วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

ที่ ๑๒/๘๕

วังวรดิศ

วันที่ ๒๑ พรึสจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

จดหมายฉบับนี้หม่อมฉันจะทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งทรงเขียนในเวลาน้ำท่วมเมื่อหม่อมฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว คือตั้งแต่ฉบับที่ ๑๗/๘๕ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม จนถึงฉบับที่ ๒๑/๘๕ ลงวันที่ ๑๑ พรึสจิกายน รวม ๕ ฉบับด้วยกัน

รู้สึกว่ามาเขียนจดหมายเวรในกรุงเทพฯ ผิดกับเขียนที่ปีนังทั้งข้างได้เปรียบและเสียเปรียบ ได้เปรียบด้วยค้นหนังสือสอบและอาศัยบอกให้เขียนกับดีดพิมพ์สะดวกขึ้น แต่เสียเปรียบปีนังที่มิใคร่จะมีสมาธิ เพราะมีผู้มาเยี่ยมเยือนเนือง ๆ

สนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๗/๘๕

(๑) เรื่องลบศักราชนั้น หม่อมฉันพบอย่างประหลาดในหนังสือญี่ปุ่นแต่งชวนพวกท่องเที่ยวไปเมืองญี่ปุ่นเรื่อง ๑ ว่า ศักราชญี่ปุ่นนั้นใช้กำหนดปีรัชกาล นับหนึ่งใหม่ในกลางรัชกาลเพื่อฉลองชัยชนะบ้าง เมื่อสิ้นเคราะห์ด้วยรอดจากเภทภัยใหญ่หลวงอันเกิดมีในรัชกาลบ้าง บางรัชกาลเปลี่ยนศักราชถึง ๒ ครั้งก็มี การชำระศักราชเอาลงใช้ให้ติดต่อเป็นแบบแผนอย่างเช่นใช้อยู่ทุกวันนี้ลำบากมาก คำว่าลบศักราชที่จริงตรงกับกิริยาเช่นว่ามา บางทีในเมืองจีนก็จะเคยมีบ้าง แต่อย่างเช่นพระเจ้าปราสาททองทำ หรือที่ย้ายศักราชเช่นเปลี่ยนจาก จ.ศ. มาใช้ ร.ศ. แล้วมาใช้ พ.ศ. หาใช่ลบศักราชไม่

(๒) ที่หม่อมฉันทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าเจ้าพระยาพิชเยนทรเคยเป็นมหาดเล็กไล่กานั้น อธิบายมูลเหตุย้อนถอยหลังไปถึงรัชกาลที่ ๓ เล่ากันมาว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โปรดให้เด็กผู้ชายที่เข้าไปอยู่ในวังกับญาติเมื่อยังเล็กเป็นพนักงานคอยช่วยกันไล่กา ณ ที่ทรงบาตร จึงเรียกว่ากันว่า “มหาดเล็กไล่กา” ในรัชกาลที่ ๔ เห็นจะไม่มี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อแรกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสวยราชย์ยังทรงพระเยาว์วัย ท่านผู้ใหญ่ในราชการปรึกษากันให้เอาแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ มาฟื้นใช้ในราชสำนัก คือเสด็จลงทรงบาตรทุกวันเป็นต้น จึงเลือกเด็กผู้ชายที่เข้าไปอยู่ในวังเมื่อยังเล็กเป็นมหาดเล็กไล่กากลับมีขึ้นอีก หม่อมฉันยังจำตัวได้ ๒ คน คือนายเหมา น้องเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เมื่อโตขึ้นไปเป็นหลวงจักรยานานุพิจารณ์คน ๑ กับนายโชตน้องเจ้าจอมมารดาแสง เมื่อโตขึ้นเป็นจ่ายวดมหาดเล็กคน ๑ แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้พวกมหาดเล็กไล่กาแต่งตัวเครื่องแบบและฝึกหัดเป็นทหาร รวมกันราวสัก ๓๐ คน กล่าวกันว่าเป็นเริ่มแรกจะมีทหารมหาดเล็ก ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ มีการแห่โสกันต์พระเจ้าน้องนางเธอทางฝ่ายใน โปรดให้ทหารมหาดเล็กไล่กาเดินแถวนำกระบวนแห่เหมือนอย่างทหารหน้าเดินนำกระบวนแห่โสกันต์ข้างหน้า จึงเลยเป็นธรรมเนียมมีแถวทหารเด็กเดินนำกระบวนแห่โสกันต์ทางฝ่ายในแต่นั้นมา แต่พวกทหารไล่กาชุดเดิมนั้นเติบใหญ่เลิกไปเสียคราวหนึ่ง จนถึงพระเจ้าลูกเธอทรงพระเจริญขึ้น จะโปรดให้มีการแห่โสกันต์ทางฝ่ายในอีก เวลานั้นหม่อมฉันเป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก โปรดให้หาเด็กชายในพวกลูกหลานทหารมหาดเล็กหัดเป็นทหารเด็กขึ้น สำหรับแห่โสกันต์แทนทหารมหาดเล็กไล่กา หม่อมฉันก็จัดขึ้นตามรับสั่ง มีสัก ๓๐ คน พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ (สาย คณป๋า) ที่บวชเป็นพระภิกษุอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นตัวนาย เจ้าพระยาพิชเยนทรเป็นลูกแถวคน ๑ หม่อมฉันให้ทหารเด็กพวกนั้นแต่งเครื่องแบบอย่างสก๊อตเรียกกันว่าทหารสก๊อต แต่สืบสายมาจากทหารมหาดเล็กไล่กา หม่อมฉันจึงทูลว่าเจ้าพระยาพิชเยนทรเคยเป็นมหาดเล็กไล่กา

(๓) ลมที่เรียกว่า “ใต้ฝุ่น” ก็ดี ไซโคลนก็ดี เฮอริกันก็ดี สังเกตตามลักษณะที่พรรณนาเป็นลมอย่างเราเรียกว่า “ลมบ้าหมู” หมดทุกอย่าง คือพัดเป็นวงแล่นไปทางใดทางหนึ่ง ถูกอะไรก็ดูดเอาลอยขึ้นไปกระจายในอากาศ และอาจจะมีที่ไหน ๆ แม้กลางถนนในกรุงเทพฯ ก็เคยเห็น แต่เป็นอย่างขนาดน้อย ที่เรียกกันว่าใต้ฝุ่นหรือไซโคลนและเฮอริกันเป็นขนาดใหญ่อย่างมหิมาจึงมีฤทธิเดชมาก

(๔) คำว่า “สยาม” นั้น เคยเห็นแปลกันมาต่าง ๆ มากกว่ามากและชอบคิดค้นมาแต่งอธิบายกันไม่รู้แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นใครแปลได้แจ่มแจ้งจนถึงจะออกปากได้ว่า “เออ” อธิบายที่หม่อมฉันชอบกว่าเพื่อนนั้น ดังว่าในหนังสือจดหมายเหตุจีนเรียกว่า “หวงเฉียวบุ๋นบุนเที่ยนทงเค้า” ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์ไต้เซง ให้กรรมการข้าราชการแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๐ ว่าด้วยนานาประเทศ พระเจนจีนอักษรแปลตอนว่าด้วยเมืองไทยนี้ ว่าเดิมเป็น ๒ ก๊กๆ ที่อยู่ข้างฝ่ายเหนือเรียกว่า “เสียมก๊ก” ก๊กที่อยู่ข้างฝ่ายใต้เรียกว่า “หลอฮกก๊ก” ต่อมา ๒ ก๊กนั้นรวมเป็นประเทศอันเดียวกัน จึงเรียกนามรวมกันว่า “เสียมหลอฮกก๊ก” แล้วจีนเรียกละคำ ฮอ เสียจึงเรียกกันแต่ว่า “เสียมหลอก๊ก” สืบมา ดังนี้ อธิบายที่จีนว่านี้ไปพ้องกับอธิบายของนักปราชญ์ฝรั่งบางพวก ซึ่งว่าคำ “ฉาน” ที่เรียกพวกไทยใหญ่กับ “สยาม” มาแต่คำเดิมอันเดียวกันซึ่งเรียกไทยที่อพยพลงมาจากเมืองเดิมทุกจำพวก หม่อมฉันอยากวิสัชนาต่อไปว่าคำเดิมนั้นเสียงจะเป็นแต่เพี้ยน ๆ ไม่ตรงกับ “ฉาน” หรือ“สยาม”และเป็นคำชาวประเทศอื่นเรียก แต่ไทยทุกจำพวกเรียกตนเองว่า “ไทย” เหมือนกันหมดอยู่จนครบเท่าทุกวันนี้ คำที่ชาวต่างประเทศเรียกนั้น เมื่อเรียกกันแพร่หลายกระจายห่างกันไป จึงกลายเป็นหลายอย่าง ตามอธิบายของจีนที่ว่าเดิมประเทศสยามอยู่ข้างเหนือ ประเทศหลอฮก คือ “ละ ว้า” อยู่ข้างใต้ มีหลักฐานได้แก่เวลาเมื่อแรกไทยตั้งเป็นอิสสระขึ้นที่เมืองสุโขทัย ขอมยังปกครองพวกละว้าอยู่ที่เมืองละโว้ และต่อมาไทยรวมอาณาเขตทั้ง ๒ เป็นประเทศอันเดียวกัน ความเป็นหลักฐานมั่นคงหรือว่าอีกอย่างหนึ่ง คำว่าเสียมก็ดี คำว่าละว้าก็ดี เดิมเป็นคำสำหรับเรียกมนุษย์บางจำพวก หาใช่ชื่อของภูมิภาคไม่ หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

(๕) คำว่า “สรวง” เดิมคงหมายความว่า “ผีที่เป็นสรณะ” อันถูกต้องที่แปลว่าสวรรค์เลยไป

(๖) เหตุใดจึงเรียกผ้าไหมสำหรับนุ่งว่า “ผ้าม่วง” หม่อมฉันไม่เคยคิด มาคิดดูก็จน ไม่เห็นว่าเป็นเพราะเดิมมีแต่สีม่วงสีเดียว คำ “ม่วง” น่าจะมาแต่คำภาษาอื่นเช่นภาษาจีนอย่างเช่น “ขนมปัง” และ “เรือบด” ดอกกระมัง

(๗) ความในลายพระหัตถ์เวรฉบับที่ ๑๘/๘๕ ได้ทูลสนองไปในจดหมายฉบับอื่นหมดแล้ว

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๙/๘๕

(๘) เมื่อหม่อมฉันมาถึงกรุงเทพฯ ได้สักห้าหกวัน ลูกเขาชวนขึ้นรถยนตร์พาไปเที่ยวชมพระนครตอนที่น้ำลดพอรถไปได้ เมื่อผ่านไปทางวัดบวรนิเวศหม่อมฉันสังเกตดูหลังคาโบสถ์วิหารก็เห็นเป็นดังที่ได้ทูล คือเป็น ๒ หลังสร้างประสานกัน คงสร้างโบสถ์ก่อนแล้วสร้างวิหารขวางต่อติดโบสถ์ไปข้างหลังสำหรับตั้งพระโต ภายหลังสร้างวิหารพระชินสีห์ หันด้านขื่อเข้าหาวิหารขวางต่อไปอีกหลัง ๑ ที่สุดวิหารพระชินสีห์เห็นจะอยู่ราวตรงศาลาน้อยที่ไว้พระพุทธรูปไพรีพินาศบนชั้นทักษิณพระเจดีย์เดี๋ยวนี้ ได้เค้าอย่างหนึ่งว่าหอไตรย์กับการเปรียญและศาลาฤๅษี ๔ หลังนั้น เห็นจะเป็นของทูลกระหม่อมทรงสร้างเมื่อภายหลังพระเจดีย์ เพราะสร้างได้ศูนย์กับพระเจดีย์ ถ้าเป็นของกรมศักดิ์ฯ ทรงสร้างไว้ก่อนก็จะหาเป็นเช่นนั้นไม่

(๙) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ต่อพระพิมลธรรม (ยิ้ม) มา เป็นต้นแต่สมเด็จพระวันรัต (สมบุญ) ต้องเข้าไปอยู่กุฏิในบริเวณตำหนักอย่างเดียวกับพระพิมลธรรม (ยิ้ม) ทุกองค์ เพราะมีหน้าที่เป็นพนักงานรักษาพระอัฐิด้วย หม่อมฉันยังนึกอยู่ว่าเดี๋ยวนี้พระอุบาลี (เผื่อน) จะเข้าไปอยู่แล้วหรือยัง ด้วยสังเกตเห็นธรรมเนียมไม่ดีมีขึ้นหลายวัด เดิมดูเหมือนจะเกิดขึ้นที่วัดมกุฎกษัตริย์ก่อน ทิ้งกุฏิเจ้าอาวาสให้ว่างเป็นที่ไว้รูปพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม) มาแต่ครั้งสมเด็จมหาสมณะ เดี๋ยวนี้ที่วัดบวรนิเวศ สมเด็จพระวชิรญาณก็ไม่ไปอยู่ตำหนักใหญ่หรือตำหนักน้อย อันเป็นที่สำหรับเจ้าอาวาสสถิตย์ ที่วัดโสมนัสเจ้าอาวาสก็ไม่ขึ้นอยู่กุฏิสำหรับพระราชาคณะอันมีถึง ๗ หมู่ ถ้าพากันเสงี่ยมเจียมตัวไปหมด กุฏิเจ้าอาวาสของเดิมก็จะทรุดโทรมหมด

(๑๐) “สวรรค์” นั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านว่าโดยลำพังศัพท์แปลว่า “เลิศ” เท่านั้น เดิมน่าจะหมายแต่ว่า ได้ความสุขสมปรารถนาในโลกนี้ ครั้นบำเพ็ญ “โลภธรรม” หนักขึ้น ก็หมายจะได้ให้วิเศษยิ่งขึ้นต่อไปในโลกหน้า โลกหน้าเห็นไม่ได้ก็ต้องคาดเอาตามใจ จึงเกิดรูปภาพสวรรค์มีวิมานและสฤงคารบริวารต่างๆ ดังสุนทรภู่พรรณนาว่า “เทวาสมบัติชัชวาล สุขเกษมเปรมปรีดิ์วิมาน สรรพสิ่งสฤงคาร บริวารห้อมล้อมพร้อมเพรียง กระจับปี่สีซอทอเสียง ขับรำจำเรียง สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง”

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๒๐/๘๕

(๑๑) การที่ทรงขอพระองค์ไม่ทอดกฐินหลวงนั้น สมควรแล้ว แต่ก่อนมาเจ้านายพระชันษาเพียง ๗๐ ท่านก็ขอพระองค์ไม่เข้าราชการ ส่วนพระองค์ท่านเวลานี้พระชันษาก็ใกล้จะถึง ๘๐ อยู่แล้ว หากผู้กะเกณฑ์ไม่นึกถึงความลำบากในพระองค์ จึงเกณฑ์อยู่ “ตามเคย” เมื่อหม่อมฉันแรกมาถึงกรุงเทพฯ “ผู้สำเร็จ” มาเยี่ยม หม่อมฉันได้ทูลขอตัวต่อพระองค์อาทิตย์ว่าแก่ชรามากแล้วขออย่าให้ต้องเข้าในราชการอย่างใด เช่นจุดเทียนวัสสาและทอดกฐินหลวงเป็นต้นต่อไป เธอก็รับปากว่าจะให้เป็นเช่นนั้น หม่อมฉันไม่แลเห็นว่าเหตุใด พระองค์ท่านจะไม่ควรได้รับความปลดปล่อยบ้าง

(๑๒) ชื่อเมืองทวาราวดีในเมืองเรานั้นดูชอบกล ตามเค้าเดิมในเรื่องพงศาวดารที่ไทยแต่ง ว่ากรุงเก่านั้นเป็นเมืองชื่อว่า “อโยธยา” อยู่ก่อน ข้อนี้พิเคราะห์รายการก็สมจริง ด้วยมีวัดวาเช่นวัดพระเจ้าพนัญเชิงเป็นต้นอยู่ก่อนแล้ว แรกพระเจ้าอู่ทองหนีห่ามาตั้งอยู่ที่ “เวียงเล็ก” หรือ “เวียงเหล็ก” อันความหมายว่า “เมืองเดิม” อยู่ถึง ๖ ปีแล้วจึงได้สร้างพระนครศรีอยุธยา ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าต่อเมื่อพระเจ้าอู่ทองสร้างเป็นราชธานี จึงเอาชื่อ “ทวาราวดี” เพิ่มเข้าข้างหน้า และเพิ่มคำว่า “ศรี” เชื่อมกับชื่อเดิมเป็นกรุงเทพทวาราวดี ศรีอยุธยา ดังนี้ ครั้นภายหลังมาเมื่อถึงสมัยค้นโบราณคดี พวกนักปราชญ์ฝรั่งเขาค้นพบในจดหมายเหตุของจีนแต่โบราณ ว่ามีมหาประเทศอันหนึ่งอยู่ตรงเมืองไทยบัดนี้ชื่อว่า ทวาราวดี พวกนักปราชญ์เขาสันนิษฐานว่าจะเป็นชื่อเมือง หรือชื่อประเทศที่ตั้งเมืองนครปฐมบัดนี้นั่นเอง ดูก็เห็นสม เพราะไม่มีเมืองโบราณในแถบนี้แห่งอื่นจะใหญ่โตหรือก่อนเมืองนครปฐม ชั้นเดิมต้องเป็นราชธานีของประเทศสำคัญ ๑ แห่ง เป็นแน่ไม่มีที่สงสัย น่าสันนิษฐานว่าพวกชาวอินเดียจะเอานามเมืองทวาราวดีในอินเดียมาขนานไว้เป็นนามประเทศ หรือเป็นนามเมือง ครั้นเสียเมืองแก่พระเจ้าอนิรุทธเมืองพุกาม ถูกกวาดต้อนผู้คนและเก็บริบเอาทรัพย์สมบัติไปหมด เมืองทวาราวดีต้องตกเป็นเมืองร้าง พวกชาวเมืองที่ยังหนีรอดอยู่พากันไปรวบรวมตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ คือเมืองอู่ทอง ยังถือว่าเคยเป็นชาวประเทศทวาราวดีรักษาชื่อนั้นไว้สืบกันมา เมื่อไทยลงมาได้ปกครองเมืองอู่ทอง ก็ถือคตินั้นสืบมา ครั้นพระเจ้าอู่ทองประกาศตั้งเป็นอิสระประเทศขึ้นที่เมืองอโยธยา จึงเอานามทวาราวดีเดิมอันถือว่าเป็นสิริมงคลมาเพิ่มเข้าข้างหน้า หม่อมฉันคิดเห็นว่าน่าที่เรื่องจะมีดังทูลมานี้

(๑๓) เรื่องตาแสนปมนั้น สอบไปสอบมาก็เหลวกลายเป็นเฉาก๊วย ทั้งเรื่องนิทานก็เป็นเรื่องยืมมาแต่ประเทศอื่น เมืองที่อ้างว่าตาแสนปมสร้างก็ได้หลักฐานว่าเป็นเมืองเก่ามีมาก่อนตาแสนปมตั้งร้อยปี เอาเป็นยุติได้ว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองสุพรรณ มิใช่ลงมาจากเมืองเทพนคร สังเกตดูเป็นธรรมดาของคนโบราณที่ถือว่าผู้เป็นต้นราชวงศ์ต้องเป็นผู้วิเศษ ถ้าไม่รู้เรื่องก็คิดให้เป็นผู้วิเศษด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งแทบจะเหมือนกันทุกประเทศก็น่าพิศวงอย่างยิ่งนั้น คือเรื่องที่อ้างว่าพระเจ้าเสือเป็นราชบุตรลับของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ถึงลงในหนังสือพระราชพงศาวดาร หม่อมฉันได้พิจารณาดูในหนังสือฝรั่งแต่งเรื่องเมืองไทยครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์อันมีมากมายหลายเรื่อง ไม่มีวี่แววในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลย แม้เพียงจะกล่าวว่ามีคำกระซิบสงสัยว่าหลวงสรศักดิเป็นราชบุตรลับของสมเด็จพระนารายณ์ ถ้ามีกิติศัพท์อยู่ นิสัยฝรั่งปากเปราะที่ไหนจะนิ่งได้ เพราะฉะนั้นดูน่าจะมาเกิดกระซิบกันขึ้นเมื่อขุนหลวงเสือได้ราชสมบัติ เพราะฆ่าพระเจ้าขวัญราชนัดดาของสมเด็จพระนารายณ์ หรือจะมาเกิดกระซิบกันขึ้นต่อในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระและพระเจ้าบรมโกศก็เป็นได้ บางทีพระเจ้าเสือเองก็จะมิได้รู้เห็นด้วย

(๑๔) พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยแต่ครั้งสุโขทัยเอาแบบเขมรมาใช้ สังเกตดูแบบนั้นพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตเห็นจะเป็นผู้คิด ถ้าปุโรหิตถือลัทธิศิเวทก็เอานามพระอิศวรมาถวาย ถ้าถือลัทธิวิษณุเวทก็เอานามพระนารายณ์มาถวาย ถ้าถือพระพุทธศาสนาก็เอานามพระโพธิสัตว์มาถวาย ดั่งเช่นพระนามว่า พระนเรศวรเป็นฝ่ายพระศิเวท พระราเมศวรเป็นฝ่ายวิษณุเวท พระไตรโลกนาถเป็นฝ่ายพระพุทธศาสนา หลักเดิมน่าจะเป็นดังนี้ ภายหลังจึงเลือนไปเป็นอย่างอื่น พระนามที่ลงท้ายว่า “ราชา” เช่นพระบรมราชา พระอินทราชา เป็นต้น หม่อมฉันนึกว่าเดิมเห็นจะเป็นนามเจ้าครองเมือง เมื่อได้เสวยราชย์คงถวายพระนามอื่นในพระสุพรรณบัฏ แต่คนเรียกพระนามตามเคยจึงคงอยู่

สนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๒๑/๘๕

(๑๕) ที่ทอดพระเนตรเห็นนกยางไปลงหากินที่ลานตำหนักปลายเนินนั้น หม่อมฉันก็มีเรื่องแปลกคล้ายกันจะทูลสนอง ด้วยได้เห็นนกกวักเข้ามาหากินที่ในสนามหญ้าหน้าตำหนักใหญ่ เพราะน้ำท่วมคราวนี้ทำให้ภูมิที่แปลกไปจนถึงสัตว์เดรฉานหลง ก็ควรเห็นเป็นอัศจรรย์อยู่

(๑๖) เรื่องสวดมนต์อย่างธรรมยุตินั้น ครั้งหม่อมฉันไปตรวจราชการมณฑลอุดรในรัชกาลที่ ๕ เมื่อไปถึงเมืองอุดรธานีบ้านเดื่อหมากแข้ง ประจวบวันเฉลิมพระชันษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช หม่อมฉันสั่งให้มีงานสมโภชตามเคย เขาถามว่าจะให้พระสวดมนต์อย่างธรรมยุติหรือมหานิกาย หม่อมฉันประหลาดใจ ด้วยในเมืองนั้นมีแต่พระมหานิกาย ถามเขาว่าเหตุไฉนจึงมีพระสวดอย่างธรรมยุติ เขาบอกว่าครั้งกรมหลวงประจักษ์เสด็จอยู่ที่มณฑลอุดรได้ทรงหัดให้พระสวดมนต์อย่างธรรมยุติไว้ เมื่อเสด็จกลับแล้วยังมีคนชอบใจฟัง พระที่สวดได้มักได้รับนิมนต์บ่อยๆ จึงยังสวดกันมา หม่อมฉันก็ได้นิมนต์สวดอย่างธรรมยุติ ฟังทำนองสวดไพเราะเรียบร้อยเหมือนอย่างทำนองวัดบวรนิเวศ ครั้งสมัยสมเด็จพระอุปัชฌาย์ ไม่เรียวลงอย่างเช่นสวดกันในกรุงเทพฯ เมื่อภายหลัง แต่กรมหลวงประจักษ์ท่านยักซ้อมให้สวดสิบสองตำนาน สวดสัพพีอย่างทำนองธรรมยุติเรียบร้อยดีทีเดียว

(๑๗) เมื่อหม่อมฉันแรกกลับมาถึง ร่างจดหมายให้เสมียนดีดพิมพ์ฉบับหนึ่ง เห็นใช้ตัวเลขอารบิคในจดหมายนั้น หม่อมฉันสำคัญว่าตัวเลขในเครื่องพิมพ์หนังสือไทยหัก จึงเอาไปเข้าเครื่องพิมพ์อักษรฝรั่งดีดเลขอารบิคแทน หม่อมฉันก็ไม่ได้ไต่ถามว่ากระไร เป็นแต่สั่งไปว่าให้ขูดแก้เขียนเป็นตัวเลขไทยให้หมด แต่ต่อมาสังเกตดูในจดหมายต่างๆ เห็นใช้เลขอารบิคกันเป็นพื้น มาเห็นใช้พิมพ์ในหมายกำหนดการพระกฐินหลวงที่ประทานมากับลายพระหัตถ์เวร จึงนึกว่าจะเกิดเป็นแบบแผนอะไรขึ้นใหม่ดอกกระมัง แต่ก็ยังไม่เข้าใจทีเดียว จดหมายที่หม่อมฉันมีถวายขอใช้ตัวเลขไทยไปก่อน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ