วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้เขียนจดหมายเวรส่งไปถวาย ๓ ฉบับพร้อมกันเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม แต่ไปทางดาวหางจะได้ทรงรับเมื่อใดคาดไม่ถูก หวังแต่ว่าจะไม่ไปหายสูญเสียกลางทาง หมู่นี้หม่อมฉันนึกถึงจดหมายเวรขึ้นมาจึงเขียนฉบับนี้ เพื่อจะสำรองไว้เมื่อมีโอกาสจะได้ส่งทันที แต่เวลาร่างอยู่ข้างอ้างว้างสักหน่อย เพราะไม่มีอะไรสำหรับตอนต้น จดหมายซึ่งเคยสนองลายพระหัตถ์ก่อนแล้วจึงทูลบรรเลง แม้เรื่องที่จะทูลบรรเลงในจดหมายฉบับนี้ หาเรื่องอันสมควรแก่จดหมายเวรก็ค่น จึงถวายนิทานโบราณคดีเรื่อง “ค้นเมืองโบราณ” มาทรงพอสำราญพระหฤทัย

นิทานเรื่องนี้ความเป็น ๔ ภาค คือ ๑ คำนำ ๒ เรื่องเมืองเชลียง ๓ เรื่องเมืองอู่ทอง ๔ เรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถี หม่อมฉันได้ถวายภาคเมืองเชลียงไปก่อนแล้ว คราวนี้ถวายอีก ๓ ภาคที่ยังเหลืออยู่ ให้เต็มเรื่องนิทาน

มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งหม่อมฉันจะขอพึ่งพระบารมี ให้ทรงช่วยหาคำแปลศัพท์ซึ่งหม่อมฉันติดประทานศัพท์ ๑ สงสัยว่าจะเป็นภาษาเขมร มีอยู่ในตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ถึง ๒ แห่ง

ศัพท์นั้นว่า “สารเข้า” ใช้แห่ง ๑ ใช้ตอนว่าด้วยขี่ช้างน้ำมันค้ำในวงพาด กำชับผู้ขี่ช้างเข้าไปชนช้างเถื่อนที่ตกน้ำมันว่า ถ้าช้างเถื่อนกับช้างค้ำมุ่งหมายกันอยู่ “ก็ให้ผู้ขี่รักษาไว้อย่าให้ไปก่อนจะเสียที ให้รักษาไว้ ตั้งรับให้ได้ที่ ถ้ามิได้ที่จะถลำถลากก็จะสารเข้าช้างค้ำก็จะเป็นอันตราย” ดังนี้

อีกแห่ง ๑ อยู่ในตอนที่ว่าด้วยขี่ช้างชนล่อปลายเชือก คือชนช้างเถื่อนที่ติดเชือกบาศแล้ว ห้ามมิให้ชนเวลาเชือกบาศหย่อนว่า “ช้างเราจะถลำถลากปะป่ายไปแล้วจะสารเข้า แก้มิทัน ช้างเราจะเป็นอันตราย” ดังนี้ ได้เค้าแต่ว่าจะถูกช้างเถื่อนทำอะไรที่เรียกว่า “สารเข้า” เอาช้างต่อเป็นอันตราย หม่อมฉันก็สิ้นปัญญาเพียงนั้น จะว่าในตำราเขียนตัวอักษรผิด ก็มีถึง ๒ แห่ง ความต้องกัน จะโปรดหาอธิบายประทานได้หรือไม่.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ