วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

ที่ ๑๑/๘๕

วังวรดิศ

วันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

เมื่อหม่อมฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้รับลายพระหัตถ์เวรคอยส่งอยู่ ๓ ฉบับ คือฉบับที่ ๑๔/๘๕ (ต่อจากฉบับหลังที่สุดที่หม่อมฉันได้รับที่เมืองปีนัง) ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ฉบับ ๑ ฉบับที่ ๑๕/๘๕ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ฉบับ ๑ และฉบับที่ ๑๖/๘๕ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ฉบับ ๑ จะทูลสนองโดยลำดับไป

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๔/๘๕

๑) แบบตัวไม้เครื่องเรือนนั้น หม่อมฉันไม่สันทัดทาง “เต๊กนิค” ในเรื่องนั้น จะทูลสนองแต่ด้วยวินิจฉัยแบบเรือนที่ทำกันเป็นสามัญในประเทศต่างๆ หม่อมฉันเห็นว่าแบบเรือนที่อยู่เกิดแต่เหตุ ๒ อย่าง คือ ดินฟ้าอากาศในถิ่นที่สร้างเรือนอย่าง ๑ ทัพสัมภาระซึ่งพึงหาได้ในถิ่นนั้นอย่าง ๑ เหมือนเช่นในถิ่นที่แห้งแล้งมิใคร่มีฝน ก็ชอบทำเรือนหลังคาตัดก่อด้วยดินดิบหรือก้อนหิน ซึ่งหาได้ง่ายในถิ่นนั้น ในถิ่นที่มีหิมะตกท่วมในฤดูหนาว ก็จำต้องทำเรือนมีหลังคามั่นคง และก่อฝาหนาให้ทานน้ำหนักหลังคากับทั้งหิมะที่ตกท่วมได้ ในถิ่นที่ฝนตกชุก ต้นไม้มีมากก็ชอบทำเรือนด้วยไม้ มีหลังคาสูงสำหรับให้น้ำฝนไหลไปเสียจากเรือนโดยเร็ว ไม่เลือกว่าเรือนในถิ่นอย่างไหน ชั้นแรกคงยังไม่สมประกอบ จำเนียรกาลนานมามีช่างผู้มีปัญญา คิดแก้ไขให้สมประกอบดีขึ้นโดยลำดับมา ใครเห็นดีก็ทำตาม จึงเลยเกิดแบบเรือนอันเหมาะสำหรับกับถิ่นที่ ทำเป็นอย่างเดียวเหมือนกันทั่วไปตลอดท้องถิ่นนั้นๆ แม้ในเมืองไทยเรา ถ้าพิจารณาดูเรือนอย่างโบราณที่พวกพลเมืองอยู่ ตั้งแต่เรือนพวกชาวป่าขึ้นมาจนถึงชั้นผู้ดีมียศบรรดาศักดิ์ ก็จะเห็นได้ว่ามาแบบเดิมอันเดียวกัน แก้ไขให้สมประกอบยิ่งขึ้นโดยลำดับมา จนนับได้ว่าเหมาะกับท้องถิ่นเป็นอย่างดีที่สุด ทั้งในทางอนามัยและเศรษฐกิจ ดังชี้ได้ในบางอย่าง คือ

ก. ทำด้วยทัพสัมภาระอันหาได้ง่าย

ข. อยู่ได้ทั้งในเวลาแผ่นดินแห้งและเวลาน้ำท่วม

ค. จะย้ายถิ่นไปอยู่ไหนก็อาจเอาเรือนไปด้วยได้

ฆ. เรือนหลังเดียวมีบริบูรณ์ทั้งห้องนอนห้องนั่งข้างใน ประธานมีห้องรับแขกและครัวไฟอยู่ที่เฉลียง และที่สุดมีที่ทำการงานเช่นสีข้าว และทอหูกเป็นต้นอยู่ข้างใต้พื้นเรือน ไม่มีเสียที่ให้ว่างเปล่า

ง. แม้รูปทรงสัณฐานเรือนที่ถูกต้องตามทางอนามัย เป็นต้นแต่หลังคาทำทรงสูงให้น้ำฝนไหลเร็ว ไม่ทันรั่วลงตามช่องแฝกหรือใบจากที่มุงหลังคา มีปั้นลมทั้ง ๒ ด้านขื่อกันมิให้ลมพัดหลังคาเปิด และตัวเรือนทำเฉลียงทางด้านหน้าให้หลังคาเฉลียงบังลมในฤดูหนาว แต่ด้านหลังทำช่องหน้าต่างสำหรับรับลมในฤดูร้อน แต่มีพาไลปีกนกที่ใต้ชายคาทั้ง ๓ ด้านสำหรับบังแดดมิให้เผาฝา

ลักษณะเหล่านี้เป็นแบบเรือนไทยเหมือนกันทั่วไปทั้งนั้น เก๋งจีนเขาก็มีแบบอันแก้ไขได้จนเหมาะแก่ภูมิประเทศของเขา จึงเป็นแบบเดียวกันทั่วไป แบบเรือนแขกฝรั่งก็เกิดขึ้นโดยทำนองเดียวกัน แต่วิสัยมนุษย์เคยอยู่เรือนอย่างไรจนคุ้นมาแต่น้อยแล้ว ก็ชอบอยู่เรือนแบบนั้น แม้ไปอยู่ในถิ่นประเทศอื่นก็ชอบไปสร้างเรือนตามเคยชอบอยู่ ดังเช่นพวกจีนมาสร้างเก๋งอยู่ในเมืองไทย ไม่ถือว่าจะเหมาะกับถิ่นที่สร้างหรือไม่ ก็เลยเกิดแบบเรือนหลายอย่างต่างชนิดขึ้นในถิ่นอันเดียวกัน แล้วเลยมีคนเอาอย่างแบบเรือนของประเทศอื่นไปประสมหรือสร้างเลียนด้วยเห็นงาม แต่ก็มักเป็นแต่ในพวกผู้มีทรัพย์ แต่พวกราษฎรพลเมืองดูยังถือแบบเดิมอยู่ทุกประเทศ

๒) กำเนิดของคำ “วรรณคดี” นั้นมีเรื่องเนื่องมาดังนี้ ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้ง “โบราณคดีสโมสร” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ พระองค์ทรงรับเป็นสภานายก โปรดฯ ให้สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสภานายกหอพระสมุดฯ สำหรับพระนครเป็นอุปนายก และโปรดฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทรเป็นเลขานุการ พระราชทานพระราชลัญจกรมังกรเล่นแก้วให้เปนตราสำหรับสภา ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงตั้ง “วรรณคดีสโมสร” พ.ศ. ๒๔๕๗ อีกสภา ๑ พระองค์ทรงรับเป็นสภานายก โปรดให้สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร (คือตัวหม่อมฉัน) เป็นอุปนายก และให้กรรมการหอพระสมุดฯ เป็นกรรมการวรรณคดีสโมสรด้วย ทรงสร้างตราพระคเณศรขึ้นพระราชทานให้เป็นตราวรรณคดีสโมสร เพราะฉะนั้นชื่อ “วรรณคดี” ที่ใช้กันต่อมา น่าจะเป็นสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงประดิษฐ์ขึ้น

๓) ที่เปลี่ยนคำ “จำนำ” เป็น “จำนอง” นั้น หม่อมฉันจำได้แต่ว่าเมื่อร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่วังบางขุนพรหม เราก็เป็นกรรมการอยู่ในนั้นด้วย ทูลกระหม่อมชายท่านเป็นผู้ขอแก้ แต่จะอ้างเหตุอันใดหม่อมฉันลืมเสียแล้วนึกก็ไม่ออก

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๕/๘๕

๔) ที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนชื่อเมืองสิงคโปร์เป็น “โชนัน” นั้น หม่อมฉันได้ยินว่าเป็นความคิดของแม่ทัพที่ตีเมืองสิงค์โปร์ได้ ขอให้ขนานนามนั้นเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินญี่ปุ่น คำ “โช” เป็นนามพระราชวงศ์เหมือนอย่างคำ “จักรี” ของเรา คำ “นัน” แปลว่าตะวันตก รวมกันหมายความว่า “ราชอาณาเขตของราชวงศ์โชแผ่มาถึงที่นั้น” แต่ชื่อและคำอื่นที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าเขาเอาสำเนียงที่ญี่ปุ่นเรียกมาบังคับให้ใช้ตามเมืองที่ตีได้ เคยสังเกตคำที่พวกฝรั่งเรียกเมืองญี่ปุ่นว่า “ชะแปน“ ก็ดี ที่จีนเรียกว่า “ชีฟน” ก็ดี เขาให้เรียกแต่ว่า “นิปปอน (Nippon) อย่างเดียว ยังประหลาดอยู่อีกที่บังคับให้เมืองปีนังใช้เวลานาฬิกาตรงกับกรุงโตกิโอ ต้องร่นเวลาเร็วขึ้นไปกว่าเดิมถึงชั่วโมงครึ่ง เมื่อก่อนหม่อมฉันมาต้องพกนาฬิกา ๒ เรือน เพราะชาวปีนังยังใช้เวลาปีนังอยู่อย่างเดิมโดยมาก แต่เวลานัดหมายที่เกี่ยวกับการของรัฐบาลใช้เวลาโตกิโอทั้งนั้น เมื่อหม่อมฉันกลับมาพอเข้าแดนเมืองไทยก็ต้องเปลี่ยนเวลานาฬิกาเป็นเวลากรุงเทพฯ แต่ใช้อย่างเดียวค่อยสะดวกขึ้น

๕) เรื่องชื่อเมืองบเตเวีย และยักกัดตา นั้น มีเรื่องตำนานมาดังนี้ คือที่ตรงนั้นมีลำแม่น้ำอันเรียกชื่อมาแต่โบราณว่า “ลำน้ำกะหลาป๋า” แปลว่า “ลำน้ำป่ามะพร้าว” ถึงสมัยเมื่อพวกชวาถือศาสนาพราหมณ์ มีเจ้าชวาองค์หนึ่งมาตั้งเมืองเป็นราชธานีอยู่ริมแม่น้ำกะหลาป๋า ขนานนามเมืองว่า “ยักกัดตา” มาแต่ “ชัยเขตร” แต่พวกพลเมืองมักเรียกตามชื่อแม่น้ำกะหลาป๋า เป็นมูลของคำที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) เอามาใช้ในเรื่องระเด่นลันได ชมโฉมนางประแดะว่า “งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า” แต่ในทางราชการ ไทยเราเรียกตามชื่อเมืองที่ขนานว่า “ยักกัดตา” คือเมืองเดียวกันกับเมืองกะหลาป๋านั้นเอง ต่อมาถึงสมัยเมื่อพวกฮอลันดามาตั้งสถานีการค้าขายที่ชายเกาะชวาในอาณาเขตเมืองยักกัดตรามีอำนาจมากขึ้นแล้วสร้างสถานีเป็นป้อม เอาชื่อป้อม หรือบุคคล หรือเหตุการณ์ที่สำคัญอันใดอันหนึ่งในประเทศฮอแลนด์มาขนานนามป้อมว่า “บเตเวีย” ต่อมาพวกฮอลันดาเกิดรบกับเจ้าเมืองชวา ฮอลันดาตีได้เมืองยักกัดตาแล้ว ไปสร้างเมืองขึ้นที่เมืองยักกัดตานั้น เป็นเมืองหลวงของพวกฮอลันดาในเกาะชวา จึงเอานามป้อมย้ายไปใช้เป็นนามเมืองว่า “เมืองบเตเวีย” ที่จริงเมืองกะหลาป๋า เมืองยักกัดตา เมืองบเตเวีย เป็นเมืองเดียวกันนั้นเอง ที่เรียกว่า “ชะนะตรา” อีกอย่างหนึ่งนั้นหม่อมฉันไม่เคยได้ยิน

๖) เรื่องตัวอักษรซึ่งใช้เขียนชื่อมาแต่ก่อน จะควรเปลี่ยนไปตามอักขรวิธีที่แก้ไขใหม่หรือไม่นั้น ก็ข้องใจหม่อมฉันอยู่ คิดดูก็เห็นเป็นปัญหาชอบกล ไม่ต้องหาตัวอย่างจากที่อื่นมาคิดวินิจฉัย เอาชื่อของเราเองขึ้นตั้งเป็นอุทาหรณ์ก็ได้ ทูลกระหม่อมพระราชทานนามแต่แรกเกิดด้วยทรงเขียนด้วยพระราชหัตถเลขาของพระองค์เอง ส่วนพระองค์ท่านพระราชทานว่า “จิตรเจริญ” ส่วนตัวหม่อมฉันพระราชทานนามว่า “ดิศวรกุมาร” ดังนี้ จะถือว่าพระราชทานนามตามเสียงดั่งอ่านลายพระราชหัตถ์นั้น หรือพระราชทานลายพระราชหัตถเลขานั้นให้เป็นนาม ถ้าถือว่าพระราชทานเสียงที่อ่านพระราชหัตถเลขา คำ “เจริญ” ในพระนามของท่านจะเปลี่ยนตัวสะกดเป็น “น” หรือ “ญ” ก็ไม่ขัดข้องอันใด ชื่อหม่อมฉันจะเปลี่ยนคำ “ดิศ” เป็นสะกดตัว “ส” หรือ “ษ” ก็ไม่สำคัญอันใด แต่ถ้าถือว่าพระราชทานนามด้วยลายราชหัตถเลขานั้น แก้ตัวอักษรที่สะกด ดูก็เป็นแก้นามที่พระราชทาน โดยนัยนี้อาจจะคิดโดยอนุโลมต่อไปถึงนามกรมต่างๆ และสร้อยพระนามต่างๆ ที่ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏด้วย หม่อมฉันออกเห็นอกพระยาอนุมานฯ แกอึดอัด ไม่สามารถจะถวายวิสัชนาให้พอพระหฤทัยได้

๗) หม่อมฉันพบหญิงไอ ได้ถามข่าวถึงเรื่องที่อีแตตาย อีแมวของหม่อมฉันขวัญมันหนีตั้งแต่ถูกจับใส่กรงเมื่อหอบหิ้วเอามา มันดิ้นรนร้องจนสุดเสียง เมื่อลงเรือแล้วปล่อยออกจากกรงก็ให้ขี้ตระหนี่ตัวเป็นกำลัง เห็นคนมากหรือคนแปลกหน้าเข้าไปหลบหนีซุกซ่อน จนกระทั่งมาอยู่ที่วังวรดิศก็ยังไม่เชื่องชิดสนิทสนมกับคนเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ดูค่อยเชื่องเข้าโดยลำดับ

๘) อันลักษณะการที่เรียกขานกัน จะเรียกคนก็ดี เรียกสัตว์เดรัจฉานก็ดี ดูเป็นวิสัยมนุษย์ที่ชอบเรียกเป็น ๒ พยางค์ติดปาก ดูเป็นเหมือนกันทุกชาติทุกภาษาหรือจะเป็นด้วยเสียงที่เรียกทำให้จำเป็นเช่นนั้น สังเกตดูถ้าเรียกพยางค์เดียวมักเรียกแต่เวลาอยู่ใกล้ๆ กัน ถ้าเรียกเวลาอยู่ห่างกันคงเรียกเป็น ๒ พยางค์เพื่อให้ได้ยินชัด

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๖/๘๕

๙) ที่ชื่อว่าคิดด้วยใจนั้นความเชื่อของคนทั้งโลกสืบมาแต่ดึกดำบรรพ์ แม้เมื่อผู้รู้วิทยาศาสตร์ประกาศว่าที่จริงคิดด้วยมันสมอง ผู้อื่นทั้งที่เชื่อและไม่เชื่อก็ยังไม่ทิ้งคติเดิมในคำพูดที่จะพูดว่า “ฉันดีมันสมอง ฉันเสียมันสมอง” หามีไม่ ข้อที่ว่าคิดด้วยมันสมองจึงเป็นความรู้เท่านั้น

๑๐) ข้อที่คนมักเอาคำดีมาใช้หมายเป็นความชั่วนั้น น่าจะเกิดแต่บันดาลโทษะในเวลาเมื่อวิวาทด่าทอกัน ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างหาคำด่าอีกฝ่ายหนึ่งประมูลกัน เพื่อให้รู้สึกอดสูถึงสาหัส ดังเช่นใส่ความว่าเสพเมถุนกับมารดาเป็นต้น คนใช้คำผรุสวาทนั้นด่ากันจนชิน จนทีหลังออกปากแต่ว่า “แม่” คำเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็เข้าใจความตลอดประโยค ถึงคำ “โคตร” ที่เอามาใช้ด่าก็ปลิดมาจากประโยคที่กล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เกิดในสกุลสถุลชาติ

ที่จริงการวิวาทด่าทอกันก็คือรบกันด้วยวาจา ทั้งสองฝ่ายต่างค้นหาคำที่จะทำให้เจ็บแสบประมูลกัน และโทสะพาให้ด่ากันซ้ำซากพร่ำเพรื่อไปได้เท่าใด เมื่อหม่อมฉันยังอยู่วังเก่าที่เชิงสะพานดำรงสถิตย์ครั้ง ๑ บ่าวผู้หญิงคน ๑ กับบ่าวผู้ชายคน ๑ มันวิวาทด่ากันอยู่ข้างนอกกำแพง หม่อมฉันอยู่ข้างในได้ยินมันด่ากันไม่รู้แล้วรำคาญหู สั่งให้จางวางคน ๑ ออกไปนั่งกำกับบังคับให้มันด่ากันต่อไปอย่าให้หยุดถ้าใครหยุดให้เฆี่ยน พอไปคุมให้ด่าประเดี๋ยวเดียวคำด่าก็จางลง คงแต่เช่นว่า “พุทโธ๋ ด่าฉันก่อนแท้ๆ” อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่า “มาว่าฉันก่อนนี่” หม่อมฉันเห็นว่าเหนื่อยพอแล้วก็ยอมให้เลิกกัน

๑๑) บทเห่ช้าลูกหลวงเรื่องจับระบำนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าสุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ ๒ หรือที่ ๓ ที่ซ้ำกับบทแกะบายศรีในเทศน์มหาชาติ หม่อมฉันนึกว่าพวกแต่งเทศน์คงเอาบทเห่ไปใช้ เพราะบทนอกรีตต่างๆ ในเทศน์มหาชาติเริ่มเกิดต่อในรัชกาลที่ ๔ และมาหนักมือขึ้นในรัชกาลที่ ๕

๑๒) เรื่องแก้อักขรวิธีหนังสือไทยนั้น หม่อมฉันได้ทราบเมื่อยังอยู่เมืองปีนังแต่ว่ามีการแก้ ต่อเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้วไว้เห็นสมุดหนังสือพจนานุกรมตัวสะกดแบบใหม่จึงรู้ว่าแก้อย่างไร แต่หม่อมฉันได้คิดแต่เมื่อยังอยู่เมืองปีนัง ถึงตำนานการแก้อักขรวิธีหนังสือไทยซึ่งเคยมีแต่โบราณมา คิดจะเขียนวินิจฉัยทูลบรรเลงในจดหมายเวร แต่หาหนังสือสอบไม่ได้จึงต้องรอมา ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังตรวจหนังสือไม่หมดต้องขอประทานรถไปจนสอบหนังสือแล้วจึงจะเขียนถวายในจดหมายเวรฉบับอื่น

๑๓) เรื่องห้ามเจ้ามิให้เขียนข่าวราชการไปลงหนังสือพิมพ์ข่าวนั้นหม่อมฉันได้ยินแต่เมื่ออยู่เมืองปีนัง แต่ไม่ทราบและคิดก็ไม่เห็นว่าจะมีมูลเกิดขึ้นด้วยเหตุอัน ใด หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์นั้นตั้งแต่ทิ้งไปรษณีย์ส่งไปให้หม่อมฉันไม่ได้ เจ้าของหนังสือพิมพ์เขาก็หยุดส่งมาเสียนานแล้ว

๑๔) น้ำท่วมกรุงเทพฯ คราวนี้ หม่อมฉันเข้าใจว่าระดับน้ำสูงกว่าคราวไหนๆ ที่เคยมีมาแต่ก่อนทั้งนั้น คราวน้ำท่วมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่วังวรดิศ น้ำไม่ท่วมเข้ามาถึงเรือน หม่อมฉันไปหอสมุดฯ ขนรถเจ๊กที่ตำหนักใหญ่ไปลงเรือที่ถนนหลานหลวง ซึ่งเวลานั้นยังต่ำอยู่มาก ไปถึงถนนจักรพรรดิก็ขึ้นรถยนตร์ขับไปหอพระสมุดฯ ได้ คราวนี้น้ำท่วมถึงเรือเข้าไปจอดได้ที่ตำหนักใหญ่วังวรดิศ ผิดกันมาก ตรวจดูในพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ พรรณนาถึงน้ำท่วมเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๗๔ ว่าใช้เรือได้ถึงไหนๆ แม้จนเข้าไปเฝ้าในพระบรมมหาราชวังก็ไปเรือได้จนถึงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพียงตามคำที่ว่า ดูก็จะราวเท่าๆ กับคราวนี้ แต่ความจริงมีอีกอย่างหนึ่งที่พื้นแผ่นดินกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยังต่ำกว่าเดี๋ยวนี้มาก ข้อนี้เห็นได้เมื่อน้ำท่วมคราวนี้เอง ที่น้ำในลานวัดพระศรีรัตนศาสดารามลึกกว่าข้างนอกวัด เพราะฉะนั้นหม่อมฉันจึงคิดเห็นว่าน้ำท่วมใน พ.ศ. ๒๔๘๕ นี้ ระดับน้ำในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะท่วมสูงกว่าคราวอื่นๆ อันเคยมีมาในพงศาวดาร

๑๕) หนังสือเรื่องตำนานพระสิหิงค์นั้น หม่อมฉันเห็นว่าเชื่อได้เพียงว่าเป็นพระพุทธรูปองค์ ๑ ซึ่งได้มาจากเมืองลังกาเมื่อสมัยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ครองกรุงสุโขทัย พระเจ้ารามคำแหง ฯ ได้ขึ้นไปจากเมืองนครศรีธรรมราช ฝอยที่พรรณนาเมื่อหล่อ เมื่อเชิญลงเรือแล่นมายังเมืองนครศรีธรรมราชและการรับรองเมื่อมาถึงเมืองนครศรธรรมราช เชื่อไม่ได้ทั้งนั้น เรื่องตำนานพระสิหิงค์มามีเค้าเข้าเรื่องพงศาวดาร อันควรนับว่าเป็นความจริงตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) ตีได้เมืองชากังราว ได้พระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้กรุงศรีอยุธยา แล้วพระยาญาณดิศคิดอุบายยืมขึ้นไปไว้เมืองกำแพงเพชร แล้วพระยามหาพรหมขอเอาไปไว้เมืองเชียงราย แล้วพระเจ้าเชียงใหม่เอามาไว้เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีได้เมืองเชียงใหม่ เชิญกลับลงมาไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยู่ที่นั่นจนเสียกรุงแก่พม่า พวกท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ซึ่งเข้ากับพม่าอยู่ในเวลานั้นเชิญเอากลับขึ้นไปไว้ที่วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพขึ้นไปขับไล่พม่า ได้เมืองเชียงใหม่แล้วจึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงเทพฯ และทรงสร้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ประดิษฐานไว้ในพระราชวังบวร.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ