วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๕

ที่ ๑๒/๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

บรรเลง

๑. เมื่อวันไปอาบน้ำศพนายพลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน กลับทางวัดบวรนิเวศ เห็นหลังคาโบสถ์กับที่ตั้งพระประธาน มีจั่วพรากจากกัน หลังคาไม่เป็นตรีมุข จั่วโบสถ์ทีจะตั้งอยู่บนคูหาหน้าพระประธาน เห็นได้ว่าเดิมคิดทำเป็นหลัง ๆ โบสถ์ก็จะเป็นหลังใหญ่ ที่ตั้งพระประธานก็เป็นหลังขวางนั่นเอง ทำให้นึกถึงที่ตั้งพระชินศรีที่รื้อเสียแล้ว คิดว่าคงเป็นหลังหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่หลังคาเป็นจตุรมุขที่ว่าทำตามแผนผังเมรุเดิมนั้นเห็นจะเดาผิด ดูกับสิ่งที่เป็นอยู่ไม่สมกันเลย

ที่ต่อวิหารนั้นได้กราบทูลมาแล้วตามที่เห็น ว่าก่อผนังทับเสมาที่ครึ่งหนึ่งนั้น มานึกเดาเหตุว่าทำไมจึงต่อ ก็มาเห็นว่าเดิมทีหลังขวางไว้ตั้งพระประธานนั้นคงทำเท่ากับโบสถ์ แล้วทูลกระหม่อมเราทรงพระราชดำริเห็นว่าสั้นไปจึงต่อ

จะกราบทูลความแปลกอันหนึ่ง ว่าพระประธานอยู่นอกเสมานั้นมีแต่วัดบวรนิเวศแห่งเดียว แต่คิดดูก็ไม่เห็นขัดอะไร (ที่ว่านอกเสมานั้นพูดถึงเสมาเก่า) และที่เอาเสมาไว้กับผนังโบสถ์นั้นดี รักษาเขตง่าย

รายการ

๒. เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ได้รับใบพิมพ์หมายกำหนดการพระราชกุศลเข้าวรรษา ๒ ฉบับก่อนหมายทางราชการ ได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทคราวนี้ด้วยแล้ว ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๒๔ ก็ได้รับหมายทางราชการ

และในคราวที่ได้รับจดหมายทางราชการนั้น ก็ได้รับหมายกำหนดการใบพิมพ์ ซึ่งจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานแก่นายพลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน ในการเมื่อถึง ๗ วันนับแต่วันถึงอสัญกรรมด้วย อีก ๒ ใบ อันได้แบ่งส่งมาถายเพื่อทราบฝ่าพระบาทในคราวนี้ด้วยแล้วอย่างเดียวกัน และรุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ก็ได้รับหมายทางราชการเหมือนกัน

ครั้น ณ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ได้รับหนังสือขอบดำลงชื่อ (เห็นจะเป็น) อาจ พิชเยนทรโยธิน บอกวันเวลาซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน พระราชทานที่ศพนายพลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน

๓. เมื่อเสด็จออกวัดพระแก้ว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการเข้าวรรษา ซึ่งเป็นกำหนดเข้าไปรับเทียนชนวนไปจุดเทียนวรรษานั้นไม่ได้เข้าไป หมายทางราชการก็ไม่ได้สั่งให้เข้าไป ทีหลังได้ทราบว่ามีเจ้านายไปแต่องค์เดียว ส่วนหน้าที่จุดเทียนที่วัดพระเชตุพนในวันรุ่งขึ้นนั้นได้ไปตามเคย หมายหรือเทียนชนวนก็ไม่มีส่งมา ได้ตั้งใจจะไปถามเจ้าพนักงานเขาดู ถ้ามีใครไปทำก็กลับบ้านเท่านั้น แล้วก็มีเจ้านายไปทำจริง ๆ คือองค์ชายภาณุพันธ์ เกล้ากระหม่อมก็กลับ

ในการบูชาเข้าวรรษา ซึ่งมีหมายกำหนดการเป็นเสด็จไปวัดไหนต่อไหนนั้น เห็นเป็นการตามเคยเนื่องมาแต่รัชกาลที่ ๕ ในการที่เสด็จไปวัดบวรนิเวศ ก็เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น วัดราชบพิธก็เป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้าง ตลอดถึงได้โปรดให้เจ้านายไปปฏิบัติการที่วัดเบญจมบพิตรด้วย วัดนั้นก็เป็นวัดอันได้สร้างเหมือนกัน แต่ก่อนนี้มีงานมากไปกว่าเดี๋ยวนี้เสียอีก ส่วนวัดพระเชตุพนนั้นเข้าใจว่าต้องการที่จะเสด็จไปทอดพระเนตรวัดใหญ่ ๆ ถ้าปีใหม่ไม่เสด็จไปก็โปรดพระราชทานให้เจ้านายไปทำแทน เมื่อเปลี่ยนรัชกาลไปแล้วลางวัดก็ควรเลิก ลางวัดซึ่งมีจำนงพระราชหฤทัยว่าจะเสด็จไป ถ้าปีไหนไม่เสด็จไปจึ่งควรจะพระราชทานให้แก่เจ้านาย แม้การกฐินหลวงก็หลงอยู่เช่นนี้เหมือนกัน การพระราชพิธีทั้งปวงยังเปลี่ยนแปลงได้ ทำไมการจุดเทียนวรรษาและกฐินหลวงจะเปลี่ยนแปลงบ้างไม่ได้

งานบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วันนั้น เป็นแน่ว่าเกล้ากระหม่อมไม่ได้ไป แต่ได้ส่งพวงดอกไม้ไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ