วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๕

ที่ ๑๓/๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

รายการ

๑. เมื่อวันที่ ๕ ในเดือนนี้ นางลูกจันทร์ พนมยงค์ มารดานายปรีดี พนมยงค์ (คณะผู้แทนพระองค์) ตายที่บ้านถนนพระอาทิตย์ (วังเก่าของสมเด็จกรมพระสวัสดิ์) ว่าอายุ ๗๑ แล้วอาบน้ำศพกันเมื่อวันที่ ๖ ว่ามีคนไปกันมากหน้าหลายตาแล้วแต่งศพใส่โกศประกอบลองแปดเหลี่ยม เอาไปตั้งที่วัดเบญจมบพิตร นึกเอาว่าที่ศาลาบัณณรสภาค ตามแบบศพนายนกยูงก็ตั้งที่นั่น แล้วว่าจะทำบุญ ๗ วัน วันที่ ๑๒ นี้ เกล้ากระหม่อมไม่ได้ไปแก่เขาด้วย ตามที่กราบทูลนี้เป็นแต่ได้เห็นหนังสือพิมพ์

การตั้งศพเห็นต่อไปจะเป็น “แฟแช่น” ที่เอาไปตั้งวัดเบญจมบพิตร ถ้าเป็นคนสถานประมาณก็ตั้งที่ศาลาบัณณรสภาค ถ้าเป็นคนที่เยี่ยมก็ทีจะตั้งบนพระที่นั่งทรงธรรม แต่นี่เป็นนึกเดาเท่านั้น ความแน่จะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ

๒. ได้รับใบแดง (เปรียบ) ของหม่อมราชวงศ์เชื้อ สนิทวงศ์ กับนายสุนทร สาลักษณ์ เชิญรดน้ำแต่งงานหม่อมหลวงดรุณ สิริวงษ์ กับนางสาวอุบล สาลักษณ์ ที่บ้านเลขที่ ๙ ปลายถนนสุริวงศ์ วันที่ ๑๖ นี้ เวลา ๑๗.๒๖ น.

รายนี้สนุกมาก จำจะต้องเอาบรรเลงมากราบทูลแถม ในการรับใบแดง แม่โตรับไว้แล้วจึ่งเอาส่งให้ หม่อมหลวงดรุณนั้นเป็นลูกคนเล็ก (ศรีสรรักษ์) ทางไหนปลายทางอยู่ทางไหนทั้งไม่ได้ดูเลขบ้าน สังเกตแต่ว่ามีรถยนต์จอดอยู่แน่นที่ไหนก็ที่นั่น แต่ไปพะเอาบ้านนายแหกรมรถไฟเข้า แปลว่าเขาไม่ได้เชิญ แต่เผอิญบ้านเขาอยู่ในถนนสุริวงศ์เหมือนกัน แต่งงานเหมือนกัน กับทั้งฤกษ์ก็เห็นจะใกล้กัน คนรับรองเขาก็ดี เขารับรองจนรู้สึกไม่ได้ ได้สวมมงคลแฝดแล้วรดน้ำให้พรแก่เขา ตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็ไม่รู้จักกันทั้งสองราย

เมื่อเจ้าพระยาพิชัยญาติรดน้ำแล้วก็รีบกลับ ว่ามีงานอยู่ที่บ้าน เกล้ากระหม่อมก็นึกว่าไม่ใช่ธุระ แล้วก็นั่งคุยอะไรหัวแหลกหัวแตกอยู่ที่นั่น จนเขารดน้ำกันเกือบหมดจึงกลับ เวลากลับได้ดูนาฬิกาเป็น ๑๗.๒๕ น. จึงนึกว่าเขารดกันก่อนเวลาฤกษ์

ครั้นกลับมาถึงบ้านยังไม่ทันเปลื้องเครื่องแต่งตัว ทวีก็บอกว่าเขาโทรศัพท์มาตาม จึงบอกว่าได้ไปแล้ว ได้เอาของชำร่วยให้ดู อีกครู่หนึ่งก็บอกว่าที่โทรศัพท์มาตามนั้นผิดไป

รุ่งขึ้นหม่อมหลวงดรุณเขาก็พาเจ้าสาวมาให้รดน้ำ เขาบอกว่าเขาแต่งที่บ้านเจ้าพระยาพิชัยญาติ จึงรู้ว่าที่ไปวันก่อนนั้นผิด สิ้นเคราะห์ไปที

๓. เมื่อวันที่ ๑๕ หญิงบุญเอาใบแดงมาให้ บอกว่าวันที่ ๒๔ จะมีการรดน้ำบ่าวสาว ระหว่างนายพล ศรีวรรธนะ กับนางสาวนันทา วัชรเสถียร ที่ตำหนัก (องค์ขาว) ถนนพิไชย ณ วันที่ ๒๔ เวลา ๑๖.๓๐ น.

๔. วันที่ ๑๖ หญิงรัตนจันทร์เอาใบแดงมาให้ ว่าจะแต่งงานหม่อมราชวงศ์ศศิพันธ์ สุขสวัสดิ์ กับ นายทองแล่ง อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่วังกรมหลวงอดิศร วันที่ ๒๔ เวลา ๑๗.๕๔ น.

๕. วันที่ ๑๘ นายพลตรี ชื่น พุทธิแพทย์ (พระยาดำรงแพทยาคุณ) มากับลูกสาว (เชื้อชื่น) ให้ใบดำใบหนึ่ง บอกจะเผาศพคุณหญิงเพิ่ม พุทธิแพทย์ ที่วัดไตรมิตร วันที่ ๒๗ เวลา ๑๖.๓๐ น.

๖. วันที่ ๒๐ หญิงอามมาบอกว่าหญิงพิจิตรมาบอกว่าวันที่ ๒๔ พาลูกสาวชายตรีทีเพศพงษ์มาให้รดน้ำแต่งงาน ได้บอกหญิงอามว่า วันนั้นพ่อรับรดน้ำแต่งงานไว้ถึง ๒ รายแล้ว หญิงอามว่าไม่เป็นไร รดไม่มีฤกษ์ จะทูลท่านให้เสด็จมาเย็นๆ

บรรเลง

๗. ที่ในบางกอกขนมปังก้อนเล็กลงไปทุกที เขาว่าแล้วจะไม่มี จึงพูดกับหญิงอี่ว่าให้เอาข้าวตังมากินแทน แต่หญิงอี่ร้องว่าข้าวตังแข็ง ที่ว่าแข็งนั้นจะเคี้ยวได้หรือไม่ แล้วจะเป็นอย่างไรบ้างก็ยังไม่เคยกิน นึกถึงสิ่งที่เคยกินก็คือข้าวเหนียว แต่แม่โตทักว่าสลายยาก แม้กระนั้นแกก็ทำขนมอย่างต่างๆ ให้กิน จึงเห็นได้ว่าทุกอย่างย่อมสำเร็จไปด้วยข้าวเหนียวกับแป้งข้าวเหนียวทั้งนั้น ทำให้เห็นได้ว่าเรากินข้าวเหนียวกันอยู่เป็นธรรมดา จึงหาข้าวเหนียวได้ในเรือนอย่างง่ายดาย จนวัดผู้มีบุญก็ว่ากินข้าวเหนียวน้ำกะทิทุกวัน คำนี้เห็นจะเก่ามาก ส่วนที่กินข้าวจ้าวนั้นไม่ธรรมดา ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นของเจ้า หากกินกันเป็น “แฟแช่น ” ทีหลังเท่านั้น

๘. ได้ส่งพระพุทธรูปมองโกเลียมาถวายคราวนี้ด้วย แต่ก็ตัดจากหนังสือพิมพ์ “บางกอกไตมส์” วันที่ ๑๗ อันได้ทรงรับอยู่แล้วนั่นเอง เขาจะจัดส่งถวายโดยเร็วหรือค้างช้าไปก็ไม่ทราบ แต่อย่างไรก็ไม่เป็นไร ถ้าได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วก็ทิ้งเสีย ถ้ายังไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นก็จะเป็นประโยชน์

พระพุทธรูปนั้นเป็นพระมองโกเลียซึ่งเกล้ากระหม่อมยังไม่เคยเห็นรู้สึกแปลก นั้นคือพระเศียรเล็กเป็นอย่างฝรั่ง แต่พระกรรณโตมากและทรงผ้าดูเป็นที่พาดสังฆาฏิ จะมัดตนด้วยหรืออย่างไรก็แลไม่เห็น แต่เป็นพระที่ทำมาเก่านั้นแน่ เพราะเป็นพระก่อและพังบ้างแล้ว ที่เราทำพระเศียรใหญ่นั้น ได้ยินพระองค์ดิฐว่าเพราะท่านมีฟัน ๔๐ ซีก คงเป็นตำราพุทธลักษณะซึ่งเป็น “ลิ้นกวี”

ลายพระหัตถ์

๙. เมื่อคืนวันที่ ๒๐ พอกลับไปที่อยู่ก็พบลายพระหัตถ์เวร อ่านเสียพอใจ

เรื่องทำบุญพระชันษา ๘๐ นั้น จะทำเอาแปลกที่ปีนังเห็นจะไม่ได้ ด้วยอะไรที่เคยมีอยู่เท่าไรก็เท่านั้น ทำในบางกอกจะให้ผิดจากที่เคยทำไปได้ เพราะอะไรอะไรมีเลือกอยู่มาก ในการที่ทรงพระดำริจะฉายพระรูปนั้นดี เป็นของควรที่จะทรงกระทำเมื่อยังประทับอยู่ที่ปีนัง

การที่กราบทูลให้ลง “นำเบ้อ” ในลายพระหัตถ์เวรนั้น ก็เพราะจะถือเอาการคมนาคมไม่ได้ ถ้าหากลง “นำเบ้อ” แล้วจะดีหลายประการ คือจะเขียนเมื่อไรแล้วส่งเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องมีลายพระหัตถ์จดบันทึกปะหน้าลายพระหัตถ์เวรไว้อย่างเช่นที่ได้รับฉบับนี้ก็ได้ กับถ้า “นำเบ้อ” ไม่ต่อกัน ก็จะได้รู้ว่าขาดหายไปแล้วจะได้ติดตาม นั่นก็เป็นเหตุอีกอย่างหนึ่ง

ในเรื่องลง “นำเบ้อ” นั้นเกล้ากระหม่อมเคยมีหนังสือไปถวายทูลกระหม่อมทีหนึ่งแล้ว ส่งที่กระทรวงมหาดไทยเขาไม่รับ เกล้ากระหม่อมจึงทูลฟ้อง ก็ตรัสแนะนำว่าทีหลังให้ลงนำเบ้อ นำเบ้อนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ เขาจะเข้าใจว่าเป็นหนังสือราชการ

เรื่องรดน้ำแต่งงานซึ่งเกล้ากระหม่อมได้ไปเห็นที่สุพรรณนั้น ไม่เหมือนกับที่ตรัสประทานตัวอย่าง เห็นจะเดินไปเสียแล้ว แต่ก็ยังเจือเก่าอยู่มาก การเชิญใครๆ ให้ไปรดน้ำกับเวลารดน้ำสวมมงคลแฝดนั้นไม่มีมูลเลย จะกราบทูลคำ “สิญจน” แปลว่ารดน้ำ เพราะฉะนั้นคำ “สายสิญจน์” จะใช้ได้แต่การมงคลบ่าวสาวเท่านั้น จะทรงระลึกได้ว่าในนครกัณฑ์มีศัพท์ว่า “อภิสิฺจึสุ”

เมื่อไม่สู้นานมานัก กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็ถามมา ว่าการเฝ้าหอเฝ้าทำไม เกล้ากระหม่อมตอบไปว่า ปลูกเรือนขึ้นแล้วก็ต้องอยู่ แท้จริงการสวดมนต์รดน้ำเห็นจะไม่ใช่แต่งสามีภริยา จะเป็นการขึ้นเรือนใหม่อันจะอยู่ด้วยกัน แต่คนเข้าใจไปว่าเป็นการแต่งสามีภริยา การส่งตัวนั่นแหละจึงเป็นการแต่งสามีภริยา ตามที่โหรเขาหาฤกษ์ก็เป็นสอง คือสวดมนต์รดน้ำนั้นก็เป็นฤกษ์หนึ่ง การส่งตัวก็เป็นฤกษ์หนึ่ง ลางทีก็ชิดกัน ลางทีก็ห่างกัน ในระยะแห่งฤกษ์นั้นเจ้าบ่าวจะต้องอยู่เรือนคนเดียวเรียกกันว่า “เฝ้าหอ” ก็ทีจะเข้าใจผิด

ในเรื่องรดน้ำเห็นจะมาหลายทางเป็นอย่างต่าง ๆ กัน การตรวจน้ำก็เคยมีคนคิด แต่ก็ไม่ตกลงว่าเป็นอะไร การให้ช้างให้สองกุมารให้พระมัทรีก็พูดกันว่าการหลั่งน้ำนั้นแสดงว่าให้ การหลั่งน้ำในพระหัตถ์พระประธานก็มารอยนั้น ตลอดจนการขึ้นกฎีก็มีคนโทน้ำ คงเป็นไปรอยเดียวกัน การปักปันเขตแดนก็มีน้ำมีคนแปลกันว่าคำ “พรมแดน” ก็คือพรมน้ำ อะไรแน่ก็ไม่ทราบ เมื่อครั้งไปเที่ยวผักไห่ได้แวะขึ้นไปขอน้ำมนต์ที่วัดบางปลาหมอ ด้วยเขาลือกันว่าท่านดีนัก เห็นท่านเอาผงดินสอพองซึ่งท่านใส่ไว้ในขวดมาปนลงกับน้ำก็เข้าใจ เป็นดีสำหรับคนที่ไปหาขอน้ำมนต์เอาอย่างฉาบฉวย เอาผงที่เสกไว้แล้วใส่น้ำให้ ไม่ต้องเสกจ้ำจี้จ้ำไชอย่างคนที่ไปให้รดน้ำมนต์ การรดน้ำจะเป็นอย่างไรแน่ยังนึกไม่ออก นึกได้แต่ว่าการรดน้ำมาแต่อินเดียแน่ เช่น “บุษยาภิเษก” เป็นต้น นั่นก็ไม่ทราบว่าอะไรกันแน่ ดูเป็นรดน้ำในเดือนบุษยะ เกรงว่าเคยถือมาอย่างไรก็จะถือกันไปกระนั้นเอง

ตามที่ตรัสเล่าถึงเรื่อง “ไม่มีสมาธิ” คำนั้นก็เป็นอันว่ากรมพระสมมตทรง “โกปี” มาตรัสอีกต่อหนึ่ง เรื่องกรมหลวงประจักษ์ฉายรูปจุดแมกนิเซียมนั้นเคยเห็นที่พระที่นั่งอมรินทร์ ก็คือฉายรูปพระเทศน์นั่นเอง ส่วนเรื่องเกิดความที่ตำหนักสมเด็จพระปิตุฉานั้นไม่รู้ ที่ทรงรื่นรมย์นั้นก็เห็นจะเป็นเรื่องจุดแมกนิเซียม ด้วยอรรถว่าแม้จะมืดก็ฉายรูปได้ เห็นจะไม่ทรงรื่นรมย์ในกล้องชักรูป การจุดแมกนีเซียมนั้นมีเสียงดังไม่ใช่น้อย แต่อาจจะเป็นได้ที่ใช้ผงมากน้อยเพราะมืดมากมืดน้อย

ตามที่ตรัสอธิบายถึงประตูวังหน้านั้นเข้าใจ ไม่ทราบว่าเขาทำอย่างไรเห็นแต่กระดาน กระดานสลักสองแผ่นนั้นเดิมเห็นจะทาดินแดงอย่างที่ตรัสแต่มันเก่าคร่ำเครอะเสียเต็มทีแล้ว เสาดั้งซึ่งตั้งบนขื่อนั้นแหละที่ช่างเขาเรียกว่า “ดั้งแขวน”

เรื่องเปลี่ยนชื่อเมื่อบวชนั้นทรงพระดำริถูกแล้ว อันชื่อนั้นชอบกล สังเกตได้ว่าต้องการคำเดียว เช่น ดำ แดง ขาว ดุจชื่อ ลัดา (แฟชเนเบอล) ก็เรียกแต่ว่า ดา คำเดียว ดูแต่ หญิงจง หญิงพูน เถิด ที่ให้ชื่อยาวๆ นั้นเป็นชื่อเต็มยศเหมือนเช่นชายดิศว่า

ตามที่ทรงรับรองหลานวิสาขาถือเอาวันวิสาขะเป็นวันเกิดนั้น ทำให้นึกถึงหลานหญิงยิ่งวัน นั่นเกิดวันอธิกวาร นานๆ จึงจะมีทีหนึ่ง แม้เป็นตัวเกล้ากระหม่อมก็ดีใจที่จะไม่มีวันเกิดทุกปี แต่เธออยากให้มีทุกปีเอาวันฝรั่งเข้าก็เป็นได้กัน

ในการไม่ทำวิสาขบูชาที่วัดเทพศิรินทร์นั้น ไม่ใช่ด้วยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เจ็บเป็นแน่ เพราะหญิงอี่ได้พาวิสาขาไปหาท่านในวันเกิดเวลาเช้าท่านก็ไม่ได้เจ็บอะไร

ตามที่ทรงพระเมตตาแผ่พระกุศล อันได้ทรงกระทำวิสาขบูชาและทำบุญพระชันษา ๘๐ แก่เกล้ากระหม่อมกับทั้งญาติด้วยนั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า เกล้ากระหม่อมนึกอนุโมทนาในพระกุศลราศีเป็นอันมาก การวิสาขบูชานั้นเกล้ากระหม่อมไม่ได้ทำอะไรที่ในบางกอก เพราะตัวเองกับทั้งญาติเคยไปวัดเทพศิรินทร์ แต่ส่วนทำบุญพระชันษา ๘๐ นั้น ทั้งตัวเองและญาติได้พร้อมกันไปช่วยพระธิดาและพระโอรสทำบุญถวายที่วังวรดิศ

การเปิดสังฆสภา อ่านหนังสือพิมพ์ดูก็เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง แต่กฎหมายใหม่นั้นไม่ได้เห็น เป็นอันกราบทูลอะไรไม่ถูก

หญิงจงกลผ่าไส้ตันออกหายเรียบร้อยแล้ว สมควรที่จะดีใจ

พิธีอย่างทมิฬซึ่งทำแต่เด็กหญิงแรกมีระดู ตามที่ตรัสเล่านั้นใหญ่มาก นึกถึงประเพณีของเราก็นึกได้เป็นเงา ๆ ว่าเมื่อครั้ง “นุนู” เสด็จย่าท่านก็ทำ แต่ทำเงียบ ๆ เป็นการในเรือน จนแม้แต่เกล้ากระหม่อมซึ่งเป็นหัวโจกอยู่ในเรือนยังเกือบไม่รู้ เห็นแกนุ่งผ้าแดงนั่งเอี้ยมเฟี้ยมอยู่กับอะไรก็จำไม่ได้ ดูเหมือนมีดอกไม้ธูปเทียนด้วย แล้วท่าตรัวบอกเบาๆ ว่า “ถึงผ้า” เป็นแน่ว่าพิธีนั้นเราจำมาแต่อินเดีย เข้าใจว่าย่นย่อลง แล้วก็ขาดผู้รู้ซึ่งจะทำแก่เด็กหญิงทุกคน

ในท้ายการทำบุญพระชันษา ๘๐ ตรัสถึงเจ้านายในรัชกาลที่ ๔ ว่า ต่อไปจะมีพระชันษา ๘๐ ทุกปี และในท้ายพระหัตถ์ตรัสเทียบเจ้านายในรัชกาลก่อนๆ ซึ่งมีพระชันษาถึง ๘๐ นั้น ก็เห็นจะเข้าบทซึ่งกรมหมื่นมหิศรว่า “เจริญโลภธรรม” แต่เกล้ากระหม่อมไม่ “แข” ใครจะถืออย่างไรก็ตามใจเขา เพราะใจคนไม่เหมือนกัน แต่ที่ตรัสนั้นพึงใจด้วยเกล้ากระหม่อมเป็นพวกแสวงความรู้ ที่ตรัสนั้นเป็นเรื่องทำให้ได้ความรู้จึงพอใจ

จะกราบทูลร้องอุทธรณ์ว่า สมเด็จพระพันวัสสาตรัสทักว่าไม่แก่ ไม่ใช่ตรัสทักเพียงหนเดียว แต่เกล้ากระหม่อมรู้ตัวว่าเพลียไปกว่าแต่ก่อนมาก ทั้งโง่ลงด้วย มีลืมเป็นที่ตั้ง

ได้กราบทูลถามมาก่อน ว่าเมืองธาราบริวัตรอยู่ที่ไหน แล้วไม่ได้พระดำรัสตอบ อาจเป็นเพราะได้ทูลถามว่ายกบ้านอะไรขึ้นเป็นเมืองอันทรงจำไม่ได้ จะต้องทรงค้นหนังสือก่อน ไม่เป็นไรมิได้ในข้อที่ตรงยกบ้านอะไรขึ้นเป็นเมืองนั้น ถึงไม่ได้ทราบได้ทราบแต่ว่าเมืองธาราบริวัตรอยู่ที่ไหนเท่านั้นก็พอ

สังเกต

ที่เราเปรียบผู้ชายเหมือนกระต่าย ผู้หญิงเหมือนพระจันทร์นั้นเป็นของมาทางต่างประเทศ เราละเมอกันด้วยฤทธิ์ซึมซาบ ที่แท้เราเห็นด่างในดวงพระจันทร์ เป็นรูปยายกะตาตำข้าวต่างหาก ไม่ใช่กระต่าย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ