บทที่ ๒

ดังนั้นรุ้งก็เป็นผู้หนึ่งในจำนวนคนสิ้นเคราะห์ที่จะได้พ้นเรือนจำไปในวันนี้ เขาอำลาเพื่อนทั้งหลายที่ยังต้องทนทุกข์ต่อไปด้วยหน้าตายิ้มแย้ม เพื่อนก็อวยพรด้วยหน้าตายิ้มแย้มเช่นเดียวกัน แต่มันเป็นเพียงแสงแดดที่ส่องลอดหมอกแห่งความน้อยใจ ไม่มีเหตุผลอะไรที่นายรุ้งควรได้ไปรับอบรมก่อนนายเขียวหรือนายแดง หรือนายดำซึ่งถูกผู้ใหญ่ชักจูงมาทำความผิด นายรุ้งเป็นพลเรือนและไม่มียศก็จริง แต่เขาเป็น “หัวนอก” และใครๆ ก็เห็นว่าเป็น “นักการเมือง” นายผ่อง เพื่อนของรุ้งซึ่งเผอิญได้ไปรับอบรมพร้อมกันก็พลอยถูกริษยาด้วย นายผ่องเป็นร้อยเอกทหารม้าสำเร็จการศึกษาจากอเมริกา ถ้าพูดในแง่การเมือง ผ่องเป็นคนน่าระแวงยิ่งกว่านายแดง นายเขียวและนายดำ อย่างไรก็ตาม เขาทั้งหลายกลั้นความน้อยใจเสีย คิดเอาว่าเป็นโชคดีของผ่องและรุ้ง แต่ปัญหามีว่าเขาทั้งสองจะใช้โชคดีของตนให้เป็นประโยชน์แก่คนอยู่หลังได้อย่างไรบ้าง

ด้วยความคิดเช่นนี้ เพื่อนบางคนจึงดึงแขนรุ้งไปเสียข้างทางแล้วกระซิบ “อย่าลืมพวกเราเสียนา หลายคนแล้วที่ออกไปได้หายหัวเลย ช่างมันเถอะ มันไม่ใช่ลูกผู้ชายจริง พวกเราหวังว่าคุณคงจะไม่เป็นเช่นนั้น”

“จะให้ผมทำอย่างไร” รุ้งถามด้วยความสงสัย

“กู้เกียรติน่ะซีครับ จะทำอะไรได้ก็แล้วแต่โอกาสและน้ำใจ ถ้าเป็นผมๆ จะ...” แล้วเขาก็กล่าวคำอวดอ้างต่างๆ

กับผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ ถ้ารุ้งปลอบโยนว่าความผิดทางการเมืองไม่ทำให้เสียเกียรติก็จะเสมือนเอาน้ำมันไปราดไฟ คนพวกนี้ไม่ใช่นักการเมือง สิ่งล่อใจให้เขาทำงาน รวมทั้งงานกบฏก็คือรางวัลความชอบและชื่อเสียง เขาอาจจะคุยถึงความรักชาติของเขาโดยหารู้ไม่ว่าตนได้สาธยาย “ความรักตัวเอง” มันเป็นเหตุผลอันน่าฟังพอสำหรับเขาที่ว่าการช่วยตัวเองก็คือการช่วยชาติ เมื่อคนเช่นนี้ได้เป็นใหญ่เป็นโตขึ้นก็จะชี้ตัวเองแล้วกล่าวว่า “ฉันนี่แหละคือชาติ” เช่นเดียวกับที่หลุยส์ ๑๔ ตรัสว่า “รัฐคือตัวฉัน” เขามั่งคั่งสุขสบายก็คือชาติเจริญ ครั้นเขาติดคุกเขาก็ว่าชาติกำลังมีภัย รุ้งลงความเห็นว่าการที่เพื่อนเสี้ยมสอนให้เขาคิดกู้เกียรติ และกล่าวอวดอ้างอหังการต่างๆ นั้นเป็นเพียงอารมณ์ร้ายที่เล็ดลอดออกมา ในเวลาใจสงบ คนเหล่านี้จะหาทางวิ่งเต้นประจบผู้มีอำนาจเพื่อขอให้ช่วยออกจากคุกโดยไม่นึกเป็นห่วงเกียรติยศ ครั้นออกจากคุกแล้วก็ประจบขอพึ่งบารมีต่อไปอีก เขาเป็นคนที่รัฐบาลน่าจะสงสารเห็นใจและควรปล่อยตัวไปเสียก่อนที่จะปล่อยคนอย่างรุ้ง

แต่เมื่อถูกขอร้องให้ช่วยกู้เกียรติของเขา รุ้งจะตอบอย่างไรได้เล่า นอกจากยิ้มแห้งๆ อย่างขอไปที การที่ถูกเห็นเป็นนักการเมืองได้ทำให้รุ้งเสวยเคราะห์กรรมมาตลอดเวลา เพราะในยุคแห่งการปกครองด้วยเดชานุภาพนั้น นักการเมืองที่ไม่พูดคล้อยตามรัฐบาลก็คือกบฏ และกบฏที่กลับใจก็คือคน ทรยศต่อตนเอง เพื่อนทั้งหลายเมื่อเห็นว่ารุ้งเป็นคนทำอะไรทำจริง ไม่ยอมท้อถอยต่ออุปสรรค ก็เข้าใจด้วยว่ารุ้งจะดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองไปจนถึงผลชัยชนะ หรือมิฉะนั้นก็บรรลัย

แต่รุ้งเป็นนักการเมืองชนิดที่ใครๆ เข้าใจนั้นหรือ? ถ้าให้รุ้งอธิบายตนเอง เขาคงปฏิเสธ ถึงแม้ว่าเขาสนใจกิจการบ้านเมืองและมีความเข้าใจอย่างดีในสภาพการณ์ทั่วๆ ไป แต่เขาเป็นนักชีววิทยาและอุทิศชีวิตจิตใจให้แก่ศาสตร์นี้ ฉะนั้น เมื่อตำรวจเข้าไปค้นบ้าน เพื่อจะหาหลักฐานว่าเขาคิดกบฏร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดช แทนที่จะพบหลักฐานการกบฏ กลับพบบันทึกผลของการทดลองทางวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ในการทดลอง เพื่อทราบงานแห่งส่วนต่างๆ ของมันสมองให้ก้าวไปกว่าผลแห่งการทดลองของโปรเฟสเซอร์ปาพลอฟอีกสักขั้นหนึ่ง

ชีววิทยาเป็นศาสตร์ที่จับใจรุ้งมาตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี เมื่อโวโรนอฟคิดเพาะต่อมสืบพันธุ์ของลิงลงในร่างมนุษย์นั้น ศาสตราจารย์อื่นๆ บางท่านก็ค้นพบวิธียืดอายุขัยของมนุษย์ บางท่านค้นพบวิธีรักษาโรคจิตจากการวิภาคจิต บางท่านพบวิธีแปลงไม้พันธุ์หนึ่งให้เป็นพันธุ์อื่นซึ่งจะเป็นเหตุให้มีผลไม้และดอกไม้ชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลก ฯลฯ เหล่านี้จึงทำให้มองเห็นว่าชีววิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ที่ถูกเพิกเฉยมานาน บัดนี้ถึงสมัยเบ่งบานขึ้นแล้ว โดยเหตุสามารถเอาไปใช้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันได้ และอาจทำให้ผู้รู้ศาสตร์นี้กลายเป็นคนมั่งคั่งขึ้นโดยเร็ว รุ้งพยายามจะเป็นผู้ไขประตูความลึกลับของชีวิตบางประตู เช่น ความลับแห่งอายุวัฒนะ หรือความลึกลับแห่งจิตตานุภาพ เป็นต้น

โดยมีความตั้งใจจริง หนทางก็เปิดออกให้เขา โดยสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้สำเร็จ บิดามารดาของรุ้งไม่อยากให้ลูกชายไปเรียนต่างประเทศ แกเป็นชาวนาจังหวัดลพบุรี อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบส่งลูกชายคนเดียวผู้นี้มาอยู่กรุงเทพฯ กับน้า เพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนเทพศิรินทร์ ถ้าหากลูกชายได้เป็นข้าราชการแกจะดีใจ แต่การที่จะต้องไปเมืองนอกเสียก่อนนั้นทำให้แกหวั่นว่าจะเป็นการพรากกันตลอดชีวิต และก็เป็นความจริง รุ้งกลับจากประเทศอังกฤษเมื่ออายุ ๒๗ ปี มากราบอัฐิบิดาซึ่งตายแล้วได้ ๔ ปี และกราบมารดาซึ่งกลายเป็นคนทุพพลภาพด้วยโรคชรา เขาได้รับราชการในกระทรวงธรรมการ ในไม่ช้าก็มีชื่อเสียงว่าเป็นคนหัวแข็งและเต็มไปด้วยความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบการต่างๆ ซึ่งคนทั้งหลายเห็นว่ายังใช้ได้ผลดีอยู่

การยึดอำนาจจากพระปกเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ทำให้รุ้งได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น อาจเป็นได้ว่าเพราะเขาเป็นเพื่อนของผู้ก่อการบางคน และประพฤติการณ์ที่แล้วมาแสดงว่าเขาไม่ใช่พวกเจ้า แต่รุ้งก็ไม่สามารถร่วมมือตามนโยบายของคณะราษฎรได้ เขาลาออกในต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๖ คิดว่าจะเอาการทำนาเป็นอาชีพและเอาการทดลองวิทยาศาสตร์เป็นงานอดิเรก จึงอพยพไปสู่ภูมิลำเนาเดิมที่ลพบุรี พอแว่วข่าวกบฏ เขาก็รีบเดินทางถึงนครราชสีมา ในเวลากระชั้นชิดกับพระองค์เจ้าบวรเดช

ในตอนเช้าวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อหน้าประชาชนซึ่งมาชุมนุมกันคับคั่งที่หน้าประตูชุมพลตามคำประกาศ รุ้งได้กล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำจับใจ ซึ่งทำให้หัวใจชาวนครราชสีมาลุกเป็นไฟ พากันไปลงชื่อที่กรมทหารขอรับใช้ชาติบ้านเมือง คำปราศรัยตอนหนึ่งมีความว่า

“พวกท่านได้ยินยอมนิ่งดูดายต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็เพราะคาดหมายว่าสภาพการณ์จะดีขึ้นไม่ใช่หรือ? ท่านสุภาพบุรุษผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริตและมีเกียรติยศ แต่ท่านได้เอาความยุ่งเหยิงมาสถิตแทนความเป็นระเบียบ เอาความแตกก๊กแตกเหล่ามาแทนความสามัคคี การรักษาตัวให้ปลอดภัยโดยตั้งป้อมค่ายขึ้นที่วังปารุสกวัน โดยจัดตำรวจลับออกลาดตระเวนจับคนที่ไม่ยอมเป็นพวกพ้อง โดยโยกย้ายนายทหาร จัดรูปกองทัพสำหรับปราบจลาจลโดยบรรจุคนของตัวเข้าดำรงตำแหน่งชั้นหัวหน้าอย่างไม่คำนึงถึงวุฒิความสามารถ เหล่านี้ได้กระทำไปในนามของราษฎร พวกท่านได้ยอมให้เขาใช้นามของท่านในการปฏิบัติเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงขอถามว่าท่านเห็นดีเห็นชอบกับพวกสุภาพบุรุษแห่งวังปารุสกวันนั้นโดยจริงใจหรือเปล่า? รัฐบาลปัจจุบันนี้อ้างว่าได้จัดตั้งขึ้นโดยคณะราษฎร และเพื่อราษฎร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงท่านก็อาจมีอำนาจที่จะบังคับรัฐบาลให้บริหารในทางที่เป็นประ โยชน์แก่เราทั้งหลายร่วมกัน และมิใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐมนตรีและพวกพ้องของรัฐมนตรีเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนรัฐบาลเสียใหม่...”

คำปราศรัยยังดำเนินต่อไปอีกอย่างยืดยาวเป็นเวลาประมาณ ๓๐ นาทีด้วยความเผ็ดร้อน พอจบคำปราศรัย คนฟังตั้งพันคนก็โห่ร้องขึ้นกึกก้อง บางคนโยนหมวก บางคนแกว่งผ้าเช็ดหน้า บางคนชูกำปั้นพลางร้องขึ้นว่า “เอามัน!” ชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งร้องว่า “พวกเราตั้งขบวนแห่เข้าตลาด” แล้วรุ้งก็ถูกยกตัวขึ้นไปลอยอยู่บนบ่าของชายฉกรรจ์ ๒ คน ราวกับพระนารายณ์ทรงครุฑซึ่งพารุ้งเข้าสู่บริเวณตลาด ติดตามด้วยขบวนยืดยาวมีการเป่าปี่ตีกลองตีกรับและตีปีบ พอมาถึงภัตตาคารใหญ่ รุ้งก็ถูกเชิญเข้าไปในอาคาร แล้วการดื่มฉลองขวัญก็เริ่มต้น

เหตุการณ์มาปรากฏในศาลพิเศษว่าคำปราศรัยนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บันทึกลงสมุดไว้อย่างถี่ถ้วน แล้วรายงานมากรุงเทพฯ รุ้งหมดประตูที่จะแก้คดีให้พ้นผิด จึงไม่ประหลาดใจหรือเสียใจ เมื่อได้ฟังคำตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต แล้วลดฐานสารภาพลง คงเหลือเพียงจำคุก ๒๐ ปี ตั้งแต่ตรวนขนาด ๖ หุน เข้ามาสวมข้อเท้าของเขาแล้ว ชื่อเสียงของเขาในทางเป็นนักการเมืองก็เกิดขึ้น แทนชื่อเสียงในทางเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่รุ้งก็ไม่เคยรู้สึกตนว่าเป็นนักการเมือง ในเวลาเป็นหนุ่มวัย ๓๐ เมื่อเลือดในกายร้อนที่สุด เมื่อตู้ความรู้แห่งมันสมองของเขามีวิทยาการบรรจุอยู่จนเต็มเกือบทุกลิ้นชัก แต่ขาดโอกาสที่จะนำออกใช้ เมื่อกำลังแห่งกล้ามเนื้อและมันสมองขยิกเตือนให้แสวงหาเกียรติคุณจากชัยชนะ ระยะเวลานี้สัญชาตญาณของนักสู้ในตัวรุ้งก็ได้เป็นใหญ่เหนือความถ่อมตัว วิญญาณชนิดนี้เสี้ยมสอนว่า “อนาคตของเจ้าก็คือเส้นทางเดินของเรือซึ่งตัวเจ้าเป็นคนถือท้าย และอนาคตของชาติก็อยู่ในกำมือของประชาชนเช่นเดียวกัน” คำสอนนี้งอกรากออกจากความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นสัญชาตญาณแรงกล้าในมนุษย์ มันทำให้เกิดบุคคลอย่างจูเลียส ซีซ่าร์ นโปเลียน โบนาปาร์ต และ อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์

ในเวลาก่อนการกบฏนั้น รุ้งจึงพิจารณาว่าคนทุกคนย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของชาติร่วมกัน ถ้าอุปสรรคเกิดขึ้นในหนทางความเจริญก้าวหน้าของชาติ ไฉนเล่าลูกหญิงและลูกชายที่ซื่อสัตย์ต่อชาติจึงจะยอมทอดทิ้งดูดาย แล้วโทษเอาว่าเป็นเคราะห์กรรมชะตาร้ายของชาติเอง โชคชะตาของชาติไม่ได้อยู่ในกำมือของคนไทยทั้งหมดดอกหรือ? และถ้าคนอย่างรุ้งก็ทอดทิ้งนิ่งดูดาย จะหวังให้ใครเล่าเป็นผู้ออกกำลังกาย กำลังทรัพย์และกำลังใจ ?

นี่เป็นแนวคิดซึ่งมักร่วมกันในคนจำพวกที่เราเรียกกันว่า “นักการเมือง” คนพวกนี้ดื่มความรักเข้าไปจนมึนเมา อยู่ในสภาพที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “Elation” ซึ่งเป็นสภาพวิกลจริตอย่างอ่อนๆ พวกเขาซึ่งโดยกำเนิดมักเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง และปรารถนาความเป็นใหญ่เหนือผู้อื่นอย่างรุนแรงจนลืมตัวเอง และยอมตัวเป็นทาสของชาติ และเมื่อเขาคิดว่าคนอื่นประพฤติเป็นภัยแก่นายของเขา (ชาติ) เขาก็โจมตี ดังนั้นพวกนักการเมืองที่มองจากคนละแง่ไปยังช้างตัวเดียวกัน จึงจับอาวุธเข้าสู้กัน ฝ่ายชนะจับฝ่ายแพ้เข้าคุกแล้วยิงเป้า แล้วร่าเริงปราโมทย์ว่าตนกำราบศัตรูของชาติได้สำเร็จ

แต่วิญญาณของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเติบโตขึ้นทีละน้อยในตัวรุ้ง มิช้าก็ได้ทำลายความพิจารณาของรุ้งในแนวนี้จนสิ้นไป “อนาคตของเราอยู่ในมือเราจริงหรือ?” รุ้งคิดทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่า จากวรรณคดีกรีกและอินเดีย รุ้งรู้ว่าในโบราณกาลครั้งนั้นมนุษย์ถือว่าโชคชะตาของมนุษย์ได้ถูกจารึกไว้ล่วงหน้าแล้ว กษัตริย์ได้เป็นกษัตริย์ขึ้นก็เพราะถูกเจาะจงให้เกิดมาเป็นกษัตริย์ เราพูดกันติดปากจนมาถึงทุกวันนี้ว่า “จะแข่งเรือก็แข่งเถิดเพื่อนเอ๋ย แต่วาสนาอย่าแข่งกับเขาเลย” คติพจน์นี้คนหนุ่มในรุ่นรุ้งโดยทั่วไปร้องท้าทายว่า “การแข่งขันที่มโหฬารที่สุดก็คือแข่งวาสนา ซึ่งเราทั้งหลายกำลังปฏิบัติกันอยู่เดี๋ยวนี้น่ะซี !” บุพพาจารย์ของความคิดกระแสนี้ก็คือรูซโซ ซึ่งถือว่ามนุษย์มิได้ถูกเจาะจงให้มาเกิดเป็นกษัตริย์หรือเป็นยาจก ที่แท้มนุษย์เกิดมาเท่ากันหมด แล้วภายหลังได้ถูกจัดสรรขึ้นเหลื่อมล้ำต่ำสูงผิดแผกกันไป

แต่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้เสนอความจริงหลายประการ ซึ่งแสดงว่าวาทะแห่งประวัติศาสตร์ของรูชโซไม่เป็นความจริง และเรื่องโชคชะตาที่จารึกไว้ล่วงหน้าก็ไม่จริงเช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์แห่งวิชาว่าด้วยการสืบชาติพันธุ์ เสนอความจริงว่ามนุษย์ต่างกัน ศาสตราจารย์จิตวิทยายืนยันว่า อำนาจตกลงใจเป็นของมนุษย์ ซึ่งเป็นการตรงข้ามกับความเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต แม้ดังนั้น อำนาจในการควบคุมอนาคตของตนเอง ถึงหากมีก็น้อยเต็มที เพราะธรรมชาติยังมีอำนาจเหนือมนุษย์อยู่ เช่น ความหนาว ความร้อน ความชื้น ซึ่งบังคับให้มนุษย์ต้องดัดแปลงตนเองตามไป ยิ่งกว่านั้นสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราย่อมมี อิทธิพลแก่เราไม่มากก็น้อย ซึ่งช่วยกันปั้นปรุงตัวเราและประคองความตกลงใจของเราในทุกๆ กรณี กล่าวโดยสรุปคือมนุษย์ย่อมมีชีวิตภายใต้อำนาจสิ่งแวดล้อม

รุ้งมีความรู้เหล่านี้แล้วตั้งแต่ก่อนติดคุก แต่ความรู้เป็นเพียงอุปกรณ์ และมิใช่เป็นที่เกิดแห่งปัญญา โยคีสาวกองค์หนึ่งของอุททกดาบสได้ทูลเจ้าชายสิทธัตถะก่อนจะเสด็จออกแสวงหาอริยสัจว่า “ที่อยู่ของอาตมาก็คือในป่าหิมวันต์โน้น ในที่วิเวกแห่งหุบเขาลำเนาไพรอันเป็นที่สถิตของปัญญา” แต่ที่วิเวกแห่งแดน ๖ บางขวางก็ได้นำปัญญามาสู่รุ้งได้เหมือนกัน สมาธิอันมีขึ้นจากความบังคับได้กลายเป็นเครื่องมือส่องความจริงแก่รุ้งว่า การที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกบฏนั้นเป็นความเขลา สิ่งที่เรียกว่ารัฐบาลนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบกษัตริยาธิราช หรือแบบโจราธิราช เป็นรัฐบาลรักชาติหรือล้างชาติ เป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน หรือเพื่อตนเองก็ดี มิใช่ว่าคณะรัฐบาลตั้งตัวของเขาขึ้นเป็นรัฐบาลโดยปราศจากอิทธิพลอื่น ความคิดเหล่านี้เป็นความจริงเพียงด้านเดียว ถ้าจะกล่าวให้มีส่วนถูกมากที่สุดก็ต้องว่า รัฐบาลย่อมเกิดขึ้น และจะเป็นแบบใดนั้นก็สุดแต่อำนาจแห่งสิ่งแวดล้อม

สยามเป็นประเทศสุดท้ายที่พลเมืองจัดการให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นัยว่าเพื่อปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ เพราะความนิยมระบอบประชาธิปไตยได้ลุกลามมาถึงเราดุจเดียวกับโรคระบาด เป็นอิทธิพลแห่งสิ่งแวดล้อมซึ่งเหลือกำลังจะต้านทานได้ ครั้นเรากำลังจัดระบอบประชาธิปไตยยังไม่ทันเข้ารูป ในยุโรปก็เกิดลัทธิฟัสซิสม์ขึ้น ซึ่งมิช้าก็เข้าสิงสถิตในจิตใจของคนหนุ่มๆ แทบทั่วโลก จนดูราวกับว่าโลกในอนาคตจะปกครองด้วยลัทธิฟิสซิสม์ ต่อมารัศมีก็พวยพุ่งออกจากตัวท่านผู้นำแห่งเยอรมนี จนกระทั่งแม้แต่เด็กข้างถนนในเมืองไทยก็ยังออกชื่อฮิตเล่อร์ ทำท่าทางอย่างฮิตเล่อร์ ภายใต้กรณีเช่นนี้ เราจะหลีกเลี่ยงได้หรือที่จะไม่เกิด “ท่านผู้นำแห่งประเทศไทย” กับเขาบ้าง?

รัฐบาลของพระยาพหลฯ ซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดชพยายามจะโค่นล้มเสียนั้น จะดีหรือชั่วอย่างไรมิใช่ปัญหาที่รุ้งจะควรนำมาพิจารณา เพราะว่าเหตุการณ์อันประกอบขึ้นเป็นสิ่งแวดล้อมได้บันดาลให้เราจำต้องมีรัฐบาลอย่างนั้น และจะแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นในเวลานั้นหาได้ไม่ รุ้งเชื่อในความสุจริตใจของนักการเมืองฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชในอันที่จะเร่งสถาปนาระบอบประชาธิปไตย แต่รุ้งเห็นเสียแล้วว่านั่นเป็นสิ่งพ้นวิสัยที่จะทำได้ หากการกบฏเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้กระทำสำเร็จ ความพยายามในการจัดระบอบประชาธิปไตยก็จะต้องล้มเหลวไป ภายใต้ความขัดข้องอันจะผุดขึ้นเผชิญหน้านานาประการ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ