- ปฐมบท
- คำอภิวันทนาการ (ในการพิมพ์ครั้งที่สาม)
- คำนำของผู้เขียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
บทที่ ๒๕
เป็นความเพลิดเพลินที่จะเขียนและได้รับความนิยมชมเชยจากผู้อ่าน หากไม่ได้เงินก็ได้ความอิ่มใจ ด้วยรู้สึกว่างานที่ตนทำนั้นเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แต่ไส้ของรุ้งเริ่มจะแห้งลงจริงๆ เป็นเวลาล่วงมาแล้วสองเดือน นับแต่เขาลาออกจากงานและล่วงมาแล้ว ๒๐ วัน นับแต่ได้รับเงิน ๓๐ บาทจากน้าสะอาดครั้งสุดท้ายซึ่งเขาใช้ไปเกือบหมดแล้ว เป็นเรื่องขมขื่นน่ากลุ้มใจ เมื่อระลึกว่าตั้งแต่ออกจากคุก เขายังหาเงินไม่ได้แม้แต่น้อย และต้องอาศัยน้าตลอดมา เป็นการน่าละอายที่กลายเป็นกาฝากเกาะน้ากินโดยมิได้ตอบแทน รุ้งจึงคอยเวลาด้วยความเร่าร้อน อยากรู้ว่าเขาจะได้รับเงินค่าเขียนหนังสือบ้างหรือไม่ แม้ได้รับแต่เป็นจำนวนน้อยไม่เพียงพอที่จะตอบแทนน้าสะอาดได้ ก็คงเพียงพอที่เขาจะใช้สอยโดยประหยัด อย่างไรก็ตาม เขาตกลงใจว่าจะไม่รับเงินจากน้าอีกต่อไป
เนื่องจากเหตุนี้ เขาจึงเริ่มอดบุหรี่ซึ่งเขาสูบเป็นนิตย์มานานปีแล้ว และเลิกดูภาพยนตร์ซึ่งเขาชอบยิ่งนัก อาหารว่างตอนบ่ายซึ่งเคยเป็นน้ำชาหนึ่งถ้วย กับขนมปังกรอบหรือผลไม้ต้องถูกงด แม้แต่อาหารกลางวันก็ถูกตัดทอนลงเหลือเพียงข้าวราดด้วยแกงเผ็ดหนึ่งจาน หรือก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม เครื่องสำอางเลิกใช้ ความฟุ่มเฟือยต่างๆ ถูกลืม และเขาแสร้งเพิกเฉยต่อความขาดแคลนในเรื่องเครื่องใช้ที่จำเป็นบางอย่าง เขายังคงไปบ้านถนนหลานหลวงในวันอาทิตย์ และไปบ้านศาลาแดงวันเสาร์ แต่เขามิได้ขึ้นรถ เพราะแม้แต่ค่าโดยสารรถรางเพียงระยะละ ๓ สตางค์ ก็กลายเป็นความสุรุ่ยสุร่ายไปเสียแล้ว เป็นการออกกำลังอย่างหนักพอใช้ในการเดินจากบ้านของเขาที่บางขุนพรหมจนถึงบ้านศาลาแดง ซึ่งกินเวลาเกือบสองชั่วโมง กว่าจะถึงศาลาแดงเหงื่อก็ชุ่มโชกคอแห้ง และบางคราวก็หิวอีกด้วย แต่พักเสียหน่อยก็หายเหนื่อย ดื่มน้ำประปาก็พอแก้กระหายได้ และเมื่อเข้าไปในบ้านศาลาแดงแล้วเขาก็จะได้รับค่าชดเชยที่อุตส่าห์มา ที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเป็นวิบากก็ลืมหมด อุไรวรรณจะดูแลให้เขากินจนอิ่ม และวีรพันธุ์จะดูแลให้เขาดื่มจนพอ แต่สองคนนี้ไม่ทราบเลยว่ารุ้งมาถึงบ้านตนได้ด้วยการเดิน
ครั้นแล้วก็ถึงวันคล้ายวันเกิดของรุ้งในรอบปีที่ ๓๓ มันเผอิญเป็นวันเสาร์ เขาจึงได้พบอุไรวรรณที่บ้านศาลาแดง เธอสวมกระโปรงและบลาวซ์ชุดใหม่ ทำด้วยแพรสีชมพู ซึ่งทำให้ดูคล้ายเธอเป็นกุหลาบดอกใหญ่ “ดิฉันต้องเที่ยวให้คำอธิบายแก่ใครๆ หลายคน” เธอพูดกับรุ้งอย่างรื่นเริง “เมื่อถูกเขาทักว่าวันนี้ไม่ใช่วันอังคาร ดิฉันให้ความเคารพแก่วันเกิดของคุณไงคะ”
รุ้งกล่าวขอบใจเธออย่างฟุ่มเฟือย
เขาสนทนากันต่อไปโดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องวันเกิดอีก ถึงกระนั้นรุ้งก็ชื่นใจอยู่ตลอดเวลา ด้วยทราบว่าอุไรวรรณเอาใจใส่ต่อวันเกิดของเขา เขานำความชื่นใจนั้นกลับบ้าน แต่เขาอ่อนเพลียจากการเดิน และเปิดประตูห้องนอนอย่างระโหยโรยแรง แล้วก็ยืนตะลึงอยู่ตรงหน้าห้องนั้นเอง
บนเตียงนอนของเขามีกุหลาบช่อใหญ่ และมีจดหมายสองฉบับวางเคียงกัน
“กุหลาบกับจดหมายหนึ่งฉบับ” น้าของเขาตอบเมื่อรุ้งไปขอทราบเรื่องราว “มีคนนำมาให้เมื่อตอนบ่าย บอกว่าอุไรวรรณส่งมา ส่วนจดหมายอีกหนึ่งฉบับลงทะเบียนนั้นบุรุษไปรษณีย์นำมา”
ซองจดหมายจากอุไรวรรณบรรจุนามบัตรของเธอเขียนไว้หลังนามบัตรสีน้ำเงิน ลายมือจิ๋ว แต่ชัดเจนอ่านง่าย “ขอให้ฤกษ์เกิดนำชื่อเสียงในทางประพันธ์มาให้แคนเตอร์” รุ้งยิ้ม แล้วก็จูบนามบัตรของเธอติดๆ กันหลายครั้ง
เขาคิดว่าจดหมายอีกหนึ่งฉบับคงจะมาจากวีรพันธุ์ จึงประหลาดใจเมื่อฉีกซองพบจดหมายอวยพร ลงชื่ออำนวย ในซองนั้นสอดเช็คมาด้วยหนึ่งฉบับ จำนวน ๒๐๐ บาท
แม้เขาขาดเงินมานาน และเดี๋ยวนี้ได้รับเงินเป็นจำนวนพอที่จะใช้จ่ายอย่างประหยัดไปได้อีกตั้ง ๖ เดือน เขาก็ไม่สู้ยินดีในการรับเงินคราวนี้เท่าใดนัก จิตใจของเขากำลังตื่นเต้นอยู่เป็นอันมากในช่อกุหลาบและคำอวยพรจากอุไรวรรณ
เขาโยนจดหมายลงไปที่เดิม แล้วหยิบช่อกุหลาบขึ้นมาชม ดมกุหลาบรุนแรงจนกลีบร่วง ปล่อยอารมณ์ให้นึกไปว่าเขาได้จูบแก้มของอุไรวรรณ เขานำช่อกุหลาบไปยังโต๊ะเขียนหนังสือ เพ่งพิศกุหลาบพลางนึกเห็นรูปทรงวงหน้าของดรุณีแสนสวยซึ่งยิ้มกับเขาอย่างแฉล้มแช่มช้อย เขาก็ยิ้มตอบ ดรุณีนั้นเขาค่อยๆ จำได้ขึ้นทีละน้อยว่า คืออุไรวรรณ เขาจึงจูบเธอ แต่เธอก็กลับกลายเป็นช่อกุหลาบ ครั้นเขาเพ่งช่อกุหลาบนิ่งอยู่อีกเพียงครู่เดียว อุไรวรรณก็โผล่หน้าออกมาจากกุหลาบนั้น
เขาหยิบดินสอด้วยความคิดกำลังเฟื่องเต็มที่ คำโคลงไหลมาสู่สมองเขาเกือบไม่ต้องหยุดคิดเลยในการเขียนคำฉันท์ขนาดยาวพรรณนาความงามของกุหลาบซึ่งเป็นอุปมัยแห่งความงามของสตรี
เช้าวันรุ่งขึ้น เขาส่งคำฉันท์นั้นไปให้อุไรวรรณโดยทางไปรษณีย์