วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

๖/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนก่อน ชายดิศเอาลายพระหัตถ์เวรไปให้ที่บ้านปลายเนิน ๒ ฉบับ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ฉบับ ๑ กับบันทึกเรื่องเมืองเก่าๆ และพระเจดีย์ยุทธหัตถี กับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคมติดกันเป็น ๓ ฉบับจะกราบทูลสนองความต่อไป

สนองลายพระหัตถ์กับบันทึก

๑. พิจารณาคำว่า “สารเข้า” เห็นคำหลังนั้นเป็นคำที่ถูกโทจึ่งคิดว่าทีจะไม่ใช่คำเขมร แม้กระนั้นก็ดีก็ได้ดูสอบพจนานุกรมภาษาเขมร คำว่า “สารเข้า” หรือ “สารเขา” ไม่มี มีแต่แยกกันเป็น “สาร“ กับ “เขา” ให้คำแปลไว้ก็ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ จึงคิดไปในทางภาษาอื่น เห็นว่าคำ “สารเข้า” นั้นเป็นสองคำ คำ “สาร” เป็นภาษามคธ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าช้าง แปลว่าแข็งต่างหาก ที่เอามาใช้กับช้างก็เพื่อจะบ่งความว่าสัตว์ที่แข็งแรงก็คือช้างดอกกระมัง จะอย่างไรก็ดีย่อมเป็นที่สังเกตได้ว่าเป็นคำที่เราเข้าใจเคลื่อนความหมายไปอันหนึ่ง ส่วนคำว่า “เข้า” นั้นดูเป็นคำไทย

เมื่อพิจารณาความก็ดูเป็นในตำรากำชับผู้ขี่ช้างต่อ (ซึ่งเรียก “ช้างค้ำ” เป็นอันได้คำที่ไม่รู้ขึ้นคำหนึ่ง) ให้ระวังช้างป่าจะชนช้างที่ตนขี่ จึงเห็นว่าคำเดิมจะเป็น “ชนสารเข้า” หากแต่เขียนตกเสียหรือแกล้งตัดคำ “ชน” อันไปโดนกับภาษามคธ ซึ่งแปลว่าฝูงคนออกเสียก็เป็นได้ จะอย่างไรแน่ก็ไม่ทราบ แต่อย่างไรก็ดี “สารเข้า” นั้นตั้งใจให้เป็นคำไทยแน่

๒. อ่านนิทานซึ่งผนวกลายพระหัตถ์ก็ให้รู้สึกขัน ขันที่ความเห็นของคนนั้นไม่อยู่ที่เลย ยิ่งรู้มากขึ้นคิดมากขึ้นความเห็นก็ผันแปรไป จะกราบทูลเป็นข้อๆ ต่อไปนี้

(๑) ได้ยินว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) ท่านว่า “แสนปม” ก็คือ “แสนพรหม” พอได้ยินก็เกิดศรัทธา แต่เมื่อมาได้ยินฝ่าพระบาทตรัสว่าทางมอญมีเรื่อง “ตาร้อยปม” ก็เห็นว่าตรงกันกับเรื่อง “ตาแสนปม” ของเรานี่เอง เป็นอันว่าหมายถึงพ่อผู้มีบุญ เช่นเดียวกับผู้เป็นลูกนาคว่าเป็นผู้มีบุญ อย่างเรื่องพระร่วงของเราได้พบเรื่องทางเขมรก่อน จนมีชื่อเพลงว่า “พระโถงนางนาค” “พระโถง” เห็นว่าได้แก่เพลง “พระทอง” ของเรา (เขมรเขาอ่านไม่มีอักษรสูงกลางต่ำ จะเขียนเป็น “พระโทง” ไปไม่ได้ ถ้าเขียนดั่งนั้นจะต้องอ่านว่า “พระโตง” ซึ่งตัวอักขระเคลื่อนไป) “พระโถง” ว่าเป็นกษัตริย์ ผัวนางนาค เรื่องของเราใครเป็นพระร่วงก็ไม่แน่ลงไปได้ พาให้นึกว่าเรื่องลูกนาคนั้นจะเป็นนิทานแบบมาแต่อินเดีย วานเขาสอบก็ได้ความจริง ปรากฏว่ากษัตริย์ปัลลวะองค์หนึ่งเป็นลูกนาค “ตาร้อยปม” หรือ “ตาแสนปม” ก็จะเป็นอย่างเดียวกัน แต่สอบยังไม่ได้ความว่าเป็นนิทานแบบมาแต่อินเดีย ในเหตุนั้นแหละทำให้สิ้นศรัทธาในคำ “แสนพรหม” ไป

(๒) ที่ว่าตาแสมปมถ่ายปัสสาวะที่ต้นมะเขือ ครั้นมะเขือออกลูก พระธิดาได้เสวยลูกมะเขือก็ทรงพระครรภ์ นั่นเป็น “อิม” อย่างเอก ในเรื่องนั้นทีก็จะเอาอย่างมาแต่เรื่องฤษีไลยโกฏ เมืองก็ไม่แน่นอน ว่าไตรตรึงษ์ก็มี ว่าเทพนครก็มี ที่ทูลกระหม่อมเราตรัสบอกฝรั่งไปนั้นก็ทรงเก็บเอาโน่นบ้างนี่บ้าง เลือกเอาแต่ที่พอฟังได้บอกเขาไปเท่านั้น

(๓) เป็นที่น่าสงสัยอยู่มาก ที่พระเจ้าอู่ทองครองเมืองไตรตรึงษ์หรือเทพนครอันมีพระราชฐานอยู่แล้ว ทำไมจึ่งละพระราชฐานเก่ามาสร้างเมืองใหม่ที่หนองโสนอันมีแต่โคลน ถ้าเป็นเหตุว่าหนี “ห่า” ก็ควรอยู่ แต่เรื่องหนีห่าก็มีหนังสืออยู่นิดหนึ่งแต่ในพงศาวดารเหนือ เล่นเอาเกล้ากระหม่อมเกือบรู้อะไรไม่ได้ในเรื่องหนีห่านั้นเลย แต่เป็นหลักอยู่ที่ว่าทิ้งเมืองเก่ามาสร้างเมืองที่หนองโสนก็เพราะหนีห่า เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ยินแปลชื่อสัตตหีบกัน ว่ามาแต่พระเจ้าอู่ทองหนีห่ามาในปี ๗ ชั้น เกล้ากระหม่อมเห็นหายใจไม่ออก แล้วทำไมจึงเชือนลงไปทางทะเลเห็นเป็นยัดความเข้าด้วยชื่อตำบล

(๔) คำ “ห่า” นั้นก็ชอบกล วัดน้ำฝนก็ว่า “ห่า” ผีหรือโรคก็ว่า “ห่า” มีคนบอกว่าทางไทยใหญ่ ถ้าฝนตกมากๆ เขาเรียกว่า “ห่า” ถ้าโรคเขาเรียกว่า “ห่า” ออกจะดีๆ แต่ถ้าเราจะจำคำเขามาให้ “ห้า” ก็จะไปโดนกับนำเบ้อเข้าอีก แต่ในการที่โดนกันนั้นไม่เห็นเป็นไร มีถมไป เพราะฉะนั้นเราเคยพูดกันอย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้นเป็นดีกว่า

(๕) ในการที่ได้เสด็จไปทอดพระเนตรจนถึงเมืองอู่ทองนั้นดี (อันชื่อเมืองกับชื่อเจ้าผู้ครองเป็นชื่อเดียวกันนั้นเป็นของธรรมดา) ที่ตรัสว่ามีสระมากนั้นก็เป็นธรรมดา บ้านเมืองที่อยู่ดอนก็ต้องขุดสระเอาน้ำใช้ เมืองอู่ทองถึงจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำก็ดี แต่ถึงหน้าแล้งเข้าน้ำคงแห้ง อย่างเดียวกับเมืองสรรค์ เขาขุดบ่อไว้ที่กลางแม่น้ำเห็นเข้าก็นึกสงสาร คนก็ต้องกินน้ำจึงอยู่กันตามลำน้ำ ที่ทำบ่อก็แปลว่าคนยังอยู่ก็ต้องทำ แต่บ่อก็รับไม่อยู่ ทีหลังก็ต้องทิ้งร้าง อย่างเดียวกับบนโต๊ะโคราชมีบ่อใหญ่ๆ ทำไว้มากก็ต้องทิ้ง

(๖) ตามที่ทรงเทียบว่าเมืองอู่ทองได้แก่สุพรรณภูมินั้นก็ดีอีก เป็นคนตื่นตาคิดไม่ใช่หลับตาฝัน

(๗) เรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถีที่หนองสาหร่ายนั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ช่างทำแบบแข่งขันแก่กัน พระวิทยประจง (จ่าง) ได้ไปดูแบบเป็นอนุสรวชิร แต่จะได้ทำหรือไม่นั้นไม่ทราบ.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ