วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

ที่ ๑๓/๘๕

วังวรดิศ

วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หมู่นี้หม่อมฉันจะเขียนหนังสือลำบากด้วยนายสมบุญเจ็บ ต้องร่างเอง และมีหนังสืออื่นจะต้องร่างด้วย ลายพระหัตถ์เวรจึงค้างทูลสนองอยู่ถึง ๓ ฉบับ จดหมายที่ ๑๓/๘๕ ของหม่อมฉันฉบับนี้จะทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับที่ ๒๒/๘๕ ซึ่งลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน แต่ฉบับเดียวก่อน

๑) การตั้งชื่อเป็นความอ่อนแอโดยอุปนิสัยของหม่อมฉัน อย่าว่าแต่ตั้งชื่อคนเลย ถึงจะให้ชื่อสัตว์เดรฉานก็คิดมิใคร่ออก เลี้ยงแมวจึงเรียกมันว่า “อีแมว” ๒ ตัวมาแล้ว ด้วยคิดไม่ออกว่าจะเรียกอย่างไรขึ้น ยิ่งให้ชื่อคนในสมัยใหม่ยิ่งลำบากหนักขึ้น เพราะความนิยมของผู้ปกครองเขาชอบไปอย่างอื่นที่หม่อมฉันไม่ชอบ

๒) กรงไกวเจ้านายบรรทมนั้น หม่อมฉันนึกว่าน่าจะเป็นของประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ ถ้าเป็นของแบบเก่าก็จะสำหรับแต่เจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ ๓ ไม่มีพระเจ้าลูกเธอเป็นเจ้าฟ้า กรงจึงสูญไปตลอดรัชกาล เพิ่งกลับฟื้นขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้ ตัวหม่อมฉันเองก็ไม่เคยนอนกรง แต่เคยเห็นเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าบางพระองค์บรรทมกรง จะเป็นใครก็ลืมเสียแล้ว

๓) เรื่องอักษรแบบใหม่เอาเป็นกัณฑ์ยกเว้น อย่าคิดวินิจฉัยในจดหมายเวรเห็นจะดีกว่าว่าวุ่นไปด้วยเราไม่รู้หลักฐาน

๔) พระพุทธสิหิงค์นั้น ชาวนครศรีธรรมราชเรียกกันว่า “พระสิหญิง” ชาวกรุงเทพฯ เรียกว่า “พระสิหิงค์” ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “พระสิงห์” เรียกมาอย่างนั้นแต่โบราณด้วยกัน เมื่อรัชกาลที่ ๕ ในงานตั้งพระพุทธรูปอวดกันที่วัดเบญจมบพิตร์ปี ๑ หม่อมฉันเห็นเขาเอาพระพุทธรูปลังกาแบบเก่า (ก่อนทำห่มผ้าเป็นริ้ว ๆ) ขนาดหน้าตักสัก ๑๒ นิ้วมาตั้งอวดองค์ ๑ เห็นแปลกก็ชอบใจ ถามผู้เป็นเจ้าของบอกว่าได้พระพุทธรูปองค์นั้นมาจากเมืองเชียงใหม่ เผอิญเป็นคนชอบกัน หม่อมฉันจึงแนะให้เขาทูลเกล้าฯ ถวาย (เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน) หม่อมฉันได้พูดในครั้งนั้นว่า “ถ้าเพิ่มตัว-ฬ-การันต์ลงท้ายนามพระสิงห์เป็น “พระสิงหฬ” ดังนี้ จะอ้างพระพุทธรูปองค์นั้นว่าเป็นพระสิงห์ก็ได้ เพราะมีหลักหลายอย่างเป็นต้นแต่เป็นพระหล่อในเมืองลังกา และเป็นแบบพระพุทธรูปลังกาเก่าชั้นสมัยพระร่วง ขนาดก็ย่อมพอที่อำมาตย์เมืองนครจะยกขึ้นทูนหัวได้เหมือนอย่างว่าในตำนาน หรือว่าอีกอย่าง ๑ จะเรียกพระพุทธรูปองค์นั้นว่า “พระสิงหฬะ” หรือ “พระสิงหฬ” ก็เรียกได้ไม่ผิด แต่จะเป็นองค์ที่เชิญมาจากเมืองลังกาเมื่อครั้งพระร่วงหรือมิใช่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

๕) ตรัสถึงชื่อบ้าน “เตาไห” อันกลายมาเป็น “เต่าหาย” แล้วกลายเป็น “ปะขาวหาย” นั้น จะเป็นเพราะเหตุใดคิดดูก็พอเห็น คือเมื่อดินพูนถมเตาไห (อันเพิ่งขุดพบใหม่เมื่อภายหลัง) สูญไปแล้ว พวกชาวเมืองเป็นชาวนาจึงเอาเต่ามาเดาชื่อ ที่มาแปลงเป็นปะขาวหายนั้น เป็นความคิดของท่านอาจารย์ “กุ” ผู้แต่งเรื่องตำนานปาฏิหาริย์ของพระชินราชนั้นเอง หาเก่าก่อนนั้นขึ้นไปไม่

๖) ที่เลยตรัสถึงพระเหลือว่าเก่ากว่าพระชินราชพระชินสีห์นั้นหม่อมฉันนึกขึ้นถึงเคยได้ยินท่านตรัสว่า ถึงพระศาสดาก็เป็นฝีมือช่างอื่นต่างหากจากพระชินราชชินสีห์ และเป็นของสร้างต่างสมัยกัน หม่อมฉันจะทูลวินิจฉัยติดต่อเพิ่มเติมพระดำริ ด้วยได้เคยเที่ยวเดินพิจารณาในบริเวณวัดพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลกนั้นหลายครั้งจนเกิดความคิดเห็นดังจะทูลต่อไปนี้-

ของโบราณทางพระพุทธศาสนาซึ่งสร้างไว้ทางเมืองเหนือ หม่อมฉันสังเกตอย่าง ๑ ว่า ถ้าสร้างในสมัยเมื่อขอมยังเป็นใหญ่ สร้างตามลัทธิอย่างมหายาน ยกตัวอย่างดังพระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองเชลียงก็เป็นปรางค์อย่างเดียวกับพระมหาธาตุเมืองลพบุรี วัดพระพายหลวงที่เมืองสุโขทัยก็เป็นปรางค์สามยอดแบบเดียวกับปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรี พระปรางค์ที่วัดจุฬามณีเมืองสองแคว ตอนบนพังเสียแล้ว ตอนล่างที่ยังเหลืออยู่ก็พอสังเกตได้ว่าลวดลายเป็นแบบสมัยเดียวกับถือลัทธิมหายาน แต่ของซึ่งสร้างตั้งแต่ราชวงศ์พระร่วงได้เป็นใหญ่ คือตั้งแต่พ.ศ. ๑๘๐๐ มา ล้วนสร้างเป็นลัทธิหินยานตามอย่างลังกาทั้งนั้น มีของซึ่งจะสังเกตเฉพาะที่เมืองพิษณุโลกมีอีกอย่าง ๑ ด้วยบรรดาเจดียสถานสำคัญอันสร้างเมื่อสมัยราชวงศ์พระร่วงย่อมก่อด้วยศิลาแลง แต่สิ่งซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้สร้างเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปเสวยราชย์ที่เมืองพิษณุโลกก็ล้วนก่อด้วยอิฐทั้งนั้น ยกตัวอย่างสิ่งสำคัญที่เมืองพิษณุโลกซึ่งก่อด้วยแลง หม่อมฉันเห็นมีแต่ที่วัดมหาธาตุ (คือวัดพระชินราช) แห่ง ๑ กับวัดวิหารทองอันเคยไว้พระอัฐารศ (วัดสระเกษ) อยู่ตรงข้ามกับวัดมหาธาตุทางฝั่งตะวันตกแห่ง ๑ นอกจาก ๓ แห่งนั้นก่อด้วยอิฐทั้งนั้น แม้จนพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างก็ก่อด้วยอิฐ หม่อมฉันได้เที่ยวเดินตรวจพิจารณาดูสิ่งอื่น ก็มีบางแห่งก่อด้วยแลงและบางแห่งก่อด้วยอิฐระคนปนกัน เห็นได้ว่าวัดมหาธาตุนั้นสร้างและแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายครั้งหลายคราว

พิจารณาตามเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยอันมีอยู่ในศิลาจารึกและหนังสือต่างๆ อันพอฟังได้เป็นหลักฐาน ทั้งที่ได้เห็นโบราณวัตถุประกอบกัน เรื่องมีว่าพระร่วงชิงอาณาเขตเมืองเหนือได้จากขอมแล้ว ตั้งเมืองไทยเป็นอิสระเมื่อใกล้ๆ กับ พ.ศ. ๑๘๐๐ ในเวลานั้นเมืองสุโขทัย เมืองเชลียง กับเมืองสองแคว (เก่าที่วัดจุฬามณี) กับเมืองชากังราว มีอยู่แล้ว ข้อนี้รู้ไว้ด้วยของโบราณสร้างในสมัยขอมมีอยู่ทั้ง ๔ แห่ง แต่เมืองศรีสัชนาลัยกับเมืองกำแพงเพชรยังหามีไม่ เมืองสระหลวงหม่อมฉันเคยไปดูเป็นเมืองใหญ่มีปราการ แต่ไม่ได้พิจารณาว่าจะตั้งในสมัยไหน

วินิจฉัยการสร้างเมืองเหนือเมื่อไทยได้เป็นใหญ่แล้ว พิเคราะห์ดูเหมือนในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับรัชกาลพ่อขุนบาลเมือง จะสร้างแต่ที่ราชธานีเป็นสำคัญคือย้ายเมืองสุโขทัยจากที่ขอมตั้ง ณ วัดพระพายหลวง มาสร้างเมืองสุโขทัยใหม่ที่เป็นราชธานีต่อมา เมืองศรีสัชนาลัยเห็นจะสร้างในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง จึงชอบขึ้นชื่ออ้างเป็นราชธานีคู่กันกับเมืองสุโขทัยในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเป็นนิจ สิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง พญาเลอไทยราชบุตรได้รับรัชทายาท ในรัชกาลของพญาเลอไทยกรุงสุโขทัยเริ่มเสื่อมอานุภาพลง ปรากฏในพงศาวดารพม่าว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๘๗๓ เมืองมอญเป็นขบถ กรุงสุโขทัยปราบไม่ลง เมืองมอญทั้งปวงก็เลยเป็นอิสระมาแต่นั้น ต่อมาก็เข้าเรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าถึง พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองตั้งแข็งเมืองเป็นอิสระที่กรุงศรีอยุธยา พญาเลอไทยก็ไม่สามารถจะปราบได้ น่าจะเป็นในรัชกาลพญาเลอไทยเมื่อเกรงพวกกรุงศรีอยุธยาจะขึ้นไปบุกรุก จึงสร้างเมืองมีปราการรายรอบราชธานีขึ้นสำหรับป้องกันข้าศึก ในหนังสือตำนานพระสิหิงค์อ้างว่าสร้างเมืองชัยนาทขึ้นในสมัยนี้ แต่ยังมีเมืองอื่นซึ่งเห็นจะสร้างร่วมสมัยด้วยเหตุอันเดียวกันอีก แต่หากเรื่องไม่ปรากฏ คือเมืองกำแพงเพชรและเมืองสองแคว (ใหม่) เป็นต้น บางทีเมืองพระบาง (นครสวรรค์) และเมืองสระหลวง (พิจิตร์) ก็จะสร้างในสมัยนี้ด้วยเหมือนกัน จะแยกมากล่าวในวินิจฉัยนี้แต่เรื่องสร้างเมืองสองแคว อันเป็นที่ประดิษฐานพระชินราชพระชินสีห์และพระศาสดาซึ่งเป็นท้องเรื่องที่จะทูลสนองในจดหมายนี้ ตามวินิจฉัยซึ่งหม่อมฉันเพิ่งคิดเห็นขึ้นใหม่ ว่าเมื่อย้ายเมืองสองแควมาสร้างใหม่ในรัชกาลพระยาเลอไทยนั้น คงสร้างวัดมหาธาตุ (ที่พระชินราชอยู่เดี๋ยวนี้) ขึ้นสำหรับเมืองในคราวเดียวกัน และวัดมหาธาตุเมื่อแรกสร้างนั้นคงเป็นอย่าง “ในแบบ” เช่นชอบสร้างกันเมื่อสมัยสุโขทัย คือมีพระเจดีย์ใหญ่องค์ ๑ ทำเป็นพระสถูปหรือพระเจดีย์ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นองค์พระมหาธาตุและมีวิหารหลวงหลัง ๑ อยู่ข้างด้านหน้าพระเจดีย์ ดังเช่นวัดมหาธาตุเมืองทุ่งยั้งซึ่งทูลกระหม่อมทรงเอาแบบมาสร้างวัดบรมนิวาสและวัดราชประดิษฐ์ หม่อมฉันคิดว่าพระศาสดานั้นเห็นจะหล่อขึ้นตั้งเป็นพระประธานในวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสองแควแต่เมื่อแรกสร้าง ลักษณะจึงผิดไปอย่างหนึ่งต่างหากไม่มีเค้าคล้ายคลึงพระชินราชพระชินสีห์ เพราะเป็นของสร้างก่อนหล่อพระชินราชพระชินสีห์ช้านานและอยู่ที่วัดมหาธาตุมาแต่เดิม มิได้เชิญจากที่อื่นหรือหล่อขึ้นใหม่เมื่อมีพระชินราชพระชินสีห์แล้ว ข้อที่เห็นว่าพระศาสดาอยู่ที่วัดมหาธาตุมาก่อนหล่อพระชินราชพระชินสีห์ ยังมีเค้าเงื่อนที่จะอ้างเป็นหลักฐานได้อีก คือถ้าหากสร้างวัดมหาธาตุขึ้นสำหรับตั้งพระชินราชพระชินสีห์เป็นพระประธาน ๒ องค์ คงสร้างวิหารหลวงทางด้านหน้าพระเจดีย์หลัง ๑ และสร้างวิหารอีกหลัง ๑ ตรงกันทางด้านหลังพระเจดีย์เหมือนเช่นที่วัดราชบพิธ ที่มีวิหารหลวงหลัง ๑ กับมีวิหารอีก ๒ หลังสร้างไว้ ๒ ข้างพระเจดีย์ ส่อว่าเดิมมีวิหารหลวงหลังเดียว วิหาร ๒ ข้างพระเจดีย์เป็นของสร้างเพิ่มขึ้นเมื่อภายหลังสำหรับตั้งพระชินราชชินสีห์ เพราะในวิหารหลวงมีพระศาสดาตั้งอยู่แล้ว ในพงศาวดารสุโขทัยยังมีเค้าให้คิดเห็นต่อไปถึงเรื่องสร้างพระชินราชชินสีห์ กับทั้งเหตุที่ย้ายพระศาสดากับพระชินราชจากวิหารเดิม เพราะฉะนั้นจะต้องหันไปเล่าถึงพงศาวดารสุโขทัยต่อไปอีก

ในหนังสือตำนานพระสิหิงค์ว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลพญาเลอไทย พระบรมราชา (พงั่ว) เจ้าเมืองสุพรรณบุรีทำกลอุบายด้วยอาศัยเหตุที่เกิดทุพภิกขภัยให้ขึ้นไปยึดเอาเมืองชัยนาทไว้ ประจวบเวลาสิ้นรัชกาลพญาเลอไทยเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๗ พญาลิทัยราชบุตร์ได้รับรัชทายาทให้มาว่ากล่าวทำทางไมตรีกับพระเจ้าอู่ทอง คือให้กรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระอย่างบ้านพี่เมืองน้อง มีศักดิ์เสมอกันกับกรุงสุโขทัย พระเจ้าอู่ทองยอมรับทางไมตรีคืนเมืองชัยนาทให้กรุงสุโขทัย ความข้อนี้ก็มีหลักฐานทางกรุงศรีอยุธยา ด้วยปรากฏในบานแพนกกฎหมายลักษณะลักพาบท ๑ ว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๘ (พญาลิทัยเสวยราชย์ได้ปี ๑) นายสามขลากราบทูลพระเจ้าอู่ทองว่ามีผู้พาข้าหนีเจ้าบ่าวหนีนาย เอาไปยังเมืองเชลียงสุโขทัยทุ่งยั้งบางยมสองแควสระหลวง และชากังราวกำแพงเพชร “เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว” เจ้าทาสเจ้าไพร่ไปพบจะว่ากล่าวไล่เบี้ยเอาคืนได้หรือไม่ ขอเรียนพระราชปฏิบัติ พระเจ้าอู่ทองดำรัสว่าขายกันในพระนครบังคับไล่เบี้ยซิยังยาก เมืองเหนือเหล่านั้นอยู่ห่างไกลใต้หล้าฟ้าเขียว จะไปทำเหมือนอย่างที่เมืองเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สะพง คลองพลับ แพรก และศรีมหาราชา (คือ เมืองสิงห์) นั้นมิชอบเลยดังนี้ หมายความว่าอาณาเขตกรุงสุโขทัยยังมิได้อยู่ในบังคับบัญชาของกรุงศรีอยุธยา แม้ในเรื่องพงศาวดารก็ตรงกัน ด้วยต่อมามิได้ปรากฏว่ามีเหตุหมองหมางทางไมตรีในระหว่าง ๒ พระนครจนตลอดรัชกาลพระเจ้าอู่ทองเป็นเวลาช้านานถึง ๑๔ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๘ จน พ.ศ. ๑๙๑๒ น่าจะเป็นในเวลาระยะ ๑๒ ปีนี้ที่สร้างพระชินราชพระชินสีห์

ตำนานเรื่องสร้างพระชินราชกับพระชินสีห์เดิมเราเคยเชื่อถือตามหนังสือพงศาวดารเหนือเป็นหลัก ว่าเมื่อใกล้จะถึง พ.ศ. ๑๕๐๐ มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ ๑ ครองเมืองเชียงแสนอยู่ในประเทศลานนา ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก” เพราะรอบรู้พระพุทธวัจนะแตกฉาน ยกกองทัพลงมาตีเมืองศรีสัชนาลัย พระยาพสุจราชเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยต่อสู้เอาชัยไม่ได้ จึงเป็นแต่ตั้งรักษาเมืองอยู่ พระพุทธโฆษาจารย์วัดเขารังแร้งไปว่ากล่าว ทั้ง ๒ ฝ่ายยอมปรองดองกันด้วยพระยาพสุจราชถวายนางปทุมเทวีราชธิดาแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ๆ ก็เลิกทัพกลับไป พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีราชบุตร์ด้วยนางปทุมเทวี ชื่อเจ้าไกรสรราชองค์ ๑ เจ้าชาติสาครองค์ ๑ อยู่มาพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกใคร่จะสร้างเมืองขยายอาณาเขตลงมาข้างใต้ จึงให้จ่านกร้องกับจ่าการบุญคุมพลชาวลานนาปลอมเป็นพ่อค้าลงมาหาที่สร้างเมืองในแดนไทย มาเห็นที่ตำบล ๑ (ตรงเมืองพิษณุโลกตั้งอยู่เดี๋ยวนี้) เหมาะดี จึงเกณฑ์พวกพราหมณ์กับไทยซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้นสมทบกับพวกชาวลานนามาช่วยกันสร้างเมือง ลงมือสร้างเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ ปีฉลู สร้างอยู่ ๑ ปีกับ ๗ เดือนแล้วสำเร็จ ต่อมาอีกสัก ๗-๘ ปี พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงเสด็จลงมายังเมืองที่สร้างขึ้นนั้น ทรงปรารภจะตั้งชื่อเมือง ตรัสปรึกษาพราหมณ์ปุโรหิต ๆ ทูลว่าเสด็จมาถึงในยามพิษณุเปนมงคล จึงขนานนามเมืองฝั่งตะวันออกว่า “พิษณุโลก” และเรียกว่า โอฆบุรี ด้วยอีกชื่อ ๑ เมืองทางฝั่งตะวันตกให้ชื่อว่า จันทบุระ เมื่อขนานนามเมืองแล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงปรารภจะสร้างพระพุทธรูป จึงให้เลือกหาช่างต่างเมืองที่มีฝีมือดีมาช่วยกันปั้นหุ่นพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์แล้วหล่อเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ หล่อสำเร็จเรียบร้อยแต่ ๒ องค์ ถวายพระนามว่า พระชินสีห์องค์ ๑ พระศรีศาสดาองค์ ๑ แต่องค์ที่ ๓ นั้นหล่อถึง ๓ ครั้งก็ไม่สำเร็จ จนพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกกับนางปทุมเทวีทรงตั้งสัจอธิษฐาน ร้อนอาสน์ถึงพระอินทร์จึงลงมาจำแลงเป็นปะขาวช่วยหล่อพระเมื่อวันพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจอ สำเร็จภายหลังหล่อ ๒ องค์ก่อน ๕๐ วัน ถวายพระนามว่าพระชินราช เมื่อต่อยดินที่หุ้มหุ่นออกแล้ว เห็นมีรอยเป็นรูปตรีศูลอยู่ที่พระพักตร์แปลกกับพระพุทธรูปองค์อื่น ให้ตามตัวปะขาวที่มาช่วยปั้นก็อันตรธานหายไป จึงรู้ว่าเป็นฝีพระหัตถ์พระอินทร์มาช่วยปั้น เรื่องสร้างพระชินราชพระชินสีห์กับพระศาสดาในพงศาวดารเหนือมีเนื้อความเท่านี้ ไม่มีอะไรจะสอบสวนก็ต้องเชื่อกันมาอย่างนั้น ครั้นถึงสมัยสอบสวนศิลาจารึกและหนังสือเก่ากับทั้งพิจารณาแบบอย่างที่สร้างของโบราณ ได้ความรู้โบราณคดีมากขึ้นโดยลำดับมา ความจึงปรากฏขึ้นโดยลำดับว่าเนื่องที่จริงมิได้เป็นดังกล่าวในพงศาวดารเหนือ และอาจจะคัดค้านได้ด้วยหลักฐานหลายอย่าง จะยกคำค้านมากล่าวแต่บางข้อพอเป็นตัวอย่างเป็นต้นว่า—

ก. ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเกียรติเช่นพรรณนาในหนังสือพงศาวดารเหนือครองเมืองเชียงแสน ในพงศาวดารของเมืองเชียงแสนคงเชิดชูพระเกียรติให้ปรากฏ แต่ในพงศาวดารเหนือเชียงแสนหรือแม้เมืองอื่นในประเทศลานนา ไม่ปรากฏพระนามและพระเกียรติหรือเรื่องประวัติเหมือนหรือละม้ายคล้ายคลึงกับพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกที่กล่าวในพงศาวดารเหนือเลยแต่สักองค์เดียว

ข. เมื่อ พ.ศ. ๑๕๐๐ ที่ในพงศาวดารเหนืออ้างว่าเป็นปีที่หล่อพระชินราชชินสีห์นั้น ยังอยู่ในสมัยก่อนไทยได้เป็นใหญ่ในกรุงสุโขทัยถึงราว ๓๐๐ ปี เมืองศรีสัชนาลัยก็ยังไม่ได้สร้าง คติพระพุทธศาสนาอย่างลังกาก็ยังไม่มาถึงเมืองไทย

ค. เมืองพิษณุโลกเดิมชื่อเมืองสองแคว เรียกชื่ออย่างนั้นในศิลาจารึกและหนังสือเก่ามาตลอดสมัยสุโขทัย เพิ่งมาปรากฏเรียกชื่อว่าเมืองพิษณุโลกต่อในสมัยกรุงศรีอยุธยาราวในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อภายหลัง พ.ศ. ๒๐๐๐

แต่จะว่าเรื่องในพงศาวดารเหนือไม่มีมูลความจริงเลยทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะกรณีที่กล่าวในพงศาวดารเหนือปรากฏในศิลาจารึกโดยมาก และของโบราณที่เล่าเรื่องในพงศาวดารเหนือ เช่น หนังสือไทย และพระชินราช พระชินสีห์ เป็นต้น ก็มีอยู่ เป็นแต่พงศาวดารเหนืออ้างตัวคนและถิ่นที่กับทั้งศักราชผิด และไปชอบพรรณนาปาฏิหาริย์ต่างๆ เสียมากนักเรื่องจึ่งเลยเลอะ น่าจะเป็นด้วยผู้แต่งหนังสือพงศาวดารเหนือ เป็นแต่สืบสาวราวเรื่องที่ชาวเมืองเหนือเล่ากัน ในสมัยเมื่อศิลาจารึกลับลี้ไปเสียหมด แล้วเอาเรื่องอย่างนิทานมาเรียบเรียงประดิษฐ์ติดต่อกันให้เป็นพงศาวดารจึงเป็นเช่นนั้น เพราะหนังสือพงศาวดารเหนือเป็นหนังสือใหม่เพิ่งแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้

เรื่องหล่อพระชินราชพระชินสีห์ ถ้าว่าตามที่มีหลักฐานเป็นเรื่องในรัชกาลพญาลิไทยดังจะกล่าวต่อไป พญาลิไทยเป็นราชบุตร์ของพญาเลอไทย คือเป็นราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง สมภพในสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์กำลังเฟื่องฟูในกรุงสุโขทัย ดังกล่าวในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ในสมัยนั้นเจ้านายและลูกผู้ดีมีสกุลคงศึกษาในสำนักพระสงฆ์ทั้งนั้น พญาลิไทยมีอุปนิสัยผิดกับเจ้านายองค์อื่นด้วยชอบเรียนทางพระศาสนายิ่งกว่ายุทธศาสตร์อย่างกษัตริย์ จึงเรียนภาษาบาลีแต่ยังทรงพระเยาว์ แล้วเรียนพระพุทธวัจนะในคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งระบุชื่อไว้ในบานแพนกหนังสือไตรภูมิหลายองค์ จนทรงรอบรู้ในไตรปิฎกแตกฉาน จนเมื่อเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัยในรัชกาลของพระบิดาสามารถแต่งหนังสือไตรภูมิ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๘ ซึ่งยังมีฉบับอยู่ในบัดนี้ได้ทั้งคัมภีร์

ครั้นถึง พ.ศ. ๑๘๙๗ พญาเลอไทยสวรรคต เกิดเหตุจลาจลด้วยมีผู้ขัดแข็งที่ในราชธานี พญาลิไทยต้องยกกองทัพลงมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ปราบปรามพวกที่ขัดแข็งอยู่ในเมืองสุโขทัย มีชัยชนะสิ้นเสี้ยนศัตรูแล้วจึงได้เสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๕ ในราชวงศ์พระร่วง ราชาภิเษกทรงพระนามว่า “ศรีสุริยวงษ์ราม” มีสร้อยพระนามว่า “มหาธรรมราชาธิราช” เป็นพระองค์แรก และพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงสุโขทัยภายหลังเอาเป็นแบบอย่างมาทุกพระองค์ ในหนังสือจึงเรียกพญาลิไทยว่า-พระมหาธรรมราชาที่ ๑ เรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นภายหลังมาว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๒ และที่ ๓ ที่ ๔ โดยลำดับ จนกระทั่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปครองเมืองเหนือเมื่อยังเป็นพระราเมศวรจึงใช้พระนามอื่น แต่ยังเอามาฟื้นใช้อีกเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตั้งขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหาธรรมราชาไปครองเมืองเหนือเป็นที่สุด เรื่องราชประวัติของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ อันปรากฏหลักฐานดังกล่าวมา ถ้าพิจารณาแต่โดยกรณีก็ตรงกับเรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ด้วยพระเจ้าแผ่นดินไทยที่ทรงพระเกียรติว่ารอบรู้พระไตรปิฎก นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว มีปรากฏในพงศาวดารแต่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พระองค์เดียว กรณีที่พระมหาธรรมราชาเสด็จอยู่เมืองสัชนาลัยก่อนแล้ว ยกกองทัพลงมาตีเมืองสุโขทัยก็ตรงกับพงศาวดารเหนือ ว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกอยู่เมืองเชียงแสนยกกองทัพลงมาตีเมืองศรีสัชนาลัย ที่สุดปีที่หล่อพระชินราชพระชินสีห์ในพงศาวดารเหนือว่า พ.ศ. ๑๕๐๐ ถ้าเปลี่ยนตัวเลข ๕ เป็นเลข ๙ กาลกำหนดก็ตรงกัน ความทุกข้อส่อให้เห็นว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เป็นผู้สร้างพระชินราชพระชินสีห์ เป็นแต่ในหนังสือพงศาวดารเหนืออ้างผิดตัวคนผิดถิ่นที่และผิดเวลากาลกำหนดเท่านั้น

ยิ่งพิจารณาดูเรื่องพงศาวดารในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ก็ยิ่งแน่ใจหนักขึ้น ดังจะเล่าต่อไป—

พอพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ราชาภิเษกแล้ว ก็ให้มาว่ากล่าวขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาดังกล่าวมาแล้ว เมื่อพระเจ้าอู่ทองรับทางไมตรีพระมหาธรรมราชาสิ้นระแวงภัยทางภายนอกแล้ว ก็ตั้งหน้าทำนุบำรุงพระศาสนาและพระราชอาณาจักรด้วยประการต่างๆ พิเคราะห์ดูเหมือนจะเอาเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชมาทำตาม เช่นทำถนนพระร่วงที่ยังปรากฏอยู่เป็นต้น ส่วนการบำรุงพระศาสนาว่าตามที่มีศิลาจารึกปรากฏอยู่ก็มากมายหลายอย่าง คือเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ สร้างพระมหาธาตุที่เมืองชากังราว ซึ่งเป็นนามเมืองนครชุมเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ สร้างรอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้บนยอดเขาสุมะนะกูฏ และสร้างวัดป่าแดงเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ ตรัสให้นิมนต์พระมหาสามีสังฆราชเข้ามาจากเมืองลังกา แล้วเสด็จทรงผนวชออกไปอยู่ ณ วัดป่ามะม่วง (คราว ๑) ในการที่ทรงผนวชนี้มีศิลาจารึกเฉลิมพระเกียรติอย่างพิสดารปรากฏอยู่ทั้งเป็นภาษาไทยภาษามคธและภาษาขอม แม้ศิลาจารึกเรื่องสร้างพระชินราชพระชินสีห์หรือสร้างสิ่งใดอื่นที่เมืองสองแควไม่มีปรากฏ ก็น่าเชื่อว่าแต่เดิมคงมี แต่หากจมดินลี้ลับอยู่หรือเป็นอันตรายสูญไปเสียหมดแล้วจึงไม่ปรากฏ เรื่องสร้างพระชินราชพระชินสีห์เค้าอยู่แต่ในพงศาวดารเหนือ ว่าหาช่างที่ฝีมือดีมาจากต่างเมืองหลายคนให้ช่วยกันปั้นหุ่น ข้อนี้ก็สมจริงด้วยลักษณะพระชินราชพระชินสีห์งามต้องตาติดใจคนผิดกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ที่หล่อในเมืองเหนือทั้งนั้น ส่วนกาลกำหนดที่หล่อนั้น ในพงศาวดารเหนือว่า หล่อพระชินสีห์เมื่อปลายปีจอ หล่อพระชินราชเมื่อต้นปีกุน ถ้าปรับปีมีชื่อนั้นเข้าในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ก็ได้กำหนดว่าหล่อพระชินสีห์ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๑๙๐๑ หล่อพระชินราชเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ ปีกุน แต่เรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ ในการหล่อพระชินราชนั้น อาจจะเป็นเรื่องประดิษฐ์ขึ้นต่อภายหลัง เมื่อคนนับถือพระชินราชว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แล้วก็เป็นได้ วิหาร ๒ หลังข้างพระมหาธาตุก็คงเป็นของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ สร้างสำหรับตั้งพระชินสีห์ในวิหารด้านเหนือ ตั้งพระชินราชในวิหารด้านใต้ และพระศาสดายังเป็นพระประธานอยู่ในวิหารหลวงด้านหน้าต่อมาจนตลอดรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เหตุใดจึงย้ายพระชินราชจากวิหารด้านใต้ไปเป็นพระประธานในวิหารหลวง วินิจฉัยข้อนี้ได้แต่สันนิษฐานตามเค้าที่มีอยู่ในเรื่องพงศาวดาร ดังจะกล่าวต่อไป—

ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ กรุงสุโขทัยสมบูรณ์พูนสุขอยู่เพียง ๑๘ ปี ถึง พ.ศ. ๑๙๑๒ พระเจ้าอู่ทองสวรรคต (ก่อนพระมหาธรรมราชา ๗ ปี) พอสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) ขึ้นครองราชสมบัติ กรุงศรีอยุธยาก็รบรุกอาณาเขตสุโขทัยตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๑๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราชยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองชากังราวและเมืองสองแควหลายครั้ง แต่ยังตีไม่ได้เมืองเหนือ จนถึง พ.ศ. ๑๙๑๙ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ สวรรคต ราชบุตร์รับรัชทายาทเป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ที่เมืองสุโขทัยราชวงศ์เกิดแตกร้าวกันขึ้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้ทียกกองทัพขึ้นไปเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ มีชาวสุโขทัยพวก ๑ ในหนังสือตำนานพระสิหิงค์ เรียกชื่อผู้เป็นหัวหน้าว่า “พญาญาณดิศ” เอาใจออกหากมาเข้ากับสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระมหาธรรมราชาที่ ๒ สู้ไม่ไหวก็ต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงพูนบำเหน็จให้พญาญาณดิศเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรครองอาณาเขตสุโขทัยตลอดทางแม่น้ำพิง ก็เมืองกำแพงเพชรนั้นเขตแดนต่อติดกับเมืองสุโขทัยราชธานี เมื่อพญาญาณดิศได้เป็นเจ้าเมือง มาฝากฝ่ายทางกรุงศรีอยุธยา ก็กลายเป็นเสี้ยนหนามของพระมหาธรรมราชาอยู่ใกล้ๆ ให้รำคาญอยู่เสมอ คงเป็นด้วยเหตุนั้น พระมหาธรรมราชาที่ ๒ จึงย้ายจากเมืองสุโขทัยไปอยู่เสียที่เมืองสองแคว แต่ในศิลาจารึกกล่าวว่า “เสด็จไปบูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม ประทับอยู่ ณ เมืองสองแคว ๗ ปี” ความส่อว่าย้ายไปเมื่อปลายรัชกาล แต่นั้นพระมหาธรรมราชาพระองค์อื่นซึ่งเป็นทายาท จึงประทับอยู่ ณ เมืองสองแควต่อกันมาทุกพระองค์ ไม่มีพระองค์ใดกลับคืนไปอยู่เมืองสุโขทัยอีก จนเมืองสองแควเลยเป็นราชธานีของอาณาเขตและเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลกเมื่อภายหลัง สันนิษฐานว่าในพระพุทธรูป ๓ องค์ที่ตั้งเป็นประธานอยู่ ณ วัดมหาธาตุเมืองสองแควนั้น จะปรากฏว่าพระชินราชมีปาฏิหาริย์ผิดกับองค์อื่นมาแต่แรกไม่ช้านัก ถึงเวลาเมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๒ เสด็จไปอยู่เมืองสองแคว ผู้คนคงนับถือลือเลื่องปาฏิหาริย์ของพระชินราชว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ผิดกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ แพร่หลายอยู่แล้ว พระมหาธรรมราชาเห็นมีคนไปทำบุญบูชาที่วิหารพระชินราชมากกว่าแห่งอื่นๆเนืองนิจ จึงทรงพระดำริให้ย้ายพระชินราชมาตั้งเป็นพระประธานในวิหารหลวง และย้ายพระศาสดาไปตั้งในวิหารฝ่ายใต้แทน พระชินราชก็เลยอยู่อย่างนั้นจนเชิญพระศาสดากับพระชินสีห์ลงมากรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ ๓

ส่วนพระเหลือนั้นหม่อมฉันเห็นว่าคงมีจริง จึงมีชื่อเรียกว่า “พระเหลือ” และมีวิหารสร้างตั้งไว้เป็นเอกเทศ ถ้าว่าตามลักษณะอาจจะเป็นพระทองเหลือหล่อพระศาสดาก็ได้ หรือเดิมมีพระทองเหลือหล่อพระชินราชชินสีห์แต่หายไปเสีย มีผู้หาพระพุทธรูปอื่นที่ขนาดไล่เลี่ยกันมาตั้งแทนก็เป็นได้ อยู่ในเป็นอาจินตัย

พระปรางค์นั้น มีในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างสำเร็จฉลอง “พระศรีรัตนมหาธาตุ” เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๐๒๕ เหตุใดจึงสร้างพระปรางค์ คิดดูก็พอเห็นได้ ด้วยพระมหาธาตุที่กรุงศรีอยุธยาเป็นพระปรางค์ พระมหาเจดีย์ที่วัดสำคัญอันมีในพระนครศรีอยุธยาก็เป็นพระปรางค์ทั้งนั้น เมืองเหนือมีเป็นพระมหาธาตุอยู่แต่ที่เมืองเชลียงองค์เดียว เมื่อตั้งเมืองพิษณุโลกเป็นราชธานีจึงแปลงพระเจดีย์มหาธาตุเดิมเป็นพระปรางค์ หม่อมฉันได้ไปพิจารณาดูเห็นชัดว่าพระปรางค์นั้นสร้างครอบพระเจดีย์ของเดิม ด้วยกินลานทักษิณออกมาหมดฐานพระปรางค์เกือบจดฝาผนังวิหารทั้ง ๓ ด้าน เหลือที่พอเป็นทางคนเดินเรียงตัวกันได้เท่านั้น

จดหมายฉบับนี้ร่างและรื้อหลายครั้ง เขียนอยู่กว่า ๑๐ วันจึงสำเร็จ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ