วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร (๒)

ที่ ๑๐/๘๕

วังวรดิศ

วันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

จดหมายเวรของหม่อมฉันที่ร่าง ณ เมืองปีนังค้างอยู่และหายไปเมื่อชุลมุนเก็บของเตรียมกลับกรุงเทพฯ นั้น บัดนี้พบแล้ว ด้วยหญิงพูนเธออุตส่าห์หอบหิ้วเอามาด้วย แต่ได้มาเมื่อหม่อมฉันเขียนจดหมายฉบับใหม่หมายที่ ๙/๘๕ เสร็จแล้ว จึงเลื่อน “เบอร์” ฉบับนี้ลงมาเป็นที่ ๑๐/๘๕

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๒/๘๕

๑. โบสถ์วัดบวรนิเวศ ที่ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าแปลกกับที่อื่น ด้วยพระประธานอยู่นอกสีมานั้น หม่อมฉันคิดวินิจฉัยตามเสด็จ มีความเห็นเกิดขึ้นอีกอย่างดังจะทูลต่อไป หม่อมฉันเคยเห็นกลอนหรือโคลงซึ่งพระยาไชยวิชิต (เผือก) แต่งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จารึกศิลาไว้ที่ในโบสถ์วัดหน้าพระเมรุ มีความแห่งหนึ่งกล่าวถึงทรงสร้างวัดราชโอรส ชมพระปัญญาว่าช่างแก้ไขยักเยื้องมิให้มีช่อฟ้าใบระกา อันเป็นของหักพังง่ายไม่ถาวร ก็วัดราชโอรสนั้นสร้างแต่ในรัชกาลที่ ๒ ความที่พระยาไชยวิชิตกล่าวถึงนั้นส่อว่าเป็นวัดแรกคิด สร้างออกนอกแบบอย่างวัดซึ่งสร้างกันเป็นสามัญ จะเรียกต่อไปในจดหมายนี้ว่า “วัดนอกอย่าง” พิจารณาดูวัดราชโอรสเห็นได้ว่าวัดนอกอย่างนั้นไม่ใช่แต่เอาช่อฟ้าใบระกาออกเท่านั้น ถึงสิ่งอื่นเช่นลวดลายและรูปภาพเป็นต้น ก็แผลงไปเป็นอย่างอื่นหมด คงไว้แต่สิ่งอันเป็นหลักของวัดอันจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่นโบสถ์วิหารเป็นต้น นอกจากทรงสร้างตามพระราชหฤทัยไม่เกรงใครจะติเตียน แต่ตั้งพระราชหฤทัยประจงให้งามอย่างแปลก มิใช่สร้างแต่พอเป็นกิริยาบุญ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ คนอื่นก็นิยมสร้างวัดนอกอย่างตามเสด็จ แม้พระอารามหลวงสร้างเป็นวัดนอกอย่างก็มีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เช่นวัดเทพธิดาสร้างเป็นวัดนอกอย่าง แต่วัดราชนัดดาสร้างเป็นวัดในอย่าง ที่สร้างทั้ง ๒ อย่างปนกันในวัดเดียวก็มี เช่นวัดกัลยาณมิตร วิหารพระโตสร้างในอย่าง แต่โบสถ์กับการเปรียญสร้างนอกอย่าง แต่คิดดูเห็นว่าสร้างวัดในอย่างดูเหมือนจะง่ายกว่าวัดนอกอย่าง เพราะอาจหาตัวอย่างจำลองมาทำตามได้ง่าย แต่วัดนอกอย่างต้องคิดแบบอย่างขึ้นใหม่โดยมาก คงให้ความสนุกแก่ผู้สร้างยิ่งกว่าสร้างวัดในอย่างด้วย

วัดบวรนิเวศนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจำนงจะทรงสร้างเป็นวัดนอกอย่างมาแต่แรก ข้อนี้ไม่มีที่สงสัย สันนิษฐานว่าคงลงมือสร้างพระอุโบสถก่อน และขนาดพระอุโบสถเดิมคงเท่าแนวเสมาติดผนังที่ทำไว้ทั้ง ๔ ด้าน แต่ในเวลาเมื่อเริ่มสร้างพระอุโบสถขึ้นบ้างแล้ว เกิดมีกรณีให้ทรงพระดำริแก้ไขพระอุโบสถ

กรณีนั้นมีมูลมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ ด้วยเมื่อสร้างวัดพระเชตุพนฯ ความปรากฏว่าตามหัวเมืองมีพระพุทธรูปหล่อของโบราณทิ้งตากแดดกรำฝนอยู่ตามวัดร้างมากกว่ามาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงโปรดให้เชิญมาปฏิสังขรณ์ให้คืนดีแล้วรักษาไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ หรือพระราชทานไปเป็นพระประธานที่อื่น แต่ในครั้งนั้นหากพระพุทธรูปที่นั่งมีหลังคาโบสถ์วิหารปกคลุม ไม่ตากแดดกรำฝนดังเช่นพระพุทธชินสีห์และพระศาสดาเป็นต้นไม่เชิญลงมา ครั้นเวลาล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๓ โบสถ์วิหารซึ่งยังดีอยู่เมื่อรัชกาลที่ ๒ หักพังไป มีพระพุทธรูปหล่อของโบราณซึ่งต้องตากแดดกรำฝนเกิดขึ้นอีก ข้อนี้พึงเห็นได้เช่นพระศาสดา คงเป็นเพราะวิหารพังต้องตากแดดกรำฝนอยู่ พวกชาวเมืองพิษณุโลกจึงยอมให้สมภารวัดบางอ้อช้างเชิญลงมา และเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญพระอัฐารสที่วัดวิหารทองเมืองพิษณุโลกลงมาสร้างวิหารรักษาไว้ที่วัดสระเกศ น่าสันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคงตรัสแนะนำเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่สร้างวัด ให้หาพระพุทธรูปโบราณซึ่งตากแดดกรำฝนอยู่ตามหัวเมืองมาบุรณปฏิสังขรณ์ทำเป็นพระประธาน จึงเกิด “แฟดแชน” หาพระพุทธรูปโบราณตามหัวเมืองมาทำพระประธานกันในรัชกาลที่ ๓ จะทูลเพียงที่นึกได้คือ

พระประธานวัดบรมนิวาส องค์ ๑

พระประธานวัดบวรนิเวศ ๒ องค์

พระประธานวัดเทวราชกุญชร องค์ ๑

พระประธานวัดประยูรวงศ ๒ องค์

พระประธานวัดพิชัยญาติ องค์ ๑

พระประธานวัดอินทาราม องค์ ๑

ส่วนวัดบวรนิเวศนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้เชิญ “พระโต” ที่วัดสระตะพานเมืองเพชรบุรีเข้ามา เป็นพระขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะเป็นพระประธานในโบสถ์ซึ่งสร้างไว้ แต่วัดบวรนิเวศสร้างเป็นวัดนอกอย่าง จึงทรงพระดำริให้สร้างวิหารขวางต่อติดกับหลังโบสถ์ ตั้งพระโตตรงกลางหันหน้าขวางวิหารเข้ามาทางโบสถ์ แล้วรื้อผนังด้านหลังโบสถ์ ทำคูหาให้แลเห็นพระโตเหมือนเป็นพระประธาน วิหารพระโตนั้นทางหัวท้ายทำเป็นห้องตั้งพระพุทธรูปยืน ซึ่งทรงหล่อใหม่ทั้ง ๒ ข้าง พระดำริน่าจะเป็นแต่เพียงนี้ชั้นหนึ่ง แล้วต่อไปทรงทราบว่าพระชินสีห์เมืองพิษณุโลกก็ต้องตากแดดกรำฝน วิหารหักพังจึงโปรดให้เชิญพระชินสีห์ลงมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แล้วสร้างวิหารขึ้นอีกหลังหนึ่งต่อวิหารพระโตไปทางข้างหลัง คงเป็นหลังคาต่างหากเหมือนกัน หม่อมฉันเห็นว่าเรื่องคงจะเป็นดังทูลมา

๒. ที่ท่านพ้นหน้าที่จุดเทียนวัสสาได้นั้น หม่อมฉันยินดีด้วย ถ้าตรัสขอพระองค์ให้พ้นหน้าที่ทอดพระกฐินหลวงกับทั้งราชการอย่างอื่น ซึ่งต้องแต่งพระองค์ทรงเครื่องแบบหรือแม้มิต้อง แต่ไปเข้าสมาคมได้หมดด้วยจะยิ่งดี

๓. เรื่องพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปจุดเทียนวัสสาวัดอื่นนอกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น มีพระบรมราชาธิบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอยู่ในหนังสือเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ตรัสเล่าตามที่ได้ทรงสดับมาจากทูลกระหม่อม แลกรมหลวงวงศาธิราชสนิทว่าแต่ก่อนพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนวัสสาแต่ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับที่ในหอพระสุราไลยพิมาน ๒ แห่งเท่านั้น ที่อื่นพระราชทานเทียนชนวนให้เจ้านายไปจุดทั้งนั้น และว่าเมื่อรัชกาลที่ ๒ นั้นโปรดให้พระเจ้าลูกเธอเป็นพนักงานจุดเทียนวัสสา ๕ พระองค์ คือทูลกระหม่อมทรงจุดวัดพระเชตุพนฯ เป็นนิจพระองค์ ๑ ต่อลงมาถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมหลวงวงศาฯ และอีก ๒ องค์ซึ่งทรงจำพระนามไม่ได้ กรมหลวงวงศาฯ ทูลว่าองค์อื่นแบ่งกันจุดองค์ละไม่กี่วัด แต่พระองค์ท่านเองถูกประเดให้จุดถึง ๒๒ วัด ต้องไปเที่ยวจุดแต่เช้าจนค่ำจึงครบหมด ถึงรัชกาลที่ ๓ ทูลกระหม่อมไปทรงผนวช เจ้านายพนักงานพระองค์อื่นทั้งกรมหลวงวงศาฯ ก็ยังจุดอยู่อย่างเดิม แต่มีวัดหลวงเพิ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๓ มาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระเจ้าลูกเธอเป็นพนักงานจุดเทียนวัสสาเพิ่มจำนวนขึ้น

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมทรงระลึกถึงที่เคยทรงจุดเทียนวัสสาวัดพระเชตุพนฯ เมื่อรัชกาลที่ ๒ (หม่อมฉันอยากจะแทรกว่าประกอบกับพระราชประสงค์จะเสด็จไปถวายพุ่มกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เหมือนอย่างเคยถวายมาทุกปีเมื่อยังผนวชด้วย) จึงเสด็จไปจุดเทียนวัสสาวัดพระเชตุพนฯ วันแรม ๑ ค่ำ เวลาเย็น แล้วเลยเสด็จไปถวายพุ่มสมเด็จพระปรมาฯ ที่ตำหนัก ต่อมาเมื่อเชิญพระพุทธสิหิงค์คืนไปไว้วังหน้าแล้ว ทูลกระหม่อมเสด็จไปจุดเทียนวัสสาที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ด้วยอีกแห่งหนึ่ง

การที่ทูลกระหม่อมถวายพุ่มกรมสมเด็จพระปรมา ฯ มีเรื่องเตร็จซึ่งน่าจะเล่าไว้ด้วย หม่อมฉันจึงจะเขียนแทรกลงตรงนี้ ลักษณะที่กรมสมเด็จพระปรมาฯ รับเสด็จทูลกระหม่อมนั้น ท่านประทับรับเสด็จอยู่ในตำหนักแต่พระองค์ มิให้มีใครอยู่ในนั้นด้วย ส่วนพระราชาคณะกับฐานานุกรมวัดพระเชตุพนฯ ที่ไปรับเสด็จให้นั่งเรียงแถวอยู่ที่หอสวดมนต์ตรงหน้าตำหนัก ทูลกระหม่อมถวายพุ่มแล้วทรงสนทนาอยู่นานๆ เมื่อจะเสด็จกลับกรมสมเด็จพระปรมาฯ ถวายอติเรก ภวตุสัพ แต่พระองค์เดียวครั้งหนึ่งก่อน แล้วเสด็จไปประทับที่หอสวดมนต์ รับอติเรกพระสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เสมอเป็นนิจ

ในเวลานั้น กรมสมเด็จพระปรมาฯ เป็นพระมหาสังฆปรินายก บรรดาพระสงฆ์ซึ่งทรงสมณศักดิ์ กับทั้งเจ้านายทรงผนวชคงพากันไปถวายพุ่มเมื่อเข้าวัสสาทุกปี เมื่อกรมสมเด็จพระปรมาฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ทูลกระหม่อมโปรดให้ทำที่บูชาประดิษฐานพระอัฐิไว้ที่ในตำหนัก และโปรดให้พระพิมลธรรม (ยิ้ม) เป็นผู้รักษาพระอัฐิกับตำหนักทั่วทั้งบริเวณ พระพิมลธรรม (ยิ้ม) มาอยู่กุฏิใหญ่หลังหนึ่งที่ในบริเวณตำหนัก (ได้ยินว่าจำเพาะในเวลานั้นมีพระราชาคณะเป็นอาวุโสอยู่ในวัดพระเชตุพนฯ พระพิมลธรรม (ยิ้ม) จึงไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส แต่ต่อมาทั้งหน้าที่รักษาพระอัฐิและกุฏิที่อยู่ในบริเวณตำหนัก ตกแก่เจ้าอาวาส ตั้งแต่สมเด็จพระวันรัต (สมบุญ) สืบมาทูลกระหม่อมได้ตรัสสั่งพระราชาคณะฐานานุกรมกับทั้งเจ้านายทรงผนวชในคณะธรรมยุติกา ให้คงไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมาฯ เสมอทุกปี ด้วยทรงนับถือว่าท่านได้มีพระคุณแก่พระสงฆ์ธรรมยุติกามาแต่ก่อนมาก แม้พระองค์เองเมื่อทรงจุดเทียนวัสสาแล้ว ก็เสด็จไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมาฯ ด้วยทุกปี แต่ถึงสมัยนี้เมื่อถวายพุ่มพระอัฐิแล้ว เสด็จเลยไปถวายพุ่มพระพิมลธรรม (ยิ้ม) ที่กุฏิด้วย พระพิมลธรรม (ยิ้ม) ก็ทำตามอย่างกรมสมเด็จพระปรมาฯ รับเสด็จและถวายอติเรกในกุฏิแต่องค์เดียว ก็เลยเป็นแบบอันมีแต่ที่วัดพระเชตุพนฯ แต่แห่งเดียว สืบมาจนรัชกาลที่ ๕ เมื่อหม่อมฉันบวชเป็นสามเณรก็เคยไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมา ฯ เมื่อเป็นราชองครักษ์ก็เคยตามเสด็จไปถวายพุ่ม ได้เห็นพระพิมลธรรม (อ้น) รับเสด็จในกุฏิแต่องค์เดียว และทรงรับอติเรก ๒ ครั้งดังกล่าวมาข้างต้น แต่ยังไม่ทราบมูลเหตุมาช้านาน จนเมื่อจะมีงานพระชนมายุสมมงคลที่วัดอรุณฯ วันหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปทอดพระเนตรเตรียมงานที่วัดอรุณฯ แล้วเสด็จเลยไปเยี่ยมสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ) ถึงกุฏิ ท่านรับเสด็จอยู่ ณ กุฏิองค์เดียว ให้พระราชาคณะกับฐานานุกรมนั่งแถวรับเสด็จอยู่ที่หอสวดมนต์ และถวายอติเรก ๒ ครั้งดังว่ามาแล้ว เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากกุฏิตรัสสรรเสริญสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์กับหม่อมฉันว่าท่านรู้แบบเก่า การที่รับเสด็จแต่องค์เดียวที่ในกุฏินั้นเพื่อจะให้เป็นที่รโหฐาน พระเจ้าแผ่นดินจะตรัสอะไร จะได้ตรัสโดยสะดวกพระราชหฤทัย ด้วยไม่มีใครอื่นได้ยิน พระราชาคณะองค์อื่นเห็นจะรู้ธรรมเนียมนั้นน้อยตัวแล้ว หม่อมฉันได้ฟังพระบรมราชาธิบาย จึงรู้มูลเหตุเรื่องอติเรก ๒ ครั้ง มาคิดดูเห็นว่าคงเป็นกรมสมเด็จพระปรมาฯ ทรงตั้งแบบรับเสด็จอย่างนั้น เพราะทูลกระหม่อมเคยเสด็จไปเฝ้าและเคยสนทนาอย่างไว้วางพระหฤทัยกันมาแต่ยังทรงผนวช

ในพระบรมราชาธิบายว่าทูลกระหม่อมทรงจุดเทียนวัสสาวัดพระเชตุพนฯ เสมอมาจนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเจริญวัย จึงโปรดให้ทรงรับหน้าที่เป็นพนักงานจุดเทียนวัสสาวัดพระเชตุพนฯ เหมือนอย่างพระองค์เองเมื่อรัชกาลที่ ๒ เพิ่มการถวายพุ่มบูชาพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมาฯ และถวายพุ่มท่านผู้รักษาพระอัฐิด้วย สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงจุดต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงพระเจริญวัย จึงทรงมอบกิจนั้นพระราชทานให้เป็นพนักงานต่อมา

การที่ทูลกระหม่อมเสด็จไปวัดบวรนิเวศเมื่อเข้าวัสสานั้น ไม่ได้เสด็จไปจุดเทียนวัสสา ซึ่งมักประทานเทียนชนวนให้เจ้าทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศฯ ไปจุดแต่เมื่อเข้าไปรับพุ่มที่วัดพระแก้วในวันกลางเดือน ทูลกระหม่อมเสด็จไปวัดบวรนิเวศต่อวันแรม ๒ ค่ำ เวลาบ่าย เมื่อถวายพุ่มบูชาพระพุทธรูปและถวายพุ่มแก่กรมสมเด็จพระปวเรศฯ เป็นมูล แต่แรกกรมสมเด็จพระปวเรศก็รับเสด็จที่บนตำหนักชั้นบนแต่พระองค์เดียว และให้พระราชาคณะกับฐานานุกรมนั่งแถวรับเสด็จที่ตำหนัก (ชั้นล่าง) คงถวายอติเรก ๒ ครั้งอย่างที่วัดพระเชตุพนฯ และเสด็จไปตั้งแต่ปีแรกเสวยราชย์ทั้ง ๒ วัด

การที่ทูลกระหม่อมเสด็จไปถวายพุ่มที่วัดบวรนิเวศนั้นก็มีเรื่องเตร็จอันควรเล่าด้วย เล่ากันมาว่าในปีที่ทูลกระหม่อมเสวยราชสมบัตินั้น พอใกล้วัสสาพวกพระสงฆ์สานุศิษย์ซึ่งอยู่ในวัดบวรนิเวศพากันรู้สึกว้าเหว่ ด้วยเคยถวายพุ่มสักการบูชาทูลกระหม่อมมาทุกปี จะไม่ได้ถวายพุ่มต่อไป ครั้นรู้ว่าจะเสด็จไปถวายพุ่มที่วัดบวรนิเวศ จึงนัดกันจัดพุ่มกับเครื่องสักการบูชาเช่นเคยถวาย เอาไปตั้งเรียบเรียงไว้ตรงหน้าพระพุทธชินสีห์ที่ในพระอุโบสถ ทูลกระหม่อมเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นตรัสถามได้ทรงทราบเหตุจึงทรงพระกรุณา ตรัสพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่าถ้าพระสงฆ์สานุศิษย์ใครจะถวายพุ่มแก่พระองค์ ก็ให้เข้าไปถวายแก่พระแก้วมรกตที่ในพระบรมมหาราชวัง แต่นั้นก็เกิดประเพณีที่พระสงฆ์ธรรมยุติกา เข้าไปถวายพุ่มแก่พระแก้วมรกตในวันแรม ๕ ค่ำเป็นกำหนดทุกปีเสมอสืบมา ข้างฝ่ายทูลกระหม่อมก็ตรัสสั่งให้จัดพุ่มเป็นส่วนของพระองค์ถวายแก่พระสงฆ์สานุศิษย์ในวันเสด็จไปถวายพุ่มที่วัดบวรนิเวศด้วยทุกปี แต่พระสงฆ์วัดบวรนิเวศที่รับพุ่มหลวงครั้งทูลกระหม่อมเห็นจะเป็นแต่ท่านที่เคยเป็นสานุศิษย์ในพระองค์ พระบวชใหม่ไม่ทรงรู้จักคงไม่ได้รับ จึงปรากฏในพระบรมราชาธิบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่าถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อแรกเสวยราชย์ทรงเคยคุ้นกับพระสงฆ์วัดบวรนิเวศอยู่แทบทั้งวัด เพราะได้ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อก่อนเสวยราชย์ไม่ช้านัก จึงโปรดให้ถวายพุ่มพระสงฆ์วัดบวรนิเวศหมดทั้งวัดก็เลยเป็นธรรมเนียมสืบมา และกรมสมเด็จพระปวเรศก็เสด็จลงมานำพระสงฆ์รับพุ่มที่ในพระอุโบสถ มิได้รับเสด็จบนตำหนักเหมือนแต่ก่อน การถวายพุ่มที่วัดบวรนิเวศมีแปลกกับที่วัดอื่นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยเสด็จไปถวายพุ่มเจ้านายทรงผนวชถึงตำหนักทุกพระองค์ คงเริ่มมาแต่เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงผนวชเป็นสามเณร เลยเป็นธรรมเนียมสืบมาจนรัชกาลที่ ๕

๔. วัดราชประดิษฐ์นั้น ในพระบรมราชาธิบายว่าตั้งแต่สร้างวัด ทูลกระหม่อมก็เสด็จไปถวายพุ่มพระทั้งวัดทุกปี ดูทำนองอย่างเป็นเจ้าของวัด ที่เสด็จไปถวายพุ่มพระวัดราชบพิธทั้งวัดในรัชกาลที่ ๕ ก็ทำตามอย่างวัดราชประดิษฐ์นั่นเอง เป็นแต่ทรงสักการบูชาพระพุทธรูปมิได้จุดเทียนวัสสา ส่วนวัดเบญจมบพิตรนั้นเป็นการ “นอกอย่าง” ด้วยทรงชวนพระประยูรญาติที่ได้ช่วยกันสร้าง ไปถวายธูปเทียนพระสงฆ์ที่เข้าวัสสาเหมือนเช่นพวกสัปปุรุษเขาทำกันที่วัดอื่นเท่านั้น

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๓/๘๕

๕. การตั้งศพที่วัดเบญจมบพิตรนั้น หม่อมฉันเห็นว่าเป็นความคิดดีอยู่ ด้วยการตั้งศพนั้นจะเป็นศพโกศก็ตาม ศพหีบก็ตาม เหมาะแต่จะตั้งในเรือนแบบไทย เช่นท้องพระโรงหรือหอนั่ง เรือนแบบฝรั่งเขาตั้งศพ คงไม่สมประกอบด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างดังเมื่อพระศพสมเด็จกรมพระเทววงศ์ฯ ตั้งในห้องรับแขกบนตำหนักใหญ่ ก็ตั้งฐานแว่นฟ้าได้ชั้นเดียว ที่บางแห่งถึงต้องตัดฝ้ารองเพดานให้ยอคโกศขึ้นไปอยู่หลังคาก็มี ที่ต้องตั้งโกศหรือหีบศพเหมือนอย่างฝากของเก็บไว้ในห้องก็มี เวลาทำบุญหน้าศพที่คนนั่งก็ไม่มีที่จะเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ที่ให้โทษเป็นข้อสำคัญนั้น เพราะเรือนแบบฝรั่งทำสำหรับอยู่ร่วมกันกับครัวเรือน พอตั้งศพก็มีบุคคลภายนอกตั้งแต่พระสวดเป็นต้นเข้าไปอยู่ในเรือน ทำให้ครอบครัวของผู้ตายพากันได้ความเดือดร้อนไปจนกระทั่งปลงศพแล้ว เพราะฉะนั้นที่เอาศพไปตั้งวัดจึงเป็นการแก้ความลำบากของเจ้าภาพได้มาก เปลี่ยนเป็นความลำบากเพียงต้องไปทำบุญศพไกลไปหน่อยเท่านั้น

๖. ในลายพระหัตถ์ฉบับนี้มีเรื่องบัตรใบแดงหลายราย บางรายก็ออกจะขัน บางรายก็ชวนให้คิดถึงวันหน้า จึงจะทูลสนองเรื่องบัตรใบแดงรวมเป็นวินิจฉัยอันเดียวกัน

ที่เสด็จไปรดน้ำบ่าวสาวผิดแห่งนั้นขันอยู่ แต่คิดดูก็ไม่ประหลาด หม่อมฉันเองก็เคยใช้สังเกตแห่งที่ด้วยดูรถที่มีจอดอยู่มาก ที่ท่านเสด็จไปผิดแห่งเพราะมีกรณีพิเศษเป็นเหตุประกอบกันถึง ๓ อย่าง คือแต่งงานวันเดียวกัน ๒ รายอย่างหนึ่ง บ้านที่แต่งงานอยู่ถนนเดียวกันทั้ง ๒ รายอย่างหนึ่ง และไม่ทรงรู้จักว่าบ้านที่เชิญเสด็จอยู่ที่ไหนด้วยอีกอย่างหนึ่ง จะป้องกันมิให้ผิดแห่งได้แต่ด้วยตั้งตำราไว้ที่ตำหนัก ว่าถ้ามีใครเชิญเสด็จไปรดน้ำบ่าวสาว คุณโตหรือหญิงอามต้องสั่งสารถีที่นั่งให้ไปสืบให้รู้แห่งบ้านเสียก่อนเสมอทุกรายไป จึงจะคุ้มได้ แต่น่าชมเจ้าของงานที่เสด็จไปผิดนั้น ว่าเขามีทั้งอัธยาศัยและสติดี ถ้าถูกเป็นคนเขลาแสดงความยินดีด้วยกิริยาหรือวาจาให้ท่านรู้สึกพระองค์ว่าเสด็จไปผิดแห่งในเวลานั้น ดูจะเกิดลำบากพระทัยไม่น้อย

ที่มีรายอื่นพาเจ้าบ่าวเจ้าสาวไปเฝ้าทูลขอให้รดน้ำประทานที่ตำหนักนั้น ก็น่าชมความคิด เพราะการเชิญคนรดน้ำบ่าวสาวทุกวันนี้คล้ายกับสวด “สคฺเค” เชิญเทวดาเสียแล้ว ที่เขาพาคู่บ่าวสาวมาให้ทรงรดน้ำที่ตำหนัก เห็นถนัดว่าเพราะเขาปรารถนาด้วยนับถือเฉพาะพระองค์ แต่จะเชิญเสด็จไปเข้ากระบวนเทวดาที่รับสคฺเค เขาเกรงพระทัย จึงแก้ธรรมเนียมเก่าซึ่งให้คู่บ่าวสาวไป “ไหว้” นั้นเอง เปลี่ยนเป็นไปเฝ้าให้ทรงรดน้ำ คนอื่นก็น่าจะคิดถึงพระชันษาและเกรงพระหฤทัยทำอย่างเดียวกัน รายใดไม่ถึงต้องการจะให้พระองค์ท่านทรงรดน้ำโดยเฉพาะ ไม่พาคู่บ่าวสาวไปเฝ้า พระองค์ท่านก็ไม่ต้องลำบาก ถ้าเป็นได้เช่นนั้นจะดีหาน้อยไม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ