คำอภิวันทนาการ (ในการพิมพ์ครั้งที่สาม)

บรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา

“เมืองนิมิตร” คือหนังสือฉบับสมบูรณ์ของ “ความฝันของนักอุดมคติ” ซึ่งรวมคำวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลที่ทรงคุณวุฒิบางท่านซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญที่ควรจะได้นำเสนอนักศึกษาทั่วประเทศ

ผู้เขียน ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ชีวิตตั้งแต่เกิดได้รับการอบรมและแวดล้อมอยู่ในวงการของทหาร ฉะนั้น การศึกษานับตั้งแต่เริ่มต้นจนจบจึงเป็นการศึกษาที่ได้รับมาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกทั้งสิ้น สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ออกรับราชการเป็นนายทหารประจำการกรมมหาดเล็ก ต่อมาย้ายไปเป็นศิษย์การบิน ดำรงยศเรืออากาศโท

วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ อายุ ๒๕ ปี (เบญจเพศ) ต้องออกจากประจำการด้วยกรณีศาลพิเศษในคดีกบฏวรเดช ได้ถูกตัดสินให้จำคุก ๙ ปี แต่ได้รับพระราชทานลดหย่อนผ่อนโทษ คงรับโทษอยู่เพียง ๔ ปีเศษ

ในระหว่างต้องโทษได้เขียนนวนิยายการเมืองบ้าง บทความสั้นๆ เป็นความเรียงบ้าง เป็นคำประพันธ์บ้าง รวมทั้งบทละครทั้งภาคไทยและภาคอังกฤษ ได้สร้างตำราอังกฤษโดยวิธีลัดขึ้น ซึ่งได้ทดลองสอนเพื่อนร่วมโทษด้วยกัน ทั้งหมดนี้มีความตั้งใจว่าถ้าพ้นโทษเมื่อใดก็จะได้จัดการพิมพ์ขึ้น

ครั้น พ้นโทษเข้าจริงความคิดที่จะดำเนินอาชีพอิสระก็เป็นไปไม่ได้นาน เพราะไม่เป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาล ต้องวางปากกาและกลับเข้ารับราชการ

ขณะที่รับราชการอยู่ ณ กรมชลประทาน ได้รับมอบให้เป็นผู้ไปสำรวจคลองไผ่พระ แขวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อพิจารณาสร้างทำนบอยู่นั้น ตำรวจได้เชิญตัวมาคุมขังไว้อีกครั้งหนึ่ง ในข้อหาว่าเป็นผู้ชักชวนผู้คนตระเตรียมสะสมกำลังคิดประทุษร้ายบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล ได้รับราชการตั้งแต่วันพระราชทานอภัยโทษครั้งที่ ๑ จนถึงวันถูกจับครั้งที่ ๒ ประมาณ ๘ เดือนเศษ ต้องถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ต้องติดตะรางโดยที่ตัวเองไม่เคยคิดว่าจะเป็นกบฏ

ในขณะที่ต้องโทษครั้งหลัง ได้เขียน “ความฝันของนักอุดมคติ” ขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลสมัยนั้นไม่ยอมเข้าใจเจตนาอันบริสุทธิ์ของผู้เขียน ได้มีการแปลและสอบสวนต้นฉบับ เห็นว่าเป็นหนังสือที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองอย่างร้ายแรง ต้นฉบับจึงถูกทำลายเสียโดยสิ้นเชิง และตัวผู้เขียนเองก็ถูก “ลิขิตของบ้านเมือง” เนรเทศไปอยู่เกาะเต่า นี่คือเรื่องเศร้าที่ให้บทเรียนแก่ท่านว่าชีวิตของนักคิดนักเขียนในเมืองไทยมักจะอาภัพอับโชคเสมอ

เมื่อได้มีการปลดปล่อยอภัยโทษนักการเมืองทั้งหลายในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมความคิดความเห็น เขียนหนังสือเรื่องนี้เป็นภาษาไทยขึ้นใหม่ ข้าพเจ้าเป็นคนแรกที่ได้อ่านต้นฉบับ รู้สึกตื่นเต้นในความดีของมัน พร้อมกันนั้นก็ให้รู้สึกนึกรักสมองและเคารพปัญญาของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้สู่สายตาประชาชนบ้าง เพราะบางทีความเห็นที่รัฐบาลว่าผิด อาจจะเป็นความคิดความต้องการของประชาชนก็เป็นได้ แต่ผลการจัดพิมพ์ในครั้งนั้นไม่เป็นไปด้วยดี เพราะเราเพ่งเล็งแต่เพียงให้หนังสือได้สำเร็จขึ้นเป็นรูปเล่มเท่านั้น ประกอบกับราคาและคุณภาพของกระดาษเป็นสิ่งที่ให้ความหนักใจ ฉะนั้น “ความฝันของนักอุดมคติ” ที่พิมพ์ครั้งแรกจึงแห้งแล้งไม่สู้จะแพร่หลาย แต่ถึงกระนั้นก็นับว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ไร้ผลเสียเลยทีเดียว ความยินดีที่ต้นฉบับไม่ต้องถูกทำลาย และความปลื้มปีติที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ จึงเป็น “กำไร” ที่ให้ “กำลัง” แก่ทั้งตัวผู้เขียนและข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

แต่เป็นที่น่าเศร้าสลดเพียงไร ถ้าได้ทราบว่าผู้เขียนไม่อาจสนองความหวังดีของผู้อ่านได้ เพราะ “กำลัง” ของผู้เขียนได้อ่อนเปลี้ยไปด้วยมาลาเรียและวัณโรคเรื้อรังที่ปอด ไม่อาจจะต่อต้านมฤตยูผู้เป็นเจ้าชีวิตและไม่รอเวลาให้กับใคร ผู้เขียนได้สิ้นใจไปต่อหน้าต่อตาข้าพเจ้าในตอนบ่ายของวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑

จดหมายชมเชยใครที่จะได้เห็นงานชิ้นต่อไปของผู้เขียน พร้อมทั้งวัตถุตีพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์งานชิ้นนี้ได้ทยอยส่งมายังผู้เขียนอยู่เรื่อยๆ ทำให้ข้าพเจ้าผู้อยู่ข้างหลังต้องหลั่งน้ำตาอยู่คนเดียวและเงียบๆ จนตราบเท่าทุกวันนี้

หนังสือเรื่องนี้เกือบจะนับได้ว่าเป็นอัตชีวประวัติของผู้เขียนเอง ว่าโดยจิตใจ “รุ้ง” ก็คือ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน คำสารภาพใดๆ ที่ “รุ้ง” กล่าวก็เกือบจะนับว่าเป็นคำกล่าวของผู้เขียนเองทั้งสิ้น

...รัฐบาลไม่ช้าก็เปลี่ยนไป และตัวกันเองไม่ช้าก็ตาย แต่หนังสือของกันจะยังอยู่เป็นเข็มทิศชี้ทางเดินแห่งชีวิตอนุชน...นั่นเป็นหน้าที่ของกัน นั่นเป็นเหตุผลที่กันได้เขียนหนังสือเล่มนี้...”

เพียงนี้ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักผู้เขียนดี และพร้อมกันนี้ ก็คงจะเห็นใจและเข้าใจในเจตนาของข้าพเจ้าที่ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้น เพราะอะไรและเพื่ออะไร ถ้าหาก “รอยแห่งความคิด” ที่ได้พิมพ์ประทับอยู่ในหนังสือนี้ จะเป็นตราถาวรที่ติดอยู่กับพื้นแผ่นดินไทยเช่นเดียวกับ “รอยแห่งความรัก” ของเธอที่ทิ้งไว้ให้เป็นเครื่องประทับใจข้าพเจ้า อะไรเล่าที่ข้าพเจ้าจะภูมิใจไปยิ่งกว่านี้

ข้าพเจ้าคิดว่าการจัดทำ “เมืองนิมิตร” ครั้งนี้ คงจะเป็นที่ปีติยินดีแก่ดวงวิญญาณของผู้เขียน ซึ่งหยิ่งในชิ้นงานของเธออย่างยิ่ง ถึงหากจะมีการผิดพลาดประการใด ข้าพเจ้าคิดว่าคุณชายผู้ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงคงจะปรานีต่อความตั้งใจดีของข้าพเจ้า สำหรับในส่วนตัวของผู้อ่านข้าพเจ้าก็หวังจะได้รับความเอ็นดูและให้อภัย เพราะกาลและโอกาสยังไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดทำ แต่ด้วยความรบเร้าและคำแนะนำของท่านผู้ใหญ่และมิตรสหายบางคนเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนและเป็นกำลังใจ ข้าพเจ้าต้องขอจารึก “เพื่อนผู้หวังดี ๒ ท่าน” ที่ได้เป็นแรงหนุนและให้ความช่วยเหลือในการจัดทำหนังสือนี้จนเป็นผลสำเร็จ ข้าพเจ้าขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

บรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา

คู่ชีวิตของผู้แต่ง

๒๔๙๔

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ