- ๑
- ๒
- ๓
- ๔
- ๕
- ๖
- ๗
- ๘
- ๙
- ๑๐
- ๑๑
- ๑๒
- ๑๓
- ๑๔
- ๑๕
- ๑๖
- ๑๗
- ๑๘
- ๑๙
- ๒๐
- ๒๑
- ๒๒
- ๒๓
- ๒๔
- ๒๕
- ๒๖
- ๒๗
- ๒๘
- ๒๙
- ๓๐
- ๓๑
- ๓๒
- ๓๓
- ๓๔
- ๓๕
- ๓๖
- ๓๗
- ๓๘
- ๓๙
- ๔๐
- ๔๑
- ๔๒
- ๔๓
- ๔๔
- ๔๕
- ๔๖
- ๔๗
- ๔๘
- ๔๙
- ๕๐
- ๕๑
- ๕๒
- ๕๓
- ๕๔
- ๕๕
- ๕๖
- ๕๗
- ๕๘
- ๕๙
- ๖๐
- ๖๑
- ๖๒
- ๖๓
- ๖๔
- ๖๕
- ๖๖
- ๖๗
- ๖๘
- ๖๙
- ๗๐
- ๗๑
- ๗๒
- ๗๓
- ๗๔
- ๗๕
- ๗๖
- ๗๗
- ๗๘
- ๗๙
- ๘๐
- ๘๑
- ๘๒
- ๘๓
- ๘๔
- ๘๕
- ๘๖
- ๘๗
- ๘๘
- ๘๙
- ๙๐
- ๙๑
- ๙๒
- ๙๓
- ๙๔
- ๙๕
- ๙๖
- ๙๗
- ๙๘
- ๙๙
- ๑๐๐
- ๑๐๑
- ๑๐๒
- ๑๐๓
- ๑๐๔
- ๑๐๕
- ๑๐๖
- ๑๐๗
- ๑๐๘
๘๗
ฝ่ายเสียงก๊กครั้นได้เลื่อนที่เป็นเสียงเหาแล้วคิดจะทำนุบำรุงอุยอ๋องให้มีสง่าเป็นที่ยำเกรงแก่หัวเมืองทั้งปวง วันหนึ่งเสียงเหาเข้าไปเฝ้าอุยอ๋อง ครั้นอุยอ๋องออกว่าราชการแล้ว เสียงเหาจึงทูลอุยอ๋องว่า แต่ก่อนเจ๋ฮวนก๋งกับจิ้นบุนก๋งขึ้นไปเฝ้า ทำราชการมีความชอบ พระเจ้าเมืองหลวงจึงตั้งเป็นเมืองเอก ได้ว่ากล่าวหัวเมืองทั้งปวงจึงเกรงกลัว ซึ่งไตอ๋องได้เป็นเจ้าขึ้นครั้งนี้นอกรับสั่งยังหาเป็นเกียรติยศไม่ ขอให้แต่งเครื่องบรรณาการขึ้นไปเฝ้า ให้มีรับสั่งตั้งแต่งไตอ๋องขึ้นเหมือนเจ๋ฮวนก๋งจะได้ว่ากล่าวหัวเมืองทั้งปวง หัวเมืองทั้งปวงจึงจะยำเกรง จึงสั่งให้ตระเตรียมผู้คนแลล่อเกวียนบรรทุกเครื่องบรรณาการ ถึงวันฤกษ์ดีก็ออกจากเมืองเจ๋จะไปเฝ้าพระเจ้าเมืองหลวง
ฝ่ายพระเจ้าจิวอันอ๋องเสวยราชสมบัติในเมืองตังจิวได้หกปี ขุนนางไพร่บ้านพลเมืองก็เบาบาง หัวเมืองก็ตั้งตัวเป็นเจ้าแข็งเมืองขึ้นเป็นหลายเมือง ทรงพระวิตกเสียพระทัยนัก พอขุนนางพนักงานเข้ามาเฝ้าทูลว่าเจ้าเมืองเจ๋มาถึงจะเข้ามาเฝ้าก็ดีพระทัย จึงสั่งขุนนางทั้งปวงให้ตีม้าล่อรับเจ้าเมืองเจ๋ ฝ่ายเจ้าเมืองเจ๋ครั้นมาถึงเมืองหลวงเข้าหาขุนนางผู้ใหญ่ให้พาเฝ้าทูลถวายเครื่องบรรณาการ พระเจ้าจิวอันอ๋องจึงตรัสว่า หัวเมืองเอกทั้งห้าหัวเมืองก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นสิ้นแล้ว ท่านมาหาเรา เราขอบใจนัก จึงให้ขุนนางจัดเครื่องแก้วอันวิเศษและเครื่องยศมาพระราชทานเจ้าเมืองเจ๋เป็นอันมาก แล้วให้เมืองเจ๋เป็นหัวเมืองเอกเหมือนครั้งเจ๋ฮวนก๋ง เจ้าเมืองเจ๋ครั้นได้เลื่อนที่เป็นหัวเมืองเอกสมความคิดก็ยินดี คำนับรับเครื่องยศและสิ่งของซึ่งพระราชทาน ครั้นพระเจ้าเมืองหลวงเสด็จขึ้นแล้วก็ออกมาอาศัยอยู่ที่กงก๊วนสามราตรี
ครั้นรุ่งขึ้นเช้าเจ้าเมืองเจ๋เข้าไปเฝ้าทูลลา พระเจ้าเมืองหลวงจึงสั่งแก่เจ้าเมืองเจ๋ว่า ทุกวันนี้หัวเมืองทั้งปวงกระด้างกระเดื่องนัก บัดนี้ท่านก็ได้เป็นที่แทนเจ๋ฮวนก๋งได้บังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงแล้ว ท่านจงไปทำนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขเถิด เจ้าเมืองเจ๋ก็ถวายบังคมลาออกมาจากที่เฝ้า มาถึงกงก๊วนจัดแจงสิ่งของซึ่งพระราชทานนั้นบรรทุกเกวียนยกออกจากเมืองหลวง แล้วจึงแต่งหนังสือให้ม้าใช้ถือไปบอกแก่หัวเมืองทั้งปวงว่า อุยอ๋องขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าเมืองหลวงโปรดให้ว่ากล่าวบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงเหมือนครั้งเจ๋ฮวนก๋ง ม้าใช้ได้หนังสือคำนับลาออกมาขึ้นม้าแยกทางไปตามอุยอ๋องสั่ง อุยอ๋องก็รีบยกไปเมืองเจ๋
ฝ่ายเจ้าเมืองฌ้อ เจ้าเมืองงุย เจ้าเมืองหัน เจ้าเมืองเตียว เจ้าเมืองเอี๋ยน ครั้นรู้หนังสือแล้วก็นัดกันมาพร้อม ณ เมืองเจ๋ ทั้งห้าหัวเมืองก็นำสิ่งของเข้าไปคำนับเจ้าเมืองเจ๋ เจ้าเมืองเจ๋ก็แต่งโต๊ะเลี้ยงตามธรรมเนียม ครั้นห้าหัวเมืองกินโต๊ะแล้วก็ลาเจ้าเมืองเจ๋กลับไปเมือง ขณะนั้นในเมืองจิ๋นบังเกิดฝนตกทั้งสามวัน เม็ดฝนนั้นเหมือนสีทอง ฝ่ายกุนสูเซียมโหรเมืองตังจิวรู้เหตุแล้วทอดใจใหญ่ว่าเมืองจิ๋นนั้น พระเจ้าเมืองตังจิวพระราชทานให้ได้เป็นเมืองเอกมาถึงร้อยปีเศษแล้ว บัดนี้ฝนตกประหลาดจะเกิดผู้มีบุญเป็นเจ้าเมืองใหญ่ ชะตาบ้านเมืองจะเกิดความสุข
ฝ่ายกงซุนเอียงเป็นเชื้อเจ้าเมืองโอย ได้เรียนวิชาลึกซึ้งเห็นว่าเมืองโอยเป็นเมืองน้อยก็ไม่สำแดงวิชา รู้ข่าวว่าโจกี๋เสียงก๊กเมืองเจ๋มีสติปัญญาตั้งอยู่ในสัจธรรมมั่นคงควรจะเป็นที่พึ่งได้ กงซุนเอียงก็ไปทำราชการอยู่ด้วยโจกี๋ โจกี๋เห็นว่ากงซุนเอียงมีสติปัญญาก็รักใคร่ จะคิดการสิ่งใดก็ปรึกษากงซุนเอียง กงซุนเอียงก็ชี้แจงว่ากล่าวถูกต้องตามขนบธรรมเนียมทุกประการ โจกี๋เห็นว่ากงซุนเอียงรู้การรอบคอบควรจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่ได้ คิดจะพาเข้าไปให้อุยอ๋องตั้งเป็นขุนนาง พอเกิดโรคป่วยลงจึงให้ขุนนางคนสนิทนำอาการป่วยเข้าไปแจ้งแก่อุยอ๋อง อุยอ๋องรู้ก็ตกใจจึงพาขุนนางทั้งปวงไปเยี่ยมถึงบ้านโจกี๋เห็นอาการไข้นั้นหนัก อุยอ๋องก็มีความอาลัยกลั้นนํ้าตามิได้ ยกมือเสื้อขึ้นเช็ดนํ้าตาพลางว่าแก่โจกี๋ว่า ท่านป่วยครั้งนี้เราเห็นอาการโรคนั้นหนัก ถ้าท่านหาบุญไม่แล้วจะได้ใครเป็นที่ปรึกษาเราแทนท่านเล่า โจกี๋นอนป่วยอยู่ลุกนั่งมิได้ ได้ฟังอุยอ๋องถามจึงพยักหน้าเชิญอุยอ๋องเข้ามานั่งชิดพูดแต่เบาๆ บอกว่า ซึ่งท่านจะจัดหาผู้มีสติปัญญาเป็นที่ปรึกษาช่วยทำนุบำรุงแผ่นดินแทนตัวข้าพเจ้านั้น มีอยู่คนหนึ่งชื่อกงซุนเอียงเป็นเชื้อวงศ์กับเมืองโอย กงซุนเอียงมาอยู่ด้วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะพาเข้าไปคำนับท่าน พอข้าพเจ้าป่วยลงจึงมิได้พากงซุนเอียงเข้าไป อันกงซุนเอียงคนนี้มีสติปัญญาดีกว่าข้าพเจ้าสักสิบส่วนอีก ถ้าท่านจะชุบเลี้ยงกงซุนเอียงจงเลี้ยงให้ถึงขนาด ถ้าไม่เลี้ยงให้จับตัวฆ่าเสีย แม้นมิฆ่าละไว้ให้ไปอยู่เมืองอื่นท่านจะเป็นอันตราย
อุยอ๋องได้ฟังดังนั้นก็ถอนใจใหญ่ แล้วคิดว่าโจกี๋ป่วยพูดเพ้อไปจะให้เราเอาคนต่างเมืองที่ไม่เคยใช้สอยตั้งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ จะเชื่อฟังเอาถ้อยคำมิได้ อุยอ๋องคิดแล้วจึงตอบว่า กงซุนเอียงกับเรายังไม่คุ้นเคยกันจะตรึกตรองดูก่อน ท่านจงอุตส่าห์รักษาตัว เดชะบุญยาชอบโรค โรคก็จะค่อยบรรเทาคลาย อุยอ๋องก็กำชับแพทย์ให้ประจำอยู่รักษาพยาบาลโจกี๋แล้วก็กลับเข้าวัง
ฝ่ายเซียงก๊กโจกี๋ครั้นอุยอ๋องกลับไปแล้ว จึงเรียกกงซุนเอียงเข้าไปบอกความตามได้พูดกับอุยอ๋องให้ฟัง แล้วว่าเราได้ว่ากล่าวแก่อุยอ๋องจะให้ตั้งท่านเป็นขุนนางแทนที่เรา อุยอ๋องยังอิดเอื้อนอยู่ว่าไม่คุ้นเคยกับท่าน เราก็ป่วยหนักอยู่ ท่านจงให้กงจูเจียงพาเข้าไปให้อุยอ๋องใช้สอยให้คุ้นเคย จะได้เห็นสติปัญญาท่านว่าชั่วและดีก่อน ถ้าหาบุญเราไม่อุยอ๋องจะได้ปรึกษาหารือการที่จะทำนุบำรุงเมืองเจ๋ให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป โจกี๋สั่งให้ไตหูกงจูเจียงให้พากงซุนเอียงเข้าไปคำนับอุยอ๋อง ไตหูกงจูเจียงก็พากงซุนเอียงเข้าไปเฝ้าอุยอ๋องแล้วแจ้งความว่า เสียงก๊กให้ข้าพเจ้าพากงซุนเอียงเข้ามาเฝ้าให้ไต้อ๋องใช้ อุยอ๋องได้ฟังก็หัวเราะแล้วว่าขุนนางคนเก่าที่มีสติปัญญาก็ยังมีอยู่เป็นหลายคน ถึงโจกี๋จะสิ้นชีวิตแล้วก็พอจะจัดแจงคนอื่นขึ้นเป็นเสียงก๊กแทนโจกี๋ได้อยู่ แล้วโจกี๋ป่วยหนักลงครั้งนี้ เราดูเห็นจะหลงพูดเพ้อไปว่ากงซุนเอียงเป็นคนดีมีสติปัญญานั้นเรายังหาเชื่อไม่ อุยอ๋องก็ว่าราชการพาลอื่นไปจนพ้นเวลาก็เข้าไปที่ข้างใน ไตหูกงจูเจียงก็พากงซุนเอียงกลับมาบ้าน กงซุนเอียงจึงคิดว่าโจกี๋ได้ว่าไว้แก่อุยอ๋องให้ตั้งเราเป็นขุนนาง ถ้ามิให้เป็นขุนนางก็ให้ฆ่าเสีย ไตหูกงจูเจียงก็ได้พาเราเข้าไปเฝ้า ดูกิริยาอุยอ๋องว่ากล่าวไม่มีอาลัยเห็นหาเลี้ยงเราไม่ จะอยู่เมืองนี้นานไปภัยจะมีเป็นมั่นคง
กงซุนเอียงคิดจะหนีไปจากเมืองเจ๋ แต่ยังหารู้ว่าจะไปอยู่เมืองใดไม่ก็คิดเรรวนอยู่ พอได้ยินข่าวเล่าลือมาว่าจิ๋นฮวนก๋งเจ้าเมืองจิ๋นเกลี้ยกล่อมทแกล้วทหารผู้มีสติปัญญา กงซุนเอียงก็หนีออกจากเมืองไป ครั้นถึงเมืองจิ๋นก็เข้าอาศัยชาวร้านพักอยู่ประมาณสองสามวัน พอหายเหนื่อยสืบรู้ว่าเกงกั้มขุนนางผู้ใหญ่ เจ้าเมืองจิ๋นนับถือเชื่อฟัง คิดจะเข้าหาเกงกั้มให้นำเข้าไปหาจิ๋นฮวนก๋ง ครั้นเวลาเช้าจึงเข้าไปคำนับเกงกั้ม ณ บ้าน
เกงกั้มเห็นคนแปลกหน้าไม่รู้จัก จึงถามว่าซินแสชื่อไรมาแต่ไหน มาหาเราด้วยธุระสิ่งใด กงซุนเอียงจึงบอกชื่อและแซ่แล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นพี่น้องกับเจ้าเมืองโอย ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในการขนบธรรมเนียมเป็นอันมาก หมายจะช่วยผู้มีบุญบำรุงแผ่นดิน แต่เที่ยวมาเป็นหลายเมืองก็หาผู้ใดจะทำนุบำรุงข้าพเจ้าให้สมควรไม่ ข้าพเจ้าสืบรู้ว่าจิ๋นฮวนก๋งเกลี้ยกล่อมทแกล้วทหารจะหาคนที่มีปัญญา ข้าพเจ้าจึงอุตส่าห์มาไม่คิดแก่ลำบากหมายจะเข้าทำราชการด้วยจิ๋นฮวนก๋ง เกงกั้มได้ฟังดังนั้นก็ยินดีเชิญกงซุนเอียงขึ้นไป ณ ที่หอดูหนังสือ จึงหยิบเอาตำราพิชัยสงครามและอย่างธรรมเนียมจัดแจงการบ้านเมืองและการแผ่นดินแต่ก่อนที่ย่นย่อข้อความไม่จะแจ้งมาซักถามกงซุนเอียงเป็นหลายตำรา กงซุนเอียงก็แก้ไขชี้แจงให้ฟังโดยขึ้นปากเจนใจมิได้ขัดข้อง เกงกั้มรู้ว่ากงซุนเอียงเป็นคนดีมีสติปัญญารู้การลึกซึ้งยิ่งนัก ก็ให้คนใช้ยกโต๊ะมาตั้งเลี้ยงกงซุนเอียง เกงกั้มกับกงซุนเอียงกินโต๊ะเสพสุราพูดกันแต่เวลาบ่ายจนคํ่า จุดตะเกียงพูดไปจนเวลาดึกเที่ยงคืนแล้วเกงกั้มก็จัดแจงที่อยู่ให้กงซุนเอียงอาศัยหลับนอน ครั้นรุ่งเช้าก็พากงซุนเอียงเข้าไป ณ ที่ว่าราชการ จึงให้กงซุนเอียงพักอยู่แต่นอกประตู ตัวเกงกั้มก็เข้าไปคำนับแจ้งความแก่จิ๋นฮวนก๋งว่ามีผู้หนึ่งชื่อกงซุนเอียง มาหาข้าพเจ้าจะให้พาเข้ามาทำราชการอยู่ในท่าน ข้าพเจ้าได้ซักไซ้ไต่ถามทดลองดูโดยการขนบธรรมเนียมและการจัดแจงราชการทั้งปวงก็ว่ากล่าวแคล่วคล่องไม่ขัดขวาง เห็นเป็นผู้มีสติปัญญาโดยแท้
จิ๋นฮวนก๋งได้ฟังก็ยินดีจึงว่า ท่านจงพาตัวกงซุนเอียงเข้ามา เราจะไต่ถามดูก่อน ถ้ากงซุนเอียงมีสติปัญญารู้การลึกซึ้งเหมือนกวนต๋งแต่ก่อนแล้วเราจะตั้งให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ช่วยจัดแจงบ้านเมืองเราให้อยู่เย็นเป็นสุข เกงกั้มก็ออกมาพากงซุนเอียงเข้าไปคำนับจิ๋นฮวนก๋ง จิ๋นฮวนก๋งจึงให้นั่งที่สมควรแล้วว่า เกงกั้มบอกแก่เราว่าท่านรู้การที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองเรายินดีนัก และการซึ่งจะจัดแจงบ้านเมืองให้ราบคาบเป็นที่ยำเกรงแก่หัวเมืองทั้งปวงนั้นจะคิดทำประการใดจึงจะชอบ กงซุนเอียงจึงว่าผู้ซึ่งจะตั้งตัวเป็นใหญ่ปราบปรามศัตรูแผ่นดินให้ราบคาบและจะทำนุบำรุงราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขนั้น ให้ตั้งอยู่ในสัจธรรมเหมือนอย่างครั้งแผ่นดินพระเจ้าเหงียวเต้และแผ่นดินพระเจ้าซุนเต้ กงซุนเอียงก็เล่าเรื่องราวพงศาวดารพระเจ้าเหงียวเต้พระเจ้าซุนเต้ทั้งสองแผ่นดินให้จิ๋นฮวนก๋งฟังมิทันสิ้นเรื่องความ
จิ๋นฮวนก๋งจึงคิดว่ากงซุนเอียงเป็นคนพูดมากไม่ชอบใจ ก็กลับเข้าไปเสียข้างใน เกงกั้มก็พากงซุนเอียงกลับออกมาบ้าน เกงกั้มจึงว่าแก่กงซุนเอียงว่าจิ๋นฮวนก๋งถามท่านแต่การที่จะจัดแจงบ้านเมือง เหตุใดท่านจึงยกเอาเรื่องราวพระเจ้าเหงียวเต้ พระเจ้าซุนเต้ มาเล่าให้ยืดยาวความไปเล่า กงซุนเอียงจึงตอบว่า ซึ่งข้าพเจ้ายกเอาเรื่องราวพงศาวดารผู้มีบุญแต่ก่อนมาเล่าให้จิ๋นฮวนก๋งฟัง หวังจะให้จำไว้เป็นธรรมเนียม จิ๋นฮวนก๋งก็มีสติปัญญาอยู่ เห็นจะจำเรื่องราวที่ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังไว้ตรึกตรอง สักสี่ห้าวันท่านจงพาข้าพเจ้าไปคำนับจิ๋นฮวนก๋งอีกสักครั้งหนึ่ง เกงกั้มก็รับคำ ครั้นถึงกำหนดห้าวัน เกงกั้มจึงเข้าไปคำนับจิ๋นฮวนก๋งแล้วว่า กงซุนเอียงซึ่งข้าพเจ้าพาเข้ามาพูดการแผ่นดินกับท่านยังหาสิ้นความไม่ จะขอเข้ามาคำนับท่านอีกสักครั้งหนึ่ง จิ๋นฮวนก๋งก็ให้หากงซุนเอียงเข้ามาถามด้วยการแผ่นดิน กงซุนเอียงจึงยกเอาเรื่องราวพงศาวดารครั้งพระเจ้าแฮอูเต้และพระเจ้าทังปูเต้ ซึ่งรักษาแผ่นดินอาณาประชาราษฎร์ได้อยู่เย็นเป็นสุขนั้นมาเล่าเป็นธรรมเนียมให้ฟัง
จิ๋นฮวนก๋งได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะแล้วว่า ท่านจำเรื่องราวกษัตริย์แต่ก่อนไว้ได้เป็นอันมาก อันกษัตริย์ซึ่งจัดแจงการแผ่นดินแต่ก่อน กับการที่จะจัดแจงบ้านเมืองทุกวันนี้หาต้องกันไม่ กงซุนเอียงได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่าจิ๋นฮวนก๋งไม่นับถือธรรมเนียมโบราณทั้งนี้จะแกล้งว่าหวังจะทดลองนํ้าใจเราหรือ หรือจะมีอุบายประการใดยังคิดไปมิถึง กงซุนเอียงก็นั่งก้มหน้านิ่งอยู่ พอจิ๋นฮวนก๋งว่าราชการแล้วกลับเข้าไปที่ข้างใน เกงกั้มก็พากงซุนเอียงกลับมาบ้าน เกงกั้มดูกิริยากงซุนเอียงไม่สบาย เกรงกงซุนเอียงจะไปอยู่เมืองอื่นคิดเสียดายกงซุนเอียงนัก จึงให้คนใช้ยกโต๊ะมาตั้งชวนกงซุนเอียงกินโต๊ะเสพสุราแล้วกล่าวเอาใจกงซุนเอียงต่างๆ
วันหนึ่งเกงกั้มเข้าไปคำนับจิ๋นฮวนก๋ง ณ ที่ว่าราชการ จิ๋นฮวนก๋งนั่งกินโต๊ะเสพสุราอยู่ พอเห็นฝูงนกบินมา จิ๋นฮวนก๋งยกจอกเหล้าชูขึ้นแล้วทอดใจใหญ่ เกงกั้มเห็นดังนั้นมิได้แจ้งความคำนับถามว่า ท่านเห็นนกบินมาแล้วทอดใจใหญ่มีความวิตกสิ่งไรหรือ จิ๋นฮวนก๋งจึงตอบว่า เราคิดจะใคร่ได้คนมีสติปัญญาเหมือนกวนต๋งซึ่งเป็นที่ปรึกษาเจ๋ฮวนก๋งเจ้าเมืองเจ๋มาไว้ จะได้เป็นที่ปรึกษาการแผ่นดิน แต่ให้มีหนังสือเกลี้ยกล่อมไปปิดไว้ ณ ที่ประตูเมืองทั้งสี่ทิศหลายเดือนแล้วได้แต่คนที่มีสติปัญญาเป็นประมาณปานกลาง ยังหาสมความคิดไม่ เรามีความวิตกเหมือนดังนกไม่มีปีกหาง ถ้าเราได้คนดีมีสติปัญญาเป็นอย่างยิ่งเหมือนกวนต๋ง มาช่วยคิดอ่านจัดแจงบ้านเมืองให้มีเขตแดนกว้างออกไปแล้ว เราจึงจะมีความยินดีเหมือนดังนกอันมีขนปีกหางงอกบินได้ในอากาศ เกงกั้มจึงว่า กงซุนเอียงเป็นคนดีมีสติปัญญาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าก็พาเข้ามาให้ท่านแล้วท่านก็ไม่ชุบเลี้ยง อันกงซุนเอียงคนนี้มีสติปัญญาถ้าจะเปรียบกับกวนต๋งก็เห็นจะละม้ายคล้ายคลึงกัน ซึ่งกงซุนเอียงเข้ามาเล่าเรื่องราวผู้มีบุญแต่ก่อนทำนุบำรุงแผ่นดินสืบมานั้น หวังจะให้ท่านดูเยี่ยงอย่างจะได้ทำตาม ท่านก็ว่ากล่าวติเตียนเสียว่าฉบับธรรมเนียมแต่ก่อนจะเอามาใช้การแผ่นดินครั้งนี้ไม่ได้ กงซุนเอียงเสียน้ำใจคิดจะไปอยู่เมืองอื่น ข้าพเจ้าเสียดายกงซุนเอียงนัก
จิ๋นฮวนก๋งได้ฟังเกงกั้มสรรเสริญว่ากงซุนเอียงมีสติปัญญาเหมือนกวนต๋งก็ยินดี จึงให้เกงกั้มออกไปพากงซุนเอียงเข้ามาเชิญให้นั่งที่สมควรแล้วว่า เกงกั้มชมว่าท่านรู้จักการบ้านเมืองเป็นอันมาก เราประสงค์จะใคร่ได้คนดีมีสติปัญญามาช่วยคิดอ่านการแผ่นดิน ท่านเข้ามาหาเราครั้งนี้เราถามการที่จะจัดแจงบ้านเมือง ท่านก็มิได้บอกแต่เอาเรื่องกษัตริย์แต่ก่อนมาเล่าให้เราฟังนั้นด้วยเหตุประการใด
กงซุนเอียงจึงตอบว่า ข้าพเจ้าแจ้งอยู่ว่าจะต้องทำนุบำรุงแผ่นดิน แต่หาผู้ใดจะเป็นที่ปรึกษามิได้ ข้าพเจ้าจึงให้เกงกั้มพาเข้ามาคำนับท่าน ซึ่งข้าพเจ้ามิได้บอกการจัดแจงบ้านเมือง นำเอาแต่เรื่องราวกษัตริย์แต่ก่อนซึ่งได้บำรุงแผ่นดินเป็นสุขมาเล่าให้ท่านฟัง หวังจะให้ท่านจำไว้เป็นธรรมเนียมจะได้ทำการทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไป อันประเพณีผู้จะตั้งตัวเป็นใหญ่ปราบปรามแผ่นดินให้ราบคาบ จะใช้ขุนนางและทแกล้วทหารทำการสงครามและจัดแจงบ้านเมืองประการใดก็ดี จงดูเยี่ยงอย่างผู้ฉลาดในการกระจับปี่ทำคันกระจับปี่ต้องด้วยแบบอย่าง เมื่อจะดีดขึงสายขึ้นให้ตึงถึงขนาดดีดตามเพลงเสียงจะเพราะ เมื่อสิ้นเพลงแล้วก็ลดหย่อนสายลงเสีย ซึ่งท่านจะจัดแจงบ้านเมืองให้ราบคาบ และจะใช้ขุนนางทหารทำการศึกและการสิ่งใดก็ให้ตั้งอาชญาสิทธิ์ไว้ให้สิทธิ์ขาด คำอันใดได้ว่าแล้วอย่าคืนหลัง ผู้ทำชอบให้ปูนบำเหน็จ ผู้ทำผิดให้ทำโทษ จงเอาอาชญาข่มนํ้าใจขุนนางทหารให้เกรงกลัว พึงให้บำเหน็จยศศักดิ์แก่ผู้มีความชอบจึงจะมีน้ำใจรื่นเริงมิได้เกียจคร้าน ครั้นการที่ทำสำเร็จแล้วจงลดหย่อนอาชญาลง เหมือนดังผู้ดีดกระจับปี่สิ้นเพลงลดหย่อนสายเสียนั้น ประการหนึ่งเมืองใดขุนนางผู้ใหญ่ไม่มีสัจธรรม คิดอ่านอุบายยุยงเจ้าของตัวให้ทำการผิดอย่างธรรมเนียม ไม่ช่วยบำรุงเอาใจราษฎรให้ไพร่บ้านพลเมืองได้ความยากแค้นเดือดร้อน มีคนชังและนินทาว่าชั่วต่างๆ ขุนนางผู้นั้นก็จะพาให้เจ้าของตัวเสื่อมเกียรติยศด้วย ผู้ซึ่งเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองนั้นมิได้รู้จักเลี้ยงผู้มีสติปัญญา และเอาผู้หาปัญญามิได้มาชุบเลี้ยงให้เป็นใหญ่บังคับผู้มีสติปัญญา ผู้มีสติปัญญาอดทนอยู่มิได้ก็จะพากันหนีไปอยู่เมืองอื่น บ้านเมืองนั้นครั้นหาผู้มีสติปัญญามิได้แล้วก็จะร่วงโรยไปทุกปี เมืองใดเจ้าเมืองรู้จักผู้มีสติปัญญาเอามาชุบเลี้ยงเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ปรึกษาเหมือนดังเจ๋ฮวนก๋งได้กวนต๋งมาไว้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ กวนต๋งก็ช่วยเจ๋ฮวนก๋งจัดแจงการบ้านเมืองเจ๋ให้อยู่เย็นเป็นสุข และฝึกปรือทแกล้วทหาร ตั้งแต่งผู้มีสติปัญญาเป็นขุนนางในตำแหน่งและให้ไปรักษาเขตแดน ทุกตำบลหัวเมืองทั้งปวงก็ยำเกรงสติปัญญาและฝีมือขุนนางทแกล้วทหารเจ๋ฮวนก๋งทั้งแผ่นดิน และความชั่วซึ่งเจ้าเมืองเจ๋เก่าทำไว้ก็เสื่อมหาย สรรเสริญเจ๋ฮวนก๋งว่ารู้จักเลี้ยงคนดีมีอุบาย ปราบปรามคนชั่วซึ่งเป็นเสี้ยนศัตรูบ้านเมืองให้ราบคาบ เมืองเจ๋จึงบริบูรณ์ด้วยสมบัติได้เป็นเมืองเอก
จิ๋นฮวนก๋งได้ฟังกงซุนเอียงว่ากล่าวหลักแหลมนัก จึงว่าทุกวันนี้เราไม่มีผู้ใดเป็นที่ปรึกษา อุปมาเหมือนอยู่ที่มืดจะคิดทำการสิ่งไรก็ทำไปมิสะดวก บ้านเมืองเราทุกวันนี้ก็ร่วงโรยไม่บริบูรณ์เหมือนก่อน ซึ่งท่านจำเรื่องราวโบราณมาเล่าให้เราฟัง และชักทำเนียบอย่างธรรมเนียมมาสั่งสอนเราได้สติ เหมือนดังท่านชักจูงเราออกจากที่มืดได้เห็นแสงพระจันทร์พระอาทิตย์ เราจะตั้งท่านเป็นขุนนางใหญ่ช่วยจัดแจงบ้านเมืองให้ปกติราบคาบได้ที่เขตแดนกว้างขวางออกไปกว่าแต่ก่อนจะได้หรือมิได้ประการใด
กงซุนเอียงจึงว่าซึ่งท่านจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขนั้น จงหาผู้มีสติปัญญาซื่อตรงต่อท่านมาตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการ อันเมืองท่านทุกวันนี้ข้าวปลาอาหารก็ขัดสน ทรัพย์เงินทองในคลังก็เบาบาง จะคิดการขยายแดนมิสะดวก ขอให้จัดแจงชักชวนราษฎรทำไร่นาเรือกสวน เรียกส่วยสาอากรตามพิกัดกฎหมายให้ทรัพย์เงินทองในคลังบริบูรณ์ขึ้นแล้ว จึงให้ฝึกปรือทแกล้วทหารให้ชำนาญในการศึก ผู้ใดมีฝีมือกล้าแข็งก็ให้ปูนบำเหน็จรางวัลตามสมควรแก่วิชา ขุนนางทแกล้วทหารจึงจะมีน้ำใจ ผู้ใดกระทำความผิดลงโทษแต่พอหลาบจำ อย่าทำโทษให้เกินขนาด ถ้าโทษน้อยก็ให้ว่ากล่าวปราบปรามเสียครั้งหนึ่งสองครั้ง คนทั้งปวงจึงจะสรรเสริญ แล้วให้มีนํ้าใจโอบอ้อมอารีรักราษฎรอย่าให้ได้ความเดือดร้อน เหมือนร่มไม้ใบชิดมีร่มอันเย็นเป็นที่สำนักแก่หมู่นกและคนเดินทางทั้งปวง ทำได้ดังนี้แล้วผู้มีสติปัญญาและฝีมือกล้าแข็งก็จะเข้าทำราชการอยู่ด้วยท่านเป็นอันมาก เมืองท่านจะมีสง่าบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเจริญขึ้นทุกปี ซึ่งท่านจะให้ข้าพเจ้าเป็นขุนนางผู้ใหญ่ช่วยคิดอ่านการแผ่นดินขยายเขตแดนให้กว้างขวางออกไปนั้นเป็นการใหญ่อยู่ สติปัญญาข้าพเจ้ายังหาเหมือนกวนต๋งไม่ ขอท่านจงตรึกตรองหาผู้มีสติปัญญารู้การลึกซึ้งดีกว่าข้าพเจ้ามาชุบเลี้ยง แม้นไม่มีผู้ใดแล้วข้าพเจ้าจึงจะเข้ามาช่วยชี้แจงแก้ไขการซึ่งจะจัดแจงเขตแดนให้ท่านฟังต่อไป กงซุนเอียงก็คำนับลาจิ๋นฮวนก๋งออกมาบ้าน
ฝ่ายจิ๋นฮวนก๋งตรึกตรองดูถ้อยคำกงซุนเอียงว่ากล่าวเห็นเป็นคนมีสติปัญญาอย่างยิ่ง ครั้นถ้วนกำหนดสามวันจึงให้คนใช้จัดเกวียนออกไปรับกงซุนเอียง ณ บ้านเกงกั้ม กงซุนเอียงเห็นว่าจิ๋นฮวนก๋งนับถือให้คนเอาเกวียนมารับ จึงขึ้นเกวียนเข้ามาถึงที่ออกขุนนาง ลงจากเกวียนเข้าไปคำนับจิ๋นฮวนก๋ง จิ๋นฮวนก๋งลงจากเก้าอี้ออกมาจูงมือกงซุนเอียงเข้าไปนั่งที่ตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ แล้วไต่ถามถึงการจัดแจงบ้านเมืองและการแผ่นดินทั้งปวงสืบไป กงซุนเอียงก็ชี้แจงแก้ไขถูกถ้วนทุกประการ
จิ๋นฮวนก๋งรู้ว่ากงซุนเอียงเป็นคนดีมีสติปัญญารู้การรอบคอบเหมือนกับกวนต๋ง จึงตั้งกงซุนเอียงเป็นที่จอซูเจียง ให้ทองคำห้าร้อยแท่งกับเครื่องยศตามตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แล้วสั่งจอซูเจียงต่อหน้าขุนนางทั้งปวงว่า ท่านจงจัดแจงบังคับบัญชาว่ากล่าวขุนนางทหารพลเรือนให้สิทธิ์ขาดแก่ท่านผู้เดียว ผู้ใดมิฟังท่านบังคับจงเอาโทษผู้นั้นเหมือนขัดคำสั่งเรา จิ๋นฮวนก๋งสั่งขุนนางพนักงานให้จัดที่ตึกกว้านให้แก่จอซูเจียงตามสมควร กงซุนเอียงครั้นได้เป็นจอซูเจียงขุนนางผู้ใหญ่สมความคิดก็ยินดี จึงคำนับลาออกมาที่อยู่ วันหนึ่งจอซูเจียงจึงคิดว่าจิ๋นฮวนก๋งชุบเลี้ยงเราเป็นขุนนางผู้ใหญ่ หวังจะให้ช่วยทำนุบำรุงเมืองจิ๋นให้เป็นสุข และผู้ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่เมืองใดไม่มีสง่า ขุนนางผู้น้อยและราษฎรชาวเมืองไม่นับถือเชื่อฟังถ้อยคำบังคับบัญชา ขุนนางผู้นั้นจะทำการใหญ่บำรุงเมืองไปมิได้ บัดนี้ชาวเมืองจิ๋นยังหารู้จักเราว่าจะชั่วดีประการใดไม่ จำจะทำการให้ขุนนางและราษฎรเชื่อถือถ้อยคำยำเกรงเราก่อน ภายหลังจึงจะได้ทำการปราบโจรผู้ร้ายและปราบผู้ที่เป็นศัตรูบ้านเมืองให้ราบคาบ ราษฎรชาวเมืองจะได้อยู่เย็นเป็นสุข แล้วจะได้ทำการขยายเขตแดนเมืองจิ๋นให้กว้างขวางออกไปกว่าแต่ก่อน จอซูเจียงคิดแล้วจึงให้คนใช้ยกเสาไม้แก่นยาวสิบเอ็ดศอกใหญ่รอบสามกำไปวางไว้ ณ ประตูเมืองทิศใต้ แล้วทำธงอันหนึ่งเรียกว่าอาชญาสิทธิ์ จารึกอักษรในใบธงนั้นว่า ผู้ใดแบกเสาไม้แก่นที่ประตูทิศใต้ไปไว้ประตูทิศเหนือจะให้ค่าจ้างสิบอีแปะ จารึกอักษรแล้วจึงให้คนใช้ไปป่าวร้องบอกซาวเมืองจิ๋นว่า จอซูเจียงขุนนางผู้ใหญ่ให้ถือธงอาชญาสิทธิ์นี้มาบอกแก่คนทั้งปวง ผู้ใดรับอาสาแบกไม้แก่นแต่ประตูทิศใต้ไปไว้ประตูทิศเหนือได้จะพาเข้าไปคำนับจอซูเจียง จอซูเจียงจะให้ค่าจ้างคนละสิบอีแปะ คนใช้รับธงคำนับลาออกมาเที่ยวบอกแก่ชาวเมืองทั้งปวงตามคำจอซูเจียงสั่ง ราษฎรชาวเมืองรู้ความดังนั้นต่างคนมายืนดูไม้แก่นที่พิงไว้ ณ ริมประตูแล้วได้ยินร้องป่าวมาว่า จอซูเจียงซึ่งจิ๋นฮวนก๋งตั้งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ให้คนถือธงอาชญาสิทธิ์มาป่าวร้องว่าผู้ใดรับจ้างแบกไม้แก่นที่พิงไว้นี้ไปไว้ประตูทิศเหนือจะให้ค่าจ้างสิบอีแปะ ต่างคนเห็นค่าจ้างนั้นน้อยนักไม่มีผู้ใดจะรับจ้าง คนใช้ก็กลับมาแจ้งความแก่จอซูเจียง จอซูเจียงจึงแปลงอักษรจารึกธงทวีค่าจ้างขึ้นอีกห้าสิบอีแปะให้คนใช้ไปป่าวร้อง
ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งได้ยินว่าจอซูเจียงขุนนางผู้ใหญ่จะให้ค่าจ้างแบกไม้ห้าสิบอีแปะจึงบอกแก่เพื่อนว่าเราจะรับจ้าง เพื่อนทั้งปวงจึงห้ามว่าแต่ก่อนขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองจิ๋นนั้นเจ้าเมืองจิ๋นจะให้บำเหน็จรางวัลแก่ผู้ซึ่งทำการเหน็ดเหนื่อย ขุนนางผู้ใหญ่ก็ทัดทานห้ามปรามเสียจะให้สิ่งใดว่าจะให้ตามสมควรแก่ผู้ที่ทำการเหน็ดเหนื่อย ครั้นสำเร็จแล้วก็ให้บำเหน็จรางวัลแต่น้อย หาสมควรที่เหน็ดเหนื่อยไม่ ผู้นั้นจึงตอบแก่เพื่อนทั้งปวงว่าท่านว่านั้นชอบอยู่ แต่เราเห็นว่าเจ้าเมืองจิ๋นตั้งขุนนางผู้ใหญ่ขึ้นใหม่เป็นจอซูเจียง และจอซูเจียงคนนี้เราได้ยินว่ามีสติปัญญาว่ากล่าวสิ่งใดเป็นสัตย์เป็นธรรม เมื่อเรารับจ้างแบกไม้ไปไว้ถึงที่แล้ว ถึงจะไม่ได้ค่าจ้างตามสัญญาก็คงจะได้บ้างจะไม่เสียแรงที่เหน็ดเหนื่อย ชายนั้นก็เข้ายกไม้ขึ้นบ่าแบกเดินไปตามถนน เพื่อนฝูงทั้งปวงก็พากันตามดูไปจนถึงประตูทิศเหนือแล้ววางไม้ลงไว้ คนใช้จอซูเจียงก็พาชายนั้นเข้าไปคำนับแจ้งความแก่จอซูเจียง จอซูเจียงจึงว่าเจ้าเมืองจิ๋นเห็นว่าเราเป็นคนสัตย์ซื่อ จึงตั้งให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ไว้ธุระราชการบ้านเมือง เราจะว่ากล่าวสิ่งใดไม่กลับหน้าคืนหลัง ซึ่งท่านมารับจ้างแบกไม้ไปไว้ถึงที่ จงรับเอาอีแปะห้าสิบไปซื้อจ่ายกินเถิด ถ้าเรามีการสิ่งใดเป็นการใหญ่กว่าการแบกไม้นี้ จึงจะให้ค่าจ้างมากขึ้นไปตามสัญญาเป็นค่าเหน็ดเหนื่อยโดยสมควร ชายนั้นก็คำนับรับอีแปะห้าสิบออกมาอวดเพื่อนกัน แล้วสรรเสริญจอซูเจียงว่ามีสัจธรรมโอบอ้อมอารีแก่ราษฎร สมควรที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่ แต่นั้นมาชาวเมืองทั้งปวงก็นับถือจอซูเจียงว่าเจรจายั่งยืนไม่กลับกลอก บังคับบัญชาว่ากล่าวสิ่งใดก็สิทธิ์ขาด ต่างคนก็ยำเกรงจอซูเจียงยิ่งนัก
ฝ่ายจอซูเจียงครั้นรู้ว่าชาวเมืองจิ๋นนับถือยำเกรงแล้วคิดจะปราบปรามขุนนางซึ่งเคยทำการฉ้อตระบัดเบียดเบียนราษฎร จะไว้สง่ามิให้ผู้ใดละเมิดล่วงเกินบังคับบัญชา จึงแต่งกฎหมายอาชญาสิทธิ์ขึ้นใหม่ฉบับหนึ่ง ต้องด้วยอย่างธรรมเนียมกษัตริย์แต่ก่อนซึ่งได้บำรุงแผ่นดินเป็นสุข เข้าไปปรึกษาแก่จิ๋นฮวนก๋ง จิ๋นฮวนก๋งแจ้งความในกฎหมายก็เห็นชอบด้วย จึงสั่งจอซูเจียงขุนนางผู้ใหญ่ให้จารึกกฎหมายไปปิดไว้ ณ ประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ให้ขุนนางและราษฎรชาวเมืองทำตามกฎหมาย ถ้าผู้ใดมิทำตามบังคับให้จับผู้นั้นมาลงโทษ จอซูเจียงก็คำนับลาออกมาสั่งขุนนางพนักงานจารึกกฎหมายไปปิดบานประตูเมืองตามจิ๋นฮวนก๋งสั่ง
ขณะเมื่อจอซูเจียงแต่งกฎหมายประกาศแก่ขุนนางและราษฎรในเมืองจิ๋นนั้น ศักราชพระเจ้าจิวอันอ๋องเสวยราชสมบัติในเมืองตังจิวได้สิบปี จอซูเจียงจึงใช้คนสนิทไปรับทราบฟังความขุนนางและราษฎรชาวเมืองจิ๋น ถ้าขุนนางผู้ใดติเตียนกฎหมายก็ให้เอาตัวผู้นั้นมาลงโทษถอดเสียจากที่ขุนนาง แต่จอซูเจียงถอดขุนนางเสียจากที่นั้น กำเหลงคนหนึ่ง โตจินคนหนึ่ง แต่นั้นมาขุนนางทั้งปวงก็ยำเกรงจอซูเจียงนัก จอซูเจียงจะว่ากล่าวบังคับบัญชาการงานสิ่งใดก็สิทธิ์ขาดหาผู้ใดฝ่าฝืนมิได้ อยู่วันหนึ่งจอซูเจียงไปเที่ยวเล่นเห็นภูมิฐานที่เมืองหำเอี๋ยงเป็นที่ชัยภูมิควรจะตั้งเป็นเมืองใหญ่ได้ คิดจะให้เจ้าเมืองจิ๋นย้ายไปอยู่เมืองหำเอี๋ยง จึงกลับมาเมืองเข้าไปคำนับปรึกษาจิ๋นฮวนก๋ง จิ๋นฮวนก๋งก็เห็นชอบ จอซูเจียงก็ออกมาจัดแจงขุนนางและไพร่เกณฑ์ไปทำตึกและไต ที่ข้างหน้าข้างในสำเร็จแล้ว จอซูเจียงจึงให้โหรกำหนดวันฤกษ์จะเชิญเจ้าเมืองจิ๋นยกย้ายไปอยู่เมืองหำเอี๋ยง
ฝ่ายไทจูซีซึ่งเป็นบุตรจิ๋นฮวนก๋งแจ้งดังนั้น จึงให้หาจอซูเจียงเข้าไปว่า บิดาเราเห็นว่าท่านเป็นคนมีสติปัญญาจึงตั้งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ กฎหมายสำหรับเมืองท่านก็ให้ยกเลิกเสียแต่งกฎหมายใหม่ ผู้ใดติเตียนมิได้ทำตามก็ให้ลงโทษ ขุนนางและราษฎรได้ความเดือดร้อนอยู่แล้ว บัดนี้ท่านจะให้ยกย้ายไปอยู่เมืองหำเอี๋ยง ให้ขุนนางและราษฎรพลัดพรากจากที่อยู่ที่กินได้ความลำบากยากแค้นอีกเล่า เราเห็นหาควรไม่ จอซูเจียงได้ฟังไทจูซีว่ากล่าวติเตียนต่อหน้าดังนั้นหาได้โต้ตอบประการใดไม่ ก็คำนับลามาบ้าน จึงคิดว่าไทจูซีว่ากล่าวทั้งนี้ครั้นจะไม่บอกแก่จิ๋นฮวนก๋งเล่า ผู้ซึ่งเป็นขุนนางปัญญาน้อยไม่รู้จักการก็จะดูเยี่ยงอย่าง ซึ่งจะจัดแจงบ้านเมืองไปภายหน้าเห็นจะทำการไม่สำเร็จ จอซูเจียงคิดแล้วก็เข้าไปคำนับแจ้งความแก่จิ๋นฮวนก๋งตามคำไทจูซีว่ากล่าวติเตียนทุกประการแล้วว่า แต่ก่อนท่านเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นคนสัตย์ซื่อจึงชุบเลี้ยงให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ได้บังคับบัญชาขุนนางทั้งปวงสิทธิ์ขาด ข้าพเจ้าตั้งใจจะช่วยทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข และจะขยายเขตแดนให้กว้างขวางเป็นที่ยำเกรงแก่หัวเมืองทั้งปวง จึงคิดอ่านแต่งกฎหมายไปปิดประตูเมืองทั้งสี่ทิศหวังจะมิให้ผู้ใดล่วงอาชญา การจะทำไปเบื้องหน้าจึงจะสำเร็จโดยเร็ว บัดนี้ไทจูซีไม่ทำตามบังคับบัญชา ติเตียนกฎหมายต่างๆ ครั้นไม่ปราบปรามลงเสียขุนนางทั้งปวงก็จะดูเยี่ยงอย่างไทจูซี การของท่านซึ่งจะให้ข้าพเจ้ากระทำต่อไปนั้นเห็นจะไม่ตลอด
จิ๋นฮวนก๋งได้ฟังดังนั้นโกรธนัก จึงว่าไทจูซีบุตรเราเป็นเด็กคิดน้อยใจว่ากล่าวติเตียนกฎหมายบังคับ จะให้ขุนนางทั้งปวงดูเยี่ยงอย่างครั้งนี้ ไทฮูเป็นอาจารย์สอนหนังสือรู้จักผิดและชอบก็ไม่ว่ากล่าวทัดทาน จิ๋นฮวนก๋งจึงสั่งทหารให้เอาตัวก๋งจูเซียนบุตรไทฮูไปเชือดจมูกแทนไทฮูผู้บิดาแล้วเอาหมึกมอมหน้าไทฮู ตระเวนกลางตลาดให้ร้องว่าไทจูซีติเตียนกฎหมาย ไทฮูผู้เป็นครูสอนหนังสือไม่ทัดทานห้ามปราม จึงให้เอาหมึกมอมหน้าไทฮูและตัดจมูกก๋งจูเซียนทำโทษแทนไทจูซี อย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่างสืบไป ฝ่ายขุนนางและราษฎรทั้งปวงเห็นดังนั้นต่างคนเกรงกลัวอาชญาจิ๋นฮวนก๋งกับจอซูเจียงนัก จอซูเจียงจะบังคับบัญชาการสิ่งใดก็กระทำตามทุกประการ ครั้นถึงวันฤกษ์ดี จอซูเจียงจัดแจงรถและเกวียนทหารทั้งปวงพร้อมแล้วเชิญจิ๋นฮวนก๋งขึ้นรถยกออกจากเมืองจิ๋น พาขุนนางและชาวเมืองจิ๋นไปอยู่เมืองหำเอี๋ยง จิ๋นฮวนก๋งจึงสั่งจอซูเจียงให้จัดขุนนางและทหารไปตั้งเมืองน้อยขึ้นอีกสามสิบเอ็ดเมือง ขยายเขตแดนออกไปให้กว้าง จอซูเจียงก็คำนับลาพาขุนนางและทหารไปเกลี้ยกล่อมราษฎรซึ่งอพยพหนีไปตั้งซ่องและชุมรุมไปอาศัยอยู่ในป่าและซอกห้วยธารเขาทุกตำบล ออกมาตั้งบ้านเรือนทำไร่นาเรือกสวนเป็นสุขสบายบริบูรณ์ทั้งสามสิบเอ็ดเมืองแล้ว จัดแจงผู้มีสติปัญญาและฝีมือเข้มแข็งอยู่รักษาทำนุบำรุงราษฎรทุกหัวเมือง จอซูเจียงก็ให้เรียกค่านาและส่วยสาอากรขนอนตลาดแก่ราษฎรตามพิกัดกฎหมายให้แก่จิ๋นฮวนก๋งปีละร้อยหมื่นเศษทุกปีมิได้ขาด แล้วจอซูเจียงยกไปตั้งอยู่ตำบลอุยซุยหวังจะปราบปรามโจรผู้ร้ายให้ราบคาบ จึงสั่งให้ทหารคนสนิทที่มีใจสัตย์เที่ยวสอดแนมสืบผู้เกียจคร้านทำมาหากิน คบพวกเพื่อนเป็นโจรผู้ร้ายปล้นสะดมฉกชิงฉ้อตระบัด และผู้ซึ่งเบียดเบียนที่ไร่นาเรือกสวนเป็นที่แดนมีส่วยสาอากรไว้ให้ราษฎรทำแล้วเรียกเอาอากรเกินกำหนดกฎหมายไว้เป็นประโยชน์ของตัว มิได้เอาขึ้นคลังตามเดิม ทหารคนสนิทก็คำนับลาจอซูเจียงแยกกันไปเที่ยวสอดแนมจับผู้ร้ายซึ่งทำการฉกชิงฉ้อตระบัดเบียดเบียนราษฎรส่งมาให้จอซูเจียง
จอซูเจียงก็ให้ชำระได้ความจริงแล้วให้เอาตัวไปทำโทษตามกฎหมาย ควรจะจำจองก็จำขังไว้คุก ควรจะประหารชีวิต จอซูเจียงก็ให้ฆ่าเสีย ประมาณคนที่โทษถึงตายถึงเจ็ดร้อยเศษ แต่นั้นมา ผู้ซึ่งร่วมคิดคบพวกเพื่อนฉ้อตระบัดเบียดบังส่วยสาอากรของหลวงและฉ้อราษฎรทำการละเมิดเหลือเกินกฎหมายห้ามก็สงบลง ผู้ซึ่งเป็นโจรผู้ร้ายเคยปล้นสะดมฉกลักสิ่งของราษฎรก็ละความชั่วเสีย ต่างคนทำมาหากินโดยสุจริต ราษฎรแดนเมืองหำเอี๋ยงพากันทำไร่นาค้าขายเป็นสุขสบาย ทั้งส่วยสาอากรก็เรียกได้มากขึ้นทุกปี เพราะราษฎรทำไร่นาเรือกสวนมากกว่าแต่ก่อน หาโจรผู้ร้ายและฉ้อตระบัดเบียดเบียนมิได้ เมืองหำเอี๋ยงก็บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติและมีทแกล้วทหารเป็นอันมาก หัวเมืองทั้งปวงรู้กิตติศัพท์ดังนั้น ต่างเมืองก็ยำเกรงจิ๋นฮวนก๋งเจ้าเมืองจิ๋นทุกเมือง
จิ๋นฮวนก๋งจึงปรึกษาจอซูเจียงว่า บัดนี้เมืองเราก็มีทแกล้วทหารมากขึ้นแล้ว ท่านจงหัดทหารให้ชำนาญศึก จะได้ยกทัพไปตีเมืองฌ้อและหัวเมืองซึ่งไม่มาอ่อนน้อม ให้ยอมเข้าด้วยเขตแดนเราจึงจะกว้างขวาง จอซูเจียงได้ฟังดังนั้นคำนับแล้วตอบว่า ซึ่งท่านจะขยายเขตแดนให้กว้างออกไปนั้นข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย จอซูเจียงก็คำนับลาออกมาสั่งนายทหารให้ตั้งสนามหัดทหารทุกวันมิได้ขาด กิตติศัพท์นั้นก็ลือไปถึงเมืองหลวง
พระเจ้าจิวอันอ๋องจึงสั่งให้ขุนนางในเมืองหลวงถือหนังสือรับสั่งไปตั้งจิ๋นฮวนก๋งเป็นที่อ๋องเป๊ก หัวเมืองทั้งปวงรู้ว่าเจ้าเมืองจิ๋นพระเจ้าเมืองหลวงโปรดให้เป็นที่อ๋องเป๊กก็ชวนกันจัดแจงสิ่งของให้ขุนนางคุมมาคำนับเจ้าเมืองจิ๋นโดยไมตรีตามอย่างธรรมเนียม ฝ่ายบูห้อซึ่งตั้งตัวเป็นเสียงงุยอ๋องครองเมืองงุย ครั้นแจ้งว่ากงซุนเอียงไปอยู่กับจิ๋นฮวนก๋ง จิ๋นฮวนก๋งชุบเลี้ยงกงซุนเอียงเป็นที่จอซูเจียงขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองจิ๋น จอซูเจียงช่วยทำนุบำรุงเมืองจิ๋นได้มีเขตแดนกว้างขวาง หัวเมืองทั้งปวงยำเกรง งุยบูห้อตรึกตรองจะหาผู้มีสติปัญญามาเป็นขุนนางที่ปรึกษายังหาได้ไม่
ขณะนั้นมีผู้หนึ่งแซ่เบ๋งชื่อโข เป็นศิษย์เรียนหนังสือกับจูซูหลานของจู รู้ว่างุยอ๋องเกลี้ยกล่อมผู้มีสติปัญญา จึงให้ขุนนางพาเข้าไปคำนับงุยอ๋อง งุยอ๋องเชิญเบ๋งโขให้นั่งที่สมควรแล้วถามว่า ทรัพย์เงินทองในคลังของเราน้อยนักหาพอแจกจ่ายทหารและใช้การในบ้านเมืองเราไม่ ท่านจงช่วยหาเงินทองและสิ่งของทั้งปวงมาไว้ให้พอทหารเห็นจะได้หรือมิได้ เบ๋งโขจึงตอบว่าข้าพเจ้าได้เล่าเรียนมาต่อครู รู้แต่ช่วยสั่งสอนเจ้าเมืองและขุนนางให้ตั้งอยู่ในสัจธรรม การซึ่งจะหาทรัพย์โดยคิดกลล่อลวงผู้อื่น เอาทรัพย์สิ่งของและสมบัติมาไว้เป็นของตัวนั้นข้าพเจ้าหาได้เรียนไม่
งุยอ๋องได้ฟังดังนั้นก็โกรธ จึงให้ขับเบ๋งโขเสียมิให้อยู่ในแดนเมืองงุย เบ๋งโขหาที่อาศัยมิได้เที่ยวเตร่ไปอาศัยอยู่แดนเมืองเจ๋ และในเมืองตังจิวนั้นมีที่ตำบลหนึ่งชื่อยงเสีย มีภูเขาอันหนึ่งชื่อเขากุยก๊กสูงใหญ่กว่าเขาทั้งปวง มีห้วยธารและเหวเป็นที่อาศัยภูตปิศาจและสัตว์ร้ายเป็นอันมาก มีซินแสคนหนึ่งชื่อฮองฮู ฮองฮูคนนี้แต่ก่อนอยู่เขาหุนบองสัน มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อเหกเต๊กชาวเมืองซอง พากันเที่ยวหาว่านยาในซอกห้วยธารเขา หวังจะประกอบเป็นยาเจริญอายุและยาสำหรับระงับโรคทั้งปวง เหกเต๊กทิ้งบุตรภรรยาเสีย เที่ยวไปกับฮองฮูทุกบ้านทุกเมือง ฮองฮูชอบใจอยู่ที่เงียบสงัดอาศัยอยู่ที่เขากุยก๊ก แต่เหกเต๊กนั้นพอใจเที่ยวรักษาพยาบาลคนทั้งปวง จึงละฮองฮูไว้ที่เขากุยก๊กแต่ผู้เดียว และฮองฮูได้เรียนรู้ดูฤกษ์บนฤกษ์ตํ่า รู้ทำนายลักษณะ รู้ทำนายนิมิตร้ายและดี รู้จักแผ่นดินชัยภูมิตั้งทัพและขบวนศึกต่างๆ คิดจะใคร่หาสานุศิษย์มาไว้สอนวิชาการ สำหรับจะได้ช่วยผู้มีบุญทำการปราบศัตรูแผ่นดินให้ราบคาบ ราษฎรจะได้อยู่เย็นเป็นสุข
ซินแสฮองฮูจึงไปเที่ยวเป็นหมอดู บรรดาชาวบ้านอยู่ใกล้แดนเขากุยก๊กนับถือว่าเป็นผู้วิเศษจึงเรียกซินแสฮองฮูว่ากุยก๊กซินแส แล้วให้ลูกหลานมาอยู่เรียนวิชากับกุยก๊กซินแส กุยก๊กซินแสบอกวิชาแก่ศิษย์ทั้งปวงเป็นสองอย่าง สำหรับจะได้ไปทำราชการกับเจ้าเมืองทั้งเจ็ดก๊กพวกหนึ่ง เป็นผู้วิเศษอยู่ในซอกห้วยธารเขาพวกหนึ่ง และกุยก๊กซินแสมีศิษย์ผู้ใหญ่สี่คน ซุนปินเป็นหลานซุนบู๊จู๋ชาวเมืองเจ๋หนึ่ง บังก๋วนเป็นชาวเมืองงุยสาบานเป็นพี่น้องกันกับซุนปินหนึ่ง เตียวหงีเป็นชาวเมืองงุยหนึ่ง โซจิ๋นชาวเมืองลกเอี๋ยง สบถเป็นพี่น้องกันกับเตียวหงีหนึ่ง ศิษย์ผู้ใหญ่ทั้งสี่คนผลัดเวรกันปฏิบัติกุยก๊กซินแสผู้อาจารย์ทุกเช้าคํ่ามิได้ขาด
ฝ่ายบังก๋วนแต่มาเรียนวิชาอยู่กับอาจารย์ถึงสามสิบปีมิได้เกียจคร้าน เรียนรู้ในการศึกสงครามและดูฤกษ์ตํ่าฤกษ์บน รู้จักที่ชัยภูมิตั้งทัพประจันข้าศึก รู้จักทีได้ทีเสียทีแพ้และชนะ วันหนึ่งเป็นเวรบังก๋วนปฏิบัติอาจารย์ ครั้นเวลาเช้าบังก๋วนลงมาตักน้ำที่ลำธารเชิงเขากุยก๊ก พอพวกคนเดินทางพูดกันมาว่างุยอ๋องเกลี้ยกล่อมทหารผู้ใดรู้วิชาในการศึกสงครามก็ชุบเลี้ยงตั้งแต่งเป็นขุนนางตามสมควร บังก๋วนได้ยินดังนั้นจะใคร่ไปทำการอาสางุยอ๋อง จึงตักน้ำมาให้อาจารย์ ครั้นจะบอกลาก็เกรงว่าอาจารย์จะมิยอมให้ไป แต่อํ้าอึ้งยืนคำนับนิ่งอยู่ กุยก๊กซินแสรู้ทีในกิริยาก็หัวเราะแล้วว่า แต่ท่านมาอยู่กับเราก็ช้านาน วิชาการสิ่งใดเราก็บอกให้ต่างๆ ควรที่จะไปทำราชการอาสาเจ้าบ้านผ่านเมืองเอายศศักดิ์ เหตุใดท่านจึงยังมิไปเล่า
บังก๋วนได้ฟังก็ดีใจจึงกราบคำนับแล้วว่า ข้าพเจ้าก็นึกอยู่ว่าจะลาอาจารย์แต่มิได้ที บัดนี้ได้ยินข่าวว่างุยอ๋องเกลี้ยกล่อมทหาร ข้าพเจ้าจะไปทำราชการครั้งนี้จะได้ดีมีความสุขหรือจะได้ทุกข์ยากประการใด กุยก๊กซินแสจึงว่าแม้นจะใคร่รู้ดังนั้น ท่านจงไปหาดอกไม้มาเราจะเสี่ยงทายดูก่อน บังก๋วนก็ไปหาดอกไม้ ขณะนั้นเป็นฤดูแล้งบังก๋วนหาดอกไม้สิ่งใดไม่ได้ มีแต่ดอกหญ้าก็ถอนขึ้นทั้งต้นทั้งรากใส่มือเสื้อมาบอกอาจารย์ว่าดอกไม้หาไม่ได้ ได้แต่ดอกหญ้าชื่อแนะหยีเหลงดอกหนึ่ง กุยก๊กซินแสก็เรียกเอาหญ้านั้นมาดูแล้วจึงว่าเป็นฤดูแล้ง ต้นหญ้าแคระตํ่าเตี้ยเกิดอยู่บนเขากุยก๊ก ชื่อเขากับชื่อหญ้าตํ่าเตี้ยสะกดกันอ่านเป็นอักษรออกความว่างุย ท่านไปทำราชการในเมืองงุยจะได้ที่ยศศักดิ์มีผู้ออกชื่อลือปรากฏในการแม่ทัพ อันดอกหญ้านี้สิบสองกลีบทำนายว่าท่านจงได้เป็นดีอยู่สิบสองปี แล้วกุยก๊กซินแสจึงสั่งสอนบังก๋วนว่า ท่านจะทำราชการกับงุยอ๋องครั้งนี้อย่าประมาทดูหมิ่นคน อย่าริษยาพยาบาทข่มขี่ผู้อื่นให้ได้ความเดือดร้อน ทำเขาฉันใดภัยทุกข์จะถึงตัวบ้าง ท่านจะไปจากเราเวลานี้ ถ้าท่านพบแพะจะได้ดี ถ้าพบม้าจะมีอันตรายถึงชีวิต จงจำคำเราไว้อย่าลืม บังก๋วนก็คำนับรับคำแล้วลาอาจารย์ลงจากเขากุยก๊ก ซุนปินก็ตามส่งบังก๋วน ครั้นลงมาถึงเชิงเขาบังก๋วนจึงหยุดพูดกับซุนปินว่า ข้าพเจ้าได้สาบานไว้เป็นน้องท่าน ข้าพเจ้ากับท่านก็รักใคร่กันเหมือนพี่น้องร่วมครรภ์ ข้าพเจ้าจะลาท่านไปทำราชการกับงุยอ๋อง ถ้างุยอ๋องชุบเลี้ยงให้ที่ยศศักดิ์ได้ดีแล้ว จะมีหนังสือใช้คนมารับท่านไปทำราชการให้ได้ดีด้วยกัน บังก๋วนสัญญากับซุนปินแล้วก็ลาไป ซุนปินมีความอาลัยบังก๋วนนักด้วยได้เคยอยู่ปฏิบัติอาจารย์ด้วยกัน ซุนปินยืนเพ่งดูบังก๋วนไปจนลับตาแล้วกลับคืนมาคำนับอาจารย์ กุยก๊กซินแสเห็นกิริยาซุนปินไม่สบายจึงถามว่าท่านอาลัยถึงบังก๋วนหรือ ซุนปินก็รับว่าข้าพเจ้ากับบังก๋วนรักกันเหมือนพี่กับน้องเคยอยู่เคยกินด้วยกัน ครั้นบังก๋วนจากไปมีความอาลัยถึง กุยก๊กซินแสจึงถามซุนปินว่า บังก๋วนเรียนวิชาในการศึกไปครั้งนี้ ท่านเห็นจะเป็นแม่ทัพได้หรือมิได้ ซุนปินจึงว่าบังก๋วนเรียนวิชาในสำนักอาจารย์ช้านานมาแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเป็นแม่ทัพได้อยู่ กุยก๊กซินแสก็สั่นศีรษะแล้วว่าเป็นแม่ทัพยังไม่ได้ก่อน ซุนปินก็ถามอาจารย์ว่า บังก๋วนเรียนวิชาการเป็นอันมาก ทั้งสติปัญญามีเป็นอันมากและเฉลียวฉลาดหลักแหลม เหตุใดอาจารย์จึงว่าจะเป็นแม่ทัพไม่ได้ กุยก๊กซินแสก็นิ่งเสียมิได้บอกซุนปิน ครั้นเวลาคํ่าซุนปินก็เข้าไปจุดตะเกียงปูที่นอนให้กุยก๊กซินแสแล้วนวดฟั้นปฏิบัติอาจารย์ตามประเพณีศิษย์ กุยก๊กซินแสมีความกรุณาซุนปินนัก จึงหยิบตำราขบวนศึกตำรับใหญ่ยื่นให้ซุนปินแล้วว่า ตำราขบวนศึกทั้งสิบสามขบวนนี้ของซุนบู๊จู๋ซึ่งเป็นตาของเจ้า แต่ให้เจ้าเมืองหงอไปทำศึกชนะเมืองฌ้อ เจ้าเมืองหงอมิให้ผู้ใดเล่าเรียนจึงเก็บตำรานี้ใส่หีบเหล็กลั่นกุญแจไว้ในกอสอไต้ แปลคำไทยว่าปราสาท ซุนบู๊จู๋กับเราเป็นเพื่อนรักกัน จึงให้ขบวนศึกสิบสามอย่างนี้แก่เราช้านานมาแล้ว บรรดาศิษย์เราทั้งนี้ยังหาผู้ใดได้เล่าเรียนไปไม่ ด้วยหนังสือนั้นเป็นคำอรรถลึกซึ้งยิ่งนัก บัดนี้เราแปลถ้อยคำออกไว้แจ้งทุกข้อแล้ว เจ้าก็เป็นหลานซุนบู๊จู๋น้ำใจเป็นคนสัตย์ซื่อมั่นคง ควรรักษาวิชาขบวนศึกนี้ไว้ได้ จงเรียนไว้สำหรับตัวเถิด
ซุนปินจึงว่า อันวิชาขบวนศึกนี้เป็นวิชาสำหรับแม่ทัพ เหตุใดท่านจึงไม่บอกให้บังก๋วนด้วยเล่า กุยก๊กซินแสจึงว่าขบวนศึกตำรับนี้สำหรับผู้มีสติปัญญาสัตย์ซื่อต่อแผ่นดินเล่าเรียนไว้ จะได้ช่วยผู้มีบุญปราบปรามผู้เป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดินให้ราบคาบ จะได้ทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าผู้ใดไม่มีความสัตย์กตัญญู รู้วิชาตำรับนี้ไปก็จะกำเริบทำให้แผ่นดินเดือดร้อน ซุนปินได้ฟังก็ยินดีจึงรับหนังสือขบวนศึกนั้นออกมาเล่าจำได้ขึ้นใจ ข้อใดสงสัยไต่ถามกุยก๊กซินแส กุยก๊กซินแสก็บอกให้ทุกประการ
ฝ่ายบังก๋วนมาถึงเมืองงุยก็เข้าไปบ้านบังเอ๋ง บังเอ๋งนั่งอยู่บนตึกกับมารดา แลเห็นบังก๋วนผู้บิดามาดีใจนัก ออกไปคำนับพาขึ้นบนตึก บังชังบังเหมาผู้หลานรู้ดังนั้นก็พากันมาคำนับบังก๋วน บังก๋วนจึงบอกว่า แต่เราจากบ้านไปเรียนความรู้กับกุยก๊กซินแสถึงสามสิบปี บัดนี้เราได้วิชาการศึกมาหมายจะเข้ามาทำราชการกับงุยอ๋อง ถ้าได้ไปเป็นที่งวนโซยแม่ทัพสมคิดแล้วเราก็จะมีเกียรติยศ ลูกหลานก็คงจะได้เป็นขุนนางสืบต่อกันไป บังก๋วนก็พักอยู่ ณ บ้านประมาณสองสามวันพอหายเหน็ดเหนื่อย ครั้นรุ่งเช้าบังก๋วนก็ไปคำนับอองโฉซึ่งเป็นเสียงก๊กขุนนางผู้ใหญ่ในงุยอ๋อง บังก๋วนก็เล่าเนื้อความซึ่งได้ไปเรียนวิชามาแต่กุยก๊กซินแสให้อองโฉฟังทุกประการ อองโฉได้ฟังก็ยินดีจึงว่าทุกวันนี้งุยอ๋องให้สืบหาผู้มีวิชาชำนาญการสงครามจะชุบเลี้ยงเป็นแม่ทัพ ซึ่งท่านเป็นศิษย์กุยก๊กซินแสสมัครเข้ามาทำราชการ ท่านก็จะได้เป็นดีมียศศักดิ์ อองโฉก็พาบังก๋วนไปเฝ้า พองุยอ๋องนั่งกินโต๊ะหยิบตะเกียบคีบเนื้อแพะขึ้นจะกิน บังก๋วนเห็นดังนั้นนึกแต่ในใจว่าครูเราทำนายหาว่าเห็นเนื้อแพะจะได้ดี เรามาบัดนี้ได้เห็นงุยอ๋องหยิบเนื้อแพะขึ้นจะกินเป็นนิมิตอันเป็นมงคลต้องคำครูทำนาย บังก๋วนยินดีนัก
ฝ่ายงุยอ๋องเห็นอองโฉพาคนแปลกหน้าเข้ามา จึงถามอองโฉว่าท่านพาผู้ใดเข้ามา อองโฉจึงแจ้งความแก่งุยอ๋องว่า ผู้นี้ชื่อบังก๋วนเป็นชาวเมืองเราออกไปเรียนวิชาการทหารกับกุยก๊กซินแส เข้ามาหาข้าพเจ้าให้พาเข้ามาเฝ้า งุยอ๋องรู้ว่าเป็นศิษย์กุยก๊กซินแสก็ยินดี วางตะเกียบลงไว้ลุกออกไปจูงมือบังก๋วนขึ้นนั่งที่สมควรแล้วถามว่า ท่านไปอยู่กับกุยก๊กซินแส กุยก๊กซินแสบอกวิชาสิ่งใดให้แก่ท่านมาบ้าง บังก๋วนจึงบอกว่า ข้าพเจ้าไปเป็นศิษย์กุยก๊กซินแสถึงสามสิบปี ได้วิชาขบวนทัพและกลศึก ทั้งแผ่นดินชัยภูมิและเรียนฤกษ์บนฤกษ์ตํ่า สำหรับจะยาตราทัพยกทหารเข้าสู้รบเอาชัยชนะแก่ข้าศึกเป็นหลายประการ
ขณะนั้นเจ้าเมืองเตียวยกมาตีเมืองตงสัน ได้มีผู้นำความมาบอกงุยอ๋อง งุยอ๋องได้ฟังดังนั้นจึงว่าแก่บังก๋วนว่า เรามีความแค้นด้วยเจ้าเมืองเตียวยกทัพบุกรุกล่วงแดนเข้ามาตีชิงเอาเมืองตงสันไป ท่านจะคิดอุบายประการใดจึงจะได้เมืองตงสันคืนมา บังก๋วนจึงตอบว่า ถ้าท่านใช้ข้าพเจ้าแล้วอย่าว่าแต่เมืองตงสันเลย ถึงหกหัวเมืองใหญ่ก็อุปมาเหมือนอยู่ในเงื้อมมือข้าพเจ้าทั้งสิ้น งุยอ๋องได้ฟังบังก๋วนพูดองอาจเห็นจะเป็นแม่ทัพใหญ่ได้ก็ยินดี จึงตั้งบังก๋วนเป็นงวนโซยแม่ทัพประทานกระบี่อาชญาสิทธิ์เครื่องยศตามตำแหน่ง แล้วว่าการทหารเป็นพนักงานของท่าน ท่านจะซ้อมหัดปรือประการใดก็ตามแต่ใจจะจัดแจงเถิด บังก๋วนก็คำนับรับคำแล้วลามาจัดทหารออกไป ณ ที่สนาม ฝึกปรือทหารให้ชำนาญเพลงอาวุธและทีหนีทีไล่ตามตำรับซึ่งได้เล่าเรียนมาทุกประการ ครั้นฝึกทหารแล้วก็เข้าไปคำนับแจ้งความแก่งุยอ๋องว่า ทแกล้วทหารข้าพเจ้าก็ฝึกปรือชำนิชำนาญแล้ว จะขอยกไปตีหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงให้มาเป็นเมืองขึ้นแก่ท่าน
งุยอ๋องได้ฟังดังนั้นก็ยินดีนัก จึงตั้งบังเอ๋งบุตรบังก๋วนกับบังชังบังเหมาผู้หลานบังก๋วนขึ้นเป็นขุนนางนายทหารเอก แล้วมอบทหารสิบหมื่นให้บังก๋วนยกไปตีเมืองโอยกับเมืองซอง บังก๋วนก็คำนับลางุยอ๋องออกมาจัดทหาร ให้บังเอ๋งเป็นทัพหน้า บังชังเป็นปีกขวาบังเหมาเป็นปีกซ้าย บังก๋วนเป็นแม่ทัพ จัดทหารเอกที่มีฝีมือกล้าแข็งเป็นที่วางใจได้ให้เป็นกองหลังรั้งท้าย ครั้นได้ฤกษ์ตีม้าล่อจุดประทัดบูชาเทวดายกทัพออกจากเมืองงุย เดินตามระยะทางเข้าแดนเมืองโอยตีหัวเมืองเล็กน้อยรายทางเข้าไปล้อมเมืองโอยไว้เป็นสามารถ ทหารเมืองโอยออกสู้รบเป็นหลายครั้ง ต้านทานฝีมือทหารบังก๋วนมิได้ เจ้าเมืองโอยเห็นเมืองจะเสียแก่ข้าศึกก็ออกมายอมแพ้ บังก๋วนมิได้ทำอันตรายจึงยกไปล้อมเมืองซอง
เจ้าเมืองซองก็แต่งสิ่งของออกมายอมเป็นเมืองขึ้นแก่เมืองงุย แต่บังก๋วนยกไปครั้งเดียวได้เมืองโอย เมืองซอง เมืองฬ่อ เมืองเตง สี่หัวเมืองแล้วยกทัพกลับมาถึงเมืองงุย จึงพานายกองนายทัพกับสิ่งของเข้าไปคำนับ แจ้งความซึ่งได้ชัยชนะแก่สี่หัวเมืองให้งุยอ๋องฟังทุกประการ งุยอ๋องยินดีนักจึงปูนบำเหน็จรางวัลบังก๋วนงวนโซยกับนายทหารซึ่งได้ทำการชนะศึกตามสมควรแก่ความชอบ บังก๋วนได้เงินทองของประทานแล้วก็คำนับลาไปบ้าน แต่นั้นมาบังก๋วนมีใจกำเริบถือตัวว่าสติปัญญาและฝีมือหาผู้ใดเสมอมิได้ ทั้งงุยอ๋องก็รักใคร่นับถือบังก๋วน บังก๋วนจะว่าสิ่งใดงุยอ๋องก็เชื่อฟังทุกประการ
ฝ่ายเหกเต๊กซึ่งเป็นเพื่อนรักกันกับกุยก๊กซินแส ครั้นเที่ยวรักษาพยาบาลคนไข้ทุกหัวเมืองมาถึงเขากุยก๊ก คิดถึงฮองฮูจะใคร่ไปเยี่ยมเยียน เหกเต๊กก็แวะออกจากทางใหญ่ เดินตามทางน้อยเข้าไปถึงเชิงเขา พอพบซุนปินเดินลงมาจากเขา เหกเต๊กถามว่าครูของท่านยังอยู่ดีอยู่หรือ ซุนปินก็บอกว่าครูข้าพเจ้าอยู่ดีมีสุขอยู่ เหกเต๊กรู้ว่าฮองฮูไม่ป่วยไข้ก็สิ้นวิตก จึงถามซุนปินว่า ท่านอยู่กับซินแสนี้ได้วิชาความรู้สิ่งใดบ้าง ซุนปินก็บอกว่ากุยก๊กซินแสรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นหลานซุนบู๊จู๋ มีความกรุณาบอกวิชารู้ฤกษ์ตํ่าฤกษ์บนและขบวนศึกซึ่งซุนบู๊จู๋ทำไว้ ข้าพเจ้าได้เรียนจบทั้งสิ้น
เหกเต๊กจึงว่าท่านรู้วิชาดีแล้วเหตุใดจึงไม่ไปทำราชการเล่า ซุนปินจึงบอกว่าบังก๋วนลูกศิษย์ครูเดียวกับข้าพเจ้าไปทำราชการ ณ เมืองงุย สัญญากับข้าพเจ้าไว้ว่าถ้าได้ดีแล้วจะมีหนังสือบอกออกมา ข้าพเจ้าคอยฟังข่าวบังก๋วนอยู่ เหกเต๊กจึงว่าบังก๋วนซึ่งไปทำราชการอยู่กับงุยอ๋องนั้น บัดนี้ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่แล้ว แต่เราได้ยินข่าวว่าบังก๋วนถือตัวว่าวิชาความรู้หาผู้ใดเสมอมิได้ บังก๋วนรู้ว่าท่านได้เรียนรู้ในการศึกลึกซึ้งดีกว่า เห็นว่าบังก๋วนจะเกียดกันเสียจะไม่มีหนังสือออกมาตามสัญญา เราจะเข้าไปเมืองงุยจะให้งุยอ๋องออกมาเชิญท่านไปเป็นขุนนาง ท่านได้ที่ยศศักดิ์เราจะได้พึ่งสืบไป
ซุนปินก็คำนับแล้วว่าท่านมีความกรุณาข้าพเจ้าครั้งนี้ขอบคุณนัก ถ้าข้าพเจ้าได้ดีเหมือนท่านว่าจะสนองคุณกว่าจะสิ้นชีวิต เหกเต๊กพูดกับซุนปินแล้วก็ไปถึงเมืองงุย เข้าหาขุนนางที่รู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนให้พาเข้าเฝ้า พองุยอ๋องออกขุนนางเห็นเหกเต๊กเข้ามาเชิญให้นั่งที่สมควร แล้วถามว่าซินแสเที่ยวไปทุกบ้านเมือง ยังเห็นผู้ใดมีสติปัญญาวิชาการศึกสงครามเป็นอย่างดีมีอยู่แห่งใดบ้าง ช่วยชักชวนมาให้ข้าพเจ้าสักคนหนึ่ง เหกเต๊กจึงว่าผู้ซึ่งเล่าเรียนวิชาการศึกนั้นมีอยู่ชื่อซุนปินหลานซุนบู๊จู๋ ซุนปินเป็นศิษย์กุยก๊กซินแสครูเดียวกันกับบังก๋วนที่เข้ามาเป็นขุนนางผู้ใหญ่อยู่ในท่าน
งุยอ๋องจึงถามว่า ซุนปินกับบังก๋วนท่านว่าเป็นศิษย์ครูเดียวกันนั้นผู้ใดจะดีกว่ากัน เหกเต๊กจึงว่าบังก๋วนได้เรียนวิชาการกับกุยก๊กซินแสแต่พิชัยสงครามตามธรรมเนียม แต่สำหรับพิชัยสงครามซุนบู๊จู๋แต่งไว้นั้นกุยก๊กซินแสมิได้ให้เรียน บอกตำรับซุนบู๊จู๋ให้แต่ซุนปินผู้เดียว ข้าพเจ้าเห็นว่าซุนปินรู้การศึกมากกว่าบังก๋วน ขอท่านจงไปชักชวนซุนปินมาไว้ จะได้ช่วยป้องกันเขตแดนเมืองท่านจึงจะมีสง่าข้าศึกยำเกรง งุยอ๋องได้ฟังดังนั้นก็ยินดีจึงให้แต่งโต๊ะเลี้ยงเหกเต๊ก เหกเต๊กกินโต๊ะแล้วก็ลางุยอ๋องไป
ฝ่ายบังก๋วนแจ้งความว่าเหกเต๊กเข้าไปเฝ้างุยอ๋อง เหกเต๊กทูลสรรเสริญซุนปินก็มีใจริษยา ครั้นเพลางุยอ๋องออกขุนนางบังก๋วนก็เข้าไปเฝ้า งุยอ๋องจึงถามบังก๋วนว่าเพลาวานนี้ เหกเต๊กเข้ามาบอกเราว่าซุนปินเป็นหลานซุนบู๊จู๋ เป็นศิษย์กุยก๊กซินแสครูเดียวกันกับท่านรู้วิชาลึกซึ้งอยู่ เหตุใดจึงไม่ชักชวนเข้ามาทำราชการเล่า บังก๋วนจึงว่าซุนปินคนนี้เป็นชาวเมืองเจ๋ ครั้นข้าพเจ้าจะชักชวนเข้ามาอยู่ในท่านเห็นจะทำราชการหาสุจริตไม่ เบื้องหน้านานไปซุนปินจะเอาใจออกห่างท่านจะติโทษข้าพเจ้าเมื่อภายหลัง ข้าพเจ้าเห็นเหตุฉะนี้จึงมิได้ชักชวนเข้ามา งุยอ๋องจึงว่าผู้ซึ่งเป็นขุนนางเราตั้งแต่งชุบเลี้ยงกินเบี้ยหวัดอยู่ทุกวันนี้ใช่ว่าจะเป็นชาวเมืองเราสิ้นด้วยกันเมื่อไร สุดแต่นํ้าใจสุจริตภักดีต่อเรา เราก็ชุบเลี้ยงให้ยศศักดิ์ตามสมควร ถ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อเราและกระทำความผิดต่างๆ เราก็จะให้ลงอาชญาตามโทษ ซึ่งท่านว่าคนเมืองอื่นจะเอาเข้ามาเป็นขุนนางใช้ราชการไม่ได้นั้นเราไม่เห็นด้วย
บังก๋วนได้ฟังดังนั้น กิริยางุยอ๋องเห็นจะขัดเคือง จึงว่าซึ่งท่านจะใคร่ได้ตัวซุนปินมา ข้าพเจ้าจะมีหนังสือออกไปเชิญซุนปินเข้ามา บังก๋วนก็คำนับลาออกมาแต่งหนังสือฉบับหนึ่งกับสิ่งของทองเงินบรรทุกเกวียนให้คนสนิทคุมออกไปให้แก่ซุนปิน ณ เขากุยก๊ก ขุนนางผู้นั้นออกไปถึงเขากุยก๊ก จึงเข้าไปหาซุนปินแล้วแจ้งความว่าบังก๋วนให้ถือหนังสือและนำสิ่งของออกมาให้ ซุนปินได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงรับหนังสือมาฉีกผนึกออกอ่าน เนื้อความในหนังสือนั้นว่า ข้าพเจ้าบังก๋วนน้องท่านขอคำนับมายังซุนปินพี่ท่านให้ทราบ ด้วยข้าพเจ้าไปทำราชการอยู่กับงุยอ๋อง งุยอ๋องก็ชุบเลี้ยงเป็นขุนนางผู้ใหญ่ได้สมความคิดแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าให้ขุนนางคนสนิทคุมสิ่งของเครื่องคำนับทองสิบแท่งหนักร้อยบาท เงินพันเหรียญออกมาคำนับเชิญท่านเข้าไปทำราชการในงุยอ๋อง เราทั้งสองจะได้เป็นที่ปรึกษาหารือกันตามคำที่สัญญาไว้แต่ก่อน
ซุนปินแจ้งในหนังสือดังนั้นก็เข้าไปคำนับกุยก๊กซินแสแล้วส่งหนังสือให้ดู กุยก๊กซินแสอ่านแจ้งความก็น้อยใจ คิดว่าบังก๋วนเป็นศิษย์เราบัดนี้เขาได้เป็นขุนนางมีหนังสือมาถึงแต่ซุนปิน มิได้ถามข่าวถึงเราผู้เป็นครูบ้างเลย บังก๋วนเป็นคนอกตัญญูไม่ซื่อตรง ซึ่งเชิญซุนปินเข้าไปทำราชการเป็นข้าร่วมเจ้าเดียวกันเห็นซุนปินจะมีอันตราย ครั้นจะห้ามปรามซุนปินไว้ก็เห็นน้ำใจซุนปินสมัครไปอยู่กับงุยอ๋อง กุยก๊กซินแสจึงว่ากับซุนปินว่า บังก๋วนให้มีหนังสือออกมาเชิญท่านเข้าไปทำราชการในเมืองงุยครั้งนี้ จงไปเก็บดอกไม้มาให้เสี่ยงทายดูจะร้ายหรือดีประการใด
ซุนปินก็ลาออกมาเก็บดอกไม้ ขณะนั้นเป็นฤดูเดือนสิบสอง ซุนปินแลเห็นดอกไม้ที่เก็บมาบูชาครูไว้บนโต๊ะ ก็หยิบเอาดอกเบญจมาศดอกหนึ่งมายื่นให้กุยก๊กซินแส กุยก๊กซินแสรับดอกเบญจมาศพิเคราะห์ดูแล้วทำนายว่า ดอกไม้ดอกนี้มีผู้หักเสียแล้วท่านเอามาหาบริสุทธิ์ไม่ และดอกเบญจมาศมิใคร่จะโรย ถึงกลีบดอกจะเหี่ยวแห้งไปแต่สีดอกไม้นั้นปกติอยู่ ท่านจะเข้าไปทำราชการกับงุยอ๋องครั้งนี้ เห็นจะได้ความลำบากแทบตัวตาย ต่อเมื่อใดไปอยู่เมืองเจ๋ท่านจึงจะได้ดี กุยก๊กซินแสจึงเขียนหนังสือฉบับหนึ่งเข้าผนึกส่งให้ซุนปินแล้วว่า ถ้าถึงที่อับจนจะแก้ไขให้พ้นอันตราย จงเอาหนังสือที่เราให้ไว้กับตัวนี้ออกดู ซุนปินก็รับหนังสือแล้วคำนับลามาขึ้นเกวียนไปเมืองงุย
ฝ่ายโซจิ๋นกับเตียวหงี ครั้นซุนปินลาอาจารย์ไปแล้ว จึงเข้าไปลากุยก๊กซินแสจะไปทำราชการให้เป็นเกียรติยศบ้าง กุยก๊กซินแสจึงว่า ท่านทั้งสองนี้เราก็บอกวิชาความรู้ให้เป็นอันมาก หวังจะใคร่ได้ไว้เป็นเพื่อนจำศีลภาวนารักษาสัตย์เป็นผู้วิเศษอยู่ในป่ากว่าจะตาย และท่านทั้งสองนี้จะรักใคร่ทรัพย์สินและยศศักดิ์สมบัติทั้งปวงหาต้องการไม่ โซจิ๋นเตียวหงีจึงตอบว่า ซึ่งท่านกรุณาสั่งสอนวิชาทั้งปวงแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก คุณท่านหาที่สุดมิได้ แต่ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าจะซ่อนตัวอยู่ในป่าดังนี้ อุปมาเหมือนกระบี่อยู่ในฝัก หาผู้ใดจะรู้ว่าชั่วและดีไม่ ข้าพเจ้าจะออกไปทำราชการให้มีความชอบชื่อเสียงปรากฏไว้ในแผ่นดิน เปรียบเหมือนกระบี่ออกจากฝักเห็นแก่ตาคนทั้งปวงว่าชั่วและดี ทุกวันนี้ปีเดือนวันคืนก็ล่วงไป จะทำราชการต่อแก่ชราถอยกำลังเห็นจะทำไปมิตลอด กุยก๊กซินแสมีความอาลัยนัก ทอดใจใหญ่แล้วว่า ท่านจะไม่เป็นผู้วิเศษในป่า จะไปทำราชการเอาที่ยศศักดิ์ก็ตามใจท่านเถิด กุยก๊กซินแสจึงจับยามดูแจ้งความแล้วบอกโซจิ๋นว่า ท่านไปทำราชการครั้งนี้จะได้ดี นานไปภายหลังจะได้ชั่ว แต่เตียวหงีนั้นได้ความลำบากก่อนภายหลังจึงจะได้ดี อันซุนปินกับบังก๋วนนั้นเราพิเคราะห์ดูเห็นจะหาชอบกันไม่ คงจะผูกพยาบาทกันไปจนสิ้นชีวิต ท่านทั้งสองจะไปจากเราครั้งนี้ อย่าคิดคดประทุษร้ายต่อกัน ถ้อยทีอุปถัมภ์บำรุงกันตามสมควร กุยก๊กซินแสก็หยิบหนังสือตำราขบวนศึกและแผนที่ชัยภูมิทั้งปวงของเกียงจูแหยซึ่งเป็นเกียงไทก๋งครั้งพระเจ้าบูอ๋อง แต่งเป็นตำรับไว้ได้เล่าเรียนสืบมานั้นให้แก่โซจิ๋นเตียวหงีคนละฉบับแล้วว่า ท่านจงเอาไว้สำหรับตัวเถิด คงจะได้มีเกียรติยศปรากฏในแผ่นดินสืบไป โซจิ๋นเตียวหงีได้ตำราคนละฉบับก็คำนับลากุยก๊กซินแสไป