วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น (๒)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

อภิปราย

๑. หนังสือเวรค้างอยู่ ๒ ฉบับส่งไม่ทัน ควรจะวุ่นในข้อนั้นแต่ไปวุ่นคิดถึงฝ่าพระบาท ว่าจะมีภัยอย่างไรบ้างหรือไม่ แต่ครั้นได้ทราบว่าคนไทยที่ปีนังไม่มีใครต้องภัยอย่างไรแม้แต่คนเดียวก็เบาใจ รวมทั้งได้ทราบข่าวว่าหนังสือเวร ๒ ฉบับซึ่งค้างอยู่นั้นก็ได้ทรงรับแล้วด้วยจึงเป็นเหตุให้เกิดย่ำใจ ทำให้เขียนหนังสือเวรมาถวายอีกในบัดนี้

ย้อนหลัง

๒. รามเกียรติ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้อ่านต่อไปในตอนหลังเป็นบทว่าความ ที่จริงบทนั้นเป็นบทปล่อยม้าอุปการ เห็นได้ว่าแต่งทีหลังจึงสับกันดังนั้น และในบทว่าความนั้นแบ่งเป็นบทใครก็ใคร ไม่เป็นเพลงยาวอย่างบทปล่อยม้าอุปการ เว้นแต่ “เมื่อนั้น บัดนั้น” ไม่เป็นยศ เขียนเป็น “บัดนั้น พระอวตารผู้ชาญไชยศรี” ก็มี ที่จริงเมื่อนั้นบัดนั้นถึงเวลาก็พูดไม่ควรจะเอาไปปรับเป็นยศตัวดีตัวเลว แต่ของเราไม่ว่าอะไรในที่สุดก็เอาไปปรับเข้ากับยศทั้งนั้น เป็นเรื่องน่าขัน

ได้พิเคราะห์กลอนเก่าๆ เห็นกลอนต้นจะมีกี่พยางค์ก็ได้ แต่คงไม่น้อยกว่าสองพยางค์ ส่วนกลอนหลังนั้นต้องเป็นหกพยางค์ และต้องเป็นคำเต็มชนิดที่เรียกว่า “ครุ” หากจะเป็นเจ็ดเป็นแปดไปก็เป็นด้วยคำกล้ำ ซึ่งตามภาษามคธเรียกตัวหน้าว่า “ลหุ” ที่มาพูดกันว่า “กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด” นั้นหลง เดี๋ยวนี้ยาวจนถึงสิบสองพยางค์ก็มี กรมพระนราธิปทรงเขียนบทละครแยกกลอนหนึ่งเป็นสามตอน ในการที่ทรงทำดังนั้นก็เพื่อจะไม่ให้คนร้องตัดคำเอาเอง แต่คนซึ่งแต่งกลอนทีหลังคิดว่าแบบต้องเป็นเช่นนั้น ก็มาแบ่งเขียนกลอนเป็นสามระยะ นั่นก็คือหลง เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าตรัสเล่า ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งกลอนว่า “กลางวันก็ใช้กลางคืนก็ใช้นั่งยามตามไฟอยู่ไม่ได้จึ่งหนีมา” ว่าคนร้องๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นสองกลอน คือ “กลางวันก็ใช้กลางคืนก็ใช้ นั่งยามตามไฟอยู่ไม่ได้จึงหนีมา” ถ้าเป็นสองกลอนอย่างที่นึกแล้วคนร้องๆ ไม่ได้นั้น “ผิดมนุษย์ม้วย” กลอนต้นก็แปดพยางค์ กลอนหลังก็สิบพยางค์ ควรจะร้องได้ แต่เขาแต่งกันเป็นสิบสองพยางค์มากกว่าเสียอีกยังร้องได้ แต่ถ้าเป็นกลอนเดียวสิบแปดพยางค์แล้วร้องไม่ได้จริง

กลอน “พระไชยเชฐฤทธิไกร” จำเขามาได้บ้าง มีคนว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีแต่ง สำเนากลอนเป็นดังนี้

“๏ เมื่อนั้น องค์พระไชยเชฐฤทธิไกร
แต่มาแรมอยู่ป่าพนาไลย จะประมาณก็ได้เจ็ดราตรี
อันพระยาเศวตคชสาร จะประสบพบพานก็ไม่มี
พระรำลึกตรึกถึงมเหสี จะคืนเข้าบุรีพระพารา ฯ”

ฝ่าพระบาททราบหรือไม่ว่าจริงหรือไม่จริง เมื่อพิจารณาดูก็เห็นผิดกับที่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งไปมาก ถ้าหากว่าเป็นปกติก็จะต้องเป็นเก่ากว่านั้น เว้นแต่จะทรงแกล้งแต่งให้เหิรเห่อ แต่จะว่าผิดอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าจะว่าได้ก็เพียงแต่ว่าผิดไปจากที่เขาแต่งกันเท่านั้น

๓. ตามที่ตรัสว่าศัพท์ซึ่งยังไม่รู้เห็นจะมีอีกมาก ข้อนี้เป็นไปในศัพท์ “บริเวณ” เห็นไม่มีทางใดจะดีกว่าทางพระปลงอาบัติ ว่าจะสำรวมระวังต่อไป ได้แก่สิ่งซึ่งได้ทำไปแล้ว

๔. เคยมีความเห็นมาถวาย ว่า “ลูกขุน” นั้นจะมิต้องเจ้าเป็นหรือ แต่พระอนุมานคิดเดาไปอย่างหนึ่งว่าจะมาแต่คำจีนว่า “ลกกุน” คือเสนาหกตำแหน่ง เดาเข้าทีมาก จึงนำความมากราบทูล

๕. เคยทรงพระปรารภถึงการเรียกอุตตราสงค์ว่าจีวร เกล้ากระหม่อมรับอาสาจะเรียนถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ก็ได้ถามแล้ว ท่านมีหนังสือมาให้ว่ากระนี้

“สังฆษฏิ แปลว่าผ้าทาบ คือซ้อน ๒ ชั้น เป็นผ้าห่มนอนอุตตราสงค์ แปลว่าผ้าพาดบ่าซ้าย เป็นผ้าห่มทั่วไป เช่นในการทำสังฆกรรมเป็นต้น อันตรวาสก แปลว่าผ้าอยู่ข้างใน เป็นผ้านุ่ง ถ้าแยกเรียกก็เรียกอย่างนี้ เช่นพระอุปสัมปทาจารย์ บอกบาตรจีวรว่า อยนฺเต ปตฺโต ฯลฯ ถ้าเรียกรวมก็เรียกจีวร เช่น ติจีวรํ แปลว่า ผ้า ๓ ผืน ดังในคาถาปริกขาร ๘ ว่า

ติจีวรฺจ ปตฺโต จ วาสี สูจิ จ พนฺธนํ
ปริสฺสาวนฺจ อฏเฐเต ยุตฺตโยคสฺส ภิกฺขุโน

เช่นพูดกันว่า หีบผ้า ตู้ผ้า เป็นต้น ซึ่งมีผ้าต่างๆ รวมอยู่ในตู้นั้นๆ”

ข่าว

ในระหว่างที่ส่งหนังสือเวรมาถวายไม่ได้นั้น มีคนตายไปหลายคนซึ่งลางคนฝ่าพระบาทจะเอาพระทัยใส่อยู่มาก ทั้งได้รับใบดำกับอื่นๆ ด้วย คือ

ก–เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ ตายวันที่ ๒๓ มกราคม เป็นโรคเส้นโลหิตในสมองแตก (อย่างไทยก็ว่าเป็นลมอัมพาต) อาบน้ำศพที่ตึกท่านอยู่ แต่จะเอาศพไปตั้งที่ตึกหอนั่ง ได้ไปเห็นแต่การอาบน้ำศพ ส่วนการตั้งศพนั้นได้ไปเห็นต่อเมื่อมีการทำบุญ ๗ วัน โกศตั้งบนแท่นแว่นฟ้าสองชั้นประกอบลองมณฑป มี “ฉัตรเครื่อง” ตั้งสามด้านสิบคัน

ข–หญิงจามเทพี ยุคล ลูกองค์ชายกลาง (เฉลิมพล) หญิงเฉลิมเขตรเลี้ยงไว้ ไปจมน้ำหรือจมโคลนตายที่วัดหน้าต่างนอก อำเภอบางไทร แขวงกรุงเก่า เขาเผาศพกันที่วัดนั้น หญิงเฉลิมเขตรก็บอกมา แต่ไม่ได้ไปเพราะไกลนัก

ค–หญิงน้อย (กัลยางคสมบัติ) ลูกสาวกรมพระจันทบุรีที่แต่งงานไปกับชายมุรธาภิเศก โสณกุล คือคนที่ให้สมุดฝีมือช่างสมัยใหม่ แล้วฝ่าพระบาทตรัสเรียกเอาสมุดมาทอดพระเนตรนั้น เข้าใจว่าตายวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ว่าเจ็บในกระเพาะอาหาร เขาจะเผาศพกันที่วัดไตรมิตรวันที่ ๑๒ ในเดือนนั้นก็ได้ไปเผา

ฆ–หญิงสมทรง ในกรมอดิศร แต่งงานไปกับชายโอ่ง (นิกรเทวัญ) ตายวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ว่าเป็นโรคเนื้องอกในสมอง เขาจะเผาศพกันที่วัดไตรมิตรวันที่ ๒๘ ในเดือนนั้นก็ได้ไป

ง–เจ้าพระยาสุรสีห์ เห็นหนังสือพิมพ์ว่าตายที่เมืองลับแล จะเป็นวันไรไม่ได้กล่าว แต่ในเดือนมีนาคมนั้นเป็นแน่ ว่าเผาศพเสร็จแล้วด้วย เจ้าพระยาสุรสีห์นั้นเงียบชื่อไปนาน จนสำคัญว่าตายแล้วพวกเดียวกับพระยาธรรมศาสตร์ แต่ให้รู้สึกใจคอไม่ดีด้วยเป็นคนปีเดียวกัน เมืองลับแลนั้นได้เคยสังเกต ถ้าหากจะอยู่ที่นั่นอย่างเงียบๆ ก็ดีมาก

จ–พระยาภาณุพันธ์ (เจ้ากรมเวก ลูกคุณอ่ำ ปาลกวงศ์ พระพี่เลี้ยง) ตายวันที่ ๕ มีนาคม เขาว่าเป็นโรคดีท้น

ฉ–องค์หญิงผ่อง สิ้นพระชนม์วันที่ ๑๒ มีนาคม ประชวรพระโรคชรา รุ่งขึ้นวันที่ ๑๑ เชิญพระศพออกไปที่หออุเทศทักษิณา

ช–หลวงวิจิตรพัตราภรณ์ (เพี้ยน แสงรุจิ) เจ้าของวิวิธภูษาคาร เขาบอกจะเผาศพที่วัดไตรมิตร ณ วันที่ ๑๙ มีนาคม ตายตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม (พ.ศ. ๒๔๘๔) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หากไม่ทราบว่าเป็นโรคลำไส้พิการ ได้ไปเผาตามที่เขากำหนดมาให้

ซ–หม่อมเจ้าวิบุลย์สวัสดิวงษ์ สวัสดิกุล เขาบอกมาว่าจะเผาศพที่วัดมกุฎกษัตริย์ วันที่ ๒๙ มีนาคม ก็ได้ไปตามที่เขาบอกกำหนดมา เธอเป็นอะไรตาย และตายเมื่อไรย่อมทรงทราบอยู่แล้ว

ฌ–หม่อมราชวงศ์เสงี่ยม สวัสดิวัตน์ (แม่ท่านชิ้น) ตายวันที่ ๒๓ มีนาคม ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร เขาบอกกำหนดมาว่าจะเผาศพที่วัดไตรมิตรวันที่ ๒๖ มีนาคม ก็ได้ไปเผาศพตามที่เขาบอกมา

ญ–หม่อมสมบุญ จรูญโรจน์ ณ อยุธยา ในกรมหมื่นจรัสพรตายเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม หม่อมเจ้าประสิทธศักดิลูกชายมาบอกว่าจะเผาศพที่ภูเขาทองวัดสระเกศ วันที่ ๒๖ เมษายน เกล้ากระหม่อมก็เห็นว่าดี เพราะเอาศพไปไว้ที่นั่น ศพอยู่ที่ไหนก็เผาที่นั่น เกล้ากระหม่อมรับกับเธอว่าจะไป แต่เผอิญหกล้มป่วยไปเสียไปไม่ได้ เป็นเคราะห์ดีที่กระดูกไม่หัก เป็นแต่ขัดไปทางตำหระขวา อีกสองสามวันก็หายไม่ต้องทรงพระวิตก

๕. สำนักพระราชวังก็ส่งหมายมาให้หลายฉบับ คือ

ก–หมายฉลองรัฐธรรมนูญ วันที่ ๑๑ ธันวาคม (พ.ศ. ๒๔๘๔ เข้าใจว่างานนี้เลิก)

ข–สรงน้ำและสดับปกรณ์ผ้าคู่ ในการขึ้นปีใหม่ ดูทีเป็นสดับปกรณ์ในอุโบสถ ไม่เป็นหอพระนาก วันที่ ๑ มกราคม

ค–เซ่นพระป้าย บนพระที่นั่งอัมพรสถาน วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ (คิดดูเห็นได้แก่วันตรุษจีน)

ฆ–มาฆบูชา ที่วัดพระแก้ว วันที่ ๑ มีนาคม

ง–ทักษิณานุปทานในงานพระราชพิธีรัชมงคล ที่พระที่นั่งอมรินทร์ วันที่ ๑ มีนาคม แต่ตัดการสวดมนต์กับเทศน์เพื่อให้เวลาสั้น (งานตอนนี้บอกแต่ผู้ที่ควรบอก ไม่ได้มีหมายกำหนดการให้คนรู้ทั่วไป)

จ–พระราชพิธีรัชมงคล ที่พระที่นั่งอมรินทร์ วันที่ ๒ มีนาคม ให้แต่เจ้าพนักงานเลี้ยงพระ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เข้าไปต่อเวลาเที่ยง ตัดสวดมนต์เพื่อให้เวลาสั้นเหมือนกัน (งานตอนนี้มีหมายกำหนดการออกตามเคย)

ฉ–เปลื้องเครื่องพระแก้ว วันที่ ๒ มีนาคม

ช–สรงพระศพพระองค์เจ้าผ่องที่ตำหนัก แล้วเชิญพระโกศออกไปตั้งที่หออุเทศทักษิณา วันที่ ๑๒ มีนาคม

ซ–ให้ในพระราชสำนักไว้ทุกข์ถวายพระองค์เจ้าผ่อง ๗ วัน

ฌ–สังเวยพระสยามเทวาธิราช วันที่ ๑๗ มีนาคม

ญ–พระราชกุศล ๗ วัน ที่พระศพพระองค์เจ้าผ่อง ณ หออุเทศทักษิณา วันที่ ๑๘ มีนาคม

ฎ–เปิดพระบรมรูปฉัฐมราชานุสรณ์ที่สวนลุมพินี วันที่ ๒๗ มีนาคม

ฏ–วันที่ระลึกมหาจักรี วันที่ ๖ เมษายน กำหนดให้ไปที่ปราสาทพระเทพบิดร และปฐมบรมราชานุสรณ์

ฐ–สมเด็จพระพันวัสสาเสด็จไปประกอบการพระราชกุศลที่วัดราชาธิวาส วันที่ ๑๓ เมษายน (สงกรานต์วันต้น)

ฑ–รัฐพิธีพืชมงคล ทำที่วัดพระแก้ว วันที่ ๒๔ เมษายน

งานเหล่านี้ที่มีหมายกำหนดการซึ่งเขาส่งมาให้หลายฉบับ ก็ได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทตามเคย ที่ไม่ได้หมายกำหนดการก็ไม่ได้ส่ง เป็นแต่กราบทูล

เรียน

๗. “โอฆบุรี” คือเมืองพิจิตรเก่าหรือไม่ใช่ คำ “โอฆ” เข้าใจว่าหมายเอาบึงสีไฟ “เมืองพิจิตร” เข้าใจว่าเป็นชื่อเมืองใหม่ซึ่งย้ายมาตั้งอยู่ที่คลองเรียงถูกหรือไม่ ถ้าถูกอย่างนั้นเมืองพิจิตรเก่าก็ควรยืนเรียกอยู่ว่า “โอฆบุรี” ไม่ควรจะเรียกว่าเมืองพิจิตรเก่า

๘. “เมืองธาราบริวัต” (หรือ–วัติ–วัตร อะไรก็ไม่ได้สังเกต) อยู่ที่ไหน สังเกตชื่อดูเป็นใหม่ อันธรรมดาตั้งเมืองใหม่ก็ต้องยกหมู่บ้านซึ่งยกขึ้นนั้นเดิมชื่อบ้านอะไร.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ