๓๗

เมื่อพระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ได้เสวยราชนั้นปีมะเส็ง ครั้นบ้านเมืองเรียบร้อยเป็นสุขแล้ว จึงไปสร้างเมืองใหม่อยู่ที่ตำบลเพ่งเอี๋ยง แล้วรับสั่งให้ปลูกโรงขึ้นหลายโรงไว้สำหรับเลี้ยงคนชราพิการและคนไข้เจ็บไม่มีญาติพี่น้อง แล้วให้จัดคนที่ไข้เจ็บนั้นให้อยู่เป็นพวก ๆ กันตามอาการโรค ประทานหมอหลวงรักษาแล้วให้ตั้งโรงทาน มีจีนแสสอนหนังสือบุตรและหลานราษฎรที่ยากจน พระราชทานเงินหลวงให้จีนแส แต่หัวเมืองทั้งปวงนั้นให้ขุนนางเจ้าพนักงานมีหนังสือไปให้จูเฮ้าผู้รักษาเมืองทั้งปวง เลี้ยงคนชราพิการไข้เจ็บให้มีหมอรักษา แล้วให้ตั้งโรงจีนแสสอนหนังสือเหมือนในเมืองหลวง แล้วจึงตรัสแก่ขุนนางทั้งปวงว่าเราได้เป็นกษัตริย์ขึ้นแล้ว ต้องทะนุบำรุงราษฎรให้มีความสุขด้วยกันทั้งแผ่นดิน ซึ่งเราปล่อยนักโทษเสียนั้นเพราะเราเห็นว่าซึ่งราษฎรกระทำความผิดมีโทษนั้น เหตุเพราะเราผู้เดียวมิได้ประพฤติการที่จะให้ราษฎรมีความสุข ราษฎรทั้งหลายจึงได้พากันประพฤติการที่ชั่วทุจริตและกระทำการชั่วต่าง ๆ จึงได้มีความผิดเป็นนักโทษ ต้องจำจองทนทุกข์เวทนาแสนลำบาก เห็นเหตุดังนี้เราจึงปล่อยนักโทษเสีย ซึ่งเราให้ตั้งโรงทานเลี้ยงคนชราพิการกำพร้าอนาถาหาญาติพี่น้องมิได้นั้น เหตุเพราะเรามิได้ทำการให้ราษฎรมีความสุข จำจะต้องผ่อนปรนไปตามการ อนึ่งคนสี่จำพวกคือ คนแก่ไม่มีภรรยาเป็นคู่ปรึกษาทำมาหากินนั้น ตัวก็ชรามิรู้ที่จะทำการสิ่งใดได้ คำจีนเรียกว่า กวน คนจำพวกนี้สมควรที่เราจะอุปถัมภ์เลี้ยงดู คนจำพวกหนึ่งคำจีนเรียกว่า กัว คือ หญิงชราไม่มีสามีนั้น ก็เป็นคนอนาถาควรที่เราจะอุปถัมภ์ คนจำพวกหนึ่งคำจีนเรียกว่า ต๊อก คือคนชราไม่มีบุตรและธิดาที่จะปรนนิบัติเลี้ยงดู คนพวกนี้ควรที่เราจะปรนนิบัติเลี้ยงดูให้บริบูรณ์ด้วยเป็นคนชราสูงอายุ คนจำพวกหนึ่งคำจีนเรียกว่า โกว คือทารกที่ไม่มีบิดามารดา ก็เรียกว่าคนกำพร้าหาที่พึ่งมิได้ ควรที่เราจะอุปถัมภ์เลี้ยงดู คนสี่จำพวกนี้สมควรที่เราจะอุปถัมภ์ ต้องทะนุบำรุงเป็นอย่าง ๆ อนึ่งคนที่พิการไข้เจ็บนั้น เรามีความเมตตากรุณาเปรียบเหมือนหนึ่งว่าตัวเราพิกลไข้เจ็บก็เหมือนกัน เหตุดังนั้นเราจึงให้ตั้งโรงหมอและโรงทานใหญ่ไว้สำหรับเลี้ยงรักษาคนเหล่านี้ อนึ่งคนซึ่งเกิดในแผ่นดินของเรานี้ ถ้าเป็นคนเขลาไม่รู้จักหนังสือและการงานสิ่งใดแล้ว ก็เหมือนหนึ่งเราเป็นกษัตริย์หาปัญญามิได้ เพราะเราพิจารณาเห็นเหตุดังนี้ เราจึงให้ตั้งโรงจีนแสสอนหนังสือและวิชาการต่าง ๆ พวกขุนนางก็พากันถวายคำนับแล้วทูลสรรเสริญว่า พระองค์ทรงพระสติปัญญาและทรงพระเมตตาบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้มีความสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน พระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ตั้งพระทัยทะนุบำรุงราษฎรอยู่เป็นนิจ ตั้งแต่นั้นมาราษฎรมีความสุขเป็นอันมาก พากันสรรเสริญพระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ว่าทรงพระเมตตาทะนุบำรุงเปรียบเหมือนฤดูทำนา ราษฎรปรารถนาให้มีฝนตกฝนก็ตกลงมา ประการหนึ่งทรงพระเมตตามีพระทัยสอดส่องทั่วทั้งอาณาเขตนั้น เปรียบดังดวงพระอาทิตย์และดวงพระจันทร์ซึ่งส่องโลกให้สว่าง ครั้งนั้นเมืองประเทศราชก็มาจิ้มก้องคือนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย บ้านเมืองก็เรียบร้อยเป็นปกติด้วยมิได้มีศึกสงคราม เครื่องทรงและเครื่องใช้สอยในหลวงนั้น พระองค์รับสั่งให้ใช้แต่อย่างกลาง บรรดาพระราชวงศานุวงศ์และขุนนางทั้งปวงก็พากันประพฤติตามพระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ ๆ จึงตรัสแก่ขุนนางว่า เราตั้งใจทะนุบำรุงให้ขุนนางและราษฎรมีความสุข ธรรมเนียมสิ่งใดยังบกพร่องพอจะคิดกระทำขึ้นได้นั้น ขอท่านทั้งปวงจงได้ให้สติตักเตือนแต่เราด้วยจะได้ทำสร้างขึ้น ขุนนางจึงทูลว่าซึ่งพระองค์โปรดให้ตั้งโรงเลี้ยงคนชราพิการและคนไข้เจ็บให้หมอรักษา และให้มีจีนแสครูสอนหนังสือแก่ราษฎรนั้น ราษฎรพากันรู้วิชาการมีความสุขเจริญกว่าแผ่นดินก่อน ๆ เป็นอันมาก พวกราษฎรสรรเสริญว่าพระองค์มีพระเดชพระคุณดุจพระอาทิตย์และพระจันทร์ พากันมีใจสามิภักดิ์รักใคร่พระองค์ดังบิดามารดา อนึ่งพระองค์ให้เอาเงินในพระคลังออกทำทานนั้น เงินในคลังสิ้นไปสองส่วนจะเหลืออยู่สักส่วนหนึ่ง เห็นว่าผลประโยชน์ซึ่งพระองค์ได้นั้นน้อย ที่จะเสียไปนั้นมาก พระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้จึงตรัสว่า เจ้าแผ่นดินมีเงินจับจ่ายใช้ราชการพอปีหนึ่ง ๆ ก็ดีอยู่แล้ว แล้วเงินที่จ่ายไปนั้นใช่ว่าจะตกไปอยู่เสียแผ่นดินอื่น ๆ ก็หามิได้ ก็คงอยู่ในแผ่นดินของเรา ซึ่งเราจะเก็บทองเงินเข้ามั่วสุมไว้เหมือนเศรษฐีและราษฎรนั้นไม่ควร ด้วยเศรษฐีและราษฎรไม่ใช่เจ้าของแผ่นดิน เป็นแต่ผู้มีทรัพย์จึงต้องรวบรวมเก็บรักษาทรัพย์ไว้ นิสัยเป็นเจ้าแผ่นดินนั้นก็ต้องรักษาแผ่นดินและทะนุบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้บริบูรณ์ และทรัพย์ซึ่งอยู่ในแผ่นดินนั้นก็เหมือนของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน ถ้าเกิดทัพศึกขึ้นแล้วเงินในพระคลังไม่พอจะจ่ายใช้สอย พวกลูกค้าเศรษฐีก็ต้องช่วยเจือจานเป็นการแผ่นดินอยู่เอง ท่านขุนนางทั้งปวงอย่าวิตกด้วยเงินในคลังน้อยเลย เราเห็นว่าแผ่นดินนั้นเป็นคลังพระราชทรัพย์อยู่แล้ว ถ้าเรารักษาให้แผ่นดินเป็นสุขอยู่ทรัพย์นั้นจะไปไหนเสีย ถ้าคิดให้ไพร่บ้านพลเมืองมั่งคั่งบริบูรณ์ก็จะเป็นเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเจ้าแผ่นดินจะวิตกไปด้วยทองและเงินในคลังนั้นหาควรไม่ ครั้นตรัสดังนั้นแล้วก็เสด็จเข้าข้างใน ครั้งนั้นน้ำค้างก็ตกลงมามีรสหวานเหมือนน้ำตาลทั่วทั้งแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง พวกขุนนางได้ฟังพระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ตรัสดังนั้นก็พากันสรรเสริญต่าง ๆ แล้วว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ๆ นั้นท่านไม่ได้ตรัสดังนี้เลย พระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ตรัสดังนี้คือท่านไม่มีความโลภ ซึ่งเจ้านายพระทัยดังนี้ก็เป็นบุญของพวกเราและราษฎรทั้งปวง ขอให้พระองค์มีพระชันษายืนไปให้ได้หมื่นปีเถิด ครั้นพูดจากันแล้วต่างคนต่างไปบ้าน

ฝ่ายราษฎรทั่วทั้งอาณาเขตก็สรรเสริญพระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ทุก ๆ หัวเมือง จูเฮ้าผู้รักษาเมืองก็ทำหนังสือบอกข้อความที่ราษฎรสรรเสริญพระเดชพระคุณเข้ามาให้ขุนนางทูลพระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ทุกประการ พระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ทราบความดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วคงจะมีความผิดบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งราษฎรพากันสรรเสริญเราดังนี้เหลือเกินไปเราหาสู้ชอบใจไม่

ขณะนั้นเป็นฤดูหนาว พระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้ทรงฉลองพระองค์ทำด้วยขนสัตว์ต่าง ๆ แล้วตรัสแก่ขันทีว่า แต่เราอยู่ในพระราชวังเป็นที่กำบังมิดชิด แล้วแต่งตัวเครื่องกันหนาวนั้นก็มาก แต่กระนั้นยังไม่ค่อยจะหายหนาว ก็ราษฎรยากจนอยู่ที่แจ้งเครื่องแต่งตัวก็น้อยจะมิหนาวหนักหรือ เราจะต้องคิดจัดแจงให้ราษฎรมีความหนาวน้อยลงจึงจะควร ขันทีจึงทูลว่า พระองค์อย่าได้ทรงพระวิตกถึงราษฎรเลย ด้วยราษฎรนั้นเนื้อหยาบ พระองคนั้นผิวพระมังสังละเอียด แล้วของซึ่งเสวยนั้นก็ไม่เหมือนกับราษฎร ๆ นั้นมีเสื้อสวมกายอยู่สักชั้นหนึ่งสองชั้นก็กันหนาวได้ ถ้าหนาวจัดขึ้นก็พากันผิงไฟพอประทังหนาวได้ พระเจ้าเงี่ยวเต้ฮ่องเต้จึงตรัสว่า เราทำการสิ่งใดก็ปรารถนาจะให้ราษฎรเป็นสุข บัดนี้พวกจูเฮ้าผู้รักษาเมืองมีหนังสือสรรเสริญเรามานั้น เราเห็นว่าเหลือเกินแก่เหตุการณ์ที่เราได้กระทำ ธรรมดาเกิดมาเป็นมนุษยให้รู้จักประมาณของตน โดยเขาจะสรรเสริญยอยศหรือเขาจะติเตียน ก็อย่าได้มีความยินดีและมีความโกรธ ให้พิเคราะห์ฟังดูคำที่เขากล่าวนั้นก่อน ถ้าเห็นว่าเป็นคำสมควรแก่การแล้วก็ให้นิ่งไว้แต่ในใจ ถ้าเห็นว่าเป็นคำติเตียนถูกต้องแก่การแล้ว ก็ให้ละเว้นความชั่วที่โลกเขาติเตียนนั้นเสีย อุตส่าห์ประพฤติแต่การที่ดีให้ยิ่งขึ้นไปจึงจะควร และเมื่อครั้งแผ่นดินก่อนนั้นท่านได้ทรงจัดแจงทำตำราละยิดขึ้นถึงสามครั้งการก็ยังไม่สำเร็จ เราจะต้องคิดทำต่อไปให้รู้ฤกษ์บนนั้นด้วย และการซึ่งจะให้รู้ในฤกษ์บนนั้นยังไม่มีตำราและแบบแผน เราจะต้องประชุมพวกนักปราชญ์ให้ช่วยคิดกระทำขึ้น ถ้าคิดทำขึ้นได้สำเร็จแล้วก็จะเป็นประโยชน์ มีความสุขแก่ราษฎรเป็นอันมาก อุปมาเหมือนคนตามัวได้ใส่แว่นให้ตาสว่าง พวกนักปราชญ์ได้ฟังรับสั่งดังนั้นแล้ว ก็พากันไปตรึกตรองคิดทำตำราละยิดอยู่

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ