วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

๒๑/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

รายการ

๑) เมื่อวันที่ ๕ สำนักพระราชวังส่งหมายกฐินเสด็จพระราชดำเนินมาให้ หมายกำหนดนี้ตั้งใจคอยฟังอยู่แล้ว แปลว่าช้าไปกว่าวันกำหนดที่เคย เห็นจะเป็นเพราะน้ำท่วม ได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อให้ทราบฝ่าพระบาทด้วยแล้ว เพราะได้รับหลายฉบับ

๒) เมื่อวันที่ ๙ มีหมายมาอีกว่า พระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ พระชันษา ๖๗ ประชวรพระโรคมเร็ง สิ้นพระชนม์ที่ศิริราชพยาบาล เวลา ๙.๓๐ น. แล้วสรงพระศพที่นั่น เวลา ๑๕.๐๐ น. แล้วเชิญพระศพมาตั้งที่อัตวิจารณศาลา ๑๗.๓๐ น. คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปที่พระศพ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทอดไตรของหลวง ๕ ไตร

พระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณนั้น ลาออกไปอยู่บ้านตระกูลภมรมนตรี นานมาแล้ว

กราบทูล

๓) ตามที่กราบทูลว่ามีหนังสือขอตัวในการทอดกฐินพระราชทานไปทางลัดนั้น ได้หนังสือตอบมาว่าเขาเห็นสมควรจะไปทอด แต่ได้รับหมายเกณฑ์โดยตรง เช่นได้กราบทูลมาแล้ว จึ่งได้แปรหมายไปตามคำบุราณมีอยู่ว่า “แปรหมาย”

บรรเลง

๔) เห็นนกยางลงที่ลานบ้านปลายเนินซึ่งไม่เคยมี ก็คิดไว้ว่าที่มีก็เพราะอาหาร ด้วยหากุ้งเล็กปลาน้อยกินได้เพราะน้ำท่วมบ้าน

๕) นึกเรื่องเก่าขึ้นมาได้ เมื่อบวชเป็นพระอยู่นั้นชอบกับคุณมิ่ง ว่าเป็นใบฎีกาหม้ายของเจ้าพระยาธรรมมุณหิศ (มูลหิด) ที่ชอบก็เพราะสวดมนต์ เกล้ากระหม่อมเคยพูดว่าถ้าเป็นผู้นำรับสังฆทานจะสวด “สัพพพุทธา” อย่างธรรมยุติ เล่นเอาคุณมิ่งต้องดูฟุลสตอปและคอหมาในตำราสวดมนต์ เพราะไม่เคยสวด “สัพพพุทธา” เป็นธรรมยุติ

พูดถึงสังฆทาน มีครั้งหนึ่งที่หลวงตา “ราโท” นำ หลวงตา “ราโท” นั้นว่าเคยเป็นสัทธิงของทูลกระหม่อมเรา แล้วแก่ลงก็กลับย้อนมาบวช เป็นสัทธิงของเสด็จอุปัชฌาย์ ท่านทรงเอาชื่อของสัทธิงแห่งพระพุทธเจ้าองค์หลังที่สุดมาตั้งว่า “ราโท” แต่กรมพระสมมตตรัสเรียกว่า “ราเทอ” (ราเดอ) เพราะท่านเขลาเต็มที

วันหนึ่ง ท่านไปรับสังฆทานกับเกล้ากระหม่อมสองคน ยถาสัพพีนั้นเรียบร้อย แต่พอถึงคาถาพิเศษเกล้ากระหม่อมตั้งใจจะรับคาถาที่สอง ท่านควรจะชักว่า “อัคคโตเวปสันนานัง” ท่านกลับว่า “อัคคโตเวปสังสันติ” เกล้ากระหม่อมก็หมดปัญญาที่จะรับ ใช่แต่เท่านั้น ท่านกลับหันมาถามว่า “ไม่ได้หรือ” เกล้ากระหม่อมก็ตอบว่า “ตั้งใหม่” พอท่านขึ้น “อัคคโต” เกล้ากระหม่อมก็รับว่า “เวปสันนานัง” จึ่งเป็นที่เรียบร้อยไปได้

สนองลายพระหัตถ์

๖) เมื่อวันที่ ๙ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ที่ ๑๑/๘๕ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ดีใจที่ไม่ขัดข้องด้วยการคมนาคม เพราะเสด็จกลับมาแล้ว แต่ได้รับจวนถึงวันที่กำหนดถวายไว้แล้ว จึงกราบทูลตอบไว้บ้างแต่ไม่หมด ได้เพียง ๒๕ ในร้อย อีก ๗๕ ในร้อยนั้นเอาไว้คราวหน้า

๗) เรื่องเรือน ตามพระดำรัสนั้นเห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง ในข้อที่ว่าทำเรือนตามประเทศและตามสิ่งที่จะปลูกสร้างนั้นถูก เคยได้ฟังกรมหมื่นมหิศรมาเล่า ว่าตามเสด็จไปในยุโรปด้วยรถไฟ ได้สังเกตเห็นเรือนต่างกัน ทำตามสิ่งซึ่งจะหาได้ง่ายทั้งนั้น แต่ชาวเราไม่ถือกันอย่างนั้น ถือเป็น “แฟแช่น” เสียมากกว่า เรือนอย่างเก่าซึ่งเหมาะสำหรับประเทศก็รีบขายเสียราคาถูกๆ ด้วยจะทำเรือนอย่างใหม่ เกล้ากระหม่อมไม่เห็นเป็นไร ได้รับซื้อมาปลูกที่บ้านปลายเนินจนได้รับหนังสือว่าเปนวัด ท้อใจอย่างเดียวแต่ที่เรือนอย่างเก่าต้องข้ามประตูสูงนัก แต่นั่นก็จำเป็น เพราะจะรื้อเอาไปกับตัวอย่างกระแสพระดำรัสในการขายเรือนอย่างเก่าเสียราคาถูกๆ เพราะจะทำเรือนอย่างใหม่อยู่นั้น ก็ไม่ไปทางไหน เป็นอย่างต่างประเทศอันไม่เหมาะแก่บ้านเรานั่นเอง ฝ่าพระบาทคงทรงจำได้ เกล้ากระหม่อมเคยเขียนหนังสือมาถวายทีหนึ่งแล้ว ว่าไปเที่ยววัดเล่งเนยยี่ ไปชอบวิธีเขาทำตึกที่วัดนั้น แต่เห็นว่าไม่เหมาะสำหรับเมืองเราก็เลยไม่ได้จำมา ตึกที่วัดนั้นก็คือทำตามแบบจีนนั่นเอง

ข้อที่ไม่เห็นด้วยก็คือที่ตรัสว่า เรือนเรามีห้องนอน ห้องนั่ง ห้องรับแขก และใต้ถุนก็ใช้เป็นทอหูก สีข้าว เป็นต้นนั้น จะคัดค้านว่าการที่ทำใต้ถุนสูงก็ตั้งใจจะหนีน้ำท่วมเท่านั้น แต่ไม่ใช่หน้าน้ำว่างอยู่ จึงเอาเป็นโรงงานเสีย เวลาน้ำท่วมก็ยกหนีไป อีกประการหนึ่ง ห้องนั่งห้องรับแขกนั้นเราไม่ต้องการในเรือนก็เป็นแต่ห้องนอนเท่านั้น การรับแขกหรือนั่งมักเป็นที่เฉลียง

คำ “ทัพพสัมภาร” ในภาษามคธก็ได้ดูแล้ว ตรงกับภาษาสังสกฤตว่า “ทวฺรยสมภาร” (ขอประทานโทษที่เขียน ร เรผะไว้ข้างบน เอาอย่างเขมร) คำ “ทรัพยสัมภาระ” เราก็มีใช้ แต่ใช้อย่างอื่น ไม่หมายถึงเครื่องเรือน อันเครื่องเรือนนั้นควรจะใช้อย่างที่เคยใช้ คือ “ทรรพสัมภาร”

คำ “วรรณคดี” นั้นตรัสบอกได้จนถึงศักราช ดีเต็มที เกล้ากระหม่อมก็ได้นึกเหมือนกัน ว่าคงเป็นครั้งตราพระคเณศวร

กฎหมาย “แพ่งและพาณิชย์” อันประชุมกันที่วังบางขุนพรหม ซึ่งเราเป็นกรรมการด้วยนั้น เป็นตรวจ ไม่ใช่ร่าง ร่างคงมาแต่กระทรวงยุติธรรม คำ “จำนอง” และ “ค้ำประกัน” นั้น ทีเป็นคำของสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ ทูลกระหม่อมชายตรัสขอแก้ อธิบายกันว่ากระไรเกล้ากระหม่อมก็จำไม่ได้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ