บทที่ ๑๖

รุ้งกำลังฟังเพลง “พาสทอรัล” ของบีโธเฟนซึ่งอุไรวรรณเป็นผู้เล่น ระหว่างเวลาหลายเดือนตั้งแต่เขาพบกัน อุไรวรรณได้เล่นเปียโนให้เขาฟังหลายครั้งแล้ว ตามความจริงรุ้งไม่สนใจในดนตรี แต่เขาคลั่งในตัวนักดนตรีผู้นี้อย่างเหลือล้น มองดูนิ้วของเธอที่ไต่ไปตามกุญแจเสียงของเปียโน พลางเขาเปรียบเทียบนิ้วเหล่านั้นกับปีกนกเขา ซึ่งคลื่ออกกระพือเล่นลม มองดูคอของเธอจากเบื้องหลัง ขณะที่เธอนั่งอยู่ที่เปียโน โดยมิรู้ตัวว่าถูกมอง เขานึกเห็นไปว่าคอของเธอก็คือก้านคอของดอกไม้ขนาดใหญ่ ดวงหน้าของเธอเป็นดอกไม้ สีชมพูของกุหลาบยังไม่น่าดูเท่าสีชมพูที่แก้มของเธอ และความม้วนเป็นคันศรของกลีบกุหลาบก็ไม่เจริญตาเท่ารูปคันศรแห่งริมฝีปากของเธอ ผิวของเธอปลั่งเป็นน้ำนวลอวบเนื้อ ดูน่าจะอ่อนนุ่มละมุนมือถ้าได้สัมผัส เขาตะลึงมองเธออย่างหลงใหล หารู้ไม่ว่าเพลงพาสทอรัลได้จบลงนานแล้ว ครั้นเธอหันหน้ามาทางเขา ก็เป็นโอกาสให้เขาได้ชื่นชมความงามแห่งดวงตาของเธอ ซึ่งไม่ควรเทียบเพราะว่าดีกว่าดาวในท้องฟ้า ซึ่งถึงแม้ส่องแสง ก็มิได้แสดงรูปเหมือนดังดวงตาของเธอ

“เป็นยังไงคะ?” เธอถามเมื่อเห็นรุ้งมองดูเธออย่างใจลอย “เชิญออกมาจากทุ่งหญ้าเสียทีเถอะค่ะ”

“ทุ่งหญ้าไหน?”

“พาสทอรัลแปลว่าทุ่งหญ้าไงคะ”

“ผมไม่ได้หลงทางในทุ่งหญ้า แต่ผมหลงนักดนตรี”

“คุณหมายถึงท่านอาจารย์บีโธเฟน ดิฉันก็หลงท่านเหมือนกัน ซิมโฟนีชิ้นที่หกนี้เป็นชิ้นเอก ข้อน่าประหลาดก็คือท่านเขียนพาสทอรัลเมื่อหูของท่านหนวกหมดแล้ว ท่านได้ยินเสียงดนตรีจากสวรรค์จริงๆ ทีเดียว”

แล้วอุไรวรรณ ก็บรรยายถึงกำเนิดของพาสทอรัล เริ่มด้วยการที่ท่านอาจารย์เดินมือไพล่หลังผ่านไปในไร่นาซึ่งชาวนากำลังเก็บเกี่ยวพืชผลของตนอยู่ทั่วไป ขณะนั้นท้องฟ้าชอุ่มด้วยเมฆฝน แล้วมิช้าฝนก็กระหน่ำลงมา แล้วเธอจบคำบรรยายของเธอด้วยคำถามว่า “เมื่อดิฉันกำลังเล่นนั้น คุณได้ยินเสียงพายุไหม?”

“พายุไหน? อ๋อ พายุในเพลงของบีโธเฟน เปล่าครับ ผมไม่ได้ยิน” แล้วรุ้งก็เลยสารภาพต่อไปว่า เขาไม่สนใจในดนตรียิ่งไปกว่าผู้แสดงดนตรี

“ดิฉันสังเกตมานานแล้วว่าคุณ Unmusical ดิฉันแปลว่า ไม่รู้รสดนตรี จะถูกหรือไม่?” อุไรวรรณพูดแปรเรื่องที่กำลังหันมาทางตัวเธอไปสู่ทางอื่น “ถ้าคนที่รู้รสดนตรีได้ฟังเพลงนี้ ก็จะรู้สึกคล้ายไปเดินตามท่านอาจารย์เข้าไปในทุ่งด้วย และต้องเปียกน้ำฝน แล้วก็เห็นท้องฟ้าอันกระจ่างหลังจากฝนตก ได้เห็นชาวนาออกมาจากเรือนพำนัก เพื่อทำงานที่ทิ้งค้างไว้เมื่อก่อนฝนตกนั้นต่อไป และได้ฟังเพลงที่พวกเขาร้องด้วยความสำราญบานใจ แต่คุณเป็นนักประพันธ์ จึงเป็นธรรมดาที่ไม่รู้รสดนตรี”

รุ้งสนใจขึ้นมาทันที “ความสามารถในทางประพันธ์” รุ้งกล่าว “ควรส่งเสริมให้รู้รสดนตรีได้ลึกซึ้งกว่าธรรมดา ทำไมจึงกลายเป็นเหตุขัดขวาง”

“เพราะว่าดนตรีเป็นภาษาสวรรค์ ส่วนถ้อยคำและโคลงฉันท์เป็นเพียงภาษามนุษย์ คนที่รักถ้อยคำจนถึงน้ำให้เกิดนิสัยเป็นนักประพันธ์ย่อมยากที่จะเข้าสู่ภาษาสวรรค์ได้ คำร้องของเพลงเมื่อสอดเข้าไว้ในเพลงใดก็ทำให้เพลงนั้นทรามลง เท่ากับเอาเสียงมนุษย์ไปร้องผสมกับเสียงเทพธิดา ดนตรีประกอบเครื่องมือที่ไม่มีคำร้องเท่านั้นที่ดิฉันนิยม”

คำอธิบายของอุไรวรรณนี้ เมื่อฟังในครั้งแรกรุ้งยังไม่เข้าใจดีนัก นึกเพียงพยักเพยิดรับทราบไว้ ในแทบทุกปัญหาที่เกี่ยวด้วยศิลปะ อุไรวรรณเป็นผู้ไขให้รุ้ง แต่อุไรวรรณกลับเป็นฝ่ายฟังบ้างเมื่อกล่าวถึงปัญหาฝ่ายวิทยาการ บางคราวศิลปะกับวิทยาการก็สอดคล้องในหลักเดียวกัน เช่นในเรื่องที่กวีมักเป็นผู้ไม่รู้รสดนตรี เมื่อรุ้งนำไปคำนึงก็เห็นมีคำไขอยู่ในชีววิทยา ซึ่งปรากฏว่ามนุษย์บางพวกคิดด้วยวิธีนึกเห็นภาพ และบางพวกคิดด้วยวิธีนึกได้ยินเสียง พวกแรกนั้นถ้าใครเล่าเรื่องให้เขาฟัง เขาต้องนึกเห็นภาพตามคำเล่านั้นได้ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจเลย แต่พวกหลังต้องนึกได้ยินเสียง พวกหลังนี้ที่มีประสาทไวอย่างสูงสุด ก็คือนักดนตรี และพวกแรกที่มีประสาทไวก็คือพวกนักประพันธ์และกวี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ