วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๘๕

ที่ ๔/๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรได้รับเป็น ๓ ฉบับด้วยกัน บัดนี้จะกราบทูลสนองความในฉบับซึ่งลงวันที่ ๓๐ เมษายน ให้ทราบฝ่าพระบาทดังต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

เรื่องขับร้องกับดนตรีนั้นเห็นชอบด้วยกระแสพระดำริการร้องด้วยเปล่งเสียงนั้นก็ไปทางหนึ่ง พวกตีนั้นก็ตีเป็นสัญญาไปทางหนึ่ง แล้วจึ่งเอาพวกตีเป็นสัญญามาทำเป็นดนตรีเข้ากับเสียงร้องในภายหลัง ยังเห็นได้อยู่ว่าแม้จะทำด้วยกันก็เป็นทำฝ่ายละที จนมีคำว่า “รับร้อง” มีทำพร้อมกันแต่โทนนั่นก็มาแต่ “โนรา” ซึ่งเขาทำเข้ากัน การได้ยินลูกไม้หล่นลงน้ำเอามาทำเป็นดนตรี เกล้ากระหม่อมก็เคยได้ยินมา เป็นโคลงดั้นขับไม้เสียด้วยซ้ำ จำได้แต่บาทหลังนิดหนึ่งว่า

“––––––น่านน้ำ ทำเสียง”

แต่จะเป็นใครได้ยินจำไม่ได้ หมดนั้นก็เป็นคิดขึ้นโดยเดาตลอดไป อาจจะจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้

๒. ความจำของคนนั้นประหลาดมาก ลางทีตั้งใจจะจำแต่จำไม่ได้ก็มี บางทีไม่ได้ตั้งใจจะจำแต่เสือกไปจำไว้ได้ก็มี บางทีคิดว่าจำได้แต่เคลื่อนคลาดไปก็มี อย่างไรก็ดี ที่จำไม่ได้นั้นเห็นว่าจะบกพร่องอะไรไปสักอย่างหนึ่ง เช่น “เข็ม” เป็นต้น ทำให้ลืมนึกไม่ได้

๓. คำว่า “ชะ” กับ “ช้า” นั้นนึกได้อีก ว่า “ฉา” กับ “ฉ่า” ก็ใช้ในคำร้องเหมือนกัน เช่น “ชะฉ่า” เป็นต้น จะเดาอย่างหกคะเมน ว่าที่กฎมนเทียรบาลจดไว้ว่า “หม่งครุ่มชะแม่” นั้น คงร้องว่า “ชะแม่ชะ” เพราะที่ร้องว่า “ถัดทาถัด” นั้นไม่เป็นภาษา “หม่ง” ก็ได้ความว่าหมายถึงฆ้อง “ครุ่ม” ก็ได้ความว่าหมายถึงเสียงกลองซึ่งตีด้วยกันหลายๆ ใบ

คำ “ชั่วช้า” นั้นเกรงว่าคำ “ช้า” จะเป็นภาษาอื่นซึ่งเรายังไม่รู้

๔. “ยังบุคคลให้กระทำ” เป็นต้นนั้นมาแต่พระ จริงเช่นตรัส

๕. “สังคีติกาจารย์” กับ “คันถรจนาจารย์” นั้น เห็นชอบตามพระดำริ ว่าพวกแรกเกี่ยวแก่การร้อง พวกหลังเกี่ยวแก่การเขียนหนังสือ

๖. การเขียนหนังสือเวรนั้นตั้งใจทำ ตามที่ตรัสแนะนำมาในข้อ “พิเศษ” นั้นแล

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ