วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

๒๗/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

บรรเลง

๑) อ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งนักเรียนเขาแต่งลง ให้รู้สึกว่านักเรียนคนนั้นชอบกลที่ไม่เชื่ออะไรหมด จะไม่พูดถึงสิ่งอื่น จะพูดแต่เรื่องคิดด้วยมันสมอง เช่นได้กราบทูลไปแล้วเขาก็ไม่เชื่อ เขาให้ตัวอย่างที่สัตว์ซึ่งมันสมองชำรุดก็ยังคิดได้ เห็นจริงด้วยเขามาก แต่เขาก็ไม่รู้ว่าคิดได้ด้วยอะไร

สนองลายพระหัตถ์ฉบับก่อน

๒) ในวันที่ ๑๗ ได้รับลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ตรัสว่าเป็นลายพระหัตถ์ที่ ๒๑/๘๕ ตอบหนังสือเวรซึ่งเกล้ากระหม่อมถวายแต่ที่ ๒๒/๘๕ ซึ่งลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนว่าแต่ฉบับเดียวก่อนนั้นก็ดีแล้ว ที่จริงไม่จำเป็นต้องทรงตอบทุกฉบับ แล้วแต่จะสะดวกดีกว่า เว้นแต่ข้อที่กราบทูลถามเพื่อเรียนเท่านั้นเหละจึงควรตรัสตอบ แต่จะตอบจำเพาะข้อเดียวในหนังสือซึ่งจะตรัสตอบก็ได้ ใต้ฝ่าพระบาทดีที่ตรัสบอกให้เขียนได้ แม้จะต้องทรงร่างเองก็เมื่อคนเขียนเจ็บป่วย ส่วนเกล้ากระหม่อมบอกให้เขียนไม่ได้ เพราะไม่ได้หัดตัวมาไว้ ต้องร่างเองเสมอ

๓) ข้อที่ทรงร่างนั้นก็ดี เกล้ากระหม่อมได้ความรู้ขึ้นอีกมาก ไม่ใช่แต่ทรงร่างเปล่ายังต้องสอบสวนอีกมากด้วย จะกราบทูลข้อปกิณกะให้ทรงทราบไว้เพื่อการพิจารณาด้วย

พระศาสดาทำก่อน พระชินราชทำตอนกลาง พระชินสีห์ทำทีหลัง ทั้งนี้ขัดกับตำนานอยู่ แน่ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะได้ดูพระชินราชเห็นเสียอยู่ที่นั่นที่นี่ แต่แล้วมาดูพระชินสีห์เห็นพระชินราชเสียอยู่ตรงที่ไหนก็มาแก้ไขหมด จึงว่าพระชินสีห์ทำทีหลัง

อนึ่งคิดว่าพระพุทธรูปแต่ก่อนเขาคงปั้นหุ่นตั้งบนที่ไม่ใช่ทำกับพื้นโรงงานด้วยได้เห็นพระชินราชทำมือไม่เท่ากัน ข้างสมาธินั้นเล็ก ข้างมารวิชัยนั้นใหญ่ ทำไมจึงเป็นดั่งนั้น ก็เห็นว่าถ้าทำเท่ากันจะเห็นข้างมารวิชัยเป็นเล็ก จึ่งเห็นว่าเขาปั้นหุ่นบนที่ตั้ง แก้ไขให้เห็นตามสมควร

พระเหลือนั้นเมื่อเห็นเข้าก็ตกใจ ได้พูดทางอย่างที่ตรัสไว้เหมือนกัน แต่องค์ที่อยู่ในกฏิใต้ต้นโพธิ์เดี๋ยวนี้ เก่ากว่าพระชินราชชินสีห์แน่ จะเป็นพระเหลือไม่ได้เลย

วิหารหน้าพระธาตุนั้น ใช้เป็นที่คนมาไหว้พระธาตุพักก่อน เมื่อมีพระพุทธรูปขึ้นแล้วจึ่งใช้ตั้งพระพุทธรูป จริงดอกพระพุทธรูปเกิดนานแล้วแต่ต้องเป็นทีหลังปรินิพพาน ส่วนธาตุกะเจดีย์นั้นมีมาก่อนพระเจ้าตรัสรู้แล้ว แต่ประเพณีที่ตั้งพระพุทธรูปในวิหารหน้าพระธาตุจะรั่วมาถึงเมืองไทยเห็นจะกินเวลานาน

การย้ายเอาพระชินราชเข้าตั้งต้องเป็นด้วยคนนับถือกันแน่นอน ที่วัดราชบพิธก็เป็นล่ำเป็นสันอยู่แต่วิหารหน้าหลังเท่านั้น ส่วนวิหารข้างนั้นเป็นแต่ประตูเข้าไปในลานพระเจดีย์ ตั้งอะไรไม่ได้

ที่ตรัสว่าสร้างพระปรางค์ด้วยแลงประกอบด้วยอายุนั้น ไปได้ยินนักปราชญ์เขาว่าไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าที่ใดหาหินได้ก็ก่อด้วยหิน หาแลงได้ก็ก่อด้วยแลง ถ้าหาหินหาแลงไม่ได้ก็ก่อด้วยอิฐ อย่างไรจะถูกก็ไม่ทราบ แต่ได้สังเกตที่เมืองเขมร เห็นสถานเก่าแล้วก็ก่อด้วยอิฐล้วน แล้วก็ปนหิน มีหลังประตูเป็นต้น แล้วก็เป็นหินล้วนที่เป็นหินพบเอาลายที่ฉลักแล้วกลับเข้าไว้ข้างใน ที่ไม่เห็นก็มี แสดงว่ารื้อเอาหินเก่ามาก่อใหม่ จะเป็นเก่าหาหินไม่ได้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

๔) ที่เมืองสวรรคโลกเห็นพระปรางค์เป็นของใหม่ ตรัสบอกว่าพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ เห็นเป็นถูกต้องด้วยเหมือนกับที่วัดไชยวัฒนาราม

๕) เรื่อง “เตาไห” ได้ทราบความละเอียดก็ดีขึ้นมาก

๖) วัดจุฬามณี หาที่กรุงเก่าแย่ ที่แท้หลุดไปอยู่ที่พิษณุโลก ทราบด้วยสมุดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

๗) ชาวตะวันตกเรียก “พระสิหิงค์” ว่า “สิหญิง” นั้นควรจะรู้หากไม่ได้สังเกต อย่างไรก็ดีเห็นว่าเรียกผิด แปลไม่ได้ความ เกล้ากระหม่อมก็อยากทราบว่า “สิหิงค์” นั้นเป็นพระนามใหม่หรือเก่า จึ่งกราบทูลถามถึงที่เขาเรียกกันทางเชียงใหม่ ก็เมื่อทางตะวันตกเขาเรียกกันว่า “สิหญิง” แม้จะแปลไม่ได้ความก็รู้ได้ว่าเป็นพระนามเดิม

อันคำว่า “หญิง” นั้นเป็นคำไทยเจือเขมร ด้วยดูหนังสือเขมรพบคำว่า “วิฬาร์ญี” และ “หงส์ญี”

๘) ศรีมหาราชาก็เป็นเมืองสิงห์ อะไรกัน เมืองสิงห์ดกเต็มที จะทรงทราบพอที่จะตรัสอธิบายให้เข้าใจได้หรือไม่

๙) เรื่องให้ชื่อนั้นเกล้ากระหม่อมเลิกตั้ง แต่ตั้งกรรมการให้คิดแม้จนหลานก็ไม่ตั้ง ใครมาขอก็บอกให้ไปขอกรรมการ ทีหลังเมื่อมีนามานุกรมแล้วใครมาขอก็บอกให้ปรึกษานามานุกรม

๑๐) เปลใหญ่เกล้ากระหม่อมเคยมี แต่ไม่เป็นกรง เป็นถักด้วยด้ายสีชมพูเป็นตาชะลอม เห็นจะเป็นอย่างใหม่ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

รายการ

๑๑) เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม สำนักพระราชวังส่งหมายมาให้ฉบับ ๑ เป็นทำบุญเจ็ดวันให้ พลเอก อุ่ม (เมื่อเผาแล้ว) ที่บ้านถนนพระอาทิตย์ วันที่ ๒๒ ธันวาคม เวลา ๑๖.๓๐ น. สวดมนต์ ๒๓ เวลา ๑๑.๓๐ น. เลี้ยงพระและในวันที่ ๒๓ นั้น เวลา ๑๕.๐๐ น. ฝังอังคารที่วัดอินทาราม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปทุกเวลา แต่งปรกติ

๑๒) เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ได้รับใบดำฉบับ ๑ นายปรีดีบอกกำหนดการเผาศพแม่ ได้สั่งให้จัดเครื่องขมาศพส่งไป

สนองลายพระหัตถ์ฉบับหลัง

๑๒) กับเมื่อวันที่ ๒๑ นั้นได้รับลายพระหัตถ์เวรหมายที่ ๑๔/๘๕ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม จะกราบทูลสนองต่อไปนี้

ก. “เหรา” นั้นได้นึกถึงเรือ “สุวรรณเหรา” กับเรือ “เหรา (ข้ามสมุทร)” เหมือนกัน แต่ที่กราบทูลถามนั้นเผื่อจะทรงทราบดีกว่านั้น จะได้เข้าใจว่าอะไรแน่ เรือเก่านั้นเก่าแน่ เขาว่าเรือ “นารายณ์ทรงสุบรรณ” ก่อนนี้ก็เป็นแต่ครุฑเปล่าๆ เพิ่งมาเติมองค์นารายณ์ขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔

ข. ศักราชนั้นออกจากคนทั้งนั้น ที่มาออกจากเมืองก็ “รัตนโกสินทรศก” อยากจะพาลหาเหตุว่าศักราชอันมีจำนวนน้อยในกฎหมาย ซึ่งโหรว่าศักราช “จุฬามณี” นั้น “รัตนโกสินทรศก” พาไป การที่พระเจ้าปราสาททองเปลี่ยนปีนั้นทำให้ยุ่งจริง โหรก็คงเปลี่ยนไปหาเก่าเมื่อพ้นรัชกาลแล้ว ที่พม่าไม่ยอมใช้นั้นถูกอย่างยิ่ง

ค. “ฉาน” ก็คือ “สาน” ใกล้กับ “สยาม” นั่นเอง ที่อยากจะรู้แน่ก็คือคำว่า “สยาม” นั้นเป็นคำที่ต่างประเทศเรียกหรือเราเองเรียกตัวเราเองเท่านั้น ญี่ปุ่นนั้นอ่านตัวต้นคำจีน (เห็นจะเป็นแต้จิ๋ว) ว่า “ยิด” แปลว่าพระอาทิตย์แต่ตัวหลังนั้นไม่รู้ ภาษาต่างๆ ก็ย่อมเป็นไปต่างๆ อยู่นั่นเอง

ฆ. พระบาทที่วัดบวรนิเวศ เพิ่งรู้ว่าตั้งติดผนังอยู่ที่หลังพระโตไม่ได้ดูเสียด้วย ได้ดูแต่รอยซึ่งเอามาทิ้งไว้ที่ศาลา เห็นเก่ามาก แต่ไม่ทราบว่าเอามาแต่ไหน สนทนากับฝ่าพระบาทนั้นลางทีก็ทำให้รู้กว้างขวางออกไปได้ดั่งนี้

ง. ได้ยินว่าพระราชาคณะวัดโพธิ์ ไม่ได้ปกครองวัดโพธิ์ ต้องมาแต่อื่นลางทีท่านเจ้าเผื่อนจะคิดเช่นนั้นก็เป็นได้

จ. “สวรรค์” นั้นทราบว่าไม่ใช่ของพระเจ้า เกิดขึ้นก่อนพระเจ้าตรัสรู้ แต่คำว่า “นฤพาน” นั้นไม่ทราบ คณาจารย์ตั้งใจจะอุดหนุนพระเจ้านั้นแน่นอน

ฉ. คำว่า “พระ” นั้นเราใช้กันป่นเปื่อย แต่คิดว่าทีหลังทั้งนั้น ที่พม่าพูดว่า “พยาเจดีย์” นั่นก็จำเป็น เพราะเขาใช้ ร เป็น ย ดูแต่ “อลองพระ” เป็น “อลองพยา” ก็มี เข้าใจว่าคำ “อลองพระ” เป็นคำไทย “อลองพยา” เป็นคำพม่า

ช. “ลืม” กับ “หลง” นั้นได้ตรองแล้ว สงสัยอยู่มาก คำว่า “หลง” เราใช้แปลคำ “โมหะ” ได้พูดกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ว่าหลงทางก็จะปรับเอาเป็น “โมหะ” ด้วยหรือ ถ้าเช่นนั้นจะมีคำ “อวิชชา” ไว้ทำไม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านตัดสินดี ว่าสิ่งใดซึ่งรู้แล้วของชั่วยังขืนทำ เช่น กินเหล้า รู้แล้วว่าเหล้าเป็นของชั่วยังขืนกิน นั่นคือ “โมหะ” ท่านวินิจฉัยดีมาก กรมหมื่นชุมพรเรียกกินแล้วว่าไม่ได้กินนั้นว่า “กินขี้” ที่องค์สร้อยว่านั้นคือ “เลอะ” เป็น “กินขี้” ที่จริงคำว่า “ลืม หลง เลอะ” นั้นเห็นจะมีหนักเบา ทางเขมรเขาแปล “โมหะ” ว่า “วังเวง” สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านถามว่า “วังเวง” นั้นเป็นคำเขมรหรือ เกล้ากระหม่อมก็ตอบไม่ได้ คำเขมรเหมือนกับคำไทย ไม่รู้ว่าใครเอาของใครไปมานั้นมีมาก

ซ. คาถา (เก๊ๆ) ซึ่งจำไม่ได้อยู่บาทหนึ่งแล้วตรัสบอกให้นั้นเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ทีนี้จำได้ตลอดไม่รู้ลืมเลย

ฌ. ลายพระหัตถ์เวร จะตรัสบอกให้นายสมบุญร่างหรืออย่างไร และจะเป็นวันไรนั้นก็ได้ ที่สุดจนไม่ทรงตอบเลยก็ได้ กราบทูลซ้ำอีกทีหนึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ