วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

๑๔/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑. ที่กราบทูลภาษาช่างในคำว่า “ขื่อคัด” มาก่อนนั้น ลืมกราบทูลให้ถี่ถ้วนไป ภาษาช่างซึ่งเขาเรียกว่า “ขื่อคัด” นั้น เขาเจาะจงที่จะพูดถึงขื่ออันจะทำเป็นสองชั้น ถ้าเขาจะพูดถึงเสาดั้งซึ่งเขาตัดเอาแต่ดั้งที่ตั้งไว้บนขื่อสองชั้นนั้น เขาเรียกว่า “ดั้งแขวน” ที่ทำขื่อเป็นสองชั้นนั้นก็เพื่อจะกันไม่ให้ดั้งรวนโย้เย้ไป ได้ทราบจากกรมหลวงสรรพสิทธิว่าเรือนลาว (เห็นจะเป็นทางอุบล) ว่าเขามีขาซายค้ำดั้งรวนต้นอยู่โคนดั้งตอนใน ปลายอยู่ปลายดั้งที่จั่ว ไม้ตัวนั้นเขาเรียกว่า “ยิงลม” เรือนลาวเห็นจะไม่ทำขื่อสองชั้นอย่างเรา

“ดั้ง” เกล้ากระหม่อมแปลว่า “หน้า” คิดว่าเรือนแต่ก่อนเอาด้านสกัดเป็นหน้า ด้วยเห็นโบสถ์วิหารเป็นตัวอย่างอยู่ กับหนังก็มีตัวนำหน้ารถ เรียกว่า “หนังดั้ง” กับดั้งซึ่งบังหน้ากันอาวุธ และ “ช้างดั้ง” ก็จะเป็นช้างหน้า

จำจะต้องเอาบรรเลงเข้ามาต่อ ไม่เช่นนั้นความก็จะแตกกันไป ไปเที่ยวป่าทางบ้านนอกเห็นเรือนเขามุงหลังคาด้วยไม้ไผ่ผ่าสอง เอาคว่ำอันหงายอันเห็นว่าดี กระเบื้อง “กบู” หรือ “ลบู” หรือ “ลาบู” ก็เอาอย่างจากนี้เรียกกระเบื้อง “กบู” เห็นจะถูก เข้าใจว่ามาแต่ “กัมพุช” คำนี้จะทำให้เนื่องไปถึงคำ “กำพูฉัตร” นั่นเป็น “กัมพุชฉัตร” ได้จากพระราชวิจารณ์

พูดมาก็เลยไป อันเรือนป่าซึ่งได้เห็นนั้น เขาทำหลังคาไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งยาวข้างหนึ่งสั้น เห็นก็เข้าใจว่าเขาทำเพื่อจะไม่ทำหลบอย่างหลังคาบ้านเรา ของเขาก็ดีแต่เห็นไม่ได้ เพราะถ้าทำยาวทางด้านใต้ก็จะกันฝนได้แต่ที่มาทางใต้ ถ้าเป็นฝนมาทางเหนือแล้วก็รั่ว กันไม่ได้

๒. ได้เคยตรัสถามถึงแสตมป์รูปไถนาของเรา ซึ่งเคยปิดหนังสือเวรมาถวาย เกล้ากระหม่อมกราบทูลว่าไม่ทราบนั้น ไม่ทราบจริงๆ เพราะทำหนังสือนั้นแล้วก็ให้เด็กเอาไปส่งที่ออฟฟิศไปรษณีย์ เขาจะไปปิดแสตมป์อย่างใดกัน จึงไม่ทราบ

บัดนี้ได้มานึกถึงหลักของแสตมป์ แม้จะทำเป็นรูปอะไรก็รวมลงเป็นโฆษณาทั้งนั้น ที่ทำเป็นรูปคนก็เพื่อจะโฆษณาให้รู้ว่าใครเป็นคนสำคัญอยู่ในประเทศนั้น ที่ทำเป็นตราก็เพื่อจะโฆษณาให้รู้ว่าตราของประเทศนั้นเป็นอย่างไร ที่ทำเป็นรูปคนมีอาการทำอะไรหรือเป็นของอย่างใดๆ ก็เพื่อจะโฆษณาให้รู้ว่าประเทศนั้นมีสินค้าอะไรเป็นหลัก ที่ทำเป็นสถานที่ก็เป็นโฆษณาชวนเที่ยวโดยตั้งใจจะให้ไปดู เคยได้ยินเขาพูดถึงแสตมป์อเมริกาใต้ให้ฟังมาก่อน แล้วก็นึกต่อถึงรูปต่าง ๆ ก็เห็นเป็นว่าต้องการอย่างเดียวกันทั้งสิ้น คือโฆษณา นึกว่าไม่ผิดไปได้

รายการ

๓. เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม หม่อมราชวงศ์วิศิษฐ์ศรี (ลูกศรีใสเมียเก่าชายฉัตรมงคล) พาคุณหญิงนครพระรามมาหาแม่โต ให้ใบแดงฉบับหนึ่ง เชิญเกล้ากระหม่อมไปรดน้ำแต่งงานลูกสาวพระยานครพระรามที่ทำเนียบสามัคคีชัย (คือบ้านนรสิงห์เก่า รัฐบาลซื้อ แล้วนายกรัฐมนตรีย้ายไปอยู่) กำหนดวันที่ ๒๘ สิงหาคม เวลา ๑๖.๓๐ น. ในก๊าร์ดนั้นลงชื่อนายกรัฐมนตรีเชิญเกล้ากระหม่อมไป รดน้ำ แต่เกล้ากระหม่อมไม่ได้ไป เพราะเห็นว่าเป็นแต่แม่เจ้าสาวเอาก๊าร์ดมาให้ จึงเป็นแต่มีหนังสือไปถึงเจ้าบ่าวเจ้าสาว ให้พรด้วยความดีใจที่แต่งงานกัน

๔. วันที่ ๒๗ สิงหาคม ได้ไปเผาศพคุณหญิงเพิ่ม พุทธิแพทย์ ที่วัดไตรมิตร์ ได้หนังสือแจกมาก็ให้นึกหลากใจ ด้วยในหนังสือนั้นปรากฏว่าคุณหญิงเพิ่มได้ไปเมืองต่างๆ เป็นหลายประเทศ

๕. ในวันที่ ๒๗ นั้นเองก็ได้รับหมายสำนักพระราชวัง บอกจะมีการทำบุญ ๕๐ วันพระราชทานที่ศพนายพลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน มีหมายทางราชการนำหมายกำหนดการส่งมาทั้งใบเผื่อด้วย ได้แบ่งใบเผื่อส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทในคราวนี้ด้วยแล้ว

๖. วันที่ ๒๙ สิงหาคม เห็นก๊าร์ดใบหนึ่ง (ตัวแดง) มีพระนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี กับนางจารุภัตรา ศุภชลาสัย เชิญรดน้ำแต่งงานนางสุริยนันทนา สุริยง ที่บ้าน “สุภชลาสัย” วันที่ ๔ กันยายน เวลา ๑๖.๓๐ น.

จะกราบทูลให้แจ่มแจ้ง ว่านางสุริยนันทนานั้นเป็นเจ้า ทูลลาออกเพื่อสมรสกับนายจิตติ สุจริตกุล ราชเลขานุการในพระองค์มีหนังสือบอกมา

บรรเลง

๗. การรดน้ำแต่งงานนั้นเห็นเป็นยาก ย่อมประกอบด้วยอันตรายถ้ารดผิดก็ผิด

๘. นึกถึงกระบวนเรียงความ คำนักสวด “เมรีเมแรดแพงพวยแพงแผด” ก็มาผุดขึ้นในใจ ปรากฏว่าเอาแต่ขันไม่เอาความ จะเป็นไปฐานไรก็ทำให้คิดถึงนายโมรา

๙. นึกถึงคำอีก ที่เราว่า “เอาอิฐขว้าง” ก็ตรงกันกับที่ฝรั่งว่า “เอาหินขว้าง” แสดงว่าบ้านเราหาอิฐได้ง่าย เพราะแต่ก่อนเราใช้อิฐทำถนน

เรียน

๑๐. คำว่า “วรรณคดี” ถ้าจะแปลอย่างง่าย ๆ ก็ว่าทางไปแห่งการแต่งหนังสือ แต่รู้สึกว่าเป็นคำผูกขึ้นใหม่ เพราะแต่ก่อนไม่ได้ยินมาเลย ฝ่าพระบาททรงทราบสามารถที่จะตรัสบอกได้หรือไม่ว่าใครผูกขึ้นครั้งไร และเทียบกับคำอะไร เข้าใจว่าเป็นคำฝรั่ง

๑๑. จะตรัสบอกได้หรือไม่ ว่าเหตุใดคำ “จำนำ” จึงเปลี่ยนเป็น “จำนอง” ถ้าจะคิดอย่างง่ายๆ จำนองก็เป็นจอง จำนำก็เป็นจำ คำเดิม จำนำ ใกล้กว่า จำนอง เสียอีก กับคำ “ประกัน” เติมเป็น “ค้ำประกัน” เติมทำไมไปใกล้เข้ากับคำ “รับเรือน” อันหมายความว่ารับประกันผู้รับประกันอย่างเก่านั้นไปเสียอีก

ได้ทราบจากจีนเคียมซุน ว่าคำ “โปเก” ทางจีนนั้นตรงกับคำ “ประกัน” ของเรา ที่เรียกกันว่า “โรงโปเก” ก็เป็นร้านที่รับประกัน ว่าของที่ขายออกจากร้านนั้นเป็นของดี (คือไม่บุบสลาย)

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ