บทที่ ๒๘

หลังจากอาหารกลางวัน รุ้งได้มีโอกาสอยู่กับอุไรวรรณสองต่อสองในห้องนั่งเล่น เขานั่งสูบบุหรี่ เธอถักไหมพรมอยู่เงียบๆ

เขาเพิ่งได้พบกันเป็นวันแรกหลังจากวันเกิดของรุ้ง เช้าวันนี้เขาถือโอกาสขอบคุณเธออีกครั้งสำหรับของขวัญวันเกิด เธอบอกเขาว่า กุหลาบเหล่านั้นเธอเก็บเองจากสวนของเจ้าคุณพ่อ แต่มิได้กล่าวถึงคำฉันท์ รุ้งกำลังสงสัยว่าเธอมิได้รับคำฉันท์นั้น หรือรับแล้วแต่ไม่เห็นสำคัญ จึงไม่เอ่ยถึง

“ดิฉันอ่านตั้ง ๓ ครั้ง”

พอเธอพูดดังนั้นรุ้งก็หน้าแดง “ผมดีใจ” เขาบอกเธอตรงๆ “ที่คุณชอบมัน”

เธอมองตอบสายตาของเขาโดยไม่สะเทิ้น “ดิฉันไม่ได้พูดนะคะว่าชอบ”

“ผมต้องขอโทษ ผมไม่ควรรีบทึกทักว่าคำฉันท์ที่เขียนเลวเช่นนั้นจะทำให้คุณชอบได้”

“คุณคงไม่ทราบความหมายของดิฉัน” อุไรวรรณชี้แจงเมื่อเห็นสีหน้าของรุ้งสลดลง “คำฉันท์นั้นไพเราะมาก แต่ดิฉันไม่ชอบข้อความที่คุณพรรณนา”

“ผมพรรณนาความงามและคุณสมบัติของสตรี จึงน่าจะทำให้สตรีพอใจโดยทั่วไป”

“ดิฉันจะพอใจอย่างไร เมื่อถูกยกย่องสูงเกินไปจนทำให้รู้สึกไม่สบาย”

รุ้งเริ่มเข้าใจแล้วว่าอุไรวรรณถือว่าคำฉันท์นั้นเป็นคำเกี้ยวเธออย่างองอาจ “ผมไม่ได้ตั้งใจเลยครับที่จะพรรณนารูปร่างของคุณ” เขารีบพูดด้วยกลัวว่าจะถูกอุไรวรรณโกรธ “ในเวลาเขียนนั้นผมนึกเห็นหน้าสุภาพสตรีคนหนึ่งซึ่งมีลักษณะบางอย่างเหมือนคุณ แต่บางอย่างก็ไม่เหมือน และถึงแม้ผมนึกอยู่ในใจว่าภาพนั้นเป็นภาพของคุณ แต่ความงามที่ผมสรรเสริญนั้นเป็นความงามในโลกแห่งความคิดฝันของผม ซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้”

“คุณเขียนตามความคิดฝัน แต่ใจของคุณนึกถึงดิฉัน นั่นคุณไม่เรียกว่าเป็นการพรรณนาตัวดิฉันหรือคะ?”

รุ้งรู้สึกว่าตามความจริง เขามิใช่บริสุทธิ์จากเจตนาที่จะยกย่องอุไรวรรณเป็นส่วนตัวเสียทีเดียว เขาจึงหัวเราะแทนคำสารภาพผิด “คุณโกรธผมมากหรือครับ?” เขาถามเมื่อรู้แล้วว่าเธอมิได้โกรธเขา

“ดิฉันโกรธคุณมากทีเดียว” เธอตอบโดยตั้งใจจะบอกเขาว่าเธอมิได้โกรธ

“คุณชอบขี่ม้าและเล่นสเก็ต” เขาพูด “เวลาอยู่บนหลังม้า คุณก็ไม่สบาย แต่มันทำให้คุณใจเต้น และคุณชอบใจเต้นแรงๆ บางเวลาไม่ใช่หรือ?”

“แต่ในเรื่องคำฉันท์นี้เป็นอีกกรณีหนึ่ง คุณพยายามทำให้ดิฉันนึกว่าตนเองสวยอย่างเลิศลอย ดิฉันหลงเชื่อไปชั่วขณะหนึ่ง นั่นเป็นขณะที่ใจเต้นอย่างเป็นสุขจริงอย่างคุณว่า แต่ไม่ช้าดิฉันก็นึกได้ว่าถูกหลอก คุณเองก็รับว่าจริงในการที่ขอยืมความงามในโลกสมมติมาใส่ให้ในนามธรรมของดิฉัน คำยกย่องเช่นนี้ไม่ใช่ความจริงใจ”

“ผมไม่สามารถแสดงความจริงใจได้ ถ้าหากจะให้ถ้อยคำมีคุณค่าในทางศิลปะ”

“ถ้าจะเขียนโดยจริงใจไม่ได้ ก็อย่าเขียนเสียเลยดีกว่า” เธอพูดโดยขุ่นเคือง “อย่างน้อย ก็อย่าเขียนถึงดิฉันโดยประสงค์เพียงจะกล่าวเท็จกับดิฉัน”

“คุณไม่ชอบคำเท็จที่ไพเราะมากกว่าคำสัตย์ที่ไม่มีศิลปะดอกหรือ? ใครๆ ก็สามารถกล่าวคำสัตย์ได้ มีคำสัตย์หลายหลากมากชนิดสำหรับให้คนสมองทึบเลือกใช้ เช่นคำสัตย์ธรรมดาของเด็กไม่เดียงสา คำสัตย์ที่น่าชังเพราะขาดระเบียบ คำสัตย์ที่ก่อเหตุโดยไม่บังควรกล่าว และคำสัตย์ที่เยิ่นเย้อโดยไร้สาระ แต่การที่จะกล่าวคำเท็จให้ไพเราะได้นั้นต้องใช้ความสามารถพิเศษ และวรรณคดีทุกชิ้นก็คือคำเท็จที่ไพเราะ”

“ถ้ากระนั้นดิฉันก็จะต้องนึกว่านักประพันธ์ก็คือนักพูดเท็จ”

“แน่ทีเดียวครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักเขียนเรื่องเริงรมย์และกวี”

“นี่ดิฉันมิหมดหวังหรือ? ที่จะเชื่อถือคำพูดของคุณได้เมื่อทราบว่าคุณเป็นนักประพันธ์”

“คุณพอจะเชื่อถือผมได้ในทุกๆ สิ่งที่ทำและทุกๆ คำที่กล่าว นอกจากที่ผมกล่าวในเรื่องเริงรมย์และในกวี ผมพูดเท็จมามากพอแล้วในที่ที่เป็นวรรณคดี ดังนั้นจึงคร้านกล่าวเท็จในที่ต้องการความจริงเป็นแก่นสาร คุณเองก็เหมือนกัน คุณกล่าวเท็จมากมายในเวลาเขียนภาพ คุณพยายามให้คนทั้งหลายเชื่อว่ากระดาษบางชิ้นที่คุณระบายสีลงไว้นั้นเป็นป่าไม้กับทิวภูเขา และกระดาษอีกบางชิ้นเป็นหญิงสาวอยู่ริมธาร บางคราวผมก็เชื่อว่าแผ่นกระดาษของคุณเป็นหญิงสาวและเป็นป่าไม้ และผมยังจำได้อีกด้วยว่าในเวลาเล่นเปียโนเพลงพาสทอรัล คุณพยายามเต็มที่ที่จะให้ผมเชื่อว่าเวลานั้นฝนกำลังตก จริงนะครับ คุณเป็นคนแสดงความเท็จเก่งแท้ๆ ผมขอชมเชยสำหรับความเท็จที่ไพเราะเท่านั้น”

เธอยิ้มแล้วค้านว่า “คุณกล่าวเท็จเก่งกว่าดิฉัน”

“เราถนัดกล่าวเท็จกันคนละทาง ถ้าเราร่วมการงานกันเราก็จะกลายเป็นจอมโกหก”

เขาหัวเราะและเธอก็หัวเราะ

เขาได้คุยกันต่อไปในเรื่องอื่น บางคราวการสนทนาได้กลายเป็นการต่อสู้กันในเชิงปัญญาหรือคารมจนทั้งสองฝ่ายรู้สึกเหนื่อยอ่อนและเกิดความนับถือซึ่งกันและกันมากขึ้น เขายอมรับอยู่ในใจว่าเธอเป็นคู่ปรปักษ์ทางปัญญาที่เขาจะเอาชนะไม่ได้ง่าย ฝ่ายเธอก็ยอมรับอยู่อย่างนั้นแล้ว ฉะนั้นเมื่อเขาทั้งสองคิดจะเลิกโต้เถียงกัน หันเข้ามาพูดในทางเอออวยไม่ขัดคอกัน เขาก็รู้สึกรสอร่อยแห่งการสนทนาในทางใหม่ จิตใจของเขาก็ใกล้กันมากขึ้น และเมื่อถึงเวลารุ้งจะลากลับ อุไรวรรณก็หน่วงเหนี่ยวไว้ แต่ก็จำต้องถึงนาทีหนึ่งซึ่งรู้สึกว่า ถ้าขืนอยู่ต่อไปอีกจะกลายเป็นการรบกวนเจ้าของบ้าน

วันนี้รุ้งได้คุยกับอุไรวรรณเป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง ระหว่างทางกลับบ้านโดยรถราง เขาเลือกที่นั่งทางท้ายรถ แล้วนึกย้อนหลังเอาเรื่องสนทนากับเธอมาย่อยใหม่ เวลาสองชั่วโมงอันแสนหวานที่ผ่านพ้นไปบนปีกนกของเขา บัดนี้ถูกเรียกคืนสู่ความคำนึง ความผาสุกเมื่ออยู่ใกล้เธอกลายเป็นความทรมานเมื่ออยู่ห่าง เขาเสียใจว่าไม่มีสิทธิ์จะได้อยู่ใกล้เธอนานเท่าความต้องการ

เป็นความจำเป็นที่จะได้รับสิทธิ์เช่นนั้น ก็ด้วยความตกลงปลงใจกันประกอบพิธีสมรส แต่รุ้งไม่มีหวังที่จะได้สมรสกับเธอ จะเป็นเรื่องน่าหัวเราะถ้าเขาไปออกปากขอแต่งงานกับเธอ เมื่อเขาเป็นนักประพันธ์ไส้แห้งเช่นนี้

แต่ข้อขัดข้องดูเหมือนอยู่ที่ความจนของเขา และมิใช่อยู่ที่ความมั่งมีของเธอ แม้เธอเป็นทายาทแห่งมรดกกองใหญ่เช่นนั้น เขาก็คิดว่าเธออาจรักเขาได้ เดี๋ยวนี้เธอคงรู้แล้วว่าเขารักเธอ แต่แม้เขาจะรักเธอสักเพียงใดเขาก็ไม่กล้าคิดถึงการเอ่ยปากฝากรัก เขาสามารถทำได้แต่เพียงมองขึ้นไปดูเธออย่างบูชา เพราะว่าเขาอยู่ในหล่มจมปลัก ส่วนเธออยู่บนยอดภูเขา

แต่เธอลดสายตามาดูเขา ข้อนี้เขาแน่ใจ แม้แต่วันนี้เองเขาก็มีเหตุผลพอที่จะเชื่อว่าเธอเอ็นดูเขา เธอเข้าใจว่าเขาใช้คำฉันท์รำพันความงามนั้นแทนจดหมายรัก และเธอก็มิได้โกรธหรือแสดงความรังเกียจ รุ้งใคร่จะทราบว่าถ้าเขาออกปากฝากรักเข้าจริงๆ เธอจะให้คำตอบอย่างไร เธอบอกเขาว่าได้อ่านคำฉันท์นั้นสามเที่ยวทั้งๆ ที่เข้าใจว่าเป็นคำเกี้ยว รุ้งแน่ใจว่าเขาไม่ผิดในการแปลความหมายเหล่านี้

อากาศเวลาค่ำวันนั้นสดชื่น รุ้งจึงลงจากรถรางที่สามแยกเพราะใคร่จะเดินเล่นบ้าง เขาเดินช้าๆ ตามบาทวิถีริมถนนเยาวราช หยุดยืนอยู่หน้าร้านอาหารด้วยกลิ่นอาหารที่กำลังปรุงอยู่เตือนเขาว่าถึงเวลาอาหารเย็นแล้ว

“เข้ามาซี รุ้ง!” ชายผู้หนึ่งตะโกนเรียกเขาจากข้างในร้าน เขามองเข้าไปดูด้วยความประหลาดใจ เห็นวีรพันธุ์นั่งอยู่กับชายผู้หนึ่งรูปร่างอ้วนสมบูรณ์ อายุราวสี่สิบห้าปี ผู้ซึ่งมองดูรุ้งด้วยความสนใจอย่างพิเศษ แล้วยิ้มกล่าวคำเชื้อเชิญซ้ำอีก พร้อมกับก้มศีรษะเล็กน้อย

“โชคดีจูงมือแกมาที่นี่ รู้ไหม?” วีรพันธุ์พูดผสมเสียงหัวเราะตามนิสัย หันจากรุ้งไปทางชายอ้วนแล้วพูดต่อไป “แกไม่เคยพบรุ้งมาก่อนเลยไม่ใช่หรืออำนวย ทั้งๆ ที่ขอเรื่องของเขาไปลงหนังสือพิมพ์หลายเรื่องแล้ว”

“น่าขัน” อำนวยพูด “ที่เราได้รู้จักกันนานแล้วก่อนจะได้พบตัวกัน นั่งซีรุ้ง ดื่มเบียร์กันสักสองสามแก้วเถอะ ก่อนที่จะพูดธุระการงาน”

“การงานอะไรครับ?” รุ้งถาม พลางนั่งลงข้างอำนวยและดื่มเบียร์ที่อำนวยรินให้

“ผมอยากพิมพ์หนังสือของคุณ เรื่อง The Sight of Future Siam ผมทราบจากวีรพันธุ์ว่าคุณไม่ต้องการพิมพ์ ไม่ว่าจะพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษหรือแปลเป็นไทย แต่คุณจะว่าอย่างไรถ้าผมจะส่งไปพิมพ์ต่างประเทศและจำหน่ายในต่างประเทศ ผมรู้จักเจ้าของสำนักพิมพ์บางแห่งที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งพร้อมที่จะรับพิมพ์หนังสือใดๆ ตามคำขอร้องของผม”

รุ้งมิได้เคยนึกว่าจะได้รับข้อเสนอเช่นนี้ การส่งหนังสือไปพิมพ์ต่างประเทศเป็นเรื่องนอกวงคำนึงของเขา

“ผมอ่านหนังสือนั้นตลอดแล้ว เห็นว่าเป็นหนังสือที่สำนักพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้คงพอใจที่จะเป็นผู้พิมพ์และจำหน่าย ชื่อเสียงของคุณจะกระจายทั่วโลก และเมื่อคำนวณคร่าวๆ ผมคิดว่าผมอาจหาลาภให้คุณได้สักหมื่นบาท ซึ่งผ่อนจ่ายให้คุณเดือนละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาทจนกว่าจะครบ”

“แต่ผมเขียนอนาคตของประเทศไทยสำหรับคนไทย เหตุใดควรให้ชาติอื่นได้อ่านก่อน?”

อำนวยยิ้มเมื่อได้ฟังคำคัดค้านของรุ้ง “ถ้าคุณจะพิมพ์หนังสือเช่นนี้ในเมืองไทย คุณก็ต้องรอให้เขาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบเลิกบทเฉพาะกาลและมีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน ลองพิมพ์เวลานี้สิ ถ้าไม่ถูกจับก็เคราะห์ดี คุณก็รู้แล้วว่าผู้นำในวังปารุสฯ เขาทนไม่ได้ที่จะยอมให้มีคนพูดเสียงที่แปลกไปจากเสียงของเขา”

“ถ้าผมตกลง..”

“อย่ามีคำว่าถ้าเลยน่า” วีรพันธุ์ตัดบท “อำนวยพูดถูกแล้ว แกมองไม่เห็นหรือว่าเงินหนึ่งหมื่นบาทมันมากพอที่จะทำให้แกถูกนักประพันธ์อื่นๆ อิจฉา พิมพ์หนังสือในประเทศมีกำไรน้อย แล้วยังใกล้คุกใกล้ตะรางอีกด้วย”

“ตกลงนะ” อำนวยพูด

รุ้งพยักหน้า

“ถ้าไม่ตกลงก็โง่เหลือเกิน” วีรพันธุ์กล่าวต่อไป “ในระหว่างของสองอย่างคือเงินกับคุก ใครบ้างจะเลือกเอาคุก เอาซี ดื่มกันต่อไปเถอะ”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ