บทที่ ๑๗

รุ้งอดทนทำงานในห้างสยามเครื่องเขียนมาจนเกือบหกเดือนโดยไม่ได้รับเงินเดือนเลย เขาต้องทนรับความดูหมิ่นจากเพื่อนผู้เข้าใจว่าเขาเดินแต้มต่ำในการดำเนินอาชีพ และทนรับความหยาบคายจากหัวหน้างาน หรือความกักขฬะของผู้มาติดต่อในการค้า ซึ่งเห็นว่าเสมียนไม่ใช่ชนชั้นที่ควรจะได้รับคำพูดสุภาพหรือไพเราะ ข้อร้ายที่สุดเขาต้องทนต่อความรู้สึกอัปยศในใจของตนเองที่ต้องอาศัยน้ำพักน้ำแรงของน้าตลอดมา ฉะนั้นเขาจึงประหยัดการใช้จ่ายลงทุกที่จนแทบเสมอกับเด็กนักเรียนเท่านั้น

ในปลายเดือนที่หก ผู้จัดการทั่วไปได้แจ้งให้รุ้งทราบว่าเขาจะได้รับเงินเดือนในอัตรา ๓๐ บาท เย็นวันนั้นเขาได้ปรึกษาน้าสะอาดว่าเขาควรรับเงินเดือนในอัตรานี้หรือไม่ น้าสะอาดว่าดุเขาโดยกล่าวว่า “น้าไม่ได้บอกเธออยู่เสมอดอกหรือว่า ถ้าไม่ได้รับเงินเดือนเท่าเพื่อนฝูงละก็ป่วยการไปทำกับเขา น้าขายหน้าในการที่เธอไปเป็นเสมียนของแขกให้เขาใช้หัวปักหัวปำ โดยได้เงินเดือนเพียง ๓๐ บาท” ดังนั้นเช้าวันรุ่งขึ้น รุ้งจึงแจ้งแก่สมุหบัญชีของบริษัทว่าเขาปฏิเสธที่จะรับเงินเดือนในอัตราใดๆ ที่ต่ำกว่า ๘๐ บาท สมุหบัญชีได้ยินแล้วก็หัวเราะ และบอกว่าผู้จัดการแผนกขายเครื่องเขียนซึ่งเป็นหัวหน้าของรุ้งได้รับเงินเดือนเพียง ๗๐ บาท ผู้จัดการทั่วไปเดือนละ ๑๒๐ บาท และตัวเขาเองได้ ๕๐ บาทเท่านั้น

รุ้งมิได้คาดหมายว่าบริษัทจะอนุมัติอัตราเงินเดือนนั้นแก่เขา และมิใช่เขาไม่รู้ว่านายอาลาบัดผู้เป็นหัวหน้าของเขาได้เงินเดือนเพียง ๗๐ บาท เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปว่า คนทำงานบริษัทนี้ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าแห่งอื่น นายห้างได้จัดการประกาศรับสมัครคนทำงานในเมืองบางแห่งของอินเดีย ได้มีการคัดเลือกแล้วก็ออกค่าเดินทางให้เขามากรุงเทพฯ ในฐานะเช่นนี้คนงานก็กลายเป็น “พวกพึ่งบุญ” ของนายห้าง “ถ้าแกบ่นว่าเงินเดือนน้อยก็เชิญไปทำที่อื่น” และ “ถ้าแกเกียจคร้าน ฉันจะเฉดแกไป” คนเหล่านี้อาศัยตึกตอนหลังของห้างเป็นที่นอน เขากางมุ้งเรียงกันเป็นแถวมองดูเหมือนสภาพโรงฝิ่น ถึงเวลากินก็มีอาหารเลี้ยง ฉะนั้น แม้เงินเดือนจะน้อยก็พอจะทนอยู่กันไปได้ เพราะเมื่อมนุษย์คนไหนปลอดภัยในเรื่องอาหารและเรื่องหลังคาคุ้มหัวจากแดดกับฝนแล้ว ปัญหาอื่นก็นับว่าไม่รุนแรงนัก เงินเดือนเป็นเพียงเงินประจำกระเป๋าซึ่งบางคนยังสามารถเก็บหอมรอมริบจนมากขึ้นเป็นเงินก้อน แล้วให้เขากู้ ถ้าหากรุ้งจะคิดพึ่งเงินเดือนของบริษัทสยามเครื่องเขียน เขาก็จะต้องประพฤติตนดุจชาวอินเดียนอื่นๆ จึงจะพ้นความเดือดร้อน

ความเป็นไปของนายอาลาบัดเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับหยิบยกมาพิจารณา เงินเดือนเพียง ๗๐ บาทไม่ทำให้แกเดือดร้อนหรือนึกน้อยใจ ถ้าแกอยากได้เงินเดือนมากกว่านี้ แกก็ไม่เคยออกปากให้ใครได้ยินเลย แกเช่าเรือนเล็กๆ แสนสกปรกหลังหนึ่งที่ปลายถนนทรงวาด เสียค่าเช่าเดือนละ ๗ บาท ค่าเสื้อผ้าและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอีกประมาณ ๒๐ บาท เหลือนอกนั้นเก็บไว้ให้เขากู้ คิดดอกเบี้ยร้อยละสิบถ้ามีหลักทรัพย์เป็นประกัน หรือร้อยละยี่สิบถ้าเอาเกียรติยศเป็นประกัน แกมาทำงานตั้งแต่เช้า ตรวจงาน สั่งงาน ให้คำแนะนำ ให้คำดุ ให้คำด่า กว่าจะกลับบ้านก็จวนค่ำ และขายสินค้ารายใหญ่ๆ คิดเฉลี่ยวันละ ๒๐ ราย ซึ่งเป็นรายได้บริษัทประมาณวันละหนึ่งหมื่นบาท กำไรส่วนมากเข้ากระเป๋าของนายซัลวาลผู้ถือหุ้นใหญ่ เพียงหนึ่งในสิบของกำไรเท่านั้นที่เอามาแบ่งกันในระหว่างคนงานทั้งหลาย

สภาพที่ได้เห็นนี้ทำให้รุ้งนึกเป็นวงกว้างออกไปในปัญหาเศรษฐกิจและอื่นๆ นายซัลวาลก็มั่งมีเหลือล้นแล้ว ยังจะคิดกอบโกยเอาเงินไปไหนกันอีก เมื่อไรจะรู้จักพอสักที เมื่อไรจึงจะยอมสละรายได้ของตนไปเพิ่มให้ลูกจ้าง หลายคนตอบเสียงเดียวกันว่าไม่มีวันเป็นเช่นนั้นเลย ถ้ากล่าวตามคำของพระพุทธเจ้า ก็คืออภิซาวิษม์โลภเข้าครอบงำนายซัลวาล แต่รุ้งเห็นว่าแท้ที่จริงสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้นายซัลวาลกอบโกยทรัพย์ไว้ก็คือความกลัว หาใช่ความโลภไม่ คนจนผู้ใดก็ตาม เมื่อจนอยู่นั้นน้ำใจกล้าเพราะไม่มีอะไรจะต้องเสีย ครั้นร่ำรวยขึ้น เกิดมีทั้งทางได้และทางเสีย เลยกลายเป็นคนขลาด ยิ่งรวยมากก็ยิ่งกลัวความจน การดิ้นรนหนีความจนเป็นอันไม่มีที่สิ้นสุด แต่การได้ทรัพย์มาเข้ากระเป๋าเรา ย่อมเกิดพร้อมกับมีผู้เสียทรัพย์ไปจากกระเป๋าท่าน ฉะนั้นจะหนีความจนได้ก็โดยเหยียบไหล่คนอื่น ในที่นี้นายซัลวาลเหยียบไหล่คนทำงานของตนสู่ความเป็นเศรษฐี และพวกคนทำงานเหล่านั้นเพื่อรับใช้นายจ้างโดยซื่อสัตย์ได้เหยียบไหล่คนอื่นๆ ต่อไปอีก ในที่สุดผู้รับเคราะห์ก็คือลูกค้าซึ่งได้ถูกสูบเลือดไปทุกคราวที่ได้ซื้อสินค้าจากบริษัทนี้

นี่คือ “ชั้นวรรณ” ซึ่งแบ่งกันอยู่ในใจทางเศรษฐกิจ นายซัลวาลอยู่ในชั้นสูงสุด เขาเป็นนายทุนขนาดใหญ่ซึ่งมีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทอุตสาหกรรมและบริษัทการค้าที่สำคัญแทบทุกแห่ง พระปกเกล้าฯ เป็นเจ้าแห่งแผ่นดิน นายซัลวาลเป็นเจ้าแห่งเงิน ถัดจากนายซัลวาลมาก็มีพวกเศรษฐีชั้นย่อยๆ แล้วก็ถึงบุคคลชั้นนายอาลาบัดซึ่งนับว่าเป็นผู้มีอันจะกิน ต่อมาก็คือพวกคนทำงานของบริษัทสยามเครื่องเขียนซึ่งเทียบกับพวกพ่อค้าย่อย มีเงินทุนเล็กน้อยพอครองชีพ ถัดจากนั้นเป็นพวกต้นตะกรนรายจ่ายท่วมรายได้หรือพวกหาเช้ากินค่ำ เป็นพวกตกปลักทางเศรษฐกิจ เป็นพวกที่ถูกรังแกกดขี่โงหัวไม่ขึ้น เป็นพวกที่คาร์ลมาร์กซ์เรียกว่า Proletariat (ไร้หลักทรัพย์) เป็นพวกที่คณะพรรคคอมมิวนิสต์ในทุกประเทศพยายามช่วยเหลือจะให้เป็นผู้ถือบังเหียนเศรษฐกิจแทนพวกเศรษฐีเสียบ้าง

ในทางเศรษฐกิจ รุ้งก็เป็นคนหนึ่งในจำพวกที่ตกอยู่ในปลัก แต่เขาไม่ต้องการความช่วยเหลือของพวกคอมมิวนิสต์ และมีความหวังว่าตัวเขาเองจะเป็นพ่อค้าชั้นนายทุนได้ แต่เขาเพิ่งรู้สึกเป็นครั้งแรกหลังจากได้ตรวจดูสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้แล้วว่า ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไหนที่ควรปรารถนาเลยสักอย่างเดียว

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ