วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

จดหมายเวรฉบับนี้จะทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๗ พฤษภาคม

๑) เรื่องบทละคร เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระเจ้ากรุงธนบุรี หม่อมฉันได้ทูลวินิจฉัยไปในจดหมายเวรฉบับหนึ่งซึ่งได้ส่งไปแต่ก่อนแล้ว บทละครนอกครั้งกรุงศรีอยุธยามีอยู่ในหอพระสมุดฯ ไม่มากเรื่อง สังเกตดูบทละครอยู่ข้างปีนตลิ่งคล้ายกับเรื่องชัยเชษฐ์ที่ประทานมาทั้งนั้น หม่อมฉันได้ให้พิมพ์เรื่อง “นางมะโนห์รา” ไว้เรื่อง ๑ ด้วย ทูลกระหม่อมเอียดท่านขัน คำนางกินนรพ้อมารดาแห่ง ๑ ว่า “ดอกทองสมเด็จพระมารดา” ดังนี้ หม่อมฉันนึกว่าบทละครนอกนั้นจะมิใคร่มีเขียนลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ตัวละครท่องจำไว้ร้องหรือร้องกลอนสดอย่างเดียวกับพวกมโนรายังเล่นอยู่ สังเกตคำที่โนราร้องกลอนก็อยู่ข้างปีนตลิ่ง

๒) ซึ่งทรงปรารภถึงกลอนสุภาพ หม่อมฉันจนด้วยเกล้าฯ ด้วยไม่มีหนังสือแบบตำรากลอนจะตอบหาความรู้ทูลสนองได้

๓) เมืองโอฆะบุรีคือเมืองพิจิตร เป็นเมืองโบราณมีป้อมปราการอยู่ริมแม่น้ำน่าเก่าซึ่งตื้นเขินเสียแล้ว ชื่อเดิมเรียกว่า “เมืองสระหลวง” คงเป็นเพราะเป็นเมืองมีบึงบางมาก ทั้งในศิลาจารึกสุโขทัย และกฎหมายชั้นเก่าของกรุงศรีอยุธยาก็เรียกว่าเมืองสระหลวง ปรับเป็นคู่กับ “เมืองสองแคว” คือเมืองพิษณุโลกซึ่งเดิมมีแม่น้ำน้อยอยู่ทางตะวันออก และมีแม่น้ำน่านอยู่ทางตะวันตก แต่แม่น้ำน้อยตื้นเขินเสียนานแล้ว

ชื่อที่เรียกว่า “โอฆะบุรี” ความตรงกับชื่อเมืองสระหลวงเป็นแต่เปลี่ยนเป็นภาษามคธ เหมือนกับ “ทวิสาขะนคร” ตรงกับเมืองสองแคว หม่อมฉันสงสัยว่าจะเกิดแต่พระแต่งเรื่องพงศาวดารเมืองไทยเป็นภาษมคธ ตามอย่างหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา เช่นเรื่องชินกาลมาลินีเป็นต้น แปลงชื่อเมืองสระหลวงเป็นโอฆะบุรีในภาษามคธ และแปลงชื่อเมืองสองแควไว้อีกว่าเมืองทวิสาขะนครในหนังสือแต่ง

การที่เปลี่ยนชื่อเมืองสองแควเป็นเมืองพิษณุโลก เปลี่ยนชื่อเมืองสระหลวงเป็นเมืองพิจิตรเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่ว่าพอเปลี่ยนแล้วชื่อเมืองสองแควกับเมืองสระหลวงก็เลยสูญ ผู้รู้ชั้นหลังจึงเอาชื่อเมืองโอฆะบุรีกับเมืองทวิสาขะนคร ซึ่งยังมีอยู่ในหนังสือที่พระแต่งไปชี้เป็นเมืองอื่น ดูเหมือนจะเอาเมืองแพรก (คือเมืองสรรค์) เป็นทวิสาขะนคร ส่วนเมืองโอฆะบุรีนั้นถือเหตุที่เมืองพิษณุโลกสร้างปรางการ ๒ ฟาก เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองผิดกับเมืองอื่น อ้างว่าเมืองทางฟากตะวันออกชื่อพิษณุโลก เมืองฟากตะวันตกชื่อโอฆะบุรี อ้างกันมาอย่างนั้นจนถึงสมัยมีสโมสรโบราณคดี ค้นพบชื่อเมืองสระหลวงสองแควในศิลาจารึกและกฎหมายเก่า จึงรู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร

๔) วิสัชนาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เรื่องไตรจีวรนั้นแจ่มแจ้งดี แต่ท่านก็จนในข้อถามว่า เหตุใคคนจึงเรียกอุตราสงค์ว่า จีวร

๕) ที่พระยาอนุมาน ฯ เห็นคำว่า “ลูกขุน” จะมาแต่คำ “ลกกุน” ภาษาจีนแปลว่าเสนาบดี ๖ ตำแหน่งด้วยตรงกับจำนวนของไทยนั้น ก็อาจจะเป็นได้เหมือนอย่างไทยเราเคยเอาคำ Governmentภาษาอังกฤษมาใช้ว่า “เกาวะแมนต์” และ “กัดฟันมัน” เมื่อก่อนใช้คำ “รัฐบาล” แต่พิจารณาดูมีที่ขัดอยู่ ด้วยศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเรียก “ลูกเจ้าลูกขุน” ด้วยกันในที่หมายความแต่ว่าชั้นสกุลหลายแห่ง จะยกมาถวายเป็นตัวอย่างแห่ง ๑ ว่า

“คนในเมืองสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักอวยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า ทวยปั่ว ทวยนาง ลูกเจ้า ลูกขุนทั้งสิ้น ทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงทวยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา”

ในทำเนียบข้าราชการที่เรียกว่าลูกขุนก็มี ๒ พวก คือ ลูกขุนศาลาได้แก่ที่ประชุมผู้พิพากษาพวก ๑ ลูกขุน ณ ศาลาหลวง ได้แก่ที่ประชุมผู้พิพากษาพวก ๑ หาเป็นลูกขุนแต่เสนาบดี ๖ ตำแหน่งนั้นไม่

ทูลบรรเลง

๖) หม่อมฉันมาได้ความรู้ขึ้นใหม่ ซึ่งที่จริงควรจะคิดเห็นเสียนานแล้วว่า เหตุใดคนจึงชอบขุดทรัพย์แผ่นดินที่ตามวัด ด้วยมาเห็นกรณีปรากฏแก่ตาว่า ในเวลาเกิดยุคเข็ญในบ้านเมือง พวกพลเมืองที่ไม่มีถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งมักหนีภัยไปรวมอยู่ตามวัดในศาสนาของตน จึงถึงเวลาปลอดภัยแล้วจึงกลับไปอยู่บ้านเรือนตามเดิม คงเป็นเช่นนี้มาแต่โบราณ เพราะวัดมีบริเวณเป็นวังล้อม มีพระสงฆ์ซึ่งทรงศีลสุจริตและมีเมตตาอารีเป็นผู้คุ้มครองรักษา ดีกว่าไปอาศัยที่อื่นหมด ความจริงเป็นดังนี้ ถึงไม่มีใครสั่งสอนแนะนำคนก็คิดได้เองโดยธรรมดา จึงยังเป็นประเพณีมาจนบัดนี้

หม่อมฉันหวนคิดขึ้นไปถึง เมื่อพระนครศรีอยุธยาถูกข้าศึกล้อม ก็คงมีชาวพระนครพากันไปอาศัยอยู่ตามวัดมาก ผู้ที่ทิ้งบ้านเรือนหนีภัยไปอยู่ที่อื่นเช่นนั้น คงเอาทรัพย์สมบัติของตนที่เป็นมหรรคภัณฑ์ติดตัวไปด้วย ถ้าใส่ในกระจาดกับเครื่องใช้ ก็คงต้องระวังกระจาดเอาไว้ติดตัวอยู่เสมอทั้งกลางวันกลางคืน มิให้ใครล้วงลักเอาไปได้ ถ้าเพียงแต่สี่ซ้าห้าวันเช่นที่นี่ก็จะไม่ลำบากเท่าใดนัก แต่พระนครศรีอยุธยาถูกล้อมอยู่ตั้ง ๗ เดือน ๘ เดือน คงมีคนเบื่อที่จะต้องระวังทรัพย์ลำบากนัก น่าจะมีผู้เอาไปขอฝากพระ (แต่เวลาบ้านเมืองเป็นปกติยังมีคนชอบฝากทรัพย์ไว้กับพระจนทุกวันนี้) จนพระรับรักษาไว้ในกุฎีไม่ไหว จึงแนะนำให้ฝังฝากไว้ ณ ที่ซึ่งเห็นว่าปลอดภัยที่ในวัด เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกฎหมายลงอาญาโจร ขุดพระเจดีย์วิหารเป็นอุกฤษฏ์ถึงประหารชีวิต ในวัดย่อมเป็นที่ยำเกรงของโจร หม่อมฉันเลยนึกถึงคำซึ่งคนชอบพูดกันว่า “ฝากฝัง” ว่าจะหมายความว่ากระไร ดูก็ชอบกลอยู่ ทรัพย์ที่ฝังไว้ในวัดคงมีเพราะคนเอาไป ฝากฝัง ได้ดอกกระมัง ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ