วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

จะร่างทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม หม่อมฉันต้องรอไว้ตริตรองอยู่หลายวัน เพราะคิดวินิจฉัยเรื่องดนตรีสนองพระดำริอยู่ข้างยาก

๑) หม่อมฉันคิดเห็นว่า “เสียงขับร้อง” กับ “ลำนำดนตรี” มูลน่าจะมาต่างหากกัน เป็นต่างทางกันทีเดียว แล้วคนจึงเอามารวมประสมกันต่อภายหลัง

เสียงคนขับร้องเริ่มมาแต่กล่อมเด็ก ขับนก ทำนองอ่านหนังสือ ทำนองเทศน์ เป็นลำดับมาจนเล่นเพลง แล้วจึงเข้ากระบวนขับร้องเป็นลำนำ

ลำนำนั้น น่าจะมาแต่เสียงนกร้อง เช่นนกกางเขนเป็นต้น หรือเสียงซึ่งเกิดแต่ลมเป่าต้นไม้ แต่ดูเหมือนเขาว่าในตำราอันใดอันหนึ่งว่า คนธรรพ์ได้ยินเสียงผลไม้หล่นลงในน้ำ จึงปรารภประดิษฐ์เสียงดนตรี ก็เป็นนัยอันเดียวกัน คือเอาเสียงจากสิ่งอื่นที่ชอบใจมาเลียน และคิดทำเครื่องมือให้เลียงเสียงที่ชอบนั้นเป็นมูล จึงเกิดเครื่องสายมีพิณเป็นต้น และเครื่องเป่าให้เป็นเสียงสูงต่ำได้ต่าง ๆ

การใช้กลองนั้น หม่อมฉันเคยอ่านหนังสือเขาแต่งพรรณนาถึงประเพณีของชาวอาฟริกา ว่าทุกตำบลมีกลองสัญญาไว้บนที่สูง เช่นยอดภูเขาในตำบลนั้น เวลามีเหตุก็ตีกลองสัญญาบอกให้รู้กัน แม้จนถึงต่างบ้านต่างเมืองได้รวดเร็วนัก และมีเพลงที่จะตีกลองให้รู้รายการ เป็นต้นว่าศัตรูมาทางนั้นให้ไปช่วยต่อสู้กันที่นั่นที่นี่เป็นต้น บางแห่งใช้ไม้ท่อนรวง (อย่างเช่นที่เกาะบาหลี) บางแห่งใช้กลองขึงด้วยหนังสัตว์ พิเคราะห์ดูกลองขนาดเล็กลงมา เช่นกลองชนะ กลองอินทเภรี ก็ใช้เป็นกลองสัญญา น่าสันนิษฐานว่ามูลของกลองใช้เป็นเครื่องสัญญา เอาเข้ามาเล่นกับเครื่องดนตรีปี่พาทย์ต่อเมื่อภายหลัง ถึงฆ้อง ระฆัง กังสดาล มูลก็ใช้ตีเป็นสัญญาเหมือนกัน เครื่องกระทบจังหวะนั่นแหละจะเป็นของคิดขึ้นสำหรับกับเครื่องดนตรี หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

๒) มูลของคำ “ปูม” กับ “สมปัก” จะมาแต่อะไร หม่อมฉันยอมจน คิดนักแล้วก็ไม่เห็นแม้แต่วี่แวว

๓) ความจำของคนนั้นเป็นอย่างท่านตรัสมาว่าจะบังคับไม่ได้ พระองค์ท่านเองได้เคยทรงทดลองเมื่อครั้งสร้างศาลาอันเต จะหาชื่อมิให้มีใครจำได้เมื่อรื้อแล้ว แกล้งตรัสวานเจ้าพระยาภาสฯ ให้คิดท่านก็คิดถวายได้ถึงขนาดพระประสงค์ว่า “ศาลาอันเตปุริกชุริน” ซึ่งไม่น่าจะมีใครจำได้ แม้ตัวหม่อมฉันก็ไม่เคยอยากจำ แต่มันก็ติดอยู่ในความจำตลอดเวลากว่า ๓๐ ปีแล้วยังไม่ลืมจนบัดนี้ อีกฝ่าย ๑ คนเราอาจลืมโดยไม่ควรลืมก็มี เช่นชื่อคนซึ่งเคยพบปะอยู่เสมอ บางทีก็ลืมได้ซึ่งๆ หน้า เช่นกรมพระนเรศฯ เคยตรัสเล่าว่าท่านลืมชื่อนางล้อมเศรษฐินีแกไปเฝ้าจะตรัสทักนึกชื่อไม่ออกดังนี้ก็เป็นได้ นับว่าเป็นลืมอย่างสูง

๔) คำว่า “ชะ” กับ “ช้า” ดูใช้ไขว้เขวกันจริงดังทรงพระดำริ หม่อมฉันนึกว่าถ้าใช้เป็นอย่าง “อุทาน” เช่นลูกคู่รับในวงเพลง ที่ถูกเห็นจะเป็น “ชะ” ทั้งนั้น ยังมี “ชะป่อยแม่นางป่อยเอย” และ “ชิชะ” “ชะต้า” ก็เป็นคำอุทานทั้งนั้น ส่วนคำ “ช้า” นั้น เห็นจะหมายความได้หลายอย่าง หมายว่าไม่เร็วก็ได้อย่าง ๑ “เพลงช้า” ร้องช้า น่าจะอยู่ในอย่างนี้ หมายว่าไกวก็ได้อีกอย่าง ๑ เช่น “ชิงช้า” “ช้าลูกหลวง” และ “ช้าเจ้าหงส์” แต่ “ชั่วช้า” จะหมายความว่ากระไรหม่อมฉันก็คิดไม่เห็น เพราะไม่พบใช้เช่นนั้นในคำอื่นซึ่งพอจะเทียบกันได้

๕) อธิบาย “คำกลอน” นั้น หม่อมฉันก็ไม่เคยคิด เห็นถูกต้องตามพระดำริ ซึ่งทรงจับมูลของ “คำขับไม้” ได้ ว่ามาแต่ “ผะแด” ภาษาเขมร เรามาเขียนไขว้เป็น “แผด” นั้น ดีนัก ขอถวายอนุโมทนา

๖) คำว่า “ยัง” ก็น่าจะอยู่ในพวกคำที่หมายความได้หลายอย่าง อย่าง ๑ หมายความว่าอยู่กับที่ “ยังมี” “ยังอยู่” แม้ “ยับยั้ง” ก็อยู่ในความนี้ “ยังไม่ได้ ยังไม่มา” หมายความว่าค้างอยู่ แต่ที่ใช้ว่า “ยังบุคคลให้กระทำ” เคยได้ยินแต่คำแปลพระบาลีและเทศนา เข้าใจความได้ แต่ท่านจะเอาแบบที่ใช้คำ “ยัง” อย่างนั้นมาแต่ไหนยังไม่ทราบ ตรัสถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ดูสักทีก็จะดี

๗) พระสังคีติกาจารย์กับพระคันถรจนาจารย์นั้น หม่อมฉันเห็นว่าจะต่างกันดังนี้ พระสังคีติกาจารย์เป็นผู้ซักซ้อมในการสวด พระคันถรจนาจารย์เป็นผู้เรียบเรียงบทพระธรรม พระอรรถกถาจารย์ พระฎีกาจารย์ก็นับรวมในพวกพระคันถรจนาจารย์

ทูลเรื่องพิเศษ

๘) การเขียนจดหมายเวรแต่นี้ไปจะต้องตั้งระเบียบใหม่ คือเขียนเตรียมไว้ มีโอกาสส่งได้เมื่อใดให้ส่งได้ทันที จะเป็นคราวละกี่ฉบับก็ส่งพร้อมกัน เพราะการคมนาคมของบุคคลภายนอกในระหว่างกรุงเทพฯ กับปีนังในเวลานี้คล้ายกับทางโคจรของดาวหาง รู้ไม่ได้ว่าดวงไหนจะขึ้นเมื่อใด และจะมาแต่ทิศไหน เห็นแวบหนึ่งแล้วก็หายไป จะเขียนตอบเมื่อได้รับจดหมายที่มีมาเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ได้ เมื่อทรงเขียนลายพระหัตถ์เวรแล้วควรประทานไปไว้ที่วังวรดิศ แล้วแต่เขาจะมีโอกาสส่งมาได้เมื่อใดก็จะได้ส่งมา หม่อมฉันก็จะเตรียมจดหมายไว้ทำนองนั้นเหมือนกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ