วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ที่หม่อมฉันทูลไปในจดหมายฉบับก่อนว่าไม่ได้เขียนจดหมายมา ๔ เดือน ปัญญาทึบเพราะเหตุที่เรื้อ ตั้งต้นจะเขียนใหม่มิใคร่สะดวกนั้น เห็นจะไม่ตรงตามความจริงเสียแล้ว ที่จริงนั้นน่าจะเปนเพราะเกิดประหม่าด้วยความยินดีที่ได้รับลายพระหัตถ์เวรอันมิได้คาดว่าจะได้รับ ถึงเคยปรารภกับลูกว่าน่าจะไม่ได้อ่านลายพระหัตถ์เวรเสียอีกแล้วจนกว่าจะสิ้นสงคราม ซึ่งรู้ไม่ได้ว่าจะสักกี่ปี เมื่อร่างจดหมายทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒ ธันวาคมอาการยังไม่เป็นปกติ แต่มาถึงวันนี้เริ่มกลับรู้สึกสนุกสนานในการเขียนอย่างแต่ก่อน จึงลงมือเขียนจดหมายฉบับนี้ทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๙ ธันวาคม

๑) ลูกชายของพระยาอนุชิต ฯ (ผึ้ง) คนที่มีเมียฝรั่งนั้นอีกคน ๑ ชื่อฉาก เป็นน้องรองแต่พระยาธรรมศาสตร์ ฯ ต่อไป หม่อมฉันลืมนึกถึงจึงมิได้ลงชื่อในจดหมาย นายฉากนั้นได้ไปเรียนนอกจึงไปได้เมียฝรั่งเข้ามา ดูเหมือนมารับราชการในกระทรวงพระคลัง แต่อยู่ได้ไม่ช้าก็ถึงแก่กรรม เมียฝรั่งจะกลับไปนอกหรือจะมีสามีใหม่ในเมืองนี้ หม่อมฉันจำไม่ได้

๒) เสือนั้นมีมากมายหลายชนิด หม่อมฉันก็ไม่เคยเอาใจใส่พิจารณาถ้วนถี่ รู้จักชื่อแต่เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ เสือลายตลับ เสือบองๆ ตัวเล็กสักเท่าหมา พวกเนื้อและกวางก็มีมากมายหลายชนิด ออกจะบอกไม่ได้ว่าเนื้อกับกวางต่างกันอย่างไร หม่อมฉันนึกถึงเรื่องกวางจะทูลบรรเลงได้เรื่อง ๑ เมื่อครั้งเซอร์รอเบิต จอมเบิค เป็นกงสุลอังกฤษอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้กวางอย่าง ๑ ส่งออกไปยุโรป เป็นกวางอย่างไม่เคยเห็นกันมาแต่ก่อน พวกนักปราชญ์จึงขนานนามให้เรียกว่า “กวางจอมเบิค” (Schomburg deer) ให้เกียรติแก่เซอร์รอเบิต จอมเบิค ผู้พบ ครั้นถึงสมัยเมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ ๕ พวกสมาคมสัตวศาสตร์ที่เมืองอังกฤษ บอกมายังหม่อมฉันว่าที่ในยุโรป กวางจอมเบิคสูญมาเสียนานแล้ว ถามว่าหม่อมฉันจะช่วยหาให้ใหม่ได้หรือไม่ หม่อมฉันตอบไปว่าเต็มใจจะช่วยหาให้ แต่ไทยไม่ได้เรียกกวางอย่างนั้นว่า กวางจอมเบิค จะสั่งให้หากวางจอมเบิคก็ไม่มีใครรู้ว่ากวางอย่างไหน ขอให้เขาบอกชื่อภาษาไทยมาให้หม่อมฉันทราบ เขาไปสืบเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่ได้ชื่อภาษาไทยก็เป็นอันติดอยู่เท่านั้นเอง

๓) ซึ่งทรงพระดำริว่า “ราชสีห์” หมายความว่าสัตว์อันเป็นราชของสัตว์ด้วยกัน และ “สีหราช” หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินผู้มีฤทธิ์ดังราชสีห์นั้น หม่อมฉันเห็นว่าถูกทีเดียว

๔) ซึ่งตรัสถามถึงรูปประตูพระนคร มีประตูถนนใหม่เป็นต้นนั้น หม่อมฉันได้ยินมาว่าประตูพระนครชั้นเดิมซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นประตูไม้ทาดินแดงมียอดเกี้ยวเหมือนเช่นเขียนไว้ที่ผนังด้านหน้าข้างในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงรัชกาลที่ ๓ ประตูเดิมคงผุจึงโปรดให้รื้อสร้างใหม่ เปลี่ยนเป็นก่ออิฐถือปูน ดูเหมือนรูปร่างจะอนุโลมตามแบบประตูเมืองจีน บนหลังคาประตูทำเป็นหอรบ มีหน้าต่าง ๒ ช่องทั้ง ๒ ด้าน เหนือหอรบขึ้นไปเป็นหลังคามุงกระเบื้องเหมือนหลังคาเรือน มีหน้าจั่ว แบบประตูอย่างนั้นถ่ายไปทำที่เมืองสงขลาและเมืองจันทบุรี (ใหม่ที่เนินวง) เห็นจะมีเหลืออยู่บ้างจนบัดนี้ “ประตูใหม่” ที่ถนนเจริญกรุงนั้น เพิ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ พร้อมกับถนนเจริญกรุง จึงเรียกว่า “ประตูใหม่” แต่เอาแบบประตูอื่นที่ทำเมื่อรัชกาลที่ ๓ มาทำ หม่อมฉันยังจำได้ติดตา เพราะเคยไปบ้านคุณตาทางประตูนั้นนับครั้งไม่ถ้วน และยังจำได้ต่อไปว่ามีแผ่นศิลาจารึกชื่อประตูติดไว้ด้วย คงเป็นทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริและคงมีทุกประตูแต่สูญไปหมด ถึงสมัยหม่อมฉันอยากรู้ชื่อประตูเมือง ให้สืบก็ไม่ได้ความ ยังมีคนจำได้แต่ประตูพฤฒิบาศกับประตูสำราญราษฎร์ ๒ ประตูเท่านั้น

๕) พระบรมรูปที่หล่อเมืองนอกมีถึง ๓ องค์ ล้วนแต่ที่เป็นของสำคัญทั้งนั้น คือพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่อยู่ในปราสาทพระเทพบิดรองค์ ๑ พระบรมรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงม้าองค์ ๑ กับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ ๑ พระบรมรูปที่หล่อในเมืองไทยก็มี ๖ องค์ คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๔ รัชกาลกับพระบรมรูปสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ที่อยู่ในหอพระเทพบิดรองค์ ๑ และที่หล่อใหม่นี้องค์ ๑

๖) โคลงที่วัดสังข์กระจายนั้น ทั้ง ๒ บทความเดียวกัน สำนวนเป็นกวีผู้สันทัดแต่งโคลง อาจจะเป็นคนเดียวกันแต่งทั้ง ๒ บทก็ได้ เหตุใดจึงเอาไปเขียนไว้เป็นเครื่องประดับที่ฝาผนังโบสถ์ หม่อมฉันเห็นว่าผู้แต่งเห็นจะมีบรรดาศักดิ์สูงถึงเป็นเจ้านายก็ได้ แต่งประทานพระราชาคณะเจ้าอาวาส ๆ เป็นผู้ให้เขียนไว้ จะเลยทูลวินิจฉัยเรื่องชื่อวัดสังข์กระจายต่อไป อันวัดสังข์กระจายนั้นเดิมเป็นวัดราษฎร สร้างในแขวงจังหวัดธนบุรีแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หม่อมฉันเคยคิดเห็น ถึงได้แสดงปาฐกถามาแต่ก่อนว่า วัดที่ราษฎรสร้างหรือเรียกโดยย่อว่า “วัดราษฎร์” นั้น โดยมากไม่ได้มีชื่อมาแต่แรกสร้าง ทั้งผู้สร้างและคนอื่นในท้องถิ่นเรียกกันแต่ว่า “วัด” ถ้าในถิ่น ๑ มีกว่าวัดเดียวก็เรียกกันว่า “วัดเหนือ” “วัดใต้” หรือ “วัดใหญ่ วัดน้อย” หรือ “วัดนอก วัดใน” ให้ผิดกัน ชื่ออย่างอื่นที่เรียกวัดเกิดแต่คนต่างถิ่นเรียกกัน ถ้ามีแต่วัดเดียวก็เอาชื่อตำบลเรียกเช่นว่า “วัดบางว้า” และ “วัดบางยี่เรือ” ถ้าในตำบลนั้นมีหลายวัดก็เอาคุณศัพท์ที่ชาวบ้านเรียกเข้าต่อท้าย เช่น “วัดบางว้าใหญ่ วัดบางว้าน้อย วัดบางยี่เรือใน วัดบางยี่เรือกลาง และวัดบางยี่เรือนอก” หรือมิฉะนั้นก็เรียกตามชื่อผู้สร้างวัดเช่นว่า “วัดเจ้าขรัวหงส์” “วัดจางวางดิศ” และ “วัดจางวางพ่วง” มิฉะนั้นก็เอาชื่อสิ่งสำคัญซึ่งอยู่ใกล้วัดเรียกเป็นชื่อวัดเช่น “วัดโรงฆ้อง” “วัดท้ายตลาด” หรือเอาของแปลกที่มีอยู่ในวัดเรียกเป็นชื่อวัดเช่น “วัดโพธิ์” “วัดโบสถ์” “วัดเจดีย์แดง” แม้จน “วัด (ต้น) เสียบ” และ “วัด (มีรูป) ลิงขบ” เป็นต้น วัดสังข์กระจายเดิมผู้สร้างก็เห็นจะไม่ได้ตั้งชื่อ น่าจะเป็นคำของคนต่างถิ่นเรียกว่า “วัดสังกะจาย” ด้วยมีอะไรเป็นนิมิตให้เรียกชื่ออย่างนั้น คิดดูไม่เห็นมีอะไรอื่นนอกจากรูปพระท้องพลุ้ยที่เรียกกันทั่วไปว่า พระสังกระจาย จะเป็นนิมิตให้เรียกชื่อว่า “วัดสังกะจาย” หม่อมฉันจึงเห็นว่าที่วัดนั้นเดิมเห็นจะมีรูปพระสังกจายน์ แต่หักพังสูญไปเสียแล้วแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังอยู่แต่ชื่อเรียกกันว่า “วัดสังกะจาย” (ไม่มีทั้งตัว ข. การันต์ต่อสังหรือตัว ร. ต่อหลัง ก. และตัว น. ต่อคำจาย)

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ปฏิสังขรณ์เป็นวัดของ “คุณเสือ” ชื่อวัดสังกจายจึงโด่งดังขึ้นเมื่อเป็นวัดหลวง น่าสงสัยว่าจะมีผู้รู้อักษรศาสตร์ เช่นอาลักษณ์เป็นต้น เขียนตัว ข. การันต์ลงในชื่อวัดเมื่อแรกเป็นวัดหลวงนั่นเอง ความจึงกลายเป็น “วัดสังข์แตก” ก็เลยเกิดเป็นปัญหาสำหรับพวกนักเรียนเล่นแปลชื่อวัดสังข์กระจายแต่นั้นมา ข้อนี้พึงเห็นได้ในนิราศนรินทร์อิน ซึ่งแต่งเมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๒ นรินทร์อินแปลเพียงว่า สังข์ของพระนารายณ์ ผู้แต่งโคลง ๒ บทรู้มากออกไปว่ามาแต่เรื่องนารายณ์ ๑๐ ปาง จึงแต่งโคลงประมูลนรินทร์อิน แต่ที่จริงหม่อมฉันคิดไม่เห็นว่าชาวเมืองธนฯ คนที่สร้างวัดนั้นก็ดี หรือแม้คนต่างถิ่นที่ริเรียกชื่อวัดนั้นก็ดี จะรอบรู้ถึงเรื่องนารายณ์ ๑๐ ปาง หรือเลื่อมใสว่าเอาชื่อสังข์พระนารายณ์มาเข้าในชื่อวัดจะได้บุญมากขึ้น ชื่อวัดสังกะจายเดิมคงหมายความว่าพระท้องพลุ้ยเท่านั้น

จะทูลต่อไปอีกสถาน ๑ สังเกตดูชื่อวัดที่เอาชื่อเทวดามาเรียกก็มีหลายวัด เช่นวัดอินทาราม และวัดจันทาราม เป็นต้น แต่ก็ล้วนเป็นเทวดาสัมมาทิฐิอันมีชื่อในพระบาลีทั้งนั้น ที่จะเอาชื่อเทวดาทางไสยศาสตร์ เช่นพระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเนศเป็นต้น มาใช้เป็นชื่อวัดหามีไม่ แม้ชื่อที่เรียกว่าวัดพระรามก็ดี หรือที่ทำรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณที่หน้าโบสถ์ก็ดี ก็หมายเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน มิใช่เป็นการบูชาพระวิษณุหรือพระราม โดยวินิจฉัยดังทูลมา หม่อมฉันเห็นว่าทั้งที่เพิ่ม ข. การันต์เข้าต่อสังก็ดี ที่เข้าใจว่าชื่อสังข์แตกก็ดี ที่พวกกวีว่าสังข์ในชื่อวัดสังกจาย เป็นสังข์ของพระวิษณุก็ดี เหลวหาสาระมิได้หมดทุกข้อ

๗) เรื่องที่มีผู้ทำเป็นหนังสือคุณโตปลอมไปขอยืมขันครอบเงินของตาฉายนั้น ดูจะเป็นความคิด “โจรี” ที่เคยไปมารู้จักทั้ง ๒ ฝ่าย มิใช่ความคิดของโจรชาย ตาฉายไม่ประมาทก็รอดตัวไปได้ ส่วนคุณโตก็รำคาญเพียงเหมือนกับถูกโจรมันทอดติ้วได้ไม้อันเป็นชื่อของเธอ มันจะเอาชื่อของใครๆ ไปอ้างสุดแต่เห็นว่าเป็นผู้ที่ตาฉายนับถือก็ได้เหมือนกัน ถ้าตำรวจเขาได้ตัวคนที่ไปหาตาฉาย ประเด็นที่จะพิสูจน์เอาโทษได้ ดูมีพอทีเดียว

๘) บทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์พระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น หม่อมฉันเคยอ่านแล้ว นึกพิศวงมาก ด้วยได้เคยพิจารณาบทละครใน ๓ เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อุณรุธ อิเหนา ที่ในฉบับพิมพ์ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นั้น ดูเป็นหนังสือยาวมาก พ้นวิสัยที่จะทรงแต่งเองได้ทั้งหมด และพิจารณาลงไปถึงแบบบทและถ้อยคำสำนวนกลอนดูก็คล้ายกันทั้ง ๓ เรื่อง หม่อมฉันเห็นว่าน่าจะเป็นตัวบทละครหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๓ เรื่อง แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เสาะหาได้สำเนามาไม่ครบ มีแต่เป็นกระท่อนกระแท่นยาวบ้างสั้นบ้าง จึงโปรดให้แต่งเชื่อมให้ต่อติดกันบริบูรณ์ทั้ง ๓ เรื่อง สำหรับเล่นละคร หลวงตามราชประเพณีอย่างกรุงศรีอยุธยา เมื่อแต่งบุรณะแล้วทรงอ่านตรวจแก้ไปตามพระราชอัธยาศัยบ้าง จึงเรียกกันว่าพระราชนิพนธ์ ได้สังเกตบทละครสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่องอื่นกระบวนบทก็คล้ายกับบทละครหลวง ไม่รุ่มร่ามชุลมุนเหมือนบทพระราชนิพนธ์พระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งยังคิดไม่เห็นจนเดี๋ยวนี้ว่าจะเล่นละครได้อย่างไร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสังเกตบท ๑ ดูเหมือนตรงทศกัณฐ์ตั้งพิธีอุโมงศ์ เป็นบทพระฤษีบอกวิธีนั่งกรรมฐานแก่ทศกัณฐ์ยาวถึง ๘ คำ และกำหนดให้ร้องช้าด้วย แต่จะไม่เชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ไม่ได้ ด้วยไม่เห็นใครอื่นจะหาญแต่งอย่างนั้น จึ่งนึกว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อก่อนค้นพบบทละครในครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ลงความเห็นได้อย่าง ๑ ว่ากลอนเช่นบทละครของพระเจ้ากรุงธนบุรี มิใช่แบบบทละครหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นแน่

๙) ที่เพิ่มคำ “มหาราช” เข้าต่อท้ายพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้นในหนังสือไทยมีในหนังสือพระราชพงศาวดาร เรียก “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ก่อนที่ใช้คำ “มหาราช” หมายอย่าง The Great ของฝรั่ง คนอื่นเขาก็ใช้มาก่อน หม่อมฉันเป็นแต่ตามเขาหาได้เป็นผู้ริใช้ไม่ สังเกตดูพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งที่มีคำธีเกรตอยู่หลังพระนาม คำนั้นย่อมเพิ่มเข้าต่อเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นล่วงลับไปแล้วบางทีก็ช้านาน และเพิ่มเข้าต่อเมื่อมีพระเจ้าแผ่นดินพระนามพ้องกัน โดยปกติมักเรียกพระองค์ก่อนว่า “ที่ ๑” พระองค์หลังว่า “ที่ ๒” และเปลี่ยนตัวเลขต่อไปตามลำดับ ถ้าพระองค์ใดเป็นอัจฉริยบุรุษจึงใช้คำธิเกรตแทนที่เลข จะยกตัวอย่างดังเช่น เอมเปอเรอวิลเฮมเยอรมัน เมื่อพระเจ้าวิลเฮม (ไกเซอ) เสวยราชย์ก็เรียกพระองค์แรกว่า ที่ ๑ เรียกพระองค์หลังว่า ที่ ๒ มาหลายปี จนเยอรมันต่อเรือใหญ่ลำ ๑ อย่างวิเศษสำหรับพาคนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค พระเจ้าไกเซอประทานนามเรือนั้นว่า เอมเปอเรอวิลเฮม ธีเกรต แต่นั้นมาจึงเรียก เอมเปอเรอพระองค์นั้นว่า ธีเกรต คือ มหาราช ที่ไทยเราเอามาใช้ไม่ตรงตามแบบฝรั่ง เพราะไม่ได้เรียกพระนามซ้ำกัน เรียกเพราะเป็นอัจฉริยบุรุษอย่างเดียว

๑๐) ที่ตรัสว่ามีรูปภาพที่เขียนนางฟ้าห่มผ้า ๒ บ่านั้น หม่อมฉันนึกขึ้นว่าแบบผ้าห่มนางละครก็มาแต่ผ้าห่ม ๒ บ่านั่นเอง เอาเพลาะเสียจึงแลเห็นเป็นผืนใหญ่ แต่ก็เห็นข้างหลังเท่านั้น ทางข้างหน้ายังเปิดแลเห็นเข้าไปถึงตัว ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

บรรเลง

๑๑) หม่อมฉันนึกขึ้นว่าคำ “รอง”” ที่ใช้ในนามศัพท์ต่างๆ เห็นใช้ผิดโดยมาก มีตรงความแต่ว่า “รองพระบาท” นอกจากนั้นเอาคำ “สำรอง” มาใช้แทบทั้งนั้น เช่น “เรือพระที่นั่งรอง ช้างพระที่นั่งรอง ม้าพระที่นั่งรอง คนรองงาน นายรองหุ้มแพร” ความหมายว่าคำ “สำรอง” ทั้งนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ