บทที่ ๗

“เธอเห็นจะไม่รู้จักอุไรวรรณ” น้าของรุ้งเอ่ยขึ้นวันหนึ่งหลังจากเสร็จการอบรม และรุ้งได้รับอนุญาตให้ลามาพักบ้าน จนกว่าจะถึงวันทำพิธีที่กระทรวงกลาโหม ในการอ่านพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ

เรือนที่รุ้งพักนั้นเป็นเรือนสองชั้นทรงปั้นหยา สร้างอยู่ในเขตพื้นที่อันเดียวกับเรือนโบราณ ซึ่งน้าของเขาพัก เรือนเล็กนี้เดิมเคยให้เช่าเดือนละ ๑๕ บาท เดี๋ยวนี้น้าสะอาดยอมสละรายได้นี้โดยเห็นแก่หลานชาย ยิ่งกว่านั้นแกยังจัดหาเครื่องเรือน เครื่องใช้สอย เสื้อผ้า อาหารให้เขา และมอบเงินให้เขาใช้สอยเป็นครั้งคราวโดยพอแก่ความจำเป็น วิสัยหญิงที่ไม่มีบุตรของตนเองย่อมพอใจที่จะได้บุตรบุญธรรม รุ้งจึงได้รับความเอาใจใส่จากน้าของเขาเท่ากับบุตรควรจะได้รับจากมารดา แต่รุ้งไม่ต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้ว่าในสภาพบุตรบุญธรรมนี้ เขาจะต้องทำตนเป็นเด็กยอมให้น้าปรนนิบัติและเสี้ยมสอนทุกอย่าง นับแต่วันแรกมาถึง รุ้งก็ได้เริ่มเข้ามาอยู่ในระเบียบที่น้าของเขากำหนดขึ้น เช่นจะต้องล้างหน้าด้วยน้ำลอยดอกมะลิเพื่อสวัสดิมงคล จะต้องตื่นนอนแต่เช้า จะต้องกินอาหารที่น้าตั้งใจทำไว้ให้เขาโดยเฉพาะ จะต้องนอนหันศีรษะไปทางตะวันออก จะต้องไม่ออกจากบ้านโดยไม่รายงาน นอกจากนั้นเขาได้ถูกบังคับให้ไปรดน้ำมนต์ และได้ถูกยื่นรายชื่อบุคคลสำคัญซึ่งมีอิทธิพลในวงการเมือง ซึ่งเคยเป็นมิตรหรือเป็นญาติผู้ใหญ่ เพื่อให้รุ้งไปเยี่ยมคำนับ ความเอาใจใส่ต่อรุ้งเช่นนี้มิได้ทำให้เขาชอบใจหรือขอบใจ เขาไม่ชอบถูกปกครองในเมื่อเขาโตพอที่จะปกครองตนเองได้แล้ว แต่เขาเข้าใจความจำเป็นว่าสัญชาตญาณแห่งความเป็นแม่ ได้ทำให้น้าสะอาดเห็นเขาเป็นเด็กน้อยซึ่งควรแก่ความเอ็นดู และต้องให้ความคุ้มครองทุกฝีก้าวจึงจะปลอดภัย ถ้าหากรุ้งไม่ยอมให้แกช่วยเหลือและปกครอง แกจะไม่มีความสุข เพราะสัญชาตญาณแห่งความเป็นแม่มิได้รับการปฏิบัติ เขาจึงยอมอยู่ใต้คำแนะนำหรือคำบังคับของแก

“อุไรวรรณหรือครับ” รุ้งกล่าวทวนคำ “เห็นจะเป็นหม่อมเจ้าหญิงอีกองค์หนึ่งกระมัง”

“ไม่ใช่จ้ะ เป็นคนธรรมดา”

รุ้งนึกถึงคนที่เขาได้ไปเยี่ยมคำนับมาแล้วตามคำสั่งของน้ารวม ๖ คน คนแรกคือพระยาพิศาลคณิตศาสตร์ อธิบดีกรมวิทยาลัย ผู้เคยชมเชยรุ้งว่าเป็นคนหนุ่มเฉลียวฉลาด อยากจะได้รับราชการด้วย คนที่สองคือเจ้าอาวาสวัดราชบุตราธิบดี ท่านเคยเอาดวงชะตาของรุ้งไปตรวจแล้วทำนายว่าจะได้เป็นคนใหญ่คนโต คนที่สามเป็นเจ้า พระสหายของพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งไม่ยอมให้เฝ้า โดยอ้างว่าประชวร คนที่สี่เป็นสหายของท่านรัฐมนตรีกลาโหมซึ่งแนะนำให้รุ้งไปหารัฐมนตรีผู้นั้น เพื่อว่าจะได้รับความกรุณาในเรื่องอาชีพเป็นพิเศษ คนที่ห้าเป็นคุณท้าว นัยว่าร่ำรวยมาก ท่านผู้นี้เทศนารุ้งว่าไม่ควรไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และขอร้องว่าถ้าเห็นแก่ท่านละก็ ขอให้เลิกเป็นนักการเมืองเสียทีเถิด คนที่หกเป็นผู้ก่อการ ท่านผู้นี้ทักทายว่า “สบายดีหรือ?” คำเดียว แล้วก็เดินหนีไป

รุ้งคิดว่าผู้ที่เขาจะต้องไปเยี่ยมเป็นคนที่เจ็ดก็คืออุไรวรรณ ผู้ซึ่งอาจมีอิทธิพลในวงการเมืองหรือการค้า

“เรื่องไปเยี่ยมคำนับนี่เห็นจะพอแล้วละกระมังครับ” รุ้งกล่าวขึ้นด้วยแสนจะระอาใจ “ทั้งหกท่านที่ผมไปเยี่ยมแล้ว ต่างก็ได้ช่วยกันแสดงความจริงแก่ผมว่า ในโลกปัจจุบันนี้เขาถือคติตัวใครตัวมัน ขออย่าให้ผมไปรบกวนเขาอีกเลย”

น้าสะอาดพูดอย่างจึงขังว่า “ใครจะถือคติอะไรก็ช่างเขาเถิด แต่เธอจะถือคตินั้นอย่างนั้นด้วยไม่ได้ เพราะชีวิตของเธอยังอยู่ในอันตรายรอบด้าน เธอจะต้องหัดทำตัวอ่อนน้อมต่อผู้มีอำนาจ อย่าให้เขาเห็นเธอเป็นศัตรู เขาจะเป็นใครมาจากไหนก็อย่าเอาใจใส่เลย เมื่อเขาเป็นนายแล้วก็ต้องกราบไหว้ คนชั้นพระยาเดี๋ยวนี้ก็พากันหมอบกราบ “คุณหลวง” หัวถลาตามๆ กัน เธอเป็นเด็กเล็กเท่านี้จะทำมือแข็งอยู่อย่างไรได้ อีกประการหนึ่ง คนไหนพอจะเป็นมิตรกับเราได้ ก็ต้องคบเข้าไว้ก่อน มนุษย์เราจำต้องมีเพื่อน มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนอยู่นอกโลก ถ้าเธอจะเป็นพ่อค้า การคบเพื่อนก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้น...”

รุ้งฟังคำแนะนำของน้าด้วยความอึดอัดคับใจ เขารู้ว่ามีคุณค่าสูง ซึ่งการปฏิบัติตามนี้ต้องถือว่าจำเป็น เช่นเดียวกับน้ำไหลเชี่ยวเราต้องไม่ขวางเรือ ถ้ารุ้งทำตามน้าว่าก็เหมือนพายเรือตามน้ำ เขาจะดำเนินอาชีพค้าขายหรือรับราชการก็เหมือนกัน ในเมื่อเขาสิ้นรังเกียจเดียจฉันท์แล้ว แต่เหตุผลที่ทำให้เขารังเกียจการรับราชการ เป็นสิ่งมีความสัมพันธ์กับการวางตัวของเขาในสมาคม ความขัดแย้งกันด้วยหลักการ อันเป็นผลร้อนใจน่าจะเป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้น

คำพูดเพียงสองสามคำของน้ากลายเป็นพาหะพาดวงจิตของรุ้งไปเที่ยวในแดนแห่งการปฏิบัติตนตามสมัย ซึ่งเป็นแดนต่างประเทศแก่ใจของรุ้ง สมัยนั้นกิจการทุกสาขาอยู่ในมือของคณะผู้นำแห่งวังปารุสฯ ครั้นแล้วได้เกิดผู้มีอภินิหารสูงเด่นในหมู่ผู้นำอื่นๆ ดุจราชสีห์ในหมู่เสือ ผู้นี้คือหลวงพิบูลสงคราม กฤติยานุภาพของท่านระบือไปตลอดความกว้างและยาวของพระราชอาณาจักร แม้แต่ยังเป็นเพียงรัฐมนตรีกลาโหมก็มีผู้อ่อนน้อม เกรงกลัวยิ่งกว่าตัวท่านนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ท่านเคยแพ้คะแนนนิยมแก่พระยาทรงสุรเดชในสภาผู้แทนราษฎร แต่รัศมีของพระยาทรงฯ เดี๋ยวนี้มืดมัวลง ในระหว่างรัศมีของท่านแจ่มกระจ่างขึ้นทุกขณะ จึงจะเห็นได้ง่ายๆ ว่าไม่ช้าพระยาพหลฯ ซึ่งชะตาตกที่นั่งดวงสุริยาเมื่อถูกราหูอม มิช้าคงต้องละทิ้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้แก่เสือหนุ่มแห่งกองทัพบก กฤติยานุภาพดังกล่าวแล้วได้ทำให้ประชาชนชาวสยาม นับแต่ข้าราชการลงไปถึงพ่อค้าและชาวนาต่างพากันหันหน้ามาหมายพึ่ง ชนเหล่านี้ได้ถูกเหตุการณ์สอนให้เป็นคนขลาด ประจบสอพลอ หมดความเคารพตนเอง เขาจะไม่หวั่นกลัวผู้ก่อการซึ่งชั้นหัวหน้าตั้งสมญาตนเองว่า “สี่เสือ” นั้นกระไรได้ มิใช่ความกำแหงของสี่เสือดอกหรือ วังบางขุนพรหมจึงกลายเป็นวังร้าง และพระปกเกล้าฯ ก็ต้องหลบหนีไปนอกประเทศ “ใครบ้างเป็นขี้ข้าของพวกเจ้า” ดูเหมือนได้มีการสอดส่ายหาตัวคนเหล่านั้นทุกหนทุกแห่ง ข้าราชการจำนวนมากต้องถูกปลดเพราะเป็นพวกเจ้า และอีกจำนวนหนึ่งถูกโยกย้ายไปสุดหล้าฟ้าเขียว ตำรวจซึ่งโดยปกติมีหน้าที่ปราบผู้ร้ายก็ถือเอาเป็นหน้าที่สำคัญอย่างใหม่ในการปราบพวกเจ้า อำนาจของท่านเหล่านี้กระเดื่องขึ้นพร้อมด้วยการบำเพ็ญบารมี กล่าวคือใครเข้ามาเป็นพวกพ้องก็รับไว้ เก้าอี้ของพวกเจ้าวงศ์จักรีในกระทรวงต่างๆ ก็ได้มีเจ้าประเภทใหม่ขึ้นนั่งแทน มิช้าบางคนที่มีหนี้สินท่วมหัวจวนจะถูกฟ้องล้มละลายก็กลายเป็นคนร่ำรวย พวกลูกหนี้ได้เข้าไปอยู่ในคฤหาสน์ของผู้ที่เคยเป็นเจ้าหนี้ พวกเจ้าหนี้หนีไปเดินตรอก พวกขี้ครอกขึ้นรถยนต์ ตัวอย่างที่ได้เห็นนี้จับใจชนทุกชั้น

ไม่มีคำประกาศใดจะดังก้องกว่าประกาศชัยชนะซึ่งทำให้มิตรของฝ่ายแพ้สยองและเรียกร้องความนิยมจากผู้เป็นกลาง ดังนั้นพวกท่านแต่ละท่านต่างก็ห้อมล้อมด้วยบริวาร ดุจเดือนล้อมด้วยดาว บัดนี้ท่านรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้มีบริวารมากที่สุด

การที่ได้รับความสรรเสริญเพียงในวงมิตรสหายนั้น ไม่น่าจะอิ่มหนำแก่หัวใจของผู้คิดการใหญ่ บุรุษผู้พิชิตไม่ว่าในสมัยใดย่อมมิใช่เพียงผู้มีดาบคม แต่ต้องประกอบด้วยบุญญาธิการน้อมใจศัตรูให้กลับสวามิภักดิ์ รุ้งคิดว่าด้วยเหตุนี้กระมัง ท่านรัฐมนตรีกลาโหมจึงปรารถนาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนไทยทั้งชาติ โดยมีตัวท่านเป็นศูนย์กลาง การที่ท่านเปิดประตูคุกบางขวาง ผ่อนเอานักโทษการเมืองชั้นผู้น้อยมารับอบรมนี้ เป็นการกระทำเพื่อเขยิบฐานะของท่านสู่ความเป็นใหญ่ อันตรายอันน่าสะพรึงกลัวจะเกิดแก่นักโทษการเมืองที่ยังไม่ยอมอ่อนน้อม ถ้าหากรุ้งไม่เข้าสวามิภักดิ์แก่รัฐมนตรีกลาโหม เขาจะต้องประสบความยุ่งยากทั้งในชีวิตด้านอาชีพ เขาจะกลายเป็นคนขวางเรือเมื่อน้ำเชี่ยว มิตรจะหันหน้าหนี ส่วนศัตรูสิจะเกิดขึ้นรอบตัว เขาทำสิ่งใดก็จะถูกขัดขวาง แม้กระทั่งตั้งร้านค้าก็คงไม่มีใครกล้าเข้ามาซื้อของ และอาจเป็นได้จนถึงว่าเขาอาจถูกส่งตัวกลับไปเข้าคุก

รุ้งถอนหายใจยาวจนกระทั่งน้าสะอาดได้ยิน เขาอยากให้ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายปล่อยเขาให้อยู่ตามลำพัง เขาจะไม่ขอเกี่ยวข้องกับท่าน จะไม่ช่วยเหลือหรือขัดขวาง จะไม่สรรเสริญหรือนินทา จะไม่อวยพรหรือสาปแช่ง ขอแต่อย่าให้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลายเป็นผู้ทำลายสันติราษฎร์ในกรณีที่เกี่ยวกับเขา

“เธอไม่ต้องถอนใจ” น้าสะอาดกล่าว “น้าไม่อยากฝืนใจเธอหรอก ถ้าเธอไม่ชอบไปหาผู้ใหญ่ น้าก็จะไม่ขอร้องเธอในเรื่องนี้อีก อุไรวรรณที่พูดถึงเมื่อตะกี้ไม่ใช่เป็นผู้ใหญ่ ตรงกันข้าม แกเป็นเด็กน่าเอ็นดูซึ่งน้าอยากให้เธอรู้จักแก อุตส่าห์มาหาเธอถึงที่นี่ถึงสองครั้ง เผอิญไม่พบทั้งสองครั้ง”

“ผมนึกไม่ออกว่าเคยรู้จักคนชื่อนี้ แกคงมีธุระอะไรกระมังครับ”

“แกบอกว่าไม่มีธุระ เป็นเพียงความสนใจอยากรู้จักเธอ เพราะเคยได้ยินชื่อเธอบ่อยๆ แกมากับพี่ชายซึ่งอ้างว่าเป็นเพื่อนของเธอ พี่ชายเป็นนายทหารอากาศรูปร่างอ้วนใหญ่ ดูเหมือนเป็นนาวาตรี อ้อ เขาฝากนามบัตรไว้ให้เธอด้วย รอเดี๋ยวนะน้าจะไปเอามาให้”

“อ๋อ! วีรพันธุ์น่ะเอง” รุ้งร้องขึ้นทันที “แน่ละซีครับ เขาเคยเป็นเพื่อนรักอย่างยิ่งของผม เราคบกันมาตั้งแต่เด็ก แต่เดี๋ยวนี้เขาเฟื่องฟูหรูหรา ส่วนเรากำลังตกอับ เขาจะยังถือว่าเราเป็นเพื่อนอยู่อีกหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ”

“ถ้าไม่ถือว่าเป็นเพื่อนจะอุตส่าห์มาหาถึงสองครั้งละหรือ?” น้าของเขาย้อนถาม “ครั้งแรกมาตั้งแต่เธอยังไม่ได้ปล่อย ครั้งที่สองมาเมื่อวานนี้ตอนจวนค่ำ เขาเขียนข้อความไว้ข้างหลังนามบัตร พลิกดูซี”

ข้อความหลังนามบัตรนั้นดังนี้

เพื่อนรัก

เป็นครั้งที่สองแล้วที่กันมาหาแก อุไรวรรณก็มาหาด้วย ครั้งที่สามแกควรเป็นฝ่ายไปหาเราบ้าง เราย้ายมาอยู่ถนนสีลม ตรอกพระยาพิพัฒน์ เจ้าคุณพ่อสั่งให้บอกว่าคิดถึง

วีรพันธุ์

รุ้งค่อยระลึกขึ้นได้ว่าเขาเคยได้เห็นอุไรวรรณตั้งแต่เธอยังเป็นเพียงเด็กหญิงอายุไม่เกินห้าขวบ โดยวีรพันธุ์เคยชวนรุ้งไปบ้านของเขา ซึ่งอยู่ ณ ถนนลาดหญ้า ธนบุรี ครั้งนั้นท่านเจ้าพระยามหาเทวาฯ บิดาของวีรพันธุ์ยังรับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และวีรพันธุ์เป็นเพื่อนนักเรียนร่วมสำนักกับเขา ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เคยรักกันเหมือนกับมีดวงใจดวงเดียวกัน เคยผิดใจถึงกับต่อยกันครั้งหนึ่ง แล้วก็กอดคอกันร้องไห้ ต่างคนต่างขอโทษที่ตนเข้าใจผิด

“ผมจะต้องไปหาวีรพันธุ์” รุ้งประกาศความตกลงใจออกมา “นี่เป็นคนแรกที่ผมรู้สึกอยากไปพบ เพื่อนคนนี้คงจะไม่ทอดทิ้งผมเป็นแน่ ไม่ว่าในเหตุการณ์ใดๆ”

น้าของเขาแสดงความพอใจในคำพูดนี้ “ได้ยินว่าเขาเป็นคนโปรดของรัฐมนตรี” แกพูดพลางอมยิ้มอย่างมีเลศนัย “เจ้าคุณมหาเทวาฯ น่ะเป็นมหาเศรษฐีทีเดียว เห็นจะมีเงินนับเป็นล้านๆ” แกหยุดนิดหนึ่งก่อนที่จะกล่าวคำซึ่งแกแสดงด้วยสีหน้าว่าเป็นเรื่องสำคัญ “อุไรวรรณสวมแหวนเพชรสีน้ำเงินไม่โตนัก ขนาดเขื่องกว่าเม็ดข้าวโพดสักนิดหน่อย แต่น้ำสวยเหลือเกิน น้าเห็นมานักแล้ว ไม่มีของใครงามเท่านี้ ถ้าพูดถึงราคาก็ต้องว่ากันเป็นเรือนแสน ผู้หญิงทั้งสาวทั้งสวยทั้งรวยเช่นนี้จะหาได้ที่ไหน?”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ