสนียดแห่งอำนาจ แต่เงินอาจเปลี่ยนความหมายไปได้ภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจใหม่ เงินตามความหมายของเลนินนั้น ก็คือเงินซึ่งประเดี๋ยวเฟ้อประเดี๋ยวแฟบ คือเงินที่คนทั้งหลายนึกว่าจะมีค่าเท่ากับข้าวสาร ๑ กระสอบ แต่แล้วบางคราวมันกลายเป็นเท่ากับข้าวสาร ๑ กรัม หรือไม้ขีดไฟ ๑ กลักเท่านั้นเอง เงินที่สับปลับเช่นนี้ คือเงินที่มีมาตรฐานเป็นทองคำหรือเงิน มันเทียบค่ากับทองคำหรือเงิน มันเป็นประกันอำนาจซื้อสินค้าทองคำหรือเงิน แต่มันไม่ใช่เป็นประกันอำนาจซื้อสินค้าชนิดอื่นๆ ฉะนั้นเมื่อคนงานได้รับเงินค่าจ้างแรงงานแล้วเขาเก็บเงินนั้นไว้ อำนาจซื้อของเขาในวันรุ่งขึ้นอาจไม่คุ้มกับแรงงานที่ได้เสียไปแล้วในวันก่อน แต่ไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่เงินจะต้องมีลักษณะสับปลับเช่นนี้เสมอ ถ้าหากเราเลิกผูกค่าของมันไว้กับทองคำ มันก็จะสิ้นความสับปลับ อำนาจซื้อที่ประกันด้วยควรคงที่เสมอในเงินทุกๆ บาท และจะเป็นเช่นนี้ได้ก็โดยทุกๆ ประเทศเลิกใช้ทองคำเป็นมาตรฐาน และถือเอาจำนวนผลิตผลทั่วโลกเป็นมาตรฐานแทน ถ้าจำนวนผลิตผลสูงขึ้น ธนบัตรซึ่งใช้เหมือนกันทุกประเทศก็จะต้องเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าจำนวนผลิตผลน้อยลงก็ลดจำนวนธนบัตรเพื่อรักษาสินค้าให้คงที่ ถ้าหากเงินได้เปลี่ยนความหมายจากอำนาจซื้อทองคำ ไปเป็นอำนาจซื้อสินค้าทั่วไป ดังนี้ ภายใต้เศรษฐกิจแบบใหม่ เงินก็เป็นสิ่งมีประโยชน์แก่มนุษยชาตินักหนา มันจะเหมือนกับโลหิตในกายตัวเราที่นำเอาอาหารไปจ่ายแจกเลี้ยงร่างกายทั่วทุกชิ้นส่วน

เสนียดแห่งอำนาจเมื่อวิเคราะห์ลงไปอีกชั้นหนึ่งก็คือกำไร ซึ่งแปลว่าความได้เปรียบ เขาเตะเราหนึ่งครั้ง แต่เราเตะเขาได้สองครั้งก็เรียกว่ามีกำไร หรือซื้อสองบาทขายสามบาท ก็คือได้เปรียบเป็นกำไรแก่ผู้ซื้อคนสุดท้ายหนึ่งบาท กำไรนี่เองเป็นสิ่งที่เพาะวิญญาณสงครามหรือวิญญาณแข่งขัน กำไรนี่แหละที่ทำให้มนุษย์ใจบาปหยาบช้าคิดรังแกล้างผลาญกัน กำไรเป็นสิ่งที่เพาะนิสัยเห็นแก่ตัวและขัดขวางความเจริญของโลกทุกระยะ กำไรได้เข้ามาสิงสู่อยู่ในรูปสมบัติของเงินตรา ถ้ามนุษย์สิ้นความปรารถนาจะแสวงหากำไร รัฐบาลต่างๆ ก็คงไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และคงปรึกษากันเพื่อสร้างแผนเศรษฐกิจสำหรับพลโลกขึ้นได้ ความเหลวไหลน่าหัวเราะหลายประการในการค้าขายจะหมดไป เช่นในเรื่อง Allied Shipping Control ของ Prof. Salter รุ้งได้พบรายงานเกี่ยวกับการขนส่งก่อนมหาสงครามว่า ข้าวสาลีจากอเมริกาได้ขนไปขายที่อิตาลี ส่วนข้าวสาลีจากอินเดียขนไปขายอังกฤษโดยเดินทางผ่านอิตาลี

ถ้าหากเงินเป็นเครื่องจูงใจให้มนุษย์ทำการงานโดยทั่วไป กำไรก็จูงใจให้มนุษย์ทำการงานเหล่านั้นด้วยความคดโกง แป้งได้ถูกผสมลงในน้ำนมข้น ผักผสมลงในแยม แป้งมันฝรั่งผสมลงในข้าวสาลี น้ำส้มซึ่งติดตราผลส้มและมีตัวอักษรว่า “ไม่ได้ผสมอะไรเลยนอกจากน้ำตาล” นั้น เคยปรากฏว่าแทนที่จะใช้น้ำส้ม เขาใช้กรดฟอสฟอริคซึ่งเป็นภัยแก่ร่างกาย และแทนที่จะใช้น้ำตาล เขาใช้กลูโคลส ครั้งหนึ่งมีคดีซึ่งพ่อค้าน้ำมันถูกฟ้องและถูกลงโทษฐานปนปลอมสินค้า น้ำมันนั้น เขาเอาชอล์กปนลงไป ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และยังซ้ำในชอล์กนั้น เผอิญมีผงตะไบเหล็กปนอยู่ด้วย ไม่ต้องสงสัยว่าเจ้าของเครื่องจักรที่ซื้อน้ำมันนี้ไปใช้จะได้รับความเสียหายอย่างน่าเห็นใจ

การค้าทุกวันนี้เป็นไปเพื่อกำไร สินค้าทุกอย่างทำขึ้นเพื่อหวังกำไร แต่อุตสาหกรรมซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของก็ยังดำเนินกิจการเพื่อกำไรอีกเหมือนกัน การผลิตผลมิได้มุ่งไปในทางที่จะทำให้ราคาถูก วิธีการคดโกงได้นำมาใช้มากขึ้น แล้วสินค้าก็ทรามคุณภาพลง แม้แต่หนังสือพิมพ์ก็พยายามขายข่าวในทางที่จะให้ได้กำไรมากๆ ฉะนั้นข่าวจึงไม่จำเป็นต้องตรงความจริง และสำนักพิมพ์หนังสืออ่านเล่นก็ได้พิมพ์หนังสือขึ้นโดยไม่นึกว่าอาจเป็นภัยแก่สังคม

นักการเมืองยังคงปล่อยเศรษฐกิจของโลกอยู่ในสภาพเลอะเทอะเช่นนี้ ก็เพราะคาดกันว่าสงครามโลกยังจะมีอีก จึงยังคอยคุมเชิงกันอยู่ แท้จริงธรรมชาติได้กล่อมจิตใจมนุษย์ให้โอนเอียงเข้าหากันมากขึ้นทุกทีแล้ว ดังที่เราได้เห็นชนชาวเยอรมันแต่งงานกับฝรั่งเศส หรือจีนแต่งงานกับญี่ปุ่น สยามนี้ก็เป็นแหล่งใหญ่ในการผสมชาติ มีใครสักกี่คนที่จะอ้างได้ว่าเป็นไทยแท้ บางทีอาจไม่มีไทยแท้เลยสักคนเดียว นักประวัติศาสตร์จึงกล่าวว่า “ชาติหว่านสงคราม แต่ชนหว่านความรัก”

นักวิทยาศาสตร์ผู้สนใจในองค์การโลก ได้ชี้ทางสิ้นสุดแห่งสงครามไปในแนวเดียวกัน คือการแก้ที่การศึกษา รุ้งคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกชาติควรตกลงกัน ดำเนินนโยบายศึกษาในทางที่ให้เห็นว่ามนุษย์ทั้งโลกนี้เป็นพวกเดียวกัน ศัตรูของเราก็คืออุปสรรคที่ขัดขวางมิให้เรารวมกันได้ เช่น จารีตประเพณีอันล้าสมัย รวมทั้งอุปสรรคธรรมชาติแห่งดินฟ้าอากาศและโรคภัยไข้เจ็บ

นโยบายการศึกษาทำนองนี้ จะต้องเริ่มต้นด้วยจัดการให้มีภาษากลางขึ้นสำหรับใช้ทั่วโลก เป็นเรื่องน่าพอใจหรือที่พลเมืองไทยฟังวิทยุจากต่างประเทศไม่รู้เรื่อง ไปดูภาพยนตร์ก็ไม่รู้เรื่อง และอ่านตำราภาษาต่างประเทศก็ไม่ได้ ถ้านายมานายมีไม่รู้ภาษาต่างประเทศ และแก้ไขไม่ได้แล้วก็แล้วไป แต่บุตรของเขาจะให้เป็นไปอย่างตัวเขาอีกหรือ? นอกจากนั้น บุตรของนายมีนายมาควรจะได้เรียนวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ตามตำราฉบับใหม่ ซึ่งจะแสดงให้เห็นความเติบโตของชาติพันธุ์มนุษย์ซึ่งเดิมเป็นแขนงเดียวกัน และในที่สุดจะต้องเรียนรู้ชีววิทยาเพื่อให้เห็นภาพแห่งมนุษย์ภายในภาพชีวิตอันมหาศาลของปวงสัตว์ และให้เห็นความเกิดความเจริญ และคาดคะเนวิถีทางแห่งความเติบโตของชาติมนุษย์โดยรุ้งได้รู้สึกมา เพราะเขาเป็นนักชีววิทยาอยู่คนหนึ่งว่าความน้อมไปของมนุษยชาติก็คือการขยายตัวออก ทั้งในทางรูปกายของบุคคล และในจำนวนชนซึ่งประกอบขึ้นเป็นองคาพยพเดียว

ในเวลาว่างรุ้งได้บันทึกความเห็นเหล่านี้ลงไว้ เขาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นรูปบทนำสำหรับลงหนังสือพิมพ์ และได้ส่งไปลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยใช้วิธีคาดคะเนว่าหนังสือพิมพ์ฉบับใดบ้างที่บรรณาธิการอาจมีสายตาไกลพอที่จะมองเห็นคุณค่าแห่งบทประพันธ์ของเขา ในท้ายจดหมายที่เขาเขียนถึงบรรณาธิการเหล่านั้น เขาได้ขอร้องไว้ว่าถ้ายังไม่ต้องการนำลงพิมพ์ขอให้ส่งคืน เขาได้รอทราบผลอยู่หนึ่งสัปดาห์เต็มๆ โดยยังไม่ปรากฏว่าฉบับใดได้นำบทประพันธ์ของเขาลงพิมพ์ หลังจากนั้นบรรณาธิการคนหนึ่งส่งเรื่องคืน โดยมีจดหมายแสดงความขอบใจแนบมาด้วย บรรณาธิการอีกคนหนึ่งส่งเรื่องคืนโดยไม่มีจดหมาย แต่บันทึกไว้ที่หัวเรื่องว่า “ฝีมืออ่อนเหลือประมาณ” นอกนั้นเขาไม่ได้รับข่าวว่าเรื่องของเขาสูญหายไปไหน

รุ้งไม่ได้หวังมากนักว่าบรรณาธิการจะนำเรื่องของเขาลงพิมพ์ การถูกติไม่ทำให้เขาท้อถอย แต่เขาเปลี่ยนความคิดที่จะเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ มาเขียนหนังสือเป็นเล่ม และโดยมิได้หวังว่าจะพิมพ์ได้ในประเทศนี้ เขาจึงเขียนเป็นภาษาอังกฤษ หนังสือของเขาแสดงความบกพร่องในระเบียบเศรษฐกิจการเมืองแล้วชี้แนวที่จะแก้ไข ให้ชื่อเรื่องของเขาว่า The Sight of Future Siam “ทัศนะแห่งสยามอนาคต” เขาส่งหนังสือเรื่องนี้ให้อุไรวรรณผู้ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็ส่งต่อไปให้วีรพันธุ์ รุ้งได้รับความพอใจคุ้มค่าเหนื่อยเมื่อได้ทราบว่าอุไรวรรณชอบหนังสือของเขา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ